ลอกคราบพุทธแท้ จริตศรัทธาของชนชั้นกลางใต้บงการความดีงามของชนชั้นนำ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หลังอ่านหนังสือ ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย ของ อ.อาสา คำภา พร้อมกับดูออริจินัลซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ สาธุ จบ ทำให้ผมตั้งคำถามกับทุกครั้งในการ กราบไหว้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วเรากำลังบูชาสิ่งใดกันแน่

เป็นเพียงความสบายใจ?

เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอดปลอดภัยด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์?

หรือจริง ๆ แล้วเป็นกรอบมโนธรรมของสังคมที่คอยบอกว่าการเป็นคนดีต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

จากธรรมะโพรพากานด้าช่วงกึ่งพุทธกาลเพื่อการรวมศูนย์ ถึงธรรมะมาร์เก็ตติ้งทางลัดสู่นิพพานหลัง 2520 ในแก่นกลางของความเป็นพุทธแท้ของรัฐไทย เราจะเห็นจริตความศรัทธาที่อาจศักดิ์สิทธิ์สำหรับใครบางคน แต่สำหรับบางคนกลับกลายเป็นความงมงาย แต่ในความจริงแท้ของพุทธที่หลายคนยึดถือ มีรัฐ เป็นคนที่คอยชี้นำในทุกยุคสมัย

นำแว่นส่องพระดูให้ลึกถึงมวลสารของพุทธแท้ในความเป็นไทย สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ แต่พุทธแท้ที่เราเข้าใจ ใคร เป็นคนสร้างมันขึ้นมา

พุทธแท้ต้องถือศีล 5

ถ้าถามว่ากรอบศาสนาใดที่ผมรู้จักเป็นสิ่งแรก ก็คงเป็นเรื่องนรก-สวรรค์ จากการดูพิภพมัจจุราชที่บ้านป้านุช เพื่อนบ้านสมัยเด็กที่ผมคลุกคลีทุกครั้งที่ว่าง

ป้านุชเป็นหญิงวัยกลางคน แกมีลูก 2 คน นอกจากที่เราจะสนิทกันเพราะลูกทั้ง 2 บ้านอายุไล่เลี่ยกัน ผมเลยได้ไปมาหาสู่กับบ้านนี้แทบทุกวัน

พิภพมัจจุราชเป็นความบันเทิงประเภทละครคุณธรรม โดยจะเล่าถึงชีวิตของมนุษย์ที่ประพฤติผิดศีล 5 แต่ละข้อ เมื่อพวกเขาเสียชีวิตลง พวกเขาจะต้องไปรับกรรมแบบไหนในขุมนรกทั้ง 8 และแต่ละกรรมที่พวกเขาทำจะถูกคิดคำนวณและบันทึกเป็นอย่างดีในบัญชีหนังหมา โดยการชดใช้กรรมในนรก 1 วันจะมีความยาวเท่ากับเวลาในโลกมนุษย์ถึง 9 ล้านปี!

“ใช่! ไอ้พวกที่ชอบผิดศีลข้อ 3 ต้องไปปีนต้นงิ้วซะให้เข็ด จะได้รู้ว่าการโดนแทงมันเป็นอย่างไร” ป้านุชว่าแบบนั้น แต่ผมก็ไม่ใคร่เข้าใจนัก

ทุกมายาคติตั้งแต่บ้าน โรงเรียน และสังคมรอบตัวที่ผมอยู่ ล้วนถูกเติมเต็มและอ้างอิงกับศีล 5 ทั้งไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่เป็นชู้, ไม่โกหก, ไม่ดื่มของมึนเมา ศีล 5 เลยมีส่งผลตรงต่อสามัญสำนึกของผมอย่างมากในช่วงวัยเด็ก 

แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังมีคำถามว่าทำไมคนธรรมดาที่นับถือศาสนาพุทธในไทย ถึงได้มีศีล 5 เป็นดั่งยาศีลธรรมครอบจักรวาล ศีลเพียง 5 ข้อสามารถครอบคลุมให้เราเป็นคนดีได้ขนาดนั้นเชียวหรือ รวมถึงถ้าคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธล่ะ? การที่พวกเขาไม่นับถือศีล 5 และอาจละเมิดบางข้อในบางครั้งไป พวกเขาจะต้องตกนรกของชาวพุทธเหมือนกันหรือเปล่า

หรือการถือครองศีล 5 อาจเป็นแค่เครื่องมือที่ใครใช้ตีกรอบ ความเป็นคนดีหรือพลเมืองที่ดี ของสังคมไทยพุทธเสียมากกว่า

