ทุนผูกขาด น้ำตาแรงงาน ประชาธิปไตยหลังพิงฝา - Decode
Reading Time: 3 minutes

เช เกวารา กล่าวว่า “ถ้าคุณโกรธจนตัวสั่นเมื่อเห็นความอยุติธรรม เราคือมิตรสหายกัน” แต่การแปะรูปเชไว้ท้ายรถบรรทุกและได้แต่ฝันถึงความยุติธรรมอาจไม่ช่วยอะไร

De/code จึงชวน 3 นักวิชาการ ร่วมพูดคุยในประเด็นที่รัฐละเลยในการสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยเน้นไปที่ธุรกิจแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง ที่เข้าครองตลาดในประเทศ เพราะเห็นโอกาสจาก Pain point ของขนส่งมวลชนไทย ความเฟื่องฟูของธุรกิจแพลตฟอร์มไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการที่รัฐขาดความพร้อมในการเข้ามาบริหารจัดการ และคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานกลุ่มเดิมเช่นแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถูกชิงพื้นที่ในการทำงาน และการผูกขาดทางการค้าที่ไม่เหลือทางเลือกให้ประชาชน

เมื่อรัฐปล่อยให้เกิดทุนผูกขาด คนที่หลังชนฝาคือแรงงานและประชาชน

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า แสดงความเห็นต่อการที่กลไกของรัฐยังก้าวไม่ทันความเปลี่ยนผ่านของโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ในหลายด้าน โดยย้อนมองตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าบทบาทของรัฐในสากลโลก มีหน้าที่สำคัญในการแก้ไขกรณีที่มีความล้มเหลวทางตลาด(Market Failure)  ที่อาจเกิดขึ้นจากการค้าและการแข่งขันในตลาดเสรี หน้าที่ของรัฐคือต้องเข้ามาจัดการด้วยกลไกที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี หรือด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

โดยเฉพาะการพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภคของประเทศนั้น ๆ รวมทั้งการที่รัฐต้องให้บริการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน และประชาชนควรจะเข้าถึงบริการนั้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน (Free at the point of use)

แต่ในความเป็นจริงในประเทศไทย รัฐยังทำหน้าที่หลักทั้งสองส่วนนี้ได้ไม่ครอบคลุม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือปัญหาระบบขนส่งมวลชน อาจจะไม่เกินจริงนักที่จะพูดว่า การที่บริษัทแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง ที่ดาหน้าเข้ามารุ่งเรืองในบ้านเรา เกิดจากจุดอ่อนของระบบขนส่งสาธารณะ รถติด ขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุม หรือในทางกลับกันมีราคาสูงจนไม่สมดุลกับรายได้ขั้นต่ำของพลเมือง เมื่อเล็งเห็น Pain point ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจนี้ บริษัทแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในทุกรูปแบบจึงเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย และประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ผนวกกับวิกฤตการณ์โควิดที่เสริมแรงให้คนต้องพึ่งพาบริการดิลิเวอรีแพลตฟอร์มเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

“บริษัท Platform นั้นอยู่ได้ด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Network effect คือยิ่งมีคนใช้มาก ยิ่งทำให้ผู้คนอยากเข้ามาใช้มากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นว่า บริษัทไหนที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้วจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก แล้วในที่สุดเราจะเห็นปรากฏการณ์  Winner take all คือเหลือแค่คนเดียวที่ครอบครองตลาด จะเห็นว่า Grab ซื้อกิจการของ Uber ในภูมิภาค เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของ Tech Platform กลไกตลาดจะนำไปสู่การผูกขาดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวัง”

ผลจากการผูกขาดทางการตลาดที่พริษฐ์ได้ยกตัวอย่างมานั้น เกิดผลกระทบกับปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่สามารถแข่งขันได้ และที่สำคัญคือผลกระทบต่อแรงงานที่เป็นปลายน้ำ และผู้บริโภคที่เหลือทางเลือกเพียงน้อยนิดในการใช้สินค้าและบริการ ตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้ สะท้อนผ่านประสบการณ์ในการลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยของ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า การผูกขาดการตลาดส่งผลกระทบต่อคนงานบนแพลตฟอร์มทั้งแง่รายได้ และอำนาจในการต่อรองกับบริษัท

“เคยทำวิจัยที่เชียงใหม่ ซึ่งแพลตฟอร์ม A เข้ามาก่อน แล้ว B ถึงค่อยเข้ามา สองแพลตฟอร์มนี่แข่งขันกันด้วยการลดราคา ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ตัวคนขับเองก็ถูกทั้งสองแฟลตฟอร์ม ดึงดูดให้เข้าไปทำงานกับบริษัทของตน เพราะการที่มีคนทำงานบนแพลตฟอร์มมากๆ มันคือความมั่นคงของบริษัทแพลตฟอร์ม คือความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว แต่พอตอนหลังเมื่อสองบริษัทนี้ควบรวมกัน ผมมีโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนที่เคยสัมภาษณ์ ตอนนี้เหลือบริษัทแพลตฟอร์ม B อย่างเดียว เขาบอกเลยว่าตอนนี้การแข่งขันสูง มีคนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเยอะ ทำให้การกระจายงานและค่าตอบแทนไม่มากเหมือนก่อน ที่มีการให้ค่าตอบแทนแบบจูงใจ มี incentive ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว”

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเต็ม ๆ คือทางเลือกที่น้อยลง อรรคณัฐยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ในกรณีผลกระทบที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเหลือบริษัทแพลตฟอร์มที่ให้บริการขนส่งเพียงเจ้าเดียว ผู้บริโภคจึงเหลือเพียงทางเลือกว่าจะใช้แอปพลิเคชันของแพลตฟอร์มนี้ หรือว่าจะใช้การเดินทางแบบเดิมคือ “รถแดง” หรือรถสี่ล้อรับจ้างแบบเดิมที่ไม่สะดวกเท่าบริการผ่านแอปพลิเคชัน ปลายทางของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น กับทั้งแรงงานแพลตฟอร์มและผู้บริโภค มาจากสาเหตุต้นทางนั่นคือกลไกการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมได้

นอกจากการตั้งคำถามต่อรัฐ ในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้ว ยังต้องตั้งคำถามว่ารัฐ ตามทันการคุ้มครองสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์มหรือไม่ เพราะที่เห็นและเป็นอยู่คือการที่บริษัทแพลตฟอร์ม มีอำนาจในการสร้างสภาพควบคุมแรงงาน ทั้งรูปแบบและกระบวนการในการทำงาน การกำหนดชะตากรรมของพวกเขา ผ่านรูปแบบการให้คะแนน ที่เป็นระบบเรตติ้งจากลูกค้า

ไรเดอร์หรือคนงานบนแพลตฟอร์มในลักษณะนี้ จึงพยายามทุกอย่างเพื่อที่จะให้ได้รับการประเมินในคะแนนที่ดี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ความเสี่ยงในการทำงาน หรือยอมให้ผู้บริโภคเอารัดเอาเปรียบ เป็นภาระในการพิสูจน์ที่แรงงานต้องจำยอมแบกรับเอาไว้ ทางเลือกของพวกเขาเหลือเพียงจะก้มหน้ายอมทน หรือออกไปจากระบบและสูญเสียรายได้ โดยไม่มีหลักประกันทางกฎหมายหรือสวัสดิการใด ๆ คุ้มครอง

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ
(ภาพจาก Facebook: Akkanut Wantanasombut)

ทางเลือก / ทางรอด

“ต้องบอกว่าประเทศไทยเราเจอปัญหาเรื่องการผูกขาด และการแข่งขันที่ไม่มีการแข่งขันค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการผูกขาดสองอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ อย่างแรกคือการผูกขาดโดยเอกชนหรือทุนผูกขาดเก่า โดยเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าการที่บริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นมา ครอบครองตลาดส่วนใหญ่ได้ เกิดจากประสิทธิภาพอย่างเดียว หรือเกิดจากเครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ที่เขาอาจจะรู้จักกลไกของรัฐ 

