“หมดสิ้นแล้ว ความยุติธรรม”
ข้อความในทวิตเตอร์ของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 หลังการยื่นขอประกันตัว “ไผ่-ไมค์-รุ้ง” แกนนำราษฎรถูกปฏิเสธจากศาล วันนั้นไม่เพียงแค่ข่าวไม่ให้ประกันตัวผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แต่การปรากฎภาพแม่ของไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โอบกอดอาจารย์ประจักษ์ พร้อมด้วยแม่ของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ สร้างความสะเทือนใจไม่น้อยกับผู้ที่ติดตามข่าว คนที่ออกมาต่อสู้ และกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
“แม่ไผ่เขาพูดว่า เขาสู้ตามกระบวนมาโดยตลอด ไม่เคยหลบหนี มันเป็นการพูดจากหัวใจจริง ๆ ว่ามันไม่มีความยุติธรรม ซึ่งสะเทือนใจมาก จนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ส่วนแม่รุ้ง-ปนัสยาบอกว่าลูกสาวเขาทำผิดอะไร แค่อยากเห็นสังคมดีขึ้น เขาทำผิดขนาดนั้นเลยเหรอ ”
เมื่อสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน และการยึดหลัก “การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด” (the principle of presumption of innocence) เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือเพื่อให้การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมมากที่สุดกับทุกฝ่าย แต่วันนี้ทั้ง 2 อย่างนี้กลับดูเหมือนเลือนลางบางเบามากทีเดียว
“การไม่ได้ประกันตัวครั้งนี้ซีเรียส เพราะเขารู้ว่าครั้งนี้มันจะนาน”
De/code นัดสัมภาษณ์พิเศษกับ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในคณาจารย์ และนักวิชาการที่พยายามยื่นประกันตัวนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนทางการเมือง เราชวนอาจารย์คุยกับช่วงเวลาสะเทือนใจ และความผิดปกติในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ชวนอาจารย์วิเคราะห์การเคลื่อนไหววันนี้ที่รัฐมีปฏิกิริยาโต้กลับรุนแรง ขณะที่แกนนำเลือกใช้เส้นทางสันติวิธี และชวนอาจารย์มองต้นทุนของนักวิชาการที่ออกมาเคียงข้างนักศึกษา และการเติบโตของ “ไผ่-ไมค์-รุ้ง-เพนกวิ้น” ตั้งแต่ Day 1 จนถึงวันนี้ที่การต่อสู้พาพวกเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
01: ก่อนภาพข่าวจะปรากฎ
แม้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าวันที่ 8 มีนาคม 2564 อัยการจะสั่งฟ้องแกนนำคณะราษฎร 18 คน จากการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” มี 15 คน ถูกสั่งฟ้องด้วยความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา อีก 3 คน ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ไมค์-ภาณุพงษ์ จาดนอก และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดนคดี 112 แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือความฉุกละหุก การไม่ได้ร่ำลา หรือเห็นหน้าให้กำลังใจก่อนเข้าเรือนจำ หรือแม้แต่การที่จำเลย ทนาย นายประกันจะเซ็นต์รับทราบการนำตัวผู้ต้องหาออกไปจากศาล นี่ไม่ใช่ขั้นตอนปกติที่อาจารย์ประจักษ์เคยพบเมื่อมาเป็น “นายประกัน”
คำพูดจากทั้งแม่ของรุ้ง และไผ่ รวมถึงแม่ของเพนกวินที่อยู่ข้าง ๆ พรั่งพรูถึงความยุติธรรมในการให้ประกันตัวครั้งนี้ บรรยากาศที่บีบคั้นนาทีนั้นอาจารย์บอกว่า มันไม่ใช่เพียงแค่อาจารย์ที่รู้สึก แต่เชื่อว่าทั้งทนาย สื่อ และเหล่าอาจารย์ต่างก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน
“มันเป็นคำพูดจากหัวใจ จากหัวอกคนเป็นแม่ แม่รุ้งไม่เคยพูดเรื่องการเมือง ปกติเขามาให้กำลังใจในฐานะคนเป็นแม่ เราก็ปลอบและให้กำลังใจกัน ส่วนแม่ไผ่ก็เป็นคนเข้มแข็งมาตลอด ทีนี้ลูกเขาก็เคยอยู่ในคุกมานานถึง 2 ปีครึ่ง มันก็สะเทือนใจเป็นพิเศษ ยังมีแม่เพนกวินที่ลูกอยู่ข้างในมาก่อนหน้านี้อีก การประกันตัวครั้งนี้มันมีความหมาย เพราะถ้าครั้งนี้ไผ่ ไมค์ รุ้ง ได้ประกันตัว หมายความว่า เพนกวิน และคนที่โดนคดี 112 จากม็อบ 19 กันยาก็น่าจะได้ประกันไปด้วย”
02: สิทธิประกันตัว = สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
แต่สิทธิไม่ได้ถูกให้อย่างเท่าเทียม
“ตราบใดที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่ถูกตัดสิน เขาก็มีสิทธิ์ออกมาใช้ชีวิตได้ มาปราศรัยได้ เพราะเป็นสิทธิที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ”
สิทธิการประกันตัว สอดคล้องกับหลักการการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อาจารย์ประจักษ์อธิบายว่า หลักการนี้อาจารย์หลายกลุ่ม ทั้งนักกฎหมาย รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ต่างออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันสิทธิพื้นฐาน ซึ่งเป็นทั้งหลักสากล และเป็นหลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
การไม่ให้ประกันตัวจำเป็นต้องมีข้อยกเว้นที่ไม่ใช่กรณีทั่วไป หรือแม้แต่กรณีที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริงก็ยังได้รับการประกันตัว เช่น กรณีที่ศาลให้สิทธิประกันตัวแก่แกนนำ กปปส. ที่ถูกติดสินว่าผิด และถูกขังอยู่ในเรือนจำ 1-2 วัน ก็ยังสู้ต่อได้ทั้งศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งเขาอาจจะไม่มีความผิดในศาลนั้นก็ได้ ทำให้การเขาได้ประกันตัวนั้นถูกต้องแล้ว
แต่สำหรับการกรณีของไผ่ ไมค์ รุ้ง ยังไม่มีความผิดปรากฎขึ้นเลย แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว
แล้วที่ศาลให้เหตุผลว่า “จะก่อเหตุซ้ำล่ะ?”
“แกนนำราษฎรยังไม่ได้ถูกตัดสินว่า ทำผิด การไม่ได้ประกันตัวมันมีเกณฑ์ คือ จะหลบหนีชัดเจน ซึ่งคนเหล่านี้โดนฟ้องเยอะแยะ เคยติดคุกมาแล้วด้วย ถ้าจะหนี…หนีไปแล้ว แต่เขาสู้เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ส่วนเหตุผลจะทำผิดซ้ำ อันนี้ทนาย และนักกฎหมายสามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลได้ แต่ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิดจากคดีอะไรเลย การที่เราบอกว่า ถ้าปล่อยไป ก็ปราศรัยซ้ำ จัดชุมนุมอีก เท่ากับคำสั่งศาลพิพาษาไปแล้วว่าการปราศรัยผิดกฎหมาย การชุมนุมผิดกฎหมาย แต่นี่มันยังไม่มีคำพิพากษา ต้องให้เขาต่อสู้ก่อน”
03: เทียบคดี “ให้ประกันตัว” ระหว่างพิจารณาคดี คณะราษฎร-กปปส.
ความอัดอั้น และหัวใจสลายของคนเป็นแม่ ๆ และคนที่ติดตามที่การประกันตัวครั้งนี้ไม่เป็นผล มันเป็นความกังวล ที่ไม่ใข่ถูกปฏิเสธเท่านั้น แต่ครั้งนี้เป็นสัญญาณว่าการอยู่ในเรือนจำอาจ “ยาวนาน” ไม่เหมือนการฝากขังชั่วคราวเหมือนครั้งก่อนที่มีกำหนดช่วงเวลาชัดเจน แต่ครั้งนี้เป็นการฝากขังระหว่างพิจารณาคดี สิทธิการประกันตัวจึงสำคัญ
“ในระหว่างพิจารณาคดีการประกันตัวสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.ถ้าระหว่างพิจารณาคดีมันยาวนานเป็น 10 ปี เขาก็ต้องอยู่ในนั้น ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้ หรือออกมาใช้ชีวิต และ 2. ถ้าเขาไม่ผิดเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เท่ากับเขาติดคุกฟรีไปเลย 10 ปีนั้น”
ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่างคดีการฟ้องแกนนำ กปปส. 18 คน ถ้าวันนั้นเขาไม่ได้รับการประกันตัว แกนนำหลายคนจะไม่มีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรี เพราะคดีทางการเมืองเป็นคดีที่ใช้เวลานาน ซึ่งบางครั้งคนอาจลืมไปแล้วก็ได้ว่ามีคดีนี้อยู่ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมนักวิชาการ นักกฎหมายถึงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวแบบเท่าเทียมเสมอภาค
“จะมองในมุมของกฎหมาย มันยิ่งอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงไม่ให้ประกันตัว คดีของแกนนำ กปปส. ถือว่าร้ายแรงกว่า เพราะถูกฟ้องเรื่องการล้มล้างการปกครอง เรื่องกบฎ มีข้อหาเป็นการก่อการร้ายด้วย โทษสูงสุดของข้อหาคือจำคุกตลอดชีวิต ยังได้ประกันตัวระหว่างนั้น แต่ว่า 6-7 คนนี้โดนคดี 112 โทษสูงสุดคือจำคุก 15 ปี น้อยกว่าโทษกบฎ และของ กปปส.ศาลได้ตัดสินแล้วด้วยว่าผิดจริง แบบนี้ศาลไม่กลัวหรือที่จะทำซ้ำอีก อันนี้ใช้เหตุผลนี้ได้ว่าไม่ให้ประกันตัวเพราะจะไปทำผิดซ้ำอีก”
อย่างนั้นการเลือกตัดสินแบบนี้
สามารถมองในมุมในได้บ้างไหมนอกจาก “เป็นการเมือง”?
“มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะถูกมองในมุมการเมืองเป็นหลัก คือ ปัญหาสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่สงบมาจนถึงทุกวันนี้แหละ คนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับโดยมาตรฐานเดียวกัน แต่มันขึ้นอยู่กับสีเสื้อ และอุดมการณ์ทางการเมือง”
04: วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยัง “ไม่ประนีประนอม”
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ฮ่องกง ไทย เมียนมา วิธีการปราบปรามและควบคุมผู้ชุมนุมมีลักษณะคล้ายกัน คือ “จับแกนนำ เอาไปเข้าคุกให้หมด” เพื่อให้การชุมนุมอ่อนแรง และการเคลื่อนไหวแผ่วลง หากยังไม่หยุดจำเป็นต้องใช้กำลังอย่างรุนแรง เราสามารถเห็นได้จากสถานการณ์ในอดีตอย่างในเมียนมา หรือในประเทศไทยจากเหตุการณ์ 14 ตุลา พฤษภาทมิฬที่มีทั้งอุ้มแกนนำ หากมีรุ่น 2 ชุมนุมต่อจากแกนนำ รัฐก็ใช้วิธีต่อไป เช่น ยิงแก๊สน้ำตา ทำให้คนเกิดกลัว รู้สึกว่าม็อบไม่ปลอดภัย
“มาตรการหลัก ๆ คือ เข้มข้นกับแกนนำ และการควบคุมฝูงชน ใช้กำลังเป็นหลักมากกว่าเจรจา เราจะเห็นอันนี้มากขึ้น เมื่อรัฐบาลระบอบอำนาจนิยมสั่นคลอน”
