เหตุน้ำมันรั่วระยอง โศกนาฏกรรมตอนอวสานของประมงเรือเล็ก ถูก(ทิ้ง)ให้ต่อสู้โดยลำพัง - Decode
Reading Time: 4 minutes

“หนูคิดว่าป้าจะรู้สึกอย่างไร ป้านั่งอยู่ท้ายเรือ แฟนป้าสาวอวนขึ้นมาไม่เหลืออะไรติดอวนมาเลย แต่ทำอย่างได้ยังไงก็ต้องออกทะเลให้ได้ทุกวัน”

26 มกราคม 2565 ช่วงเวลาเช้ามืด เจ๊หลาน รัตนา จินดา ชาวประมงพื้นที่กลุ่มปากน้ำบ้านเรา ออกเรือหากินทำการประมงตามวิถีชีวิตปกติของเธอ วันและคืนผ่านไปเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่เธอยึดอาชีพนี้ จนเธอกล่าวว่าอาชีพประมงคือแขน ขา คือชีวิตคือจิตใจของเธอและครอบครัว หาดแหลมรุ่งเรืองคือบ้าน ส่วนท้องทะเลระยองคือบ้านหลังที่สองของเธอ

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่เกินความคาดหมาย เจ๊หลานรู้อยู่เต็มอกว่าสักวันจะต้องเกิดขึ้นอีก แต่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเร็วขนาดนี้ เธอได้รับแจ้งข่าวน้ำมันรั่วกลางทะเล ตัวเลขน้ำมันรั่วที่แจ้งออกมา ณ ตอนนั้นคือ  400,000 ลิตร เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 21.06 น. เธอทราบข่าวช่วงเวลาหกโมงเช้าของอีกวัน

“น้ำมันรั่วปี 2556 ผ่านมาจะ 10 ปีแล้ว เราคิดว่าคราวนี้สิ่งต่าง ๆ มันคงจะฟื้นฟูกลับมาได้ แต่มาเจอรอบนี้อีก พอรู้ข่าวน้ำมันรั่วตกใจมาก! ตอนนั้นอยู่ที่ทะเลกำลังออกเก็บอวน”

ฝันร้ายเมื่อ 9 ปีที่แล้ว กำลังตามมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง ฝันร้ายที่ประชาชน, ชาวประมง, ธรรมชาติคือผู้รับเคราะห์ จากเหตุการณ์ที่ผู้กระทำมักกล่าวอ้างเสมอว่า ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นทุกที และกลุ่มคนที่เจ็บที่สุดเป็นลำดับแรกหนีไม่พ้น “อาชีพชาวประมงเรือเล็ก” 

เรื่องราวต่อไปนี้ คือความเจ็บปวดและชะตากรรมวนซ้ำของชาวประมง จ.ระยอง ที่ต้องรับสภาพกับเหตุน้ำมันรั่วซ้ำซาก แม้พวกเขาไม่ต่อต้านการมีอยู่ของอุตสาหกรรม แต่ขอเพียงแค่อยากอยู่ร่วมกันโดยที่อุตสาหกรรมไม่ทำลายชีวิต อาชีพประมงของพวกเขาให้ป่นปี้ไปกว่านี้

6 วันแล้วน้ำมันรั่วน้ำตานอง

“เจอแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ารู้สึกท้อแท้ใจ แต่มันถอยไปไหนไม่ได้ พวกเรามีภาระมีครอบครัวที่ต้องสู้ ครั้งนี้อยากให้เยียวยากันโดยไม่ต้องไปถึงขั้นฟ้องร้องเหมือน 9 ปีที่แล้วกันอีกเลย”

ช่วงเวลายามบ่ายท้องฟ้าสดใสคลื่นลมสงบ บริเวณชายหาดแหลมเจริญ เจ๊หลานชาวประมงเรือเล็ก กลับมีสีหน้าและแววตาที่ไม่สู้ดีนัก เธอกับสามีกำลังเก็บอวนอันเก่าทิ้ง เราพบเจอและพูดคุยกับเธอในวันที่ 31 มกราคม 2565 6 วันหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) 

โดยทางบริษัทชี้แจงผ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 ว่าตลอด 6 วันที่ผ่านมา มีการใช้เรือในการวางทุ่นกักน้ำมัน บินโดรนและเฮลิคอปเตอร์เพื่อเฝ้าระวังสังเกตการณ์อยู่ตลอด นอกจากนี้ทางบริษัทฯ กล่าวว่า มีความยินดีที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่สำหรับเจ๊หลานนั้น มันเป็นช่วงเวลา…

6 วันแล้วที่เธอกล่าวกับเราว่า สัตว์ทะเลหายไปจำนวนมาก

6 วันแล้วที่เธอต้องหาหยิบยืมจากญาติพี่น้อง มาใช้จ่ายสำหรับค่าโสหุ้ย ค่าจ้างลูกน้อง

6 วันแล้วที่เธอยังคงออกทะเลไม่เว้นวัน เพราะสิ่งนี้คืออาชีพเดียวที่หล่อเลี้ยงเธอมาทั้งชีวิต

“ต้องออกทุกวันเพราะเราต้องทำมาหากิน ปูจากเคยจับได้วันละ  10-20 กิโลกรัม เมื่อวานนี้เหลืออยู่ 4 กิโลกรัม มันหายไปเลย และที่หามาได้ก็ขายไม่ได้ เขายกเลิกออร์เดอร์หมด ต้องเก็บสินค้าไว้ในห้องเย็นต่อไปก็เกิดต้นทุนค่าใช้จ่าย”

จากการพูดคุยกับเจ๊หลาน สามารถสรุปประเด็นปัญหาของชาวประมงที่ประสบอยู่ตอนนี้จะแบ่งเป็น 1.สัตว์ทะเลลดปริมาณลงจำนวนมาก 2.ถึงแม้จะจับมาได้ก็ไม่สามารถนำไปขายได้ เพราะตอนนี้แม่ค้าจากที่อื่น แทบจะไม่รับสินค้าทะเลจาก จ.ระยอง เพราะขาดความมั่นใจ  และ 3.จะเป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่องของชาวประมงที่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อหล่อเลี้ยงปากท้อง และลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำกินที่ชำรุด เงินเยียวยาคือสิ่งที่ชาวประมงร้องขออย่างเร่งด่วน

เยียวยาอย่างเป็นธรรม อย่าต้องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีกเลย

“วันนี้ตอนนี้ เราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า ให้พวกคุณคนที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่ว ลงมาเหลียวแลเยียวยา มาพูดคุยกับชาวบ้านหน่อยไหม มาดูหน่อยสิว่าตอนนี้พวกเราเดือดร้อนกันอย่างไร”

เจ๊หลานเล่าให้เราฟังต่อถึงชีวิตของเธอในตอนนี้ เธอต้องหยิบยืมเงินจากญาติพี่น้องเพื่อมาใช้เติมน้ำมัน พร้อมกับชี้ไปที่อ่างน้ำสำหรับใส่สัตว์ทะเลที่หาได้ไว้ โดยยังไม่มีใครตอบได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะขายได้หรือเน่าเสียก่อน เธอต้องนำเงินที่ขายของได้จากเมื่อวานมาเป็นค่าใช้จ่ายของวันนี้ และของที่ขายได้วันนี้คือเงินที่จะต่อชีวิต เป็นต้นทุนต่อไปของวันพรุ่งนี้ ชีวิตวันต่อวันของประมงเรือเล็กชายฝั่งระยองยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับความสิ้นหวังว่า ในวันข้างหน้าอุตสาหกรรมจะกลืนวิถีชีวิต ทำลายทรัพยากรในท้องทะเลจนหมดสิ้น

“ท้อทุกวันแหละ แต่พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่ามันเป็นอาชีพของเรา ต้องทำถอยไม่ได้หยุดไม่ได้ ประมงเรือเล็กใช่ว่าจะมีเงินอะไรมากมาย เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ทำประมงมาทั้งชีวิตล้มลุกคลุกคลานอยู่แบบนี้แต่เลิกไม่ได้ มันคืออาชีพดั้งเดิมที่เราต้องเก็บของเราไว้ ต่อไปวันข้างหน้าประมงชาวบ้านคงจะอยู่ไม่ได้ในสักวัน”

จากบริเวณชายหาดแหลมเจริญ เราเดินทางโดยรถยนต์ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ข้ามมาที่ชายหาดแหลมรุ่งเรือง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่มีชุมชนชาวประมงเรือเล็กอาศัยอยู่ประมาณ 66 หลังคาเรือน เรือประมงจอดเรียงรายอยู่ตามชายฝั่ง ชาวประมงหลายคนออกมาเก็บอุปกรณ์ทำกิน เป็นการเก็บที่ยังไม่มีคำตอบว่า จะเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาใช้ได้อีกทีเมื่อใด 

เมื่อชาวประมงหลายคนประเมินดูแล้วว่า สิ่งที่ได้จากการออกทะเลในตอนนี้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนและความเสี่ยงที่จะตามมา เราพูดคุยกับ อู๊ด วิรัช สมมาตร ชาวประมงในวัย 58 ปี ที่ยึดอาชีพประมงมา 18 ปี และเพิ่งจะมีเรือเป็นของตัวเองเมื่อเร็ว ๆ นี้

“น้ำมันเรือออกไปวันหนึ่งใช้เงินเป็นพัน แต่ได้ของกลับมาเขาไม่ซื้อ แล้วการออกทะเลไปมันจะมีค่าอะไร”

อู๊ดเริ่มเล่าเรื่องราวของตัวเอง บริเวณร้านค้าในชุมชน น้ำเสียงและท่าทีของเขาดูเหมือนว่าจะมีอะไรหลายอย่างอัดอั้นอยู่ในใจ จนกระทั่งเขากล่าวความรู้สึกของตัวเองออกมาว่า

“มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมพูดไม่ออกเลย (เสียงสั่นเครือ) เรามันไม่มีต้นทุน ต้นทุนเรามันอยู่ในทะเล ทรัพยากรของเราอยู่ในทะเล ทรัพยากรหายไปหมดแล้ว…และไม่ใช่แค่เรื่องนี้หรอก เดี๋ยวกำลังจะมีโครงการถมทะเลอีกนับพันไร่ พื้นที่หากินของเราก็หายไปอีก แล้วพวกผมประมงเรือเล็กต่อจากนี้จะอยู่กันได้อย่างไร”

อู๊ดกล่าวต่อว่า สถานการณ์ของชาวประมงเริ่มต้นแย่ลงตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ชาวประมงหลายคนเริ่มต้นการกู้หนี้ยืมสินในช่วงนั้น เพราะจำนวนสัตว์ทะเลที่หาได้ลดลง แต่ต้นทุนต่าง ๆ นั้นยังมีเท่าเดิมทั้งยังเพิ่มขึ้น เช่นค่าน้ำมัน ค่าครองชีพ หลายคนอาจคิดว่าอาชีพประมง ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายอะไร แต่แท้จริงแล้วนั้นกลับไม่ใช่อย่างที่เราคิด

อู๊ดอธิบายให้เราฟังว่า ถ้าใครสักคนอยากจะเริ่มต้นทำอาชีพประมงเรือเล็กนั้น จะต้องเตรียมเงินลงทุนมาอย่างน้อย 5 แสนบาท เป็นสำหรับค่าเรือลำหนึ่งที่ตอนนี้ราคาประมาณ 2 แสนบาท และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อวนที่ตกอยู่ที่ปากละ 5,000 บาท และในการจับสัตว์น้ำแต่ละประเภทก็จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ในการจับที่แตกต่างกันออกไป ทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมันอยู่ในทะเลจึงจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนอยู่เป็นประจำ อันนำมาซึ่งต้นทุนหมุนเวียนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของอาชีพนี้ อาชีพประมงรายได้ดีก็จริงแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายรายวัน

“ชาวประมงอย่างผม ตอนนี้มันคือความอัดอั้นตันใจ ถ้าจะช่วยเยียวยา ผมอยากจะให้เขาทำให้มันเร็วหน่อย ไม่อยากให้มันเป็นเหมือนครั้งก่อนเมื่อปี 2556 ทุกวันนี้ยังเยียวยาขึ้นศาลกันไม่จบเลย เรื่องเก่ายังไม่จบเรื่องใหม่มาอีกแล้ว…นอกจากนี้ ผมอยากให้รัฐมาช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวประมงหน่อยว่า กุ้ง หอย ปูปลา มันกินได้จริงไหม?”

สำหรับชาวประมงหาเช้ากินค่ำเช่นอู๊ดและคนอื่น ๆ เขากล่าวกับเราว่า ถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท เพราะมันคือเวลาและต้นทุนที่เสียไป สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดคือ ให้บริษัทฯ ลงมาพูดคุยกับชาวบ้าน พูดคุยเยียวยาอย่างเป็นธรรมและเร่งด่วน ทางเลือกนี้ไม่ใช่แค่ส่งผลดีกับชาวบ้านแต่ยังส่งผลดีกับบริษัท ที่จะสามารถเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกับกลุ่มชาวประมงเรือเล็ก และอาชีพพ่อค้าแม่ค้าที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง  

เรียกคืนความเชื่อมั่นอาหารทะเลระยอง

อ่านถึงตรงนี้คงได้เห็นภาพสารพัดภาระและความเจ็บปวดที่ชาวบ้านชาวประมงต้องแบกรับ อย่างไรก็ดีเรื่องเร่งด่วนที่ชาวประมงต้องการคนยื่นมือมาช่วยเหลือนั่นคือ การเรียกคืนความเชื่อมั่นให้อาหารทะเลระยอง

ความจริงสองข้อสำคัญต่อเรื่องนี้ คือหนึ่งชาวบ้านสะท้อนว่าสัตว์ทะเลที่พวกเขาออกไปจับตอนนี้ ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีน้ำมันเลย แต่คนก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี ส่วนอีกข้อคือการตายของสัตว์น้ำ เช่นข่าวเต่าและโลมาตายเพราะน้ำมันนั้นไม่เป็นความจริง แต่เป็น Fake News ที่มาตอกย้ำทำลายความเชื่อมั่นให้หมดไป

อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีประสบการณ์ศึกษาและเก็บข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาตั้งแต่ปี 2556 สะท้อนว่า “เรื่องอาหารทะเลนี้ก็เหมือนคราวปี 2556 เลยครับ ครั้งนั้นความไม่เชื่อมั่นลามไปถึงตราดด้วยซ้ำ และเอาเข้าจริง ๆ ข่าวบางข่าวที่โหมปล่อยออกไปนี่ก็ทำให้ชาวประมงเขาขายไม่ได้ตั้งแต่วันที่น้ำมันรั่ว” 

“ผมเลยคิดว่าหน่วยงานที่จะช่วยให้ความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคได้อย่างเร็ว ๆ คือสำนักข่าวต่าง ๆ คือถ้าสำนักข่าวเล่นข่าวเยอะ ๆ เช่นปลาตายหมดแล้ว หรืออย่างข่าวโลมาตาย เต่าตาย จนกลายเป็นข่าวใหญ่ แล้วใครเขาจะกล้ากินปลาอีก สื่อมวลชนจึงต้องช่วยพิสูจน์ให้เรียบร้อยก่อนนำเสนอว่าจริงหรือไม่จริง นอกจากนี้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจังหวัด กรมอนามัย เหล่านี้ก็ต้องทำงานร่วมกันในการเรียกความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วย”

เสียงสะท้อนจากอาจารย์ธรณ์ นอกจากจะสะกิดสื่อมวลชนแล้ว ยังชวนให้เราทั้งหลายที่ใช้ชีวิตกันอยู่ในสังคมออนไลน์วันละหลาย ๆ ชั่วโมงได้ทบทวนพฤติกรรมรับส่งข้อมูลข่าวสารกันยกใหญ่ เพราะในขณะที่เราพยายามยืนหยัดเคียงข้างชาวบ้านชาวประมงระยอง ด้วยการกระจายข่าว เรียกร้องความเป็นธรรมกันเร็ว ๆ จนไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถี่ถ้วน นั่นอาจเป็นเราเองที่ส่งต่อข้อมูลเท็จที่ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

งบไม่ถึง พึ่งเอกชนได้ไม่เต็มร้อย จัดการแบบโซซัดโซเซ

อีกเรื่องสำคัญที่ควรหยิบมาถกถึงคือการจัดการและรับมือกับน้ำมันดิบ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้มีคำถามจากทั้งชาวบ้านและคนนอกพื้นที่ว่าวิธีโปรยสารเคมี ฉีดพ่นน้ำยา ถูกต้องตามหลักการจริงหรือไม่

อาจารย์ธรณ์ ตอบข้อสงสัยข้างต้นพร้อมเปิดเปลือยถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้การจัดการและรับมือติดขัดอยู่บ้างว่า “อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าการจำกัดคราบน้ำมันนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ก่อเหตุที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนวิธีกำจัดด้วยการใช้สารเคมีนั้นถามว่าถูกต้องตามหลักการไหม ผมก็ต้องตอบว่าใช่ เพียงแต่ไม่ใช่วิธีแรกสุด”

“เมื่อเกิดน้ำมันรั่วในทะเลไม่ว่าจะที่ใดในโลก ก็จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง วิธีการกำจัดจึงเป็นการลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ตามหลักการสากลคือเราต้องพยายามไม่ให้มีน้ำมันดิบเข้าไปถึงฝั่ง เพราะถ้าเข้าไปถึงฝั่งมันจะปนกับทรายจมลงทราย ดังนั้นวิธีแรกเลยคือการใช้บูม บูมที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีอยู่มากแค่ไหน ซึ่งตามที่ทราบคือตอนนี้ไม่มีบูมเพียงพอที่จะกันน้ำมันได้ทั้งหมด เราจึงกันไปเป็นหย่อม ๆ

“อีกทางเลือกเป็นการใช้สารทำให้น้ำมันแตกตัว ถามว่าปกติประเทศอื่น ๆ ใช้กันไหม จริง ๆ ก็มีใช้นะครับ เพียงแค่ว่ามันจะใช้ยังไง ใช้แค่ไหน ที่ความลึกเท่าไหร่ ซึ่งวิธีการอย่างหลังนี้ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น แต่จะย่อยได้ในสามชั่วโมง หกชั่วโมง หรือยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นเป็นไปไม่ได้ มันต้องใช้เวลาหลายวัน แปดวัน สิบวัน หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพของท้องทะเล ซึ่งตรงนี้แหละที่ผมคิดว่า ชาวบ้านเขากังวล”

ต่อประเด็นบูมและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ อาจารย์ธรณ์ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า “มองไปที่เอกชน ซึ่งมีหน้าที่จัดการน้ำมัน ถามว่าพัฒนาการขึ้นจากปี 2556 หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายบริษัทเอกชนมาร่วมลงขันกันซื้อเรือกำจัดคราบน้ำมันเพิ่มมาหนึ่งลำ แต่สำหรับผมก็เห็นว่าเป็นการตื่นตัวที่ยังไม่เพียงพอสำหรับจัดการกับปัญหาเดิม ๆ ได้ เพราะถ้าพอมันจะไม่มีเหตุการณ์ในระยะไล่เลี่ยกันในห้วงไม่ถึงสิบปีในพื้นที่เดิม ๆ และรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน”

“ส่วนภาครัฐ เฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแม่งานในการทำหน้าที่รับมือ เช่น ไปนั่งดูตามระบบนิเวศ ไปเตรียมการน้ำมันจะเข้าอ่าวก็ไปเฝ้าดูนั้นติดขัดเรื่องงบประมาณ คือไม่เกี่ยวกับว่ามีงบพอหรือไม่พอ แต่งบมันมาไม่ถึงตั้งแต่แรก อย่างกรมทะเลเขาก็ใช้งบกลางของกระทรวงฯ ซึ่งงบกลางดังกล่าวพอช่วงหลังโควิดนี้ต้องบอกว่าไม่พอ และเมื่อเงินมาไม่ถึงเขา เขาก็ต้องหาทางหาเงินมาใช้จัดการตามสภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินจากหน่วยงานในพื้นที่เอง จะให้ซื้อบูมกันน้ำมันจึงยากมาก เพราะอุปกรณ์พวกนี้แต่ละอย่างราคาแพง” 

ฟังคำอธิบายจากอาจารย์ธรณ์แล้ว คงไม่ผิดไปจากความจริงมากนักหากจะสรุปว่าบทเรียนน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 หรือระหว่างนั้นอีกหลายครั้ง ไม่ได้กระเพื่อมให้ภาคเอกชนและภาครัฐตื่นตัวที่จะพยายามวางแผนจัดการและรับมือกับปัญหานี้ให้ดีที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นเราคงได้เห็นการใช้บูมกันน้ำมันรั่วที่เพิ่มมากขึ้น ได้เห็นการจัดการที่รวดเร็วเพราะมีเงินให้หยิบใช้อย่างไม่ติดขัด แต่ตอนนี้เหมือนฉายโศกนาฏกรรมม้วนใหม่ ที่มีฉากหนีตายเอาตัวรอดคล้ายเดิม

ภาพถ่ายเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จ.ระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2556 (บริเวณชายหาด จ.ระยอง) ของ ”กลุ่มชาวประมงเรือเล็กปากน้ำบ้านเรา”

ตั้งกองทุน-หนุนงบเพิ่ม-ประเมินผลเร็ว ทางออกเพื่อทางรอดของคนระยอง

อย่างไรก็ดีอาจารย์ธรณ์ ได้เสนอทางออกเพื่อไม่ให้ชาวระยองต้องเจอกับความเลวร้ายซ้ำ ๆ อีกว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อมเรื่องน้ำมันรั่วไว้สามเรื่องใหญ่ ๆ คือการป้องกัน จัดการ และประเมินผลกระทบ 

“เรื่องแรกคือการป้องกัน ต้องมีการยกระดับอีกเยอะโดยเฉพาะการตรวจสอบติดตาม เรื่องที่สองการจัดการ ผมเห็นว่าจริง ๆ บริษัทด้านน้ำมันควรจะมีกองทุนประกันเพื่อภาวะฉุกเฉินร่วมกัน จะได้หยิบเงินมาใช้จัดการได้ง่าย ซึ่งจริง ๆ แนวทางแบบนี้ก็เคยมีเสนอตอนเหตุการณ์ปี 56 แต่ก็หายไปไม่เกิดขึ้นจริง

“สุดท้ายคือการประเมิน ซึ่งเราก็ยกระดับมาแล้ว โดยปี 2556 นี่ผมลงไปทำไม่ทัน คือน้ำมันเข้าชายหาดก่อนแล้วเราตามลงไปประเมินทีหลัง แต่ปีนี้ทำทัน ผมทำก่อนที่น้ำมันจะซัดเข้าฝั่ง ก็ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเล เราเข้าก่อนวันที่ 29  มกราคม ได้เตรียมข้อมูล Before คือมีข้อมูลหาดทราย จำนวนหอยเสียบ ปูทหาร มีข้อมูลว่าเดิมทีมีสารตกค้างอยู่เท่าไหร่ เพราะปกติหาดทรายก็มีสารตกค้างอยู่ก่อนแล้ว ตรงนี้เราก็ลงไปเก็บข้อมูลมาไว้เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบกับหลังจากน้ำมันเข้ามาถึง ก็จะเป็นการเทียบระหว่างข้อมูล Before และ After ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพของผลกระทบได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งหมดที่ผมทำนี้ผมใช้เงินตัวเองนะครับ “ 

อาจารย์ธรณ์ ทิ้งท้ายว่า ที่กระโดดลงไปช่วยประเมินนั้นหลายคนอาจมองว่าเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ซึ่งก็ใช่แต่จริง ๆ นักวิชาการอย่างตนก็เข้าใจหัวอกของชาวบ้านชาวประมง เพราะครอบครัวของตนก็มีกิจการโรงแรมอยู่ที่ระยอง ได้รับผลกระทบเหมือนกัน อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า ตอนนี้จะช่วยให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่ากำลังต่อสู้กับวิกฤติอยู่เพียงลำพังอย่างไร

อาจารย์ธรณ์จึงให้ความหวังว่า “ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่ผมจะช่วยได้คือทำให้ข้อมูลของผลกระทบให้มีความชัดเจนมากที่สุด เพราะข้อมูลผลกระทบเหล่านี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการตัดสินคดีความให้ยุติธรรม ทั้งต่อธรรมชาติ ชาวบ้าน และชาวประมง”

เมื่อมาถึงตอนจบของบทความชิ้นนี้ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดยังไม่จบสิ้น และไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า น้ำมันรั่วครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด น้ำมันและอุตสาหกรรมที่กลืนกินวิถีชีวิต และอาชีพของชาวประมงเรือเล็ก จ.ระยอง และในภูมิภาคตะวันออกของไทยไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออก ที่ถูกสร้างให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คงเป็นภาพสะท้อนให้แก่สังคมไทยได้ไม่น้อยว่า การมีอยู่ของมันส่งผลกระทบต่อผู้คน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร

และถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่จะสรุปได้ ณ ตอนนี้ คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนักว่า อาชีพชาวประมงเรือเล็ก จ.ระยอง คงเป็นคนอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพ ที่ต้องปรับตัวและอดทนต่อการมีอยู่ของนิคมอุตสาหกรรม แบบไม่สามารถปริปากบ่นได้ จากเหตุการณ์ที่ตนเองไม่ได้เป็นคนก่อแต่ต้องเป็นคนรับกรรม 

แผลเก่าเมื่อ 9 ปีของพวกเขายังไม่ทันหายดี แผลใหม่แผลใหญ่กลับมาหลอกหลอนพวกเขาอีกครั้ง และมันจะหลอกหลอนต่อไป หากรัฐ ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องนิ่งเฉยดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ดังเช่นที่มันเคยเกิดขึ้นมาและอีกไม่นานก็จะลืมเลือนไป แต่สำหรับชาวประมงพวกเขาเจ็บไม่เคยลืม!

“ถ้าพวกเขายังทำกันในลักษณะนี้ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเดี๋ยวมันก็รั่วอีก มีแน่นอน! นี่แค่ 8-9 ปี ก็รั่วใหญ่สองครั้งแล้ว ยังไม่รวมกับที่มันรั่ว นิด ๆ หน่อย ๆ รั่วทีหนึ่งก็ต้องไปขึ้นศาลกัน แล้วพวกผมไม่ต้องทำมาหาแดกกันเลยเหรอ” -อู๊ด วิรัช สมมาตร

“ครั้งนี้หนักสุด ๆ เลย…แต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ถามว่าจะให้เลิกอาชีพนี้มันเลิกไม่ได้หรอก เราก็อยากส่งต่ออาชีพนี้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป” – เจ๊หลาน รัตนา จินดา