2564 ยังไร้สัญญาณประนีประนอม - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ยุคสมัยปัจจุบัน คือ ยุคสมัยที่หลายประเทศติดกับดักของความขัดแย้งแบ่งขั้วรุนแรง (Deep polarization) จากการศึกษาวิจัยจำนวนมาก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น (สหรัฐอเมริกาและเวเนซุเอลาก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกลุ่มนี้) และเมื่อประเทศใดก็ตามเข้าสู่กับดักของความขัดแย้งชนิดนี้ นักวิจัยสรุปว่าจะหาทางออกจากกับดักนี้ได้ค่อนข้างยาก และหากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังก็มีผลกระทบต่อสุขภาพทางสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะสังคมไม่มี “ฉันทามติ” (consensus) ร่วมกันในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ไม่ต้องพูดถึงในยามที่ต้องเผชิญวิกฤตรุนแรง สังคมที่แบ่งขั้วร้าวลึกคือสังคมที่ขาดพลัง และนับวันมีแต่จะทำลายตนเอง อาการแบ่งขั้วรุนแรงนี้ หากปล่อยไว้เรื้อรังยังเสี่ยงต่อการที่ความขัดแย้งจะถูกยกระดับไปสู่การปะทะรุนแรงหรือลุกลามไปเป็นสงครามกลางเมืองและรัฐล้มเหลวในท้ายที่สุด 

จะออกจากกับดักนี้อย่างไร ? คำตอบมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับระยะยาว ต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดของความแตกแยกร้าวลึกก็คือ หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (inequality) และสอง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม (social injustice) ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องรักษาอำนาจของคนบางกลุ่ม และกลั่นแกล้งรังแกคนกลุ่มอื่น ๆ สังคมใดที่มีเหลื่อมล้ำสูงและความยุติธรรมถูกทำให้เลือนหายล้วนเป็นสังคมที่ปราศจากความสงบและความสุข เพราะยากที่ผู้คนจะรักกันและสมานฉันท์กันในดินแดนที่ความมั่งคั่งร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเดียว ในขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือยากจนข้นแค้นและต้องปากกัดตีนถีบเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด มิหนำซ้ำกฎหมายยังเข้าข้างคนที่ทำผิดที่มีอภิสิทธิ์และอำนาจ แต่รังแกคนธรรมดาสามัญที่ไร้อำนาจและเส้นสาย

การลดความเหลื่อมล้ำและการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงคือการแก้ไขปัญหาการแบ่งขั้วขัดแย้งรุนแรงที่ตรงจุดที่สุด และมีประโยชน์กว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ใด ๆ

แต่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นกินเวลายาวนาน ต้องผ่านกระบวนการมากมาย มันจึงเป็นวิธีแก้ไขปัญหาระยะยาว

แล้วในระยะสั้นและระยะกลาง สังคมทำอะไรได้เพื่อที่จะปลดชนวนความรุนแรง

คำตอบคือ หนึ่ง การประนีประนอม (compromise) ซึ่งหมายถึงการปรับตัวเข้าหากันของคู่ขัดแย้ง และสอง การสร้างกติกาที่ดีที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งกติกาหลักที่สำคัญที่สุดในทุกสังคม ก็คือสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ (constitution) นั่นเอง ประเทศแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งด้วยการทำทั้งสองสิ่งข้างต้น

การประนีประนอมทำได้ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากการส่งสัญญาณของฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าในความขัดแย้ง เพราะฝ่ายที่มีอำนาจเป็นผู้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในสนามของการต่อสู้ มีทั้งทรัพยากรและกลไกควบคุมในมือมากกว่า หากฝ่ายที่มีอำนาจมากไม่ยอมเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะปรับตัวเข้าหาฝ่ายที่อำนาจน้อยกว่า ก็ยากที่การเจรจาและประนีประนอมจะเกิดขึ้นได้

บทเรียนจากทุกสังคมคือ ในสมรภูมิความขัดแย้ง ชนชั้นนำที่ฉลาดและมีวุฒิภาวะจะตัดสินใจยอมสละอำนาจและผลประโยชน์บางส่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวมของสังคมเอาไว้ เพราะหากปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลายเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองหรือรัฐล้มเหลว ชนชั้นนำก็ย่อมสูญเสียไปด้วย หรือเลวร้ายที่สุดคือ ถูกโค่นล้มอำนาจจนไม่หลงเหลืออะไรให้พิทักษ์ปกป้องอีก 

สรุปง่ายๆ ก็คือ จะยอมสละบางส่วน หรือจะเสี่ยงกับการสูญเสียทั้งหมด การตัดสินใจเช่นนี้ต้องอาศัยการใคร่ครวญอย่างมีสติ มีปัญญา และความสามารถในการมองการณ์ไกล ซึ่งชนชั้นนำในบางสังคมมีสิ่งเหล่านี้ แต่ในหลายสังคมก็ปราศจากมัน อาจจะเพราะไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ เพราะดื้อรั้น เพราะไม่มีที่ปรึกษาที่ดี หรือบางกรณีเพราะเห็นแก่ตัวเกินไปและมองเฉพาะผลประโยชน์ระยะสั้นจนขาดวิสัยทัศน์

ชนชั้นนำผิวขาวในแอฟริกาใต้เข้าใจประเด็นนี้ในทศวรรษ 2530 จนนำมาสู่การเจรจากับเนลสัน แมนเดลา และพลิกโฉมประวัติศาสตร์สังคมที่เคยขัดแย้งรุนแรงและแบ่งแยกผู้คนแบบสุดขั้ว บรรดานายพลในละตินอเมริกาตระหนักเช่นเดียวกันในห้วงทศวรรษดังกล่าวและทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในท้ายที่สุด ส่วนชนชั้นนำไทยในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ (2521-2531) ก็เคยเข้าใจประเด็นนี้เช่นกัน การนิรโทษกรรม การปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ยุติคดีความ และรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 คือผลผลิตของการตัดสินใจทางการเมืองของชนชั้นนำไทยที่จะปรับตัวตามสถานการณ์

ในปัจจุบัน เรายังไม่เห็นสัญญาณของการประนีประนอมดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่เห็นกลับเป็นตรงกันข้าม ตั้งแต่ต้นปี 2564 มานี้ รัฐและชนชั้นนำไทยดูเหมือนจะใช้มาตรการรุนแรงมากขึ้นในการจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ

เราได้เห็นข่าวที่ตำรวจบุกจับนักศึกษายามวิกาล โดยไม่ให้สิทธิผู้ถูกจับกุมในการเข้าถึงทนาย มีการใช้กำลังเข้าจับกุมประชาชนลากไปตามพื้น เพียงเพราะพวกเขามาชุมนุมโดยสงบเพียงเพื่อเขียนป้ายผ้าประท้วงรัฐบาล มีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายนักศึกษาและประชาชนที่ไปให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกจับกุมที่โรงพัก สรุปภาพรวมคือ เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างเข้มข้นมากขึ้น นอกขอบเขตของกฎหมายมากขึ้น และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการใช้กฎหมายอย่างเหวี่ยงแหและตั้งข้อหารุนแรงกับประชาชน กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเคยถูกระงับใช้ไปเกือบ 2 ปีถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีการตีความเกินขอบเขตของบทบัญญัติทางกฎหมาย กระทั่งเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ จนเห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายนี้กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องรัฐบาลจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตรวจสอบจากสังคม และกฎหมายนี้กำลังถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนมาถึงปลายเดือนมกราคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้น 55 ราย (ใน 42 คดี)

นอกจากนั้นยังมีการใช้ข้อหา พ.ร.บ. ความสะอาด พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างสถานการณ์โควิดเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทั้งที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการชุมนุมดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด (ในขณะเดียวกันกลับมีการปล่อยปละละเลยที่จะใช้กฎหมายดังกล่าวกับผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการและทำให้เกิดการติดเชื้อจริง) ที่น่าตกใจที่สุดคือ ในวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมามีการสั่งฟ้อง 3 แกนนำเยาวชนซึ่งยังเป็นเพียงนักเรียนระดับมัธยมว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่แยกราชประสงค์ ซึ่งกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะนับเป็นครั้งแรกที่เด็กนักเรียนถูกฟ้องดำเนินคดีโดยรัฐอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบสันติ 

นอกจากไม่มีสัญญาณของการประนีประนอมแล้ว ก็ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม หากดูตามไทม์ไลน์ที่ประกาศไว้ กว่าที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อาจจะต้องรอไปจนถึงปลายปี 2565 ซึ่งความล่าช้าในกระบวนการแก้ไขกติกาสำคัญของประเทศเช่นนี้อาจจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งรุนแรง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตของสังคมไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และพฤษภาทมิฬ  2535 ซึ่งทั้งสองครั้งล้วนมีสาเหตุมาจากความดึงดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

เมื่อไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของการประนีประนอม (compromise) และการร่างรัฐธรรมนูญ (constitution) ใหม่ที่ยอมรับร่วมกัน ฉันทามติ (consensus) ใหม่ของสังคมจึงยังไม่เกิด และด้วยเหตุดังนั้น จึงอาจสรุป ณ จุดนี้ได้ว่า ความขัดแย้ง (conflict) อันตึงเครียดในสังคมจะดำรงอยู่ต่อไปในปีฉลู 2564 นี้

อ้างอิง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64,”
Jennifer McCoy and Murat Somer, “Toward a Theory of Pernicious Polarization and How It Harms Democracies: Comparative Evidence and Possible Remedies,” The ANNALS of the American Academy of Political and Social Science. 2019; 681(1): 234-271