มิใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย III รวมกวีนิพนธ์แด่เพื่อนเมียนมา - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในฐานะเพื่อนบ้านรั้วชิดติดกัน เรารับรู้ข่าวคราวการเข่นฆ่าในเมียนมามากน้อยแค่ไหน
ในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เรารู้สึกเจ็บปวดกับการตายของผู้บริสุทธิ์ที่นั่นเพียงใด
และในฐานะพลเมืองที่เผชิญการรัฐประหาร เราคงเห็นความอธรรมจากรัฐอำนาจนิยมที่ไม่ต่างกันมากนัก
จากสาละวินถึงเจ้าพระยาจึงยังมีคนยืนเด่นต่อสู้และท้าทายอำนาจอธรรม 

สำหรับชาวเมียนมา ตั้งแต่รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงตอนนี้ก็ล่วงสู่เดือนที่สิบแล้ว มีคนเจ็บ คนตาย คนอพยพทิ้งบ้าน รัฐบาลพลเรือนถูกตั้งข้อหา อำนาจตกอยู่ในมือรัฐบาลทหาร ประเทศถอยห่างจากประชาธิปไตย เหล่านี้คือเสี้ยวของความเป็นไปที่เรารับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น


เพื่อขยายพรมแดนแห่งการรับรู้ทั้งต่อความจริงและความรู้สึกออกไปไกลกว่าแค่ข่าวคราวจากสื่อต่าง ๆ Play Read สัปดาห์นี้จึงอยากชวนอ่าน “มิใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย III จากเจ้าพระยาถึงสาละวิน” หนังสือรวมกวีนิพนธ์ 76 บท จากกวีไทยและเมียนมากว่า 69 คน พร้อมภาพเขียนจากจิตรกรอีก 11 คน 

นอกจากความหลากหลายของกวีที่ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน หนังสือเองยังมีความดีเด่นชวนอ่านอีกอย่างน้อยสองข้อ หนึ่งคือ

เป็นรวมกวีนิพนธ์ที่พูดถึงเหตุการณ์ในเมียนมาได้ร่วมสมัย อย่างพยายามเข้าอกเข้าใจ และอบอวลไปด้วยสำนึกร่วมแห่งความเป็นมนุษย์มากที่สุด

อีกข้อคือหนังสือทำหน้าที่เป็นสะพานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องจากรายได้จากการขายนำไปช่วยกลุ่มชาติพันธุ์พลัดถิ่นที่หนีภัยสงครามการเมืองในเมียนมา ดังเช่นที่ศิริวร แก้วกาญจน์ หนึ่งในคณะบรรณาธิการ ระบุถึงที่มาที่ไปของหนังสือว่า 

“……ไพฑูรย์ ธัญญา ศิลปินแห่งชาติและนักเขียนรางวัลซีไรต์เจ้าของรวมเรื่องสั้นก่อกองทราย ส่งข้อความเชิงปรึกษาหารือมาว่า พวกเราน่าจะมาร่วมทำกิจกรรมอะไรกันสักอย่าง เพื่อช่วยแบ่งเบาความรวดร้าวเศร้าโศกแก่เพื่อนบ้านชาวพม่าของเรา…..” หน้า 8

“…..ระหว่างนั้น ผมและเพื่อนกวีหลายคนโพสต์บทกวีที่เขียนถึงการต่อสู้ของชาวพม่าลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวแต่ละคน ในจำนวนนั้นมีบทกวีของพี่ไวท์-ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ด้วยบทหนึ่ง ผมอ่านแล้วชอบใจจึงส่งข้อความไปหา บอกว่าเราน่าจะมาทำหนังสือกันสักเล่มหาทุนช่วยเหลือเพื่อนชาวพม่า…..” หน้า 9 

ด้วยความตั้งใจอันเกิดจากความใส่ใจต่อความเจ็บปวดรวดร้าวของเพื่อนมนุษย์ดังกล่าว จึงทำให้หนังสือที่มีความหนากว่า 309 หน้า สำเร็จลุล่วงเป็นเล่ม โลดแล่นสู่สายตาคนอ่าน ซึ่งแม้จะเป็นบทกวีที่สั้นกระชับแต่ก็มีประเด็นให้ขบคิดตามอยู่ไม่น้อย


ประการแรกบางบทกวีพาเราว่ายทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวเมียนมาจากการกดทับและสงครามในยุคก่อนหน้า ดังเช่นบทกวี “เช้าวันใหม่ของเธออยู่เบื้องหน้า” ของศิวกาณท์ ปทุมสูติ ที่เขียนย้อนไปตั้งแต่สงครามเพื่อสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้ราชวงศ์ต่าง ๆ ไล่มาจนถึงการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกขูดรีดทรัพยากรและกดทับทางอำนาจ กระนั้นชาวพม่าก็ยังหยัดสู้จนได้รับเอกราช

“ได้ยุคอลองพญาขึ้นหยัดยง
ราชวงศ์คองบองกล้าบุกบั่น
รบขยายอาณาฝ่าฟัน
จนดาบนั้นกลับย้อนมาต้อนตี
กาลอังกฤษอิทธิพลเข้าปกแผ่
ยุคธีปอป้อแป้กล้วยปลายหวี
สิ้นสมบูรณาบารมี
หกสิบปีผู้ดีเถื่อนเหยียบเรือนตน”

          (หน้า 98)

เมื่อวันเวลาผันผ่าน พม่าเองเดินทางไกลผ่านความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย การต่อสู้ครั้งใหม่ก็ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความมั่นคงของชาติอีกต่อไป เสียงตีกระทะและเสียงกู่ก้องบนท้องถนนวันนี้กลายเป็นการต่อสู้เพื่อความมั่นคงของมนุษย์ อันมีประชาธิปไตยเป็นปลายทางที่ใฝ่ฝันจะไปถึง เช่นที่บัญชา อ่อนดี เขียนถึงไว้ในบท ‘จากปฏิวัติชายจีวรถึงปฏิวัติชายผ้าซิ่น’ 

จึงภาชนะระรัวทั่วพื้นที่
สัญลักษณ์แห่งศักดิ์ศรีทวีเสียง
พอพลบค่ำย่ำฆ้องร่วมเรียง
กังวานเปรี้ยงกี่เปรี้ยงก็เพียงปืน

(หน้า 113)

หรือในบท ‘จาก วิน หม่อ อู… จาก มยะ แตว้ะ แตว้ะ ข่ายง์ สู่…’ ของแข้ะ ตี่ กวีชาวเมียนมาที่ว่า

“จะเลือกการเมืองที่คล้ายดังตอไม้ปิดทอง
หรือจะขุดรากถอนโคน แล้วเพียรปลูกต้นใหม่
เช่นนี้ ที่สดับยินเสียงมวลชน
พวกมึงพยายามจะฝังกลบพวกเรา
หากแต่เรา คือเหล่าเมล็ดพันธุ์ พวกมึงหารู้ไม่!
จงจำภาษิตนี้ไว้”

            (หน้า 33)

ทั้งสองบทสะท้อนถึงพลังมวลชนที่ไม่ยินยอมจะถูกเหยียบย่ำใต้อำนาจเผด็จการ พวกเขาตื่นตัวและเข้าใจมากขึ้นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และจำเป็นต้องทวงคืนกลับมา บทกวีของบัญชา อ่อนดี จึงสื่อให้เห็นถึงการประท้วงผ่านการเคาะหม้อตีกระทะเพื่อต่อล้อต่อเถียงกับผู้ครองอำนาจ ขณะที่แข้ะ ตี่ บอกเราว่ามวลชนเมียนมาจะต่อสู้อย่างถึงที่สุด แม้รัฐจะทำร้ายก็มิอาจขัดขวางปรารถนาของมวลชนได้ ซึ่งตรงนี้ข้าพเจ้ามองเห็นว่าเป็นปรารภถึงความหวัง ที่

แม้จะไม่สำเร็จในคนรุ่นปัจจุบัน แต่มวลชนรุ่นหลังก็จะงอกงามขึ้นมาแทนที่เสมอ และจะต้องสำเร็จในสักวัน


จากการพูดถึงพลังมวลชน บางบทกวียังไปไกลถึงการวิพากษ์การครองอำนาจของรัฐเผด็จการซึ่งแอบอ้างเอาความสงบสุข ความเป็นเอกภาพของชาติมาเป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมในการปล้นชิงอำนาจหรือล้มล้างรัฐบาลก่อนหน้า เช่นในบท ‘พม่าเผาเมือง’ 

“เพื่อความเป็นเอกภาพของ ‘ชาติ’
คือสูตร ‘นักอำนาจ’ ใช้อิงอ้าง
ปกความเลวความโลภกระดางลาง
สารพัดจัดวาง-จัดอ้างเอา
ล้วนแท้เป็นพุทธแต่เพียงปาก
ไม่มีศีลมีเพียงสากมากความเขลา
จึงทั่วแดนแผ่นดินถิ่นลำเนา
คล้ายถูกเผาด้วยไฟในมือมาร”

                             (หน้า 81)

นอกจากฉายภาพการหยัดสู้ทั้งในอดีตและปัจจุบันแล้ว รวมบทกวีเล่มนี้ยังบอกกล่าวถึงความเจ็บปวด แรงกระทบต่อชีวิตพลเมืองเมียนมาด้วยน้ำเสียงที่ทั้งโศกเศร้า สงสาร และเจ็บแค้นแทน เช่นในบท ‘พม่ารำขวาน’ 

พม่าในวันที่มีรัฐประหาร
เลือดอาบเต็มถนนคนถูกสังหาร
ไม่มีพม่าแทงกบ
มีแต่ซากศพ และอาวุธสงคราม
ประชาชน ไม่ใช่ศัตรู
แต่คือเพื่อนบ้านผู้ร้าวราน

                         (หน้า 117)

อีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่งบันทึกร่วมอยู่ในหนังสือเช่นกันคือคำถามเชิงเสียดสีถึงการตื่นตัวต่อเหตุการณ์ในเมียนมาขององค์การระหว่างประเทศ และชาติต่าง ๆ เช่นในบท ‘เสียงก่นประณามไม่ได้ทำให้ท่านนายพลระคายเคือง’ ของปราชญ์ อันดามัน

“เสียงก่นประณามไม่ได้ทำให้ท่านนายพลระคายเคือง
ด้วยขาและเท้าของประธานาธิบดีรัสเซีย
ยังคงคร่อมอยู่บนโต๊ะประชุม
มือของประธานาธิบดีจีน
แผ่ออกปิดปากเลขาธิการยูเอ็น
ประธานาธิบดีอเมริกาอาจตะโกนโหวกเหวก
นายกรัฐมนตรีอังกฤษเหมือนจะพูดอะไรบางอย่าง
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพยักหน้าฟัง
นั่น! ยังไม่มีอะไรจากสหประชาชาติ”

                         (หน้า 191)


การเสียดสีเช่นนี้ไม่เพียงแต่จิกกัดประเทศมหาอำนาจที่เผือกร้อนไปหนุนหลังรัฐบาลเผด็จการ หากแต่ยังโยนคำถามใส่องค์การสหประชาชาติว่าถึงที่สุดแล้วมีศักยภาพในการจัดการความขัดแย้งในเมียนมาแค่ไหน ความกระอักกระอ่วนซึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างแรงกดดันของมหาอำนาจกับอุดมการณ์และหน้าที่ขององค์การทำให้ขยับหรือส่งเสียงอย่างที่ควรจะทำได้ไม่มากใช่หรือไม่ นี่จึงเป็นข้อท้าทายต่อระบบระเบียบโลกปัจจุบัน ซึ่งคงไม่หยุดอยู่เฉพาะความขัดแย้งในเมียนมาเท่านั้น

หากแต่ความขัดแย้งหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ๆ ก็เป็นโจทย์ให้สหประชาชาติต้องคิดว่าจะแสดงทีท่าอย่างไร

สุดท้ายคงกล่าวได้ว่าความลื่นไหลและกระชับของภาษาในแต่ละบทชวนให้อ่านจบในรวดเดียว และถึงที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าบรรดากวีได้ร่วมกันสำเร็จความปรารถนาในการถ่ายทอดความรู้สึกเศร้าโศกและห่วงใยต่อเพื่อนชาวเมียนมาออกมาได้อย่างชัดเจน

กระนั้นในขณะเพ่งอ่านระหว่างอักษรหรือระหว่างบรรทัด หากนึกกลับมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทางการเมืองในบ้านเราตอนนี้ ก็มีสิ่งที่ผุดขึ้นชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อย อาทิ การเข่นฆ่าประชาชนโดยรัฐก็เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยหลายครั้งหลายหน การต่อสู้กับรัฐในตอนนี้ซึ่งมีปลายทางที่ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะไปถึงขั้นที่คนในขบวนต้องหลังเลือดเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไหม หลังจากศพแรกคือน้องวาฤทธิ์ สมน้อย ได้นำความสลดหดหู่แก่สังคม เราจะมีศพที่สอง ที่สาม อีกหรือไม่ แน่นอนว่าความเลวร้ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต่างไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภายใต้การปกครองของรัฐที่มองประชาชนเป็นศัตรู ความรุนแรงมักถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือสาละวินก็ตาม

หนังสือ: มิใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้าย III จากเจ้าพระยาถึงสาละวิน
ผู้เขียน: กวีไทยเเละเมียนมา
สำนักพิมพ์: ผจญภัยสำนักพิมพ์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี