ไม่รัก (ไม่ต้อง) ระวังติดคุกนะ: คุยกับคนรุ่นใหม่ในยุโรปเรื่องราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ - Decode
Reading Time: 6 minutes

“เรียกว่าการปกป้องสถาบันด้วยกฎหมายแบบเนี้ยมันเป็นหลักสากลในทุก ๆ ประเทศที่มีประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าถ้าคนอังกฤษไปด่าควีนอลิซาเบธด้วยภาษาแบบเนี้ย ผมว่าติดคุกไปนานแล้ว”

หากใครได้ดูสกู๊ปข่าวของ BBC Newsnight “Why are young activists in Thailand protesting against the monarchy?” นาทีที่ 5.27 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ตัวแทนกลุ่ม “ไทยภักดี” ให้สัมภาษณ์ตามถ้อยคำข้างต้นจน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีถึงกับต้องชี้แจงว่า

“แต่นั่นมันไม่ใช่ความจริง เพราะว่าในประเทศอังกฤษคุณแทบจะสามารถพูดอะไรก็ได้เกี่ยวกับควีนโดยที่คุณไม่ต้องติดคุก มันแตกต่างกันมากจากสถานการณ์ในประเทศไทย”

เราทราบกันดีว่า สถาบันกษัตริย์ในประเทศแถบยุโรปปรับตัวอย่างเข้มข้นมาเนิ่นนานเพื่อที่จะยังรักษาสถาบันเก่าแก่นี้ไว้ในโลกยุคใหม่ที่แทบไม่มีพื้นที่ให้กับสถาบันที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน สถาบันกษัตริย์ในประเทศประชาธิปไตยเข้าใจดีว่าสถานภาพและการดำรงอยู่ของตนในสังคมสมัยใหม่นั้นขึ้นอยู่กับการทำให้สถาบันเป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ผ่านการวางตนเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด รักษาราชวงศ์ให้มีขนาดเล็กเพื่อไม่ให้ถูกวิจารณ์เรื่องงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน หลีกเลี่ยงการตกเป็นข่าวอื้อฉาว รับฟังและรับผิดชอบต่อประชาชน (ใครดูซีรีย์ The Crown ก็น่าจะเข้าใจและเห็นตัวอย่างการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร)

จริงอยู่ บางประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยียม สเปน และเนเธอร์แลนด์ ยังคงมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) บัญญัติไว้ แต่ไม่เคยมีประเทศไหนที่วางโทษร้ายแรงเท่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีโทษรุนแรงที่สุด (จำคุก 3-15 ปีต่อความผิดหนึ่งกระทง) และถ้า นพ.วรงค์จะเทียบประเทศไทยกับ “หลักสากล” ผ่านการแสดงความเข้าใจของตนต่อสังคมประเทศอังกฤษแล้วนั้น ก็ต้องบอกว่า ไม่มีประเทศไหนในสังคมประชาธิปไตยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเท่าประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายนี้กับประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองโดยเฉพาะกรณีการใช้กับเยาวชน  ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)

ดังนั้น “หลักสากล” ในสังคมประเทศราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยในความเข้าใจของ “หมอวรงค์” จึงเป็น ความเข้าใจผิด เพราะประชาชน สื่อ และนักวิชาการในโลกประชาธิปไตยมีเสรีภาพในการตั้งคำถามและถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่คืออะไร ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร รวมไปถึงควรจะถูกยกเลิกหรือไม่ การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความไม่พอใจต่อสถาบันกษัตริย์โดยพื้นฐานแล้วเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ยกเว้นกรณีที่ศาลตัดสินว่าเป็นการ “ตั้งใจดูหมิ่น” ตัวกษัตริย์โดยตรง และถึงแม้จะเป็นกรณีเช่นนั้น นักการเมือง ประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมก็มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาล รวมทั้งถกเถียงเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย การเสี่ยงจำคุกนานถึง 15 ปีเพราะวิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ จึงเป็นเรื่องที่ “รับไม่ได้” และ “เข้าใจได้ยาก” สำหรับประชาชนในสังคมประชาธิปไตยผู้ไม่ลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ของตัวเอง

บทความนี้ชวนทำความรู้จัก “ความเป็นสากล” ของราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญหรือ Constitutional Monarchy ในประเทศประชาธิไตยในทวีปยุโรป ผ่านการสนทนากับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตและใช้ชีวิตในประเทศเดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ว่าชีวิตของพวกเขาในสังคมประชาธิปไตยที่ก็มีกษัตริย์เป็นประมุขนั้นดำเนินไปอย่างไร ในขณะที่ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไทยต้องเผชิญกับการถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 กันแบบไม่เว้นแต่ละวัน

ชีวิตที่เติบโตมาในประเทศราชาธิปไตยใต้รธน.เป็นอย่างไรบ้าง? สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนในชีวิตของเรา?

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): ประสบการณ์แรกของผมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นสมัยผมยังเป็นเด็ก ย้อนกลับไปในปี 2543 คุณตากับคุณยายของผมฉลองวันแต่งงานครบรอบ 60 ปี ที่ประเทศอังกฤษ ถ้าคุณใช้ชีวิตจนถึงหนึ่งร้อยปีหรือแต่งงานเป็นเวลานาน ควีนจะมอบการ์ดให้คุณเพื่อแสดงความยินดี ตอนนั้นผมเป็นสมาชิกที่เด็กที่สุดในครอบครัว จึงถูกมอบหมายให้เป็นคนยื่นการ์ดให้กับคุณตาคุณยาย การ์ดสีแดง แล้วมันก็เป็นการ์ดที่เป็นทางการมาก นั่นคือประสบการณ์ครั้งแรกและดีที่สุดของผมกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ตอนนั้นผมรู้สึกพิเศษและภูมิใจนะ การเติบโตมาในประเทศราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญมันค่อนข้างเฉพาะ เพราะผมรู้ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์อยู่ มันจึงทั้งแปลกแล้วก็พิเศษ

หลุยส์ (เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก): ฉันเกิดในประเทศลักเซมเบิร์กแต่ครอบครัวของฉันมาจากประเทศเดนมาร์ก คนในครอบครัวของฉันไม่ใช่คนที่นิยมกษัตริย์ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ต่อต้านด้วย ดังนั้นฉันจึงรู้สึกเฉย ๆ กับสถาบันกษัตริย์ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญขนาดที่เราจะคุยกันในบ้านเป็นประจำ บางครั้งเราเห็นพวกเขาในข่าวทั้งข่าวของประเทศลักเซมเบิร์กและเดนมาร์ก ที่เดนมาร์กทุก ๆ ปี จะมีการออกอากาศสารคดีเกี่ยวกับควีน เรื่องราวชีวิตและบทบาทของเธอ วันที่ 16 เมษายนของทุกปี ประชาชนหลายพันคนจะไปเฉลิมฉลองวันเกิดของควีนที่พระราชวัง โบกมือให้กับควีนและสมาชิกคนอื่น ๆ ในราชวงศ์ที่ยืนอยู่บนระเบียง คุณแม่และคุณยายของฉันเคยพาฉันไปตอนเด็ก ๆ เมื่อโตแล้วฉันเคยไปครั้งหนึ่ง มันเป็นความรู้สึกแปลก ๆ …นอกเหนือจากนี้สถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่อชีวิตของฉันเลย

วิลเลียม (เดนมาร์ก): สถาบันกษัตริย์ในเดนมาร์ก เป็นอะไรที่ไม่มีอิทธิพลอะไรในชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งที่คุณไม่จำเป็นต้องนึกถึง มันไม่ได้ส่งผลในแง่บวกหรือในแง่ลบต่อคุณ ยกเว้นคุณเป็นคนที่นิยมกษัตริย์มากหรือเป็นคนที่ต่อต้านมาก แต่มีสิ่งหนึ่งในเดนมาร์ก เป็นประจำทุกปี หกโมงเย็นของวันที่ 31 ธันวาคม ทุกคนจะเปิดทีวีเพื่อดูควีนอวยพรวันปีใหม่ มันเป็นประเพณีของที่นี่ ทุกคนดูพร้อมกันหมด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ควีนจะสรุปว่าปีนี้เป็นอย่างไรบ้างโดยไม่พูดในเชิงการเมือง สิ่งนี้เกิดขึ้นนะ สิ่งนั้นเกิดขึ้น บลา บลา บลา แล้วปีหน้าฟ้าใหม่ควรเป็นอย่างไร แล้วถ้าควีนบอกว่า ‘เราควรจะปฏิบัติต่อกันและกันดี ๆ นะ’ คนก็จะล้อกันว่า ‘ว้าว ช่างเป็นการพูดปิดท้ายที่แหลมคมจริง ๆ’  

มิคัล (เนเธอร์แลนด์): สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่อชีวิตของฉัน ที่เนเธอร์แลนด์เรามี King’s Day สมัยก่อนคนจะไปที่พระราชวังเพื่อเฉลิมฉลองสถาบันกษัตริย์ แต่ทุกวันนี้ King’s Day คือวันหยุดที่ผู้คนพากันออกไปเดินเล่นบนถนน รัฐบาลอนุญาตให้คุณขายของบนถนนได้ เป็นวันแห่งการกินเบียร์ ปาร์ตี้ แต่งตัวธีมสีส้ม (สีประจำสถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์) เป็นวันแห่งความสนุก (“It’s just a fun day.”)

มารินา (สเปน): ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเป็นประเทศที่มีราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญจนกระทั่งอายุประมาณ 15 ปี สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรในชีวิตฉันทั้งในตอนเด็กและปัจจุบัน แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฉันมาจากบาร์เซโลนาซึ่งอยู่ในแคว้นคาตาลูญญา พวกเรารู้สึกว่าเราเป็นชาวคาตาลันมากกว่าเป็นชาวสเปน ชาวคาตาลันส่วนใหญ่ไม่เชื่อมโยงอัตลักษณ์ของตัวเองกับสถาบันกษัตริย์ของสเปน ฉันคิดว่าคนในแคว้นอื่น ๆ อาจจะรู้สึกเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์มากกว่า ส่วนพ่อแม่ของฉันก็คงรู้สึกคล้าย ๆ กับฉัน แต่คนรุ่นพวกเขาจดจำอดีตกษัตริย์ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยในประเทศสเปน พวกเขารู้สึกขอบคุณอดีตกษัตริย์ด้วยเหตุผลนั้น นอกเหนือไปจากนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่อสมาชิกในครอบครัวของเรา

จูเนียร์ (นอร์เวย์): จากประสบการณส่วนตัวของผม สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ส่งผลอะไรเลยในชีวิต ส่วนมากก็มีแค่คิงออกมาพูดแค่ในวันชาติหรือในวันเปิดสภาฯ ตามปกติของที่นี่ ไม่มีการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง ไม่มีการเคารพธงชาติ ไม่มีรูปตามสถานที่ราชการหรืออะไรเลย คนในครอบครัวผมก็ไม่ได้เทิดทูนบูชาขนาดนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดต่อต้านอะไร ก็มองว่าเป็นคน ๆ หนึ่ง…มีครั้งหนึ่งผมไปซื้อของในร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ในร้านมันก็มีช่องทางเดินเป็นช่อง ๆ ใช่ไหมครับ ผมก็ซื้อของของผมอยู่ดี ๆ ก็มีผู้ชายสองคนมายืนกั้นข้างหน้าและข้างหลังผม ใส่สูทมาเลย แล้วผมก็เพิ่งนึกได้ว่า คนที่ยืนซื้อของข้าง ๆ ผมก็คือฟ้าชายของที่นี่ ผมก็ตกใจไม่รู้จะทำยังไง เขามาซื้อปลั๊กสามตา โห เขาติดดินมากเลยนะ จริง ๆ ให้คนอื่นมาซื้อให้ก็ได้

บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมของคุณเป็นอย่างไร? และคนในสังคมมองสถาบันกษัตริย์อย่างไรบ้าง?

มิคัล (เนเธอร์แลนด์):  ฉันคิดว่าราชวงศ์ของเราพยายามจะทำตัวให้ไม่โดดเด่นอะไร แน่นอนว่าพวกเขาเป็นกลุ่มอีลีท แต่พวกเขาพยายามทำตัวปกติให้เข้ากับคนทั่วไปเล็กน้อย เช่น เจ้าหญิงทุกคนเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมทั่วไป คิงเองก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันกับฉัน …ในประเทศเนเธอร์แลนด์ คนส่วนใหญ่มองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ พวกเขาไม่มีอำนาจทางการเมือง แม้ว่าคิงจะลงพระปรมาภิไธยกฎหมายต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง เรื่องใหญ่เรื่องเดียวที่คนดัตช์ถกเถียงกันคือเงินที่ราชวงศ์ได้รับ เพราะพวกเขาได้เงินเยอะมาก อย่างเจ้าหญิงจะได้เงินประมาณหนึ่งล้านยูโร อะไรประมาณนี้ …ฉันคิดว่าในเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ชอบราชวงศ์มาก แต่คนบางกลุ่มก็อยากให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลย ส่วนตัวฉันเอง ฉันไม่สนใจ ฉันแค่คิดว่าเงินที่พวกเขาได้รับมันฟุ่มเฟือยไปหน่อย

ข้อมูลเพิ่มเติม: เป็นประเด็นถกเถียงกันของคนดัตช์เมื่อสื่อสาธารณะของเนเธอร์แลนด์รายงานว่าในปี 2564 เจ้าหญิงอมาเลียจะมีอายุครบ 18 ปีในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นอายุที่เธอจะเริ่มได้รับเงินจากรัฐบาล โดยเจ้าหญิงจะได้ ‘เงินเดือนส่วนตัว’ ประมาณ 25,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณเก้าแสนบาท) เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วงบประมาณของเจ้าหญิงอมาเลียจะอยู่ที่ 1.6 ล้านยูโร (ประมาณ 58 ล้านบาท) สังคมดัตช์ทั้งประชาชนและนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ว่าเงินจำนวนนี้มากเกินไปสำหรับ ‘นักศึกษามหาวิทยาลัยอายุ 18 ปี’

นอกจากนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังวางแผนเพิ่มงบประมาณให้กับกษัตริย์และราชินีอีก 5% ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังแย่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในยุโรปรองจากสหราชอาณาจักรและโมนาโก โดยงบประมาณสถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ปี 2563 เท่ากับ 44.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,629 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณสถาบันกษัตริย์ไทยในปีเดียวกัน (29,728 ล้านบาท ไม่นับส่วนโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวเนื่อง 1,262 ล้านบาท) 18 เท่า

หลุยส์ (เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก): เวลาเห็นพวกเขาในข่าว ก็มีบ้างที่ฉันและครอบครัวจะพูดคุยกัน เช่น ทำไมเราถึงจ่ายเงินภาษีให้พวกเขาท่องเที่ยวเยอะขนาดนี้ จ่ายเงินให้พวกเขาซ่อมแซมบ้านและพระราชวัง แถมพวกเขายังมีเสื้อผ้าราคาแพง รถ เรือ และข้าวของหรูหราอื่น ๆ มากมาย ครอบครัวของฉันก็จะให้เหตุผลว่า พวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศ พวกเขาเดินทางไปหลายประเทศเพื่อกิจการทางการทูต สรุปก็คือ ใช่ สถาบันกษัตริย์ใช้เงินภาษีของเราเยอะมาก แต่พวกเขาก็มีคุณค่าทางการเมืองและวัฒนธรรมบางอย่าง แม้ว่าในความเป็นจริงพวกเขาจะพูดอะไรไม่ได้ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เป็นเพียงสัญลักษณ์สวยงามที่เราส่งไปประเทศต่าง ๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉันกับครอบครัวก็จะคุยกันประมาณนี้

ฉันคิดว่าคนเดนมาร์กส่วนใหญ่ชอบราชวงศ์นะ แต่แน่นอนว่ามันก็มีการถกเถียงกันระหว่างคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ ส่วนตัวฉันคิดว่าถ้าไม่นับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับ ราชวงศ์เดนมาร์กค่อนข้างเข้ากับประชาชนได้ดี ทุกครั้งที่ควีนพูดกับสาธารณะ เธอจะแสดงความขอบคุณต่อประชาชนเสมอ ในทางเทคนิคพวกเขาอยู่เหนือคนอื่น ๆ ในประเทศ แต่พวกเขาดูใช้ชีวิตแบบค่อนข้างติดดิน พวกเขาเก่งในเรื่องการออกไปพบปะและเชื่อมโยงกับผู้คน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยชอบที่จะติดตามชีวิตของพวกเขา อย่างคุณยายของฉันก็จะชอบติดตามชีวิตของพวกเขา แต่เธอก็ไม่ได้เป็นรอยอลลิสต์จ๋าอะไรขนาดนั้น ในเดนมาร์กสมาชิกในราชวงศ์จึงเหมือนกับเซเลปคนดัง คนอ่านเรื่องราวของพวกเขาผ่านหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ทุกสัปดาห์จะมีเนื้อหา ‘ชุดเดรสราชวงศ์ที่สวยงามที่สุดประจำสัปดาห์’ เปรียบเทียบการแต่งตัวของคนในราชวงศ์ทั้งในยุโรปและทวีปอื่น ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม: หลุยส์กับวิลเลียมพูดถึงหลักการเก่าแก่ที่มีที่มาจากนิยายเชิงเสียดสีของนักเขียนชาวเดนิช-นอร์เวเจียน อักเซล ซานเดโมส ที่เรียกว่า ‘ยันเดอะลง’ (Janteloven หรือ The Jante Law) หลัก 10 ประการที่มีการวิเคราะห์ว่ามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในสังคมประเทศสแกนดิเนเวียที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน และเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นวรรณะ ไอเดียสำคัญของยันเดอะลง คือ เราต้องไม่คิดว่าเราดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า รู้มากกว่า และสำคัญกว่าคนอื่น ใครที่มีพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตนเองดีกว่าคนอื่นจะถูกสังคมประณาม

หลุยส์เล่าว่าตอนเธอเป็นเด็ก เธอจำได้ว่าถ้ามีเด็กคนไหนพูดโอ้อวดว่าตัวเองดีกว่าหรือใช้ข้าวของที่แพงกว่า จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ เลย หลุยส์กับวิลเลียมจึงมองว่า คนเดนมาร์กที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันสามารถยอมรับสถาบันกษัตริย์ที่มีฐานะพิเศษได้ก็เพราะว่า พวกเขาไม่ได้บอกหรือสอนว่าใครควรทำอะไร  

วิลเลียม (เดนมาร์ก): ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอะไรในสังคมเดนมาร์ก ถ้าคุณเป็นรอยอลลิสต์คุณก็คงพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในทำนองที่ว่า มันเป็นประเพณี เป็นอะไรที่พิเศษที่จะมีครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะนี้ ถ้าผมพยายามคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์… พวกเขาก็พิเศษในระดับหนึ่งนะ ถึงแม้จะไม่มีบทบาทสำคัญอะไร ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเขาก็ได้รับความเท่าเทียมมากกว่าคนอื่น ๆ เล็กน้อย (“they are in somewhat a little more equal than everyone else”) …สิ่งที่จะทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์ก็เมื่อสมาชิกในราชวงศ์ทำอะไรที่แสดงออกว่าพวกเขาดีกว่าคนอื่น ๆ

จูเนียร์ (นอร์เวย์): ตอนนี้นอร์เวย์มีคิงฮารัลด์ที่ห้าและราชินีซอนยา เนื่องจากนอร์เวย์มีผู้สูงอายุเยอะ ทุกวันชาติของทุกปีเขาจะมาอวยพรวันเกิดคนที่อายุ 100 ขึ้นไป คิงฮารัลด์เป็นคนอารมณ์ค่อนข้างดี เขาจะพูดตลกในวันชาตินิดหน่อย นอร์เวย์มีระบบสภาผู้แทนราษฎร กษัตริย์ก็จะมาพูดในวันเปิดประชุมสภาฯ  ทุกวันศุกร์คณะรัฐมนตรีจะไปประชุมกับกษัตริย์เองด้วยที่พระราชวังเพื่อคุยกันเรื่องวาระการผ่านกฎหมายต่าง ๆ กษัตริย์มีหน้าที่แค่ลงพระปรมาภิไธย จะไม่ลงก็ได้ โดยยื่นให้สภาฯ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถผ่านกฎหมายได้อยู่ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม: พระราชดำรัสที่กษัตริย์นอร์เวย์ตรัสในประเพณีเปิดประชุมสภาฯ นั้น รัฐบาลเป็นคนเขียน ไม่ได้เขียนโดยกษัตริย์เอง อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกบางสำนักให้ความเห็นว่าในขณะที่กษัตริย์ในประเทศประชาธิปไตยมักจะพยายามไม่แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง คิงฮารัลด์ที่ห้าแห่งนอร์เวย์ทรงไม่ลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่พระองค์ให้ความสำคัญ เช่น ความเท่าเทียมในการสมรส สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) จุดยืนของพระองค์ต่อการเหยียดเชื้อชาติ ไปจนถึงเรื่องผู้อพยพ มีงานวิจัยเรื่องพระราชดำรัสในวันปีใหม่ของกษัตริย์ประเทศนอร์เวย์ที่ส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นชาติและอัตลักษณ์ร่วมของชาวนอร์เวย์

โดยจากการศึกษาพบว่าพระราชดำรัสของกษัตริย์มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นชาติจาก ‘สังคมคริสเตียน’ สู่ ‘สังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่สังคมนอร์เวย์เผชิญกับการถกเถียงเรื่องการเปิดรับผู้อพยพ คิงฮารัลด์ที่ห้าเคยตรัสว่า “คนนอร์เวย์” สามารถเป็นคนที่มาจากอีกฟากหนึ่งของโลกก็ได้ และทรงยกตัวอย่างครอบครัวของพระองค์เองว่าก็เป็นผู้อพยพมาจากประเทศเดนมาร์ก

ถ้าคนนอร์เวย์จะอธิบายความเป็นนอร์เวเจียน ก็คงผ่านเสื้อกันหนาวหนา ๆ อาหารพวกขาแกะ ชีส ปลากระป๋อง นั่นคือสิ่งที่คนนอร์เวย์แสดงถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้บอกว่า ความเป็นนอร์เวเจียนคือความภาคภูมิใจในสถาบันกษัตริย์ สังคมที่นี่เขาค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกสูง เขาจึงไม่ยึดกับตัวบุคค ที่นี่ค่อนข้างเป็นกลาง คุณทำอะไรผิดคนก็มองว่าผิด คุณทำอะไรดีคนก็มองว่าดี อย่างเมื่อวันชาติที่ผ่านมา ครอบครัวราชวงศ์ก็นั่งรถไปโบกมือให้กับประชาชน ไม่ได้ปิดถนน แค่มีรถตำรวจวิ่งนำ นักข่าวก็ไปสัมภาษณ์ว่าคนรู้สึกอย่างไร คนก็บอกว่า ‘ฉันก็ไม่รู้สึกอะไร ก็โอเค เหมือนเจอคนดัง’…ที่นี่ผมยังไม่เคยได้ยินคนบ่นเรื่องการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์นะ ผมเห็นเขาชอบไปพักตากอากาศบนเขา เป็นบ้านไม้แบบเคบิน ผมไม่เห็นเขาไปเที่ยวต่างประเทศหรืออะไรมาก ส่วนใหญ่ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เป็นความ…ผมจะพูดว่ายังไงดี…‘ความเด๋อ’ ของสถาบันกษัตริย์ เช่น เรื่องไลฟ์สไตล์ เขาแต่งตัวแปลก ๆ เนอะ เขาพูดแปลก ๆ เป็นต้น

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): โดยพื้นฐานแล้วพวกเขาไม่ควรมีบทบาทอะไร แต่ก็มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ควีนนอกจากจะเป็นประมุขแห่งรัฐแล้วยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย สมาชิกราชวงศ์บางคนทำงานในกองทัพ สมาชิกส่วนใหญ่จะทำหน้าที่คล้ายทูตหรือตัวแทนในงานการกุศลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะช่วยให้สถาบันกษัตริย์ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ส่วนพวกเรามองว่าสมาชิกในราชวงศ์เป็นเซเลป เพราะเราเห็นพวกเขาทุกที่ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโทรทัศน์ ถึงแม้ผู้คนจะนินทาวิพากษ์วิจารณ์ แต่คนส่วนใหญ่ในอังกฤษก็สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ โดยมองว่าพวกเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของประเทศ

พวกเขาเป็นตัวแทนความมั่นคงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากเราผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาเยอะ ตั้งแต่สงครามโลกทั้งสองครั้ง วิกฤตการทางเศรษฐกิจและสุขภาพ เมื่อไหร่ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ยากลำบากในประเทศ พวกเรามองหาความมั่นคงจากสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง ควีนไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรได้เลย แต่เวลาที่ควีนหรือสมาชิกราชวงศ์คนอื่น ๆ พูดอะไรบางอย่างเพื่อที่จะรวมใจผู้คนในประเทศ คนส่วนใหญ่ชอบนะ พวกเขามองว่ามันเป็นการให้กำลังใจและทำให้รู้สึกในแง่บวก

แต่อย่างที่คุณก็รู้ว่าสหราชอาณาจักรประกอบด้วยอังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ คนในสามประเทศหลังค่อนข้างมีอุดมการณ์ชาตินิยมฝ่ายซ้าย ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งต้องการอิสรภาพและต่อต้านสถาบันกษัตริย์ พวกเขาต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ หรือไม่งั้นก็ให้แต่ละประเทศเป็นอิสระต่อกันทั้งหมดไปเลย ต่างจากในอังกฤษที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ การถกเถียงยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีสหราชอาณาจักรแล้ว สถาบันกษัตริย์ควรจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่

มารินา (สเปน): ในสเปนพวกเราได้เรียนเรื่องระบบการปกครอบแบบต่าง ๆ และเรียนว่าระบบของเราเป็นแบบไหน เรารับรู้ว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทค่อนข้างน้อย พวกเขาไม่มีอำนาจเพราะอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของรัฐบาล ยกเว้นกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่มันมีการถกเถียงกันมานานหลายปีแล้วนะ ว่าจริง ๆ แล้วสถาบันกษัตริย์อาจจะไม่มีความจำเป็นในประเทศสเปนอีกต่อไป มีพรรคการเมืองที่เสนอต่อรัฐสภาให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ มันยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงที่ใหญ่มากในสเปน ฉันคิดว่าประเทศเราไม่เหมือนประเทศอังกฤษที่คนส่วนใหญ่ชอบราชวงศ์ คนสเปนรู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย และตั้งแต่มีเรื่องอื้อฉาวกรณีการทุจริตที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ มันเลยกลายเป็นว่า ไม่ทำอะไร แถมยังขโมยเงินกว่าล้านยูโรไปจากประชาชนอีก คนก็เลยไม่ค่อยชอบสถาบันกษัตริย์เท่าไหร่ ส่วนคนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ฉันคิดว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นคนสูงอายุ แต่เนื่องจากการแบ่งขั้วทางการเมืองและอิทธิพลของอุดมการณ์ฝ่ายขวาสุดโต่งที่เกิดขึ้นในยุโรป ทุกวันนี้จึงมีทั้งคนสูงวัยและคนรุ่นใหม่ขวาจัดที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสเปน

ข้อมูลเพิ่มเติม: สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า 40.9% ของชาวสเปนที่ทำแบบสำรวจสนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐ 34.9% สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ และ 24.2% ไม่มีความเห็น มารินาบอกว่าการถกเถียงเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานกว่าสิบปี แต่เพิ่งมาร้อนแรงขึ้นเมื่อมีข่าวของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ที่อาจมีส่วนร่วมในการเรื่องการทุจริตและการฟอกเงินจำนวน 6.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 244 พันล้านบาท) หลังจากมีข่าวอื้อฉาวนี้ อดีตกษัตริย์เดินทางออกจากประเทศสเปนไปพำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา

สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้อย่างไร?

วิลเลียม (เดนมาร์ก): ผมเข้าใจนะว่ามองเข้ามาจากภายนอกมันอาจจะดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่ที่ประเทศประชาธิปไตยซึ่งเชื่อในความเสมอภาคกลับมีสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่ามันไปด้วยกันได้เพราะมันเป็นประเพณี และพวกเขาไม่มีอำนาจทางการเมืองอะไร พวกเขาแค่ได้รับความเท่าเทียมมากกว่าคนอื่นเพราะมีสิทธิพิเศษ ได้อยู่ในพระราชวัง ได้เงินเพื่อตัดริบบิ้นเปิดงาน ในเชิงปฏิบัติของระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญมันค่อนข้างจะเป็นการจัดการที่ประหลาดอยู่เหมือนกันนะ ในเชิงเทคนิคสถาบันกษัตริย์มีอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยเพื่อผ่านกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่มีอำนาจเลย นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องเซ็นยอมรับกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไปเสมอ โดยไม่มีการโต้เถียงด้วย เพราะถ้าสถาบันกษัตริย์แสดงออกเพียงเล็กน้อยว่าพวกเขาไม่เห็นด้วย มันอาจจะเป็นหายนะได้ ผมก็ไม่รู้นะ แต่พวกเราอาจจะโหวตหรือตัดสินใจให้เดนมาร์กเป็นสาธารณรัฐก็ได้ถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้น

ผมคิดว่าเรามีความเชื่อมั่นต่อกันในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม และมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล… ทุกอย่างในเดนมาร์กมันโปร่งใส ผมจะขอยกตัวอย่าง เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อในเดนมาร์กเปิดโปงว่าหน่วยข่าวกรองทางทหารของเดนมาร์กอาจแชร์ข้อมูลของประชาชนชาวเดนมาร์กกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (NSA) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกปิดเป็นความลับสูงสุด ดังนั้นในทำนองเดียวกัน ถ้าควีนกับรัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ต่อให้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย สักวันหนึ่งมันก็จะถูกเปิดเผยอยู่ดี เพราะที่ผ่านมามันเป็นแบบนั้นมาตลอดในสังคมเดนมาร์กแม้แต่เรื่องที่เป็นความลับที่สุด

อีกตัวอย่างหนึ่งว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ถึงไปกับประชาธิปไตยได้ มันเป็นประเพณีของที่นี่ที่สมาชิกราชวงศ์จะเข้าร่วมการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี พวกเขาจะนั่งอยู่บนระเบียงและดูการเปิดประชุม มันเป็นเพียงแค่ประเพณี ทุกคนจะยืนขึ้นเมื่อพวกเขาเดินเข้ามา รอจนกระทั่งพวกเขานั่งลง ทุกคนจึงนั่งลง แต่มีพรรคการเมืองหนึ่ง เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย พวกเขาจะเดินเข้ามาก็ต่อเมื่อสมาชิกราชวงศ์นั่งลงเรียบร้อยแล้ว เพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ คุณเห็นไหม นัยหนึ่ง การมีสถาบันกษัตริย์เหมือนเป็นประเพณีที่คนส่วนใหญ่รักษาไว้และไม่ได้ตั้งคำถามอะไร แต่ในอีกมุมหนึ่งในสังคมเดนมาร์กมีพื้นที่ให้กับคุณและสิ่งที่คุณต้องการจะทำ ถ้าคุณไม่อยากทำ คุณไม่ต้องทำก็ได้ ผมคิดว่าถ้าคุณพูดกับควีนแล้วเธอบอกคุณให้เรียกตัวเธอด้วยคำสรรพนามที่เป็นทางการ คุณไม่จำเป็นต้องทำตามนั้นก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย

มิคัล (เนเธอร์แลนด์): ฉันคิดว่าในเนเธอร์แลนด์ ผู้คนสร้างความชอบธรรมให้กับสถาบันกษัตริย์ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่มีอำนาจในการปกครอง เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์หนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีกลุ่มคนที่สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐที่เห็นต่าง พวกเขาคิดว่ามันไม่เป็นความจริงที่กษัตริย์ไม่มีอำนาจอะไรเลย พวกเขาบอกว่าคิงยังคงมีอำนาจอยู่มาก เพราะยังมีอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยผ่านกฎหมาย

ข้อมูลเพิ่มเติม: สำนักข่าวดัตช์รายงานผลสำรวจความนิยมต่อกษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ในปี 2563 ว่าลดลงเป็นอย่างมาก โดยความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกษัตริย์ลดลงจาก 76% ในเดือนเมษายน เหลือ 47% ในเดือนธันวาคม ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ลดลงจาก 67% เหลือ 51% โดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่พอใจต่อภาพคิงและควีนถ่ายรูปคู่กับเจ้าของร้านอาหารในประเทศกรีซโดยไม่รักษาระยะห่าง 1.5 เมตร รวมทั้งการตัดสินใจบินไปพักผ่อนที่ประเทศกรีซในช่วงที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์และขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้านให้มากที่สุด หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ “ไม่ฉลาด” ของราชวงศ์

โดย 70% ของคนดัตช์ที่ทำแบบสำรวจคิดว่าภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ค่อนข้างเสียหาย อย่างไรก็ตามหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศกรีซในช่วงโควิด-19 กษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ และราชินีแมกซิมาแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการผ่านวิดีโอโดยตรัสว่าพวกเขาทำผิดพลาดและ “มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดอย่างยิ่งที่เราได้ทำร้ายความเชื่อใจที่คนดัตช์มีต่อพวกเรา”

จูเนียร์ (นอร์เวย์): เคยมีการเสนอให้นอร์เวย์ปกครองกันในแบบสาธารณรัฐด้วยนะครับ แต่ทางสภาฯ ตีข้อเสนอนี้ตกไปด้วยเหตุผลว่ากษัตริย์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือก้าวก่ายทางการเมืองอยู่แล้ว ก็เลยให้พระองค์อยู่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศแบบนี้ดีกว่า

ข้อมูลเพิ่มเติม: หากใครดูซีรีย์ The Crown จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับสถาบันกษัตริย์ผ่านหลายสถานการณ์ เช่น กรณีการสละราชสมบัติของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่แปด ซึ่งส่งผลให้พระบิดาของควีนอลิซาเบธผู้เป็นน้องชายต้องขึ้นครองราชย์แทน รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกฯ แสตนด์ลีย์ บัลด์วินในช่วงเวลานั้นไม่เห็นด้วยกับการราชาภิเษกสมรสของพระองค์กับวอลลิส ซิมพ์สัน หญิงชาวอเมริกันที่มีประวัติหย่าร้าง นายกฯ เสนอทางเลือกสามข้อให้กับกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด คือ ลืมเรื่องการแต่งงานไปซะ แต่งงานแม้จะขัดต่อความเห็นชอบของรัฐบาล หรือสละราชสมบัติ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดทรงเลือกสละราชสมบัติเนื่องจากทรงทราบว่าการแต่งงานโดยขัดต่อความเห็นชอบของรัฐบาลอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): ในฐานะที่เกิดและเติบโตมาในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ถ้ามันถูกทำอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน มันชัดเจนว่าในสหราชอาณาจักรอำนาจการปกครองอยู่ในมือของรัฐบาล จริง ๆ แล้วกษัตริย์สามารถยุบรัฐบาลได้ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อตอบสนองและดูแลประชาชนได้ แต่มันเกิดขึ้นน้อยมาก ในยุคของควีนอลิซาเบธยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถ้าจำไม่ผิดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นน่าจะเมื่อสองร้อยปีก่อน มันตลกดีนะที่ได้เห็นรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ทำงานด้วยกัน บางครั้งพวกเขาก็ทำงานด้วยกันได้ดีมาก บางครั้งพวกเขาก็ขัดแย้งกันเยอะมากเช่นกัน

ส่วนตัวผมคิดว่าการยังมีสถาบันกษัตริย์เป็นไปได้ในคริสตศตวรรษที่ 21 แต่แน่นอนว่าคุณต้องเป็นตัวแทนของประชาชนได้และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย…แต่สถาบันกษัตริย์กับสังคมอังกฤษเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อน เราชื่นชมราชวงศ์แต่ในขณะเดียวกันเราก็วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาด้วย ทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัว การใช้เงินภาษี คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะเมื่อมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีสื่อรายงานว่าควีนสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าพระองค์ไม่ควรเลือกข้าง ควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เมื่อพิสูจน์ได้ว่าควีนสนับสนุน Brexit จริง มันค่อนข้างส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน เพราะช่วงนั้นประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากสำหรับคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรป ดังนั้นพวกเราไม่ได้มองสถาบันกษัตริย์เป็นแบบอย่าง (“role model”) แต่เรามองว่า เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปฏิบัติตัวแบบไหนมากกว่าในสังคมสมัยใหม่ เราไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์ที่ทำตัวเป็นพระเจ้าหรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แยกตัวออกห่างจากประชาชน ส่วนตัวผมมองว่าโดยรวมแล้วพวกเขาก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นไปตามที่พวกเราต้องการให้พวกเขาทำนะ เราจ่ายเงินภาษีให้พวกเขายังอยู่ตรงนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับเราว่าเราต้องการให้พวกเขาทำอะไร

มารินา (สเปน): หลังจากต้องอยู่ภายใต้เผด็จการมานาน มันเหมือนกับทุกคนเห็นร่วมกันว่าทางเลือกเดียวก็คือประชาธิปไตย นอกจากนี้ฉันคิดว่าสเปนก็ทำตามประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่สถาบันกษัตริย์ปรับตัวเข้ากับระบอบประชาธิปไตย ส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้มองระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญว่าแปลกอะไร อาจเป็นเพราะมันเป็นแบบนี้มาตลอดในชีวิตของฉัน แต่ถ้าฉันลองคิดดู ฉันคิดว่ามันเป็นระบบที่เก่า และไม่เข้าใจว่าทำไมโลกเรายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของฉันกับสถาบันกษัตริย์ในสเปน พวกเขาไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย ฉันเรียกพวกเขาว่าเป็น ‘ดอกไม้’ คือพวกเขามีอยู่เพื่อให้ดูสวยงาม แต่ไม่ได้ทำอะไรมาก ประเทศมันก็ดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมีสถาบันกษัตริย์ สเปนเป็นประเทศที่ยากจนอยู่แล้วเราไม่ได้ต้องการกษัตริย์ที่จะมาขโมยเงินของพวกเราไปอีก คนที่สนับสนุนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ อย่างกรณีข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้น กลุ่มกษัตริย์นิยมก็จะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง มันคือเฟกนิวส์

ฉันคงไม่พูดว่าเรามีระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงในสเปน  ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่ค่อนข้าวก้าวหน้ากว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่โดยภาพรวมแล้วรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เหมือนพวกเขาเคารพซึ่งกันและกัน รัฐบาลชุดนี้ผสมกันระหว่างสองพรรคการเมืองซึ่งพรรคหนึ่งมีอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย หลังจากมีข่าวเรื่องการทุจริต พวกเขาก็วิจารณ์อดีตกษัตริย์นะ พวกเขาบอกว่าเราเคารพสถาบันกษัตริย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ถูกต้อง

หลุยส์ (เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก): มันไปด้วยกันได้เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไร ทั้งในภาคประชาสังคม การเมือง และรัฐบาล นี่คือราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญทั้งในเดนมาร์กและลักเซมเบิร์ก มีอย่างหนึ่งที่ในเดนมาร์กไม่เคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในลักเซมเบิร์ก คือกรณีการวีโต้ ยับยั้งกฎหมายของกษัตริย์ ประมาณเมื่อสิบปีก่อน รัฐบาลพยายามจะผ่านกฎหมายสนับสนุนการการุณยฆาต (Euthanasia) ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศคาทอลิก แกรนด์ดุกเองก็มีความเชื่อทางศาสนาเช่นนั้น ปกติแล้วกฎหมายอื่น ๆ พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยตามปกติ ไม่พูดอะไร ไม่แสดงความคิดเห็น แต่เรื่องการุณยฆาต แกรนด์ดุกเฮนรีตรัสว่า พระองค์ไม่สามารถผ่านกฎหมายนี้ได้จริง ๆ เพราะทรงมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างมาก ฉันจำไม่ได้แล้วว่ารัฐบาลทำอย่างไร แต่กฎหมายนี้ก็ผ่านอยู่ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม: เหตุการณ์ที่หลุยส์เล่าเกิดขึ้นในปี 2551 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่ารัฐสภาของลักเซมเบิร์กโหวตเพื่อลดอำนาจของกษัตริย์ แกรนด์ดุกเฮนรี หลังจากทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายสนับสนุนการการุณฆาต โดยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่ที่ไม่ต้องผ่านการอนุญาตของกษัตริย์อีกต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ช่วยให้กษัตริย์สามารถปกเกล้าต่อไปได้โดยเคารพต่อหลักการประชาธิปไตย แกรนด์ดุกเฮนรีทรงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาล

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในลักเซมเบิร์กขณะนั้นพบว่าคนจำนวน 60% ไม่เห็นด้วยกับการไม่ลงพระปรมาภิไธยของแกรนด์ดุกเฮนรี โดย 69% ของประชาชนจะสนับสนุนการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ก็ต่อเมื่อบทบาทของพระองค์เป็นเพียงแค่ “พิธีการ” เท่านั้น และ 70% ของประชาชนลักเซมเบิร์กในขณะนั้นสนับสนุนการผ่านกฎหมายการุณฆาต ในปี 2553 เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันนี้ในประเทศเบลเยียม เมื่อกษัตริย์โบดวงทรงยับยั้งการผ่านกฎหมายสนับสนุนการทำแท้งเนื่องจากขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของพระองค์ รัฐบาลเบลเยียมปลดพระองค์จากการเป็นกษัตริย์เป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อทำการผ่านกฎหมาย ก่อนจะแต่งตั้งพระองค์กลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง



ถ้าให้เลือกรูปหนึ่งที่อธิบายความเป็นสถาบันกษัตริย์ของประเทศตัวเองคุณจะเลือกรูปไหน?

อังกฤษ

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): ผมเลือกรูปควีนอลิเซเบธกับบอริส จอนห์นสัน เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลอังกฤษ ในมุมหนึ่งพวกเขาเชกแฮนด์กัน แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมในเชิงความเป็นสถาบัน แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าคนอังกฤษรู้สึกอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ผ่านการก้มศรีษะของนายกฯ เพื่อ แสดงความเคารพต่อควีน

เนเธอร์แลนด์

มิคัล (เนเธอร์แลนด์): นี่คือคิงของเรา เป็นรูปแรกที่เราเห็นพระองค์มีหนวดเครา ถ้าจำไม่ผิดคนเริ่มล้อพระองค์บนทวิตเตอร์เป็นที่แรก สร้างมีมต่าง ๆ ฉันต้องการจะบอกว่าชาวดัตช์ส่วนใหญ่ไม่ได้ซีเรียสอะไรกับกษัตริย์มากนัก

เดนมาร์ก

วิลเลียม (เดนมาร์ก): รูปสามีของควีน แต่เขาเสียชีวิตแล้วนะ

เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก

หลุยส์ (เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก): นี่เป็นรูปของแกรนด์ดุกแห่งลักเซมเบิร์กและครอบครัวของพระองค์ ฉันต้องการให้เห็นว่าพวกเขาเป็นแค่ภาพลักษณ์ที่สวยงาม พวกเขาแค่เซ็นกฎหมายตามพิธีการโดยไม่มีอำนาจยับยั้งอีกต่อไป

สเปน

มารินา (สเปน): ภาพนี้ถ่ายจากการประท้วงในสเปน ผู้ชุมนุมเผารูปของคิง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ในปี 2551 ศาลสเปนสั่งจำคุกชาวคาตาลันสองคนที่เผารูปของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส เป็นเวลา 15 เดือน ก่อนจะลดโทษเป็นการปรับ 2,700 ยูโร (ประมาณ 98,000 บาท) ศาลสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปเตือนประเทศสเปนว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยระบุว่า การกระทำของผู้ประท้วงไม่ได้เป็นการโจมตีกษัตริย์เป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการประณามสิ่งที่สถาบันกษัตริย์เป็นตัวแทนในฐานะประมุขของประเทศ และการใช้อำนาจและกลไกของรัฐ ศาลสหภาพยุโรปสั่งให้ประเทศสเปนจ่ายเงินค่าปรับคืนให้กับผู้ประท้วงพร้อมทั้งให้ออกค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมให้ด้วย แม้จะเกิดกรณีการลงโทษดังกล่าวในวันนั้น ชาวคาตาลันที่ต้องการเรียกร้องเอกราชยังคงใช้วิธีเผารูปกษัตริย์ในการประท้วงตลอดมา  

ประเทศของคุณมี กฎหมาย lèse-majesté ไหม?

จูเนียร์ (นอร์เวย์): มีครับ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่โดนลงโทษอะไร ตอนนี้มีเรื่องที่ค่อนข้างดังของราชวงศ์ที่นี่ คือลูกสาวคนโตของคิงฮารัลด์ เขามีแฟนเป็นคนผิวสี เป็นคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ เขาก็แซว ๆ กันในสื่อที่นี่ว่าในที่สุดเราก็มีคนผิวสีเข้าไปในวังแล้ว นอกจากนี้ทั้งคู่ยังพูดเรื่อง sex life แบบเปิดเผยมาก ออกรายการตอนเช้าแนว ๆ เรื่องเล่าเช้านี้ แล้วก็เล่าว่าพบรักกันได้อย่างไร คนก็ทำมีมล้อเลียนกันเยอะมาก ผมก็มีเพื่อนผิวสีหลายคนที่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่มีใครบ่นหรือห้ามว่าคุณห้ามพูดเรื่องเจ้าเรื่องวังนะ

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): ไม่มีนะครับ เรายกเลิกไปหลายร้อยปีแล้ว…คนอังกฤษค่อนข้างอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ผู้คนจึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกคนใดก็ได้ในราชวงศ์ เพราะไม่งั้นเราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรใช่ไหม? นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ถ้ามันไปถึงขั้นที่มีใครสักคนหนึ่งขู่ที่จะฆ่าหรือทำร้ายราชวงศ์นั่นถือว่าเป็นความผิดที่มีโทษร้ายแรง แต่การวิจารณ์โดยทั่วไปเช่น ‘ควีนทำงานไม่ดีเลย’ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

มิคัล (เนเธอร์แลนด์): ขอโทษที มันคือกฎหมายอะไรนะคะ?

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ห้ามไม่ให้คนหมิ่นสถาบันกษัตริย์

มิคัล (เนเธอร์แลนด์): ไม่น่าจะมีนะ… เอ ฉันไม่แน่ใจเหมือนกัน…ไม่รู้ว่าคุณรู้จักไหมแต่เรามี Lucky TV เป็นรายการเชิงเสียดสี เขาทำวิดีโอล้อเลียนคิงจากวิดีโอต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคิง แล้วก็พากษ์เสียงประกอบ เป็นแค่มุกตลก ฉันไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำได้ไหมในประเทศไทย แต่ที่นี่เราสามารถล้อเลียนคิงได้ คิงเองก็แสดงความคิดเห็นด้วยนะว่าเป็นรายการที่ตลกดี

 ข้อมูลเพิ่มเติม:  หากเราบอกคนดัตช์ว่า “ยูรู้ไหม ประเทศยูมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะ” ถ้าไม่ถามว่า “มันคือกฎหมายอะไร?” หลายคนมักจะแสดงสีหน้าตกใจและถามต่อในทันทีว่า “จริงเหรอ?!” เพราะการใช้กฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งประชาชนและสื่อดัตช์วิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ (โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ) กันเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนคนจำนวนไม่น้อยแทบไม่รู้เลยว่าประเทศตัวเองมีกฎหมายนี้อยู่ (ตัวอย่างเช่น มิคัล เป็นต้น) กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศเนเธอร์แลนด์มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 ยูโร (ประมาณ 730,000 บาท) ตลอดระยะเวลา 12 ปีตั้งแต่ปี 2543-2555 มีการฟ้องร้องด้วยกฎหมายนี้จำนวน 18 คดี โดยครึ่งหนึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิด เคสล่าสุดที่มีการใช้กฎหมายนี้เกิดขึ้นในปี 2559 ชายวัย 44 ปี ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ตั้งใจดูหมิ่น” กษัตริย์วิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ หลังโพสต์ถึงกษัตริย์บนเฟซบุ๊กว่าเป็น “ฆาตรกร โจร และผู้ข่มขืนกระทำชำเรา” โดยถูกจำคุกเป็นเวลา 30 วัน หลังจากเหตุการณ์นี้มีการยื่นเรื่องเสนอและถกเถียงกันว่าควรยกเลิกกฎหมายนี้หรือไม่ในรัฐสภาของประเทศเนเธอร์แลนด์  

ลองจินตนาการว่าถ้าประเทศของคุณมีกฎหมาย lèse-majesté ที่มีโทษรุนแรงและถูกนำมาใช้บ่อยเหมือนประเทศไทย ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ จะเกิดอะไรขึ้น?

วิลเลียม (เดนมาร์ก):  อันดับแรกเลยผมคิดว่ามันคงจะไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะมันช่างเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ ในเดนมาร์กที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก มันจะเป็นปัญหาแน่ ๆ ถ้ามีกฎหมายแบบนั้นเพราะคนที่นี่เคยได้ลิ้มลองเสรีภาพแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม: เดนมาร์กมีกฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการหมิ่นประมาท โดยมาตรา 115 ระบุว่าการหมิ่นประมาทกษัตริย์มีโทษเพิ่มเป็นสองเท่าจากการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ยังไม่พบข้อมูลการฟ้องคดีด้วยมาตราดังกล่าว  

มารินา (สเปน): มันคงจะเป็นเรื่องใหญ่เลยล่ะ ฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้น สถานการณ์คงไม่เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาเราพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเปิดเผยมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องบทบาทของพวกเขาในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราถูกห้ามไม่ให้พูด เราก็คงจะออกไปประท้วง ที่นี่เราเดินขบวนประท้วงบ่อยนะ มันก็คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องออกไปประท้วงน่ะ

อาร์เธอร์ (อังกฤษ): มันอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติก็ได้มั้ง ผมมั่นใจว่าถ้ามันเกิดขึ้น จะมีการประท้วงและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากคนอังกฤษ ประชาชนชนในอังกฤษไม่เคยลังเลอยู่แล้วที่จะวิพากษ์วิจารณ์หากสถาบันกษัตริย์ต้องการที่จะเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ดังนั้นผมไม่คิดว่าสถาบันกษัตริย์จะโง่ขนาดนั้น พวกเขาตระหนักถึงตำแหน่งของตัวเองดี นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงปรับตัวและอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าพวกเขาทำได้ดีมาก แต่ถ้าเราจะมีกฎหมายแบบนั้นจริง ๆ ผมไม่คิดว่าเราจะยังมีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม: สเปนมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ในปี 2561 ศาลฎีกาของสเปนตัดสินลงโทษ Pablo Hasél นักร้องแร็ปเปอร์ชาวสเปนในข้อหา “เชิดชูการก่อการร้ายและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เนื่องจากในเนื้อเพลงมีการวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ของอดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ของเสปนกับประเทศซาอุดิอาระเบีย และการใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่ยากจน ในปีเดียวกัน Josep Miquel Arenas Beltrán นักร้องแร็ปเปอร์อีกคนหนึ่งก็ถูกศาลตัดสินในความผิดเดียวกัน ทั้งสองเหตุการณ์นำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนและการถกเถียงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศสเปน  

อ้างอิง

Lèse Majesté: Watching what you say (and type) abroad, the Overseas Security Advisory Council, Bureau of Diplomatic Security, U.S. Department of State
Why are young activists in Thailand protesting against the monarchy? – BBC Newsnight
Press briefing notes on Thailand, the UN High Commissioner for Human Rights
Analysis: What’s the secret of modern monarchy’s survival?, Robert Hazell and Bob Morri
Dutch divided over law against insulting the king, The Guardian
Dutchman jailed for 30 days for ‘insulting’ the king, BBC
Rapper jailed for three and a half years after criticising Spanish royal family, The Independent
Spain: Sentencing of rapper highlights urgent need to reform Penal Code, Article 19
Spain jails another rapper for praising terror groups, DW
Burning King’s Picture Is Free Speech, European Court Warns Spain, The New York Times
Princess Amalia to get €1.6 million as royal family receive a raise, DutchReview
King and queen get a 5% pay rise, Amalia will ‘earn’ €111,000 in December 2021, DutchNews.nl
Here’s how much Europe’s royal families really cost, CNN
Verdient Amalia te veel geld?, NOS
Why the Norwegian Royal Family May Be the Coolest of Them All, The Culture Trip
The Royal House of Norway
Poll finds over 40% of Spaniards back republic in wake of royal scandals, Reuters
Vertrouwen in koning fors gedaald, NOS
“We are not infallible”: King and Queen speak out about Greece trip, NL Times
King Willem-Alexander’s apology praised in Thailand, DutchReview
Luxembourg strips monarch of legislative role, The Guardian
Forget hygge: The laws that really rule in Scandinavia, BBC
เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท, ประชาไท