“หรือว่าเข้าถึงทรัพยากรของรัฐมากกว่าบริษัทอื่นด้วย อันที่สองคือเรื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา ก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการแข่งขันได้ เช่นว่าเกิดการควบรวมซีพีกับเทสโก้ กขค.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้”

พริษฐ์ได้เสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา การกำกับดูแลของภาครัฐ ที่ยังตามไม่ทันรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วไว้หลายประเด็น โดยประเด็นแรกเขาให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เพราะยิ่งมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้น ๆ มากเท่าใด ยิ่งทำให้มันเกิดการผูกขาดน้อยลง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเข้ามาแก้ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ถูกกดขี่ในแทบทุกทางเช่นปัจจุบัน

“ยิ่งเกิดการแข่งขัน ยิ่งทำให้แต่ละบริษัทแข่งกันสร้างสวัสดิการที่ดึงดูดพนักงานให้เยอะที่สุด สมมติว่าแกร็บมีคู่แข่งเยอะ แกร็บจะเอาเปรียบพนักงานมากก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่งั้นไดร์เวอร์ก็จะไปขับให้กับคู่แข่งหมด ฉะนั้นตรงนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าจะแก้ปัญหาแรงงาน ต้องแก้ปัญหาเรื่องผูกขาดด้วย หรือถ้ามีการผูกขาดเกิดขึ้น ต้องไปสร้างมาตรการเหมือนสิงคโปร์ ที่ว่าโอเคคุณผูกขาดการตลาดแล้ว แต่ห้ามผูกขาดการว่าจ้างพนักงาน ดังนั้นต้องทำไปพร้อมกันคือโปรโมทการแข่งขัน และกฎหมายแก้ปัญหาการผูกขาด”

สำหรับทางออกในเรื่องที่สอง คือการผลักความรับผิดชอบให้บริษัทมากขึ้น ทั้งนี้ต้องยืนอยู่บนเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่มีความแตกต่างกัน และควรจะรับผิดชอบในเรื่องใดเป็นสำคัญ เช่น บริษัทที่มีการควบคุมเวลาการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม ต้องมีความรับผิดชอบกับกลุ่มพนักงานเหล่านั้นมากกว่าตามไปด้วย ความรับผิดชอบของบริษัทยังหมายรวมถึงความโปร่งใสที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคำนวณค่าจ้าง รวมทั้งการเปิดช่องทางสื่อสาร ระหว่างผู้บริหารกับแรงงานแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การ Empower หรือส่งเสริมให้แรงงานแพลตฟอร์มสามารถรวมกลุ่มหรือตั้งสหภาพได้ เป็นหนทางที่สามในการแก้ปัญหา เพื่อให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากขึ้น สังคมและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมีกลไกในการ empower เพื่อเอื้อให้แรงงานมีความสามารถที่จะรวมกลุ่มกันได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานด้านขนส่ง หรือการเป็นแม่บ้านทำความสะอาด เมื่อมีจุดร่วมของปัญหาแบบเดียวกัน ควรก่อตั้งเป็นสหภาพของแรงงานแพลตฟอร์มเพื่อสร้างพลังอำนาจของคนงาน

“ประการที่สี่ คือพยายามให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงระบบประกันสังคมได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันแรงงานเหล่านี้จะถูกนิยามว่าเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้ถูกครอบคลุมโดยระบบสวัสดิการสังคม ผมว่ามันมีกลไกอยู่ แต่ต้องมาดูกันว่ามันเป็นอะไรที่ให้แรงจูงใจพอหรือยัง ไม่งั้นมันก็จะเป็นปัญหา ยิ่งในอนาคตที่จะมีคนทำงานเป็นแรงงานอิสระมากขึ้น มันกลายเป็นว่าคนเหล่านี้ก็เข้าไปไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ของระบบประกันสังคม แล้วกลายเป็นว่าระบบประกันสังคมก็ไม่มีคนจ่ายเข้ามาในระบบด้วย”

พริษฐ์ฝากมุมมองในแนวทางที่ห้า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่เกิดกับแรงงานโดยตรง นั่นคือต้องมีการนิยามและจัดหมวดหมู่แรงงานใหม่ เพราะว่าแต่ละแพลตฟอร์มต่างมีความสัมพันธ์กับแรงงานที่ต่างกัน ต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจำแนกรูปแบบแรงงานประเภทต่าง ๆ 

เช่นในอเมริกามีมาตรการลักษณะนี้ที่แคลิฟอร์เนีย โดยแบ่งแรงงานเป็นสามประเภท คือพนักงาน(employee) แรงงาน(worker) และผู้รับจ้างอิสระ (Independent contractor) เพื่อนำมากำหนดว่าสวัสดิการขั้นพื้นฐานของแต่ละขั้นคืออะไร ในอนาคตรูปแบบความสัมพันธ์ในการจ้างงานอาจไม่ได้มีเพียงในระบบและนอกระบบ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะกำหนดและนโยบายเหล่านี้ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ส่วนประเด็นที่หกนั้นไปแตะกับรัฐสวัสดิการ คือแนวคิดแบบ UBI (Universal Basic Income) นั่นคือให้ประชาชนมีรายได้ขั้นพื้นฐานที่รัฐอุดหนุน ไม่ว่าจะทำงาน ไม่ทำงาน หรือทำงานประเภทไหน รัฐมีการให้รายได้พื้นฐานกับทุกคน ซึ่งแนวคิดนี้พริษฐ์มองว่าผู้คนทุกจุดยืนทางการเมืองในสังคม ล้วนเห็นว่าเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการแก้ปัญหาสำหรับพลเมืองและแรงงานที่สายป่านสั้น ให้มีอิสรภาพในการทำงาน และการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

ขบวนการภาคประชาชนยิ่งเข้มแข็ง ประชาธิปไตยยิ่งเข้มแข็ง

“ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องไม่ยอมให้รัฐละเลยเรื่องเหล่านี้ เราจะต้องกดดันให้มีการแก้ไขปัญหา ทีนี้มันกลับไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นอีก แล้วทำไมประเทศนี้แก้กฎหมายไม่ได้ มันกลับไปสู่เรื่องกลไกนิติบัญญัติ กลับไปสู่เรื่องพื้นฐานมาก ๆ คือความเป็นประชาธิปไตย กลับไปสู่เรื่องการเมือง กลับไปสู่ประชาชนอีกแล้ว ตามกลไกแล้วเราในฐานะประชาชนสามารถเรียกร้อง ทำให้คนที่มีอำนาจรัฐหันมาสนใจปัญหาตรงนี้”

อรรคณัฐซึ่งมีประสบการณ์ในงานวิชาการด้านแรงงาน สนับสนุนเสียงสะท้อนการแสดงสิทธิของแรงงานและประชาชน เขามองปรากฏการณ์รวมตัวของสหภาพไรเดอร์ในแง่บวก โดยมีความเห็นว่า แม้จะเป็นการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของการจัดตั้งสหภาพ ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจำเป็น นักวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษามองว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคือขอให้รวมตัวกันและสร้างอำนาจต่อรองได้

“คำว่าขบวนการแรงงาน ไม่ได้หมายถึงการรวมตัวกันของแรงงานเป็นกลุ่ม หรือว่าเป็นอาชีพ ๆ แต่ขบวนการแรงงานมันต้องหมายถึงคนงานต้องมีสำนึกว่าตัวเองเป็นแรงงาน ต้องไปช่วยเหลือเป็นปากเป็นเสียงให้แรงงานประเภทอื่น ๆ ด้วย ในต่างประเทศมีเรื่องของการต่อสู้ของแรงงานบนแพลตฟอร์ม ในแบบที่แตกต่างจากเมืองไทย เพราะในประเทศไทยนั้น แรงงานประเภทอื่นไม่ได้เห็นว่า คนที่ทำงานไรเดอร์เป็นขบวนการ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องออกไปต่อสู้เพื่อคนกลุ่มนี้ เราไม่เห็นแท็กซี่หรือคนขับวินมอเตอร์ไซค์ออกมาต่อสู้เพื่อไรเดอร์ หรือกลุ่มสหภาพแรงงานในสถานประกอบการมาต่อสู้เพื่อไรเดอร์”

จเด็จ เชาวน์วิไล นักกิจกรรมที่ทำงานจัดตั้งเพื่อก่อหวอดขบวนการแรงงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2532 จนสามารถผลักดันกฎหมายและนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น ทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคมและกฎหมายลาคลอด 90 วัน ซึ่งสวัสดิการที่ได้รับไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงชนชั้นกลางที่มีสถานภาพพนักงานด้วย เขาจึงยังคงเชื่อในรูปแบบการจัดตั้ง การขับเคลื่อนในแนวระนาบที่เป็นพลังของคนงาน แต่ในห้วงเวลาที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่แรงงานแพลตฟอร์ม และแรงงานนอกระบบอื่น ๆ เขาเสนอว่าขบวนการแรงงานเองต้องมีการปรับตัวเพื่อการต่อสู้ที่แหลมคมและยั่งยืนยิ่งขึ้น

“การตั้งสหภาพแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เองเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เพราะว่ามุ่งแค่คนงานที่อยู่ในโรงงาน กับคนงานที่มีนายจ้างที่ชัดเจน ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะตอนนี้คนงานมีกลไกที่หลากหลาย มันเกิดแพลตฟอร์มขึ้น เช่น ไรเดอร์ พนักงานนวด จนถึงแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ฉะนั้นระบบการรวมกลุ่มต้องเปลี่ยน ระบบสหภาพไม่สามารถหากลุ่มที่อยู่ในนายจ้างอันเดียวกันได้ หรืออาจจะมีคนเคยทำแต่มันไม่ต่อเนื่อง ผมมองว่าเราต้องโละกฎหมายนี้ทิ้ง หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ไปเลย”

จเด็จได้ยกตัวอย่างรูปแบบการจัดตั้งของขบวนการสหภาพแรงงานไทยเกรียง เขาเล่าว่าเมื่อสหภาพไทยเกรียงกำลังจะเลิกการเป็นสหภาพ แต่ทางกลุ่มยังอยากมีการรวมกลุ่มกันในทางใดทางหนึ่ง จึงจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งข้อดีของการจัดตั้งและรวมกลุ่มในลักษณะนี้ คือไม่ว่าแรงงานนั้นจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ ย่อมสามารถออมทรัพย์ได้ ต่อมาทางกลุ่มได้จัดตั้งให้มีรูปแบบทางการมากขึ้น ภายใต้สมาคมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา โดยมีสถานภาพเป็นองค์กรแรงงานที่มีการพัฒนาไปจากรูปแบบสหภาพเดิม สมาชิกมีทั้งแรงงานในโรงงาน และแรงงานกลุ่มอื่น ๆ เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือพนักงานนวด พวกเขารวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาความเข้มแข็ง และหลายครั้งสามารถต่อรองกับนายจ้าง หรือโครงสร้างอำนาจที่กดทับอยู่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้

“สมัยที่ผมทำงานกับคนงาน พวกเขาอาจจบแค่ป.4  หรือไม่มีการศึกษาก็มี เพราะฉะนั้นโลกทัศน์ของเขาถูกครอบงำมาแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกครอบงำแบบนั้นอีกแล้ว แต่คนรุ่นใหม่มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือมีความเป็นปัจเจกสูง ดังนั้นในระยะยาวหากต้องรวมกลุ่มกัน ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน อุดมการณ์นั้นคือ “การเป็นคนงาน” คุณต้องรู้ว่าความไม่เป็นธรรมในสังคมคืออะไร อุดมการณ์คือความเชื่อที่ต้องหล่อหลอมร่วมกันว่าในเชิงประวัติศาสตร์ คนงานไม่ว่ายุคไหนก็มีอุดมการณ์ในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายทุน นายจ้าง หรือกับรัฐ ต้องเข้าใจตรงนี้ ผมเชื่อว่ายิ่งขบวนการประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยยิ่งเข้มแข็ง”