ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
วันสำคัญในเดือนมิถุนายนเพิ่งผ่านพ้นไป เตือนใจให้เรานึกถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครองและคณะราษฎร ในฐานะของคนที่ทำงานเกี่ยวพันกับสามจังหวัดภาคใต้ ผู้เขียนคิดไปถึงเรื่องราวของคณะราษฎรกับความพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นี้ของคนในกลุ่ม ซึ่งพลันที่คิดเรื่องนี้ ชื่อของสองพี่น้องตระกูลสืบแสงก็ผลุบโผล่ขึ้นมาทันที เช่นเดียวกันกับชื่อบุคคลสำคัญในคณะราษฎร และรวมไปถึงผู้นำศาสนาคนสำคัญที่ถูกอุ้มหายในอดีตคือหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์
การจะเขียนถึงเรื่องนี้ทำให้ต้องพิจารณาสองเรื่องประกอบกัน หากเราไล่ไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์สองเรื่องคือเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ กับการเมืองในกรุงเทพฯ จะพบว่าในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวคือในปี 2470 หะยีสุหลงเดินทางจากตะวันออกกลางกลับบ้านเกิดคือปัตตานี โดยมาจากเมกกะที่ซึ่งเขาไปศึกษาและใช้ชีวิตมาเนิ่นนาน การกลับสู่พื้นที่หนนี้จะทำให้หะยีสุหลงกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญโดยเฉพาะด้านศาสนาในพื้นที่
ส่วนพี่น้องตระกูลสืบแสงในที่นี้หมายถึงจรูญ สืบแสง และเจริญ สืบแสง พวกเขาเป็นชาวปัตตานีที่แม้จะมีอาชีพคนละอย่าง ทำงานคนละด้าน แต่ในที่สุดแล้วงานของพวกเขาล้วนเป็นเรื่องรับใช้สังคม มีข้อมูลหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าพวกเขาทั้งคู่น่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดการสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างหะยีสุหลงกับคณะราษฎร ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในสายสัมพันธ์นี้คือทำให้เกิดการพูดคุยเพื่อจะคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ซึ่งถ้าจะเรียกมันว่าเป็นกระบวนการสันติภาพช่วงแรก ๆ ก็อาจจะไม่ขัดเขินจนเกินไปนัก
จรูญ สืบแสงเป็นข้าราชการทำงานด้านการเกษตร จบการศึกษาด้านนี้มาจากฟิลิปปินส์ เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าเป็นสมาชิกพลเรือนผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร จรูญเป็นผู้ที่กระตือรือร้นอย่างมากและเขานี่เองที่เร่งรัดผลักดันใหัมีการตัดสินใจลงมือในวันเวลาที่ชัดเจน เขาน่าจะมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับปรีดี เพราะปรากฎในเกร็ดประวัติศาสตร์อ้างโดยงานเขียนในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ว่า ในการออกเดินทางลี้ภัยปี 2476 ของปรีดีซึ่งต้องผ่านไปทางสิงคโปร์นั้น จรูญเป็นหนึ่งในสามคนที่เดินทางไปส่ง แม้จะมีรายละเอียดที่ไม่ลงรอยนักว่าไปส่งที่ไหนแน่เพราะบทความหนึ่งเขียนไว้ว่าไปส่งถึงปีนัง ขณะที่อีกบทความหนึ่งบอกว่าไปถึงสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามนายจรูญไปส่งปรีดีพร้อมกับบุคคลอีกสองคนคือหลวงทัศนัยนิยมศึก และ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ (ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475: “ข้อมูลใหม่” เกี่ยวกับคณะราษฎร จากบันทึกของปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 1/ ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ.2476) เขามีการไปมาหาสู่กับปรีดี เช่นมีข้อมูลว่า ในระหว่างที่ปรีดีทำงานอย่างหนักพยายามรับมือกับภาวะระหว่างสงคราม มีทั้งเรื่องประสานงานเสรีไทยและจัดการเรื่องการงานถวายการอารักขาแก่เชื้อพระวงศ์รวมทั้งการบริหารงานด้านอื่น นายจรูญและภรรยายังได้ไปเยี่ยมปรีดีในช่วงนี้ถึงที่บ้านและช่วยกันถอดโค้ดเตือนเรื่องระเบิดในช่วงสงคราม ทั้งนี้ตามข้อเขียนของฉลบชลัยย์ พลางกูร
ในขณะที่จรูญเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร พี่ชายของเขาคือ นพ.เจริญ ซึ่งหลังจากจบการศึกษามาก็ทำงานเป็นแพทย์ ก็มีบทบาทในการทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่โดยตรง เพราะ นพ.เจริญได้ไปประจำที่ปัตตานี แม้บางช่วงจะย้ายไปนราธิวาสแต่ก็ได้กลับไปปัตตานีอีก เขามีคลินิกรับรักษาพยาบาลให้ประชาชนทั่วไปจึงนับได้ว่ามีโอกาสได้คลุกคลีกับปัญหาของประชาชนจึงน่าจะทำให้เห็นถึงความเดือดร้อนของคนทั่วไป เมื่อประกอบกับลักษณะนิสัยที่ชอบช่วยเหลือผู้คน นพ.เจริญ กลายเป็นแพทย์ที่รักษาชาวบ้านแบบฟรีค่อนข้างจะมาก มีบันทึกของคนรอบข้างที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้ตรงกันว่า เขาทำงานจนเกือบจะเป็นการกุศล เพราะชาวบ้านที่ไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ต้องจ่ายและไม่มีการทวงถาม ในขณะที่เงินเดือนในตำแหน่งก็ไม่ได้มากมาย การทำงานชนิดรักษาฟรี ทำให้มีผู้เขียนถึงเขาไว้ว่า ในบางช่วงบางเวลา ร้านหรือคลินิกที่เขาเปิดรักษาคนไข้นั้นต้องปิดเป็นบางคราว เนื่องจากรักษาหรือจ่ายยาฟรีไปจนหมดทุนรอนและยา มีผู้เขียนเล่าด้วยว่า ที่ร้านนายแพทย์ผู้นี้ถึงกับมีการเผาใบเสร็จค่าหมอทิ้งเดือนละเป็นปึก ๆ เพราะไม่คิดจะตามทวงค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด นอกจากนั้น การดำเนินอาชีพแพทย์ในอดีต เชื่อว่าอยู่ท่ามกลางความไม่พร้อมอย่างมากและ นพ.เจริญก็น่าจะได้เห็นปัญหาความขาดแคลนทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปรอบ ๆ ตัว ญาติของ นพ.เจริญ บันทึกไว้ในหนังสืองานศพของเขาว่า มีครั้งหนึ่งที่ นพ.เจริญไปบ้านญาติเพื่อกินข้าว ตกช่วงค่ำกลับมีคนหามคนป่วยที่เป็นมุสลิมมาหา หนึ่งในนั้นถูกทำร้ายโดนฟันที่หัวจนเป็นแผลเหวอะ ขณะนั้นไม่มีโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้พอจะพาไปได้ นพ.เจริญและแพทย์ในที่นั้นอีกรายจึงจัดการช่วยกันผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตคนป่วยกันที่หลังบ้านนั่นเอง
นพ.เจริญและครอบครัวรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอันดีกับบ้านหะยีสุหลง แม้เราจะไม่พบหลักฐานว่าการรู้จักกันนี้ขยายไปถึงจรูญผู้เป็นน้องชายและเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนก็คือ เมื่อหะยีสุหลงซึ่งตัดสินใจว่าจะไม่กลับไปตะวันออกกลางอีก และต้องการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาแบบ madrasa สอนทั้งศาสนาและวิชาอื่นไปด้วย และเป็นโรงเรียนแบบนี้แห่งแรกในพื้นที่หรืออาจจะในประเทศ ก็มีข้อมูลที่บันทึกไว้ว่า เขาได้รับเงินสมทบเพื่อก่อสร้างโรงเรียนจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำของคณะราษฎรในจำนวน 3,200 บาท ถือว่าเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ต่อมาทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนากับนายปรีดีก็ยังได้เดินทางไปเยือนพื้นที่และร่วมในงานเปิดโรงเรียนปรากฎมีการถ่ายภาพร่วมกันด้วยในปี 2488
คาดได้ว่ากว่าจะไปถึงขั้นนี้ได้ย่อมต้องมีการติดต่อสื่อสารกันพอสมควรก่อนหน้านั้น และแม้ว่าปรีดีจะมีนายแช่ม พรหมยงค์ มุสลิมที่เขาสนิทสนมและเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้คำปรึกษาหารือ แต่สำหรับการเชื่อมต่อกับหะยีสุหลงแล้ว คนในครอบครัวโต๊ะมีนาเองก็ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะริเริ่มผ่านสายใยสำคัญนั่นคือจรูญ สืบแสง ผู้ที่เป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิดกับปรีดี โดยเฉพาะมีพี่ชายคือ นพ.เจริญที่สนิทสนมกับหะยีสุหลง
โรงเรียนของหะยีสุหลงเช่นเดียวกันกับการสอนศาสนาของเขาได้รับความนิยมอย่างมาก หะยีสุหลงเองมีสถานะเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพของผู้คนโดยทั่วไปและมีบทบาทในเรื่องกิจการด้านศาสนาอย่างสำคัญ เช่นเป็นคนแรกที่รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี การที่หะยีสุหลง ผู้นำด้านศาสนาและด้านจิตใจในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองในกรุงเทพฯ เช่นหัวหน้าคณะราษฎรบอกเราว่า สายสัมพันธ์ระหว่าง “ปาตานี” กับเมืองหลวงในเวลานั้นเป็นไปอย่างดี มีงานเขียนที่ระบุไว้ว่า หะยีสุหลงกับผู้มีบทบาททางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สื่อสารกันในปัญหาเรื่องภาคใต้ และมีความพยายามร่วมกันในอันที่จะหาทางออกให้กับความขัดแย้งและการต่อต้านรัฐไทยที่มีอยู่ในช่วงนั้น
ต้องไม่ลืมว่า ในจังหวะใกล้เคียงกันนั้น ในพื้นที่ยังคงมีการต่อต้านรัฐบาลอยู่ สิ่งที่ทำให้ไทยไม่ไว้วางใจก็คือความเคลื่อนไหวของทายาทของรายาองค์สุดท้าย ตนกูมะไฮยิดดิน ซึ่งก็มีสายสัมพันธ์กับอังกฤษเพราะเขาก็ร่วมช่วยเหลืออังกฤษในการทำสงครามกับญี่ปุ่น และพยายามใช้สายสัมพันธ์นี้ เพื่อให้อังกฤษช่วยเหลือในการต่อต้านรัฐบาลไทย เรื่องนี้ มีส่วนเพิ่มความเครียดให้กับความสัมพันธ์ไทยกับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐบาลไทยภายใต้แนวทางของคณะราษฎร มีเค้าว่าจะเดินแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยแนวทางใหม่ ๆ ที่ควรจะเรียกได้ว่าเป็นแนวสันติ ผ่านช่องทางการทำงานกับหะยีสุหลง รัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์มีการริเริ่มอย่างสำคัญในการจับมือกับกลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ เพื่อหาวิธีการที่จะให้พื้นที่นี้ได้มีอำนาจในการจัดการตัวเองมากขึ้น มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น มีนายจรูญ สืบแสงรับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการด้วย
เรื่องของข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงนั้น นักวิชาการบางสายนำเสนอว่าเป็นข้อเสนอที่กลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ นำโดยหะยีสุหลงประชุมยกร่างกันขึ้น แล้วนำเสนอต่อรัฐบาลในฐานะเป็นข้อเรียกร้อง แต่รัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ เพราะเห็นว่าจะเท่ากับเป็นการแบ่งแยกดินแดน
แต่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณเขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขา ประวัติศาสตร์วิพากษ์: สยามไทยกับปาตานี ให้ข้อมูลที่สวนทางกับความคิดดังกล่าว ธเนศเล่าว่า อันที่จริงแล้วข้อเรียกร้องนี้เป็นผลของการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้นำจากสามจังหวัด ที่นำโดยหะยีสุหลงในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี กับฝ่ายรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งเป็นฝ่ายริเริ่มให้มีการประชุมนี้ขึ้น และข้อเสนอทั้งเจ็ดข้อเป็นผลของการพูดคุยและสรุปกันออกมาได้ดังนั้น ซึ่งเป็นไปตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2490 โดย หะยีโมง เก็บอุรัย รองประธานในขณะนั้น แม้ข้อเรียกร้องบางเรื่องบางอย่างดูจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดเพิ่มเติม ทำให้ยังไม่มีการตัดสินใจเพื่อจะดำเนินการ แต่ไม่ได้ถูกปฏิเสธเสียทั้งหมด การปรึกษาหารือมีเค้าว่าจะทำกันหลายขั้นตอน ทว่า “กระบวนการสันติภาพ” ที่ไม่ได้ประกาศครั้งแรกนี้ก็มาชะงักไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง
ในความเห็นของผู้เขียนหนังสือคือธเนศ อาภรณ์สุวรรณนั้น หะยีสุหลงและปรีดี มีความเห็นพ้องต้องกันหลายอย่าง ในเรื่องของหลักการในการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ เพราะลักษณะพิเศษของพื้นที่ทำให้ต้องยอมให้มีการจัดการตัวเอง ธเนศชี้ว่า ปรีดีนั้นมีความเชื่อว่า การจัดการพื้นที่ชนกลุ่มน้อยต้องใช้หลักประชาธิปไตยเป็นตัวนำ สิ่งที่น่าคิดด้วยก็คือ บรรยากาศหลังสงครามน่าจะทำให้ผู้นำทางการเมือง และด้านจิตใจไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือในภาคใต้ต่างรู้สึกถึงการที่จะต้องจับมือกันทำงาน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและฟื้นฟูบูรณะประเทศ
ในระหว่างนี้เห็นได้ชัดว่า พวกเขาอยู่ในวงจรของกลุ่มปัญญาชนที่ขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ปี 2479 นพ.เจริญ ได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานี ก่อนจะก้าวไปเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานีในปี 2483 และในปี 2489 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนของปัตตานี มีข้อมูลระบุว่า ในการเลือกตั้ง หะยีสุหลงให้การสนับสนุน นพ.เจริญ และเพราะเหตุนั้นก็จำต้องปฎิเสธคำขอให้ช่วยที่มาจากพระยารัตนภักดี บุคคลอีกคนหนึ่งที่ต้องการลงสมัครด้วยเช่นเดียวกัน และคาดหวังว่าหากได้รับการช่วยเหลือจากหะยีสุหลง ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนจำนวนมาก เขาน่าจะมีโอกาสสูงในอันที่จะชนะ การปฎิเสธไม่ช่วยพระยารัตนภักดีในหนนั้น ว่ากันว่าส่งผลกระทบอย่างสูงในเวลาต่อมา
การยึดอำนาจในเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นการยึดอำนาจจากกลุ่มคณะราษฎรนั่นเอง
หลังจากนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่าเริ่มมีการกวาดล้างอิทธิพลของคณะราษฎร จนปรีดีต้องหนีออกนอกประเทศ กลุ่มขั้วตรงข้ามกับคณะราษฎรขึ้นมาทำงานบริหารประเทศต่อ โดยในส่วนของรัฐบาลมีนายควง อภัยวงศ์ ของพรรคประชาธิปัตย์มากุมบังเหียนในฐานะนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าภายใต้รัฐบาลนี้การริเริ่มพูดคุยใด ๆ กับกลุ่มหะยีสุหลงก็เป็นอันว่าล่มไป การแก้ปัญหาภาคใต้กลับไปอยู่ในมือของผู้ที่มองพื้นที่อย่างหวาดระแวง
สิ่งที่รัฐบาลทำคือนำเอาพระยารัตนภักดี ซึ่งถูกลดฐานะภายใต้รัฐบาลของคณะราษฎรจนลาออกไปให้กลับมารับหน้าที่ผู้ว่าอีก รัฐบาลมีทัศนะต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ว่า จะต้องมีต้นตอมาจากการมีหัวโจกให้การยุยงส่งเสริม จึงได้เริ่มมองหาคนที่จะเป็นต้นตอของปัญหา และพระยารัตนภักดีก็คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ เขาได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อรัฐบาลว่าบุคคลที่ว่า ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นภัยก็คือหะยีสุหลงนั่นเอง ณ จุดนี้จึงดูจะแยกได้ยากว่าการไล่ล่ากดดันหะยีสุหลงเป็นเรื่องส่วนตัว จากที่เคืองแค้นกันมาตั้งแต่ครั้งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือในช่วงของการเลือกตั้งก่อนหน้า หรือว่าเป็นเพราะแนวทางของผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ ที่ต้องการกำจัดหะยีสุหลง หรือว่าทั้งสองอย่างผสมกัน แต่นายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงดูจะค่อนข้างเชื่อว่าประเด็นความไม่พอใจส่วนตัวมีอิทธิพลสูงมาก ดังปรากฎในบันทึกของเขาที่ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน (ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิฮัจยีสุหลง) ต่อมาหะยีสุหลงจึงถูกจับและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฎ ในระหว่างที่มีการดำเนินคดีหะยีสุหลง ที่ศาลที่นครศรีธรรมราชนั้น นพ.เจริญก็ได้ไปเยี่ยมเยียน และเขานี่เองที่เป็นผู้ช่วยจัดหาทนายความให้กับหะยีสุหลง หะยีสุหลงเองก็นำเรื่องนี้อธิบายกับศาลเช่นกันว่า เขาถูกกล่าวหาทั้งหมดนั้นด้วยเรื่องที่มีต้นเหตุจากความเคืองแค้นส่วนตัว ประเด็นเรื่องของการดำเนินคดีนี้สามารถหาอ่านได้จากงานของเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร
หลังจากที่คดีจบลง หะยีสุหลงถูกตัดสินจำคุกสี่ปี เมื่อเขาออกมาได้ไม่นาน เดือนสิงหาคม ปี 2497 ก็ถูกตำรวจสันติบาลสงขลาเรียกตัวให้ไปพบ และหลังจากนั้นเขาก็หายไปพร้อมบุตรชายคนโต และเพื่อนร่วมทางท่ามกลางความเชื่อของญาติมิตรว่า พวกเขาถูกฆ่าถ่วงน้ำที่ทะเลสาบสงขลานั่นเอง ในขณะที่การแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ก็หันกลับไปสู่หนทางของการไล่ล่าและกวาดล้างเช่นเดิม
อันที่จริงแล้ว นพ.เจริญ เป็นคนที่มีเรื่องราวการต่อสู้ของตนเองที่น่าทึ่งอย่างมาก เขาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.อีกสองครั้ง รวมแล้วได้เป็น ส.ส.สามสมัย ครั้งที่สองเป็นการเลือกตั้งภายใต้การจัดการของรัฐบาลใหม่ในปี 2491 รวมทั้งอีกครั้งหนึ่งคือในปี 2500 ซึ่งในครั้งหลังนั้นเขาได้เป็น ส.ส.คู่กันไปกับอามีน โต๊ะมีนา บุตรชายคนที่สองของหะยีสุหลง
นพ.เจริญยังคงเดินหน้าทำงานในด้านต่าง ๆ ต่อไป เขาอยู่ในแวดวงปัญญาชนหัวเสรีในยุคนั้น ในช่วงนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในกระแสอันเชี่ยวกรากของความขัดแย้งระหว่างโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในเวลานั้นใกล้ชิดกับสหรัฐ ฯ และสนองความต้องการของสหรัฐ ฯ ที่อยากเห็นไทยแสดงบทบาทมากขึ้นด้วยการส่งทหารไปร่วมรบในเกาหลี ท่ามกลางเสียงค้านของปัญญาชนในวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการสันติภาพขึ้น พร้อมกับมอบให้ นพ.เจริญเป็นผู้นำ รัฐบาลจอมพล ป.มองผู้คัดค้านที่มีแนวคิดเสรีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นศัตรูทางการเมืองและเป็นสายใยของคณะราษฎร เขาถูกจับพร้อมกุหลาบ สายประดิษฐ์และคนอื่น ๆ อีกกว่าร้อยในปี 2495 ด้วยข้อหาว่าเป็น “กบฎสันติภาพ” ในการกวาดล้าง “กบฎสันติภาพ” ที่ว่านี้กลับมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์กับบุตรชายคือ ปาล พนมยงค์ถูกจับกุมด้วย แม้ว่าอัยการจะตัดสินใจไม่ฟ้องท่านผู้หญิงพูนศุขเหตุเพราะหลักฐานไม่พอ แต่การนำตัวไปคุมขังรอทำคดีอย่างยาวนานก็ส่อเค้าของการกลั่นแกล้งอย่างชัดเจน
ในขณะที่บุตรชายคือปาล ถูกดำเนินคดีและต้องถูกจำขังหลายปี นพ.เจริญก็พบสถานการณ์ที่คล้ายกัน แต่เขาถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังห้าปีด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากคดีกบฎสันติภาพ เขาก็ยังถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหาเดิมและถูกจำขังอีกราวห้าปีเช่นกัน การเข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำ ทำให้พลาดโอกาสในอันที่จะได้ใช้ชีวิตกับบุตรชายที่เพิ่งเกิดน้อยมาก ในขณะที่ภรรยาก็ต้องลำบากในเรื่องการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตัวเองและลูก ในช่วงหลังเขาได้กลับไปอยู่ปัตตานีสมัครและได้เป็นประธานสภาเทศบาล นพ.เจริญเสียชีวิตเมื่อปี 2512 ในวัย 67 เพราะมะเร็งในโพรงจมูก
ในตัวเมืองปัตตานีมีถนนสายสำคัญ ที่วิ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีที่เรียกกันติดปากว่าถนนสายหน้ามอ ชื่อเต็มของถนนสายนี้คือถนนเจริญประดิษฐ์ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติกับ นพ.เจริญหรือขุนเจริญวรเวช
ส่วนการแก้ปัญหาภาคใต้นั้น หลังจากที่หะยีสุหลงถูกดำเนินคดีจนต้องโทษจองจำ ก็ปรากฎเหตุการณ์ดุซงญอ ที่อำเภอจะนะ นราธิวาส ในปี 2491 อันเป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบ้านที่ดุซงญอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงเอยด้วยการมีคนตายจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้อธิบายไว้ว่ามีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้านกับตำรวจ แต่บ้างก็บอกว่าเป็นเจตนาของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการต่อสู้กับรัฐบาล เพราะเชื่อว่า กำลังจะถูกปราบปราม หลายปีหลังจากที่หะยีสุหลงหายไป ความรุนแรงระอุขึ้นในพื้นที่ ท่ามกลางแนวทางการปราบปรามที่กลายเป็นการให้ท้ายการใช้มาตรการศาลเตี้ยในพื้นที่ หมุนเวียนเข้าสู่วังวนของการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง