รวย-จ่าย-ไม่จบ เมื่อการ fade out ถ้าไม่เลือก เราไม่รอด - Decode
Reading Time: 4 minutes

เส้นบาง ๆ ระหว่าง “ทางเลือก” กับ “ทางรอด” ของโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับ 2 เมกะเทรนด์ทั้งเรื่อง Climate change และ การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อเราในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ปากท้อง เศรษฐกิจ อันเกิดจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่และแปรปรวนมากขึ้นทุกขณะ

De/code ติดตามทิศทางนโยบายของไทยและนานาชาติจากเวที COP27 ในวงเสวนา จากกลาสโกลว์ถึงอียิปต์, นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ SEA-Junction หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ประเทศร่ำรวยชดเชยให้กับประเทศที่ได้รับความสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage) เพื่อชดเชยและเยียวยาผลจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ รวมถึงการบรรเทา(Mitigation) และการปรับตัว(Adaptation)

นโยบายที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ระหว่างการพูดคุยของผู้นำนานาชาติเป็นอย่างไร และประเทศไทยยืนอยู่จุดไหนในสมการนี้

พลังงานทาง”รอด” ไม่ใช่พลังงานทาง”เลือก”

จากเวที COP 27 ประเทศไทยประกาศจุดยืน ในปี 2030 จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นสัดส่วน 40% จาก 388 ล้านตันต่อปี หากคำนวณออกมาจะเหลือน้ำหนักประมาณ 120 ล้านตัน และในปี 2050 เราจะเป็นกลางทางคาร์บอนหรือมีการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ แต่ในแง่การลงมือทำ ยังถือว่าท้าทายพอสมควร

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงานและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากเดิมที่เรามักจะให้ความสำคัญกับการบรรเทา(Mitigation) ในการรักษาระดับอุณหภูมิจากเดิม 1.5 องศา ไม่ให้ขึ้นไป 2 องศาเป็นหลัก แต่ปีนี้เรามีการปรับความสำคัญของการปรับตัว(Adaptation) ในการลดและเลิกใช้พลังงานประเภทถ่านหินและฟอสซิล และโจทย์สำคัญที่ได้รับความสนใจในเวทีครั้งนี้ คือนโยบายในแง่ของ Loss and Damage ในการจัดตั้งกองทุนให้กับประเทศที่ได้รับความสูญเสียและความรุนแรงจากโลกที่เปลี่ยนไป

“ปัจจุบันโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วย 2 เมกะเทรนด์ คือเรื่องของ Climate change และ การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน” ดร.บัณฑูรกล่าวเสริมว่า จากจุดตั้งต้นของภาวะโลกร้อน ที่ทุกคนตระหนักถึงมันมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน การรณรงค์เพื่อหันมาพึ่งพาพลังงานประเภทอื่นที่ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น รถไฟฟ้า(EV) จะพบเห็นได้มากขึ้น และก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน

และด้วยเมกะเทรนด์นี้ ปัจจุบัน ทั่วโลกหันมาใช้ Renewable Energy แล้ว 13% ดร.บัณฑูรกล่าวว่า “หลังจากนี้จะไม่ใช่พลังงานทางเลือก แต่จะเป็นพลังงานทางรอด เพราะถ้าไม่เลือกก็จะไม่รอดแน่นอน”

อุตสาหกรรมพลังงาน นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุด นับเป็นสัดส่วนทั้งโลกจะอยู่ที่ประมาณ 70% และในประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกันนัก ดร.บัณฑูรกล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานในไทยก็ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในประเทศอยู่ที่ 71%

การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งต้องเป็นเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่านี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง

อาจารย์กล่าวต่อว่า ในการมองภาพรวมในการพูดคุยเรื่องโลกร้อน เราดูเฉพาะเวที COP อย่างเดียวไม่เพียงพอ เรื่องนี้เกี่ยวโยงกันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงภาคธุรกิจ ที่ส่งผลต่อทิศทางการตระหนักถึงปัญหานี้สู่ประชาชน ดร.บัณฑูร ฉายภาพให้เราเห็นไว้เป็น 6 ระดับ Global, Regional, Bilateral, National, Sub-National และ Business

“เวที COP เป็นระดับของ Global เราจะเห็นว่าเป็นการประชุมระดับโลกที่ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อนที่เปลี่ยนไป ในขณะเดียว เวทีภูมิภาค EU ในระดับ Regional ก็มีส่วนสำคัญที่บรรเทาของอุตสาหกรรมในภูมิภาค ท้ายที่สุดมันจะตกลงมาสู่ภาพเล็กอย่างธุรกิจทั่วไป ยกตัวอย่างกลุ่ม RE 100 Thailand Club ภาคธุรกิจก็จะให้ความสำคัญมากขึ้น และต้องไปพร้อมกัน”

ดร.บัณฑูรกล่าวเสริมว่า หากเราไปดูที่ประเทศในแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเอง เราจะพบว่าประเทศเหล่านี้สามารถจัดการการปล่อยคาร์บอนในประเทศตัวเองได้ดี เพราะเกิดจากการร่วมมือตั้งแต่ภาครัฐมาจนถึงภาคธุรกิจอย่างเคร่งครัด

รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “จากรายงานของ IPCC ตั้งแต่ฉบับที่ 6 เป็นต้นมา มันชัดเจนมากขึ้น เพราะมันปรากฎให้เราเห็นกันจริง ๆ ที่ผ่านมายังไม่เป็นถึงขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้มันแน่นอนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ”

ดังเช่นที่เลขาธิการสหประชาชาติ อังตอนียู กูแตรึช กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021 ว่า ‘Code red for humanity’ และในเวที COP27 เองก็ได้ชัดเจนมากขึ้นจนเป็นคำพูดที่ว่า ‘Highway to Climate hell’

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยเราเอง แต่ละหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันนี้ จะนำไปสู่แผน SDGs ที่จะประเมินผลต่าง ๆ แต่หลังจากนี้แผน SDGs จะกลายเป็นเรื่องเก่า ในอีกปี 8 ข้างหน้า ซึ่งจะครบถึงปี 2030 ที่เราจะต้องบรรลุผลให้ลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ สิ่งที่เราจะต้องรับมือจะไม่ใช่ Climate เหมือนอย่างเคย แต่จะเป็น Changing Climate และแผนที่จะเกิดขึ้นคือ CRDP(Climate Resilient Development Pathways)

“ถึงเราจะมีการบรรเทาเพื่อจะไม่ไปถึง 2 องศา แต่สหประชาชาติก็ได้ออกมาแจ้งแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไร โลกก็จะไปถึงจุดนั้นอยู่ดี สำคัญที่ว่า เราจะอยู่ร่วมกับมันและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรต่างหาก”

ย้อนกลับไปเมื่อเวที COP27 ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่พูดคุยกันในวงกว้าง คือการที่ประเทศร่ำรวย ต้องบริจาคเงินเข้ากองทุน Loss and Damage ให้กับประเทศที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งกล่าวกันว่ามีต้นเหตุจากประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาวะโลกรวนจากอุตสาหกรรมในยุคแรก

แล้วเม็ดเงินที่ประเทศร่ำรวยจะจ่ายเข้ากองทุนนี้ สามารถช่วยเหลือได้จริงหรือ เพราะนอกจากโลกร้อน ภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวนยังส่งผลถึงผู้คนในมิติอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรให้ทางออกนี้ไปพบเจอกันที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา

เจอ จ่าย (ไม่)จบ?

เพื่อความยุติธรรม ค่าชดเชย กลายเป็นข้อเรียกร้องของประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็น กลุ่มประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกว่าครึ่งโลก นับตั้งแต่มีการปล่อยคาร์บอน

ประเทศร่ำรวยตามนิยามของ UN คือ  23 ประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก ต้องร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอีกกว่า 150 ประเทศ ต้องร่วมกันรับผิดชอบคาร์บอนอีกครึ่งที่เหลือ

หากดูตัวเลขโดยประมาณจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 290 – 580 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 10.3 – 20.6 ล้านล้านบาท)

แต่ในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยสัญญาว่า จะมอบเงินปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 1.425 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว โดยทาง UN ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่า 1 ใน 5 ของเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเสียอีก

วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการบริหาร Climate Watch ก็ได้กล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่ม Loss and Damage ทั้งหมด ตัวเลขที่จะจ่ายจริงอย่างไรก็ไม่พอ

ในฐานะภาคประชาสังคม ที่ได้เข้าสังเกตุการณ์เวที COP27 กล่าวเปิดบทสนทนาว่า ประเทศอียิปต์เป็นเจ้าภาพได้ดีในการจัดการเวที COP ครั้งที่27 แต่ถ้าเอาเฉพาะในแง่ของการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ถือว่าทำได้แย่ทีเดียว เพราะมีการจำกัดสิทธิภาคประชาสังคมค่อนข้างเยอะ ไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ จนสุดท้ายต้องต่อรองกันได้แค่ให้แสดงออกแค่ในพื้นที่การจัดงาน COP

มีการตั้งคำถามว่าบทบาทภาคประชาสังคมต่อเวที COP ในรอบนี้มีแค่ไหน เพราะต่อให้ไป แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปในวงประชุมได้ “ครั้งนี้เราได้คุยกับรัฐบาลหลายประเทศ เพราะทั้งเรื่องชนกลุ่มน้อย และเรื่องพี่น้องชาติพันธ์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศล้วนอยู่ในมือเรา” เพราะต้องการบอกว่าประเทศเล็ก ๆ อย่างหมู่เกาะ ที่ไม่ได้มีผลต่อการก่อภาวะโลกร้อน แต่พวกเขาได้รับผลกระทบเต็ม ๆ พวกเขาต้องได้รับการชดเชย

“ครั้งนี้เราเห็นความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พยายามที่ทำลายระบบการจ่ายเงิน” นั้นหมายความว่ากองทุน Climate Finance ที่จะเกิดขึ้นในเวที COP27 ถูกดึงเวลาออกไป เหลือเป็นเพียงแค่การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการกำกับดูแลกองทุน 

ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้มีส่วนอย่างมากที่สุดต่อการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

วนันย้ำชัดว่า เงินในวันนี้จากประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่เงินบริจาค แต่คือการจ่ายหนี้ที่เกิดจากการก่อกิจกรรมในอดีตเพราะคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ซึ่งก่อเป็นภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งกับผู้หญิง สัตว์ การเกษตร ซึ่งเป็นมิติทางเศรษฐกิจที่ต้องการการลงมือที่จริงใจกว่านี้ หากต้องการจะแก้ไขและรับผิดชอบ

ด้าน นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กล่าวว่า ในด้านของการจัดการกองทุน ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็ได้มีการจัดทำกองทุนประเภทนี้มาแล้ว เช่น Green Climate Fund เป็นต้น แต่ในแง่ของกระบวนการเยียวยา ยังไม่สัมฤทธิ์ผลมากนัก ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมที่ปากีสถาน เงินในการเยียวยาซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Loss and Damage ก็ถือว่าคำนวณได้ยาก

ผู้บรรยายทั้ง 2 คน ได้กล่าวถึงทิศทางอีกกระแสหนึ่งของประเทศที่ถูกมองว่าปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ทั้งประเทศจีนและประเทศอินเดีย

แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ถือว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กล่าวคือ เป็นประเทศที่บุกเบิกในช่วงเวลาไม่นานมานี้ อย่างประเทศจีนก็นับตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ G77+China ไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศ G20 เหมือนประเทศโซนตะวันตก

ในขณะเดียวกัน นารีรัตน์กล่าวเสริมว่า จีนและอินเดียเอง ก็ไม่อยากถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเป็นฝ่ายบริจาคเงินเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าตนก็พึ่งมาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่นานเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น

ประเทศไทย ทุกวันนี้ทั้งรับศึกในและศึกนอก ในการจัดการปัญหาโลกร้อน และอย่างที่เราเห็น ภัยพิบัติ น้ำท่วม อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที สัญญานเตือนเหล่านี้กำลังบอกเราว่าประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นทั่วโลก อุปสรรคในการแก้ปัญหาของไทยคืออะไร เราทำอะไรไปแล้วบ้างและเราสามารถไปถึงแผนที่วางไว้ได้หรือไม่

นโยบาย ‘ไม่พอ’ ให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

“เรากำลังเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และตลอดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา จากที่นายกรัฐมนตรีไปพูดในเวที COP26 จนวันนี้เดินทางมาถึง COP27 ประเทศไทยพยายามทำให้เห็นว่าเรากำลังเดินอยู่ในทางที่ถูกต้อง อย่างเช่นการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030” นารีรัตน์ กล่าวถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยในเวที COP27

วันนี้ประเทศไทยได้ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาว อย่างการเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ลดการปล่อยก๊าซจากภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มการรีไซเคิลให้มากขึ้น

อีกหนึ่งอย่างที่เพิ่มเข้ามาคือการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก คือการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติที่ดีที่สุด และแทบไม่ต้องลงทุน และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ประเทศไทยได้ตัดสินใจร่วมปฏิญญากลาสโกว์ด้านการใช้ที่ดินและป่าไม้

ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลและสนับสนุนด้านนี้อย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดร.ณัฐริกา วายุภาพ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) อธิบายว่า บทบาทของ อบก. คือการช่วยภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเข้าไปสู่เป้าหมาย และอุทิศให้กับเป้าหมายจัดการปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศระดับโลก

ดร.ณัฐริกาเล่าว่า การดำเนินงานของ อบก. นั้น มุ่งเน้นที่จะสร้างความรู้และความร่วมมือในการลดโลกร้อนทั้งเอกชนเจ้าเล็กและเจ้าใหญ่ ปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมอยู่ 300 กว่าราย รวมถึงมีหน่วยงานเทศบาล ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกลุ่มชาวบ้าน ถึง 40-50 เทศบาลทั่วประเทศ

ในขณะที่งาน APEC 2022 กล่าวว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเหล่านี้ คือการฟอกเขียว ไม่ได้ทำให้เกิดการลดโลกร้อนจริงแต่อย่างใด เช่นนี้ แล้วไทยจะสามารถบรรลุผลได้จริงหรือไม่

“ฟอกเขียวคือการที่คุณทำแล้วมันไม่เกิดขึ้นจริง คุณโม้อย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นมันไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าทำแล้วมันมีประโยชน์ สามารถตรวจสอบ สามารถที่จะรับรองได้ ทำไปเถอะ” ดร.ณัฐริกา กล่าว ก่อนเสริมว่า เป้าหมายข้างหน้านั้นยิ่งใหญ่ และเราก็ต่างอยู่ในเรือลำเดียวกัน ดังนั้นทุกการมีส่วนร่วมย่อมสำคัญไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

นอกจากนี้ ดร.ณัฐริกา ยังอธิบายอีกว่า การซื้อขาย Carbon Credit ของประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Carbon Credit ของไทยเป็นการทำผ่านการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ในยุโรปเป็นการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กฎหมายที่ควบคุมไว้อีกที

หากพูดถึงหลักการออกแบบนโยบาย สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ดร.สิริภา จุลกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงาน สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ต้องเริ่มจากการประมวลผลว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากที่ใดบ้าง ซึ่งอาจเป็นจากการคมนาคมขนส่ง ภาคผลิตไฟฟ้า หรือภาคอุสหากรรม พร้อมพิจารณาว่าเทคโนโลยีใดสามารถลดปริมาณก๊าซเหล่านั้นได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของการลดจำนวนก๊าซเรือนกระจกในอากาศไม่ใช่การเปลี่ยนเทคโนโลยี หากแต่เป็นการ ‘เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน’

“ไม่ว่าจะเป็นพลังงานฟอสซิล พลังงานสะอาด พลังงานโซลาร์ ทรัพยากรเหล่านี้มีจำกัด เราจึงต้องใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีคุณค่าที่สุด”

“ในปี 2022 ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อทำการศึกษาเส้นทางลดคาร์บอนในภาคพลังงาน และกำหนดเป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว พร้อมนโยบายและมาตรการที่ต้องทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 แต่หลังแผนและนโยบายปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถทำได้ แต่ที่เรามีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ”

โดยเส้นทางที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ต้องอาศัยการลดคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น ในภาคการผลิตไฟฟ้า ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในภาคอุตสาหกรรม เน้นการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานประสิทธิภาพสูง ในขณะที่ในภาคขนส่ง ให้เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนสำหรับขนส่งสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว

ซึ่งหากเราสามารถทำตามแผนที่นำเสนอในการศึกษานี้ได้ ประเทศไทยจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายโดยที่ไม่ทำให้ต้นทุนภาคการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งยังได้ประโยชน์อื่นรวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การจ้างงาน และเศรษฐกิจการค้าของประเทศอีกด้วย

รศ.ดร.เสรี ได้กล่าวเน้นย้ำช่วงท้าย หากต้องการให้ไทยบรรลุผลและรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเราต้องถอดรื้อระบบโครงสร้างราชการไทย

“เรามีขาที่ดูแลหน่วยต่าง ๆ อยู่ครบ แต่ปัญหาคือเราไม่เคยเจอกัน มันเหมือนกับเราต่างคนต่างทำ ซึ่งเรื่องนี้เราควรมาพิจารณากันให้ชัด ว่าเราควรปรับตัวกันอย่างไร เราจะบรรเทากันอย่างไร”

สิ่งเหล่านี้จะดำเนินให้ประเทศไทย สามารถรับมือกับภาวะโลกรวนที่กำลังทวีคูณหนักขึ้น รวมถึงปรับตัวตามทิศทางโลก โดยเฉพาะท้องถิ่นของประเทศไทย ที่จะต้องรับมือกับหน้างานอย่างแท้จริง อย่างที่น้ำท่วมมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน หากวันนี้รัฐยังไม่จับมือและทำงานกันคนละทิศคนละทาง ในปีหน้าเราอาจจะต้องทุบสถิติภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ มากที่สุดอีกครั้ง

การประกาศเจตนารมณ์ของนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยในเวที COP27 อาจเป็นสัญญานบอกว่าเรามาถูกทาง แต่การกระทำลงมือจริงหลังจากนี้ต่างหาก ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของประเทศไทย คือสิ่งที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า 2 องศาฯ จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด คือเราหาวิธีที่จะอยู่ร่วมและหาทางแก้ไขกันต่อไป

โดยในเวที COP28 ซึ่งจะจัดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีหน้า คำประกาศสัญญาของนานาประเทศ และแผนระยะสั้นของประเทศไทย ที่จะลดคาร์บอนให้ได้ 40% ในอีก 8 ปีข้างหน้า ทั้งหมดทั้งมวลจะบรรลุผลหรือไม่ 

แต่ 8 ปีที่ว่า อาจเป็นนาฬิกาทราย ที่ก่อนเวลาจะหมดลงอาจเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้นทุกวินาที

รับฟังวงเสวนาย้อนหลังได้ที่ จากกลาสโกลว์ถึงอียิปต์, นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลก