อาสา Food For Fighters อาสารับส่วนเกิน เติมส่วนขาด - Decode
Reading Time: 3 minutes

13 พ.ค. (ห้ามลบ)
1. ข้าวกล่อง 200 ถุงยังชีพ 200 ไปส่งคริสตจักรกรุงเทพ ก่อนเที่ยง
2. ข้าวสาร 200 ถุง (มีน้ำดื่ม + น้ำมันพืช) ไปบ่อนไก่ ส่งตอนเช้า

ผมพบข้อความข้างต้นถูกเขียนอยู่บนไวท์บอร์ด ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ตอนนี้พื้นที่บางส่วนถูกเนรมิตเป็นศูนย์ทำงานของคนกลุ่มที่ใช้ชื่อเรียกแทนตัวเองว่า “Food For Fighters” เหล่าอาสาสมัครกำลังเดินกันขวักไขว่ บ้างก็แบกถุงข้าวสารขึ้นรถกระบะ บ้างก็หิ้วอาหารแห้ง มีผู้ชาย 3-4 คน นอกเหนือนั้นมีแต่ผู้หญิงที่อาสาช่วยกันขนของ

ทุกคนทำงานขันแข็งแข่งกับเวลา เพราะมีคนปลายทางในชุมชนทั่ว กทม. และปริมณฑล รอสิ่งของจากพวกเขาอยู่  ตอนช่วงสายของวันที่ 13 พ.ค. 64 มีรถผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารับของอยู่ตลอด บางชุมชนก็มารับด้วยตนเอง บางชุมชนทางกลุ่มก็ไปส่งของให้ อย่างวันนี้มีชุมชนจากเพชรเกษม ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนคลองลัดภาชี ชุมชนแถบลาดพร้าว โรงพยาบาลสนาม มธ. เป็นอย่างน้อยที่กลุ่ม Food For Fighters เป็นสื่อกลางช่วยกระจายของบริจาค ให้แก่ผู้คนที่กำลังเดือดร้อนจากโควิด

รับจากส่วนที่เกิน เติมในส่วนที่ขาด และไปส่งในส่วนที่ไกล คือสโลแกนที่ผู้หญิงสวมเสื้อเชิ้ตรวบผมตึง ท่าทางกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Food For Fighters กล่าวไว้ ความหมายของมันคือ รับของจากผู้ต้องการบริจาค หรือของบริจาคส่วนที่เกินจากแหล่งอื่นๆ มาเติมให้ส่วนที่ขาด เป็นสื่อกลางนำของที่ได้รับส่งต่อให้กับพื้นที่ขาดแคลน เช่นตามชุมชนต่าง ๆ 

สายตาเธอกำลังจดจ้องจอคอมอย่างขะมักเขม้น ในขณะหูเธอกำลังแนบคุยโทรศัพท์กับปลายสายอย่างเร่งด่วน ผมกล่าวทักทายก่อนจะขอสละเวลาอันมีค่าของเธอมาคุยกันถึงที่มาของ Food For Fighters และสถานการณ์โควิดตามชุมชนต่าง ๆ ในกทม. เธอบอกกับผมในฐานะคนทำงานด่านหน้าว่า “คิดว่ารอบนี้สาหัสมาก เพราะยอดส่งข้าวกล่องให้ชุมชนต่าง ๆ ณ วันนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และมีแนวโน้มจะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่คนตกงานและโดนกักตัว”  

เตเต้ พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Food For Fighters

ขยายพันธมิตร 100 ร้านอาหารใน 20 จังหวัด

“จุดเริ่มต้นของ Food For Fighters เกิดจากเราเห็นความเดือดร้อนของพี่ ๆ เพื่อนๆ ที่ทำร้านอาหาร ตอนโควิดระบาดรอบแรก เลยโพสต์ลง Facebook ว่าถ้าเราเปิดระดมทุน โดยมีออเดอร์ให้ร้านอาหารวันละ 50 กล่อง กล่องละ 50 บาท เครดิต 7 วัน โดยนำอาหารนั้นส่งไปให้บุคลากรทางการแพทย์ จะมีใครสนใจร่วมกันไหม ปรากฏว่าพอโพสต์ไปคนสนใจกันเยอะ”

