เพราะเราต่างมีส่วนสร้างพลเมือง ประชาธิปไตยจะไม่ใช่แค่วิชาสังคม - Decode
Reading Time: 2 minutes

Decode สรุปความจากวงเสวนา ‘พลเมืองประชาธิปไตยและพลังขับเคลื่อนสังคมของเยาวชน (Democratic Citizens and Civic Engagement of the Youth)’ ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education Foundation ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

สำหรับ ช่วงที่ 2 นิเวศการเรียนรู้ความเป็นพลเมือง เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองจากสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อ สถาบันการเมือง เป็นต้น เพราะเราต่างเชื่อว่าทุกสถาบันล้วนมีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของสังคม

สถาบันครอบครัว 

ดร. วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอพักจากบทบาทนักวิชาการชั่วคราวและขอมาแชร์ประสบการณ์ในฐานะคุณแม่ โดยเธอยอมรับว่าการจะสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สาเหตุก็มาจากการที่พ่อแม่มีอำนาจอยู่ในมือมาโดยตลอดและหลายหนตัวผู้ปกครองเองก็ไม่ได้ทันได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทที่ตัวเองมี 

วัชรฤทัยขยายความในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า สถาบันครอบครัวถือเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลที่สุดในการสร้างคนขึ้นมาเนื่องจากเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับตัวบุคคลนั้นมากที่สุด ทุกคำพูดและทุกการกระทำของพ่อแม่มีส่วนในการหล่อหลอมลูกขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาพ่อแม่อาจจะคิดเพียงแค่ว่าอยากเลี้ยงดูให้ลูกเติบโตเป็นคนดีและหวังว่าเขาจะมีอนาคตที่ดี แต่อาจจะลืมคิดไปถึงการเลี้ยงลูกเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมือง ฉะนั้นเธอมองว่าหัวใจสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองสำหรับสถาบันครอบครัว คือ มิติการเรียนรู้ของพ่อแม่ 

เพื่อจะสร้างพลเมืองให้แก่สังคม พ่อแม่จำเป็นต้องกลับมาเรียนรู้ตัวเอง โดยวัชรฤทัยได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 หมวดด้วยกันคือ  Head ความเข้าใจ, Hand การปฏิบัติ และ Heart ทัศนคติ 

สำหรับหมวดแรกอย่าง Head เธอกล่าวว่าพ่อแม่จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจลูกเสียใหม่ ต้องมองว่าลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งและมีสิทธิ์เป็นของตัวเอง เพราะลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ นอกจากนี้พ่อแม่ก็ต้องเชื่อว่าลูกมีชุดความคิดเป็นของตัวเองและสามารถแสดงสิ่งที่เขาคิดออกมาได้ โดยวัชรฤทัยมองว่าเพื่อจะเข้าใจในประเด็นนี้อย่างถ่องแท้มากขึ้น พ่อเแม่เองก็ได้เวลาเรียนรู้ไปจนถึงเข้าใจความหมายและการแสดงออกของชุดคุณค่าใหม่อย่างเรื่องประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน 

ด้านหมวดที่สองอย่าง Hand การปฏิบัติ เธอให้ความเห็นว่านอกจากจะเข้าใจความหมาย พ่อแม่จำเป็นต้องเชื่อว่าการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีของตัวลูกเอง เมื่อเชื่อดังนี้พ่อแม่จึงจำเป็นจะต้องเปิดกว้าง รับฟัง และมีพื้นที่สำหรับการถกเถียงแลกเปลี่ยน ตลอดไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องชีวิตของตัวเขา การเลี้ยงดูในรูปแบบนี้ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเสียงของเขามีคุณค่าและได้รับการรับฟัง 

ในส่วนหมวดสุดท้ายอย่าง Heart ทัศนคติ วัชรฤทัยกล่าวโดยสรุปว่า พ่อแม่ต้องไม่มองว่าการเลี้ยงลูกคือภาระ แต่ควรจะมองว่าลูกคือความรับผิดชอบเชิงศีลธรรม ถือได้ว่าสิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้เติบโตกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพนั่นเอง 

