ราคาที่ต้องจ่ายของนศ.ประชาธิปไตยในสามจังหวัดชายแดนใต้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผมถามว่า พี่มาทำไม พี่ตามผมทำไม
นายสั่งมา

นี่คือเหตุผลของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ผมเจอ ตั้งแต่ผมเริ่มทำกิจกรรมแบบนี้

หนึ่งในบทสนทนาระหว่างฉันและฟาห์เรนน์ นักกิจกรรมทางการเมืองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เล่าประสบการณ์เผชิญหน้ากับการถูกติดตาม คุกคาม จากเจ้าที่หน้าที่รัฐให้เหตุผลว่า นายสั่งมา วลีเดียวกันที่นักกิจกรรม และประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศได้ยินจากนายที่สั่งมาผ่านปากผู้ใต้บังคับบัญชาที่บอกกล่าวแก่ผู้ถูกนายสั่ง

ความเคลื่อนไหวของมวลชนที่ยกพลขึ้นบกลงสู่ถนนของชาวทวิตเตอร์เรียกร้องประชาธิปไตย นำโดยกลุ่มชนส่วนใหญ่คือนักเรียน นักศึกษาที่เรียกร้องสังคมที่ดีกว่าจากคำว่า ถ้าการเมืองดี” พวกเขาเหล่านี้ต้องเจอกับหมายเรียกรายงานตัว การเฝ้ารอพบปะและจะพาไปไหนก็มิทราบได้ ตามที่พักทั้งยามวิกาล หรือยามวิเวกที่อยู่คนเดียว และบ่อยครั้งที่ถูกอุ้มพาไปท่ามกลางสายตาประชาชน  คุกคาม อุ้มพา ข้อหา หายตัว คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เรียกร้องและเห็นต่างทางการเมืองต้องเผชิญในปัจจุบันของสังคมไทย

Decode ลงใต้ไปปัตตานี หนึ่งในจังหวัดที่ถูกประกาศใช้กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน มาตลอดกว่า 16 ปี  พูดคุยกับแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ฟาห์เรนน์ นิยมเดชา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง ประธานกรรมาธิการพิทักษ์สิทธิ์ สภานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี และกรรมการกลางสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)

เราชวนฟาห์เรนน์คุยเรื่องการถูกคุมคามของนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชนผู้เห็นต่างในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ฉายภาพใหญ่เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของสังคมไทยตอนนี้

“สิ่งที่คนกรุงเทพฯ กำลังเจอ ณ ทุกวันนี้ คือสิ่งที่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เจอมาตั้งแต่ปี 47 โดนกระทำมานาน และมันไม่ใช่ความรู้สึกใหม่

เวลาพูดถึงการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย การเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกรุงเทพ มันมีคนตายจริงๆ มันมีคนหายจริงๆ มันมีคนต้องพลัดพรากจากครอบครัวจริง ๆ เราต้องพูดให้ชัด ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังปี 48 เป็นต้นมา มันมีคนตาย คนหาย คนต้องพลัดพรากจากครอบครัวไปเยอะมาก”

หนึ่งในบุคคลที่สูญเสียจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัย ในฐานะผู้ถูกซักถามถึงความเกี่ยวข้องคดีความมั่นคงที่ฟาห์เรนน์ร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง คือ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี เสียชีวิตในห้องไอซียู รพ.ปัตตานี จากอาการขาดอาการหายใจเป็นเวลานาน และสมองบวมอย่างรุนแรง  หลังถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2562

ความแตกต่างของรูปแบบการเยี่ยมบ้าน ติดตามผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกรุงเทพฯ คือ เครื่องแบบและอาวุธสงครามเต็มชุดที่เดินเคาะประตูบ้านนักกิจกรรมแทบจะทันทีที่มีการส่งเสียงขับเคลื่อนเรียกร้อง รูปแบบการเยี่ยมบ้านที่ไม่ใช่นามเครือญาติฉันมิตรนี้มีมานานในสามจังหวัด ความกลัวของคนในพื้นที่ย่อมมากกว่าคนในกรุงเทพที่กำลังเผชิญ

หากจะนึกถึงภาพจำของนักกิจกรรม ฉันจินตนาการถึงท่าทีมุทะลุ แข็งกร้าวจำลองภาพปัตตานีที่เคยจำจากสื่อไว้ในหัวก่อนมาสัมภาษณ์ วันก่อนเข้าพื้นที่มีข่าวระเบิด 1 ลูก ฉันแอบกลัว ฉันยอมรับ

เรานั่งคุยกันใต้ต้นไม้ใหญ่หน้าอาคารเรียนรวม สงบ ร่มรื่น กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงกระพือพัดในตัวฟาห์เรนน์ผ่านน้ำเสียง สายตาส่งมาถึงฉันและทีมงาน  ฟาห์เรนน์เป็นคนสงขลาที่เข้ามาเรียนในปัตตานีมีท่าทีสุภาพนอบน้อม แต่กล่าวด้วยเสียงดังฟังชัดเมื่อพูดถึงปัญหา ประยุทธ์ จันทร์โอชา และราคาที่ต้องจ่ายของการเป็นนักกิจกรรม อะไรทำให้เขาสนใจเรื่องการเมืองจนออกมาเป็นแนวหน้าของการขับเคลื่อน ฉันชวนเขาคุย

บ้านผมเป็น Godfather ฟาห์เรนน์พูดติดตลก แต่จริงตามคำนั้นพื้นฐานทางบ้านมีสถานะทางการเงินที่ดี มีอิทธิพลในบทบาทการเมืองท้องถิ่นของสงขลาและภาคใต้ นามสกุลนิยมเดชาเป็นที่รู้จักทั่วไปของคนสงขลา ฟาห์เรนน์นิยามว่าครอบครัวคือ ต้นทุนที่ทำให้เขากล้าออกมาพูด และไม่ถูกคุกคามทำร้ายเหมือนคนอื่นๆ “ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าสภาพทางการเมืองจะเป็นแบบไหน เราก็อยู่แบบนี้แหละ” บ้านของเขาบอก

“นี่ไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้อง ถ้าการเมืองดีป้าๆ ในซอยจะต้องไม่ทนเจ็บกับโรคมะเร็ง เขาจะต้องมีโอกาสได้รับการรักษาที่ดี เพื่อนๆ ผมอีกหลายคนในหมู่บ้านเขาจะต้องมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย ได้เรียนในสาขาที่เขาชอบ  ผมอาจจะเป็นคนที่โชคดีในไม่กี่รุ่นที่มีโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย

ถ้าการเมืองดีสิ่งนี้มันจะตอบโจทย์ไปโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่เพียงแค่ว่าต่อให้การเมืองดีเราก็อยู่แบบนี้ เพราะตอนนี้เราไม่ได้เดือดร้อนแบบคนเหล่านั้น เพราะเราคิดแบบนี้ เราเลยยังอยู่แบบนี้” 

ที่มาของความสนใจและการกระโจนตัวเข้าสู่วาระทางการเมืองมาจากการคลุกคลีการเมืองท้องถิ่นกับที่บ้านตั้งแต่เด็ก  จุดสำคัญที่ผันให้เขาสนใจมากขึ้นคือการเรียนคณะรัฐศาสตร์  บรรยากาศของการถกเถียงและการเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองของรุ่นพี่ในคณะที่ชักชวนแวดล้อมทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง แต่ถกกันด้วยเหตุผลและแนวทางข้อเสนอตามวิถีประชาธิปไตย คือสิ่งที่หล่อหลอมให้ฟาห์เรนน์เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอด 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย

ต้นทุนที่ต้องจ่ายกับการเป็นนักกิจกรรมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเจอกับอะไรบ้าง

นักกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บริบทฟาห์เรนน์ชี้ว่ามี 2 ส่วนที่ต้องท้าทาย ครอบครัวคนใต้คือปราการด่านแรกที่ต้องเผชิญ และบรรทัดฐาน (Norm) ของสังคมใต้ที่มีทัศนะต่อการเมืองเลือกสีชัด เห็นด้วยคล้อยตามระบบอนุรักษ์นิยม