เตเต้ พันชนะ วัฒนเสถียร  อดีตทนายความ,  ผู้จัดการคาราวานสู่ไซบีเรีย ของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ปัจจุบันรับบทบาทเจ้าของร้านอาหาร ‘เป็นลาว’ พ่วงด้วยตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม Food For Fighters

Food for Fighters หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘ข้าวเพื่อหมอ’ เกิดขึ้นช่วงโควิดระบาดระลอกแรก ตั้งต้นจากแนวคิดที่อยากจะทำให้ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอยู่รอด ด้วยการระดมทุนระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)เงินที่ได้จะไปจ้างร้านอาหารทำข้าวกล่อง เพื่อจัดส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ควรต้องมานั่งกินกะเพราไก่ทุกวัน ทำไมเวลาคนคิดถึงอาหารกล่อง จะคิดถึงแต่กะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวไข่เจียว เราคนทำร้านอาหารก็เลยคิดเริ่มจากนำ 10-20 ร้านแรกที่ชอบกินมาเข้าร่วมกับเรา” ซึ่งในการระบาดระลอกแรก Food for Fighters ประสบความสำเร็จโดยมีเครือข่ายร้านอาหารถึง 100 ร้าน ใน 20 จังหวัด และตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์สินวัฒนา มีผู้ให้การสนับสนุนถึง 315 คน เป็นจำนวนเงิน 1,482,018 บาท

รถกระบะคันนี้กำลังขนสิ่งของไปส่งให้กับชาวชุมชนคลองลัดภาชี

“ททท ทำทันที” เพราะไม่อาจคาดหวังจากรัฐ

รถกระบะหลังคาสูงถูกบรรจุเต็มไปด้วยข้าวสาร อาหารแห้งจนเต็มกระบะ รถคันนี้มาจากชุมชนในซอยเพชรเกษม 69 โดยตัวแทนคนในชุมชน เพื่อนำของที่ได้รับไปกระจายต่อในชุมชนของตนเอง 

ควันจากท่อไอเสียของกระบะหลังคาสูง ขับออกไปยังไม่ทันจางหาย รถกระบะคันสีขาวของภี ชายหนุ่มรูปร่างใหญ่ อาสาสมัครที่อาศัยช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำงานประจำ มาช่วยงาน Food for Fighters ก็ขับเข้ามาเทียบท่ารอขนของ ภีเพิ่งกลับมาจากการไปแจกอาหารที่ชุมชนบ่อนไก่ ยังไม่ทันได้พักหายใจ ชายหนุ่มต้องออกแรงขนข้าวสาร อาหารแห้ง ไปส่งยังชุมชนบ่อนไก่อีกครั้ง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการคนในชุมชน

เมื่อกลไกของรัฐสวัสดิการ ไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือสู่ทุกคนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม ทางออกที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ คือการที่ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาทำงานแทนภาครัฐ  แม้จะไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ผู้ก่อตั้ง Food for Fighters ก็ได้บอกกับผมว่า “ต้อง ททท ทำทันที” เพราะเธอไม่อาจคาดหวังและรอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้แก่คนรากหญ้าผ่านทางหน้าจออยู่ที่บ้านได้

ข้อความขอความช่วยเหลือ ที่ส่งมายัง Food for Fighters

“คุณคิดว่าให้เขาหยุดงาน 14 วันแล้วเอาอะไรมาช่วยเขาบ้าง คนมันกินข้าววันละ 3 มื้อ  คุณอย่าเอาความคิดของคนเมืองที่คุณมีพร้อมทุกอย่าง แล้วไปบอกว่าให้เขาอยู่บ้านสิ! มนุษย์ทุกคนมันมีศักดิ์ศรี คุณคิดว่าอยู่ดี ๆ ใครกันมันอยากจะออกมาขอข้าวคนอื่นกิน” 

เตเต้ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายเสียงพยายามบอกให้ผู้มีความเสี่ยงกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ลืมถึงข้อจำกัดที่คนหาเช้ากินค่ำต้องเผชิญ

“พื้นที่คลองเตยหรือชุมชนอื่นๆ สิ่งสำคัญคือการทำให้คนไม่ตกงาน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ คนตกงานจะเห็นเลยว่าตอนนี้ระบบมันช็อต ภาครัฐขาดการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ”

หลายชุมชนยกตัวอย่างเช่นคลองเตย 40 ชุมชน คนหนึ่งแสนคน ไม่นับแรงงานข้ามชาติ ปกติออเดอร์ข้าวกล่องที่ทาง Food for Fighters ดูแลชุมชนหนึ่ง จะส่งข้าวให้วันละ 200 กล่อง แต่มาวันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 400 กล่อง  ความต้องการรวมต่อวัน 3-4 พันกล่อง ในพื้นที่ประมาณ 10 ชุมชนที่ทางกลุ่มดูแลอยู่ มีแนวโน้มความต้องการสิ่งของ อาหารสูงขึ้นเรื่อย ๆ

“เราจะบอกทีมงานทุกคนว่า ทุกคนต้องใส่แว่นแบบเดียวกัน และต้องเป็นแว่นสายตาสั้น คือต้องมอนิเตอร์ปัญหาตลอดเวลา ติดตามข่าวทุกชั่วโมงเช้าตัดสินใจอย่าง เย็นอาจต้องตัดสินใจอีกอย่าง”

เตเต้เลือกมาตั้งศูนย์แห่งใหม่ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ สืบเนื่องจากเธอเป็นศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ข้อดีของการมาตั้งศูนย์ที่นี่ เตเต้เล่าว่า “อยู่ใจกลางเมือง มันสะดวกเรื่องการส่งของไปยังชุมชนต่างๆ และในเรื่องขอรับบริจาค เราอยู่ตรงจุดที่คนมีกำลังทรัพย์ ยกตัวอย่างมีคนส่งข้าวให้ รพ. จุฬาฯวันละ 100 กล่อง เขาอาจจะเอามาให้เรา 20 กล่อง” 

นอกจากในประเทศไทยแล้ว แนวคิดของ Food for Fighters ยังได้เข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่สปป.ลาว จากกรณีที่ชายไทยลักลอบเข้าไปในประเทศ จนนำไปสู่การ Lockdown เวียงจันทน์

เพื่อนของเพื่อนเตเต้เป็นหมออยู่ที่นั่น และเห็นแนวทางการทำงานของ  Food for Fighters น่าสนใจ เตเต้จึงยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษา ให้ทางประเทศเพื่อนบ้านได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ทั้งในอนาคตเธอก็อยากจะขยายเครือข่ายไปยังประเทศใกล้เคียงใน AEC เพราะคิดว่าภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ คงจะอยู่กับเราอีกนาน

รับส่วนเกิน เติมส่วนขาด

“อาสาสมัครเราอยากได้ผู้ชายมาช่วยยกของตอนนี้มีแต่ผู้หญิงและของบริจาคเมื่อวานมีข้าวสารมาส่ง 3 ตัน ต้องไปจ้างมอเตอร์ไซค์วินมาช่วยขน” 

เตเต้บอกว่าตอนนี้ทีมของ  Food for Fighters มีอาสาสมัครประจำอยู่ 4 คน สำหรับช่องทางสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของกลุ่ม ก็สามารถเลือกได้ตามที่เราสะดวกดังนี้

  • บริจาคเป็นเงินสด หรือสิ่งของ
  • เข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัคร

โดยช่องทางติดต่อ Food For Fighters สามารถโทรเข้าไปที่เบอร์ 02-016-9910 (ทุกวัน 9.00 น. – 17.00 น.) หรือสามารถติดต่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Page Facebook: Food For Fighters

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้าไปเป็นอาสาสมัคร พืช สุภร ม่วงมณี อายุ 36 ปี อดีตพนักงานประจำ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เธออาศัยช่วงเวลาที่บริษัทของเธอปิดกิจการ และกำลังมองหางานใหม่ มาเป็นอาสาสมัครที่นี่ได้ 3 วันแล้ว จุดเริ่มต้นของเธอเกิดจากการเห็นข้อมูลบน Facebook และตัดสินใจเดินเข้ามาทำงานอาสาสมัคร ซึ่งเธอบอกว่าช่วยจุดไฟในตัวเธอขึ้นมาอีกครั้ง 

“เรามีหน้าที่เป็นคนประสานงานต้องตื่นตัวอยู่ตลอด ข้อมูลที่เข้ามาเปลี่ยนไปแบบวินาทีต่อวินาที ข้อมูลเข้ามาหลายช่องทางและหลั่งไหลเข้ามาตลอด จากทั้งผู้บริจาคผู้นำชุมชนต่าง ๆ  เราจึงต้องจัดการทั้งทางรับและการจัดส่งไปให้ทางชุมชน หรือว่าตาม รพ. ต่าง ๆ”

พืชเลือกมาทำงานอาสาสมัครตรงนี้ เพราะมองว่ามันค่อนข้างปลอดภัย เธอเองมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน  หลังจากทำมาได้ 3 วัน เธอได้เห็นถึงความต้องการของชุมชนต่าง ๆ มันทำให้เธอเข้าใจมากขึ้นว่า ตอนนี้มีหลายคนที่กำลังเดือดร้อน

“ตอนนี้ความต้องการที่เข้ามาเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  รวมถึงคนที่บริจาคก็เริ่มมากขึ้นด้วย แต่ทางกลุ่มก็ต้องการของบริจาคแทบทุกวัน เรารับทุกอย่างเลยตอนนี้ แต่ว่าเราก็จะดูความต้องการของชุมชนด้วย เราจะเลือกสรรและส่งไปตามความเหมาะสมของชุมชน”

พืช สุพร มุ่งมณี อาสาสมัคร Food For Fighters

เหลือบมองเวลาที่โทรศัพท์มือถือ 12.00 น. วันนี้อากาศร้อนอบอ้าว จนเหงื่อที่ไหลออกมาเป็นเรื่องปกติ รถกระบะคันใหม่ขับเข้ามาอีกแล้ว เตเต้บอกผมว่ารถคันนี้จุดหมายปลายทางอยู่ที่ รพ. สนามธรรมศาสตร์ ซึ่งเตเต้จะลงพื้นที่ไปด้วยตนเอง เพราะช่วงบ่ายวันนี้เธอมีนัดกับทาง ม.ธรรมศาสตร์ ในการจัดทำถุงยังชีพ 

เหตุผลที่เตเต้ เลือกลงพื้นที่ด้วยตนเองทุกครั้งที่มีโอกาสเพราะเธอมองว่า การรอรับข้อมูลข่าวสารจากผู้อื่นและนำมาส่งต่อ พลังของการร้องขอมันจะสูญหายไป  

ผมคงไม่กวนเวลาการทำงานของเธอไปมากกว่านี้ จึงเพียงถามถึงความรู้สึกในฐานะที่เธอทำงานอยู่ด่านหน้า

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมันคือคุณค่าที่ไม่ใช่แค่มูลค่า ในการทำงานเราตีค่ามันออกมาไม่ได้ อย่างหลาย ๆ ชุมชนตอนนี้ เราลงไปพื้นที่จะเห็นเลยว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก สะท้อนรากเหง้าปัญหาของสังคมไทยอย่างดี มันเกิดการตีตรา รังเกียจ และในยามที่มันเกิดวิกฤตเช่นนี้ ถ้าสังคมมันอยู่ไม่รอด เราก็ไม่รอดเหมือนกัน

“นี่อาจเป็นวิกฤติที่ทำให้เราต้องมาช่วยกันคิดถึงการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แต่ละชุมชนช่วยตัวเองได้บ้าง เพราะโควิดรอบนี้มัน Decode เราใหม่หมดเลย”