วัชรฤทัยทิ้งท้ายไว้ว่า เผด็จการในบ้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด พ่อแม่จำเป็นต้องไวต่อความเป็นอำนาจนิยมที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเอง เพราะถ้าพ่อแม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม พ่อแม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะเธอยืนยันว่าสถาบันครอบครัวไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้อีกต่อไป ถึงเวลาที่พ่อแม่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองและพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อใช้ชีวิตกับสังคมปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นชุดทักษะที่จำเป็นต่อพ่อแม่ในทศวรรษนี้  

สถาบันการศึกษา

ฮัมดาน อ่อนหวาน ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ให้ความเห็นว่า หลักคิดในการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในห้องเรียนมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ กระบวนการหลักสูตร, กระบวนการจัดการเรียนการสอน และ การวัดผล ซึ่งในแต่ละประเด็นก็มีปัญหาที่พบเจอต่างกัน 

สำหรับประเด็นแรก กระบวนการหลักสูตร  ฮันดามมองว่าปัจจุบันแบบเรียนในโรงเรียนยังเป็นแบบเรียนที่ยึดถือชุดคุณค่าเดิม เช่น ผู้ชายจำเป็นต้องมีความเป็นผู้นำ หรือ ผู้หญิงต้องคู่กับการทำงานบ้าน แบบเรียนดังกล่าวไม่ตอบโจทย์กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ตัวแบบเรียนไม่ได้เอื้อมาให้เด็กสามารถคิดได้อย่างแตกต่างหลากหลาย มีเพียงวิชาในสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถพลิกแพลงและตั้งคำถามกับสิ่งที่ครูสอน แต่หากเป็นในมุมวิชาสายสังคมโดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมือง การตั้งคำถามของเด็กกลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เชื่อฟังครูอาจารย์ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย 

จากประเด็นแรกส่งผลมายังประเด็นที่สองอย่างกระบวนการจัดการเรียนการสอน ฮัมดามยอมรับว่ายังมีครูอีกหลายคนที่ยังคงยึดติดกับการเรียนการสอนแบบเดิมและไม่สามารถปรับการสอนให้ทันต่อยุคสมัย โดยการยึดติดนี้มีผลมาจากความเชื่อที่ว่าที่ผ่านมาก็เคยสอนแบบนี้จนเด็กได้ดี ฉะนั้นการสอนในวันนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับ เขามองว่า นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข เพราะแนวคิดในรูปแบบนี้ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในห้องเรียน 

นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่กระบวนการประชาธิปไตยจะไม่ได้เป็นหน้าที่แค่ของวิชาสังคม แต่ต้องทำให้กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของนักเรียนทุกคน และในประเด็นสุดท้ายอย่างเรื่องการวัดผล ฮัมดามให้ความเห็นว่าปัจจุบันนักเรียนไทยถูกจำกัดความคิดให้อยู่แค่ในเรื่องที่คุณครูจะสอบ เด็กไม่กล้าที่จะคิดนอกกรอบเพราะกลัวว่าถ้าคิดต่างจะถูกครูมองไม่ดี ฉะนั้นเด็กจึงไม่สามารถคิดได้อย่างแตกต่างหลากหลาย

จากทั้ง 3 ประเด็นที่ว่ามานั้น ฮัมดามได้เสนอแนวทางแก้ไขไว้ว่า ครูจำเป็นต้องเปลี่ยน mindset ตัวเองเสียใหม่และใช้แว่นตาหลายเลนส์ในการมองนักเรียน มองความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นให้เป็นสิ่งสวยงาม และครูจำเป็นต้องเข้าใจว่าห้องเรียนในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียนแต่เป็น ห้องเรียนโลก (Global classroom) แหล่งอำนาจความรู้ทั้งหมดไม่ได้อยู่แค่ที่ครูอีกต่อไปแต่อยู่ในมือนักเรียนด้วยเช่นกัน การเข้าใจเช่นนี้จะส่งผลให้มีการต่อรองอำนาจเกิดขึ้น ตัวเด็กเองก็สามารถเรียนรู้ถึงสิทธิหน้าที่ที่เขาพึงมีพึงได้ผ่านแนวทางนี้ ฮัมดานทิ้งท้ายไว้ว่า หมดเวลาการสอนแบบ top down ถึงเวลาให้นักเรียนได้ bottom up และการ re-design คุณครูจำเป็นต้องมา 

ทางด้าน ผศ.ดร. ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ตลอดมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ไม่ต่างจากครูในโรงเรียน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเองก็ถึงเวลาเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน เพราะเธอค้นพบว่านักศึกษาในปัจจุบันพยายามพาตัวเองไปข้องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่หลากหลายมากขึ้น เขาตั้งคำถามกับปัญหาที่เป็นอยู่และต้องการคำตอบ ฉะนั้นในฐานะอาจารย์ที่เป็นผู้ให้ความรู้จำเป็นต้องพาประเด็นสังคมข้างนอกกลับเข้ามาถกเถียงภายในห้องเรียน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้นั้นเราต้องทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก 

นอกจากนี้ไพลินยังมองต่อไปอีกว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว บริบทแวดล้อมตัวคนรุ่นใหม่เองก็เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กในวันนี้จะต่างจากเมื่อก่อนเพราะเด็กมีความรู้เพิ่มจากการเสพสื่อนอกห้องเรียน ด้วยเหตุนี้เหล่าอาจารย์จำเป็นต้องออกแบบการสอนใหม่ ทลายกำแพงห้องเรียน และจำเป็นต้องเชื่อมโยงประเด็นสาธารณะเข้ากับการเรียนการสอน เพราะนักศึกษาในวันนี้ไม่ได้ต้องการแค่ฟังและจดอีกต่อไป เขาอยากรู้ว่าอาจารย์ที่มาสอนเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นต่างๆ พวกเขาต้องการ coach ไม่ใช่ lecturer ซึ่งไพลินเองก็ยอมรับว่าการปรับในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีเงื่อนไขเป็นของตัวเองแต่เธอเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วพลังการตั้งคำถามของเหล่านักศึกษาที่เกิดขึ้นจากการเสพสื่อที่หลากหลายจะเป็นแรงขับให้ห้องเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะเจอแรงกดดันแค่ไหนก็ตาม 

สถาบันสื่อ  

สำหรับสถาบันสื่อ ทิพากร ไชยประสิทธิ์ content creator จากเว็บไซต์ decode มองว่ามีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกันที่ทำให้สื่อยังไม่สามารถส่งเสริมการสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยแรก คือการที่สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้เต็มกำลังเนื่องจากติดเงื่อนไขบางอย่างที่เข้ามามีส่วนในการกำหนดการทำงานของสื่อ ซึ่งเธอมองว่าการที่สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้นี้มีค่าเท่ากับการไร้เสรีภาพในการแสดงของประชาชน ส่วนปัจจัยที่สอง ทิพากรกล่าวว่าเป็นเรื่องของ ‘การขาดความเชื่อถือ’ ต้องยอมรับความจริงว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่ถือได้ว่า เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสารไปได้ไกลและกว้างกว่าเมื่อเทียบกันกับสื่อออนไลน์ เธอมองว่า นี่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนให้กลับคืนมาสู่สื่อหลักอีกครั้ง 

นอกจากนี้เพื่อให้สถาบันสื่อสามารถกลับมาทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น ทิพากรมองว่าหัวใจสำคัญคือการที่สื่อกลับมาทำหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพ สื่อต้องแสดงออกและนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นอิสระ แน่นอนว่าการจะทำเช่นนี้ได้นั้นต้องอาศัยความกล้าเป็นอย่างมาก แต่เธอคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อต้องปลดแอกตัวเองและตระหนักในหน้าที่ที่มี ทิพากรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าถ้าแม้แต่สื่อยังไม่กล้าที่จะพูด ประชาชนเองก็คงไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงออกแล้วเช่นกัน 

ก่อนจากกันทิพากรทิ้งคำถามใหญ่ให้ได้คิดกันว่า สื่อไทยกำลังติดอยู่กับคำว่าเป็นกลางหรือเปล่า สำหรับเธอมองว่าการเป็นกลางไม่ใช่การไม่ทำอะไรเลย เพราะการนิ่งเฉยย่อมมีค่าเท่ากับการยอมรับและสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ฉะนั้นสื่อจึงนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้และจำเป็นต้องนำเสนอในสิ่งที่เกิดขึ้น นำเสนอข้อมูลของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากวาระแอบแฝงและสื่อต้องฟังเสียงของประชาชนเสมอ 

สถาบันทางการเมือง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ชวนเราย้อนมองประเทศไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา หนึ่งประเด็นที่เขามองเห็นคือความบ้ากฎระเบียบของประเทศไทย วิโรจน์ขยายความเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันสังคมมักจะบอกว่าเด็กมีหน้าที่อะไรบ้าง เด็กต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นเด็กดี แต่ไม่เคยสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิ์อะไร นอกจากนี้ผู้ใหญ่หลายคนในสังคมยังชอบอ้างสิทธิ์เหนือเด็กด้วยคำว่า ‘เหมาะสม’ 

วิโรจน์ยกตัวอย่างกรณี ‘กฎระเบียบทรงผม’ เขากล่าวว่า หากลองไปดูในรายละเอียดจะพบว่าจริง ๆ แล้วทางกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้เด็กนักเรียนสามารถไว้ทรงผมไหนก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนกับเลือกที่จะออกกฎซ้อนกฎ ทำให้ในท้ายที่สุดเหล่านักเรียนก็ต้องกลับไปไว้ผมสั้นเหมือนเดิม ซึ่งสำหรับวิโรจน์แล้วมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและสะท้อนความบ้ากฎระเบียบของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และไม่ใช่แค่กฎระเบียบในโรงเรียน แม้แต่กฎหมายระดับชาติก็ยังเต็มไปด้วยกฎหมายที่ขัดกันเอง

อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการถกกันเรื่องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายกันอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้วิโรจน์ยังได้เสนอแนวทางในการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ 3 ข้อด้วยกัน

ข้อที่หนึ่ง ต้องมีการพูดถึงสิทธิของพลเมืองให้มากขึ้นและคืนความไว้วางใจให้กลับไปสู่ตัวเด็ก  เขาชี้ว่าต้องมีการเปลี่ยนมิติของความเหมาะสม จากเดิมที่อยู่ในแง่ของกฎระเบียบให้มาเป็นอยู่ในแง่ของการไว้วางใจ เขาเสริมว่าผู้ปกครองจำเป็นต้องเชื่อใจและเปิดโอกาสให้เด็กสามารถตัดสินใจได้เองว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม เขาย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ คุณครู ต้องกระจายอำนาจคืนสู่ลูกและนักเรียน 

ข้อที่สอง ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก เขามองว่าวิธีการนี้จะเป็นวิธีที่จะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ วิโรจน์ให้ความเห็นว่าทุกวันนี้สถานการณ์ต่างบีบให้ทุกคนต้องเลือกแต่เราจะเลือกได้อย่างไรหากเรายังมองประเด็นกันคนละแบบและยังขาดเนื้อหาที่จะช่วยเป็นหลักในการตัดสินใจ ฉะนั้นเขาเลยคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น แล้วหลังจากนั้นถึงค่อยให้ประชาชนทุกคนร่วมกันตัดสินใจว่าพวกเราจะเอาอย่างไรต่อไป วิโรจน์เน้นย้ำว่าเราจำเป็นต้องคุยกันให้มากขึ้น 

และในข้อเสนอสุดท้ายวิโรจน์กล่าวเพียงสั้นๆ ปิดท้ายว่า ถึงเวลาที่รัฐจะต้องเลิกโทษประชาชน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและออกแบบนโยบายเพื่อเอาชนะปัญหาต่างๆ หมดยุคที่รัฐจะโยนความผิดทุกอย่างไปให้ประชาชนแล้ว 

ชมคลิป : นิเวศการเรียนรู้ความเป็นพลเมือง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: ห้องเรียนของ“หน้าที่” แต่ไม่มี “สิทธิ” ของพลเมือง