ผู้หญิงกับการปฏิวัติที่ยังไม่จบสิ้น - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

มีคำกล่าวที่มักจะได้ยินกันทั่วไปว่าประวัติศาสตร์ถูกบันทึกโดยผู้ชนะ

แต่นอกจากถูกบันทึกโดยผู้ชนะแล้ว ประวัติศาสตร์มักจะถูกบันทึกโดยผู้ชาย ผ่านมุมมองของผู้ชาย และเล่าวีรกรรมอาจหาญของผู้ชายเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม สายธารของกระแสการเขียนประวัติศาสตร์โดยให้พื้นที่กับผู้หญิงก็เกิดขึ้นเพื่อโต้กลับกับการครอบงำของมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ การบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความคิด และบทบาทของผู้หญิงในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมเป็นความพยายามคืนตัวตนและศักดิ์ศรีให้กับสตรี ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรม

หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาของ ชานันท์ ยอดหงส์ เรื่อง หลังบ้านคณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง ก็อยู่ในสายธารของการนำผู้หญิงกลับมาสู่พื้นที่ของความทรงจำ ในวาระครบรอบ 89 ปีของการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พลิกผันสังคมไทยอย่างมโหฬาร ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2549 และความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทย เรื่องราวของคณะราษฎรและการปฏิวัติ “พลิกแผ่นดิน” ที่นำโดยคณะราษฎรกลับมาเป็นที่สนใจของสังคม มีการศึกษาค้นคว้า รำลึก โต้เถียงและตีความเหตุการณ์ในช่วงตอนดังกล่าวเสียใหม่จากฝ่ายต่าง ๆ อย่างคึกคักแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ งานวิจัย พิธีกรรม งานศิลปะ การประท้วงทางการเมือง และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บางคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติที่ยังไม่จบสิ้น” ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องถูกสานต่อภารกิจโดยคนรุ่นหลัง

ท่ามกลางการศึกษาค้นคว้าการปฏิวัติ 2475 ในแง่มุมใหม่ ๆ อาทิ การพินิจมรดกทางสถาปัตยกรรม งานศิลปะ อนุสาวรีย์ พิธีกรรมสาธารณะ การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ระบบสาธารณสุข และอำนาจท้องถิ่น หรือการศึกษาบทบาทของสามัญชนในช่วงของการปฏิวัติ และการโต้กลับของฝ่ายอำนาจเก่า/รอยัลลิสต์หรือที่เรียกว่า “การปฏิปักษ์ปฏิวัติ” งานเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทั้งในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องว่างอีกหลายประการที่รอให้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อเติมเต็มประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์ต่อไป ช่องว่างที่สำคัญในองค์ความรู้ประการหนึ่งคือ แง่มุมเกี่ยวกับเพศ เพศสภาพ และบทบาทของผู้หญิงในการปฏิวัติ

หนังสือเล่มนี้ของชานนท์เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่มาช่วยปะติดปะต่อภาพของประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลายคนอาจจะคุ้นชื่อของผู้เขียนมาแล้วจากหนังสือขายดีเล่มดังของเขาที่ชื่อว่า “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งพิมพ์ซ้ำแล้วถึง 7-8 ครั้ง เป็นหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ขายดีที่สุด ในเรื่อง “นายใน” ผู้เขียนเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ในราชสำนักของไทย โดยบรรยายอย่างละเอียดถึงความคิดและวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความปรารถนาและการแสดงออกทางเพศ ความคิดเกี่ยวกับคู่รัก คู่ชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กิจกรรมทางวัฒนธรรม พระราชนิยมและความจงรักภักดีที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางบริบททางสังคมการเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในเรื่อง หลังบ้านคณะราษฎร ผู้เขียนยังคงรักษาฝีมือของการเขียนเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อย่างมีเสน่ห์ เต็มเปี่ยมด้วยสีสันไว้เช่นเคย ฉะนั้นใครที่ชอบลีลาการเล่าเรื่อง และผูกเรื่องราวด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เปิดให้ผู้อ่านมองเห็นแง่มุมใหม่ทางสังคมและวัฒนธรรมจากเรื่องนายใน ก็น่าจะไม่ผิดหวังกับเล่มนี้ อย่างไรก็ดี แง่มุมการวิเคราะห์นั้นมีความต่างออกไประหว่างงานทั้งสองชิ้น เพราะในเล่ม หลังบ้านคณะราษฎร ผู้เขียนให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์บทบาทและการเมืองของผู้หญิงที่เป็นภรรยาคณะราษฎร ในบริบทของการเมืองสยามในยุคสมัยของระบอบรัฐธรรมนูญ การสร้างชาติ และการปลูกฝังประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคม

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้อิงจากหลักฐานข้อมูลจำนวนมากในประวัติศาสตร์ โดยแหล่งข้อมูลที่สำคัญคือ หนังสืองานศพ และบันทึกความทรงจำของบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมมาอย่างอุตสาหะจนสามารถฉายให้เราเห็นภาพความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ บางเรื่องก็ไม่เป็นที่รับรู้มาก่อน บางเรื่องก็ทำให้มันแจ่มชัดขึ้น

หลังบ้านคณะราษฎรบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างแจ่มชัดว่าผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างสำคัญ ทั้งในด้านการผลักดันคุณค่าและค่านิยมสมัยใหม่เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง เช่นคุณค่าเรื่องความเป็นอิสระ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ความเป็น “หญิงสมัยใหม่” ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงการทำหน้าที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและมีบทบาทอยู่ในพื้นที่ในบ้านเท่านั้น ผู้หญิงก้าวออกมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ ทั้งบทบาทในทางสังคมและการเมืองอย่างแข็งขันและมีสำนึกในฐานะพลเมือง หรือแม้แต่บทบาท “หลังบ้าน” ก็เป็นบทบาทที่มีนัยทางการเมือง เช่น การรักษาความลับให้สามีและขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่สามีมีบทบาท (ต้องไม่ลืมว่าการปฏิวัติของคณะราษฎรเพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นถูกประหารชีวิตหากทำไม่สำเร็จ ซึ่งหมายถึงชีวิตของภรรยาก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบไปด้วย การรักษาความลับจึงสำคัญอย่างยิ่งยวด และดังนั้นคนในครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญ) การช่วยเจรจาและสมานรอยร้าวระหว่างสมาชิกคณะราษฎรด้วยกันและคณะราษฎรกับศัตรูทางการเมือง การช่วยขยายเครือข่ายทางการเมือง (ทั้งผ่านการแต่งงาน กลุ่มเพื่อนและเครือญาติ การเข้าสังคม การทำงานสาธารณะ) การใช้งานเชิงวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างชาติ และสำนึกความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย   

ในหนังสือเล่มนี้ แทนที่เราจะได้รู้จักเพียงแค่ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระยาพหลพลพยุหเสนา ประยูร ภมรมนตรี ควง อภัยวงศ์ ทัศนัย มิตรภักดี สินธุ์ กมลนาวิน สังวร สุวรรณชีพ วิลาศ โอสถานนท์ ธวัล ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นตัวละครผู้นำชายที่มักจะถูกศึกษาในงานค้นคว้าเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ผู้อ่านจะได้พบกับชื่อเสียงเรียงนาม บทบาทและความคิดของผู้หญิงที่มีบทบาทน่าสนใจแห่งยุคสมัยอย่างละเอียด พิบูลสงคราม พูนศุข พนมยงค์ อมร สีบุญเรือง เลขา อภัยวงศ์ ฟองสมุทร กาจสงคราม บุญหลงและพิศ พหลพลพยุหเสนา จารุพัตรา อาภากร เฉลิม สุวรรณชีพ เปี่ยมสุข อดุลเดชจรัส แฉล้ม ชาลีจันทร์ ฯลฯ

ในบรรดา “หลังบ้าน” คณะราษฎรที่โดดเด่นที่สุด คงไม่พ้นละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีบทบาทเข้มแข็งสนับสนุนสามีของตน และยังมีบทบาทในการสร้างลัทธิรักชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทในโรงเรียนนายร้อยทหารหญิงและโรงเรียนนายสิบหญิง บทบาทในการเป็นผู้นำสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงและสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งต้องการนิยามคุณค่า ความหมายและหน้าที่ของ “ความเป็นหญิงไทย” และเพื่อยกระดับการครองชีพและความเป็นอยู่ วิชาชีพและงานสังคมต่างๆ ของผู้หญิง ซึ่งผู้เขียนสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า บทบาทของละเอียดในด้านการเมืองเรื่องวัฒนธรรมนี้ เท่ากับการทำให้ “สถานภาพความเป็นอยู่และเนื้อตัวร่างกายพลเมืองหญิงถูกดึงให้สัมพันธ์กับรัฐประชาชาติ เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งในความหมายสมบัติของชาติ” (น. 209)  

นอกจากนั้นละเอียดยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกฯ และยังเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2500 บทบาทที่แข็งขันและโดดเด่นของละเอียด ทำให้เธอตกเป็นเป้าของการโจมตีทางการเมือง การซุบนินทา กระทั่งการใส่ร้ายป้ายสี และการนำมาล้อเลียนในเชิงด้อยคุณค่าในหน้าหนังสือพิมพ์และการ์ตูนล้อการเมืองในสิ่งพิมพ์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในแง่นี้ ลำพังการศึกษาเรื่องราวของละเอียด พิบูลสงคราม เราก็สามารถเห็นภาพทั้งในเชิงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ รวมทั้งข้อจำกัด (หรือเพดาน) ของการขยับปรับเปลี่ยนบทบาทผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี น่าทึ่งตรงที่ว่า แม้แต่ในปัจจุบัน ซึ่งเวลาล่วงเลยมาแล้วหลายทศวรรษจากในยุคของละเอียด สถานะและบทบาทของผู้หญิงในสังคมการเมืองไทยก็ยังดูเหมือนจะถูกขีดเส้นและตีกรอบให้อยู่ในกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่ก้าวหน้าไปมากกว่าสมัยอดีตเสียเท่าใดนัก

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากฉายภาพให้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้หญิงในเครือข่ายคณะราษฎรที่พยายามขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณค่าแบบใหม่ให้กับผู้หญิงด้วยกันแล้ว ก็ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวโต้กลับจากสตรีชนชั้นสูงฝ่ายอนุรักษ์นิยม/จารีตนิยมที่ยังคงต้องการตรึงความหมายของผู้หญิงให้ดำรงอยู่ในแบบเดิม กลุ่มสตรีสูงศักดิ์นี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาคม ชมรม สโมสร ออกนิตยสาร เช่น นิตยสาร เรวดี ที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2499 เพื่อให้ความรู้แม่บ้านแม่เรือน เพื่อสร้าง “ความเป็นหญิงที่แท้จริงและสมบูรณ์” เป็น “ศรีภรรยา” เพื่อความผาสุกในครอบครัว ซึ่งเป็นการตอบโต้กับกระแสสิทธิเสรีภาพทางเพศและการมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้นของผู้หญิงที่ไปพ้นจากเพียงแค่การเป็นเมียและแม่บ้าน

ฉะนั้น การเมืองเชิงวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มผู้หญิงต่างอุดมการณ์จึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ที่มีการรื้อฟื้นกระแสจารีตนิยมกลับมา ก็เกิดการช่วงชิงความหมายของความเป็นผู้หญิงตามมาด้วย ในขณะที่คณะราษฎรให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงให้ทันสมัยทัดเทียมสากล กลุ่มสตรีฝ่ายจารีตนิยมพยายามดึงความหมายของผู้หญิงที่ดีให้กลับไปสู่บทบาทของการเป็นกุลสตรีและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ผู้หญิงต้องพึ่งพิงสามีและโครงสร้างสังคมแบบศักดินาสมัยก่อน ผ่านกิจกรรมแนวสังคมสงเคราะห์ของบรรดาคุณหญิงคุณนายที่จะเฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 ที่ทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. หมดอำนาจลง ซึ่งนั่นหมายถึงการสิ้นสุดบทบาททางสาธารณะของละเอียด พิบูลสงครามไปด้วย

แน่นอนว่าภาพความเคลื่อนไหวของผู้หญิงในหนังสือ หลังบ้านคณะราษฎร ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเพ่งพินิจพิจารณาไปที่กลุ่มผู้หญิงที่เป็นคู่ชีวิตของผู้นำและสมาชิกคณะราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและพ่อค้าระดับกลาง เมื่อปฏิวัติสำเร็จก็มีสถานะทางสังคมและการเมืองที่สูงเด่นยิ่งขึ้น กลายเป็นชนชั้นนำใหม่ของสังคม การศึกษาบทบาทของภรรยาคณะราษฎรจึงเท่ากับการศึกษาบทบาทของผู้หญิงที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจระดับบนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงยังไม่ได้เห็นภาพของผู้หญิงชนชั้นอื่น ๆ และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่อยู่ระดับกลางและล่างของสังคม และที่อยู่พ้นออกไปจากใจกลางอำนาจ ซึ่งก็เริ่มเคลื่อนไหวไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประเด็นเหล่านี้ยังคงรอคอยให้คนมาศึกษาเพื่อเติมเต็มภาพประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์ต่อไป นอกเหนือจากที่ หลังบ้านคณะราษฎร ได้นำเสนอไว้อย่างดีเยี่ยม และสะท้อนให้เห็นว่าในการปฏิวัติครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ก็ตาม ผู้หญิงเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้สร้างและขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ด้วย