สังคมที่แตกร้าว ความฝันผู้นำยังไม่สูญสิ้น - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

หนังสืออัตชีวประวัติเป็นหนังสือที่มีเสน่ห์และน่าอ่าน เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ผ่านสายตาของเจ้าตัวเอง เปรียบเสมือนการเชื้อเชิญให้เราเข้าใจสังคม วัฒนธรรม การคลี่คลายของประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตและมุมมองของปัจเจกที่โลดแล่นอยู่ในยุคสมัยนั้น ๆ แต่หนังสือแนวนี้จะน่าอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษถ้าคนเขียนเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญเต็มไปด้วยสีสันในการสร้างประวัติศาสตร์ กับมีความสามารถทางภาษาในการถ่ายทอดเรื่องราว

หนังสือเรื่อง A Promised Land ของบารัค โอบามา มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วนทั้งสองประการ

โอบามาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งทำให้เขาอยู่ในฐานะคนที่ครอบครองตำแหน่งที่ทรงอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นเขายังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และที่สำคัญ เขาสามารถชนะการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งทำให้ครองอำนาจยาว 8 ปี ห้วงเวลาที่เขาก้าวขึ้นมาสู่อำนาจนั้นคือห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสหรัฐฯ และของโลก วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ลุกลามต่อเนื่องไปยังยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งเขาต้องรับภาระหนักในการประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ พังพินาศซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ปัญหาสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อซึ่งพัวพันกับปัญหาการก่อการร้ายและความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ที่เป็นเงาทะมึนปกคลุมการเมืองโลก ปัญหาเรื่องภูมิอากาศโลกแปรปรวนที่เรียกร้องความร่วมมือจากนานาชาติในการร่วมกันแก้ไข

การผงาดขึ้นมาสู่การเป็นมหาอำนาจของจีน พฤติกรรมของรัสเซียภายใต้การนำของปูตินที่ก้าวร้าวและท้าทายระเบียบการเมืองและกติการะหว่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ รวมถึงการอุบัติขึ้นของการปฏิวัติประชาธิปไตยในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่เรียกขานกันว่าปรากฎการณ์ “อาหรับสปริง” ซึ่งนำมาสู่แรงกระเพื่อมตามมาเป็นลูกโซ่อีกหลายประการ ทั้งวิกฤตผู้อพยพ สงครามกลางเมือง รัฐล้มเหลว และการผงาดของกระแสการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวาสุดโต่งที่แพร่ขยายไปทั่วโลก

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นและคลี่คลายขยายตัวไประหว่างที่โอบามาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว การอ่านงานเขียนชิ้นนี้จึงไม่ใช่เพียงการอ่านเรื่องราวของนักการเมืองและผู้นำคนหนึ่ง แต่มันเหมือนได้เดินทางผ่านห้วงเวลาที่เป็นจุดพลิกผันของยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ ยุคสมัยที่นักคิดหลายคนกล่าวว่าเป็นยุคแห่งความไร้ระเบียบ ไร้ฉันทามติ และไร้เสถียรภาพ แน่นอนว่าสหรัฐฯ ในฐานะประเทศยักษ์ใหญ่ที่แม้จะสูญเสียอิทธิพลครอบงำโลกแบบนำเดี่ยวไปแล้ว ณ ตอนที่โอบามาก้าวขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็ยังคงเป็นมหาอำนาจอันทรงพลานุภาพที่กำหนดทิศทางความเป็นไปหลายอย่างในโลกได้ โอบามาเล่าเรื่องราวหลังฉากทั้งหลายในจังหวะเหตุการณ์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด กระบวนการตัดสินใจ และการต่อรองถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่างพลังทางการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ในการเมืองภายในของสหรัฐฯ เอง และวิธีคิดของผู้นำรัฐที่โอบามาต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

หนังสือเล่มนี้น่าอ่านและอ่านสนุกกว่าหนังสืออัตชีวประวัติส่วนใหญ่ เพราะโอบามาเป็นนักเขียนที่เก่งกาจ เขาจึงไม่ต้องจ้างวานนักเขียนรับจ้างมาเขียนให้แบบที่นักการเมืองส่วนใหญ่ทำ ใครที่เคยได้อ่านงานชิ้นก่อนหน้าของเขามาแล้ว อย่าง Dreams From My Father ย่อมประจักษ์ถึงความสามารถทางภาษาและความสันทัดจัดเจนในการเล่าเรื่องของผู้นำคนนี้ได้เป็นอย่างดี

โอบามาบอกเล่าเรื่องราวจำนวนมากที่อยู่หลังฉาก ซึ่งใครที่สนใจการเมืองและเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศน่าจะสนุกในการอ่าน น่าเสียดายว่าหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมระยะเวลาเพียงช่วงสมัยแรกที่เขาดำรงตำแหน่งเท่านั้น ที่บอกว่าน่าเสียดายเพราะในช่วงสมัยสอง (ค.ศ. 2012-2016) นี่เองที่การเมืองสหรัฐฯ มีเรื่องราวน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นมากมาย การแบ่งแยกแตกขั้วที่ร้าวลึกมากขึ้น กระแสฝ่ายขวาประชานิยมที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว บทบาทของโซเชียลมีเดียในการผลิตข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือน ฯลฯ ซึ่งปูทางทำให้คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจได้สำเร็จ 

แต่ประเด็นผมสนใจเป็นพิเศษในหนังสือเล่มนี้คือ แบบแผนความเป็นผู้นำของโอบามา เขามีคุณสมบัติที่น่าสนใจประการหนึ่งที่แตกต่างจากผู้นำจำนวนมาก คือ การสำรวจตรวจสอบตนเอง (self-reflection) ทั้งขณะที่อยู่ในตำแหน่งและเมื่อลงจากตำแหน่งไปแล้ว ตลอดเวลาขณะที่อยู่ในตำแหน่ง เขาครุ่นคิด ทบทวนและวิพากษ์ตนเองอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เขามีความระมัดระวังในการใช้อำนาจ ในการสื่อสารกับสาธารณะ และพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดในการใช้อำนาจของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าการวิพากษ์ตนเองคือ ความอ่อนแอของคนเป็นผู้นำ แต่ในทางกลับกัน ผมกลับคิดว่ามันคือจุดแข็ง และประเทศใดที่มีผู้นำเช่นนี้ย่อมถือว่าโชคดี เพราะมันกำกับไม่ให้คนมีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจจนละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มันกำกับไม่ให้ผู้มีอำนาจถลำลึกลงไปในความผิดพลาดจนสร้างความเสียหายในวงกว้างของประเทศชาติ

แต่ที่สำคัญที่สุด มันทำให้ผู้นำมีความเป็นมนุษย์ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเคารพผู้อื่นเป็น ทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งคนที่เป็นคู่ตรงข้ามทางการเมือง และประชาชนที่เขาต้องดูแล โอบามาเป็นผู้นำที่ร้องไห้เป็น หัวเราะเป็น และออกมาขอโทษกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนเองเป็น ทั้งหมดนี้มันทำให้เขาเป็นผู้นำที่น่าเคารพและชื่นชม แม้ว่านโยบายหลายอย่างของเขาทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการเรื่องสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน จะเป็นนโยบายที่คงต้องถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจังว่ามันถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แต่ในความเป็นผู้นำคนหนึ่ง เขาคือ ผู้นำที่อ่อนน้อมถ่อมตนและมีหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำคนหนึ่ง นอกจากอยู่ในสถานะที่สามารถเปลี่ยนทิศทางของยุคสมัยได้แล้ว เขาเองก็ถูกกำหนดจากสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่เขาอาศัยอยู่เช่นกัน

การเมืองสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงที่โอบามาเริ่มก้าวเข้ามาสู่เวทีในฐานะวุฒิสมาชิกหนุ่มดาวรุ่งไฟแรง คือ การเมืองของความแตกแยกร้าวลึกมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ขัดแย้งกันในเรื่องระบบทาส การเมืองแบ่งขั้วรากลึกนี้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองอยู่ในสภาวะแบบสงคราม ที่ต้องห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง โดยใช้ทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะคะคานกัน โดยไม่สนใจกฎกติกา มารยาท สามัญสำนึก หรือ หลักการพื้นฐานใด ๆ ทำให้บ่อยครั้งการเมืองกลายเป็นอัมพาต การแก้ปัญหายาก ๆ ไม่เกิดขึ้นเพราะขาดการร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

ประชาธิปไตยของอเมริกากลายเป็นประชาธิปไตยที่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นตัวแบบที่ล้มเหลว

แต่ถ้าเราอ่านหนังสือเล่มนี้ของโอบามาจบลง ก็จะได้คำตอบว่าประชาธิปไตยของอเมริกาไม่ได้ล้มเหลว เพราะกลไกพื้นฐานมันยังทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุล กระบวนการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิเสรีภาพพื้นฐาน และหลักนิติรัฐ (แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ต่อมาจะถูกสั่นคลอนในยุคสมัยของทรัมป์) แต่การเมืองของความเกลียดชังและการแตกแยกร้าวลึกต่างหากที่ทำให้ประชาธิปไตยสหรัฐฯ อ่อนแอ

ตั้งแต่ช่วงที่หาเสียง โอบามาประกาศความฝันประการหนึ่งของเขาที่มุ่งหมายจะทำให้สำเร็จ คือ การสร้างเอกภาพของคนในชาติ โอบามาได้ใช้คำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เพราะในฐานะนักการเมืองเขารู้ดีว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่อิสระให้คนคิด เชื่อ และแสดงออกไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขาพยายามก้าวข้ามคือ การเมืองแห่งความเกลียดชัง การเมืองแบบศัตรู การเมืองแบบพวกเขา/พวกเรา ที่ทำให้หลงลืมว่าอะไรคือผลประโยชน์สาธารณะของคนส่วนใหญ่ อะไรคือ ความฝันที่คนในชาติควรมีร่วมกัน

สำหรับโอบามา ผู้นำมีหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนทั้งชาติเพื่อนำพาคนทั้งสังคมไปบรรลุความฝันร่วมกันมิใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ประเด็นนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งจากปัญญาชนและนักกิจกรรมผิวดำ ว่าเขาไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเพียงพอในฐานะประธานาธิบดีผิวดำคนแรกที่จะปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของคนดำหลังจากที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน) แต่การสร้างเอกภาพของคนในชาติในความหมายของโอบามานั้น ไม่ใช่การปรองดองแบบฉาบฉวย หรือการเรียกร้องให้คนมาคิดเหมือนกันหมด หรือมารักกันด้วยลมปาก สำหรับเขา ชาติที่จะก้าวข้ามความแตกแยกร้าวลึกได้ คือ ชาติที่สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ชาติที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกกลุ่ม และที่สำคัญต้องเป็นชาติที่ทุกฝ่ายมีเสรีภาพในการแข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรมที่ทุกฝ่ายเคารพร่วมกัน มิใช่กติกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ที่มั่นคงและความฝันที่แรงกล้าเพียงใด เมื่อต้องเผชิญกับสภาพความจริงของสังคมอเมริกันที่แตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน โอบามาก็ตระหนักว่าความพยายามของเขาที่จะสร้างการเมืองแห่งความหวังสำหรับทุกคนเปรียบเสมือนการเข็นครกขึ้นภูเขาแท้ ๆ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งมองการดำรงตำแหน่งของเขาเป็นแรงบันดาลใจ ความภูมิใจ และสะท้อนความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ ดังที่พ่อบ้านผิวดำวัยชราในทำเนียบขาวคนหนึ่งพูดกับโอบามาว่า โอบามาไม่รู้หรอกว่าการที่เขาได้มีโอกาสทำงานให้ผู้นำผิวดำในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกในชีวิต การทำงานอันยาวนานของเขานั้นมันสำคัญสำหรับเขาอย่างไร แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองการครองทำเนียบขาวของชายคนนี้ด้วยความหวาดระแวง ความเกลียดชัง และความขุ่นเคือง คนผิวขาวจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงสนับสนุนพรรครีพับลิกันรู้สึกว่าพวกเขากำลังสูญเสียสถานะพิเศษ สูญเสียอำนาจ อัตลักษณ์โดนสั่นคลอน และชัยชนะของโอบามาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาไม่อยากเห็น โอบามามาทำลายความเป็นอเมริกันแบบที่พวกเขาเชื่อและคุ้นเคย ในแง่นี้ ทรัมป์คือ ยาแก้ปวดที่พวกเขากลืนกินเพื่อรักษาอาการสั่นคลอนในจิตใจ

คงต้องรอให้ประวัติศาสตร์ในภายภาคหน้าเป็นผู้ตัดสินว่าช่วงเวลาของการนำพาประเทศ 8 ปีของโอบามาเปลี่ยนสังคมอเมริกาและประวัติศาสตร์โลกไปมากน้อยเพียงใด แต่บทเรียนที่เราได้เห็นคือ ไม่ว่าจะมีผู้นำที่เปี่ยมด้วยความสามารถ ความตั้งใจดี และความฝันที่แรงกล้าเช่นใด สังคมที่แตกร้าวยาวนานเรื้อรังยากที่จะซ่อมแซมรักษาได้ โดยผู้นำคนใดคนหนึ่ง มันเป็นภารกิจของผู้คนในสังคมเองที่ต้องเรียนรู้และลงแรงในการฟื้นฟูสามัญสำนึกในการอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันขึ้นมาใหม่

หนังสือ: “A PROMISED LAND บารัค โอบามา
นักเขียน: บารัค โอบามา
แปล: นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี
สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์ Sophia

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี