ห้องเรียนของ“หน้าที่” แต่ไม่มี “สิทธิ” ของพลเมือง - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ความเป็นธรรมในสังคมคืออะไร”

คำถามแรกที่ถูกโยนเข้าเวทีเสวนา “พลเมือง ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม” ที่จัดขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นิ้ง-ธญานี เจริญกูล กลุ่มนักเรียนเลว และ มายมิ้น-ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบเปิดเวทีในทิศทางเดียวกันว่า ความเป็นธรรมคือการที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ขณะเดียวกันก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์นั้นเช่นกัน ทั้งสองร่วมเวทีท่ามกลาง “ครู” ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย

หัวข้อความเป็นธรรมได้รับการแลกเปลี่ยนโดยมี “วิชาหน้าที่พลเมือง” เป็นตัวเชื่อม และแก่นสารของการพูดคุยโดยรวมต้องการหาว่าความเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว เป็น Active Citizen ของประเทศไทยขาดอะไรบ้าง และเพราะอะไร ท่ามกลางสถานการณ์การเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ห้องเรียนเบิกเนตร

นิ้ง-ธญานี เจริญกูล บอกว่าตัวเองเป็น “เด็กดี” “เป็นนักเรียนต้นแบบ” ตามนิยามของสังคม ของครู แต่ทุกอย่างเหมือนน้ำที่อยู่ในสายยางที่อุดไว้ นิ้งบอกว่าตัวเองเคยสะใจ ดีใจที่มีการรัฐประหาร เคยอยู่กับสื่อไม่มีช่อง กับวาทกรรมทางการเมืองมากมาย ตั้งแต่ ผีทักษิณ ล้มเจ้า แต่เมื่อเริ่มรู้จักทวิตเตอร์ ได้รู้จักหนังสือ และนักวิชาการ ทำให้สายยางที่ถูกอุดไว้น้ำค่อย ๆ ไหลออกมาแล้วก็รดตัวเองจนเติบโต

“พอมาเป็นเราในวันนี้ มันเหมือนชดใช้กรรม เราโกรธตัวเองที่เคยเพิกเฉย เราเจอเรื่องที่ไม่เหมือนในหนังสือ จากนั้นเราก็ต้องคำถามว่าเราเรียนอะไรอยู่ สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐกำลังปลูกฝังเรา และผูกขาดความดีอย่างไม่เป็นธรรม สอนให้เรารักบางคน และกดเหยียบคนบางกลุ่ม”


เช่นเดียวกับ มายมิ้น-ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนิสิตที่เคลื่อนไหวทางการเมือง บอกว่า ที่ออกมาเรียกร้องวันนี้ต้องให้เครดิตเพลง เด็กเอ๋ย เด็กดี และค่านิยม 12 ประการ เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่สมเหตุสมเหตุ สำหรับมายมิ้นเธอคิดว่า “ระบบการศึกษาของประเทศไทยผลิตคนเพิกเฉย” ทั้ง ๆ ที่ห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับกลายเป็นพื้นที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ


วิชาหน้าที่พลเมืองที่ไม่มีคำว่า “สิทธิ”
และห้องเรียนที่ต้องการ “ครูไม่ผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม”

ครูทวิช ลักษณ์สง่า ครูในเครือข่าย Thai Civic Education บอกว่าวิชาหน้าที่พลเมืองนั้น ควรเป็นวิชาที่มีชื่อว่า “วิชาหน้าที่และสิทธิพลเมือง” แต่ว่าตอนนี้การกรอบเพียงแค่หน้าที่พลเมือง การเรียนรู้จึงถูกเน้นแค่อะไรที่ประชาชน และพลเมืองจะต้องทำ ทั้ง ๆ ที่สิทธิของแต่ละคนได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐเองก็มีหน้าที่ดูแลสิทธิ์นั้นของประชาชน เมื่อขาดการพูดถึงสิทธิ์ควบคู่กับหน้าที่ด้วยแล้ว ทำให้การเรียกร้องของเยาวชนในตอนนี้ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ทำตามหน้าที่

ขณะที่ ครูอรรถพล ประภาสโนบล ในฐานะที่สอนวิชานี้บอกว่า วิชาหน้าที่พลเมืองถูกนำเข้ามาในช่วงของ คสช. เป็นวิชาแฝงที่ที่ให้ครูหาวิธีให้คะแนนเอา แต่สำหรับห้องเรียนของครูอรรถพลเองพยายาม “ทำให้ห้องเรียนเชื่อมโยงกับสังคม” โดยโจทย์ที่ครูอรรถพล คือ “เด็กจะต้องเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม” ครูจะให้เด็กไปค้นคว้าข่าวที่เกิดขึ้น หรือตั้งประเด็นขึ้นมาแล้วนำข้อมูลมาคุยกับเด็กในแต่ละประเด็น เช่น สิทธิมนุษยชน สื่อ ประชาธิปไตย หรือการขายบริการ

การออกแบบหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการนั้น เป็นหลักสูตรที่ออกมาเพียงแกนว่าเป้าหมายของการเรียนรู้คืออะไร แต่ให้สิทธิ์แต่ละโรงเรียน และครูในการออกแบบการสอนของตัวเอง สิ่งที่น่ากังวล และต้องทำงานต่อในมุมมองของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ความสามารถและความรู้ความเข้าใจของครูแต่ละคน โรงเรียนถือชุดความคิด และคุณค่าแบบใด มองประเด็นความเป็นพลเมืองแบบไหน ครูต้องมีศักยภาพในการสร้างเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในห้องเรียน โดยเฉพาะการต้องไม่สอนในห้องอย่าง แต่เด็กกลับไปเจอสังคมอีกอย่าง

“ต้องเอาโลกข้างนอกมาคุยในห้อง”

ผศ.อรรถพล บอกเพิ่มว่าหากครูเข้าใจเรื่องนี้ไม่พอ หรือเชื่อมโลกนอกห้องเรียนไม่ได้ครูจะเป็นคนที่ผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม หรือไม่ได้สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิได้มากกว่าเดิม

ความเป็นพลเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่ครูเพียงคนเดียวเท่านั้น และไม่ใช่แค่วิชาหน้าที่พลเมืองเท่านั้น แต่การศึกษาทั้งหมดคือการสร้างพลเมือง การนำสังคมเข้ามาในห้องเรียน เอาชุดคุณค่าของสังคม ของเด็ก ของผู้ใหญ่มาคุย เพราะจะเปิดบทสนทนากันและกันได้ ซึ่งมันจะไม่จบเพียงแค่ห้องเรียนเท่านั้น ตอนนี้ผู้ใหญ่ และคนในสังคมต่างก็ต้องเรียนรู้เช่นกันว่า เราจะอยู่กันอย่างไร เพราะเราทิ้งกันไม่ได้

สอดคล้องกับมุมมองของ ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า สิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ต้องเป็นบรรทัดฐานของสังคม แต่วันนี้ของจริงที่ขับเคลื่อนคืออยู่ในสภา ความฝันของประชาชนอยู่ที่ท้องถนน ซึ่ง ศ.ดร.นงเยาว์ มองว่าที่ผ่านมาระบบการศึกษาขูดรีดเด็ก ทำให้เด็กเรียนแบบไม่ตั้งคำถาม และเด็กถูกขโมยเวลาเพื่อใช้ไปกับการเรียนที่ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่เอาอนาคตเด็กไป ทำให้เด็กต้องออกมา ซึ่งวันนี้ดีใจที่เด็กมีมือถือ ได้เล่นอินเทอร์เน็ต ท่ามกลางสังคมที่เด็กพูดไม่ได้ ไม่ได้รับรู้อะไร แต่มีมือถือที่ช่วยเปิดโลกกว้าง

สังคมเผด็จการไม่ช่วยให้พลเมืองตื่นตัว

สุดท้ายการพูดปาฐกถาของ ขิม-ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะ Keynote Speaker ของงาน ส่วนหนึ่งของสปีชมีใจความว่า ความเป็นพลเมืองที่ Active จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา เพราะมันเป็นเรื่องของคุณธรรม และจิตใจ ที่หากรู้สึกปลอดภัยแล้ว รู้สึกว่าการเมืองเชื่อมโยงกับชีวิต รู้สึกว่าการเมืองมีความสัมพันธ์กับเราในรูปแบบที่ต่างคนต่างมีผลประโยชน์ต่อกัน มันจะเปิดโอกาสที่จะทำให้คนเป็นพลเมืองที่ Active ได้ มันจะเปิดโอกาสที่ทำให้คนคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเองได้

แต่หากบริบทของสังคมหรือความคิดแบบเผด็จการ ผู้คนในสังคมจะนึกถึงตัวเองและเห็นแก่ตัว จะคิดว่าไม่ว่าเราจะช่วยกันไปอย่างไร เกื้อกูลกันอย่างไรมันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เพราะชีวิตต่างตัดขาดจากกัน พอสังคมเป็นไปในบริบทของเผด็จการ ทำให้ความสัมพันธ์ของรัฐกับคนตัดกัน คนกับคนก็ตัดกัน จริยธรรมไม่ได้เกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องพึ่งพากัน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: เพราะเราต่างมีส่วนสร้างพลเมือง ประชาธิปไตยจะไม่ใช่แค่วิชาสังคม

ชมคลิป: วงเสวนา “พลเมือง ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม”

สรุปประเด็นจากวงเสวนา “พลเมือง ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม” งาน “พลเมืองประชาธิปไตยและพลังขับเคลื่อนสังคมของเยาวชน (Democratic Citizens and Civic Engagement of the Youth)” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 ซึ่งจัดโดย เครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) ,คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung – FES และเครือข่ายครูขอสอน