'นักเรียนเลว' ผลผลิตของโรงฝึกประชากรเชื่อง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ความปกติที่บิดเบี้ยวอย่างหนึ่งของโรงเรียนไทย คือ การใช้อำนาจลงโทษเด็กที่ผิดระเบียบทรงผมด้วยการประจาน ทำให้อาย ฝากรอยไถ ตัด กล้อนบนศรีษะที่คนไทยเรียกว่าของสูง

กลุ่มนักเรียนผู้ไม่ยินดีกับบทลงโทษที่มีมานานจนกลายเป็นธรรมเนียมปกติของโรงเรียน เรียกร้อง ตั้งคำถาม และต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นความปกติใหม่ของการเคารพเนื้อตัวร่างกายเด็ก Decode ชวน “กลุ่มนักเรียนเลว” พูดคุยถึงมุมมองต่อระบบการศึกษาไทยและสิทธิขั้นพื้นฐานในร่างกาย ภายใต้กรอบระเบียบวินัยที่ผู้ใหญ่นิยาม

นักเรียนเลวเกิดจากการรวมตัวของนักเรียนต่างสถาบันที่รักกิจกรรม เปิดตัวด้วยกิจกรรมบังคับเป็นกระแสดังในโซเชียลจากกิจกรรมแขวนป้ายอนุญาตให้คนทั่วไปตัดผมที่ลานสกายวอร์ค หลังประกาศเปลี่ยนแปลงเรื่องทรงผมจากกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ และมอบอำนาจให้โรงเรียนปรับหรือไม่ก็ได้ตามกฎใหม่ที่ประกาศ หลังจากมีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร นักเรียนเลวทราบรายละเอียดและช่องว่างที่เปลี่ยนแปลง แต่มีความกำกวมที่อาจเป็นช่องว่างให้การลงโทษตัดผมในนักเรียนคงอยู่  หากแต่เปิดเผยไม่ได้ด้วยเงื่อนไขทางราชการ กิจกรรมตัดผมลานสกายวอร์คจึงเกิดขึ้น เพื่อเรียกกระแสให้ผู้ใหญ่ออกมารับฟังเสียงที่แท้จริงของนักเรียน

“ถ้าอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงออกมาเคลื่อนไหว ก็ต้องทำให้มันดัง” สมาชิกในองค์ประชุมท่านหนึ่งบอกกับเด็กๆ

เราถามพวกเขาว่าก่อนมาขับเคลื่อนเรื่องการตัดผม นักเรียนเลวมีประสบการณ์หรือปูมหลังฝังใจอะไร

บอส นิยามตัวเองเป็นนักเรียนเชื่องในระบบมาตลอดก่อนย้ายสายไปเรียนปวช. 1 ปี หลังจบมัธยมต้น บอสบอกว่าที่นั่นไม่มีใครบ้าจี้เรื่องทรงผม อยากตัดหรือทำอะไรก็ตามใจนักเรียนเพียงแค่เรียนให้ได้ตามเงื่อนไขของสถานะนักเรียน เขารู้สึกสนุกกับการเรียน การได้ลองทรงผมใหม่ๆ ให้กับภาพลักษณ์และตัวตน อีกด้านหนึ่งคือ การมีอิสระในการจัดการเส้นผมบนศีรษะ ออกแบบทดลองเรียนรู้กับความเป็นตัวตนของตัวเองในช่วงวัยสิบสี่สิบห้าปี

“เรารู้สึกว่ามันเป็นภาพลักษณ์ของตัวเขา เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าเจ้าตัวควรได้มีสิทธิกำหนดภาพลักษณ์ของเขา พอเรากลับเข้าไปเรียนสายสามัญ เรารู้สึกว่าเราต้องกลับไปสู่ระบบเดิมอีกแล้วเหรอ เราก็เลยเริ่มรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง” 

พลอย สมาชิกอีกคนที่อาสานั่งมัดมือปิดปาก และแขวนป้ายให้คนตัดผมที่ลายสกายวอล์ค เริ่มตั้งคำถามถึงความแตกต่างของทรงผมในรั้วรร.เอกชนที่จบมาจากวัยประถม อิสระในการเลือกทรงผมส่งเสริมความมั่นใจ ความกล้าแสดงออกและความเป็นตัวตนของเธอมาตลอด และตัวตนถูกลดทอนตัดหายไปพร้อมกับการกฎการตัดผมเหนือติ่งหูตามระเบียบของโรงเรียนรัฐบาลเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยม

“ทำไมโรงเรียนที่เราจบมาไม่บังคับ (ทรงผม) และทำไม รร.นี้บังคับ เราตั้งคำถามมาเรื่อย ๆ และผมที่ถูกตัดไปก็ทำให้ตัวตนของเราลดลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้โรงเรียนทำให้เราเป็นคนเชื่องๆ แต่ไม่เชื่องขนาดนั้นเรากำลังต่อต้านอยู่”

นิ้ง อดีตนักเรียนดีจดชื่อเพื่อนผิดกฎส่งครู สมาชิกนักเรียนเลวคนสุดท้ายที่คุยกับเราเล่าว่าเรื่องของเธอคล้ายกับพลอย เป็นนักเรียนเอกชนที่เข้าสู่ รร.รัฐบาลทำตามกฎตัดผมเหนือติ่ง กำหนดทรงผมเดียวกันไม่เลือกปฏิบัติต่อความแตกต่างทางสภาพผมและตัวตนของนักเรียน ตอนขึ้นม.ต้นเพื่อนของนิ้งเข้ารร.เดียวกับเธอ เพื่อนคนนั้นผมหยิกหลังตัดผมเธอร้องไห้หายหน้าไปจากเพื่อนโดยให้เหตุผลว่าอาย

“ตอนนั้นเรายังไม่ตื่นรู้ มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ  มองเพื่อนไม่ดี ตอนนั้นเรายังเชื่อง ๆ ในระบบอยู่ เราเป็นหัวหน้าห้อง เจอเพื่อนไม่ตัดผมก็จดชื่อเพื่อนไปฟ้องครู มีปัญหากับเพื่อนเพราะเขาไม่ยอมตัดผม เราก็ทำตามกฎมาเรื่อย ๆ พอ ม.2 เราเล่นทวิตเตอร์เห็นข่าว เห็นอะไรมากขึ้น เราก็เลยฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราอยู่ในระบบอะไร ใช่ ผมมันไม่เกี่ยวกับการเรียนและการไม่ตัดผมตามกฎก็ไม่ได้ทำให้เป็นคนแย่

พลอยเล่าว่า การนั่งเป็นวัตถุจำลองสภาพการเป็นนักเรียนในรั้วสถานศึกษาให้คนทั่วไปตัดผมพบว่าคนส่วนใหญ่ในวันนั้นมีท่าทีไม่เห็นด้วย เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ผู้ใหญ่บางคนบอกเธอว่าให้ออกจากโรงเรียนนั้นซะ บางคนเรียกตำรวจมาช่วยเหลือ หลายคนประนามการกระทำจากครูและโรงเรียนที่บังคับเธอ เหตุการณ์จำลองนั้นทำให้เห็นว่าการตัดผมเด็กโดยไม่ยินยอมเป็นเรื่องผิดปกติในโลกภายนอก น่าตั้งคำถามว่าทำไมความผิดปกตินี้ถึงกลายเป็นเรื่องถูกต้องเมื่อเกิดขึ้นภายในรั้วโรงเรียนอันเป็นเขตเฉพาะของอำนาจซ่อนเร้นระหว่างครู นักเรียน เกรด และอนาคตของเด็กในอำนาจครูผู้อยู่ในระบบที่มอบอำนาจการตัดสิน ลงโทษนั้นโดยชอบธรรม

“รร.เราทำตามกฎกระทรวงทุกอย่าง ถ้ามีใครไม่พอใจก็ออกไปเรียนโรงเรียนอื่น รร.เอกชนไม่บังคับมันเป็นสิทธิของนร.” เสียงครูพูดหน้าเสาธงโรงเรียนที่พลอยอยู่ในวันรุ่งขึ้น แม้เธอจะปกปิดตัวตน ชื่อสถาบัน แต่ครูคนนั้นรู้ว่า เด็กคนนั้นคือพลอย

“เหมือนครูกำลังบอกเราว่าถ้าเรารวยก็เอาเงินไปซื้อสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นสิ จะได้ไม่ต้องถูกตัดผมเหมือนรร.รัฐบาล น่าตั้งคำถามว่าแม้แต่ Basic Human Right ในประเทศนี้ถ้าคุณจนก็ไม่มีเงินซื้อสิทธิพื้นฐานนั้นได้ และกลายเป็นความชอบธรรมยินยอมในอำนาจผิดๆ นั้น” พลอยกล่าว

โรงเรียน คือ โรงฝึกประชากรเชื่อง

วินัยไม่ใช่เผด็จการ แต่คือรากฐานของความมีระเบียบ คำท่องที่นักเรียนเลวจำได้โดยไม่รู้ที่มาของคตินี้ ไม่แน่ใจว่ามาจากค่ายลูกเสือ จากบทเรียน หรือจากที่ไหน แต่แน่ใจว่าทุกคนจำได้ โดยไม่รู้ตัวว่าที่ผ่านมาไม่เคยตั้งคำถามกับวินัยและนัยยะของเผด็จการในคำท่องนั้น

“เขาอยากให้เราเชื่อง เป็นนักเรียนเชื่องในโรงเรียน เพื่อเป็นประชากรที่เชื่องในระบบ โดยไม่ตั้งคำถาม เด็กดีต้องเรียนเก่ง ถ้าผมเป็นเด็กโง่คือผมเป็นเด็กไม่ดีเหรอ”

ครูบางส่วนหรือส่วนใหญ่ใช้อำนาจกับเด็ก จะตีหรือทำอะไรกับเด็กก็ได้ เพราะมองว่าเราเป็นเด็ก ไม่ใช่มองในฐานะมนุษย์คนนึง โลกภายนอกเราอยู่ร่วมกันแบบมนุษย์กับมนุษย์ไม่ใช่เด็กกับครู บอสกล่าว

นอกจากเรื่องทรงผมนักเรียนเลวตั้งคำถามกับกฎบังคับซื้ออุปกรณ์แต่งกายของนักเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง งบประมาณเหล่านั้นตกไปอยู่ที่ใคร นอกจากค่าเทอม ชุดนักเรียนที่ต้องซื้อใหม่เกือบทุกปี ยังมีค่าอุปกรณ์บังคับซื้อ

“ไม่สวยแล้วยังไม่ Function อีก ราคาแพง แต่ใช้การไม่ได้ ทำไมเราถึงจะซื้อยี่ห้อที่ดีกว่ามาใช้ไม่ได้ นอกจากดูมีระเบียบแล้วรายได้นี้เข้ากระเป๋าใคร และทำไมต้องบังคับ” 

ทุกปีต้องซื้อชุดอุปกรณ์การเรียนใหม่ กระเป๋า เสื้อ โบว์ ชุดพละ ล้วนแต่ราคาแพงและคุณภาพสินค้าแปกผผันกับราคา เงินเหล่านั้นอยู่ที่ไหน นอกจากค่าเทอมแล้ว รร.ยังมีรายได้จากการบังคับซื้อสินค้าประกอบชีวิตการเป็นนักเรียนอีก เงินเหล่านี้ตกไปอยู่ในกระเป๋าใคร ครู ผู้บริหาร หรือใคร ทำไมนักเรียนและผู้ปกครองต้องแบกรับทั้งๆ ที่ไม่ยินยอมและไม่ยินดีในสินค้าที่ต้องซื้อขาย เหตุผลคือระเบียบวินัย หรือการศึกษาเชิงพานิชย์ที่แฝงมากับระเบียบวินัย แบกรับโดยเด็กและผู้ปกครอง

โดนจ้างไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง และอีกสารพัดมายาคติของผู้ใหญ่

นิ้งกล่าวด้วยน้ำเสียงคับข้องใจต่อการยอมรับฟังจากผู้ใหญ่เรื่องสิทธิและเสรีภาพว่า “วัฒนธรรมของครอบครัวประเทศเราต้องเคารพ อะไรหลายๆอย่างที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็น ไม่ให้ค่ากับความคิดของเด็ก เขาก็เลยคิดว่าเราเป็นเด็ก เป็นแค่เด็กที่ต้องเชื่องฟังคำสั่งผู้ใหญ่ ซึ่งการกระทำของเราในมุมของเขา ดูเหมือนเราโดนจูงจมูก เราโดนจ้างไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร ซึ่งมันไม่ใช่ มันเกิดขึ้นจากหัวสมองของเรา”

บอส: ในอีกแง่นึงของการไปบอกว่าเด็กถูกจูงจมูกจากอีกฝั่งนึง มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้เชื่อมั่นในความคิดเด็ก เขาไม่ได้ให้ค่า เขาคิดว่าสิ่งนี้มันจะออกมาจากเด็กไม่ได้หรอก จะต้องมีผู้ใหญ่หนุนหลังอยู่ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนี้เมืองนี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความคิดเด็กมากนัก ไม่ได้ให้ค่ากับความคิดของคนตัวเล็กๆ ที่ด้อยอาวุโสกว่า

นิ้ง: แล้วมันก็สะท้อนไปถึงว่า เขาเติบโตมาในสังคมที่เด็กไม่เคยมีความคิดเห็นเลย ตัวเขาเองตอนเด็กก็ไม่เคยได้มีปากมีเสียงอะไร เติบโตมาในกิจกรรมทางการเมืองที่จะมีผู้หนุนหลังอยู่เสมอ มีการเล่นสกปรกเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนทำให้เขาคิดว่าการที่เราออกมาทำมันคือ การเล่นสกปรกเหมือนที่เขาเคยเห็น ๆ มา ซึ่งความจริงมันไม่ใช่

พลอยเสริมย้ำความคิดทุกคนว่าเหมือนผู้ใหญ่เขาโตมาแบบนี้ และเขาคิดว่ารุ่นเรามันก็โตมาแบบเขาเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนแล้ว

มันเป็นระเบียบวินัย เขาทำกันมาก็ทำไปสิ หนึ่งในคำอธิบายที่ผู้ใหญ่บอก

นักเรียนเลวนิยามคำว่าระเบียบวินัยว่าคือการปฏิบัติตามกฎที่สมเหตุสมผล ทำตนไม่ละเมิดหรือเดือดร้อนคนอื่น และการรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ของตนในนามนักเรียน เช่น ส่งงานตามกำหนด เคารพกฎจราจร ไม่ใช่การลุกนั่งพร้อมกัน หรือทำตามอย่างพร้อมเพรียงตามนิยามความมีวินัยที่โรงเรียนพร่ำสอน

“เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าระเบียบวินัยจริงๆ คืออะไร วินัยที่เขาสอนกันในรร.คือ การทำอะไรพร้อมกัน การเหมือนกันเท่านั้นถึงจะดี ไม่ใช่สิ มันคือการส่งงานตรงเวลา ทำตามกฎหมาย ข้ามถนนตรงทางม้าลายอะไรแบบนี้”

การฟังเด็ก ให้ค่าเด็กในฐานะมนุษย์คนนึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำไม่ใช่เหรอเคารพกัน คุยกันถ้าไม่เห็นด้วยก็ทำความเข้าใจ ท้ายที่สุดยังไม่เข้าใจ ก็เคารพกันก็พอ เพราะความคิดเด็กแทบไม่มีน้ำหนักเลย หนึ่งในนักเรียนเลวฝากบอกผู้ใหญ่ผู้เกิดก่อนทั้งหลายว่าพวกเขาต้องการการเปิดใจรับฟังเหตุผล พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์พูดคุยกับจิตแพทย์ที่ ไม่ตัดสิน พยายามทำความเข้าใจและเคารพความเห็นของเขาในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่เด็กที่ด้อยอำนาจกว่า

Decode ชวน พญ.เบญจพร ตันตสูติ  จิตแพทย์ และเจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขาร่วมพูดคุยแนวทางการสื่อสาร ความคับข้องใจ และตัวตนที่ถูกทำลายเมื่อเด็กอายจากการถูกกล้อนผม 

การลงโทษแบบนี้จะส่งผลถึงมุมมองของเด็กที่มีต่อตัวเอง เด็กจะรู้สึกแย่ รู้สึกอับอาย รู้สึกว่าตัวเองถูกลดทอนคุณค่าไป ถ้าเกิดไม่มีใครเข้าใจ หรือช่วยพวกเขา เพราะเรือนร่างก็เหมือนตัวตนอย่างนึง ถ้าเกิดเด็กรู้สึกว่าตัวตนของฉันมันไม่ใช่ของฉัน และฉันไม่ต้องรับผิดชอบมันก็ได้

“ร่างกายของฉันมันดูไม่มีคุณค่าเลย มันถูกควบคุมจัดการโดยคนอื่น ฉันไม่มีความสามารถที่จะจัดการร่างกายของฉันได้ รู้สึกขาดพละกำลัง อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องมุมมองที่มีต่อตัวเอง รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า อาจจะเป็นซึมเศร้า อาจจะมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี ความมั่นใจในตัวเอง และความกล้าหาญหายไป”

ความกล้าหาญที่หายไปกับร่างกายที่ไร้อำนาจควบคุม

พญ.เบญจพรกล่าวว่าปัจจัยที่มีผลต่อความรู้สึกและสภาวะดังกล่าวคือเรื่องช่วงวัย ประสบการณ์และบุคลิกภาพดั้งเดิมของเด็ก  เมื่อเด็กรู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเกิดกับเด็กที่มีประสบการณ์แย่จากการใช้อำนาจของผู้ใหญ่จะยิ่งทำให้มุมมองต่อโลกภายนอกของเด็กแย่ลง แต่ในเด็กที่มีพื้นฐานเรื่องของความเข้มแข็งทางใจ อาจจะไม่เป็นอะไรหรือมีผลกระทบน้อย

ปัจจัยเรื่องช่วงวัยมีผลมากในช่วงวัยรุ่นที่ยึดโยงกับภาพลักษณ์ มุมมองจากเพื่อน อยากให้เพื่อนยอมรับ ซึ่งเป็นพัฒนาการทั่วไปของวัยรุ่น เมื่อเด็กถูกลงโทษตัดผม ดูแย่มาก เด็กก็อับอายมาก และมีผลกับเขามากด้วย

การทำให้เด็ก​รู้สึกไม่มีอำนาจในเรือนร่างของตัวเอง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต​เป็นผู้ใหญ่​อย่างไรบ้าง

การสื่อสารคือสิ่งสำคัญว่าทำให้เด็กรู้สึกไม่มีอำนาจในเรือนร่างของตัวเองขนาดนั้นไหม บางครั้งผู้ใหญ่อาจไม่อยากถืออำนาจทางร่างกาย แต่เป็นกฎที่ต้องทำตาม การสื่อสารให้เด็กเข้าใจเหตุผลดีกว่าการไปบอกเด็กว่า อันนี้ยังไงเธอก็ต้องทำตามนะ แต่ควรบอกเขาว่าการทำตามกฎเกณฑ์มีประโยชน์ต่อเขายังไงบ้าง ความใจเย็นคือกุญแจสำคัญในการสื่อสาร

วิธีการปลูกฝังวินัยในเด็กควรหลีกเลี่ยงการสื่อสารด้วยอารมณ์ลบ และความรุนแรง เพราะจะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อคนที่ให้วินัย เกิดความต่อต้านและยิ่งทำให้เด็กไม่เชื่อ

วินัยมีข้อดีคือทำให้คนๆนึงความคุมการกระทำของตัวเองได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอยากทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่เราสามารถควบคุมตัวเองได้พราะได้รับการปลูกฝังเรื่องการมีวินัย

ทำไมเด็กนักเรียนในยุคนี้ถึงเริ่มออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยน​แปลงกฎระเบียบ​เดิม นักเรียนสมัยนี้ต่างกับนักเรียนรุ่นพ่อแม่อย่างไร

คนในยุคก่อนตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น เขาก็อาจจะมีความคิดเหมือนเด็กสมัยนี้ แต่เขาถูกจำกัดอยู่ในตัวตน ตัวเอง หรือกลุ่มเพื่อน ความคิดไม่ได้กระจายออกมาสู่คนนอก เหมือนยุคที่มีอินเทอเน็ต พอเขาพูดไปแล้วมีคนที่รู้สึกและคิดเหมือนกันเลยเข้าไปโพสต์ เริ่มกล้าที่จะออกเสียงของตัวเอง เริ่มเกิดเครือข่ายเป็น Social Network เกิดความเชื่อมโยงทางสังคม ทำให้ความรู้สึกข้างในออกมามากขึ้นและกล้าพูดออกมามากขึ้น คุณหมอกล่าว

เมื่อเกิดความเห็นต่างที่ต้องการเปลี่ยนแปลง​ ควรสื่อสาร​กันอย่างไรเพื่อยอมรับความแตกต่างนี้ ความเห็น​ของเด็​กในสังคมนี้ถูกทำให้เป็น​เพียง ‘เสียงของเด็​ก’ ไม่ใช่ความคิดเห็น​ในฐานะมนุษย์​คนนึง

“หมอคิดว่าอาจจะต้องฟังและกันมากขึ้น ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์ น่าจะมีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กๆ เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ถ้าอยากให้เด็กรับฟังก็คงต้องฟังเขาก่อน หมอไม่ได้คิดว่าเหตุผลของเด็กแย่กว่าผู้ใหญ่ เราจะมองเหมารวมแบบนั้นไม่ได้ และไม่แน่ใจว่าพวกผู้ใหญ่ที่เด็กเขาพูดกันจะเป็นใคร แต่ก็หวังว่ามันจะไม่ใช่ทั้งหมด” คุณหมอกล่าว

ถ้าผู้ใหญ่ที่ได้คุยกับเด็ก ๆ หมอก็อยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งไปตั้งแง่กับเด็กว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้องอะไรมากมายจัง หมอคิดว่าเป็นสังคมที่เด็กยุคนี้มีความรู้ มีข้อมูลต่างๆมากมาย แต่แน่นอนว่าข้อมูลความรู้มันก็หลากหลาย

“ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ที่อยากมอบประโยชน์ให้เขา เราก็ต้องคุยกับเขาให้เขาฟังเรา ไม่ใช่แค่พูดให้เขาเชื่อ บังคับให้เขาทำ”

ความเป็นเด็กถูกมองเป็นเพียงเสียงของสถานะที่ด้อยอาวุโสไม่ใช่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แนวคิดนี้หมอมองว่ามันเป็นแค่อคติว่าเขาเป็นเด็ก เขามีประสบการณ์น้อยกว่าเรา มีความรู้น้อยกว่าเรา บางทีมันก็อาจจะไม่ใช่ เด็กบางคนบางทีเขาอาจจะอายุน้อยกว่า แต่เขาอาจจะเจออะไรต่าง ๆ ประสบการณ์ที่หลากหลายกว่าเราก็ได้ เพราะแต่ละคนก็มีชีวิตที่หลากหลายเราไม่ควรไปตัดสินว่า เพราะเขาเป็นเด็ก เพราะเขาเรียนน้อยกว่าเรา เพราะเขาไม่ได้เก่งเท่าเรา

เราต้องฟังก่อนแล้วค่อยบอก ค่อยพูดกัน บางเรื่องมันก็ไม่ได้มีถูกผิด 100 %  บางทีมันอาจจะเป็นแค่ความเห็น การตั้งแง่ว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ มันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

“หมอคิดว่าเรื่องอคติมันไม่ได้เป็นเฉพาะผู้ใหญ่ เพราะบางทีเราก็เห็นเด็ก ๆ ก็อาจจะมี เขาพูดว่าเนี่ยมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง

ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ หมอว่า เราก็ควรทำให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่างก่อน อย่าไปคาดหวังว่าเด็กเขาจะเป็นอะไรยังไงเลย ถ้าตราบใดที่เรายังทำไม่ได้”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือให้ทุกโรงเรียนยกเลิกออกกฎทรงผมตามดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนกล่าวคือยกเลิกการให้อำนาจโรงเรียนออกกฎทรงผมเอง  โดยยึดตามประกาศกระทรวงที่ประกาศให้นักเรียนชายไว้ผมยาวไม่เกินตีนผม และนักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้ โดยมัดรวบให้เรียบร้อย ซึ่งน่าตั้งคำถามต่อการออกกฎบนพื้นฐานการแสดงออกของสองเพศเพียงชายและหญิง พื้นที่ของความหลากหลายทางเพศถูกจัดไว้ใส่กล่องของนักเรียนชาย นักเรียนหญิงเท่านั้น

การกำหนดกฎระเบียบเรือนร่างและการแต่งกายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ง่ายต่อการควบคุมตัวตนของบุคคล การไม่สมยอม เรียกร้องให้ได้มาซึ่งเสรีภาพพื้นฐานนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เสียงของเด็กได้รับการรับฟัง ในช่วงเวลาแห่งการตื่นรู้ ผูกโบว์ขาว และชูสามนิ้ว