“ด่านแรกคือ ครอบครัวที่มีความเห็นทางด้านการเมืองที่ไม่ตรงกับเรา ต้องปรับความเข้าใจกับที่บ้าน หรือบางครั้งถึงขั้นต้องมีปากเสียงกันเพราะเรื่องการเมืองทั้งๆ ที่ถ้าพูดถึงในสังคมประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว หรือสถาบันไหนก็แล้วแต่ ความเห็นต่างมันเป็นเรื่องปกติมาก ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเห็นเหมือนกัน คิดเหมือนกันและเชื่อเหมือนกัน

อย่างที่ 2 คือสิ่งที่เราต้องท้าทาย คือ บรรทัดฐาน (Norm) ของสังคมในภาคใต้นี่คือบริบทเมื่อก่อนที่ไม่ได้มีความศรัทธา ไม่ได้มีความเชื่อในหลักการของประชาธิปไตย หลักการของสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม สำนึกทางการเมืองของคนใต้อาจจะต่างกัน และต่างกันกับตอนนี้

นี่คือสิ่งที่เราต้องท้าทาย เราจะอธิบายคนรอบข้างเรายังไง ป้าข้างบ้าน เพื่อนอยู่ร่วมวงกับเราจะอธิบายยังไงว่าการเลือกตั้งคือทางออก การเคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงคือทางออกที่จะนำสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง”

ราคาของการคุกคาม ติดตามผู้เห็นต่าง

“การโดนติดตาม คุกคามจากเจ้าหน้าที่ โดนจนมันกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับผม เพราะว่าผมทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 1 เจ้าหน้าที่ไปเฝ้าที่ตึกเรียน  ตามไปร้านกาแฟ ไปดูว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน ถ่ายรูปบ้างในบางครั้งบางคราว สิ่งเหล่านี้โดยส่วนตัวมันกลายเป็นเรื่องปกติ สำหรับผมหลังๆ เจ้าหน้าที่เลือกที่จะไม่ตาม เขาอาจจะคิดว่าตามไปก็เท่านั้น เขาเลือกไปคุกคามกลุ่มนักกิจกรรม หรือนักกิจกรรมหน้าใหม่แทน อาจจะเป็นการทำปฏิบัติการทางจิตวิทยาทำให้เกิดความกลัวของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตมาในเส้นทางของการเรียนร้องประชาธิปไตย”

หลังจากงานวิ่งไล่ลุงที่ฟาห์เรนจัดในพื้นที่ปัตตานีมีเจ้าหน้าที่พยายามนำเอกสารให้เซ็นต์โดยไม่ระบุรายละเอียด เพียงยื่นให้เซ็นต์โดยให้เหตุผลว่าขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ตามไปหาที่ร้านกาแฟร้านประจำ ตามเวลาประจำที่ฟาห์เรนน์นั่งอ่านหนังสือราวกับรู้ตารางชีวิตของเขา

ช่วยเซ็นต์รับทราบเอกสารหน่อยได้ไหม  เจ้าหน้าที่คนใหม่กับพฤติการณ์เดิมที่ติดตามฟาห์เรนยื่นเอกสารให้กลางร้านกาแฟ  โดยให้เหตุผลว่าเป็นเอกสารรับทราบ หลังจัดงานวิ่งไล่ลุงที่ฟาห์เรนน์มีส่วนร่วม

“ถ้าเกิดว่าพี่จะให้ผมเซ็นต์ไม่ว่าจะเป็นหมายสอบปากคำ หรืออะไรก็แล้วแต่ มีหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรทางราชการมา ผมพร้อมทำตาม พร้อมเซ็นต์ แต่สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นมาตลอด มันไม่ใช่ มันคือการปกครองด้วยวาจา มันคือ การปกครองด้วยอำนาจที่มันมองไม่เห็น” ฟาห์เรนน์ตอบปฏิเสธ

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน่วยงานด้านความมั่นคงที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และมีบทบาทในการปกครองพื้นที่เฉพาะแห่งนี้ ได้แก่ ทหาร, ตำรวจ, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน), ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่ชุดความมั่นคงอื่นๆ ที่ได้รับการมอบอำนาจตามกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเวลากว่า 16 ปี

ตั้งแต่ตอนแรกที่โดนจนถึงตอนนี้ ไม่กลัวเหรอ

“ช่วงแรกมันกลัวครับ  ทุกคนกลัวเหมือนกันหมด เราถูกปกครองให้อยู่ภายใต้ความกลัว แต่เหมือนเราโดนยุงกัดอ่ะครับ เด็กๆ มันเจ็บมาก แต่เราโดนกัดจนตอนนี้อายุยี่สิบ มันกลายเป็นเรื่องปกติว่าเจ็บไปก็เท่านั้นแหละ

ผมไม่สามารถใช้ความคิดเหล่านี้ไปบอกคนอื่นได้ เพราะมันต้องสะสม สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะดูแลคนเหล่านี้ที่อยู่ในขบวนประชาธิปไตย  มันกลายเป็นเรื่องปกติที่อยู่บนความไม่ปกติ ถ้าพูดถึงโครงสร้างรัฐประชาธิปไตยมันควรไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันควรมีพื้นที่ให้ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่จะสนับสนุน หรือเห็นต่างกับรัฐ มีพื้นที่พูดอย่างปลอดภัยที่อยู่ภายใต้หลักการเหตุผล ข้อเสนอ วิธีการแก้ไขปัญหา”

ทำไมนักกิจกรรมที่ต่อสู้เรียกร้องความปกติของประชาธิปไตยต้องทำตัวให้ชินกับการขบกัดจากรัฐที่คุกคาม ติดตามเหมือนยุงที่กัดตอมให้พวกเขาต้องยอมชินรับกับความกลัวนั้น

“ถ้ารัฐมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาและรับฟังว่าคนรุ่นใหม่และเยาวชนรุ่นใหม่อยากแก้ไขสิ่งเหล่านี้ อยากให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแก้ไข รัฐต้องรับฟังตั้งแต่ข้อแรกว่า หยุดคุกคามประชาชน แต่สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันนี้แทบที่จะไม่เว้นวันเลย มากสุดเด็กอายุ 12 ปี โดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่

รัฐมองประชาชนเป็นอะไร รัฐมองคนเห็นต่าง คนที่มีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างจากตัวเองเป็นอะไร รัฐต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันในการนำเสนอการแก้ไขปัญหาทางบ้านเมืองอีกไหม อันนี้รัฐต้องตอบ” เขาเล่าถึงการคุกคามเพื่อนนักกิจกรรมในพื้นที่ที่ถูกติดตามเคาะประตูบ้านแทบทุกวันในช่วงที่ผ่านมา

ประชาธิปไตยที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ถ้าระบบโครงสร้างประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าเราจะนำเสนอแนวคิดแบบไหนที่จะแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เลย ถ้าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีทาง

เพราะถ้าคุณพูดตอนเช้า ตอนเย็นเจ้าหน้าที่จะไปเยี่ยมบ้าน คุณพูดตอนเย็น ตอนเช้าเจ้าหน้าที่จะไปเยี่ยมอีก และสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่าก่อนจะพูดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเสรี โครงสร้างรัฐไทยต้องเป็นประชาธิปไตย เพื่อเอื้อให้บรรยากาศการพูด การถกเถียง การนำเสนอความคิดสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออีกกลุ่มนึงเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่า ปาตานี

แม้ถ้อยคำที่เล่าถึงการถืออาวุธบุกหานักกิจกรรมที่พูดเรื่องการเมืองในสามจังหวัด โดนติดตาม ขอความร่วมมือลงนามเอกสารแต่ปฎิเสธไม่ยินยอม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟาห์เรนน์ ในฐานะแนวหน้าของขบวนการนักศึกษาถือว่าเบาเมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่นที่เจอ เขาสันนิษฐานกับตัวเองว่า ทำไมไม่โดนเหมือนคนอื่น คำตอบคือ ต้นทุนอิทธิพลของครอบครัว และการมีบ้านเกิดในสงขลาไม่ใช่ในสามจังหวัด สิ่งเหล่านี้ฟาห์เรนน์เรียกว่าต้นทุนที่ดีที่เขาโชคดีได้มา และถ้าคนโชคดีแบบเขาไม่ออกมาพูด สังคมนี้ใครจะพูด ฟาห์เรนน์กล่าวเช่นนั้น

รับได้ใช่ไหมกับสังคมแบบนี้ กับสังคมที่มันกำลังเป็นอยู่

คำถามที่ฟาห์เรนน์ถามทุกครั้งที่มีคนเห็นต่าง ตั้งคำถามกับการกระทำว่า ทำไปทำไม ได้อะไร เขาชวนคุยด้วยการตัดสี ตัดการเลือกข้าง ตัดความเชื่อทางการเมืองออก คุณรับได้ไหมกับความแตกต่างดิ้นรนในชีวิตของคนจนคนไม่มีกินต้องปากกัดตีนถีบแทบตายในแต่ละวันเพื่อให้มีชีวิตรอด ขณะที่อีกกลุ่มแทบจะไม่ต้องได้รับความเดือดก็อยู่รอดได้ รับได้ใช่ไหม

บอกว่าเพราะคุณไม่อดทน เพราะคุณไม่มีความพยายามไม่ได้ ในเมื่อโครงสร้างทางการเมืองไม่เอื้อให้เขามีชีวิตที่มีคุณภาพได้ รับได้ใช่ไหม

การสละทิ้งเวลาการงานและต้นทุนทุกอย่างเพื่อนั่งรอรับการบริการในโรงพยาบาลรัฐของคนอีกจำนวนมาก รับได้ใช่ไหม

การศึกษาที่บางกลุ่มแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ เหมือนบางกลุ่มเช่นเขาที่ได้เรียนติวเตอร์ สถาบันที่มีต้นทุนและโอกาสสูงมากที่เข้าถึงได้ รับได้ใช่ไหม

“สิ่งเหล่านี้มันเห็นชัดว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาเราล้มเหลวในการพัฒนา เราใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนาคนกลุ่มน้อยของสังคม และทิ้งคนกลุ่มใหญ่ให้เขาตกร่องตกขอบในส่วนของพัฒนาไป และเรารับได้ไหมกับสังคมแบบนี้

เชื่อการเมืองแบบสีไหนก็ได้  คุณจะรวยมหาศาลแบบไหนก็ได้ คุณจะมีทัศนคติกับผมแบบไหนก็ได้ คุณรับได้ใช่ไหมกับสังคมที่กำลังเป็นอยู่ ถึงแม้ผมจะเป็นกลุ่มคนที่โชคดีมีโอกาส มีต้นทุน ผมรับไม่ได้ ถ้าคุณรับได้ ก็เรื่องของคุณ”

เหนื่อยไหม อยากเลิกไหม แลดูจะไม่คุ้มทุนที่ต้องจ่ายเลย

อยากเลิกหลายครั้งนะ ฟาห์เรนน์เปรยขึ้นมา 

“อยากเลิกการอยู่แนวหน้า ไม่ได้อยากปารวณาตัวเองว่าตัวเองเป็นแนวหน้าในขบวนการนักศึกษาหรอกครับ ไม่อยากพูดเรื่องการเมือง ไม่อยากจะพูดปัญหาที่มันกำลังเกิดขึ้น ไม่อยากจะนำเสนออะไรแบบนี้ หลายครั้งมากที่คิดแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่พยามยามเลิกคิด เลิกคิดไม่ได้ ภาพจำมันเวียนอยู่ในหัวตลอด

ทำทำไม ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เดือดร้อน แต่ทุกครั้งที่หลับตานอน รับไม่ได้กับสภาพสังคมที่มันอยู่ในตาว่าถ้าเราไม่พูด เราจะต้องยอมเห็นสังคมที่มันกำลังเป็นอยู่อย่างนี้อีกนานใช่ไหม นั่นคือสิ่งที่ละสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สักที” ฟาห์เรนน์กล่าว

เราออกมาเรียกร้องอะไรให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“สิ่งที่คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  และคนอื่นๆ ในประเทศออกมาเรียกร้องคือความเป็นธรรม เขารู้สึกรับรู้มาตลอด เขาแอบมีความรู้สึกรับรู้ว่า เขาเป็นพลเมืองชั้น 2 ไหม ถูกรับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อีกแบบนึงกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

เวลาพูดเรื่องนี้มันก็ย้อนกลับไปตรงจุดเดิมคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันไม่สามารถแก้ได้ใน 6 เดือน หรือ 1 ปี มันต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร แต่ก่อนที่จะไปแก้ปัญหาตรงนั้นเราต้องมีสภาวะทางการเมืองที่มันเอื้อ ในภาษาทวิตเตอร์คือ #ถ้าการเมืองดี  ที่มันเอื้อให้การแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันบรรลุผล และถ้ามันยังเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี 10 ปีที่ผ่านมา มันไม่สามารถแก้ได้”

#ถ้าการเมืองดีสามจังหวัดจะเป็นยังไง

“ถ้าการเมืองดี 3 จังหวัดจะเจอกับอะไรที่ดีกว่านี้ จะเจอกับระบบการศึกษาที่ดี จะเจอกับระบบเศรษฐกิจที่ดี ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวต่อคน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยที่สุดในประเทศ ถ้าการเมืองดีสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้

การเมืองดีคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับการบริการทางสาธารณสุขที่ดี รวมถึงคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมด้วย

การเมืองดีคุณภาพในการใช้ชีวิตของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงคนอื่นๆ ในสังคมจะดีด้วย แต่ผมคิดว่าสุดท้าย ท้ายที่สุดที่เราจะไปถึงจุดนั้น สภาวะโครงสร้างทางการเมืองต้องดี เพื่อเอื้อให้กับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้”

คุ้มทุนไหม กับตุ้นทุนและราคาที่ต้องจ่ายไป

“สำหรับผมแม้มันไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมดที่ผมต้องการ แต่วันนี้ต้นทุนทั้งหมดที่เสียไป ผมคิดว่าคุ้ม ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้รับราชการ เพราะอาจติดอยู่ในบัญชีดำของราชการ ก็รู้ตัวเองดี เพราะคนที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง การเข้าสู่เส้นทางข้าราชการนั้นยากมาก แต่ผมไม่ได้แคร์ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำไปและมันทำให้สังคมนี้ดีขึ้น คุ้มครับ” ฟาห์เรนน์ยิ้มรับคำตอบนั้น แม้ฟังแล้วใจหาย ปลายทางของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ปูทางสู่การรับราชการตามวิชาชีพ โอกาสที่เสี่ยงสูญหายไปจากการทำกิจกรรมทางการเมืองหมายถึงการงานอาชีพที่เขาร่ำเรียนมา

“ถ้าพูดกันภาษารัฐศาสตร์การเป็นข้าราชการคือ เส้นทางการเปลี่ยนผ่านทางชนชั้น คนใต้หรือกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมที่มีสถานะทางสังคมเป็นชนชั้นล่าง ก็มีความฝันอยากเห็นลูกของตัวเอง อยากเห็นลูกหลานของตัวเองได้เจอกับชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง แล้วการเข้าสู่เส้นทางราชการที่พูดได้ว่า เกือบจะเป็นทางลัดมากที่ทำให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณมีโอกาสได้รับเงินเดือน ได้รับอะไรอีกเยอะเลย และสิ่งที่เราพูด ไม่ได้พูดให้ข้าราชการไม่ได้รับสิ่งนั้น แต่พูดให้กลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมเขาได้รับอะไรแบบนี้ด้วย

ไม่ต้องเท่าราชการก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดให้เขามีคุณภาพชีวิต ให้มีชีวิตรอดอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนปากกัดตีนถีบอย่างที่มันเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้”

ก่อนจบการสัมภาษณ์เขาฝากบอกถึงผู้มีอำนาจที่พยายามหยุดการเคลื่อนไหวตอนนี้ว่า หยุดไม่ได้ ไม่ว่าจะพูดด้วยทฤษฎีทางการเมือง ความเชื่อทางการเมืองแบบไหน คุณไม่มีวันหยุดได้ ต่อให้คุณจับแกนนำทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ว่าคุณจะขจัดผู้เห็นต่างแบบไหน เราคือไฮดร้า คุณตัดหนึ่ง มันจะงอกมาอีกสอง คุณตัดสอง มันจะงอกมาอีกสี่  งอกออกมาอีกเป็นร้อยเป็นล้านชีวิต ส่วนเรื่องการคุกคามฟาห์เรนน์ทิ้งท้ายกับฉันว่า

ช่างแม่งเหอะ อารมณ์ประมาณนั้นอ่ะพี่