หักดิบทุนพลังงานใน COP28 กรีนพีซลุ้น PDP ปลายปีไม่มีถ่านหิน - Decode
Reading Time: 3 minutes

จาก 1995 ถึง 2023 (พ.ศ.2538 -2566) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP: Conference of the Parties ยังเจอความท้าทาย เมื่อบททดสอบระดับนานาชาติอย่างการเจรจาหาแนวทางแก้ปัญหาโลกของประเทศสมาชิกไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยหมุดหมายภายในทศวรรษแรก กล่าวคือ 2021-2030 (พ.ศ.2564-2573) หวังบรรลุเป้าหมายให้ระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา “การประชุมระดับโลกนี้ต่างเป็นที่รวมตัวของผู้แทนจากภาครัฐ และนักล็อบบี้ภาคเอกชน” วันนี้ COP28 เดินทางมาถึงแล้ว ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และให้ความสำคัญเรื่องพลังงานและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่คำนึงถึงทุกภาคส่วนมากกว่าที่เคย คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า ประเทศไทยจะผ่านการปรับตัวนี้ไปได้อย่างไร ในวันที่เรายังคงติดกับดักพลังงานฟอสซิล และเต็มไปด้วยคำตอบที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่จุดยืนของภาคประชาชนยังเป็นปริศนาในสมการระดับนานาชาตินี้ ล้วนเป็นคำถามและข้อสังเกตุสำคัญจากเวทีเสวนาเชิงนโยบาย DIALOGUE FORUM 5 I YEAR 4: วิเคราะห์ข้อท้าทายการเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP28 ซึ่ง De/code ร่วมจัดกับพาร์ทหลักอย่างสำนักข่าว Bangkok Tribune ,ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และSEA-Junction

ไม่ยืดหยุ่น เราไม่รอด

“ตอนนี้โลกกำลังมุ่งสู่ความยืดหยุ่น (resilience) 3 ด้าน คือ ความยืดหยุ่นทางสังคม (social resilience) ความยืดหยุ่นทางสิ่งแวดล้อม (environmental resilience) และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ (economic resilience) ที่จะนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืน”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต (Climate Change and Disaster Center) กล่าวพร้อมระบุว่า การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานอย่าง Nature-based Solutions (NbS) ก็จะเป็นโจทย์หลักในการประชุมครั้งนี้ ตลอดจนมีการมุ่งเน้นเรื่องการปรับตัว (adaptation) มากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้มีกรอบการทำงานระดับนานาชาติที่มุ่งแก้ปัญหาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อย่าง Sendai Framework for Disaster Risk Reduction (SDGs) หรือความตกลงปารีส (Paris Agreement) ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นในการประชุม COP21 ต่างมุ่งสู่ Pathway to Resilience เพราะหมุดหมายเดิมที่ตั้งไว้ไม่เป็นผล หลังมีข้อมูลว่าจาก Climate Action (SDG 13) ที่หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) เมื่อวันนี้ผ่านมาได้แล้วครึ่งทาง ทำได้เพียง 15% เท่านั้น

ถึงเวลาเจ็บตัวถ้วนหน้า

“COP28 มาสายพลังงานแน่ ๆ แต่พลังงานที่ข้ามผ่านแบบคำนึงถึงทุกภาคส่วน ถ้าค่าไฟขึ้น ถ้าเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน แล้วแรงงานทำยังไง เขามองลึกกว่าแค่เทคโนโลยี เขามองลึกถึงประชาชน สามารถซื้อได้ไหม เข้าถึงได้ไหม หรือประชาชนเดือดร้อนกันหมด หรือประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นี้ได้”

ด้าน ผอ.นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า หาก COP26 เป็นการตั้งเป้าหมาย COP28 จึงเป็นการดำเนินการปฏิบัติอย่างชัดเจน พร้อมยืนยันว่า เราหยุดโลกร้อนไม่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศกล่าวถ้อยแถลงว่าจะให้เงินทุนกับ กองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) มากขึ้น

นอกจากนี้ประเทศไทยยังยึดถือหลักความรับผิดชอบในระดับที่ต่างกัน ซึ่งสอดคล้องตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies) ที่ยื่นให้กับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม (just energy transition) ขึ้น โดยการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความพยายามของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดขึ้นจริง

ร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกภาคส่วนเจ็บตัวแน่ แต่การเจ็บตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน เป็นธรรมหรือไม่ต้องมาดูอีกทีว่าในบริบทไหน ต้องดูความสมดุลว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศ เราคงจะไปสุดโต่งไม่ได้ ร่างพรบ.นี้ ปีหน้าน่าจะได้เอามาเผยแพร่ให้กับทุก ๆ ท่าน มีบทเจ็บตัว มีหมวดตัวช่วย ส่วนบทกำหนดโทษเป็นเรื่องของการรายงานข้อมูลเท็จ” ผอ.นารีรัตน์ กล่าวพร้อมย้ำว่า นอกจากนี้ความโปร่งใสของการตรวจวัดค่าการใช้คาร์บอนเองก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองใน COP ครั้งนี้เช่นเดียวกัน

เศรษฐศาสตร์โลกร้อน ความล้มเหลวของระบบตลาด

“คุณลดก๊าซฯ ก็เป็นพระเอกเลย แต่คนอื่นไม่ทำ เขาก็ยังได้ประโยชน์อยู่ ประเด็นคือ คนลดต้องเสียต้นทุนเยอะ เสียสละ คนที่ไม่ลดก็ได้ประโยชน์ต่อไป”

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า รากเหง้าของปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนมีคำอธิบายเชิงเศรษฐศาสตร์ที่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบบตลาด (market failure)

ปัญหาแรก คือ สินค้าสาธารณะ ที่สามารถแบ่งออกได้เป็นสองแบบ สินค้าที่ไม่สามารถกีดกันการใช้ประโยชน์ได้ (Non-exclusive) เช่น การป้องกันประเทศ ที่คนในประเทศมีสิทธิได้รับประโยชน์ เช่นเดียวกันกับชั้นบรรยากาศโลกที่ไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของได้ และ สินค้าที่ไม่แบ่งปันในการบริโภค (Non-rival) เราบริโภค คนอื่นบริโภคได้ ถ้าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจก คนอื่นก็ปล่อยได้ ไม่ได้กีดกันให้คนอื่นปล่อยได้น้อยลง ก่อเกิดปัญหา Free Rider คนลดเสียต้นทุน คนไม่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประโยชน์ ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจ

ปัญหาที่สอง คือ ผลกระทบภายนอก (Externalities) คนนึงทำ คนนึงได้หรือเสียประโยชน์ แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นผลกระทบภายนอกระหว่างประเทศ ทั้งสินค้าสาธารณะและผลกระทบภายนอกเนี่ยนำมาซึ่งความล้มเหลวของระบบตลาด คือราคาสินค้าที่ขายอยู่ในตลาด ไม่สะท้อนต้นทุนของการใช้ทรัพยากรความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคม นำมาสู่กลไกจัดสรรทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น ตลอดจนถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

โตมากับ ‘คาร์บอนนิยม’ จบชีวิตแบบคริปโตเคอร์เรนซี 

“ใครสามารถระดมคาร์บอนได้เยอะ ไม่ว่าจะด้วยการลงทุน การซื้อ สามารถเคลมได้ว่าฉันเป็นผู้รักสิ่งแวดล้อมนะ แม้ว่าฉันจะเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมในที่นึง แต่ฉันไปลงทุนปลูกป่าอีกที่นึง จากผู้ร้ายกลายเป็นพระเอกได้เลย”

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) อธิบายให้เราฟังว่า ปัญหาโลกร้อนเกิดจากบางภาคส่วนที่ใช้ทรัพยากรเยอะ ยกตัวอย่างเช่น พลังงานฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นกลุ่มคนที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และเปราะบางกว่าอย่างกลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และผู้หญิง ที่ท้ายที่สุดแล้วสิทธิในการดำรงชีพถูกละเมิดโดยไม่รู้ตัว และหาไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ละเมิด

ดังนั้นหากเราถลำไปในคาร์บอนนิยมมากเกินไป การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจะถูกลดทอนเพียงแค่เรื่องการเคลมคาร์บอนจากบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่ชาวบ้านเผชิญถูกทิ้งไปข้างหลัง โดยหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นภาพชาวบ้านลุกมาคัดค้าน เพราะเมื่อฐานทรัพยากรเสียหาย ก็นำมาสู่ประสิทธิภาพการปรับตัวที่ต่ำลง เช่น ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงและเปราะบาง ด้านหนึ่งได้รับผลกระทบจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนหรือปัญหาอื่นใด สองคือกลไกตลาด ที่ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือก โอกาสในการปรับตัวเองจึงมีจำกัด

“ประเทศไทยมักคิดในระดับสั้นว่าอยู่ในระดับรายได้ปานกลาง วิธีเดียวที่เราจะทำได้เลยคือการดึงดูดการลงทุนต่างชาติในรูปอุตสาหกรรม เราไม่นึกถึงการใช้ทรัพยากรในประเทศ ประชาชนไม่ได้อยากเห็นแค่การเติบโตทางเศรฐกิจ แต่เราอยากเห็นการเติบโตที่กลับมาสมดุลกับธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์” ดร.กฤษฎา กล่าว พร้อมย้ำว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการเดินหน้าแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ปล่อยมือทุนฟอสซิล

“น่าเสียดายที่ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด แต่ตอนนี้เรากลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ฟอสซิลเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวพร้อมระบุว่า การปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ยุติการสำรวจแหล่งใหม่ และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ในขณะที่รายงานความคืบหน้าในการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake Synthesis Report) จะเข้มข้นมากขึ้นใน COP28 ซึ่งสามารถเป็นตัววัดศักยภาพที่เกิดขึ้นว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะความสำเร็จของ Global Stocktake ก็คือความสำเร็จของ COP28

ในขณะที่เรื่องเขื่อน ในรายงานทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA, International Energy Agency) ก็มีการถกเถียงว่าเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดจริงไหม เพราะบางทีเราก็เอาเขื่อนไปใส่ในประเภทพลังงานหมุนเวียน บางทีก็แยกออกมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทาย เพราะประเทศไทยมีไฟฟ้าจากแดดและลมเพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ ตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลวติดอันดับสูงที่สุด 1 ใน 10 อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง ดังนั้นจึงมีการจับตามองแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ที่จะออกมาปลายปี 2566 ว่าจะเป็นอย่างไร แผนใหม่จะมีหรือไม่มีถ่านหิน จะมีก๊าซและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไทยมีศักยภาพในการทำพลังงานหมุนเวียนมากมาย แต่ทิศทางการเติบโตพลังงานหมุนเวียนกลับถดถอย

รับฟังเวทีเสวนาเชิงนโยบายย้อนหลังได้ที่ DIALOGUE FORUM 5 I YEAR 4: วิเคราะห์ข้อท้าทายการเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP28 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

เอลนีโญมา ‘ถ้าไม่มีน้ำ เศรษฐกิจก็จบ’

รวย-จ่าย-ไม่จบ เมื่อการ fade out ถ้าไม่เลือก เราไม่รอด

อากาศสุดขั้ว รัฐรวมศูนย์สุดขีด

ไม่แก้หรือแก้ไม่ได้? น้ำท่วม-โลกรวน ปัญหาใหญ่(ที่ไม่ใหม่)และไทยกำลังตามโลกไม่ทัน