เจอ-(ไม่)จ่าย-(ไม่)จบ มหากาพย์ข้ามปี - Decode
Reading Time: 3 minutes

ลากยาวมาสองปีกับความกังวลทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยจำนวนมากตัดสินใจซื้อประกันที่โฆษณาว่าสามารถเคลมเงินได้ทันทีเมื่อติดโควิด-19 แต่เป็นเรื่องตลกร้ายที่การซื้อประกัน เพื่อสร้างหลักประกันอันปลอดภัยให้ชีวิต กลายเป็นว่ากรมธรรม์ฉบับนั้นกลับไร้หลักประกันว่าจะเคลมเงินได้ตามสัญญา จนประชาชนต้องรวมตัวกันเรียกร้องทวงสิทธิ์ อยู่มาวันดีคืนดีบริษัทประกันยังส่ง SMS มาให้สะดุ้งเล่นว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกรมธรรม์ นา คือหนึ่งในผู้ประสบชะตากรรม อ่านข้อความแล้วส่ายหัวเบา ๆ ก่อนจะพูดว่า

“ข้อเสนอข้อที่ 4 ที่ให้เรารับคืนค่ากรมธรรม์แล้วกลับไปซื้อประกันกับเขา อยากถามว่าเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าบริษัทเขาจะพัฒนาขึ้นมา เอาง่าย ๆ แค่ค่าน้ำมันที่เราเดินทางไปตามเรื่อง ค่าโทรศัพท์วันละ 300 แล้วแถมโทรไปแต่ละทีพนักงานพูดไปคนละอย่าง เขาจะปรับปรุงไหม ตลอดเวลาที่รอดีลเคลมประกัน เหมือนเรารอลุ้นหวยว่ามันจะออกรึเปล่า คิดอย่างนี้เลยนะ”

อยู่ดี ๆ ก็หาย Line ไม่ตอบ

ช่วงกลางปี 2564 มีข่าวใหญ่ที่สร้างความหวั่นวิตกให้ผู้ทำประกันโควิด-19 จากการที่กระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัทเอเชียประกันภัย เหตุเพราะบริษัทมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจนทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องในการจ่ายสินไหมทดแทน โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงกลางเดือนตุลาคม บริษัทได้จ่ายค่าสินไหมไปแล้วเป็นจำนวน 800 ล้านบาท แต่ยังมีผู้เอาประกันอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงิน

เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จึงได้เข้ามาดำเนินการให้กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เข้ารับช่วงการจ่ายเคลมค่าประกันให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

นอกจากบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่ส่อเค้าว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ประชาชนหลายพันคนที่ทำประกันโควิด-19 ต่างวิตกกังวลกับสิทธิในการเคลมประกันของตน

หนึ่งในนั้นคือ นา หญิงสาวจากครอบครัวใหญ่ที่ซื้อกรมธรรม์ของบริษัทเดอะวันประกันภัย แบบเจอจ่ายจบ ถึง 19 ฉบับ และมีคนในครอบครัวติดโควิดถึง 13 คน เธอต้องต่อสู้ร่วมกับขบวนการภาคประชาชนอย่างยาวนาน จนเพิ่งเคลมประกันได้เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังมีผู้เอาประกันอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินตามสิทธิของตน และพวกเขายังคงยืนยันที่จะทวงสิทธิต่อไป

นาย้อนเล่าว่าประมาณ 3-4 เดือน หลังซื้อประกันโควิดช่วงต้นปี 2564 พี่สาวคนโตของนาเป็นสมาชิกคนแรกที่ติดโควิด ตามมาด้วยพี่เขยและลูกสาววัยรุ่น หลังจากนั้นไม่นานสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านที่กินอยู่คลุกคลีด้วยกันตามประสาครอบครัวใหญ่ ค่อย ๆ ทยอยติดกันต่อเนื่องถึง 13 คน รวมทั้งตัวของนาเอง ด้วยเหตุนี้จึงต้องปิดร้านที่เป็นกิจการรับซื้อของเก่าและรีไซเคิล เพราะไม่อยากเป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้ที่ติดต่อเกี่ยวข้อง

เมื่อไม่มีรายรับทำให้ครอบครัวต้องดิ้นรนหาทางออก โดยยังมีความหวังว่ามีประกันโควิดสำรองไว้แล้ว

“ได้แต่หวังว่าเดี๋ยวก็ได้เงินประกัน เขาระบุไว้ว่าหลังตรวจสอบเอกสารจะจ่ายภายใน 15 วัน เราเลยเอาทองน้องชายไปจำนำ เพื่อเอาเงินไปรักษาตัว รวมทั้งเช่าถังออกซิเจนให้พี่สาวและพี่เขยซึ่งออกจากโรงพยาบาลแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ต้องจ่ายทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่ากินค่าอยู่ เลยต้องไปกู้หนี้นอกระบบมา ดอกร้อยละสิบ บอกเจ้าหนี้ว่าไม่เกินหนึ่งเดือนเราจะคืนให้ จากนั้นเราไปยื่นเอกสารวันที่ 22 เดือนกันยายน ทางบริษัท SMS แจ้งมาว่า ‘ได้รับเอกสารแล้ว อยู่ในขั้นตอนพิจารณาสินไหมจ่าย’ เราอุ่นใจแล้วว่า ภายในต้นเดือนตุลาคมคงได้รับเงิน เลยไปบอกกันเจ้าหนี้ว่าเดี๋ยวเราจะรีบเอาเงินมาคืนนะ”

การรอคอยอย่างมีความหวังของนาผ่านไปเรื่อย ๆ จนล่วงพ้นกำหนดจ่ายช่วงต้นเดือนตุลาคมมาพักใหญ่ แต่ไม่มีวี่แววของการติดต่อกลับจากบริษัทประกัน ด้วยความร้อนใจทำให้นาพยายามโทรไปสอบถาม แต่ความพยายามของเธอนั้นเรียกได้ว่าเสียทั้งเงินและเวลา โดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใด ๆ กลับมา

“เราอยากช่วยครอบครัว พี่สาวเราก็กำลังแย่ จำได้ว่าแต่ละวันโทรไปเสียค่าโทรศัพท์สองสามร้อยบาท โทรไปประมาณ 15 ครั้ง จะรับประมาณสองครั้ง พอบอกว่าสอบถามเรื่องเคลมประกันสินไหม เขาตอบกลับมาว่า ‘เอกสารพี่ครบนะ เบื้องต้นส่งเรื่องขึ้นข้างบนแล้ว รอแค่อนุมัติจ่าย’ พอถามว่าอีกกี่วันจะรู้คำตอบ เขาบอกว่าอีกไม่เกิน 7 วัน น่าจะมี SMS แจ้งว่าจะได้เงินเมื่อไหร่ หลังจากนั้นก็เงียบไปเลย ติดต่อก็ไม่ได้ ทักไลน์ก็ไม่ตอบ”

ไม่ได้มีเพียงแค่นาที่กำลังรอคำตอบจากบริษัทประกันอย่างกระวนกระวายใจ ตาล เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสภาวะสุญญากาศทางคำตอบเช่นเดียวกัน เธอมีกรมธรรม์โควิดแบบ เจอ-จ่าย-จบ อยู่ 3 ฉบับ คือของตัวเอง สามี และพ่อ ซึ่งผลปรากฏว่าทุกคนในครอบครัวติดโควิดในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อรักษาตัวจนอาการทุเลาแล้ว นาจึงยื่นเรื่องพอขอเคลมประกันอย่างเป็นลำดับขั้นตอน

“เรารู้ปัญหามาตลอดว่ามีหลายคนที่ยื่นเรื่องเคลมประกัน ตั้งแต่เดือนหกก็ยังไม่ได้ แต่ของเราเพิ่งยื่นไปเมื่อ 16 กันยายน อีกอย่างช่วงสิงหาคมก็ติดโควิดกันเยอะมาก เราให้ความเชื่อมั่นบริษัทว่าเขากำลังปรับปรุงระบบอยู่ แต่ระหว่างนั้นเราก็ติดตามข้อมูลเรื่อย ๆ คอลเซนเตอร์โทรติดยากมาก อีเมลในระบบก็ไม่รับแล้ว ต้องวอล์กอินเท่านั้น แต่เราก็ยังวางใจ จนกระทั่งมาถึงช่วงวันที่ 27 กันยายน เป็น SMS แรกที่เราได้รับ คือ “การพิจารณาเอกสารเรียบร้อยแล้ว รอการจ่ายต่อไป” หลังจากวันนั้น เราก็ไม่ได้รับการติดต่ออะไรอีกเลย”

เคลมประกันด้วยพลังผู้บริโภคและพลเมือง

ผ่านกันยายนสู่ตุลาคม นาต้องจ่ายหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยมหาโหดไปเป็นรอบที่สอง โดยไร้คำตอบที่แน่นอนว่าบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้เมื่อใด ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับผู้เอาประกันที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน พวกเขาตั้งกลุ่มทางสื่อสังคมออนไลน์ชื่อ “เก้าเดือนเก้า” และมีแกนนำที่เคลื่อนไหวผลักดันการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีการล่ารายชื่อและทำแบบสำรวจปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางในการกดดันบริษัทและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

“วันที่ 3 พฤศจิกายน กลุ่มเราเดินทางไปทวงถามบริษัท ให้ลูกหลานหยุดงานไปด้วยกัน แต่พอเจ้าหน้าที่ได้เอกสารจากเราแล้ว เขาปิดประตูเลยค่ะ เราก็ตะโกนถามว่า ‘อ้าวปิดประตูทำไม ไหนบอกจะให้ดีล’ เขาตอบว่า “กลับไปรอ SMS ที่บ้าน จะส่งไปให้ภายใน 7 วัน’ ทางกลุ่มไม่ยอม ก็วิ่งฮือกันไปข้างใน พอเห็นว่ามีคนเยอะ เขาเรียกตำรวจมาสองคน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทางเราบอกว่าไม่มีอะไร พวกเราแค่มาทวงสิทธิ แกนนำจึงบอกเจ้าหน้าที่ว่า ‘คุณบอกว่าจะให้ดีลกับทุกคน แต่นี่มาบอกว่าจะให้กลับไปรอ SMS ได้ยังไง ใครเขาจะกลับ’ ทีนี้ทางบริษัทเลยประชุมกัน แล้วพวกเราที่ไปร้อยกว่าคนเลยได้ดีลกลับมาว่าเราได้เงินในวันที่ 17 พฤศจิกายน”

ติดตามเรื่องราวมาถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่าเหตุใดนาและทางกลุ่มจึงไม่เคลื่อนไหวเรียกร้องกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คปภ.

เรื่องนี้มีตัวอย่างเหตุการณ์จากประสบการณ์ของตาลที่ได้ติดต่อกับทั้งบริษัทและหน่วยงานภาครัฐมาตามระบบ แต่เรื่องไม่ได้คืบหน้าอย่างที่คิด โดยตาลได้ตัดสินใจเข้าไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 ในวันที่ 11 ตุลาคม แต่เรื่องของตาลกลับเงียบไป เธอตัดสินใจลุยเดี่ยวไปที่บริษัทอีกครั้งเป็นรอบที่สี่ รอคิวตั้งแต่แปดโมงเช้าเพื่อจะได้พบเจ้าหน้าที่ตอนบ่ายโมง พร้อมกับคำตอบว่าให้เธอรอต่อไปอีก 45 วัน จะส่ง SMS แจ้งความคืบหน้า ครั้นถามว่าได้รับเรื่องร้องเรียนที่เธอยืนไปยังคปภ. หรือไม่ เจ้าหน้าที่เช็คแล้วตอบว่ายังไม่ได้รับ ตาลบากหน้าไปที่ คปภ.อีกครั้ง และได้รับคำตอบว่าเอกสารได้ถูกส่งจากคปภ.ไปยังบริษัทเรียบร้อยแล้ว

“ถามเจ้าหน้าที่ คปภ. ว่าจะทำอะไรได้อีกไหม เขาตอบว่าทำอะไรไม่ได้ต้องรอ คือการที่เราเป็นประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนไปติดต่อคปภ. เพราะเราต้องการความช่วยเหลือจากคนที่มีการควบคุม กำกับดูแลกับบริษัทต่าง ๆ ภายใต้สังกัด แต่กลับกลายเป็นว่าเขาบอกให้รอ พอเราถามว่าแล้วสถานะทางเว็บไซต์จะอัปเดตได้เมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าเราไม่สามารถอัปเดตได้ทั้งหมด เพราะว่าคนรอคิวเยอะมาก แล้วคนต่างจังหวัดที่บ้านไกล คนที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างตาลจะทำอย่างไร”

เรียกร้องให้ คปภ.เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน

นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตาลตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มเก้าเดือนเก้า เข้าไปเรียกร้องกับทางบริษัทจนได้ข้อตกลงมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน พร้อมกับคนอื่น ๆ อีกร้อยกว่าคน นอกจากนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ขบวนการภาคประชาชนกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมประชุมกับกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคที่รัฐสภา รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ตัวแทนคปภ. และตัวแทนบริษัทเดอะวันประกันภัย

ตาลได้อาสาเข้าไปนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการ สถิติและไทม์ไลน์ต่าง ๆ ของผู้เอาประกันทั้งการยื่นเอกสารวันที่เท่าไหร่ มีการเดินทางไปบริษัทและร้องเรียน คปภ.กี่รอบ แต่ละรอบได้คำตอบใดบ้าง เพื่อฉายภาพให้เห็นว่ามีปัญหาจุดใดในสายพานการทำงานในภาพรวม

“เราต้องการให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าปัญหาคืออะไร เราไม่ได้ส่งเอกสารแล้วขอเงินเลย แต่เราขอระยะเวลาที่ชัดเจน ในการนำเสนอข้อมูล วันนั้นเราต้องการให้เรื่องถึงคปภ. เพราะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องการรู้ว่าจะมีมาตรการลงโทษเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง เราหาข้อมูลไปบ้างว่าในการจ่ายล่าช้าของบริษัท คปภ.ได้ทำการปรับไปแล้วกว่า 5 ล้านบาท แต่หากในวันที่ 17 นี้ จ่ายล่าช้าอีก ทางคปภ.จะมีมาตรการอะไรบ้าง”

ไม่เพียงแค่การตั้งคำถาม ตาลได้ใช้สิทธิของเธอในฐานะผู้ร้องเรียน โดยเสนอให้ทางคปภ.มีคำสั่งให้เดอะวันประกันภัยจัดทำแผนการทำงาน โดยเฉพาะแผนในการจัดทำสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า โดยระบุรายละเอียดว่าทางบริษัทประกันภัยโควิดมีการตรวจเอกสารอย่างไรบ้าง ควรมีการสรุปยอดส่งให้ลูกค้าอย่างไรบ้าง จำนวนเท่าใด แล้วนำส่งแผนเหล่านี้ให้ คปภ.พิจารณา

“เมื่อ คปภ.พิจารณาแผนนี้เสร็จสิ้น เราเสนอว่าให้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะเลย เพื่อกระจายข่าวให้คนต่างจังหวัด คนที่เขาไม่รู้เรื่อง เพราะสื่อโซเชียลเข้าถึงง่ายที่สุดแล้ว เราพยายามสื่อสารกับ คปภ.ว่า วันนี้เราคุยกับบริษัทไม่รู้เรื่องแล้ว คปภ.ซึ่งมีอำนาจควบคุม จะต้องเป็นกระบอกเสียงให้เรา”

ถัดจากวันที่เข้าพบกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคที่รัฐสภาเพียงสามวัน ผู้ซื้อประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบของบริษัทเดอะวันประกันภัย ต่างได้รับ SMS ที่ส่งมาจากบริษัท ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างไปในทำนองว่าเป็นการบีบให้ยกเลิกกรมธรรม์หรือไม่

โดยสรุปสี่ข้อเสนอของบริษัทได้ว่า หนึ่งให้สิทธิเปลี่ยนกรมธรรม์ฉบับใหม่ คุ้มครองเฉพาะการเจ็บป่วยขั้นโคม่าด้วยทุนประกัน 5 เท่า สองคือเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่า สามบอกเลิกกรมธรรม์ โดยได้คืนเบี้ยประกันเต็มจำนวน ส่วนข้อที่สี่คือนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อสาม มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นของบริษัทฯ จะได้รับส่วนลดเป็นจำนวนเงิน 2 เท่า 

ทาง คปภ. ได้ออกมาเคลื่อนไหวว่าบริษัทประกันภัย ไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดโดยอำเภอใจได้ โดยระบุในเว็บไซต์ขององค์กรอย่างชัดเจนตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 โดยประชาชนที่มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่ยังไม่หมดอายุ จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยต่อไป จนกว่าจะหมดอายุความคุ้มครอง

โดยก่อนหน้านี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้ดำเนินการให้มีมาตรการผ่อนผันเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง ในการดำเนินงานให้กับบริษัทบริษัทประกันวินาศภัย ที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 และเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นหากไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงไปกว่านี้

“ถ้าไม่มีโควิดระลอกที่ 5 แล้วมีมาตรการผ่อนปรน บริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา ต้องใช้เวลา เรามีสถิติค่าเคลมให้กับประชาชนชัดเจน ที่ผ่านมาบริษัทจ่ายไปเยอะ โดยเราคอยมอนิเตอร์สภาพคล่องให้เขาอยู่ตลอดเวลา พอมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา เราบอกให้เขาจ่าย ซึ่งเขาก็ทยอยจ่าย ยังมีสัญญาณที่ดีอยู่ ตอนนี้เราประสานกับทางบริษัท รวมทั้งมีศูนย์รับร้องเรียนที่ คปภ. คราวที่แล้วเมื่อกลุ่มผู้เรียกร้องไปที่รัฐสภาแล้วมาที่เรา เราก็จัดการให้”

เลขาธิการ คปภ. ถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ว่าภาครัฐจำเป็นต้องปรับกติกาต่าง ๆ ให้รัดกุมขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรการให้บริษัทประกันรายงานต่อ คปภ.ให้ถี่ขึ้น ตลอดจนการกำกับดูแลจำเป็นต้องดูกันตั้งแต่ต้นกระบวนการ

“ต้องให้ Product committee ของบริษัทมาดูด้วย ก่อนที่จะออกผลิตภัณฑ์ต้องมีกระบวนการที่บอกกับบริษัทตั้งแต่ต้นเลยว่า ถ้ามีประเด็นปัญหาขึ้นมา ทางเราต้องสามารถให้เขาหยุดการขายได้ แต่ตอนนี้เราไม่มีอำนาจให้เขาหยุดขายได้ ตอนนี้ตัวกฎหมายยังไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราจะอุดช่องว่างตรงนี้ รวมทั้งเร่งให้มีการตรวจสอบรายงานต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ เพราะปัจจุบันรายงานเป็นรายเดือน ซึ่งไม่ทัน ถ้าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เป็น Emerging risk ต้องใช้ Proactive action ต้องรายงานให้ถี่ และต้องให้เป็น real time ตอนนี้เราไม่ได้มองแค่โควิดอย่างเดียว อีกหน่อยมันจะมีโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ อีกมาก”

สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา เลขาฯ คปภ.ให้ข้อมูลว่าได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามากำกับดูแลสถานการณ์ของผู้เอาประกันภัยโควิดที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีเจตนาประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทั้งบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยบริษัทที่ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท หากบริษัทใดที่ยังคงประวิงการจ่ายสินไหมและฝ่าฝืนมาตรการเหล่านี้ คปภ.จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ ซึ่งจะส่งผลให้ คปภ.มีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่ คปภ.กำหนด โดยจะสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุน หรือจะสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้ (พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 หมวด 2 การควบคุมบริษัท)

ล่าสุดจากการเปิดเผยของนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุว่าแนวโน้มของจำนวนผู้เสียหายจากการรอเคลมประกันโควิดทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทประกันภัย 4-5 แห่ง ประกอบกับวิกฤตการณ์โควิดในต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นเป็นระลอกใหม่ ซึ่งอาจเป็นกรณีศึกษาที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย

ผลกระทบเหล่านี้อาจทำให้ค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประเภทนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60-70% ของเงินกองทุน ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ สำหรับประเด็นที่น่ากังวลนี้ หมี มืออาชีพที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทด้านประกันชื่อดังแห่งหนึ่ง ได้แสดงความเห็นว่า

“ทางหน่วยงานรัฐอาจจะต้องไปบีบทางอื่น เพราะบริษัทประกันภัยมีกองทุนประกันวินาศภัยรองรับอยู่ เขามีกระเป๋าสองอยู่แล้ว ตอนเอเชียประกันภัยล้ม หนี้ก็มาอยู่ที่กองทุนประกันวินาศภัย ถ้าเดอะวันล้ม กองทุนประกันวินาศภัยก็ต้องรับเหมือนกัน แต่กองทุนนี้เงินจะพอรึเปล่า อาจจะทยอยจ่ายไปเรื่อย ๆ  ใช้เวลาหลายปี เรียกว่าชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ ตามคิว”

หลังจากนอนไม่หลับมาหลายคืน ในที่สุดวันที่ 17 พฤศจิกายน นาจึงได้รับเงินจากบริษัทเดอะวันประกันภัย ตามสิทธิครบทั้ง 13 กรมธรรม์ ในขณะที่ตาลได้รับเงินคุ้มครองเพียง 1 กรมธรรม์ เมื่อตัวแทนของกลุ่มเก้าเดือนเก้าเข้าไปติดตามที่บริษัท จึงได้คำตอบว่าเงินได้ถูกโอนให้กับผู้เอาประกันของทางกลุ่มจำนวน 100 คน ตกค้างอีก 30 คน โดยจะเลื่อนไปให้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งทางกลุ่มต่างรอดูท่าทีเพื่อเตรียมเคลื่อนไหวกันต่อไป เพราะต่างเล็งเห็นแล้วว่ากระบวนการภาคประชาชนนั้น มีพลังในการต่อรองกับบริษัทและหน่วยงานภาครัฐ ขอเพียงรวมตัวกันติดและไม่ยอมแพ้

นามีท่าทีผ่อนคลายขึ้นมาก อย่างน้อยเดือนนี้เธอมั่นใจได้ว่าจะมีเงินไปสะสางหนี้สินทั้งหมดได้เสียที ทองของน้องชายที่ไปจำนำไว้จะถูกไถ่ถอนออกมา และพี่สาวกับพี่เขยจะมีออกซิเจนใช้อย่างไม่ต้องลำบากใจว่าจะรบกวนครอบครัว หลังจากต่อสู้มายาวนาน นาได้ฝากความในใจถึงบริษัทประกันด้วยน้ำเสียงเห็นใจปนเหนื่อยล้าไว้ว่า

“ถ้าเราจะมองในมุมบริษัทประกัน คนก็คงจะติดโควิดกันเยอะด้วย เขาเลยจ่ายไม่ไหว แต่มาคิด ๆ ดูอีกที ตอนที่เขาขายกรมธรรม์ ทำไมรับไหว เขาก็น่าจะคิดก่อนในส่วนนี้ ยกตัวอย่างตอนเขาส่งข้อความมาบอกยกเลิกกรมธรรม์ เขาส่งให้ทุกคนทั่วประเทศภายในแค่ครึ่งชั่วโมงเอง แต่ว่าการจะส่ง SMS เพื่อบอกเวลาในการจ่ายเงินให้เรา โอ้โห..ยากเย็นเหลือเกิน”