เอลนีโญมา 'ถ้าไม่มีน้ำ เศรษฐกิจก็จบ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

… โปรดทราบ

… โปรดทราบ

… ณ เวลานี้ เอลนีโญ หรือปีแห้ง ปรากฏตัวในระดับโลกแล้ว

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาถูกบันทึกว่า เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำลายทุกสถิติที่เคยมีการบันทึกมา ปรากฏการณ์ฝนน้อยน้ำแล้งที่จะกินความยาวสองปีเป็นอย่างน้อยนี้ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลใหม่ โดย รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคต MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันว่า ภาคการเกษตรของประเทศไทยในครึ่งปีหน้ามีความน่ากังวล หากยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ชวนฟังอีกหลากมุมมองและข้อเสนอจากวงเสวนา “DIALOGUE FORUM 2 l YEAR 4: El Niño, จากโลกร้อนสู่โลกแล้ง” ในวันที่ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลง แทนที่ด้วยภาวะโลกเดือดที่คาดการณ์ได้ การรับมือกับในระดับพื้นที่และนโยบายจะต้องเป็นไปในทิศทางใด หากในวันนี้การให้ความสำคัญประเด็นเรื่องโลกร้อน รวน แล้งในไทยยังไม่ทันเพื่อนบ้าน การไม่มีคนไทยอยู่ในคณะทำงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) คือความเสียเปรียบ

เอลนีโญ เอลนีโญ่ El nino El Niño ภัยแล้ง โลกร้อน

ไม่อยากเป็น “แพะ” ปากคำเกษตรกรไทย

“ผมไม่อยากให้ชาวนาเป็นแพะนะ ผมไม่อยากให้เอลนีโญเป็นแพะด้วยซ้ำไป”

นี่คือหนึ่งในสุ้มเสียงของพี่น้องจากภาคการเกษตรผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกแล้ง เพราะภายใต้คำว่า เอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และเป็นหนึ่งในวัฏจักรธรรมชาติที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ทำไมประเทศไทยในวันนี้ยังไม่อาจรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ได้ จนเหล่าเกษตรกรยังคงพบเจอกับปัญหาเดิมซ้ำไปมาหลายต่อหลายปี

ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง เล่าว่า โดยปกติเกษตรกรภาคกลางมีน้ำสำหรับใช้ทำนาอยู่เสมอ แม้ชลประทานจะมีประกาศชะลอทำนาปี โดยในจังหวัดอ่างทองจะใช้ระบบส่งน้ำเป็นรอบคิวส่ง 7 วัน ปล่อยแห้ง 15-20 วัน ทรงพล อธิบายต่อว่า ในตอนแรกเหล่าพี่น้องเกษตรไม่เชื่อว่าจะเกิดภัยแล้งในฤดูฝน แต่สถานการณ์ตรงหน้าก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นจริง และกำลังกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขาโดยตรง

ถ้าไม่มีน้ำ เศรษฐกิจก็จบ ทรงพลว่า เพราะภาคการเกษตรในประเทศไทยยังคงเป็นโมเดลรองจากอุตสาหกรรม และหากย้อนไปในสมัยก่อนจะพบว่า ภาคกลางใช้น้ำชลประทาน 100% เกษตรกรไม่มองน้ำต้นทุนของตนเอง ถมที่ทั้งหมดเพื่อทำการเกษตร แต่หลังจากนั้นสิบกว่าปีก็เริ่มแล้ง เมื่อต้องการมองหาพื้นที่สาธารณะที่สามารถรองรับน้ำต้นทุนได้ก็กลับไม่เจอ

“ผมหาพื้นที่ที่เป็นสาธารณะในอ่างทอง ผลสุดท้ายทำไม่ได้ครับ เพราะถูกนายทุนทำเป็นแหล่งที่จะทำแก้มลิงแต่ไม่สามารถทำได้ เจอนายทุนที่เข้าไปทำมาหากินก็ไม่สามารถไปไล่เขาได้ แต่พื้นที่นั้นยังเป็นที่สาธารณะอยู่” หนึ่งในนั้นคือบริเวณบึงสีบัวทอง ที่มีความกว้างของแหล่งน้ำประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ทว่าตอนนี้เหลือไม่เกิน 20 – 30 เมตร เพราะมีการตัดถนนไปไว้ในคลอง พอน้ำมาก็ท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของชาวอ่างทอง ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำขาดน้ำเกินสุดขั้ว ไม่แล้งหนักจนเพาะปลูกลำบาก ก็เป็นพื้นที่รับน้ำท่วมมิดหัวมิดหลังคา ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ด้าน ปฏิพัทธ์ กล่ำเพ็ง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท ระบุว่า สถานการณ์น้ำที่ชัยนาท ณ ตอนนี้ไม่แตกต่างจากอ่างทอง ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ทำให้มีนโยบายจัดสรรและเวรการส่งน้ำ และมีการขอน้ำเพิ่มเข้ามาเพื่อมุ่งเน้นการเกษตรส่วนที่ทำไปแล้ว ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ให้รอดก่อน นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรยังวางแผนล่วงหน้าไว้ผ่านการสำรวจแหล่งน้ำทุกแห่ง เมื่อฝนตกหนักก็สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้ ซึ่งตุนไว้แล้วประมาณ 80% ของแหล่งกักเก็บน้ำ

“เราไม่สามารถนำเสื้อตัวเดียวมาใช้กับทั้งประเทศได้” ปฏิพัทธ์ กล่าว เมื่อพูดถึงการขอความร่วมมือลดทำนาต่อเนื่อง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเสริมว่า การงดทำนาปรังสามารถปรับใช้ได้เพียงบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามในกรณีพื้นที่เกษตรกรรมที่มีภูมิคุ้มกันดี ปฏิพัทธ์มองว่า จะดีกว่าไหมหากภาครัฐจะให้โอกาสภาคเกษตรกรได้ประโยชน์ตรงนี้ไป เพราะชาวนาเองก็มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน

“ทุกครั้งเวลาฝนตกมาก ๆ จะผันน้ำเข้านา เวลาฝนตกน้อยก็จะบอกว่า ชาวนาใช้น้ำหมด จริง ๆ แล้วไม่อยากให้มาโทษกลุ่มชาวนาอย่างเดียว” ในมุมมองปฏิพัทธ์ เอลนีโญ คือภาพรวมขนาดใหญ่ ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำคือสิ่งที่ใกล้ตัวกับพี่น้องเกษตรกร แต่กลับไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา โดยใช้ปัจจัยที่ใกล้ตัวพี่น้องประชาชนมากที่สุด

“เราไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ เอลนีโญเป็นตัวบ่งชี้ แต่สิ่งที่ควรจะมีดีกว่านี้คือการบริหารจัดการน้ำ”

มาตรการ(ตก)น้ำ

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเกิดอุทกภัยกว่า 36 จังหวัดในประเทศไทยเนื่องจากฝนตกหนัก อย่างไรก็ตามแม้บางพื้นที่จะมีน้ำมากจนน้ำท่วม แต่บางพื้นที่กลับมีฝนตกน้อยจนแล้ง เหตุเพราะลมเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งหากเปรียบเทียบปริมาณน้ำต้นทุนรายปีจะพบว่า ประเทศไทยในปี 2566 จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 2565 เกือบ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ในปี 67 ปริมาณน้ำจะน้อยคล้ายกับปี 2562-2563 เนื่องจากเอลนีโญที่เข้ามา

นอกจากนี้ ฐนโรจน์ ยังระบุว่า ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติได้วางแผนรับมือปัญหาเอลนีโญแล้ว ผ่านแผนรองรับ 10 มาตรการ กล่าวคือ เร่งกักเก็บน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง เติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร เตรียมน้ำสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างการรับรู้และติดตามผล ตลอดจนการทำฝนหลวง

ในขณะเดียวกันพูดถึงการรับมือฤดูฝนในปี 2566 ทางศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติก็มีอีก 12 มาตรการในการรับมือ โดยฐนโรจน์ยืนยันว่ามาตราการเหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากถามว่า มาตรการของ สทนช. ส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างกลุ่มพี่น้องเกษตรกรหรือไม่ ปฏิพัทธ์ระบุว่า ในวันนี้คนในพื้นที่ยังไม่รู้จัก สทนช.

“ถ้าเป็นยักษ์ก็ไม่มีกระบอง เพราะเราไม่เห็นเลยว่า สทนช. ภาพกว้างที่อยู่บนยอดเขาสูง แต่ในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่อยู่ตรงไหน” ปฏิพัทธ์ กล่าว ก่อนอธิบายต่อว่า ปัญหาในการบริหารจัดการเป็นเรื่องทับซ้อนของพื้นที่ ณ ตอนนี้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด และให้อำนาจการบริหารขึ้นอยู่กับกลุ่ม โดยกรมชลประทานเป็นพี่เลี้ยงกำหนดนโยบายมาตราการ ทว่าผลสัมฤทธิ์เชิงรูปธรรมของ สทนช. ยังไม่ปรากฏให้ชาวบ้านได้เห็น

ในขณะที่ทรงพล เสริมว่า แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ใช้น้ำทุกอำเภอทุกลุ่มน้ำ มา 2 ปี แต่ในฐานะประธาน ทรงพลไม่เคยได้รับการติดต่อให้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขเลยสักครั้ง

น้ำไม่มี-ข้าวดี กระจายอำนาจไม่มี-ไปต่อไม่ได้

“ข้าวราคาดีตอนไม่มีน้ำ ไม่มีใครกล้าบอกหรอกว่า งดทำนาปรังนะ ทั้งที่ข้าวขายได้ราคาดี รัฐมนตรีมหาดไทยต้องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ภายในสองเดือนคุณต้องมีคำตอบ”

รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นก็คือ ส่วนแรก พื้นที่ชาวนาเกษตรกรที่ไม่ยินยอมในการขุดบ่อขุดสระเพราะว่าเช่านา และส่วนที่สอง พื้นที่สาธารณะในจังหวัดที่ต้องหวังพึ่งรัฐบาลเพื่อไทยไปดูว่าพื้นที่ตรงนี้ใช้ได้หรือไม่

เพราะหากน้ำต้นทุนปีละ 6,000 ล้าน ต้องสงวนไว้สำหรับต้นฤดูฝนประมาณ 2,000 – 3,000 ล้าน เจ้าพระยามีน้ำ 3,000 ล้าน โดยมี 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งฤดู เกษตรกรจะทำนาปรังได้แค่ 2 ล้านไร่ แต่ว่าราคาข้าวดี โดยใช้น้ำจากเจ้าพระยาประมาณ 7-8 ล้านไร่ ส่วน 6 ล้านไร่ที่ขาดน้ำ เขาก็จะทำเพราะราคาข้าวดี รัฐบาลจะจัดการกับความเป็นจริงเหล่านี้ได้อย่างไร

ด้าน เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการลงพื้นจังหวัดชัยนาท ร่วมกับเชิญ อาจารย์เสรี พรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคเมื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอีก 7 พรรค ทำให้เห็นปัญหาต่าง ๆ โดยต้องรีบแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วน 4 เรื่อง คือ:

พื้นที่เขตชุมชน พื้นที่อุปโภคบริโภค และประปา ในภูมิภาคจำนวน 800 แห่งโดยประมาณ ไม่รวมประปาหมู่บ้าน อย่างน้อยอีก 30% ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีแหล่งน้ำดิบเพียงพอ เดชรัตน์ อยากแนะนำ ให้รัฐบาลชุดใหม่เข้าไปดำเนินการตรวจเช็คสภาพประปาของทุกพื้นที่ และสำรองทั้งน้ำดิบและน้ำที่ผ่านการกรองเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่หากพูดถึงพื้นที่ตะวันออก ปัญหาของประปานครหลวงปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องน้ำเค็ม ดังนั้นการวางแผนมาตรการเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สุ่มเสี่ยงในด้านของสุขภาพโดยตรง

พื้นที่ชลประทาน ปีนี้อาจเหลือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉลี่ย 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หนีไม่พ้นช่วงข้าวราคาดี อนึ่งข้าวราคาสูงเพราะเอลนีโญ เดชรัตน์ว่า หากเปรียบเป็นการเล่นเกมก็เป็นที่เราต้องเสี่ยง หากรอดจะได้กำไร แต่ถ้าไม่ก็เจ๊ง ดังนั้นรัฐบาลจำต้องเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ย้อนไปขณะยังเป็นคณะการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลกล่าวว่า ควรเตรียมพื้นที่ 2 ล้านไร่ เพื่อจัดเตรียมการปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นพืชชนิดอื่น และเตรียมชดเชยอย่างน้อยสัก 2,000 บาทต่อไร่ เป็นเงินรวมประมาณ 4,000 – 6,000 ล้านบาท ข้อเสนอนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ทางเลือกต้องมาโดยไว ไม่ใช่การขอความร่วมมืองดทำนาปรัง

พืชที่มีความอ่อนไหวสูง โดยเฉพาะไม้ผล ที่ไม่ได้เจอแค่ภัยแล้ง แต่ยังประสบกับภัยร้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เนื่องจากฝนในภาคตะวันออกจะน้อยกว่าปกติราว 31% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการมาตรการพิเศษรองรับ

พื้นที่นอกเขตชลประทาน เรายังไม่มีระบบเช็คข้อมูลในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กว่า 140,000 บ่อ ทั่วประเทศ หากทราบก็จะสามารถเก็บน้ำฝนได้เต็มที่ ในปัจจุบันมีข้อติดขัดในระเบียบเยอะ Thai Water Plan มีความหวังดีให้ข้อมูลทุกอย่างมันเชื่อมกัน แต่ก็เป็นความล่าช้า โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ระบบจัดการในพื้นที่

เอลนีโญ เอลนีโญ่ El nino El Niño ภัยแล้ง โลกร้อน คลื่นความร้อน

แม้เอลนีโญจะคืบคลานใกล้เข้ามาเต็มที ทว่าอำนาจการตัดสินใจในการดูแลเรื่องโลกแล้งนี้ตกอยู่ที่ใดไม่มีใครทราบ บางพื้นที่เป็นของส่วนกลาง บางพื้นที่เป็นของท้องถิ่น และงบประมาณที่จัดสรรยังไม่ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา การกระจายอำนาจ ยังคงเป็นกุญแจหลักที่จะช่วยให้ประเทศไทยจัดการปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

เพราะความจริงในวันนี้ คือเราไม่อาจหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ จะมีก็แต่เตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวเป็นสำคัญ ซึ่งคงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโลกที่มีแต่จะร้อนขึ้นทุกวัน และทุกวัน

รับฟังวงเสวนาย้อนหลังได้ที่ DIALOGUE FORUM 2 l YEAR 4: El Niño, จากโลกร้อนสู่โลกแล้ง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

รวย-จ่าย-ไม่จบ เมื่อการ fade out ถ้าไม่เลือก เราไม่รอด

อากาศสุดขั้ว รัฐรวมศูนย์สุดขีด

ไม่แก้หรือแก้ไม่ได้? น้ำท่วม-โลกรวน ปัญหาใหญ่(ที่ไม่ใหม่)และไทยกำลังตามโลกไม่ทัน