'ผ้าอนามัย' ปราการสุดท้ายแห่งความเท่าเทียม - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

การเรียกร้องสิทธิสตรีไม่ได้เกิดขึ้นจากการรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้าใจในสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเพศชายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ผู้หญิงตระหนักในความสามารถที่มีเท่าเทียมกันด้วย

ก่อนนั้นผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงให้โตขึ้นเป็นแม่บ้าน เป็นเมีย เป็นแม่ ทำหน้าที่ดูแลบ้านให้สามีและเลี้ยงดูลูก ๆ โดยผู้ชายเป็นฝ่ายดูแลหาเลี้ยง และนั่นก็ทำให้ผู้ชายถืออำนาจสิทธิ์ขาดในครอบครัวและสังคมไปโดยปริยาย

จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ผู้ชายจำนวนมากต้องไปรบในสงคราม ทิ้งผู้หญิงกับเด็ก ๆ ให้อยู่กันเอง ผู้หญิงนอกจากทำงานบ้าน ยังต้องทำงานในไร่นาและฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อสร้างเสบียงเลี้ยงดูครอบครัว  รวมทั้งหาเลี้ยงทหารในแนวหน้า ยิ่งกว่านั้นในยามสงครามคุกรุ่นรุนแรงก็ยังต้องทำงานใช้แรงงานหนักที่เคยเป็นงานของผู้ชายเท่านั้น อย่างสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในโรงงานเพื่อสนับสนุนการสู้รบด้วย

ล่วงมาหลังสงคราม ผู้ชายจำนวนมากเสียชีวิตไปในสงคราม หรือไม่ก็กลับคืนสู่มาตุภูมิในสภาพทุพพลภาพ  ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากจึงต้องกลายเป็นเสาหลักในการทำงานหาเลี้ยงดูแลครอบครัวไปอย่างถาวร รวมทั้งถูกผลักดันเข้าไปเป็นกำลังผลิตหลักในโรงงานและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประคับประคองชาติไม่ให้ล่มสลายในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงคราม

ความสามารถที่ผู้หญิงถูกผลักให้ต้องรับภาระนั่นแอง ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักในความสามารถที่เท่าเทียม และก่อเกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี

พอมาถึงช่วงที่เด็ก ๆ โตพอจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในทศวรรษที่ 50s ก็จึงเริ่มการรณรงค์เรียกร้องสิทธิสตรีอย่างจริงจัง เริ่มจากสิทธิ์ของเด็กหญิงในการได้รับการศึกษาขั้นสูงเพื่อจะมีความรู้ มากกว่าแค่ฝึกทักษะงาน  อย่างงานทำความสะอาด พยาบาล ครู และงานเลขานุการที่เป็นงานจัดไว้เป็นงานเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างแต่ก่อน ยิ่งกว่านั้นยังมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงสามารถเลือกเรียนได้ทุกวิชาที่เคยสงวนไว้สำหรับผู้ชาย อย่างงานด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การแพทย์ ฯลฯ ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีอาชีพที่หลากหลายและเท่าเทียมผู้ชาย

การมีความรู้และทำงานนอกบ้านยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสเลือกคู่เอง แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกเลือกด้วย รวมทั้งยังเลือกได้ว่าต้องการมีคู่หรือไม่ เนื่องจากในเวลานั้นผู้หญิงหลายคนต้องละทิ้งงานและโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพไปเป็นแม่บ้านเต็มตัวหลังแต่งงาน

และแม้จะยังอีกนานกว่าจะมาถึงการรณรงค์เรียกร้องค่าแรงที่เท่าเทียม และสิทธิ์สตรีด้านอื่น ๆ แต่จะเห็นว่าการแสดงความสามารถและตระหนักในความสามารถต่างหาก ที่เป็นตัวผลักดันให้ผู้หญิงเข้าใจในความเท่าเทียม และลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ์ของตน

อีกเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิสตรี คือการมาของการคุมกำเนิดต่าง ๆ ทั้งยาเม็ด  ห่วงคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ฯลฯ ในช่วงทศวรรษที่ 60s  ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเลือกได้ ที่จะเป็นแม่ซึ่งต้องเป็นแม่บ้านและดูแลลูก ๆ หรือทำงานอื่น ๆได้ และเลือกมีลูกในเวลาที่พร้อม

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นใจไม่แพ้กัน และไม่ได้รับการยกย่องในฐานะนวัตกรรมเปลี่ยนโลกแต่อย่างใดทั้งที่มีความสำคัญอย่างมาก คือผ้าอนามัย การคิดค้นผ้าอนามัยทำให้เด็กผู้หญิงทุกคนสามารถไปโรงเรียนได้ทุกวัน และผู้หญิงทุกคนสามารถทำงานได้ทุกวัน ซึ่งในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น  เด็กหญิงหลายคนต้องขาดเรียนและผู้หญิงหลายคนไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานได้ในช่วงเวลานั้นของเดือน สืบเนื่องมาจากความเลอะเทอะและไม่สะดวกของการมีรอบเดือน

ในแง่นี้ การคิดค้นผ้าอนามัยแบบสอดที่ทำให้ผู้หญิงคล่องตัวและสามารถใช้ชีวิตปกติกระทั่งว่ายน้ำได้ ก็ถือเป็นนวัตกรรมปลดแอกขั้นสุดก็ว่าได้ แม้หลายสิบปีผ่าน ด้วยเงื่อนไขและค่านิยมหลาย ๆ อย่างจะทำให้มันไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรก็ตาม กระนั้น แม้จะเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง  แต่ก็ผ้าอนามัยแบบสอดยังประกาศว่า ไม่มีข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่อีกต่อไป

ที่พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเหมือนจะผ่านตาว่าทาง กทม.เองก็มีนโยบายผ้าอนามัยฟรีสำหรับโรงเรียนในสังกัด ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ ดีมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้เห็นข่าวอีก  ไม่แน่ใจว่าเริ่มทำหรือยัง หรือว่าทำแล้วแล้วผลตอบรับหรือปัญหามีอะไรบ้าง

จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ซึ่งก็มีผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งทำจากเยื่อกระดาษออกมาใช้แล้ว ก็ยังมีเพื่อนหลาย ๆ คนที่ไม่มาโรงเรียนในช่วงนั้นของเดือน เนื่องจากที่บ้านยากจนและไม่สามารถจ่ายซื้อผ้าอนามัยใช้ไหว และยังได้ยินว่าผู้หญิงฐานะยากจนจำนวนมากต้องสละรายได้รายวันในระหว่างมีรอบเดือน เนื่องจากไม่สามารถจ่ายซื้อผ้าอนามัยใช้ออกมาทำงานด้วย

แม้จะเป็นปราการด่านสุดท้ายแห่งความเท่าเทียมก็ยังมีผู้หญิงมากมายไม่สามารถฝ่าข้ามไปได้ 

หนึ่งในนโยบายที่น่าตื่นใจของเพื่อไทยก่อนเลือกตั้งคือแจกผ้าอนามัยฟรี ซึ่งเป็นนโยบายของอาจารย์ชานันท์  ยอดหงษ์ที่น่าสนใจมาก ด้วยตัวเลขของเม็ดเงินที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องจ่ายซื้อผ้าอนามัยตลอดชั่วอายุขัยกว่าสองแสนบาท ผ้าอนามัยนับได้เป็นความไม่เท่าเทียมที่มีราคาแพงน่ากลัวมาก

ส่วนตัวชื่นชอบนโยบายนี้อยู่ไม่น้อย และคิดว่าน่าจะเป็นนโยบายที่สนับสนุนเสียงให้เพื่อไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยการเป็นพรรคเองที่มีแคนดิเดทนายกฯ เป็นผู้หญิง การมีนโยบายที่ดีบรรเจิดเพื่อผู้หญิง นโยบายที่เข้าใจปัญหาประชากรผู้หญิง และอย่างที่บอก ยังสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิสตรีอีกต่างหาก นับว่าน่าสนใจมากสำหรับพรรคการเมือง 

แต่ไม่รู้ยังไง พอมาช่วงใกล้เลือกตั้งก็ไม่เห็นโพรโมทตีเกราะเคาะไม้เรื่องนี้อีก ไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่ในนโยบายหรือไม่ด้วยซ้ำ จู่ ๆ ก็หายไป ซึ่งเป็นอะไรน่าเสียดายมาก สตรีจะมีสิทธิ์เท่าเทียมแท้จริงก็ต่อเมื่อรู้จักศักยภาพของตัวเอง มีโอกาสได้ใช้ความสามารถ ได้ตระหนักในความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ชายและตอนนั้นที่พวกเธอจะไม่ยอมจำนน