วัยเลขเจ็ดของ 'ป้าสาย' ไม่เคยสบายเลยสักครั้ง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ  วิเศษปรีชา

“ป้าไม่เข้าใจเลยนะ ทำไมเราถึงต้องลำบากแบบนี้ ทั้งที่เราไม่เคยคดไม่เคยโกงใคร แต่ทำไมเราไม่สบายเหมือนคนอื่นเขาเลย บางคืนกลุ้มใจถึงขั้นนอนไม่หลับเลยนะ”

ป้าสายรำพึงรำพันพูดกับผม ด้วยเสียงอ่อนแรง ในวันที่ผมแวะถามไถ่เรื่องสถานการณ์ไล่รื้อในชุมชน แล้วชวนคุยไปถึงทำมาหากินว่าขายสับปะรดเป็นอย่างไร

ป้าสายเป็นผู้หญิงสูงวัย ที่ตัวเลขบอกอายุขึ้นต้นด้วยเลขเจ็ด สีผมเป็นสีขาวไม่มีสีอื่นแซม รูปร่างผอมมักสวมผ้าถุง ใส่เสื้อผ้าเนื้อเบามีระบายลูกไม้สมวัย นาน ๆ ที จะเห็นป้าสายใส่เสื้อยืดสกรีนชื่อชุมชนทำให้ป้าดูสดใสอ่อนกว่าวัยขึ้นเป็นสิบปี ด้วยวัยขนาดนี้เวลาไปไหนมาไหน ผมจึงเห็นป้าต้องเดินโขยกเขยกโดยมีไม้เท้าช่วยประคอง แต่ถึงกระนั้น ป้าก็ยังทำงานหาเลี้ยงตัวเองอยู่

บ้านป้าสายอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟย่านพญาไท เส้นทางที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดรื้อย้ายบ้านเรือนเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  ป้าอยู่ด้วยกันกับลุง ผู้เป็นสามีและลูกสาวคนเล็กอีกคน บ้านของป้าปลูกอย่างง่าย ๆ ด้วยโครงไม้ กั้นฝาสังกะสี หน้ากว้างไม่ถึงสามเมตร ด้านยาวลึกสักหกถึงเจ็ดเมตร ด้านที่หน้าหันหน้าเข้าหาทางเดินริมทางรถไฟ นอกจากประตูเข้าบ้านแล้ว ยังมีช่องเปิดโล่ง ให้ป้าสายที่นั่งเย็บผ้าได้ทักทายกับคนย่านนั้นหรือลูกค้าที่เดินผ่านไปมา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องหยุดแวะทักทายป้าสายทุกครั้งที่เดินผ่าน

วันที่ผมทักทายป้าสายเป็นช่วงที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขยับการกดดันชาวบ้านไปอีกขั้น คือไม่เพียงแต่ปิดหมายไล่รื้อ แต่ไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่งให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ของ รฟท. ต้องรื้อย้ายออก หากไม่รื้อย้ายออกภายในเวลาที่กำหนดจะต้องเสียค่าปรับค่าเช่ารวมเป็นเงินหลักหมื่นบาท แถมช่วงนั้น เศรษฐกิจของบ้านเมืองที่เพิ่งพ้นโควิด อาชีพเสริมของป้าสายคือขายสับปะรด ก็ขายไม่ค่อยได้ กำไรเหลือวันละไม่ถึงร้อยบาท

ป้าสาย กังวลร้อนใจ เพราะหากการรถไฟฯ เรียกร้องเงินค่าเช่าค่าปรับย้อนหลังจะเอาเงินที่ไหนจ่าย ในเมื่อแต่ละวันจะกินยังต้องกระเบียดกระเสียร  หากจะยอมรื้อย้ายออกจากที่นี่จริง ๆ ก็ยังไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน

อันที่จริงผมลงชุมชนริมทางรถไฟแห่งนี้มาร่วม 3 ปี ผมรู้จักและคุยกับป้าสายอยู่บ่อย ทั้ง ๆ ยังเคยสัมภาษณ์คุยถึงชีวิตของป้ายาว ๆ ด้วยแล้ว ผมจึงได้แต่คิดว่า ไม่ใช่เรื่องบุญกรรมที่ว่าทำดี คิดดีกับคนอื่นแล้ว แต่ทำไมชีวิตจึงไม่ได้ดี

แต่เป็นเรื่องโอกาสทางสังคม ที่สังคมนี้แทบไม่เปิดโอกาสให้คนอย่างป้าสาย คนที่ทำงานดิ้นรนปากกัดตีนถีบมาทั้งชีวิตได้ลืมตาอ้าปาก กระทั่งอายุปูนนี้ยังต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพวันต่อวัน 

ประคับประคองเพื่อประทังชีวิต

คนจำนวนไม่น้อยมีความเข้าใจว่า สังคมไทยเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่ขยันขันแข็งได้ลืมตาอ้าปาก ผมอยากจะบอกว่า นี่เป็นมายาคติไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องราวของป้าสาย คือ ตัวอย่างเป็นอย่างดีของคนขยันขันแข็ง ไม่ข้องเกี่ยวอบายมุข ไม่มีแม้แต่เงินจะแทงหวย ได้แต่ทำงานหาเงิน ใช้จ่ายเงินประหยัดส่งลูกเรียน หวังว่าวันหนึ่งชีวิตจะดีขึ้น แต่บั้นปลายในชีวิตก็ยังลำบากเหมือนเดิม ชีวิตตอนต้นมีต้นทุนในชีวิตต่ำอย่างไร ชีวิตตอนปลายก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง  

บ้านเดิมของป้าสายเป็นคนปราจีนบุรี ป้าเป็นคนโตของพี่น้องสี่คน พ่อแม่มีอาชีพทำนา ไม่มีที่นาของตัวเองต้องเช่าคนอื่นเขาทำนา อายุสักสิบสองหรือสิบสามปีก็เข้ากรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลตามคำของป้าว่า “ที่บ้านจนมาก เพราะต้องเช่าทำนา” ด้วยตนเองเป็นพี่สาวคนโต จบ ป.4 แล้ว ประมาณปี 2509 – 2510 ก็ต้องเข้ามาทำงานหาเงินส่งกลับไปที่บ้าน ในยุคที่เมืองกรุงเทพฯ เพิ่งเริ่มก่อเค้า พร้อมกับกระแสคนอพยพเข้าเมือง

เริ่มแรก ป้าเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างร้านตัดเย็บเสื้อผ้าที่โบ๊เบ๊ โดยคนรู้จักในหมู่บ้านพามา ด้วยความที่ยังเล็กและไม่มีประสบการณ์ งานที่ทางร้านให้ทำคืองานพับผ้าที่เย็บเสร็จแล้ว กินอยู่กับนายจ้างเชื้อสายจีน ที่ป้าเรียกว่า อาเจ็ก ได้ค่าจ้างเดือนละ 250 บาท เงินส่วนใหญ่ส่งกลับไปให้ที่บ้าน

หลังจากทำงานที่ร้านนี้สักห้าปี ป้าเห็นว่าไม่มีช่องทางเติบโต เพราะอาเจ็กไม่สอนให้รู้จักเย็บเสื้อผ้า เงินเดือนขึ้นบ้างแต่น้อย ทั้ง ๆ ที่ทำงานทุกอย่างในร้าน จึงย้ายไปเป็นลูกจ้างอีกร้านหนึ่งในละแวกโบ๊เบ๊เช่นกัน เงินเดือนขึ้นเป็น 450 บาท ทำอยู่นานจนเงินเดือนขึ้นเป็น 1,300 บาท งานหลักยังเป็นงานพับผ้า โดยเฉพาะกระโปรงเด็กนักเรียนที่ต้องพับผ้าจับจีบ ได้ค่าจ้างตามจำนวนโหลที่พับได้ ตกเย็นพอมีเวลาว่างก็เริ่มเรียนรู้หัดเย็บผ้า  

ที่โบ๊เบ๊ มีตลาดในละแวกใกล้ ๆ คือ ตลาดมหานาค ป้าสายมาซื้อผลไม้แถวตลาดมหานาค เลยพบช่องทางว่า ขายผลไม้น่าจะได้รายได้ดีกว่าอยู่ร้านทำงานพับผ้า จึงเปลี่ยนมาขายผลไม้เป็นอาชีพเลี้ยงตัว เอาเงินที่พยายามเก็บออมมาเริ่มลงทุนค้าขาย  โดยเช่าห้องแถวที่เจ้าของแบ่งห้องให้เช่า เสียค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท เป็นที่อยู่และที่ขายของ โดยซื้อผลไม้ยกเข่งมาแบ่งขายปลีกเป็นกิโลกรัม หรือเป็นลูก ส่วนใหญ่ขายแตงโมกับสับปะรด จนชำนาญเหมือนที่ป้าใช้คำเฉพาะตอนเล่าให้ผมฟังว่า สับปะรดมีเนื้อหนึ่ง เนื้อสอง เนื้อสาม ตามคุณภาพของสับปะรด กระทั่งมีครอบครัว มีลูกสามคน เป็นลูกชายหนึ่งและลูกสาวสองคน ลูกทั้งสามคนของป้า ก็ไม่มีใครออกนอกลู่นอกทาง ลูกสาวสองคนเรียนจบมหาวิทยาลัย ส่วนลูกชายทำงานร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์

ป้าสายย้อนความหลังว่า ช่วงปี 2540 กว่า ๆ สมัยนั้น ทำมาค้าขายได้เงินดี มีเงินพอส่งลูกเรียน จากการขายสับปะรด แต่หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจไม่ดี ผลไม้ก็ขายได้น้อยลง แม้แต่จะจ่ายค่าเช่าก็ยังสู้ไม่ไหว เลยต้องหาที่อยู่ใหม่ ระหว่างนั้น ลุงสามีของป้าทำงานเป็น รปภ. ประจำอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าพญาไท เห็นว่าที่ริมทางรถไฟ ซึ่งเคยขับไล่ชาวบ้านไปรอบหนึ่งเพื่อจะทำโครงการรถไฟฟ้าโฮปเวลล์ แต่พอโครงการโฮปเวล์ถูกยกเลิก ก็มีคนกลับเข้ามาอยู่กัน

ราวปี 2549-2550 ป้ากับลุงที่สู้ค่าเช่าไม่ไหว จึงมาขอซื้อหน้าดิน จากคนที่อ้างสิทธิว่าดูแลที่ดินรถไฟ เป็นเงิน 2,000 บาท แต่ป้าขอไม่ระบุชื่อว่าต้องเสียค่าที่ดินให้กับใคร เพราะไม่อยากมีปัญหา ด้วยความรู้สึกตอนนั้น ตัวเองก็มีปัญหาจ่ายค่าห้องแถวไม่ไหว ต้องมาปลูกที่นี่ ถือว่าเขาช่วยให้ป้ามีบ้านอยู่ โดยไปขอไม้เก่าจากคนอื่น แล้วลุงเป็นคนปลูกด้วยตัวเอง พอมีบ้านอยู่ แม้ไม่สวยงาม แต่ลดรายจ่ายไม่ต้องเสียค่าเช่ารายเดือน ส่วนน้ำไฟ ก็ต้องขอต่อพ่วงจากบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ ๆ ที่มีทะเบียนบ้าน บ้านหลังที่อยู่นี้ แม้จะพูดว่าบ้านของตัวเองไม่เต็มปาก เพราะปลูกอยู่ที่ดินของการรถไฟฯ และกำลังถูกไล่ที่ แต่ป้าก็บอกว่า “ไม่ใช่บ้านเราหรอกแต่อยู่จนชิน”

พอย้ายมาอยู่ที่ริมทางรถไฟ ป้าก็ทำงานสองอย่างเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ตอนเช้าจะไปรับสับปะรดจากตลาดมหานาค มาขายที่ซอยเพชรบุรี 5 ที่มีคนเช่าอพาร์ตเมนต์และห้องเช่าอยู่กันอย่างหนาแน่น แต่ป้าไม่มีเงินเสียค่าเช่าหน้าร้านเหมือนคนอื่น จึงได้แต่เข็นรถไปจอดแอบชิดกำแพงบ้านพอได้ขายของ ก็ต้องยอมรับว่าทำเลไม่ได้ดีนัก จึงขายได้ไม่มาก

ป้าเล่าถึงความซบเซาของการทำมาหากินทุกวันนี้ว่า “ไปรับของมาวันนึง แต่กว่าจะขายของหมดใช้เวลาสามสี่วัน ขายอย่างนี้มันไม่ไหว เพราะแต่ละวันเราต้องกินต้องใช้ พอขายได้น้อย เรากินอยู่วัน ๆ ก็หมดไป พอถึงวันที่ของหมด เราก็ไม่มีทุนที่จะไปซื้อของมาขาย แบบนี้เราก็แย่” หรือพูดให้เห็นภาพ ถ้าป้าลงทุนรับสับปะรดมาขาย ลงทุน 700-800 บาท หากขายหมดเป็นเงิน 1,000 บาท ป้าชักทุนเก็บไว้ 800 บาท ส่วนอีก 200 บาท เอาไว้กินไว้ใช้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เช่นนั้น ขายของได้วันละสองร้อยบาทก็แค่ใช้กินอยู่ไปแต่ละวัน พอครบสี่วัน ของหมด ทุนก็หมด

รายได้อีกทางของป้าก็คือ รับจ้างซ่อมเสื้อผ้า หลังจากป้าขายผลไม้ตั้งแต่เช้าตรู่ถึงตอนสาย ๆ ไม่มีคนแล้ว ป้าก็กลับมารับงานตัดขากางเกง แก้เอว ปะเสื้อกางเกง อยู่ที่บ้าน อันเป็นทักษะที่ป้าเคยหัดเมื่อตอนอยู่ร้านผ้า แต่ปัญหาที่ก็คือ “วัน ๆ ไม่ได้เท่าไหร่หรอกอาจารย์ บางวันไม่มีงานเลยก็มี ทางแถวนี้คนเดินผ่านไม่เยอะ แค่ตั้งจักรไว้ให้คนเห็นเท่านั้นแหละ เพราะขายสับปะรดแทบไม่ได้เลย เลยต้องมาตั้งจักรช่วยอีกทาง”

ส่วนลุงที่เดิมเคยทำงาน รปภ. แต่ตอนนี้เกษียณและก็สูงวัยแล้ว จึงไม่ได้ทำงานอย่างอื่น นอกจากช่วยไปรับผลไม้จากตลาดตอนเช้า และช่วยขายผลไม้กับป้า ส่วนลูกที่ป้าส่งเรียนจบปริญญาตรี มีรูปลูกสาวรับปริญญาที่ฝาบ้านเป็นที่น่าภูมิใจ คนแรกเรียนจบที่รามคำแหงเพราะทำงานกัดฟันส่งเองของป้าปัจจุบันมีครอบครัวแยกไปแล้ว คนที่สองจบด้วยเงินกู้ กยศ. ป้าบอกว่าตอนนั้น “เราไม่รู้ว่ามีเงินกู้ กยศ. ตอนหลังถึงได้รู้คนที่สองถึงกู้ กยศ.เรียน เรียนจบก็ส่งคืนตลอด ไม่เคยขาดส่ง และก็ไม่เคยได้ส่วนลดกับเขาเลย”  คนที่สาม  ลูกชายทำงานที่ร้านซ่อมจักรยานยนต์ที่จังหวัดราชบุรี ก็ไกลบ้านหน่อย

ข้อที่น่าสนใจก็คือ ความคาดหวังที่ว่าหากส่งลูกเรียนจบ ชีวิตพ่อแม่ก็จะดีขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะลูกสาวคนเล็กที่ทำงานคอลเซ็นเตอร์ (call center) เงินเดือนไม่มาก แถมค่าครองชีพ ค่าเดินทางไปทำงานก็แพง ทำได้แค่ดูแลตัวเอง และช่วยพ่อแม่ได้นิดหน่อย เช่น ให้ทุนป้าได้ไปซื้อของมาขาย ชีวิตป้าจึงยังไม่ได้สบายดังที่คาดหวัง ส่วนลูกสาวคนโตแยกครอบครัวไปแล้วก็ช่วยป้าเท่าที่กำลังจะมีจำกัด เพราะมีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ   

ถามหาอนาคตสังคมที่ดีกว่านี้

เรื่องของป้าสาย สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงชีวิตของคนรุ่นเบบี้บูมที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ครอบครัวชาวนาเช่าที่ดิน นั่นหมายความว่า ผลที่ได้จากการลงแรงราวครึ่งหนึ่งต้องส่งให้เจ้าของที่ดิน ทางเลือกจึงมีไม่มาก คือลูกสาวคนโตอย่างป้าสาย ต้องเข้าเมืองมาทำงาน ในยุคที่การศึกษาภาคบังคับมีแค่ประถม 4 คนที่จบเท่านี้ก็ทำได้แค่เป็นแรงงานไร้ทักษะ และค่อย ๆ เรียนรู้เอาตามประสบการณ์ งานพับผ้า งานเย็บผ้า โอกาสที่จะทำงานที่ได้เงินเดือนสูง เหลือเก็บออมตั้งตัวจึงน้อยมาก หากยุคนั้นประเทศเรามีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ ให้ได้เรียนสูงกว่านี้ มีทักษะดีกว่านี้ โอกาสของป้าย่อมน่าจะดีกว่านี้ 

ช่องทางที่คนที่มีทุนทางเศรษฐกิจต่ำ วุฒิการศึกษาต่ำ แต่พอจะหารายได้มากกว่างานลูกจ้าง ก็คือ อาชีพค้าขาย ซึ่งก็พอช่วยให้ป้าสาย มีเงินเช่าห้อง และส่งลูกเรียน แต่การค้าขายเป็นอาชีพที่ไม่เสถียร พร้อมจะโตหรือฟุบได้ตลอดเวลา เพราะเงื่อนไขแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จนกระทั่ง รายได้จากการขายผลไม้ไม่พอค่าเช่า ป้าก็ต้องมาอยู่ในชุมชนแออัด

ชีวิตของป้าสาย บอกเราถึงความซับซ้อนของคนที่มาอยู่ในชุมชนแออัดว่า ไม่ใช่คนที่อพยพจากต่างจังหวัดแล้วเข้ามาอยู่ในชุมชนแออัดทันที แบบที่เรามักเข้าใจ แต่เป็นคนที่เคยเช่าห้องอยู่มาก่อน แต่สู้ค่าเช่าไม่ไหว พอมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า จึงย้ายมาอยู่ในชุมชนแออัด แสดงให้เห็นว่า มีคนที่มีรายได้น้อยในเมืองที่ต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมืองยังมีอีกมาก พวกเขาพยายามดิ้นรนด้วยตัวเองก่อน แต่เมื่อดิ้นรนไม่ไหว ก็ต้องมาอยู่ในชุมชนแออัด และสุดท้ายก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุก

คำถามก็คือ ถ้ายังจะดึงดันขับไล่คนที่ไม่มีทางจะไป ไม่มีบ้านที่ต่างจังหวัด แล้วคนเหล่านี้จะไปไหน แน่นอนว่า ป้าสายคงไม่ถึงกับต้องเป็นคนไร้บ้าน แต่ผมเชื่อว่า คุณภาพชีวิตของป้าจะแย่ลง เพราะต้องกลับไปหาห้องเช่าในราคาที่สู้ไหว คือถูกมาก ๆ ซึ่งก็แลกด้วยคุณภาพต่ำ เสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม ป่วยจนถึงขั้นต้องช่วยตัวเองไม่ได้ในระยะยาว

ชีวิตของป้าสายอยู่มาจนถึงเจ็ดสิบปี ขยันขันแข็ง ทั้งป้าและลุงไม่ข้องแวะอบายมุข การพนัน สุราต่าง ๆ แต่ก็ยังจน จึงไม่ใช่เพราะบุญเพราะกรรม แต่เพราะประเทศนี้มีสวัสดิการที่ช่วยให้คนที่มีต้นทุนได้ลืมตาอ้าปากน้อยเกินไป