ลอกคราบพุทธแท้ เรียบเรียงการเจริญเติบโตของพุทธศาสนาในไทยสมัยใหม่ไว้ว่า เริ่มต้นจากการปฏิรูปศาสนาในรัชกาลที่ 4 และเกิดเป็นธรรมยุติกนิกาย การปฏิรูปในครั้งนั้นเริ่มต้นจากการปรับภาพลักษณ์ให้สังคมไทยเป็นอารยะมากยิ่งขึ้นในสายตาจักรวรรดิตะวันตก การยึดถือพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงคือการสามารถหาเหตุและผลได้มากกว่าพิธีกรรมและเรื่องเล่าต่าง ๆ

แต่แล้วการเติบโตของศาสนาพุทธกับรัฐไทยก็ได้พลวัตเมื่อต้องการจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เกิดแผนพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น ความเชื่อ พิธีกรรม ที่พุทธศาสนายึดโยงกับชุมชนหรือพุทธนิยมแบบชาวบ้าน เป็นปฏิปักษ์กับรัฐส่วนกลาง การปฏิรูปความเป็นสยามในเวลานั้นจึงได้คืบคลานไปพร้อมกันกับการยึดถือพุทธแท้ของสยาม การลดทอนบทบาทของความเชื่อท้องถิ่นจึงไม่ได้เป็นแค่การปราบพวกนอกรีต-ไสยศาสตร์ แต่เป็นการอำพรางการรวมศูนย์ของรัฐสยามให้ความเป็นหัวเมืองศิโรราบอย่างมีแบบแผน

หนังสือลอกคราบพุทธแท้ยังอธิบายกลยุทธ์รวมศูนย์ผ่านศาสนาไว้อีกว่า การปกครองคนหมู่มากจำเป็นที่จะต้องสร้าง กรอบ อะไรบางอย่างมาขีดเส้นไว้ ให้หลังจากการปฏิรูปครั้งนั้นก็เกิดการนำคติไตรภูมิพระร่วงอย่างนรก-สวรรค์ มาผูกติดกับมโนธรรมศีล 5 ทั้งเผยแพร่ผ่านความเป็นพุทธแท้ในระเบียบของมหาเถรสมาคมต่อสังคมสงฆ์และยังได้แฝงไว้ในแบบเรียนทั่วประเทศต่อตัวประชาชน 

กรอบมโนธรรมศีล 5 ที่ปลายทางคือการไม่ตกนรก จึงได้กลายเป็นแม่พิมพ์โรงงานในการสร้างพลเมืองที่ดีอย่างเบ็ดเสร็จ และส่งผลถึงสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

โดยหัวใจสำคัญนี้ อยู่ที่การแฝงฝังกรอบมโนธรรมศีล 5 ไว้ในแบบเรียน เมื่อเด็กเหล่านี้คือบุคคลที่สามารถอ่านออก-เขียนได้ ในหนังสือเล่มนี้ยังอธิบายไว้ว่าพวกเขาเหล่านี้เองก็จะเป็นคนกำหนดจริตในสังคมสู่การเติบโตไปเป็นชนชั้นกลางในสังคมและสามารถต่อยอดเป็นปัญญาชนได้

พิภพมัจจุราชในเวอร์ชั่นที่ผมดูอาจเป็นแค่ส่วนสำคัญในความทรงจำของปัจเจก แต่ย้อนกลับไปในปี 2511 พิภพมัจจุราชเวอร์ชั่นแรก ถูกสร้างโดยช่องททบ.5 และมีจำนวนตอนมากถึง 368 ตอน โดยกินเวลาฉายเกือบ 8 ปี นี่จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าการสร้างกรอบมโนธรรมศีล 5 และนรก-สวรรค์ ไม่ได้เป็นเพียงพุทธประวัติตามฉบับพระไตรปิฎกเพียงอย่างเดียว แต่การจะได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก ยังถูกกำกับไว้โดยรัฐ-สื่อและเผยแพร่ผ่านคำสอนของศาสนาอีกด้วย

พุทธแท้ภายใต้ศีล 5 อาจจะเป็นยาศีลธรรมครอบจักรวาลที่ทำให้ชาวพุทธไม่ตกนรกหรือไม่ อาจต้องรอปากคำจากคนที่เคยตกนรกมาเป็นคนตอบ

แต่พุทธแท้ภายใต้ศีล 5 ก็มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่จริง ในฐานะเครื่องมือที่รัฐคอยชี้นำการเป็นพลเมืองที่ดี อย่างน้อย ๆ หลักฐานที่ประจักษ์ชัดคือธุรกิจปล่อยปลาทำบุญยังคงกำไรเป็นล่ำเป็นสันหรือกระทั่งการเป็นคนไม่กินดื่ม ก็มักจะถูกหยิบยกเป็นคนดีของสังคมไปโดยปริยาย

เมื่อพุทธแท้แตกหน่อ พุทธเทียมก็ถูกนิยามขึ้น

“ท่านพุทธทาสคือที่สุด หลักคำสอนของท่านคือของจริง ใช้ได้จริง อย่างพวกหลวงเจ๊ะไรนี่เชื่อไม่ได้ พวกพระอุตริก็เชื่อไม่ได้ มีแต่จะพากันล้มเจ้าเสียทั้งหมด เป็นพวกพุทธเก๊กันทั้งนั้น”

คำพูดจากอาวีเมื่อมาเยี่ยมบ้านและสนทนาธรรมะกับผมช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา อาวีเป็นอาแท้ ๆ ของผม นอกจากแกจะเกิดและเติบโตที่สุราษฎร์ธานี แกยังเป็นคนที่เคร่งหลักคำสอนของท่านพุทธทาสเป็นอย่างมาก ทำให้ผมสนใจว่าเพราะอะไรหลักแนวคิดของสวนโมกข์ถึงเป็นของแท้สำหรับแก และความแท้ที่ว่านั้นวัดจากสิ่งใด

นอกจากการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย แรงกระเพื่อมครั้งนี้ยังส่งผลให้ช่วงกึ่งพุทธกาลหรือ พ.ศ.2500 เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของปัญญาชนและชนชั้นกลางจำนวนมาก โดย 3 ชุดแนวคิดที่มีผลต่อสังคมไทยจวบจนถึงทุกวันนี้คือ ธรรมกาย สวนโมกข์ และสันติอโศก

ความแตกต่างของ 3 สำนักที่เชื่อมโยงกันผ่านหลักไตรสิกขาไว้ว่า สันติอโศกคือศีล ธรรมกายคือสมาธิ และสวนโมกข์คือปัญญา อย่างไรก็ตามมีอีกสำนึกหนึ่งที่ไม่ใช่องค์กรทางศาสนาแต่เป็นองค์กรสื่อที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน นั่นคือหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

สวนโมกข์ไม่เพียงแต่จะมอบความเป็นพุทธแท้ให้กับปัญญาชนของไทยโดยแนวคิด ‘ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนปัญญาอ่อน’ แต่การเกิดขึ้นของสวนโมกข์ที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับการอภิวัฒน์สยาม นั่นทำให้ความเป็นสวนโมกข์ที่ละทิ้งความรุงรังของศาสนาแล้วบรรจบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ภาพของความเป็นวัดป่า หลักนำคำสอนที่อ้างอิงกับพุทธวจน ที่ดูมีความบริสุทธิ์แท้กว่าพระไตรปิฎกยิ่งถูกจริตชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น

สวนโมกข์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางจิตใจของผู้คน และความเป็นพุทธแท้ในสังคมไทยสมัยใหม่ก็เติบโตมากขึ้นอย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของสวนโมกข์นั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมีพื้นที่ที่กว้างขวางยิ่งขึ้นของสื่อหนังสือพิมพ์อย่างสยามรัฐ โดยทั้ง 2 สำนักนี้เองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิธีการที่จะไปให้ถึงปลายทางอย่าง นิพพาน ของพุทธศาสนิกชนแตกต่างกัน แต่มีผลที่ซึมแน่น ฝังลึกต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยที่กลุ่มเป้าหมายของทั้งคู่ก็ล้วนเป็นปัญญาชนชนชั้นกลาง ที่แสวงหาที่พักทางใจกันทั้งสิ้น

ในช่วงการเติบโตของ 2 แนวคิดด้านพุทธนี้ในช่วงราว 2520-2530 การพลวัตของกรอบพลเมืองที่ดีของรัฐไม่เพียงแต่การครองศีล 5 แต่ยังได้ยกระดับเป็นการมุ่งสู่นิพพาน ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่าฆราวาสนั้นไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกทางโลกและทางธรรมให้ขาดจึงจะสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อคิดข้อเขียนของสยามรัฐในการแบ่งแยกคนธรรมดาออกไป ยังส่งผลถึงการเติบโตของแนวคิดเนื้อนาบุญ ซึ่งโยงไปได้ถึงผลบุญกรรมที่ส่งผลให้ชาตินี้ใครจึงเป็นกุลี ในขณะเดียวกัน ทำไมชนชั้นนำถึงได้กลายมาเป็นผู้ปกครองประเทศ

แต่พุทธทาสภิกขุไม่มองเช่นนั้น ท่านกล่าวว่าไม่ว่าใครก็สามารถบรรลุธรรมได้ หากเข้าใกล้จิตว่างได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้นิพพานมากขึ้นเท่านั้น ทั้งคู่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ในภาพของการตีความการบรรลุธรรมของประชาชน กว่าเราจะรู้ตัวก็หลังเวลานั้นไปเกือบครึ่งทศวรรษว่าแนวคิดของการหลุดพ้นเหล่านี้ได้ขยายตัวยิ่งใหญ่จนกลายเป็นกรอบของสังคมไปแล้ว

อีกจุดตัดที่สำคัญคือการหันหน้าเข้าพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นของปัญญาชนหลังป่าแตก แม้ส่วนมากจะหันไปหาสวนโมกข์เนื่องจากต้องการหาที่พึ่งพิงทางใจแต่ก็ไม่อยากไปรับใช้จารีตอีก ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์สยามรัฐกลับเป็นแมสมีเดียทางธรรมมากกว่า จากการเข้าถึงประชากรอีกหลายกลุ่มที่เติบโตมาเป็นชนชั้นกลางได้สำเร็จ

การดำเนินการของพุทธแท้และผู้มีบุญญาธิการได้พลวัตอีกครั้งในชื่อของธรรมกาย แม้แก่นหลักของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ จะเน้นถึงการเจริญวิปัสสนานั่งสมาธิ แต่การขยายเป็นวงกว้างสู่ธรรมมะมาร์เก็ตติ้ง ที่มีนิพพานเป็น best sellers ของวัดพระธรรมกาย โดย พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย ได้เปลี่ยนแปลงความว่างและการเลือกทางเดินของ 2 สำนักในข้างต้น โดยการทำให้บุญกรรมนั้นวัดผลได้ง่ายขึ้น และมีวิธีที่จะทำให้บรรลุยอดบุญได้อย่างชัดเจน

โดยมีนัยยะสำคัญอย่างการทำมากยิ่งใกล้นิพพานมาก ไม่ใช่ยิ่งละทิ้งยิ่งไปถึงนิพพานมากขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา

ลอกคราบพุทธแท้ ได้อธิบายถึงช่วงเวลาดังกล่าว(2530-2550) ไว้ว่า เป็นยุคทองของชนชั้นกลาง คือเป้าหมายของการบรรลุธรรมนั้นยากกว่าแต่ก่อน แต่คนที่ต้องการจะบรรลุหรือตอบสนองจริตของตนเองอย่างชนชั้นกลางนั้นมีมากขึ้นจนพบเห็นได้ทั่วไป ศาสนาพุทธในเวลานี้จึงเปรียบเหมือนดอกไม้หลากสี ที่มีวิธีการแตกต่างกันออกไปแต่ละชุดความคิด

ธรรมกายได้สร้างทางลัดให้กับชนชั้นกลางในการบรรลุธรรม นอกจากจะทำให้ย่อยง่ายกว่า ยังคำนวณแบบเห็นตัวเลขได้ชัดเจน ผ่านการนับผลบุญกรรมว่าทำทานได้บุญเท่านี้ นั่งสมาธิกี่นาทีได้ผลบุญเท่านี้ ไปจนถึงการบริจาคเงินเยอะเท่าไหร่ สร้างสิ่งก่อสร้างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ผลบุญมากขึ้นจนถึงแทบจะบรรลุธรรมเป็นขั้น ๆ ต่อการบริจาคมาก ๆ ในครั้งเดียวได้เลย

ในขณะเดียวกัน ชุดความคิดของสันติอโศก ยิ่งสร้างปรากฏการณ์ต่อชนชั้นกลางไทยอีกกลุ่มที่แสวงหาความจริงแท้มากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นลัทธิหรือคอร์สปฏิบัติธรรมต่าง ๆ อีกมากมาย อย่างเตโชวิปัสสนา เป็นต้น และยังได้ทำการพลวัตย้อนกลับอีกครั้งในการพิสูจน์ทราบกับความจริงแท้ของพระธรรมผ่านรูปแบบหนังสือ best sellers อย่าง ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’ หรือ ‘เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน’ ซึ่งการเข้าถึงพระพุทธศาสนารูปแบบนี้ก็มีมาก่อนแล้วอย่างหนังสือ ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ที่มียอดขายเกิน 1 ล้านเล่มในช่วงกึ่งพุทธกาล

อย่างไรก็ตาม การขยายความศรัทธาเป็นวงกว้างที่มากเกินไปของสำนักเหล่านี้ไม่เป็นที่ถูกใจของรัฐส่วนกลาง เมื่อการขยายตัวของชุดความเชื่อเหล่านี้ได้แย่งความศักดิ์สิทธิ์จากมวลชนของตนไป ดังนั้น ศาสนาพุทธในรูปแบบนี้จึงกลายเป็นพุทธเทียมในนิยามของรัฐ

ทั้ง 2 สำนักพุทธอย่าง ธรรมกายและสันติอโศก มีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่ง คือการที่ทั้งคู่ไม่ได้มีหลักคำสอนตามหลักพระธรรมของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือความเป็นพุทธภายใต้ข้อกำหนดของรัฐไทย ทั้ง 2 สำนักแม้จะมีหลักความเป็นพุทธเป็นฉากเคลือบ แต่แท้จริงก็ได้เปลี่ยนแปลงคำสอนไปจากพุทธกระแสหลัก 

แม้ว่าท้ายที่สุดของ 2 สำนักจะโดนปิดฉากจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐในประเด็นของการฉ้อโกง หลอกลวงประชาชน แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาในสังคมวงกว้างที่แตกต่างจากความศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐได้ตั้งนิยามไว้

ซึ่งหากพิจารณาของสามเสาหลักและหนึ่งสื่อ จะเห็นได้ว่าสวนโมกข์และสยามรัฐนั้น ยังมีปฏิสัมพันธ์ที่ยังกล่าวถึงชนชั้นนำไทยอย่างสม่ำเสมอ หรือในขณะเดียวกันก็บอกกล่าวให้ประชาชนกลายเป็นอิกนอแรนซ์เพื่อบรรลุทางธรรมไปเลย กลับกัน สันติอโศกและธรรมกายไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับรัฐที่ดีนัก นอกจากจะไม่ปฏิสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังปลุกปั้นบางอย่างขึ้นมาทัดเทียมฐานะ บุคคลผู้น่ากราบไหว้บูชาของสังคม

ความเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม จึงไม่ได้ผูกแค่กับความบริสุทธิ์ของความเชื่อทางศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อสังคมไทยที่มีการยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ไว้ทั้งความเป็นชาติ ผู้มีบุญญาธิการในคราบของชนชั้นนำ และหลักความเชื่อในกระแสหลักที่ถูกกำกับไว้ด้วยองค์กรศาสนาจากรัฐ 

ดังนั้นเมื่อเกิดสิ่งที่น่ากราบไหว้บูชาของสังคมขึ้นมาแทนที่กรอบที่รัฐวางไว้ให้ สิ่งเหล่านั้นจึงต้องถูกจำกัดออกไปด้วยกลไกของรัฐใน ภายใต้การรักษาความดีในแบบที่รัฐต้องการของสังคม

หรือพุทธแท้ ไม่มีอยู่จริง แต่มีความไม่เสรีนิยมและความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แม้จะเป็นยอดปราชญ์ของสังคมไทย แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็มองเป็นเพียงขวาจารีตคนหนึ่ง

หลักเซนของท่านพุทธทาสที่เคยเป็นที่นิยมจำนวนมากและเป็นพุทธแท้ที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยปรากฏ ท้ายที่สุดก็ก้าวหน้าไม่พ้นความเป็นรัฐชาติของโลกเก่า และยังผูกติดของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านคำสอน

พระสงฆ์ที่เคยปะทะกับกองกำลังทหารที่วัดพระธรรมกายเมื่อปี 2560 ในวันนี้ก็มีสารคดีเรื่องดังมาบอกกล่าวว่าเป็นเพราะการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ต่างหากที่ทำให้ธรรมกายถูกปิดฉาก ไม่ใช่เพราะพุทธพาณิชย์อย่างที่เราเข้าใจ

หรือกระทั่งสันติอโศก ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐในฐานะพุทธนอกรีต ในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ คปท. และสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557

ปรากฏการณ์ในอดีตถึงปัจจุบันในข้างต้นของตัวแทน ‘พุทธแท้’ คือหลักฐานประจักษ์ชัดว่าพุทธที่เคยแท้ในอดีต มีนัยยะที่ทำให้เห็นว่าแนบแน่นเป็นเรื่องเดียวกับการเมืองก็คงไม่ผิด

จนกระทั่งย่อหน้าสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกไว้ว่า พุทธแท้คืออะไร พุทธเทียมคืออะไร แต่สายธารของการนิยาม พุทธแท้ ในสังคมไทย เมื่อนำมาคลี่ปมออกเราจะพบว่าพุทธแท้ถูกนิยามโดยชนชั้นนำมาตลอด และมวลชนที่ขับเคลื่อนซึ่งสามารถเข้าถึง เชื่อมโยง และสร้างปรากฏการณ์ได้นั้นคือชนชั้นกลาง 

ภายใต้การแย่งความจริงแท้ของพุทธแท้แต่ละสำนักในสังคม ไม่เคยเป็นการตามหาความจริงแท้ในพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ แต่เป็นการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงความเชื่อที่กำลังขยายตัวในสังคม ว่าความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมนั้นจะมีได้เพียงอย่างเดียว คือความศักดิ์สิทธิ์จริงแท้ตามที่รัฐบอกเท่านั้น อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

หนังสือลอกคราบพุทธแท้ กล่าวด้วยว่า “ท่ามกลางสังคมพุทธที่ถูกจำกัดความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและถูกผูกมัดด้วยความเชื่อกระแสหลักเพียงไม่กี่ชุด โดยความจริงแท้นี้ยังถูกกำหนดโดยองค์กรของรัฐอย่างมหาเถรสมาคมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำให้สังคมไทยภายใต้ความเป็นรัฐซึ่งอิงกับศาสนาพุทธเป็นหลัก ถูกลดทอนความเสรีนิยมไป”

“นอกจากนี้ ในความไม่เสรีนิยม เราจะเห็นการถูกปราบปรามเพราะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ อย่างกรณีของสันติอโศกและธรรมกาย ในช่วงเข้มข้นของการขยายตัวทางความเชื่อ พวกเขาถูกปิดฉากลงจากการขีดเส้นโดยองค์กรศาสนาของรัฐ ซ้ำยังถูกกองกำลังของรัฐเข้าปราบปรามไม่ต่างจากเหตุปะทะกลางเมือง

ในขณะที่ความคิดพุทธสำนักอื่นซึ่งอิงกับกระแสหลักอย่างสวนโมกข์ หรือพุทธแบบสยามรัฐ รัฐกลับไม่เข้ามาแทรกแซงใด ๆ ซึ่งชี้ชัดว่าภายใต้ความเป็นพุทธในสังคมไทย ประชาธิปไตยก็ย่อมไม่เกิดขึ้นจริงเมื่อความจริงแท้ยังถูกบังคับให้มีโดยชนชั้นนำ” อาสา คำภา กล่าว

หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่พาไปสำรวจว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เราพึงเป็นคนดี แต่เราเป็นคนดีของใคร แล้วใครกำหนดความดีนั้นของสังคม ซึ่งความดีนั้นไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่คิดแต่ถูกสร้างมาอย่างมีแบบแผนและปลายแถวของความดีนั้น ก็ปรากฏในความไม่ดีอย่างข่าวพระฉาว ลัทธิทรงเจ้า หรือกระทั่งปาฏิหารย์นอกรีต และทั้งหมดทั้งมวลที่เราเห็นก็ล้วนเป็นมรดกตกค้างจากการสร้างความเป็นพุทธแท้ ที่สังคมก็ตอบได้ไม่เต็มปากว่าพุทธแท้จริง ๆ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไร

ภายใต้กรอบมโนธรรมของรัฐอาจทำให้สังคมดำเนินไปในรูปแบบหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อเองก็มีการพลวัตทั้งที่สุจริตและหลอกลวง กล่าวได้ว่ากรอบศีลธรรมนี้เป็นความสบายใจที่ถูกบังคับให้เป็นความสบายใจ การมองให้ออกถึงสภาวะถูกบังคับเหมือนถนนเลนเดียวนั้นอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่พาให้สังคมอยู่ในสภาวะที่เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น

พุทธแท้มีจริง ไม่มีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับแท้ที่ว่าคือคำนิยามของใครแต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ยืนยันกับเราแน่ชัด คือเสรีภาพและประชาธิปไตยจำเป็นจะต้องลอกคราบความจริงแท้ที่กำหนดโดยรัฐออก สังคมจึงจะได้ ของแท้ มา

Playread: ลอกคราบพุทธแท้
ผู้เขียน: อาสา คำภา
สำนักพิมพ์: มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี