'คนดี' ในสายตาพี่บ่าว ถอดรหัสวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้ - Decode
Reading Time: 4 minutes

ทำไมต้องถอดรหัส ‘วัฒนธรรมการเมืองภาคใต้’ 

ภาคใต้เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งภาคที่มีวัฒนธรรมการเมืองที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่วัฒนธรรมในร้านน้ำชาตอนเช้าที่จะมีผู้คนมานั่งจิบน้ำชาพร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ต่างจากรสชาติแกงใต้ หรือ จะเป็นการนั่งชมหนังตะลุงที่สอดแทรกปัญหาการเมืองไทยพร้อมจิกกัดด้วยมุกตลกร้ายเรียกได้ว่า ทำเอาแสบๆ คันๆ ได้ทุกไดอะล็อก และเมื่อเราลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า ‘คนใต้’ ซึ่งในบทความนี้หมายถึงผู้คนที่อยู่ใน 11 จังหวัดภาคใต้นับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาจนมาสิ้นสุดที่จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งตัวละครหลักที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงบริบทการเมืองไทยเสมอมา

นอกจากนี้หากเรากลับมามองดูปัจจุบัน ในขณะที่นักศึกษาทั่วประเทศกำลังออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างคึกคัก นักศึกษาใน 11 จังหวัดภาคใต้กลับมีการเคลื่อนไหวที่แผ่วลงหากเทียบกับการเคลื่อนไหว ณ ครั้งที่กลุ่มกปปส. ลุกขึ้นมาชัตดาวน์ประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เอง Decode จึงลงใต้เพื่อไปพูดคุยกับ ผศ. ดร. บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ถึงประเด็นวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้ ปัจจัยใดบ้างที่หล่อหลอมให้คนใต้มีวัฒนธรรมการเมืองนิยม ‘คนดี’ พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยยอดฮิตว่า ทำไมคนใต้ถึงรักพรรคประชาธิปัตย์ และ การพ่ายแพ้ (อย่างยับเยิน) ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสะท้อนอะไรในวันนี้ 

และปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาใต้ถึงยังจุดไม่ติดเสียที 

ไม่รบนาย ไม่หายจน – อัตลักษณ์ของคนใต้ที่ส่งผลต่อการเกิดวัฒนธรรมการเมืองนิยมคนดี

“ผมคิดว่าหลักสำคัญของการเมืองในอุดมคติของคนใต้คือ ต้องการนักการเมืองโดยเฉพาะผู้บริหารประเทศที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นคนดี ไม่ว่าอย่างไรคนดีต้องมาก่อน แล้วอย่างอื่นจะตามมา โดยหากมองในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองก็แน่นอนว่าเป็นในลักษณะอนุรักษ์นิยม” 

“ส่วนปัจจัยอะไรที่ทำให้คนใต้อยากได้นักการเมืองที่เป็นคนดี ผมคิดว่าอาจจะสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีคำพูดติดปากของคนใต้ที่จะชอบพูดกันว่า ไม่รบนาย-ไม่หายจน ซึ่งประโยคที่ว่ามานี้ก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ในเวลานั้น อย่างการมองอำนาจรัฐในเชิงลบ ว่าสิ่งที่รัฐทำส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเขา” 

อ้างอิงเพิ่มเติมจากบทความท้องถิ่นภาคใต้ : การเมืองภาคประชาชน ใน วารสารทักษิณคดี ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (ส.ค.2547) โดย จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า ‘นาย’ และ ที่มาของวรรคทอง ‘ไม่รบนาย-ไม่หายจน’ ไว้อย่างน่าสนใจ 

ในยุคแรกคำว่า ‘นาย’ หมายถึงชนชั้นปกครองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนระดับชาติ แต่ต่อมาความหมายของคำได้เปลี่ยนแปลงไปและมีความหมายเจาะไปที่ ‘ตำรวจและทหาร’ โดยตรง จรูญเสริมว่าคนใต้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อ ‘นาย’ มาเป็นเวลานาน สังเกตได้จากเพลงกล่อมเด็กหรือคำสอนลูกหลาน เช่น “อย่าร้องเดี๋ยวนายจับ” ไปจนถึง วรรคทองอย่าง ‘ไม่รบนาย-ไม่หายจน’ ซึ่งมีจุดกำเนิดอยู่บริเวณพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช-พัทลุง-ตรัง-สตูล และ สงขลา โดยพื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตการต่อสู้ระหว่าง ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับ รัฐส่วนกลาง ซึ่งในท้ายที่สุดได้ทิ้งบาดแผลใหญ่ไว้ให้คนใต้อย่าง ‘เหตุการณ์ถังแดง’ ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนี้ล้วนสะท้อนถึงการต่อต้านอำนาจรัฐของคนใต้ได้เป็นอย่างดี

“ผมมองว่า จากความคิดความเชื่อนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมคนใต้ถึงส่งเสริมลูกหลานให้เรียนหนังสือสูงๆ และเข้าไปอยู่ในระบบราชการ เพราะพวกเขาต่างสัมผัสถึงความรู้สึกในลักษณะนี้ตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันว่า ถ้าคุณไม่มีอำนาจหรือถ้าลูกหลานคุณไม่ได้รับราชการและไม่มีอำนาจในระบบราชการ ผลที่ได้รับคือคุณก็จะถูกรังแก เพราะฉะนั้นเมื่อมันมาถึงเรื่องที่สามารถควบคุมระบบราชการอย่างมิติทางการเมือง วิธีคิดเหล่านี้น่าจะมีส่วนพอควรในการหล่อหลอมให้คนใต้ต้องการเลือกนักการเมืองที่มีลักษณะเป็นคนดีที่จะไม่มาสร้างผลกระทบให้กับเขาได้ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนการเมืองให้เป็นการเมืองที่สามารถแก้ปัญหาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน” 

นอกจากนี้บูฆอรีมองว่า อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ประกอบสร้างวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้ คือพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค อย่าง ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ก็ครองความนิยมในพื้นที่ภาคใต้มานับตั้งแต่นั้น จนถึงขั้นมีการพูดติดตลกกันว่า “ต่อให้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้ามา-คนใต้ก็เลือก” เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อและวิธีคิดทางการเมืองของคนใต้จะเกาะเกี่ยวกับความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีทางการเมืองเช่นไร ก็ย่อมส่งผลให้คนใต้มีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่สอดคล้องไปกับทิศทางของพรรคด้วยเช่นกัน 

จากพรรคกิจสังคม ถึง ชวน หลีกภัย : ว่าด้วยเรื่องทำไมคนใต้ถึงรักพรรคประชาธิปัตย์

ภาพจากเฟซบุ๊กพรรคประชาธิปัตย์

“ในแง่ของการสร้างความนิยมที่พรรคประชาธิปัตย์มีต่อคนใต้ ก็ปรากฏว่ามันมีวาทกรรมที่ทำให้คนใต้เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ของคนใต้มาอย่างยาวนาน ครั้งหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยมีสโลแกนหาเสียงออกมาว่า พรรคของเรา คนของเรา” ซึ่งสโลแกนนี้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคการเมืองนี้มีคนใต้เป็นเจ้าของ เป็นพรรคที่เข้าใจความรู้สึกของคนใต้ต่างจากพรรคการเมืองอื่น ฉะนั้นเมื่อจะเลือกตั้ง เราก็ควรเลือกพรรคที่เป็นของเรา โดยเฉพาะการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นต้นมา การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ ชวน หลีกภัย ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นพรรคการเมืองของคนภาคใต้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาลงไปถึงโครงสร้างองค์กรภายในพรรคก็พบว่ากรรมการบริหารของพรรคอีกหลายคนก็เป็น ส.ส. คนใต้เช่นเดียวกัน”

“พรรคประชาธิปัตย์ใส่วาทกรรมและความคิดเหล่านี้ลงไป นี่ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งในภาคใต้มาอย่างยาวนาน เขาสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นในใจคนใต้ มีลูกศิษย์ผมหลายคนบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ที่ปู่ย่าตายายเขาเลือก ฉะนั้นในฐานะลูกหลานเขาก็ต้องสืบทอดสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่ ข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์สามารถครองความนิยมในหมู่คนใต้ได้เมื่อปีพ.ศ. 2535 ยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ โดยก่อนหน้านั้นก็มีพรรคการเมืองที่มีบทบาทในพื้นที่ภาคใต้อย่างพรรคกิจสังคม สมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ถือได้ว่าเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนใต้”

บูฆอรีเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์สำคัญที่เขามองว่าเป็นเหตุการณ์ที่พลิกความนิยมของคนใต้จากพรรคกิจสังคมไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ เหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดในช่วงการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 

“ในตอนนั้นพรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งสูงสุดในภาคใต้ ได้ที่นั่งไป 17 ที่นั่งจากทั้งหมด 38 ที่นั่งและครองที่นั่งสูงสุดทั่วประเทศ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในภาคใต้เพียงแค่ 13 ที่นั่ง”

บูฆอรีเล่าต่อว่า เนื่องจากการเมืองไทยในเวลานั้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองไทยเป็นเพียงแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ส่งผลให้พรรคกิจสังคมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และดำรงตำแหน่งฝ่ายค้านภายใต้รัฐบาลของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนกระทั่ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย พรรคกิจสังคมจึงมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่าในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี พรรคกิจสังคมกลับจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับ ส.ส. คนใต้เพียง 1 ที่นั่ง ได้แก่ นาย บรม ตันเถียร ส.ส. พังงา ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

กลับกันพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี  ส.ส. คนใต้น้อยกว่ากลับได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 2 ที่นั่ง ไม่พอเมื่อพิจารณาถึงกระทรวงที่ได้รับผิดชอบก็เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของคนใต้ เช่น นาย บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในอดีตมีอำนาจมาก เรียกได้ว่าคุมทั้งฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ตำรวจยันปลัดอำเภอ หรือ จะเป็นการนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ของ นาย ชวน หลีกภัย ก็ยิ่งเสริมย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้เด่นชัดขึ้น

“ผมมองว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนให้เห็นเลยว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความชาญฉลาดในการวางคนทางการเมืองเมื่อเทียบกับพรรคกิจสังคม ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลไปถึงการทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันและจงรักภักดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ของคนใต้ ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดความนิยมนี้เรื่อยมา” 

นอกจากความชาญฉลาดในการวางคนทางการเมือง บูฆอรีเสริมถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถครองความนิยมในใจคนใต้มาได้เป็นระยะเวลายาวนาน เขามองว่าส่วนหนึ่งในความสำเร็จนี้เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของ ชวน หลีกภัย ที่เรียกได้ว่า เป็นไอดอลตลอดกาลของพรรคประชาธิปัตย์ เขาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ด้วยความโดดเด่นของอดีตนายกชวน ผู้ซึ่งมีบุคลิกภาพเป็นคนนุ่มนวล พูดจาไพเราะ ในขณะเดียวกันก็มีภาพลักษณ์ในเรื่องของความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต และ ยึดมั่นในหลักการ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลักษณะที่ตรงใจกับอุดมคตินักการเมืองที่คนใต้ต้องการ 

ความโดดเด่นนี้เองที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบมาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันให้เกิดขึ้นกับคนใต้ เรียกได้ว่า ใช้คุณชวนเป็นไอดอล ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งผู้สมัครของพรรคจะต้องถ่ายรูปประกบคู่กับคุณชวนอยู่เสมอ หรือ ในบางพื้นที่โปสเตอร์หาเสียงของ ชวน หลีกภัย จะมีผู้คนไปกางร่มเพื่อ กันแดด กันฝนให้ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคที่มีชื่อว่า ชวน หลีกภัย มีบารมีสูง และส่งผลต่อคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคใต้อย่างถึงที่สุด

วาทกรรม ‘คนดี’ : จุดเชื่อมโยงระหว่าง พันธมิตร-กปปส.-คนใต้

ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ยุคการเคลื่อนไหวของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ เสื้อเหลือง มาจนถึง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ล้วนมี คนใต้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทั้ง 2 กลุ่ม  

โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวช่วงของกลุ่มกปปส. กลิ่นของความเป็นคนใต้ยิ่งถูกฉายภาพออกมาอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่แกนนำที่เป็นตัวตั้งตัวตีหลักอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลุงกำนัน’ อดีตส.ส. คนใต้ผู้มากบารมีจากพรรคประชาธิปัตย์ เสริมทัพด้วยการเข้าร่วมชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ของ เหล่าส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาประกาศกลางเวทีชุมนุมว่าจะร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ชุมนุมกปปส. นอกจากนี้ ณ ขณะนั้นเอง คนใต้ก็กำลังพบกับวิกฤตราคายางพาราตกต่ำซึ่งเคยนำไปสู่การลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงของชาวสวนยาง ในเวลาต่อมาพวกเขาก็ได้กลายมาเป็นอีกกองกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. 

ถึงแม้จะต่างวาระและต่างช่วงเวลา แต่เรากลับพบเห็นจุดร่วมที่น่าสนใจ อย่างเรื่องสาเหตุในการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้องการ ‘ขจัดระบอบทักษิณ’  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กลุ่มกปปส.ต่างมองว่า ระบอบทักษิณเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายชาติและเป็นสาเหตุที่ฉุดรั้งไม่ให้ชาติพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าจึงจำเป็นต้องกำจัดนักการเมืองเลวพวกนี้เสีย

เรามองเห็น ‘จุดร่วม’ แต่อะไรคือ ‘จุดเชื่อมโยง’ บูฆอรีวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

“เมื่อเราดูปรากฏการณ์พันธมิตรก็ดี หรือ ปรากฏการณ์กปปส. ก็ดี ผมคิดว่าเราพบจุดร่วมบางอย่างใน 2 ปรากฏการณ์นี้ ข้อเสนอของทั้งสองกลุ่มเรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือเขาต้องการการเมืองในเชิงศีลธรรม ในเชิงของความเป็นคนดี” 

“ทั้งสองกลุ่มต่างใช้มิติทางศีลธรรมมาเป็นเกณฑ์ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสุจริต ยุติธรรม ไม่คอร์รัปชัน ทั้งพันธมิตร และ กปปส. ล้วนต้องการการเมืองในลักษณะของคนดี พันธมิตรเคยเสนอด้วยซ้ำไปว่า สิทธิเลือกตั้งไม่ควรที่จะเท่าเทียมกันคนที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง หรือ คนที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องเป็นคนที่มีสถานภาพทางสังคม เช่น มีการศึกษาระดับปริญาตรีขึ้นไป คนจบปริญญาตรีควรมีเสียงมากกว่าชาวบ้านธรรมดาทั่วไป หรือการเมืองที่กปปส. ต้องการคือต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งก็คืออยากได้คนดีมาเป็นนักการเมืองนั่นเอง เขามองว่าในสภาวะที่การเมืองยังจัดระเบียบไม่เสร็จ คุณก็อย่าเพิ่งให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเกิดมีการเลือกตั้งแล้ว คนไม่ดีก็อาจจะเล็ดลอดเข้าไปได้เนื่องจากระบบที่เป็นปัญหา”

ในขณะที่หากเรามองอีกกลุ่มการเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามอย่าง ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ เราจะพบว่ามีประเด็นในการเรียกร้องที่แตกต่างกัน สิ่งที่เสื้อแดงนำเสนอเป็นเรื่องของความเท่าเทียมทางการเมือง ความยุติธรรมในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ ไม่ได้แตะไปถึงประเด็นทุจริตหรือการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

“เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาในแง่นี้หมายความว่าคนใต้ เมื่อย้อนกลับมองกลับไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี การเลือกคุณชวนก็ดี ทั้งหมดคือการเลือกคนดีเข้าสู่เวทีทางการเมือง เราไปเน้นประเด็นการเมืองในเชิงศีลธรรมมากกว่าจะไปดูการเมืองในเชิงประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ตกลงคนใต้คิดอย่างนี้ใช่หรือเปล่า เพราะจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาล้วนเชื่อมโยงกันในลักษณะนี้” 

ผีทักษิณ การพ่ายแพ้ของปชป. และการเกิดใหม่ของพลังประชารัฐ

ภาพจากเฟซบุ๊กพรรคพลังประชารัฐ

ระยะเวลา 8 ปีที่การเลือกตั้งถูกทำให้สูญญากาศได้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือการเลือกพรรคการเมืองของคนใต้ จากเดิมที่เราต่างรู้กันดีอยู่ว่าภาคใต้คือฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ดูจากผลการเลือกตั้งปี 2562 อาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องมาวิเคราะห์ประโยคข้างต้นเสียใหม่ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่ง ส.ส. ภาคใต้ไปอย่างยับเยิน 

จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์สามารถกวาดที่นั่งไปได้มากถึง 50 ที่นั่ง จากทั้งหมด 53 ที่นั่ง มาวันนี้กับเหลือเพียง 22 ที่นั่งจากทั้งหมด 50 ที่นั่ง เรียกได้ว่าสูญเสียที่นั่งไปเกินครึ่ง ซึ่งที่นั่งที่หายไปนั้นก็เฉลี่ยไปให้พรรคการเมืองใหม่ภายใต้เงาเดิมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคภูมิใจไทย ตามลำดับ คำถามที่หลายคนต่างสงสัยกันอย่างโดยไม่ได้นัดหมาย คือ เกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างคนใต้และพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแปรอะไรที่ทำให้พรรคที่ขึ้นชื่อได้ว่า เป็นพรรคคนใต้พ่ายแพ้อย่างยับเยิน หรือว่าท้ายที่สุดแล้วคนใต้กำลังเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่

“การเปลี่ยนแปลงจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคพลังประชารัฐ สำหรับผมมองว่าคนใต้ไม่ได้เปลี่ยนแนวคิดทางการเมือง ความคิด ความเชื่อ ยังคงเป็นแบบเดิม ซึ่งมีลักษณะแบบอนุรักษ์นิยม หรือในปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะไปในเชิงเห็นด้วยกับลักษณะอำนาจนิยมด้วยซ้ำไป สังเกตได้จากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เราจะพบว่าภาคอื่นๆ รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างมีความเคลื่อนไหว ในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ปรากฏว่า 11 จังหวัดภาคใต้ ในแง่การเคลื่อนไหวการรณรงค์ไม่รับร่างฯ ค่อนข้างเงียบ และเมื่อผลของการลงประชามติออกมา 11 จังหวัดบ้านเรา “เซย์เยส” กันหมด

ผมจึงมองว่าการเลือกตั้งรอบนี้คนใต้ไม่ได้เปลี่ยนแนวคิดทางการเมือง แต่แค่เปลี่ยนพรรคเท่านั้น

“มีหลายคนออกมาวิเคราะห์ว่า จุดพลิกผันที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์หายพรวดไป ก็มาจากการประกาศของคุณอภิสิทธิ์ว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่จริงๆ แล้ว ผมมองว่ามันยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่ง ผมคิดว่าในระยะหลังประชาชนต้องการการเมืองที่ให้ผลประโยชน์ได้อย่างชัดเจนผ่านนโยบายของรัฐ อย่างเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมคิดว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นรองประเด็นที่สอง อย่างการกลัวการกลับมาของระบอบทักษิณ”

“คนใต้ไม่ชอบทักษิณมาก ผมคิดว่าการเมืองในคอนเซปต์ของคนใต้ เรื่องของความสุจริต ความโปร่งใส่ ซื่อสัตย์ ยังคงอยู่อย่างแข็งแรงมาก ถึงแม้รัฐบาลทักษิณจะผ่านพ้นไปกว่า 10 กว่าปีแล้ว แต่ความรู้สึกในเรื่องของความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงาน ความไม่สุจริต ยุติธรรม หรือ การถูกมองว่าเป็นพรรคล้มเจ้า ก็ยังมีผลต่อเนื่อง ผมคิดว่าวาทกรรมระบอบทักษิณยังคงตามหลอกหลอนคนใต้ และเรื่องนี้ส่งผลมาถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา” 

บูฆอรีคิดว่า เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถพลิกมาเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในหลายๆ เขต เขามองว่านอกจากการต้องการให้ความสงบเรียบร้อยคงต่อไป สาเหตุที่คนใต้เลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะลึกๆ แล้วหลายคนต่างกลัวว่าถ้าหากพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อไป พรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคทักษิณอย่างพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล 

ซึ่งในรอบนี้พรรคเดิมที่เขาเคยเลือกอย่างพรรคประชาธิปัตย์กลับมีทีท่าที่ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดเมื่อต้องตัดสินใจเลือกพวกเขาจึงตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจนอย่างพรรคพลังประชารัฐ เพราะเขามั่นใจมากกว่าว่า หากเขาเลือกพรรคนี้ไปพรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบอย่างพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน 

“อย่างที่เรารู้กันดี ราคายางในช่วงที่ผ่านมามีปัญหามากและทั้ง 2 พรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเยอะมาก แต่สุดท้ายพอเลือกตั้งก็ยังเลือกอีก ฉะนั้นผมคิดว่าสำหรับคนใต้แล้วประเด็นอื่นๆ เช่นประเด็นเศรษฐกิจอาจจะยังเป็นประเด็นรองกว่าประเด็นหลักอย่างเรื่องการต้องการความต่อเนื่องของความสงบเรียบร้อยภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ และไม่ต้องการให้พรรคทักษิณกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง”

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาใต้ที่ยังจุดไม่ติด 

ในขณะที่นักศึกษาภาคอื่นๆ ออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เราพบเห็นผู้ขึ้นมาปราศรัยหลากหลายวัยตั้งแต่นักศึกษายันนักเรียนมัธยมที่ต่างลุกขึ้นมาปราศรัยได้อย่างถึงพริกถึงขิงและวิเคราะห์วิพากษ์ปัญหาที่เขาพบเจอได้อย่างถึงแก่น แต่ปรากฏการณ์รูปแบบนี้กลับพบเห็นได้น้อยใน 11 จังหวัดภาคใต้ สาเหตุในการเคลื่อนไหวที่ยังจุดไม่ติดข้องเกี่ยวกันอย่างไรกับวัฒนธรรมการเมืองภาคใต้ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์อย่างบูฆอรีขอวิเคราะห์ประเด็นสุดท้ายไว้ดังนี้ 

“สำหรับประเด็นนี้ผมมองว่านักศึกษาใน 11 จังหวัดภาคใต้ ก็เป็นกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้บริบทความคิด ความเชื่อ ทางการเมืองของคนใต้ ซึ่งได้พูดไปในข้างต้นว่า ได้เกาะเกี่ยวอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์และการปฏิเสธระบอบทักษิณ เพราะฉะนั้นโดยภาพรวม การเคลื่อนไหวต่างๆ ของนักศึกษาจึงสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันกับความรู้สึกนึกคิดของคนใต้ ยกเว้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีบริบทแตกต่างกันออกไป”

“นักศึกษาที่นั้นอยู่ภายใตโครงสร้างหรือบริบททางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายความมั่นคง จากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือจากกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจทหารและฝ่ายปกครอง ในการจับกุม คุมขัง บวกกับมีข่าวคราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา”

“เขาจึงเห็นว่าการเมืองในระดับชาติมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นหรือเลวลง เพราะในช่วงหลังการรัฐประหารของคสช. ขบวนการนักศึกษาใน 3 จังหวัดต่างรู้สึกว่าสถานการณ์มันเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม การพูดคุยหรือการเจรจาสันติสุข จากเดิมที่เคยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาก็หยุดชะงักลง ในขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ กลับเกิดถี่มากขึ้น พวกเขารับรู้และสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด พร้อมทั้งมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเรียกร้อง ประท้วง ในประเด็นต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเคลื่อนไหวระดับชาติเกิดขึ้น จึงไม่ยากที่พวกเขาจะเกาะเกี่ยวกับกระแสนี้ได้โดยง่าย”

ตัดภาพมาที่นักศึกษาใน 11 จังหวัดภาคใต้ บูฆอรีวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าเรามองไปที่การเคลื่อนไหวกลับพบว่ามีการเคลื่อนไหวน้อยมาก อาจจะมีบ้างในมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่เมื่อลงลึกไปถึงปริมาณจำนวนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวก็ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาในภาคอื่นๆ โดยสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาใต้ไม่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ บูฆอรีมองว่าอาจจะเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกัน หนึ่งคือ มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดความอ่านไม่ต่างไปจากคนใต้ส่วนใหญ่ ในลักษณะสนับสนุนการมีอยู่ของพลเอกประยุทธ์ และ สอง อาจจะผิดหวังจากการเคยไปเข้าร่วมกลุ่มกปปส. ทำให้ปัจจุบันเลิกสนใจการเมือง แต่บูฆอรีมองว่าในประเด็นที่สองนี้ก็ยังคงมีความเป็นไปได้น้อย 

“ถ้าจะบอกว่า นักศึกษาใต้ยุคนี้เป็น ignorant ไม่สนใจการเมืองหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าในช่วงกปปส. พวกเขาก็สนใจการเมืองกัน หลายคนเคยขึ้นเวทีปราศรัยด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องของการสนับสนุนสภาพปกติของรัฐบาลปัจจุบันมากกว่าหรือไม่ เขาเลยไม่ได้เกาะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น อาจจะมีบ้างที่ผิดหวังกับสิ่งที่กปปส. เคยทำลงไป ทำให้ปัจจุบันเลือกไม่สนใจการเมืองไปเลย แต่หลักๆ ผมยังมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าที่เป็นอยู่ก็โอเคแล้วมากกว่า” 

“ผมคิดว่าสำหรับภาคใต้การเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้น่าจะช้ากว่าภาคอื่นๆ แต่อาจจะไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้น เดิมทีผมคิดว่ามันอาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในการเปลี่ยนแปลง เพราะจากผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผสมเข้ากับความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ข้อเรียกร้องของนักศึกษาก้าวหน้ามากขึ้น ผมเลยคิดว่า ภาคใต้อาจจะอนุรักษ์นิยมมากกว่าเดิม โดยเฉพาะถ้าหากว่าสิ่งที่นักศึกษาทำในวันนั้นมันถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว มันก็จะยิ่งทำให้ขบวนการนักศึกษาหรือตัวนักศึกษาในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้เอง อาจจะยิ่งตั้งคำถาม และ ยิ่งไม่อยากจะเข้าไปร่วมในกระบวนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้” 

“แต่หลังจากที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในภาคใต้ช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติ หรือ จะเป็นการชูป้ายกระดาษเปล่า ทั้งหมดนี้ก็ทำเอาผมประหลาดใจอยู่เหมือนกัน ผมเลยคิดว่าบางทีการคาดการณ์ของผมอาจจะผิด เพราะเราต้องอย่าลืมว่านักเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ฉะนั้นผมว่าสำหรับภาคใต้ ไม่แน่ว่ามันอาจจะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีแล้วก็ได้ อันนี้ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป”