ผ่างบ(ลับ)ลายพราง ในความมั่นคงของโลกยุคใหม่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เวลาพูดถึง “ความมั่นคง” ของกองทัพไทย คนทั่วไปจะนึกถึงอะไรกัน

ความมั่นคงในฐานะ “รั้วของชาติ” ปกป้องอริราชศัตรูจากต่างแดนที่จะมาย่ำยีบีฑาคนไทย

หรือ…ความมั่นคงในพื้นที่ทางการเมือง เพราะทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาไทยต่างมีนายทหารอาวุโสเข้าไปจับจองเก้าอี้หลายที่นั่ง แม้แต่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยเป็นถึงอดีตผู้บัญชาการทหารบก

ว่ากันว่าจะค้ำยันความมั่นคงให้ยืนนานได้ จำเป็นต้องมีความมั่งคั่งควบคู่ไปด้วยกัน เหมือนวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “งบกองทัพ” จะอยู่ในลำดับต้น ๆ เสมอเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น

เรือดำน้ำ ไอโอ เกณฑ์ทหาร มหากาพย์ GT200 ตลอดจนงบลึกงบลับ งบซุกงบซ่อนอื่น ๆ ดังที่มีการอภิปรายกันในสภา เหล่านี้ล้วนแต่ใช้เงินเม็ดเงินภาษีในจำนวนมหาศาลทั้งนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า งบกองทัพที่ว่าใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากแค่ไหน และสอดคล้องกับภารกิจที่ควรจะเป็นของกองทัพในโลกยุคใหม่หรือไม่ อย่างไร

De/code ชวน พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาเปิดม่านลายพรางที่ปกคลุมงบกองทัพไว้ และเสนอแนวทางปรับงบกองทัพให้ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่

สำรวจงบกองทัพ ค่าใช้จ่ายต่อความมั่นคงไทยหมดไปกับอะไร

เมื่อถึงวาระอภิปรายในสภา คำว่า “งบกองทัพ” หรือ “งบกลาโหม” มักแพร่หลายตามสื่อต่าง ๆ แต่งบดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น คงเป็นสิ่งที่ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีอยากจะได้คำตอบให้สิ้นสงสัย

พิจารณ์ แจกแจงงบกองทัพ โดยเริ่มจากหน่วยรับงบประมาณในส่วนนี้ที่มีอยู่ 6 หน่วย ซึ่งในจำนวนงบประมาณเกือบ 2 แสนล้าน ถ้าคิดเป็น 100% กองทัพบกจะได้สูงถึงประมาณ 50% รองลงมาเป็นกองทัพเรือกับกองทัพอากาศจะได้เท่า ๆ กันที่เหล่าทัพละ 20% ตามแต่ละปีจะมีงบมากงบน้อย เพียงเฉพาะ 3 เหล่าทัพนี้ก็กินพื้นที่งบไปแล้วประมาณ 90%

งบที่เหลืออีกประมาณ 10% ประมาณ 6-7% เป็นของกองบัญชาการกองทัพไทย ประมาณ 3-4% เป็นของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม โดยหน่วยรับงบประมาณที่ได้น้อยที่สุดคือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ไม่ถึง 1%

ตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ก่อนว่า กองทัพบก เหล่าทัพที่มีกำลังพลมากที่สุด มีบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมากที่สุด ได้รับงบมากที่สุด ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าวิจัยและเทคโนโลยี และน่าจะมีภารกิจที่สอดรับกับความมั่นคงในโลกสมัยใหม่กลับได้รับงบน้อยที่สุด

ในรายละเอียดที่ลงลึกไปกว่านั้น พิจารณ์ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญคือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมหมดไปกับงบบุคลากรภาครัฐประมาณ 55% แต่งบประมาณปี 2566 ที่กระทรวงกลาโหมได้งบ 197,293 ล้านบาท พิจารณ์ค้นพบงบประมาณที่ใช้ภาษาเรียกง่าย ๆ ว่า “ค่าคน” ซ่อนอยู่ตามชื่องบประมาณประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งบบุคลากรภาครัฐ คือ งบดำเนินงาน งบดำเนินการ หรืองบรายจ่ายอื่นที่ใช้เป็นค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ รวมแล้วงบไปอยู่ส่วนนี้เกือบ 64%

ถัดมาเป็นงบซื้อ ซ่อม หรือผลิตอาวุธ ประมาณ 15% การซื้อครุภัณฑ์ การฝึกอบรมทหาร การส่งทหารไปศึกษาต่อต่างประเทศ รวมถึงรายจ่ายอื่น ๆ ที่มักจะเรียกกันว่า ส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุง ประมาณ 10% สำหรับงบส่วนหลังนี้ พิจารณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมไม่เคยให้รายละเอียดข้อมูลว่าเอาไปทำอะไร

“มันจะมาเป็นแบบบรรทัดเดียว หลาย ๆ พันล้าน”

งบส่วนที่เหลือ ประมาณ 6-6.5% เป็นเรื่องของการก่อสร้างและซ่อมแซมสถานที่ราชการ-ที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงก่อสร้าง ประมาณ 3% เป็นงบที่ใช้คำว่า “เทิดทูนสถาบัน” สร้างความปรองดองจากการส่งเสริมให้มีความรักในสถาบันหลักของชาติ เรื่องเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินโครงการเกี่ยวกับพระราชดำริ อีกประมาณ 1% จะอยู่ที่งบวิจัย แล้วอีกเล็กน้อยไม่ถึง 0.5% จะไปไว้ตามแผนบูรณาการต่าง ๆ คือ แผนบูรณาการ EEC แผนบูรณาการยาเสพติด แผนบูรณาการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ถ้าเทียบงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับเป็นเงิน 100 บาท ก็จะหมดไปกับ “ค่าคน” ถึง 55 บาท พิจารณ์มองว่า การที่กองทัพไทยมีกำลังพลจำนวนมากถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกองทัพบกที่จำนวนกำลังพลมีความ “อุ้ยอ้าย” เพราะนอกจากกำลังพลที่เป็นข้าราชการประจำแล้ว ยังมีทหารกองประจำการ หรือทหารเกณฑ์จำนวนมาก ส่งผลให้งบประมาณในส่วนนี้มากขึ้นตาม

สำหรับค่าคนของกองทัพบกปีนี้คือ 77% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งกระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ที่ 64% แน่นอนว่าการจัดสรรงบเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน เพราะเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศและการรบของแต่ละประเทศ ไม่มีรัฐบาลที่ไหนหมดเงินไปกับกำลังพลอีกแล้ว หลาย ๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนกำลังพลและนายพลลง เพื่อให้เหลือช่องว่างงบประมาณที่จะไปพัฒนาขีดความสามารถของทัพในด้านการรบจริง ๆ ทั้งการซื้อ ซ่อม หรือวิจัยยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

“ถ้าถามว่านัยสำคัญต่อกองทัพไทยเป็นยังไง ต้องบอกว่า แม้กองทัพจะได้รับการจัดสรรงบประมาณให้มากกว่านี้ ผมก็ไม่แน่ใจเลยว่า เราจะสามารถมีกองทัพที่เข้มแข็งได้หรือเปล่า ถ้าแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณยังเป็นอย่างนี้”

ตั้งโจทย์ใหม่ แก้การจัดสรรงบแบบเดิมๆ

จากตัวเลขงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงินรวม 3,185,000 ล้านบาท กระทรวงกลาโหมได้รับงบเป็นอันดับ 4 โดย 3 กระทรวงที่ได้รับงบมากกว่าคือ 1 กระทรวงศึกษาธิการ 2 กระทรวงมหาดไทย และ 3 กระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่ายังอยู่ในลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับกระทรวงในประเทศไทยที่มีทั้งหมด 20 กระทรวง

“2 ปีที่ผ่านมา ลดงบประมาณไปมาก แต่ขอให้เห็นใจว่าการดำเนินการต้องวางแผนล่วงหน้า เตรียมงบประมาณ ฝึก ใช้ ไม่สามารถรอให้ยุทโธปกรณ์หมดอายุถึงจัดหาได้…หากไม่ซื้อจะอยู่อย่างไร”

การชี้แจงในสภาข้างต้นของพลเอก ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับพลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ชี้แจงว่า งบกลาโหมปีนี้ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับ GDP โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน งบส่วนนี้จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเกือบ ๆ 2% ของ GDP ขณะเดียวกันงบกลาโหมไทยในปี 2565-2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2% ของ GDP

หากมองตัวเลขเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนได้งบไม่มาก ทว่าเมื่อพิจารณ์ทำข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี กลับพบว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน หรือเปรียบเทียบกับ GDP ของประเทศ  ตัวเลขก็อยู่ช่วงประมาณนี้มาตลอด

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2547 ขณะนั้นงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรประมาณ 78,500 ล้านบาท ก็คือประมาณ 7.6% ของงบประมาณแผ่นดิน แล้วในปีนั้น GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท ก็คิดเป็นประมาณ 1.3% ของ GDP ถ้านำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินปีนี้ถือว่าลดลงเหลือ 6.19% เมื่อเทียบกับ GDP ก็ใกล้เคียงกัน โดยอยู่ที่ 1.16% ถ้า 20 ปีที่แล้วคือ 1.13%

“ถ้าถามรัฐบาล รัฐบาลจะอธิบายว่างบไม่ได้เพิ่ม แต่มันกลับทำให้เราคิดว่า ตกลง 20 ปีที่ผ่านมา เราได้ประเมินความจำเป็นในการใช้งบประมาณด้านความมั่นคงอย่างแท้จริงหรือเปล่า การใส่เงินในสัดส่วนที่ใกล้เคียงเดิมอยู่แบบนี้ มันตอบโจทย์ด้านความมั่นคงจริงหรือไม่ หรือว่ามันได้ถูกพิจารณาลำดับความสำคัญให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้จ่ายงบประมาณจริงหรือไม่”

ไม่เพียงเท่านั้น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีส่วนทำให้งบกองทัพสูงขึ้น ถ้านับถอยหลังในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จะมีการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และ 2557 เมื่อรัฐบาลจากการรัฐประหารเข้าสู่อำนาจก็จะปรับงบกลาโหมขึ้นทุกครั้ง เฉพาะยุค คสช. ตั้งแต่ปี 2558-2563 งบกลาโหมปรับขึ้นประมาณ 20% แต่ถ้าดูงบอย่างไม่อคติ ในช่วงปีดังกล่าวงบประมาณแผ่นดินปรับขึ้น 24% จากประมาณ 2.57 ล้านล้านบาทมาเป็น 3.2 ล้านล้านบาท ส่วนงบกลาโหมก็ปรับขึ้น 20% แสดงว่างบกองทัพปรับขึ้นไม่ได้มากเท่ากับสัดส่วนของงบแผ่นดิน

แต่เรื่องการจัดสรรงบมีมากกว่านั้น พิจารณ์ชวนกลับไปดูที่โจทย์ว่า “สุดท้ายแล้วเหตุใดงบกลาโหมมันต้องขึ้น แล้วไปขึ้นที่ไหน” จากที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ งบหมดไปกับค่ากำลังพล แต่หลังจากเกิดโรคโควิด-19 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ พยายามจะลดงบกองทัพลงเรื่อย ๆ ส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่กองทัพพยายามลดและซื้อเท่าที่จำเป็น แต่ที่สวนทางกันคือ งบบุคลากรกลับเพิ่มขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาหลักของกองทัพ เพราะไม่ได้มีแผนงานว่า ทำอย่างไรให้จำนวนบุคลากรลดลง

อีกโจทย์สำคัญที่ต้องพิจารณาในปัจจุบันคือ ภัยคุกคามที่กำลังเผชิญอยู่ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องทางการทหารแล้ว แต่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดสรรงบประมาณปีนี้ควรจะใช้เร่งฟื้นฟูยุคหลังโควิด-19 ถ้ายังอยู่บนกรอบคิดแบบเดิม ๆ เช่น ไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ก็จะไม่ตอบโจทย์

ถอยออกมาจากกระทรวงกลาโหมแล้วมองภาพใหญ่ การจัดสรรงบประมาณภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ เหมือนกับเป็นรัฐราชการ ฝ่ายบริหารไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนและเข้มแข็งว่า ควรจะต้องจัดสรรงบประมาณโดยให้น้ำหนักที่เรื่องใดเป็นสำคัญ การจัดงบที่ผ่านมานั้นเหมือนกับว่า งบของใครก็ได้รับเหมือนเดิม เช่น ถ้าปีที่แล้วได้ 100 บาท ปีนี้ก็ต้องเอา 100 บาทมาเป็นฐานเพื่อจะบวกหรือลบ แต่ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่พยายามเสนอคือ ควรจะจัดสรรงบประมาณแบบ Zero-based marketing

“เหมือนกับการจัดกระเป๋าเดินทางว่า ตกลงแล้วปีนี้เราจะเดินทางไปที่ไหน เป้าหมายเราคืออะไร แล้วเราก็จัดกระเป๋าให้มันสอดคล้องกัน ให้มันเกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่าที่สุด”

ปัญหาของการจัดสรรงบประมาณคงไม่ได้อยู่ที่กระทรวงกลาโหมเพียงกระทรวงเดียว และกระทรวงกลาโหมอยู่ลำดับที่เท่าไรของการจัดสรรงบคงไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องกลับมาที่โจทย์ของประเทศว่า ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใด

เหตุผล(หรือข้ออ้าง?)ต่อความจำเป็นของงบอันสูงลิ่ว

หลายเรื่องของงบกองทัพที่ประชาชนสงสัย แต่หาคำตอบไม่ได้ หรือเมื่อได้ยินคำตอบแล้วเกิด “เอ๊ะ!” ขึ้นมาในใจ ว่ามันจริงหรือไม่ เจ้าของภาษีอยากรู้ ซึ่งพิจารณ์ได้ยกตัวอย่างการให้เหตุผล 2 เรื่อง ที่ทางกระทรวงกลาโหมชี้แจง

เรื่องแรก กำลังพล ไม่เคยได้รับการชี้แจงรายละเอียดว่า เหตุผลอะไรถึงจำเป็นต้องมีกำลังพลมาก ต้องเกณฑ์ทหารจำนวนมาก มีแต่จะได้รับคำอธิบายว่า กองทัพมีแผนที่จะลดกำลังพลลง โดยเฉพาะนายพลให้ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2572 ถือว่าใช้ระยะเวลานานมาก เพราะกองทัพไม่ได้ดำเนินการทำแผน Early Retire ให้แก่ข้าราชการทหาร ส่วนทหารเกณฑ์มีแต่คำอธิบายว่า มีความพยายามจะทำให้เกิดทหารสมัครใจ

เรื่องที่สอง การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และครุภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีราคาสูงเกินว่าท้องตลาด

“ประโยคคลาสสิกที่เรามักจะได้ยิน เราจะซื้อเท่าที่จำเป็น ซื้อทดแทนอาวุธที่ล้าสมัย ซ่อมแซมไม่ได้แล้ว และทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ”

อย่างปัญหาของเรือดำน้ำ พิจารณ์ชวนให้ติดตามเรื่องนี้ เพราะ “อาจจะส่งผลถึงค่าโง่เกือบหมื่นล้าน” เรือดำน้ำที่ไทยจะซื้อจากจีนต้องการเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในเยอรมนีตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เยอรมนีปฏิเสธที่จะขายให้แก่ทางการจีน ทำให้ล่าสุดมีการเสนอให้ใช้เครื่องยนต์ของจีนแทน ซึ่งพิจารณ์คิดว่ามันมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากเครื่องยนต์จีนตัวนี้ยังไม่เคยถูกใช้กับเรือดำน้ำรุ่นใดในโลกมาก่อน แล้วก็จะผิดจากสัญญาที่ทำกันเอาไว้ นับเป็นความท้าทายต่อการหาทางออกของพลเอก ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะไทยลงทุนไปเกือบหมื่นล้านแล้วกับหลายโครงการที่สนับสนุนเรือดำน้ำ 3 ลำ รวมถึงเรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง ระบบสื่อสาร โรงจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำต่าง ๆ

ใช้ภาษีให้คุ้มค่า คืนศักดิ์ศรีให้กองทัพ ปฏิรูปแนวทางจัดสรรงบ

ความเคลือบแคลงใจของประชาชนที่มีต่อกองทัพจะหมดไปได้ และกองทัพสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ความมั่นคงยุคปัจจุบันจะเกิดขึ้นได้ พิจารณ์มองว่าต้องแก้ไข 2 โจทย์ใหญ่ คือ ใช้ภาษีอย่างไรให้คุ้มค่า ให้ประชาชนไม่รู้สึกเสียดายเงินที่เสียไปจากหยาดเหงื่อแรงงานของตน และทำอย่างไรถึงจะคืนความน่าเชื่อถือ คืนศักดิ์ศรีให้แก่กองทัพได้

สำหรับโจทย์แรก แนวคิดที่จัดสรรงบให้แก่กองทัพบกเป็น 2 เท่าของกองทัพเรือและกองทัพอากาศต้องเปลี่ยน งบพัฒนากองทัพควรไปอยู่ที่กองทัพอากาศเสียมากกว่า โดยสัดส่วนของงบควรเปลี่ยนจากกองทัพบกได้ 2 กองทัพเรือได้ 1 กองทัพอากาศได้ 1 มาเป็น 1-1-1 หรือท้ายที่สุดเป็น 1-1-2 เนื่องจากสถานการณ์โลกปัจจุบัน ถ้าเกิดภัยสงครามหรือภัยคุกคามขึ้นมาจริง ๆ กองทัพอากาศจะมีบทบาทมากที่สุด ซึ่งก็กลับไปที่การใช้ Zero-based marketing ปรับเป็นงบประมาณฐานศูนย์ ไม่ได้ล้อกับที่ผ่านมาว่าเคยจัดสรรงบประมาณอย่างไร แต่วางเป้าหมายเป็นตัวหลักในการจัดสรร

