ประตูมีกลอน คนคอนมีเปลี่ยนขั้วหม้าย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในทางการเมืองแล้ว ภาคใต้ถือเป็นด่านสำคัญที่หลายพรรคการเมืองอยากพิชิตให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็คว้าน้ำเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า พรรคประชาธิปัตย์ครองเสียงข้างมากในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ดังที่มีวลียอดฮิตประจำพรรค “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ”

แม้การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์จะเสียที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้ไปมากกว่าครึ่ง ด้วยการรุกหนักจากพรรคพลังประชารัฐ ตามติดมาด้วยพรรคภูมิใจไทย กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้ ส.ส. 22 จาก 50 ที่นั่ง มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพรรค

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงอาการ “รักใครรักจริง” ของคนใต้ส่วนใหญ่ แม้จะมีพรรคใหม่สอดแทรกเข้ามา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังถือเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ในใจเสมอ แต่หากพรรคใหม่มีอุดมการณ์การเมืองไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขาก็พร้อมจะเปิดใจ พรรคพลังประชารัฐหน้าใหม่ที่ชูนายกฯ คนเก่าจึงได้เป็นอันดับ 2

เพราะอย่างนี้ การเลือกตั้ง 2562 จึงไม่เห็นพรรคฝ่ายค้านในตอนนี้ เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล ฯลฯ ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ได้ มีเพียงพรรคประชาชาติที่มีฐานเสียงมั่นคงทางจังหวัดชายแดนใต้ที่เกาะอยู่อันดับ 4

การเลือกตั้ง 2566 นี้น่าสนใจว่า คะแนนเสียงในภาคใต้จะออกมาหน้าตาอย่างไร การบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาจะมีผลต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน

De/code มีโอกาสได้ลงพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชวนคนในพื้นที่ต่างอาชีพต่างวัยมาสนทนากันถึงเรื่องการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่บรรยากาศดุเด็ดเผ็ดร้อนไม่แพ้รสชาติแกงใต้ แต่ต้องออกตัวก่อนว่า บทความนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างบางความเห็นมาเท่านั้น เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ที่มีมุมมองแตกต่างกัน ไม่ใช่ความเห็นโดยรวมทั้งหมด และไม่ใช่ดัชนีชี้วัดผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ไม่ชนะเสมอไป เลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา เชียรใหญ่หรือใครใหญ่

หากย้อนดูข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา (ไม่นับปี 2549 และ 2557 ที่เป็นโมฆะ) จะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ครองอันดับ 1 ในพื้นที่มากถึง 3 ครั้ง และคะแนนยังทิ้งคู่แข่งแบบขาดลอย

เริ่มจากปี 2548 การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย ก่อนจะถูกรัฐประหารในเดือนกันยายนปีถัดมา แต่ในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ พรรคไทยรักไทยที่ส่งบุญเรือง วุฒิวงศ์ มาชิงชัยกลับได้เพียง 9,030 คะแนน รั้งอันดับ 3 ขณะที่อภิชาต การิกาญจน์ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากถึง 41,141 คะแนน ส่วนอันดับ 2 ตกเป็นของประกอบ คงพรหม จากพรรคมหาชน 10,602 คะแนน

ปี 2550 อำเภอเชียรใหญ่ถูกกำหนดให้มีจำนวน ส.ส.ในเขต 2 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ก็เรียกได้ว่าเหมาหมดทั้ง 2 ที่นั่ง โดยวิทยา แก้วภราดัย ได้ 98,429 คะแนน และอภิชาต การิกาญจน์ แชมป์เก่า ได้ 84,796 คะแนน ขณะที่อันดับ 2 ตกเป็นของสุธี จันทร์เอียด จากพรรคประชากรไทย 10,454 คะแนน ส่วนสมบูรณ์ เกตุแก้ว จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งตั้งมาแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปนั้นได้เพียง 5,574 คะแนน รั้งห่างถึงอันดับ 8

การเลือกตั้งปี 2554 วิทยา แก้วภราดัย ได้แชมป์อีกสมัยด้วยคะแนนเสียง 61,342 คะแนน ขณะที่อันดับ 2 ตกเป็นของพรชัย บุญรอดรักษ์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา 6,905 คะแนน ส่วนสมศักดิ์ เลิศไพบูลย์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งตั้งมาแทนพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไป(อีกครั้ง) ได้เพียง 2,505 คะแนน รั้งอันดับ 4

ถ้าตั้งข้อสังเกต การเลือกตั้งทั้ง 3 ครั้ง “พรรคเครือข่ายตระกูลชินวัตร” (ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย) ได้รับชัยชนะเป็นรัฐบาลตลอด แต่เฉพาะในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

นั่นแสดงให้เห็นว่า การเป็นรัฐบาลของพรรคเครือข่ายตระกูลชินวัตรอาจไม่มีนโยบายที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่นี้มากพอ หรืออาจเป็นเพราะความหวาดกลัวภัยระบอบทักษิณที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงการชุมนุมพันธมิตรฯ (ปี 2548-2549) หรือศรัทธาที่คนในพื้นที่มอบให้พรรคประชาธิปัตย์ใหญ่เกินกว่าที่พรรคใดจะมาสั่นคลอนได้

แต่ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” ในการเลือกตั้ง 2562 ครั้งแรกภายหลังรัฐประหาร 2557 ครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ขอบฟ้าสูงสุดของอำเภอเชียรใหญ่อีกต่อไป เมื่อพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ให้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่ออีกสมัย ส่งสัณหพจน์ สุขศรีเมือง มาชิงชัย ได้คะแนนเสียงไปทั้งสิ้น 34,613 คะแนน เหนือวิทยา แก้วภราดัย แชมป์เก่าที่ได้ 28,181 คะแนน

ข้ามมาดูที่อีกฝั่ง พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงเขตนี้ในการเลือกตั้ง 2562 ส่วนพรรคไทยรักษาชาติก็อย่างที่ทราบกันดีว่าถูกยุบแบบ “ฟ้าผ่า” ก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก เหลือเพียงพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งทวิวัส เหลี่ยมดี แต่กระแสการเมืองใหม่ก็สู้ไม่ได้ ทำให้ได้ไปเพียง 7,112 คะแนน รั้งอันดับ 5 ในแง่นี้ บรรยากาศผลการเลือกตั้งไม่ต่างอะไรนักจากเมื่อครั้งพรรคเครือข่ายตระกูลชินวัตรส่งคนมาแข่งขัน

สาเหตุอะไรที่ทำให้ชาวเชียรใหญ่เทคะแนนเสียงไปให้พรรคพลังประชารัฐ? หากดูที่อุดมการณ์การเมือง พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” คนในพลังประชารัฐตอนนั้นมีทั้งคนในเครือข่ายคณะรัฐประหาร คสช. อดีต กปปส. รวมถึงคนหน้าเก่าจากพรรคประชาธิปัตย์

นี่ยังไม่นับว่า การที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกฯ ประชาธิปัตย์ตอนนั้นประกาศไม่เอาพลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ขนาดไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า พลเอก ประยุทธ์ในปี 2557 เสมือนอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาสร้างความสงบสุขให้แก่ประเทศไทย อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร

หากลองอ่านบทความเรื่อง ‘คนดี’ ในสายตาพี่บ่าว ถอดรหัสวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้ ของภาวิณี คงฤทธิ์ ก็จะทราบว่า ความนิยมชมชอบ “คนดี” อยู่คู่กับวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้มายาวนาน พรรคการเมืองที่อยากกลับมายึดที่นั่ง อาจจะต้องทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่า พรรคนั้นเป็นตัวแทนของคนดีในการเมืองได้จริง ๆ

คนดีมีคุณธรรมกับระบบดี มีกลไกตรวจสอบ

“ต้องเลือก ส.ส.ที่เป็นคนดี ช่วยเหลือชาวบ้าน นักการเมืองผี ๆ จะเอามาทำไหร พรรค์นั้นอย่าไปเลือกดีหวา”

เท่า(นามสมมติ) วัย 41 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว ตอบอย่างหนักแน่นตั้งแต่ยังไม่ทันได้ถามว่า จะเลือก ส.ส.ที่มีคุณสมบัติแบบไหน “ส.ส.คนดี” สำหรับเท่า ต้องทำการเมืองสุจริต ไม่โกงชาติโกงแผ่นดิน ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ และไม่ไปเป็นพวกเดียวกันกับพรรคการเมืองที่ทำลายชาติ

จากคำให้สัมภาษณ์ของเท่า นิยาม ส.ส.คนดี ผูกติดกับแนวคิดชาตินิยมมากพอสมควร เชื่อในตัวบุคคลเป็นหลัก ทำนองเดียวกันกับชม (นามสมมติ) เจ้าของที่นาขนาดย่อม วัย 54 ปี เธอเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นได้ เพราะมีคนดีได้เข้าสภา

“ส.ส.ที่คนบ้านเราเลือกเข้าไปหลายคนเป็นคนดีทั้งเพ เอางบมาลงพื้นที่ก็มาก แต่บางทีการเมืองมันไม่ไปไหน เพราะมีคนเลือก ส.ส.ไม่ดีลุยไปเหม็ด พอมี ส.ส.พรรค์นี้ชาติถึงได้ไม่เจริญ”

ทว่าก็มีคนที่มองต่างออกไปอย่างยอด(นามสมมติ) เจ้าของร้านขายของชำ วัย 62 ปี จากประสบการณ์ที่ตามการเมืองมาหลายสิบปี ทำให้เขาไม่เชื่อเรื่องคนดีในการเมือง

“นักการเมืองดีแบบบริสุทธิ์มีที่ไหน ทุกคนมันก็พร้อมจะขี้ฉ้อได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อเรื่องนักการเมืองดีมาก ตอนเลือกตั้งเราก็เลือกคนที่มีนโยบายดี ๆ ให้ประโยชน์เราได้มากสุดก็พอ”

ดูเหมือนยอดจะพยายามให้ถอยออกมาจากเรื่องคนดีแล้วโฟกัสที่นโยบาย ซึ่งลิน(นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน วัย 28 ปี เธอมีภูมิลำเนาอยู่ที่นี่ แต่เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็พยายามถอยจากเรื่องคนดีเช่นกัน แต่สิ่งที่เธอโฟกัสคือ การมองเรื่องของระบบมากกว่าตัวบุคคล

“คือถ้าระบบการเมืองดี ส.ส.ทุกคนที่ได้รับเลือกเข้าไปก็จะอยู่ภายใต้ระบบนั้น ซึ่งจะป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น หรือปัญหาอะไรอีกหลายอย่างที่หลายคนกลัว เพราะมันมีกลไกตรวจสอบ ถ้าแก้แค่ที่การเปลี่ยนตัวบุคคล ยังไงก็จะไม่ยั่งยืน”

ตัดเกรดรัฐบาลประยุทธ์ 2

การกลับมาของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ รอบ 2 ในช่วงปี 2562-2566 ได้พยายามสลัดภาพ “รัฐบาลคณะรัฐประหาร” ออกไป แล้วพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ อย่างที่รัฐบาลพลเรือนมักจะทำ ภายใต้องคาพยพหลายพรรคการเมืองที่เข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกัน

เมื่อให้ชมลองตัดเกรดรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์รอบนี้ เธอยังคงให้คะแนนเต็ม ด้วยเหตุผลว่า พลเอก ประยุทธ์ยังจัดการบ้านเมืองได้สงบเรียบร้อยดี แม้จะมีม็อบคนรุ่นใหม่เข้ามาทำให้วุ่นวาย แต่สุดท้ายก็สามารถจัดการได้ และที่สำคัญ นโยบายประเภท “แจกเงิน” เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ นั้นตอบโจทย์

“นโยบายนายกฯ เขาดี ให้ตังค์ประชาชนใช้เยอะ อย่างคนละครึ่ง บัตรคนจน พวกนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนเหม็ด ช่วยเหลือกันในช่วงยากลำบาก อยากให้นายกฯ อยู่ต่อ นโยบายดี ๆ แบบนี้จะได้ไม่ถูกยกเลิก”

แต่เมื่อถามยอดกลับได้คำตอบต่างออกไป ในฐานะคนทำมาค้าขายจะรู้ดีว่า ตลอดช่วงที่รัฐบาลนี้มีอำนาจ เศรษฐกิจตกต่ำขนาดไหน การที่พลเอก ประยุทธ์มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

“เขาเป็นทหารมาทั้งชีวิตจะมารู้เรื่องเศรษฐกิจได้พรือ เราน่าจะรู้กันดีว่าเศรษฐกิจมันแย่ขนาดไหน ไปถามพี่น้องที่ขายของที่อื่น ทำงานที่อื่น เขาก็ตอบเหมือนกัน แจกตังค์อย่างเดียวไม่ช่วยให้คนอยู่ดีกินดีขึ้น มันต้องแก้ปัญหาให้ถูก ให้เป็นระบบ”

ยิ่งพอได้ฟังคำตอบของลิน คำตอบที่ว่ารัฐบาลนี้ดีอยู่แล้วก็ยิ่งห่างไกล เนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจมา จึงไม่มีความชอบธรรมแต่แรก และไม่มีประโยชน์ที่จะตัดเกรดรัฐบาลนี้

“เขาไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรกแล้ว แต่ก็ยังดันอยู่ต่อ แล้วอะไร ๆ ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งเรื่องในสภา การทุจริต ทหารตำรวจก็มีปัญหาให้เห็นตลอด แถมยังจับคนไปขังแค่เพราะพวกเขาออกมาชุมนุม ได้แต่หวังว่ารอบหน้าจะไม่มีรัฐบาลประยุทธ์กลับมาอีก”

เท่าให้ความเห็นอย่างประนีประนอม แม้โดยรวมรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์จะมีนโยบายหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ แต่ด้วยมีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมรัฐบาล จึงมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพในการทำงานอยู่บ้าง บางพรรคที่มีนักการเมืองเก่ง ๆ ยังไม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่

“เท่าที่ตามข่าว หลายกระทรวงก็มีผลงานดี ๆ เยอะ กระทรวงพาณิชย์นี่ก็ดี แต่ก็รู้สึกว่า นายกฯ ประยุทธ์ใช้งานข้าราชการมากไป ทำให้นักการเมืองฝีมือดีไม่ค่อยมีตำแหน่ง ไม่ค่อยมีผลงาน อย่างน้อยนักการเมืองก็น่าจะเข้าใจประชาชนมากหวาข้าราชการ โดยเฉพาะนักการเมืองบ้านเรา”

เปลี่ยนใหม่ หรือ ไปต่อ

อีกไม่กี่วันจะถึงการเลือกตั้ง De/code จึงอยากให้ทั้ง 4 คนเปิดใจว่า อยากเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบาย/อุดมการณ์/ลักษณะแบบใด แต่โจทย์ที่ท้าทายคือ ห้ามเอ่ยชื่อพรรค

ความเห็นของยอด ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ มากพอแล้วที่จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหา ส่วนตัวนั้นจะยังคงเลือกพรรคที่มีแนวทางคล้าย ๆ กับสิ่งที่ตนคิดเหมือนที่เคยเป็นมา แม้จะไม่ตรงกับเสียงส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ แต่ก็จะยืนหยัดความคิดนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

“เรามันเสียงส่วนน้อยมาตลอด เพราะเวลาเราเลือกตั้ง เราดูนโยบายพรรคเป็นหลัก มากหวาเลือกเพราะเป็นพี่ใครน้องใคร พรรคที่เราเลือกต้องทำให้ชีวิตเราอยู่ดีกินดี ทำมาค้าขึ้น ซึ่งเราเห็นผลงานกันอยู่แล้ว”

สำหรับลิน พรรคที่ตอบโจทย์ต้องมีวิธีคิดใหม่ ๆ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบจริง ๆ เรื่องนโยบายแรงงานต้องมีสวัสดิการ ปรับอัตราขึ้นเงินเดือน และต้องให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชน

“เราเห็นกันอยู่แล้วว่า การเมืองไทยแบบเก่า ๆ มันย่ำแย่ยังไง คิดว่าถ้าเลือกตั้งทั้งทีก็อยากได้พรรคที่พาการเมืองออกจากแบบเดิม ๆ เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ แม้เสียงในพื้นที่นี้น่าจะเปลี่ยนขั้วได้ยาก แต่ก็ยังไม่เลิกหวัง”

แต่เท่าคิดว่า พรรคเก่าแก่ที่เคยทำนโยบายดี ๆ อยู่แล้วก็อยากให้กลับมาอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องหาพรรคใหม่เข้ามา จึงอยากให้พี่น้องชาวใต้รวมถึงภาคอื่น ๆ สนับสนุนกันมาก ๆ แล้วการเมืองจะกลับมาสุจริต

“เราอยากได้คนดีเข้ามาทำการเมืองแบบสุจริตจริง ๆ พรรคที่เคยดีอยู่แล้วก็ควรจะได้รับโอกาสกลับมา พรรคที่คิดนโยบายดี ๆ เพื่อพวกเรา พรรคที่พาประเทศออกจากวิกฤต พรรคที่ไม่ถูกคนบางคนครอบงำเหมือนพรรคบางพรรค ก็อยากให้เลือก”

หรือจริง ๆ สิ่งเดิมก็อาจจะดีอยู่แล้วเหมือนอย่างที่ชมบอก แม้คนเก่าจะอยู่ได้อีกแค่ 2 ปี แต่เธอก็อยากให้อยู่ต่อ แล้วค่อยหาคนที่ไว้วางใจได้มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต่อไป

“ลองคิดตะว่า ถ้าวันนั้นนายกฯ ไม่เข้ามายึดอำนาจ บ้านเมืองจะเป็นพันพรือ อยากให้ได้อยู่ต่ออีกสักฮิด แล้วคนต่อไปที่เข้ามาแทนก็ต้องเป็นคนดีเหมือนกัน เพื่อไม่ให้พวกนักการเมืองที่จ้องแต่จะทำลายแผ่นดินมีอำนาจได้”

ไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้จะออกมาเป็นยังไง อาจจะมีทั้งคนที่ยังศรัทธาในแนวทางความคิดเดิมและคนที่อยากให้มีทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อออกจากวังวนแบบเก่า แม้จะมีกระแสตามหน้าสื่อว่า การเมืองภาคใต้คราวนี้มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป แต่ถึงที่สุด อำนาจอยู่ที่ปลายปากกาของคนเลือก คะแนนเสียงที่ออกมาจะบอกเราเองว่า เส้นทางการเมืองที่คนใต้ส่วนใหญ่เลือกเดินเป็นแบบใด

14 พฤษภา ไปจรดปากกาในคูหาเลือกตั้ง

อ้างอิง

ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548, 2550, 2554 และ 2562