ผิดที่ไว้ใจ?...รัฐปกป้องใครในวันที่เด็กที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ - Decode
Reading Time: 2 minutes

50 เคสทางภาคใต้มีนักกิจกรรมถูกคุกคาม เพราะแสดงออกทางการเมือง
17 นักเรียนทางภาคเหนือที่ถูกติดแบล็กลิสต์ เพราะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
5 คนเป็นอย่างน้อยที่เยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุยงปลุกปั่น
และอย่างน้อย 1 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการชุมนุม

นักกิจกรรมที่เดินทางมาจากทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “When Children Defend Human Rights: Thailand’s Response?” เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและรัฐปกป้องใคร” เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมเปิดกล่องรับไอเดียส่งให้องค์กรเด็กอย่างยูนิเซฟ เพื่อหยุดเพิกเฉยต่อการคุกคามเด็กและเยาวชนที่กำลังเกิดขึ้นเพระาการเคลื่อนไหวทางการเมือง

เยาวชน 4 คนเล่าเรื่องการถูกคุกคามเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแสดงออกทางความคิด ตั้งแต่การถูกติดตามไปถึงบ้าน การถูกข่มขู่จากถูกครูในโรงเรียน แม้กระทั่งการถูกแรงกดดันจากในบ้านหรือครอบครัวตัวเอง นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้หาทางออกโดยการพึ่งพากันเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

เมื่อเด็ก-เยาวชน “ไม่ไว้ใจ” รัฐ

“เรื่องราวร้องทุกข์จากนักเรียนก็ส่งมาถึงนักเรียนอย่างเราเหมือนกัน อาจเพราะหน่วยงานของรัฐไม่มีประสิทธิภาพที่จะแก้ไขปัญหาหรือไม่มีความน่าไว้วางใจมากพอหรือเปล่า”

มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่ม นักเรียนเลว บอกว่า 5-6 เดือนที่กลุ่มนักเรียนเลวเปิดตัวมา เรื่องร้องเรียนหลายพันเรื่องร้องเรียนเข้ามาหาทางกลุ่ม เป็นเรื่องคุกคามที่เกิดจากทางร่างกาย จิตใจ และคำพูด เช่น การดุด่าว่ากล่าว การส่งตำรวจเข้าไปหาที่บ้าน ห้ามทางผู้ปกครอง แม้แต่ทางกลุ่มนักเรียนเลวช่วงที่เริ่มก่อตั้งใหม่ ๆ ได้รวบรวมเรื่องร้องเรียนเสนอต่อรัฐบาล คำตอบรับที่กลับมาก็คือไม่สามารถดำเนินการได้ จนนำไปสู่การจัดชุมนุมครั้งแรก แล้วกลายเป็นว่าปัญหานั้นก็ได้รับการแก้ไขทันทีหลังจากมีการชุมนุม

“นี่คือวิธีการทำงานปกติของรัฐบาลหรือเปล่า คำถามคือมันเป็นการผลักให้พวกเราเลือกใช้วิธีการชุมนุมกดดัน แทนที่เราจะใช้วิธีการทางราชการปกติด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียน หลังทำมาหลายรอบ เมื่อการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามันนำไปสู่การที่เราต้องชุมนุมกดดันเพียงอย่างเดียว”

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มินมองว่านี่ไม่ใช่วิธีการที่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานที่แก้ปัญหาหน่วยเดียว กลายเป็นผูกโยงอยู่กับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐและตำรวจด้วย ที่จะต้องดูแลการชุมนุม ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง

สำหรับมินมีหมายเรียกในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมินมองว่ารัฐมีความชอบธรรมมากแค่ไหนที่จะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ

ดินแดนอนุรักษ์นิยมกับแผลอักเสบที่ไม่อยากให้สะกิด

สอดคล้องกับเรื่องราวของ นุ่น-ธนัดดา แก้วสุขศรี จากกลุ่มเด็กเปรต บอกว่าบริบทของภาคใต้ ดินแดนแห่งอนุรักษ์นิยมนี้ การคุกคามนักกิจกรรมมีความรุนแรง และหนักหนากว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ มีทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งกฎอัยการศึกษาหลายสิปปี มีการรายงานจากเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ว่าตอนนี้มีเยาวชนถูกคุกคามแล้วกว่า 50 กรณี ไม่นับรวมส่วนที่ตามไม่เจออีก เนื่องจากเหยื่อไม่กล้าที่จะออกมา

“ปัญหาใต้พรมเป็นเหมือนแผลของเขา แผลที่มีมานาน เมื่อเด็กนักเรียนหรือเยาวชนรุ่นใหม่เปิดแผลนี้ เขารับไม่ได้ เลยบอกให้ หยุด หยุด หยุด”

นุ่นบอกว่า สิ่งนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่การสั่งห้าม หรือการเพิกเฉยต่อการคุกคาม เธอยกตัวอย่างการออกมาแสดงความเห็นต่างเยาวชนคนหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ก็เจอการคุกคามเช่นกันเพื่อให้เกิดความกลัว มีการกดดันจากหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่โรงเรียน

“หยุดนะ อย่าทำนะ มันเสียชื่อเสียง เราเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลง อยากปกป้องและเรียกร้องสิทธิของเรา แต่ทำไมไม่มีใครมาช่วยเรา”

เธอเรียกร้องว่าหน่วยงานและองค์กรที่ดูแลตรงนี้ควรออกมาได้แล้ว “ทำไมเวลาเจอภัยคุกคามพวกเราจึงคิดถึงกันเอง แทนที่จะคิดถึงยูนิเซฟ หรือรัฐบาล”

นักเรียน = ประชาชน
นักเรียน “ไม่เท่ากับ” ภัยคุกคามของรัฐ

ไผ่-ณพร สมศักดิ์ แนวร่วมนักเรียนล้านนา ซึ่งเคยจัด “ม็อบก้านกล้วย” และถูกคุกคามข่มขู่จากโรงเรียนบอกว่า การแสดงออกทางความคิด การเมือง หรือแม้แต่ระบบการศึกษาของนักเรียนและเยาวชน เป็นสิ่งที่ทำได้ และไม่สมควรถูกมองว่าเป็นเหมือนบุคคลที่เป็นภัยต่อรัฐ การถูกคุกคามจากการตำรวจถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวเด็ก

“นักเรียน 17 คน ในภาคเหนือถูกติด Black List ทำไมการที่นักเรียนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่สมควรได้รับอยู่แล้ว ทำไมเราถึงกลับกลายเป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ”

นอกจากมีข้อเสนอว่าอยากให้นักเรียนรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อมีอำนาจต่อรอง ไผ่มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้เด็กมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขและถูกคุกคามอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้

องค์กรดูแลเด็กอยู่ที่ไหน ?

“กฎหมายระหว่างประเทศและองค์กรอย่าง UNICEF ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปกป้องสิทธิเด็กเหล่านี้หรือยัง สังคมต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามเพื่อให้องค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงมีความรับผิดชอบต่อเด็ก ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง” คำพูดของ ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คณะก้าวหน้า ที่ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและนักเรียนออกทำหน้าที่อย่างชัดเจนในสถานการณ์แบบนี้

ครูจุ๊ยหยิบกฎกระทรวง และอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ไทยเป็นภาคีอยู่ พร้อมระบุว่าในอนุสัญญาข้อ 13-15 เด็กมีสิทธิแสดงออกทางความคิดเห็นซึ่งเป็นเสรีภาพอันพึงกระทำได้ และเด็กสามารถรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมอย่างสันติได้ เราเห็นว่าการทำกิจกรรมที่ผ่านมา เช่น การผูกโบว์ขาวในโรงเรียน ชัดเจนว่าเป็นการรวมตัวแสดงสัญลักษณ์ที่เป็นสันติอย่างชัดเจนแต่กลับโดนคุกคาม

“หน้าที่หลักอย่างชัดเจนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต้องกระตุ้นเตือนว่ามาตรการที่ทำอยู่เพียงพอหรือยัง หรือจะต้องยกระดับมาตรการมากไปกว่านี้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

ขณะที่กฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาที่อ้างอิงมาจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุว่าพฤติกรรมที่นักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ปฏิบัติ ซึ่งพฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย เช่น เล่นการพนัน พกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ แต่ในข้อ 6 กลับเปิดโอกาสให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐตีความได้กว้างขวาง ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งยังพบว่ากิจกรรมชูสามนิ้ว ผูกโบขาวของนักเรียนก็ถูกลงโทษเกินกรอบที่กระทรวงกำหนด

รัฐชาติ-นานาชาติ ใครช่วยเยาวชนเหล่านี้

บี-ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International บอกว่า กระบวนการของสหประชาติควรใช้ในสถานการณ์นี้ และเคยได้ได้ผลมาแล้วเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติต่อเพื่อนหญิง แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง หรือสิทธิพลเมืองจะเป็นเรื่องยาก มีความยากอยู่ในนั้น เพราะมันไม่ใช่แค่กลไกของสหประชาชาติที่ไม่ได้ปรับตัวกับประเทศไทย แต่สำหรับองค์กรด้านเด็กในไทยประมาณ 300 แห่ง

“เราคุ้นกับการทำงานปกป้องสิทธิของเด็ก แต่ไม่ได้ปกป้องเด็กที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง”

พลวัตของสังคมไทย เป็นอีกปัจจัยที่ว่าหากยังไม่เข้มแข็งพอ กลไกสหประชาชาติเองจะไม่ได้ถูกใช้อย่างหนักหน่วง กลไกสหประชาชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยมีประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริง ๆ  และไม่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ปรานมไม่ได้บอกว่า กลไกสหประชาชาติจะทำได้หมด และแก้ปัญหาได้ เพียงแต่ว่ามันมีข้อเรียกร้องบางอย่าง อย่างน้อยยูนิเซฟต้องทำให้แน่ใจว่าการคุกคามและละเมิดสิทธิเด็กจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเชิญตัวแทนเด็กเข้าไปพบแล้ว วันนี้ก็ถือว่ามาติดตามความคืบหน้า เพราะสถานการณ์หลังจากนั้นถือว่าแย่ลง

นอกจากนี้ บางครั้งเราอาจเห็นการกดดันจากองค์กรนานาชาติในประเด็นอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ เมื่อไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ระดับต่ำลงรํฐไทยก็มีการตอบสนองทันที ส่วนหนึ่งมาเพราะว่ารัฐบาลได้รับเงินบริจาคจำนวนมากเพื่อยุติการค้ามนุษย์จากต่างชาติ ก็ทำให้รีบเข้าไปแก้ปัญหา แต่เรื่องสิทธิพลเมืองรัฐไม่ได้เงินตรงนี้

“จริง ๆ เรามีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง พม.ต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ในการจัดที่ปลอดภัยให้น้อง ๆ เราเห็นมีโครงการบางอย่างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปทำให้น้องๆ เชื่อใจ และมั่นใจ เขาก็เลยใช้กลไกช่วยเหลือกันเอง เราต้องสนับสนุนการมีอยู่ของพวกเขา และพม.ควรไปพบตำรวจ หรือทหารที่เข้าไปคุกคามเด็ก”

ตอนนี้อาจทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้นที่กลไลดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ค่อย ๆ เลือนลางไป เมื่อวันนี้การเรียกร้องสิทธิมีรัฐเป็นคู่ขัดแย้ง และหน่วยงานที่ต้องดูแลเด็กก็อยู่ใต้โครงสร้างนี้จะทำอย่างไร?

“จริง ๆ แล้วรัฐไม่ควรเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนอย่างนี้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่คุ้มครองน้อง ๆ อันที่จริงขอเรียกร้องของน้อง ๆ คือถ้าทำไม่ได้ก็ออกไป ตัว พม.เองก็ต้องพิจารณาเช่นกันว่าถ้าไม่สามารถทำได้ก็ลาออกเหมือนกัน แล้วให้คนที่มีความสามารถทำได้ตามหน้าที่ ตามนโยบายมาทำแทน เพราะการทำหน้าที่ขั้วตรงข้าม ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายบอกให้เขาทำ”

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
ทุกแรงฟาดที่พ่อลงมือ บ้านก็ไม่เหมือนเดิม…พื้นที่ปลอดภัยอยู่ตรงไหนของสังคมที่บิดเบี้ยว
ห้องเรียนของ“หน้าที่” แต่ไม่มี “สิทธิ” ของพลเมือง
เพราะเราต่างมีส่วนสร้างพลเมือง ประชาธิปไตยจะไม่ใช่แค่วิชาสังคม
เด็กสมัยนี้…ผูกโบขาว-ชูสามนิ้ว เมื่อห้องเรียนประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน
ราคาที่ต้องจ่ายของนศ.ประชาธิปไตยในสามจังหวัดชายแดนใต้
‘นักเรียนเลว’ ผลผลิตของโรงฝึกประชากรเชื่อง
โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่ 2 แม่หนูไม่เคยไล่ออกจากบ้านนะคะครู