ต่อมาเป็นเรื่องของการคำนึงถึงแหล่งเงินทุกแหล่ง ปกติแล้วงบประมาณแผ่นดินได้รับจากภาษีที่จัดสรรจากรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่จริง ๆ แล้วมีเงินนอกงบประมาณในระดับสูง ผ่านจากสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงที่พิจารณ์ใช้คำว่า “เงินนอกงบประมาณ” คือไม่ได้อยู่ในรายจ่ายของเงินนอกงบประมาณ เช่น ธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ซึ่งกองทัพจะอ้างว่า งบส่วนนี้เป็นไปเพื่อสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของกำลังพล แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยถูกเปิดเผย ตั้งแต่สนามกอล์ฟ สถานพักตากอากาศต่าง ๆ โรงแรม สนามม้า สนามมวย ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งเหมืองหินกองทัพเรือ

“ธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้มันมีผลประกอบการ แต่ว่าเราไม่เคยเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น ผมคิดว่าธุรกิจเหล่านี้ต้องเอามากองไว้บนโต๊ะให้เห็นว่า มันมีรายได้อย่างไร”

นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดแผนเป้าหมายตัวชี้วัดต่าง ๆ ของกองทัพในการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด โดยเฉพาะตัวชี้วัดของกระทรวงกลาโหมมักจะเป็นร้อยละความสำเร็จ หมายถึงใช้งบหมดไปตามที่ให้ถือว่าสำเร็จ ซึ่งแบบนี้คงไม่ใช่วิธีการกำหนดเป้าหมาย

สำหรับโจทย์ที่สอง ศักดิ์ศรีของกองทัพหายไป เพราะประชาชนมองว่าไม่มีความโปร่งใส กองทัพจำต้องมีหน่วยงานที่ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการอย่างจริงจัง แม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อยู่แล้ว แต่พิจารณ์ชี้ว่า ก.พ.ร. ตรวจสอบทุกหน่วยงานยกเว้นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม

“กระทรวงกลาโหมก็จะมีหน่วยงานของตัวเอง เรียกว่า ตรวจกันเอง เกาหลังกันเอง ผมคิดว่ามันไม่โปร่งใสเพียงพอ”

ถ้าย้อนกลับไปดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ Re-Solution เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เสนอให้มี “คณะผู้ตรวจการกองทัพ” ประกอบด้วยคณะกรรมการ 10 คน สมาชิกมีทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจำนวนเท่า ๆ กัน ไม่ว่าจำนวน ส.ส. ของทั้ง 2 ฝ่ายจะแตกต่างกันเท่าไร แต่ขอให้คณะผู้ตรวจการกองทัพมีสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณกองทัพ รายได้ของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับเงินนอกงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบข้อเรียกร้องการละเมิดสิทธิของทั้งข้าราชการประจำและทหารเกณฑ์

เรื่องสุดท้าย กองทัพต้องหยุดแทรกแซงการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเห็นทางการเมืองต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งท่าทีของผู้บังคับบัญชา เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา มีคำสั่งบอกกำลังพลว่าอย่าเลือกกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล (ไม่รู้หมายถึงพรรคไหน) แต่ท้ายที่สุด เมื่อไปดูผลเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลก็ยังคงชนะในหน่วยการเลือกตั้งที่เป็นหน่วยของทหารอยู่ดี

“การแทรกแซงการเมืองแบบนี้ของผู้บังคับบัญชา มันเห็นแล้วว่า มันไม่ได้ส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง แต่ยิ่งจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงของประชาชนเมื่อมองไปยังกองทัพในเรื่องของจุดยืนทางการเมือง”

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประเด็นปัญหาเรื่องงบกองทัพที่มีส่วนเสริมสร้างสถานะความมั่นคงให้แก่กองทัพอยู่คู่การเมืองไทยมาช้านาน แม้งบกองทัพจะดูเป็นเรื่องราวในแดนสนธยา เจ้าของภาษีตัวจริงยากจะเข้าถึง กระนั้นเจ้าของภาษีตัวจริงทั้งหลายก็ยังต้องติดตามปัญหานี้กันต่อไป

เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่หล่อเลี้ยงชุบชูความมั่นคงและมั่งคั่งแก่กองทัพนั้นมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเจ้าของภาษีทุกคน