การเมืองแหลงไม่หรอยบนโต๊ะอาหารในท่วงทำนองของครอบครัวชาวใต้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“พรือมั้ง ไปชุมนุมมาม่าย”                                                                                            

ประโยคต้อนรับกลับบ้านด้วยคำถามว่า “ไปชุมนุมมาหรือเปล่า” ถือเป็นมิติใหม่ที่อินเทรนด์เสียไม่มี เรียกเสียงหัวเราะลั่นในวินาทีแรก ด้วยบรรยากาศการเมืองที่ร้อนแรงภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่ บรรดาลูกหลานที่ออกไปล่าฝันในเมืองหลวงจึงรับบทตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างไม่ต้องสงสัย

“รอยยิ้ม” นี่แหละคือใบเบิกทางชั้นดี ให้ผ่านช่วงเวลาหน้ากระอักกระอ่วนไปได้ ด้วยรู้กันอยู่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องอภิรมย์นัก โดยเฉพาะในครอบครัวชาวภาคใต้ที่การคุยเรื่องการเมืองดูไม่ใช่เรื่องปกติ

นี่เป็นคำถามที่ฉุกคิดขึ้นมาของผู้เขียน คงไม่มีช่วงเวลาใดให้คำตอบข้อสงสัยนี้ไปได้ดีกว่า “บทสนทนาบนโต๊ะอาหาร” ที่จะทำให้เราเข้าใจมุมมองของทุกคนในครอบครัวมากขึ้น

Decode พาทุกคนไปถอดรหัสบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของครอบครัวชาวใต้ ว่า “หรอย” แค่ไหน พวกเขาพูดถึงอะไรกันบ้าง และเหตุใดประเด็นการเมืองจึงไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมา หรือหากเกิดขึ้นแล้วก็พาให้ไม่เจริญอาหารได้เท่าที่ควร

ก่อนที่จะไปถึงตัวอย่างบทสนทนาที่จะหยิบยกในวันนี้ ต้องออกตัวก่อนว่านี่เป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้น ว่าเหตุใดการเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนต่อการขับเคลื่อนสังคมในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ถึงเห็นการเคลื่อนไหวในกลุ่มนักศึกษาภาคใต้ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ แม้ระยะหลังเริ่มเห็นภาพการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในโรงเรียนมัธยมตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ้างประปราย

แกงส้มกับบทสนทนาที่จบไปอย่างเหงา ๆ 

ลูก: แม่เห็นคลิปนั้นแล้วม่าย เท่เขาแชร์กันเรื่องเด็กกับครู
แม่: เท่เด็กชี้หน้าครูนะฮึ
ลูก: ไม่ฉ่าย เท่ครูสอนโย แล้วเด็กถามว่าอิสอนบทต่อไปเลยม่าย คนเขาว่ากันเต็มหมด

ลูก: แม่เห็นคลิปนั้นแล้วไหม ที่เขาแชร์กันเรื่องเด็กกับครู
แม่: ที่เด็กชี้หน้าครูนะเหรอ
ลูก: ไม่ใช่ ที่ครูสอนอยู่ แล้วเด็กถามว่าจะสอนบทต่อไปอีกไหม คนเขาว่ากันเต็มเลย

มื้ออาหารที่ได้ทานพร้อมหน้ากันคงไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยในครอบครัวสมัยนี้ ด้วยทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ จนโต๊ะอาหารของครอบครัวแทบไม่ต่างกับห้องอาหารของโรงแรม ที่ใช้ระบบบริการตนเอง ใครมาก่อนกินก่อน การได้ทานอาหารพร้อมกันจึงนับเป็นโอกาสพิเศษอย่างมาก

จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะพยายามหยิบยก “เรื่องดี ๆ” ขึ้นมาสร้างบรรยากาศ ยิ่งโต๊ะอาหารมื้อนั้นคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของเครื่องแกงร้อน ๆ ที่ปรุงพร้อมกับปลาสดใหม่ ก่อนจะเติมยอดมะพร้าวชิ้นโต ประเด็นหนักหน่วงจึงถูกปัดตกอย่างไม่ต้องสงสัย เว้นเสียแต่เรื่องนั้น ๆ จะเชื่อมโยงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับสมาชิกในครอบครัว บทสนทนาจึงเปิดฉากขึ้น

แม่: ต้องถามว่าใครว่า ถ้าโบ๊เด็กกะต้องเห็นด้วยกับเด็ก แต่พอรุ่นแม่กะเห็นด้วยกับครู ลูกว่าจริงม่าย
ลูก: ก็น่าอิจริง
แม่: นั่นแหละถ้าแม่เป็นครูคนนั้น แม่ก็ต้องรู้สึกว่า ไซ้เด็กถึงแหลงสวนขึ้นมาพันนั้น แลไม่มีมารยาท คนท้าวกำลังแหลงโย
ลูก: เข้าใจ แต่เด็กกะคิดอีกแบบแหละแม่ว่า กะโรโยแล้วว่าเห็นเรื่องการเมืองไม่เหมือนกันโย แล้วเอามาแหลงในห้องเรียนไซ้ เป็นลูกกะโกรธเสร็จ

แม่: ต้องถามว่าใครเป็นคนพูด ถ้าเป็นเด็กก็ต้องเห็นด้วยกับเด็ก แต่รุ่นพ่อแม่ก็เห็นด้วยกับครู ลูกคิดว่าจริงรหรือเปล่า
ลูก: ก็น่าจะจริง
แม่: ถ้าแม่เป็นครูคนนั้น แม่ก็ต้องรู้สึกว่า ทำไหมเด็กถึงพูดสวนขึ้นมาอย่านั้น ดูไม่มีมารยาท ผู้ใหญ่กำลังพูดอยู่
ลูก: เข้าใจ เต่เด็กก็คิดอีกแบบว่า รู้อยู่แล้วว่าความเห็นเรื่องการเมืองไม่เหมือนกัน แล้วจะมาพูดในห้องเรีนทำไม ถ้าเป็นลูกก็โกรธ

“โตขึ้นเป็นเจ้าคนนายคนนะลูก”

คำสอนที่ได้ยินกันจนคุ้นหูกับการปลูกฝังในลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ “ข้าราชการ” กลายเป็นเป้าหมายของพ่อแม่หลายครอบครัวในชุมชนคนใต้ ด้วยมองว่าเมื่อลูกหลานมีโอกาสได้ร่ำเรียนจนจบการศึกษาแล้ว การได้ทำงานที่มั่นคงด้วยการรับราชการไม่ว่าจะในส่วนงานใดถือเป็นความสำเร็จของชีวิต

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กภาคใต้ค่อนข้างคุ้นชินกับความเป็นข้าราชการไปโดยปริยาย ทั้งจากด้วยพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ประกอบอาชีพนั้นเอง หรือแม้แต่คนข้างบ้าน ที่อยู่บ้านเขาอาจเป็นน้า แต่ตื่นเช้ามาไปโรงเรียนเขาก็เป็นคุณครู เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ เด็กหลายคนจึงอาจเกิดภาวะสับสนว่าควรจะแสดงออกกับเรื่องนั้น ๆ อย่างไรกันแน่

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ แม้เด็กในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนโดยตรงจากรัฐ แต่พวกเขาก็ล้วนได้รับผลพลอยได้จากโครงสร้างที่เป็นอยู่ทั้งสิ้น ดังนั้นการที่จะออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยบริบทที่เขาเป็นจึงอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และหวาดกลัวว่าจะมีผลต่อหน้าที่การงานของคนนั้น ๆ

“พอพูดเรื่องการเมืองตอนเริ่มต้นคุยมันก็ดีอยู่นะ คิดว่าโชคดีจังบ้านเราคุยเรื่องแบบนี้ได้ แต่พอมันเลี่ยงวกมาที่ความเป็นข้าราชการไม่ได้ ทุกคนก็เหมือนรู้ตัวกันว่าหยุดพูดเหอะ”

นี่เป็นความคิดเห็นของวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตและเรียนในมหาวิทยาลัยในภาคใต้มาโดยตลอด ทั้งยังมีผู้ใหญ่รอบข้างที่ทำงานในระบบราชการอยู่ไม่น้อย ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังว่า นับตั้งแต่ครั้งสมัยเป็นเด็กระหว่างทานข้าวร่วมกับคนในครอบครัว ผู้ใหญ่มักหยิบยกประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นมาพูดกันเสมอ ซึ่งในฐานะเด็กก็รับฟังและซึมซับบรรยากาศเช่นนี้มาโดยตลอด ด้วยความภาคภูมิใจว่า “บ้านเราพูดเรื่องมีสาระกันตอนกินข้าวว่ะ”

เขายอมรับว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นที่การเมืองในครอบครัวเปิดกว้างให้พูดคุยได้มากขนาดนั้น อาจจะด้วยขณะนั้นทุกคนรับรู้กันได้ว่าเป็น “พวกเดียวกัน” คือค่อนข้างมีแนวคิดและความชื่นชอบทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อเวลาผ่านไปต่างคนต่างรับข้อมูลแตกต่างกันไป บรรยากาศการพูดคุยบนโต๊ะกินข้าวจึงเริ่มไม่เหมือนเดิม แม้ยังคงสามารถแลกเปลี่ยนข่าวสาร หรือโต้เถียงทางสังคมได้เช่นเดิมก็ตาม

“เหมือนทุกคนรอคิวจะเป็นคนพูด ไม่ใช่แค่พ่อแม่นะ เราก็เป็น แบบไม่อยากฟังเขาแล้วขอเราพูดบ้าง เสียงที่พูดก็จะดังขึ้นเรื่อย ๆ” เขาเล่าด้วยเสียงหัวเราะถึงความตลกของคนในครอบครัวในเวลานั้น ซึ่งไม่มีใครอยากจะทำความเข้าใจอีกฝั่ง เพียงแต่อยากพูดสิ่งที่คนเองคิดเท่านั้น นั่นจึงเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้การพูดคุยเรื่องการเมืองเริ่มไม่สนุกอีกต่อไป

แม่: เออมันก็คิดได้หลายมุม พรื้อกะแล้วแต่ ลูกอย่าเป็นพันนั้นนะ ลูกต้องอ่อนน้อม มีมารยาท คนกตัญญูเจริญทั้งเพนแหละ
ลูก: ลูกไม่ทำโหย๊แล้ว

แม่: คิดได้หลายมุม ยังไงก็แล้วแต่ลูกอย่าเป็นอย่างนั้นนะ ลูกต้องอ่อนน้อม มีมารยาท คนกตัญญูเจริญทั้งนั้น
ลูก: ไม่ทำอยู่แล้ว

ถึงตอนนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องไม่หลงลืม คือในทุกวงการย่อมมีทั้งดีและไม่ดี ข้าราชการก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีทั้งผู้ที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำเต็มความสามารถ แต่เหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง คือ ข้าราชการมี “อำนาจ” ในการเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายมิติ ทั้งการจัดการทรัพยากร ทั้งในกระบวณการยุติธรรม ที่มักมาพร้อมการใช้ “ดุลยพินิจ” เมื่อผนวกกับวัฒนธรรมอุปถัมน์ที่เรามีมาช้านาน จึงยากที่เจ้าหน้าที่จะใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสมได้ทั้งหมด

แม้บทสรุปของการพูดคุยอาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก แต่เขายังคงมองเห็นข้อดีของการเป็นคนรุ่นใหม่ในภาคใต้ว่า การอยู่ในพื้นที่ครอบครัวที่การพูดคุยประเด็นการเมืองค่อนข้างต้องระมัดระวังนั้น ทำให้เขาและเพื่อนหลายคนมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และคำตักเตือน เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ได้ดีในระดับหนึ่ง

“ไม่คิดว่าแย่นะ ถึงจะพูดกันไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็ทำให้เราต้องพยามหาข้อมูล และคิดทุกอย่างก่อนพูด อีกอย่างถ้าไม่อยากมีปัญหาอย่าขึ้นเสียงดัง” เขาเล่าพร้อมหัวเราะเป็นการปิดท้าย

หมูสับผัดหนำเลี๊ยบกับหลานอาม่า

อาม่า: สมัยก่อนนะตอนก๋งมาใหม่ ๆ ทำงานหนักมาก ต้องไป…
หลาน: ม่าเล่ากี่รอบแล้ว

เสียงตะเกียบกระทบชามดังขึ้นมาเป็นระยะ ๆ  ยิ่งเมื่อถึงตอนสำคัญของเรื่อง อาม่าที่กำลังครองการพูดคุยก็ถึงกับละตะเกียบที่กำลังจะคีบหนำเลี๊ยบขนาดพอดีคำเอาไว้ จนได้รับเสียงหัวเราะขรมจากบรรดาลูกหลานรอบ ๆ โต๊ะที่ขันกับอาม่า ที่ฉายหนังซ้ำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หากใครไม่เคยมาเที่ยวภาคใต้แต่เห็นเพียงตามละครหลังข่าว คงจินตนาการว่าคนในภาคใต้คงมีแต่ผิวเข้ม ตาคม ตามแบบฉบับชาวเลในละคร แต่แท้จริงแล้ว หนุ่มสาวภาคใต้ที่ผิวขาวเหมือนหยวกกล้วย ตามแบบฉบับคนไทยเชื้อสายจีนก็พบได้ทั่วไป

ด้วยครั้งตั้งแต่สมัย ร.3 เป็นต้นมา มีชาวจีนจากแถบตอนใต้ และตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง อพยพมาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกว่างตง เป็นต้น เห็นภาพชินตาที่ร้านอาหารภาคใต้ไม่น้อยมักมีป้ายรับรองสูตรต้นตำหรับกันยกใหญ่ ทั้งสูตรฮกเกียนเอย สูตรแต้จิ๋วเอย

เมื่อเข้ามาแล้วส่วนใหญ่มักจะเริ่มประกอบอาชีพรับจ้าง และด้วยความขยัย อดทน อดอออมนี่แหละที่ทำให้คนจีนในภาคใต้ส่วนใหญ่เริ่มตั้งตัวด้วยการค้าขาย ก่อนที่ขยับขยายไปยังภาคเกษตรกรรม และสิ่งหนึ่งที่ยังคงทิ้งร่องรอยจนถึงปัจจุบัน คือมีหลายกิจการที่เกิดขึ้นในชุมชนคนจีนกันเอง ทั้ง โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง โรงเผ่าถ่าน จนถึงธุรกิจขนส่งต่าง ๆ เช่นนี้แล้วครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนจึงมีอยู่ทั่วไปในภาคใต้

วัฒนธรรมการกินของคนใต้จึงได้รับอิทธิพลจากจีนมาค่อนข้างมาก จะว่ามีร้านข้าวต้มโต้รุ่งทุกมุมถนนก็ว่าได้

“ที่บ้านเปิดร้านขายของ ทุกคนก็ต้องช่วย ๆ กัน เวลาจะกินข้าวเลยวนกันมากินมากกว่า แต่ก็มีม่าแหละที่เหมือนนั่งอยู่ตลอด ถ้านับว่าใครได้คุยกับทุกคนมากสุดในบ้านก็คงเป็นแก”

สาวใต้เชื้อสายจีนคนหนึ่งเล่าบรรยากาศการทานอาหารของที่บ้านให้ฟังว่า ด้วยการเป็นครอบครัวใหญ่ที่ค้าขาย การจะมีโอกาสได้มาทานอาหารพร้อมหน้ากันทุกมื้อเป็นไปได้ยากมาก แต่ทุกคนรับรู้เรื่องราวของกันและกันผ่านอาม่า ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คนเดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว เพราะมักแวะมาพูดคุยหยอกล้อกับท่าน

เธอเล่าว่า นับตั้งแต่เด็กพ่อแม่วุ่นวายกับการทำงานอยู่ตลอด อาม่าและอากงจึงเป็นคนที่คอยดูแล ไม่เว้นแม้แต่การไปรับส่งที่โรงเรียน พวกท่านจึงค่อนข้างมีอิทธิพลทางความคิดกับบรรดาลูกหลานเป็นอย่างมาก

อาม่า: ทำมาเป็นหัวเราะ ตอนนั้นถ้าไม่ได้อา (ชื่อ) ช่วยจัดการให้ ร้านไม่ได้เปิดแบบนี้หรอก
หลาน: คนที่ม่าเล่าว่าอยู่สมาคมเดียวกับก๋งนะเหรอ

เธอเล่าต่อว่า ช่วงที่อากงยังคงมีชีวิตอยู่นั้น มักมีเพื่อนฝูงแวะเวียนกันมาตลอด ซึ่งก็มีทั้งคนที่ทำอาชีพค้าขายด้วยกัน ไปจนถึงคนที่ “เป็นใหญ่เป็นโต” ในจังหวัด ในวันหยุดก็มักไปนั่งคุยกันตามที่ทำการสมาคมใกล้บ้าน ซึ่งหลายครั้งเธอมีโอกาสติดตามไปด้วย แต่ความเป็นเด็กทำให้เธอไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านพูดคุยกันมากนัก รู้แต่เพียงว่าอากงย้ำหนักย้ำหนาว่าถ้าไปเจอเพื่อนอากงที่ไหนก็อย่าลืมทักทาย วันข้างหน้าอาจได้พึ่งพากัน

“ตอนนั้นคิดว่าเจ๋งมากเลย ก๋งรู้จักคนเยอะมากคิดแค่นั้น แต่พอโตมาถึงรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น คิดขำ ๆ ว่า ที่ก๋งคุยอาจเป็นเรื่องใหญ่โตเลยก็ได้”

เมื่อเวลาผ่านไปด้วยความสามารถของชาวจีนในภาคใต้ก็เป็นที่ประจักษ์ สามารถกลายเป็นผู้นำในหลายด้าน โดยเฉพาะการค้าขาย จนต้องขยายอำนาจเป็นที่มาของสมาคม มูลนิธิ ต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ แต่ในแง่มุมหนึ่งก็กลายเป็นธุรกิจผูกขาดแบบไม่รู้ตัว

ทำธุรกิจแล้ว “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” จึงกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่ง ที่เชื่อกันว่ามาจาการที่ชาวจีนที่ต้องติดต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ ใช้เป็นใบเบิกทางในการทำธุรกิจ นี่จึงเลี่ยงที่จะใช้เส้นสายไปไม่ได้ ซึ่งนั้นก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของการทุจริตที่เป็นเหตุของปัญหาการเมืองในปัจจุบัน

อาม่า: เห็นว่าบ้านเขาจะจัดงาน อยู่บ้านว่าง ๆ ชวนมะให้ไปช่วยงานบ้านโน่นด้วย
หลาน: ไปทำไม ไม่เห็นรู้จัก

“ไม่ว่าม่าสอนเรื่องไร ม่าต้องปิดด้วยเรื่องสอนให้กตัญญูรู้จักบุญคุณคนตลอด” เธอเล่าด้วยตาเปื้อนยิ้ม เมื่อระลึกถึงคำสอนช่วงเวลาเหล่านั้น ซึ่งเธอก็ยึดถือมา

เมื่อเวลาผ่านไปเธอกลับค้นพบว่า คำสอนให้ “กตัญญู” ของอาม่านี่เองที่ทำให้บรรยากาศการกินข้าวในวันรวมญาติไม่ค่อยอร่อยเหมือนเดิม โดยเฉพาะในบรรดาหลาน ๆ ที่อดไม่ได้ต้องถกเถียงกันอยู่หลายครั้ง

“เข้าใจได้นะเรื่องที่เราควรทำดีกับทุกคน ใครดีด้วยดีตอบ แต่ไม่ชอบเวลาที่คิดว่าเป็นบุญคุณต่อกันจนต้องช่วยกันในบางเรื่อง ที่บางครั้งฝั่งเราก็ทำผิด”

เธอยังเล่าต่ออีกว่า ช่วงที่การชุมนุมสีเสื้อเมื่อหลายปีก่อนร้อนแรงนั้น โต๊ะอาหารที่บ้านคึกคักมาก ทั้งจากเสียงโทรทัศน์ “ช่องที่อาม่าชอบ” และเชียร์ของอาม่าที่ดังขึ้นเป็นระยะ สร้างบรรยากาศให้ทุกคนในบ้านมีเรื่องที่สนใจร่วมกันได้ ซึ่งแตกต่างจากตอนนี้มาก บรรยากาศบนโต๊ะยังคงมีเสียงดังเช่นเดิมแต่ทุกคนดูจะให้สิทธิอาม่ารับบทคนพูดเป็นหลัก

“ไม่ใช่ว่าไม่อยากแลกเปลี่ยนด้วยนะ แต่รู้อยู่แล้วว่าพูดไปแล้วจะเป็นไง รู้ว่าถ้าพูดแย้งไปป๊าคงส่งสายตาให้ยอม ๆ แกไป”

อาม่า: เดี๋ยว ๆ โดน คนเราใครทำดีต้องดีตอบ เอ่อเห็นว่าจะสอบทำงาน อาม่าพาไปแหลงกับอา (ชื่อ) เอาไม

เมื่ออาหารมื้อนั้นเกลี้ยงชาม อาม่าก็ดูจะเปลี่ยนเป้าหมายจากการวิพากวิจารณ์คนในข่าว พุ่งตรงมายังหลานสาวที่มีสถานะเป็นบัณฑิตจบใหม่ทันที ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยที่อยากให้ได้ทำงานดี ๆ พร้อมปิดท้ายให้เธอสนใจอนาคตตนเอง อย่าวุ่นวายกับการบ้านการเมืองที่กำลังเป็นประเด็นอยู่เลย

ตลอดบทสนทนาของอาม่าและหลาน ๆ สิ่งหนึ่งที่ที่สัมผัสได้ ซึ่งสัมพันธ์กับงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง สังคมไทยกับการคอรัปชั่น ที่เผยแพร่ไปราวสองปีที่ผ่านมา ที่ระบุว่า คนแต่ละช่วงอายุเข้าใจคำว่าคอรัปชันไม่เหมือนกัน

อย่างอาม่าที่มองว่าการช่วยพวกพ้องไม่ได้ถือว่าเป็นการคดโกง ในขณะที่ลูกหลานดูจะไม่พอใจกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ด้วยถือว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนี้ตามรายงานของอ.ธานี อธิบายไว้ว่า คนอายุน้อยกว่า 25 ปีเพิ่งเรียนจบ และยังไม่พบเจอสภาพสังคมจริงจึงมีการตีความที่ต่างออกไป ในขณะที่คนอายุมากกว่ามักตีความแคบกว่า โดยมองเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองไม่ได้รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร และการใช้อำนาจอื่น ๆ

“ตลกมาก อาม่าชอบบอกว่าอย่ายุ่งการเมืองเลย บ้านเราค้าขายแบบนี้แหละไม่วุ่นวายดี แต่ม่าคงไม่ได้คิดว่าเวลาที่ม่าพูดถึงชื่อคนนั้นคนนี้ที่เคยดีกันมันก็เกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น แถมตอนบอกให้สมัครงานยังบอกจะฝากให้อีก แล้วไม่การเมืองตรงไหน” เธอปิดท้ายด้วยคำบ่นกลั้วเสียงหัวเราะ

แกงไตปลากับการขอรับบทเป็นผู้ชม

พ่อ: ยางราคาลงทุกวัน
ลูก: ไซ้มันลงพันนี้ละ

พ่อ: ยางราคาลงทุกวัน
ลูก: ทำไหมราคาตกอย่างนี้

เรียกว่าแทบจะเป็นประโยคเปิดบทสนทนาของคนภาคใต้เลยก็ว่าได้ กับคำถามว่า “ตอนนี้ยางพารากิโลละกี่บาท” หากจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนที่คนภาคอื่นทักทายกัน “ทานอะไรมาหรือยัง” ซึ่งเป็นประโยคคำถามที่บางครั้งแทบจะไม่ต้องการคำตอบที่แท้จริง เพียงแต่คิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องอะไรกันดี

แม้จะดูเหมือนเป็นประโยคที่ไม่สลักสำคัญอะไร แต่ก็สะท้อนให้เห็นบริบทของพื้นที่ ว่าเกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอยู่บ้าง

เมื่อถาดที่บรรจุถ้วยอาหารสามสี่อย่างถูกยกมาวางตรงลานกลางบ้าน หนึ่งในนั้นคือแกงพุงปลา หรือที่คนทั่วไปรู้จักวาแกงไตปลา ก็เป็นอีกเมนูที่ไม่พลาดในอาหารมื้อนี้ สมาชิกก็พร้อมล้อมวงกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ท่ามกลางบรรยากาศฝนที่กำลังตกปรอย ๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

“ล้อมวงกินข้าวพร้อมกันตลอด ทุกคนจะได้กินกันแบบครบ ๆ ไม่ต้องมาคิดว่าต้องกันกับข้าวไว้ให้ใครแม่พูดตลอด อีกอย่างจะได้เก็บกวาดล้างทีเดียว”

ลูกหลานชาวสวนยางคนหนึ่ง ถ่ายทอดบรรยากาศการล้อมวงกันกินข้าว ที่กินพร้อมหน้าพร้อมตากันตลอด หากมองเผิน ๆ อาจจะคิดว่าเป็นความตั้งใจที่อยากจะให้สมาชิกได้พูดคุยกัน แต่เขามองว่าเป็นเพราะเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจของที่บ้านมากกว่าที่กำหนดให้ครอบครัวต้องกินข้าวพร้อมกันอย่างเลือกไม่ได้ ด้วยอาหารมีจำกัดการกินพร้อมกันช่วยให้ควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายได้

ก่อนที่พ่อจะเป็นคนเริ่มต้นเปิดสนทนาด้วยเรื่องใกล้ตัวอย่างประเด็นฝนฟ้าอากาศ ด้วยมีผลกับอาชีพหลักของที่บ้าน นั่นคือการกรีดยางพารา ซึ่งพึ่งพิงสภาพอากาศอยู่ตลอด หากวันไหนฝนตกหนักในวันต่อมาก็ไม่สามารถออกไปกรีดยางพาราได้ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ต้นยางเกิดโรค และน้ำยางที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เงินที่ได้ก็จะน้อยตาม

“มรสุมมาวันไหน พายุชื่ออะไร พ่อรู้หมดเลยนะ”

เขาเล่าต่อว่า การรายงานสภาพอากาศของพ่อก็เป็นอีกหนึ่งคำพูดประจำระหว่างที่ทุกคนทานอาหารกัน ซึ่งในตอนเด็กคิดว่าน่าเบื่อหน่ายมาก แต่เมื่อโตขึ้นถึงเริ่มเข้าใจว่าเหตุใดพ่อถึงให้ความสำคัญกับดินฟ้าอากาศขนาดนั้น จนในปัจจุบันตัวเขาเองก็ติดนิสัยติดตามข่าวพยากรณ์อาการไปด้วย

พ่อ: เห็นว่าจีนเขาไม่รับซื้อ หวางนี้แถวจีนใต้ ๆ เขาปลูกกันหมด เห็นว่าไปให้เบี้ยวปลูกแถวลาว พม่ากัน
ลูก: เรื่องพันนี้กะรู้อยู่แล้วไซไมวางแผน          

พ่อ: เห็นว่าจีนเขาไม่รับซื้อ หวางนี้แถวจีนใต้ ๆ เขาปลูกกันหมด เห็นว่าไปให้เบี้ยวปลูกแถวลาว พม่ากัน
ลูก: เรื่องแบบนี้รู้อยู่ แล้วทำไมไม่วางแผน

เวลาผ่านไปครอบครัวก็ยังคงยึดหลักกินข้าวพร้อมกันเช่นเดิม แต่ที่ต่างออกไปคือเขาเริ่มโตพอที่จะต่อยอดสิ่งที่พ่อพูดได้มากขึ้น จากประเด็นปากท้องทั่ว ๆ ไปจึงเริ่มยกระดับตั้งคำถามถึงเหตุและผลของเรื่องนั้นมากขึ้น รวมถึงอดไม่ได้ที่จะแสดงความไม่พอใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น

ลูก: ไซ้หนนเส้นบายพาส ที่เพิ่งทำวันก่อนเป็นหลุมหมดแล้วละพ่อ
พ่อ: พังมาตั้งแต่เพิ่งเสร็จโน่น โบ๋เซ้นตรวจรับกะคนโก(ชื่อ)ให้ไม่ผ่านพรือ     

พ่อ: ทำไมถนนเส้นเลี่ยงเมืองที่เพิ่งจะทำ เป็นหลุมแล้วละพ่อ
ลูก: ทรุดมาตั้งแต่เพิ่งสร้าง พวกที่เซ้นตรวจรับเป็นคนของ…จะไม่ผ่านได้ยังไง

“เวลาเรากับพ่อถือข้างเดียวกันเวลาคุยมันหนุกมาก พ่อเขาอยู่บ้านตลอดเขาก็จะรู้ข้อมูลต้นตอจริง ๆ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องอบต.แถวบ้านนะ แต่อย่าให้ได้หลุดโยงไปถึงรัฐบาลนะถูกเบรกทันที”

เขาตั้งข้อสังเกตว่าในหลาย ๆ ครั้งพ่อเองมักเป็นคนเปิดประเด็นการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมา อาจจะด้วยเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีผลโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูก ๆ พยายามชี้ต่อถึงความเชื่อมโยงในภาพกว้างก็จะโดนตัดบทอยู่ตลอด

“เราไม่ได้คิดว่าเขาไม่อยากคุยนะ แต่บางครั้งเขาคุยไม่เป็น พอเริ่มโต้กันไปมาเขาคิดว่ากำลังเถียงกันอยู่ แต่เราไม่คิดว่าแบบนี้คือเถียงนะ”

บรรยากาศการทานข้าวของครอบครัวจึงวนเวียนอยู่แบบนี้มาโดยตลอด ก่อนที่แม่จะเป็นผู้ปิดฉากอาหารมื้อนั้น ด้วยการยกถาดอาหารเข้าไปล้างทำความสะอาด แต่ก็ไม่พลาดที่จะทิ้งประโยคปิดท้ายว่า “อย่าไปยุ่งตะเรื่องพันนี้ ถ้าแลพอ”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจไม่สามารถตอบข้อสงสัยที่ผู้เขียนตั้งไว้ทั้งหมด ว่าการพูดคุยประเด็นการเมืองสำหรับคนภาคใต้นั้นไม่ใช่เรื่องปกติจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ไม่มากก็น้อย คือ “ครอบครัว” นับเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญในชีวิตของหนุ่มสาวที่เติบโตในสังคมปลายด้ามขวานเป็นอย่างมาก

เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับได้ คือ การรับข่าวสารที่หลากหลาย และเสรีภาพที่ครอบครัวมอบให้ขณะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นอิสระแรกสำหรับบางคน หล่อหลอมให้พวกเขาตั้งคำถามและวิเคราะห์ชุดความคิดเดิม ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นต่างออกไป มีไม่น้อยที่เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าวิธีคิดเดิมถูกต้องแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจต้องตั้งคำถาม คือ เรากำลังมีเป้าหมายเดียวกันหรือไม่ หากเป้าประสงค์คือต้องการชี้ว่าใครผิดใครถูกกันแน่ บทสรุปอาจจะมีแต่เราจะยังกินข้าวร่วมกันได้อีกไหมหลังจากนั้น แต่หากการพูดคุยนั้นถูกปลุกขึ้นไม่ใช่เพื่อเรียกร้องให้ใครต้องเปลี่ยน เพียงแต่ร่วมกันสร้างสังคมในแบบที่ยอมรับและพอใจร่วมกันต่างหาก

ท่ามกลางโต๊ะอาหารที่มีคนหลายวัย และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาเป็นไปต่อเนื่อง นอกจากเสียงที่ได้ยินด้วยหูแล้ว หลายคนก็อาจจะรับรู้เสียงที่อีกฝ่ายพยายามสื่อถึงกันเต็มที่ว่า “นี่ลูกคนเดิมนะ” และ “นี่พ่อแม่คนเดิมนะ”และกับข้าวบ้านเราก็ยังคง “หรอย” เหมือนเช่นที่ผ่านมา

ว่ากันว่าระยะความสุขมักสั้นเสมอ เช่นเดียวกับการเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ที่มาถึงวันที่ต้องบอกล่าอีกครั้ง เสียงอวยพรจากคนที่บ้านก็ยังคงน่าฟังเช่นเดิม แม้จะมาพร้อมใบหน้าเศร้าและริมฝีกปากประดับยิ้ม

“ดูแลตัวเองดี ๆ อิทำไรก็คิดมาก ๆ ใหญ่แล้ว”

เสียงหัวเราะตอบรับจากลูกหลานยังคงใช้ได้ผลเช่นเดียวกับวันมา พร้อมใจที่แอบคิดขำขันว่ายังจะมีแอบพูดปิดท้ายอีกนะ