ผศ.ดร.ประจักษ์ บอกว่ามันมีผลต่อการออกมาของประชาชนอยู่แล้ว เพราะบอกว่า มาตรการที่รุนแรงของรัฐคาดเดาไม่ได้ เช่น ยังไม่ได้ยั่วยุก็ยิงแก๊สน้ำตาทันที หรือรัฐอ้างว่าผู้ชมุนมใช้ความรุนแรง หรือมีความรุนแรงกับกลุ่มอื่น ๆ โดยไม่แยกแยะ เช่น ถ้ามี แพทย์อาสา สื่อมวลชน
ท่ามกลางการชุมนุม จับกุมแกนนำ คู่ขนานกันกระทรวงยุติธรรมยอมรับมีแนวคิด “สร้างคุกสำหรับนักโทษการเมืองเพิ่ม” นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่า ความประนีประนอม และการเจรจาอาจไม่ได้จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อาจารย์วิเคราะห์ว่า ตอนนี้ทั้งนักข่าว นักการทูต นักกฎหมาย ต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือของรัฐกับการชุมนุม “รุนแรงทั้งในทางกฎหมายและการควบคุมฝูงชน” แตกต่างจากปีที่แล้ว มีภาพความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย อุ้ม กระทืบ ชัดเจนขึ้น
ส่วนพื้นที่ตรงกลางเพื่อเจรจาต่อรอง “หายไป” ต่างจากสมัยการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดงซึ่งจะเห็นความพยายามในการเจรจา
“ความขัดแย้งมันจะคลี่คลายได้ก็ต่อเมื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อหาทางออกกัน ตอนนี้เหมือนรัฐมุ่งกดปราบเป็นหลัก แล้วเชื่อว่าจะสงบราบคาบได้ ซึ่งสุดท้ายมันจะไม่นำไปสู่ปรองดองสมานฉันท์ เพราะอีกฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว แล้วข้อเรียกร้องก็ไม่ได้ตอบรับเลยสักข้อเดียว อันนี้มันคือเอาชนะด้วยกำลัง ต่อให้กดปราบได้มันก็จะหายไปในระยะเวลาอันสั้น เพราะปัญหามันไม่ได้รับการแก้ไข เหมือนที่ว่าทำไมสังคมความขัดแย้งมันสะสมมาจนถึงวันนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานตรงนี้เลย เอาแต่จับกุมคุมปราบ”
แบบนี้ถ้าประชาชนอยากจะร้องเรียน หรือถ้าแกนนำถูกจับกุม มันต้องไปจบที่กระบวนการยุติธรรม แล้วกระบวนการยุติธรรมแบบไหนที่ต้องเป็นที่พึ่งให้ประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สังคมขัดแย้งแบบนี้
“คนก็อยากมีความหวังกับความยุติธรรมที่มันเที่ยงธรรม อยากได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันของกฎหมาย เป็น Equal protection under the law หัวใจของความเป็นพลเมืองคือเราอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เชื้อชาติ สีผิว รวย จน จะรักประยุทธ์ ไม่รักประยุทธ์ จะรักทักษิณ ไม่รักทักษิณ ก็อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่งั้นมันก็จะไปกดตราชั่งไม่ให้มันตรง เราดูแค่ว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ เราไม่ดูว่าเขาเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง แกนนำกปปส. หรือราษฎร เขาควรมีสิทธิได้รับการประกันตัว”
อาจารย์ประจักษ์บอกว่าการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ระหว่างกันของตำรวจ อัยการ ศาล สำคัญมาก และ “อัยการไม่ใช่แมสเซ็นเจอร์” ถ้าสำนวนไม่ดีก็ไม่ต้องฟ้อง หรือต้องพิจารณาดูว่าตำรวจตั้งข้อกล่าวรุนแรง-เกินจริงไหม จงใจกลั่นแกล้งหรือเปล่า การตั้งข้อหามันลิดรอนสิทธิไหม อัยการต้องทำงานตรงนี้ ศาลจะได้มีคดีไม่ล้นด้วย
“ตำรวจเป็นกลไลของรัฐบาลชัดเจนที่สุดอยู่แล้ว และทุกรัฐบาลใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือตลอด ซึ่งเป็นปกติที่ตำรวจจะเป็นผู้ขัดแย้งโดยตรง อัยการต้องเข้ามาดูตรงนี้มาสกรีน เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้ ได้ประกันตัว หรือเมื่อเข้าสู่ศาลแล้ว ศาลอาจจะยกฟ้องก็ได้ มันก็ต้องมีโอกาสในกระบวนการยุติธรรม มันจึงมีหลายขั้นตอน ไม่ใช่แค่เรื่องคน ๆ เดียวมาตัดสินได้เลย”
05: ต้นทุนชีวิตนักวิชาการ ช่วยประกันตัวนักศึกษา
อาจารย์ประจักษ์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่หอบตำแหน่ง เวลา และจุดยืนออกมาเคียงข้างนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ในทุก ๆ ครั้งที่มีการจับกุม กลุ่มอาจารย์เหล่านี้มักเดินทางยื่นประกันตัว เยี่ยมนักศึกษา หรือนำหนังสือ ชีทเรียนไปให้เสมอ ทางหนึ่งคือการให้กำลังใจเคียงข้าง ทางหนึ่งคือการยืนยันในหลักการที่เชื่อ และอีกทางหนึ่งคือรู้ว่า การต่อสู้ของนักศึกษาเหล่านี้ในฐานะลูกศิษย์ “ไม่มีผลประโยชน์เบื้องหลัง” แม้จะถูกโจมตีและหาช่องมาว่าพวกเขามีผลประโยชน์ซ่อนอยู่ก็ตาม
“มีคนมาช่วยกันทำตรงนี้เยอะมาก ไม่ใช่แค่อาจารย์ เพียงแต่ภาพเราอาจโผล่ไป อาจารย์จากหลายสถาบันที่รวมกันเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เวลามาเยี่ยม มาประกันนักศึกษาคือมากันเยอะเลย มันไม่ใช่ปัจเจก แต่คือเครือข่ายนักวิชาการที่เรามองตรงกันว่า 1.สังคมหาทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างสันติ ไม่ต้องจบด้วยความรุนแรง และ 2.เราเชื่อว่าสังคมมันมีวิกฤตจริง ๆ ต้องปฏิรูปอย่างรอบด้าน เราไม่เชื่อว่าการปราบปราม การจับคนติดคุกมันจะช่วยอะไร โดยเฉพาะเยาวชนเขาอยู่ในวัยเหล่าเรียนเขาออกมาด้วยใจบริสุทธิ์ อยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น”
“การออกแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม และต้องชื่นชมคณะผู้บริหารชุดนี้ เพราะมหาวิทยาลัยต้องเป็นเสาหลักของสังคม ต้องซื่อตรงกับหลักการ และเป็นสติปัญญาใหกับสังคมว่าทางออกที่ดีคืออะไร สิทธิความเท่าเทียมของคนภายใต้กฎหมายเป็นยังไง”
และใต้สังคมที่แตกแยกสูงอย่างสังคมไทยและยังไม่ได้แก้ไข ใครออกมามีบทบาทแก้ไขในที่สาธารณะมันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ด่า และวิพากษ์วิจารณ์ อาจารย์ประจักษ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ท้ายที่สุดมันก็เป็นทางเลือกของแต่ละคนว่าเราเลือกที่จะทำอะไร ไม่มีหรอกที่ทุกฝ่ายจะชม เราก็จะทำอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว เราก็ต้องเลือกอะไรคือหลักการที่เราชื่อ และยึดถือ ถ้าไม่ทำสิ่งนั้นเราเสียใจในภายหลังไหม เราจะมองหน้าตัวเองได้ไหม เราไม่ทำเพียงแค่กลัวและเซฟตัวเอง แล้วอยู่เป็น”
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
ตั้งแต่ช่วงพลเอกประยุทธ์รัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ไผ่สู้มาตั้งแต่ตอนนั้น ภายใต้การปกครอง 5 ปีของ คสช. ไม่มีรัฐสภา ไม่มีการเลือกตั้ง ห้ามรวมกลุ่ม สื่อโดนคุมเข้มข้น ตอนนั้นไม่มีใครออกมาประท้วงเลย มีไผ่และเพื่อน ๆ กลุ่มแรก ๆ แล้วก็โดนจับ
ไผ่เหมือนอิฐก้อนแรก ๆ ในวันที่สังคมตื่นตัว ตอนนั้นสู้อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครข้างนอกที่เข้าใจ ตอนนี้โดนจับไปยังขับเคลื่อนต่อ เรียกร้องให้ปล่อยเขา ต่างจากตอนที่เขาโดนจับครั้งแรกที่สังคมเงียบกริบ ไม่มีบรรยากาศเรียกร้องต่อเขา ต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยเพิ่งมาตื่นตัวเรื่องการเมืองประมาณ 1 ปี แต่พวกนี้เขาสู้มานานกว่านั้น
พริษฐ์ ชีวารักษ์
รู้จักตอนเขาเป็นนักเรียน เห็นเด็กคนนี้เนิร์ด ๆ เรียบร้อย กล้าไปชูป้ายกับนายกรัฐมนตรี มันบ้าดี แล้วเพนกวินเป็นเด็กเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเราก็เคยเรียนเตรียมฯ ก็คิดว่าเด็กคนนี้มันกล้าจัง รุ่นผมเด็กเตรียมฯ ไม่มีตื่นตัวทางการเมืองขนาดนี้ ก็เลยคิดว่าเด็กมันบ้าดีเดือดดี พอมารู้ว่าสอบธรรมศาสตร์มีคนถามว่าทำไมไม่ไปจุฬาฯ จุฬาฯ มีเนติวิทย์นะ เพนกวินบอกว่า จุฬาฯ มีเนตวิทย์แล้วธรรมศาสตร์ยังไม่มี จะมาปลุกธรรมศาสตร์
เพนกวินก็เข้ามาด้วยความตั้งใจ มารื้อฟื้นกิจกรรม แล้วก็ต่อสู้มาตลอดตั้งแต่ลงประชามติ การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพิ่งปลุกเมื่อ 10 สิงหาคม 2563
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ในช่วง 6-7 เดือนรุ้งโตขึ้นมาก หลังจากออกจากเรือนจำครั้งแรกก็ไม่ใช่รุ้งคนเดิม เขามองโลกไม่เหมือนเดิม เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีเซนส์ของการเป็นแกนนำที่รับผิดชอบและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุม ผมชื่นชมจุดนี้ที่รุ้งและแกนนำไม่เอาเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ไปแล้วต้องชนะ และที่สำคัญรุ้งและทุกคนพูดถึงการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ประโยคหนึ่งที่รุ้งพูดคือ
“มันจะไม่ดีกว่าเหรอที่สู้โดยที่ประชาชนไม่ต้องสูญเสียเลย”
ทำไมเราต้องคิดว่าต้องสูญเสีย แล้วใครจะสูญเสีย หรือใครจะชนะ ก็คิดว่าเขามีความเป็นผู้ใหญ่และรับผิดชอบ
06: การเติบโตของแกนนำราษฎร ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
“พวกเขากล้าหาญ และเสี่ยงมากกว่าพวกเรานักวิชาการเยอะ มันน้อยถ้าเทียบกับเขา นี่จะไปช่วยเขา (ประกันตัว) ก็ช่วยใครไม่ได้ มีสำเร็จเคสเดียวคือนักศึกษาของคณะผมเอง เป็นครั้งแรกที่ผมเป็นนายประกันแล้วสำเร็จ หลังจากเคสจ่านิว”
1 ปีของการต่อสู้บนถนน และในเรือนจำ เปรียบเสมือนการเรียนรู้ชีวิต 10 ปี เป็นนักโทษการเมืองตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ การเติบโตนี้ “รัฐเป็นผู้มอบให้” ตั้งแต่ Day 1 ที่ทุกคนรู้จักแกนนำราษฎรอาจเป็นคนละ Day 1 ที่อาจารย์ประจักษ์รู้จักกับพวกเขา และการเติบโตของเขาคือการสร้างการเปลี่ยนแปลง
“การเปลี่ยนแปลงจากนักศึกษามันเกิดได้จริง ถ้าไม่มี 14 ตุลา เราอาจเป็นแบบพม่าที่มีกองทัพปกครองเข้มข้น เราก็ก้าวมาไกล แม้ว่ามันยังไปไม่ถึงความเป็นประชาธิปไตยสักที แต่เราก็เห็นว่าต่อสู้และเปลี่ยนได้จริง”
07: สันติวิธี ไม่ใช่มอบคลาน แต่คือปฏิบัติการไร้ความรุนแรง
จากการเติบโตและหนักแน่นต่อเส้นทาง “สันติชน” อาจารย์ประจักษ์บอกว่า นี่คือแนวทางที่รับผิดชอบและน่าชื่นชม แต่หลายครั้งที่มันถูกตีความผิดไปว่าคือการมอบคลาน ซึ่งน่าเสียใจและเห็นว่าอาจมีการติดกับคำว่าสันติวิธี ที่ต้องเป็นสวดมนต์ นั่งสมาธิ สวดภาวนาหรือเปล่า ซึ่งมันไม่ใช่ จึงเสนอใช้คำว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง”
“สันติวิธี ภาษาอังกฤษ คือ คำว่า Nonviolent action มันคือการต่อสู้ เมื่อเผชิญความอยุติธรรม มีทางเลือก 3 ทาง 1) จำนน 2) ลุกขึ้นสู้ด้วยความรุนแรง และ 3) ลุกขึ้นสู้ด้วยสันติวิธี ซึ่งสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะถ้ายอมจำนน คุณก็ไม่ต้องออกมาแล้ว การที่สู้ขนาดนี้เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางขนาดนี้ แต่เขามองว่าในบริบทสังคมไทย ประเทศอื่น และในอดีตสันติวิธีนำมาซึ่งความสำเร็จมากกว่าโดยเปรียบเทียบ และมันสูญเสียน้อยกว่า
แล้วประโยคที่บอกว่า สันติวิธีที่รุ้งประกาศคือการมอบคลาน มันเลยสะเทือนใจ ตอนนี้เขาติดคุกแล้ว เขาก็สู้สุดขีวิตแล้วคนเหล่านี้“
ในสภาวะและการต่อสู้ที่ยาวนานไม่ใช่พลิกแผ่นดิน สันติวิธี หรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนี้ ผู้ชุมนุมต้องอดทนอย่างมากเพื่อให้ต่อสู้เกิดความชอบธรรม
“ถ้าเราชื่นชมการต่อสู้ของเมียนมา ก็ต้องบอกว่าอันนี้คือการต่อสู้โดยสันติวิธีโดยแท้ ในหลายประเทศก็ประสบความสำเร็จ มันอาจไม่สำเร็จในเวลา 1-3 เดือน สังคมที่มันมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไทย ไม่มีทางที่จะสู้ได้หรือเปลี่ยนใน 5-6 เดือน เราจะทำยังไงให้สังคมบอบช้ำน้อยที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่ออกมาต่อสู้ด้วยหัวใจบริสุทํธิ์ ทำยังไงให้เขาสูญเสียน้อยที่สุด และยังมีความหวังกับสังคมนี้”
อ่านเรื่องอื่นๆ
- นักวิชาการนานาชาติขอศาลคืนสิทธิ ‘ประกันตัว’ แกนนำราษฎร หลังยกคำร้องเป็นครั้งที่ 3
- ไม่รัก (ไม่ต้อง) ระวังติดคุกนะ: คุยกับคนรุ่นใหม่ในยุโรปเรื่องราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ
- “มีคนใจบางกับความอยุติธรรม” #เดินทะลุฟ้า เก็บปัญหารายทาง-พิสูจน์การเรียกร้องแบบสันติชน
- ‘ไม่สู้ก็อยู่แบบนี้’ คุยกับคนร่วมขบวน #เดินทะลุฟ้า 247.5 กม. จากโคราชสู่ใจกลางอำนาจ เพื่ออนาคตของ “คนเท่ากัน”
- RT Thailand เป็นทางเลือกหรือแค่ไร้เดียงสา
- รุ่งอรุณของคอซอง กระโปรงบานบนจุดนัดพบซอย‘นมสด’ GIRLS! Let’s speak out! เปล่งเสียง! ปลุกการเมืองให้ตื่นขึ้น เดบิวต์ครูในศตวรรษที่ 21
- ห้องเรียนของ“หน้าที่” แต่ไม่มี “สิทธิ” ของพลเมือง
- การเมืองแหลงไม่หรอยบนโต๊ะอาหารในท่วงทำนองของครอบครัวชาวใต้
- #มหาลัยมีไว้ทำไม ว่าด้วยเรื่องบทบาท’มหาลัย’ ในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา
- ‘เราชนะแล้ว’ ใคร ‘ปลดแอก’ ถอดความสัมพันธ์ระหว่างภาษา กาลเวลา และประชาธิปไตยข้ามรุ่น