ละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ปัญหาใหญ่ที่กฎหมายไทยจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

A: “คนใส่ชุดนิสิตมึงว่าไง”
B: “ผมตรงแบบนี้กูโคตรชอบ”
C: “อยากไปทำงานพาร์ทไทม์ร้านชุดนิสิตเลย จะขออาสาวัดตัว”
A: “อย่าไปจับ…..เค้านะ”
D: “ถามเค้ารับสอนภาษามั้ย ชวนมาสอนกูที่คอนโดที”
C: “กูจองแล้ว”

หากข้อความเหล่านี้กำลังพาดพิงถึงลูกหรือพี่น้องของคุณ สิ่งที่คุณจะทำคือข้อใด

  1. เฉย ๆ ปล่อยผ่าน เพราะการพูดถึงเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นชาย
  2. ตรงรี่ไปที่สถานีตำรวจแล้วแจ้งความดำเนินคดี เพราะเห็นว่าเป็นการคุกคามทางเพศและละเมิดความเป็นส่วนตัว คนที่ถูกพาดพิงอับอาย เสียหาย
  3. อื่น ๆ คือ……………………………………………………

เหตุการณ์สมมติ (ที่เราเองไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย) ข้างต้น มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์นักเรียนชายว่าที่นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกลุ่มพูดคุยไลน์ LAWMEN ที่ส่งข้อความในลักษณะคุกคามทางเพศนิสิตหญิงคณะอื่น จนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์เกิดขึ้นในสังคมไทย De/code จึงชวน ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด ผู้ทำหน้าที่ร่างและเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นร่างบัญญัติที่กำลังผลักดันให้แทรกลงในประมวลกฎหมายอาญาอยู่ขณะนี้ มาพูดคุยถึงประเด็น #นิติจุฬา และความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ในสังคมไทย

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์

ปรากฏการณ์ #นิติจุฬา กับช่องว่างทางกฎหมาย

ต่อปรากฏการณ์ #นิติจุฬา อาจแยกพิจารณาเป็นสองประเด็น ลำดับแรกคือดูที่การกระทำในกลุ่มไลน์ “LAWMEN” จะพบว่าการส่งข้อความ ภาพ แล้วแช็ตในลักษณะละเมิดทางเพศผู้เสียหายนั้นไม่ได้เป็นการผิดฐาน grooming เพราะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศของวัยรุ่นชายกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นการโน้มน้าว จูงใจ หรือล่อลวงให้นิสิตหญิงกระทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ขณะเดียวกันก็ไม่ถือว่าเข้าข่าย sexting ด้วย เพราะวัยรุ่นชายไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับนิสิตหญิงที่เสียหายโดยตรง แต่เป็นเพียงการบันทึกรูปแล้วนำมาแช็ตคุยในลักษณะล่วงเกินทางเพศ จึงต้องพิจารณาในประเด็นที่สองว่าเป็น online stalking หรือไม่ โดยหากพิจารณาว่าบางคนที่แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มไลน์ของนิสิตหญิงคณะอื่น ๆ แล้วติดตามความเคลื่อนไหวในกลุ่มพร้อมกับบันทึกภาพหรือข้อมูลอื่น ๆ ออกมา แบบนี้ถือว่าเป็นการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด กระทำซ้ำ ซึ่งคุกคามต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียง จึงเข้าข่าย online stalking แน่นอน

กระนั้นก็ยังคงเอาผิดในฐาน online stalking ไม่ได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ยังเป็นเพียงร่างฯ ที่เรากำลังผลักดัน

จึงคิดว่าหากจะเอาผู้กระทำมารับผิดและคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหายด้วยกฎหมายจริง ๆ ลู่ทางที่ตำรวจน่าจะใช้ได้คือความผิดลหุโทษตามมาตรา 397 ที่ว่าผู้ใดกระทำด้วยการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท แต่จริง ๆ แล้วถ้าจะพิจารณาความรุนแรงที่มากกว่านั้นการนำมาตรา 14 วรรค 4 มาปรับบทต่อกรณีนี้ก็ควรเป็นสิ่งที่กระทำได้ ทว่าเมื่อดูตัวบทแล้วกลับพบว่าความผิดจะเกิดก็ต่อเมื่อเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่มีลักษณะอันลามกและประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ตรงนี้จึงติดตรงประโยคที่ว่า “ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นได้” เพราะกรณีนี้การกระทำลามกเกิดขึ้นในวงเฉพาะคือแค่ในกลุ่มไลน์ที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึง กฎหมายมาตรานี้จึงมีช่องว่างที่ไม่สอดรับกับพฤติกรรมของยุคปัจจุบันคือมองความเป็นไปได้แค่การปฏิสัมพันธ์ใน physical world แต่ไม่ได้เห็นว่า virtual world นั้นมีลักษณะที่แตกต่างของการเป็นสาธารณะ คำถามสำคัญคือแล้วแค่ไหนกันที่จะถือว่าเป็นสาธารณะ

ต้องให้มีคนนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปพูดคุยหรือแช็ตในออนไลน์ให้เสีย ๆ หาย ๆ กับคนมากเท่าไหร่กันจึงจะนับว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย ทั้งที่จริง ๆ แค่กับคน สองคนก็ถือว่าละเมิดเสรีภาพแล้วไม่ใช่หรือ 


ในความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่ากฎหมายไทยควรต้องอุดช่องว่างตรงนี้ อาจบัญญัตินิยามของคำว่า “สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้” ให้ชัดเจนมากขึ้นและกินความรวมถึงตั้งแต่สองคนหรือสามคนขึ้นไป โดยนิยามนี้อาจใส่เพิ่มเข้าไปใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เลยก็ได้ แบบนี้จะเป็นธรรมต่อผู้เสียหายมากกว่า เพราะเขาไม่ต้องรอให้คนเป็นพันเป็นหมื่นต้องเข้าถึงข้อมูลนั้น ก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ อย่างกรณี #นิติจุฬา ถ้ามองในมุมนิสิตหญิงที่ถูกคุกคามทางเพศผ่านข้อความแช็ต เหตุการณ์นี้ก็น่าจะสร้างความหวาดระแวงและรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตความเป็นส่วนตัวทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย และแม้การแจ้งความเอาผิดด้วยมาตรา 397 นั้นจะนำคนผิดมาลงโทษได้ แต่ก็ควรมีกฎหมายการละเมิดทางเพศออนไลน์เป็นการเฉพาะเพื่อเป็นเครื่องมือกำกับและคุ้มครองตัวเด็กได้โดยตรง

ละเมิดทางเพศออนไลน์ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ปล่อยผ่าน

ที่บอกว่าให้มีกฎหมายเฉพาะเพราะปรากฏการณ์ #นิติจุฬา นี้จริง ๆ แล้วเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดทางเพศออนไลน์ แต่หากพิจารณาข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ปี 2563 ซึ่งสำรวจเด็กอายุ 12-18 ปี จำนวน 14,945 คน โดย COPAT และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จะพบว่าการละเมิดทางเพศต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลบางส่วนระบุว่า เด็กกว่า 2,573 คน มีประสบการณ์ที่เพื่อน รุ่นพี่ หรือผู้มีอายุมากกว่าเข้ามาพูดคุยเรื่องเพศทางออนไลน์, กว่า 641 คน เคยบันทึกภาพและสื่อลามกอนาจารเด็กต่ำกว่า 18 ปี มาเก็บไว้ และมากกว่า 45% ของจำนวนดังกล่าวส่งต่อภาพและสื่อลามกนั้นให้คนอื่น ขณะที่เด็กซึ่งเคยถูกระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) ก็มีมากถึง 2,282 คน


แต่รู้ไหมว่าแม้สถิติเหล่านี้จะชวนให้ตกใจและอดเป็นห่วงไม่ได้ ทว่าในทางกฎหมายกลับไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้

เพราะหากย้อนกลับไปดูในอดีตพบว่าคำพิพากษาฎีกา ปี 2540 ได้วางบรรทัดฐานว่าการกระทำลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศจึงไม่นับว่าเป็นการอนาจาร และไม่มีความผิดทางกฎหมาย เมื่อผู้เสียหายนำเรื่องมาแจ้งความ ตำรวจก็ต้องตอบปฏิเสธรับเรื่องเพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับว่าเป็นความผิด แต่ในประเทศอื่น ๆ สถานการณ์จะต่างไป เพราะบ้านเมืองเขามีความผิดฐานพูดคุยเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็กผ่านสื่อออนไลน์ (Online Sexting) เพียงแค่พูดคุยเรื่องทางเพศโดยปราศจากเหตุอันควรกับเด็กก็ไม่ถูกต้องแล้ว และหากเลยเถิดไปถึงขั้นให้เด็กถอดเสื้อผ้าหรือลวงให้ออกมาเจอก็ถือว่ามีความผิดฐานล่อลวงผ่านทางออนไลน์ (Online Grooming) การมีกฎที่ชัดเจนเช่นนี้เป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เด็กต้องเสี่ยงที่จะถูกกระทำอนาจารหรือกระทำชำเรา แต่ในไทยกลับยืนยันขันแข็งว่าทั้ง online sexting และ online grooming นั้นไม่เป็นความผิดตราบจนกว่าเด็กจะถูกแตะต้องเรือนร่างเสียก่อน การวางบรรทัดฐานทางกฎหมายเช่นนี้โดยไม่ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อยุคสมัยในแง่หนึ่งจึงอาจตั้งคำถามต่อได้ว่ากฎหมายกำลังคุ้มครองผลประโยชน์ผู้กระทำผิดหรือผู้เสียหายมากกว่ากัน เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าการร่ำรอให้ต้องถึงขั้นแตะเนื้อต้องตัวก่อนนั้นเป็นการป้องกันที่หละหลวมพอควร 

เพิ่มโทษละเมิดทางเพศออนไลน์

เมื่อเห็นว่าการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์เป็นปัญหาแต่กฎหมายยังมีช่องว่าง คนทำงานด้านกฎหมายจึงต้องทำหน้าที่อุดช่องว่างนั้นผ่านการผลักดันให้มีร่างบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ เริ่มแรกร่างบัญญัตินี้ตั้งต้นมาจากคณะวิจัยของ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ต่อมาก็ขยายไปสู่วงพูดคุยของคนที่ปฏิบัติการทางกฎหมาย ที่มาร่วม อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังจากนั้นก็มีองค์กรอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ มูลนิธิ ภาคประชาสังคมซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
 


สำหรับสาระสำคัญที่บรรจุไว้ในร่างบัญญัตินี้มีอยู่ 5 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1. Sexting 2. Grooming 3. Sextortion 4. Stalking 5. Cyber Bullying แต่ที่เกี่ยวกับการละเมิดทางเพศโดยตรงคือสี่เรื่องแรก ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ผ่านสถานการณ์สมมติระหว่างเด็กหญิงคะน้า อายุ 16 ปี กับนายโชค อายุ 25 ปี ดังนี้

สถานการณ์ที่หนึ่ง: นายโชคส่งวิดีโอการมีเพศสัมพันธ์มาให้เด็กหญิงคะน้าทางแชทไลน์ แบบนี้ถือว่านายโชคมีความผิดฐาน sexting ต้องถูกจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่การส่งคลิปนั้นเป็นการส่งผ่านสื่อออนไลน์จึงให้เพิ่มโทษไปอีกหนึ่งในสามของโทษข้างต้น

สถานการณ์ที่สอง: นายโชคหลอกเด็กหญิงคะน้าว่าตัวเองเป็นติวเตอร์และชวนเธอมาหาที่บ้าน โดยบอกว่าจะติวหนังสือให้ฟรี ๆ แต่เมื่อคะน้ามาถึงกลับลวนลามทางเพศ แบบนี้นายโชคจะมีความผิดฐาน grooming ต้องจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การล่อลวงนั้นทำผ่านสื่อออนไลน์จึงต้องเพิ่มโทษเป็นหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด

สถานการณ์ที่สาม: นายโชคกับเด็กหญิงคะน้าเป็นแฟนกัน หลายครั้งที่วิดีโอคอลคุยกันนายโชคมักขอให้คะน้าโชว์หน้าอกให้ดูแล้วตนก็จะบันทึกภาพไว้โดยที่คะน้าไม่ทราบ วันหนึ่งนายโชคขู่ให้คะน้าให้มีเพศสัมพันธ์กับตนโดยถ้าคะน้าไม่ยอม เขาจะนำภาพโชว์หน้าอกของคะน้าไปเผยแพร่ในทวิตเตอร์ แบบนี้นายโชคกระทำผิดฐาน sextortion ต้องจำคุกหนึ่งถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

สถานการณ์ที่สี่: นายโชคปลอมแปลงตัวตนบนเฟซบุ๊กเป็นผู้หญิงแล้วเข้าไปร่วมในกลุ่มแชทของนักเรียนหญิงชั้น ม.4 ที่มีคะน้าเป็นสมาชิก จากนั้นก็บันทึกภาพของคะน้าในกลุ่มแชทมาโพสต์ซ้ำ ๆ ในลักษณะว่าคะน้าเป็นแฟนของตนและเคยมีเพศสัมพันธ์กับตนแล้ว แบบนี้นายโชคจะมีความผิดฐาน stalking ต้องจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งเเสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สรุปให้เห็นความแตกต่างคือ sexting เป็นการพูดคุยรับส่งสื่อทางเพศที่ไม่เหมาะสม grooming เป็นการสานสัมพันธ์ให้เหยื่อเชื่อใจเพื่อหวังละเมิดทางเพศ sextortion เป็นการขู่กรรโชกออนไลน์ด้วยเรื่องเกี่ยวกับเพศ ส่วน stalking เป็นการติดตามชีวิตของคนอื่นแล้วรุกล้ำคุกคามความเป็นส่วนตัว

และเเม้ว่าทั้งสี่เรื่องจะมีลักษณะต่างกันไป เเต่การบัญญัติไว้ในร่างบัญญัตินี้ก็เพื่อมุ่งคุ้มครองและคืนความเป็นธรรมให้ตัวเด็กซึ่งคือคะน้าเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กซึ่งถูกละเมิดทางเพศออนไลน์ไม่มีช่องทางที่จะทวงคืนความเป็นธรรมให้แก่ตน คนทำผิดจึงลอยนวล และหลายครั้งก็ยังวนเวียนมาละเมิดทางเพศออนไลน์ ซ้ำ ๆ  แต่เด็ก ๆ ที่เสียหายกลับต้องเผชิญกับความหวาดระแวง ส่งผลต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตของเด็กอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ถึงตอนนี้น่าดีใจว่าความตั้งใจดังกล่าวกำลังจะเป็นจริง ร่างบัญญัติผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครบสามครั้ง ขั้นตอนหลักก็เหลือเพียงเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ส่งให้สำนักงานกฤษฎีกา และลงมติรับในสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่งถึงสองปีก็น่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ถึงตอนนั้นคาดหวังว่าจะช่วยปรามบางพฤติกรรมได้และจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองเด็ก ส่วนสิ่งที่กังวลมีประการเดียวคือเกรงว่าเมื่อมีกฎหมาย ผู้กระทำความผิดจะทำความผิดรุนแรงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะมีวิธีคิดที่นิยมในหมู่ผู้กระทำความผิดว่าไหน ๆ ก็ทำผิดกฎหมายแล้ว งั้นก็ทำให้คุ้มกับโทษที่ตนจะได้รับไปเลย วิธีคิดแบบนี้น่ากลัวมากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง 

สื่อออนไลน์เป็นเหมือนมีด จำเป็นต้องมีกฎหมายมากำกับ

อยากฝากทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ให้ใช้สื่อออนไลน์อย่างชาญฉลาดและเท่าทัน เช่นถ้าใช้ในลักษณะที่ผิดหรือละเมิดต่อเสรีภาพของคนอื่น ในอนาคตก็อาจจะผิดตามกฎหมายที่กำลังจะออกได้ แม้จะมุ่งคุ้มครองเด็กจากการตกเป็นเหยื่อก็จริง แต่อีกแง่หนึ่งก็ไม่อยากให้เด็กกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวเอง คือก็เข้าใจได้นะว่าธรรมชาติของช่วงวัยพวกเขาอยากรู้อยากเห็น อยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งก็คงห้ามกันไม่ได้ แต่จะทำยังไงให้ความอยากรู้อยากเห็นของเขาไม่ไปละเมิดเด็กคนอื่น ๆ  ตรงนี้ผู้ปกครองหรือครูคงต้องมีส่วนสำคัญในการชี้แนะ 


อย่างไรก็ดีก็ต้องฝาก Policy Maker ของรัฐด้วยว่าจะทำอย่างไรถึงจะกระจายองค์ความรู้ในการใช้สื่อออนไลน์ไปยังผู้ปกครองและครูได้มากที่สุด ดูตัวอย่างเช่นอังกฤษ เมื่อรัฐบาลจะให้เด็กนักเรียนใช้แท็บเล็ตในการเรียน สิ่งแรกที่เขาทำคือจัดอบรมให้ครูและผู้ปกครองทั่วประเทศได้เข้าถึงองค์ความรู้ในการใช้สื่อออนไลน์ก่อน เช่นหากจะตรวจสอบว่าเด็กค้นหาหรือชมอะไรบ้างต้องทำอย่างไร หรือหากจะปิดกั้นไม่ให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมจะมีวิธีใดบ้าง เหล่านี้ล้วนช่วยให้ผู้ปกครองและครูสามารถดูแลสอดส่องและชี้แนะเด็ก ๆ ได้ 

แต่สำหรับไทยนั้นน่าเสียดายว่าผู้ปกครองและครูไม่สามารถติดตามการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างเท่าทัน เพราะรัฐไม่ได้จัดสรรองค์ความรู้การใช้สื่อออนไลน์ออกไปให้ทั่วถึง โดยเฉพาะตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 เด็กทั่วประเทศต้องเรียนออนไลน์ พวกเขาอยู่กับข้อมูลและการสื่อสารผ่านออนไลน์มากขึ้น ความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศก็มากขึ้น ครูและปกครองจึงควรมีแนวทางอบรมพวกเขาด้วย ไม่ต้องถึงขั้นปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงสื่อออนไลน์เพราะแบบนี้ดูหวาดระแวงเกินไป ขอเพียงแค่สามารถรู้ว่าเขาใช้ไปในทางที่เสี่ยงว่าตัวเองจะถูกละเมิดหรือไปละเมิดคนอื่นก็พอ

ท้ายที่สุดก็อยากย้ำว่าสื่อออนไลน์เปรียบเสมือนมีด หากใช้ไปในทางที่ถูกต้องไม่ให้ตัวเองถูกละเมิดและไม่ละเมิดผู้อื่นก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าใช้เพื่อหวังผลที่จะละเมิดผู้อื่นโดยเฉพาะละเมิดทางเพศซึ่งทำได้ง่ายแบบนี้ก็จะโทษต่อตัวเองและคนอื่น ๆ แน่นอน  ส่วนกฎหมายที่ผลักดันออกมาก็เหมือนกฎที่จะมากำกับการใช้มีดนั้น เพราะแม้มนุษย์จะสามารถสำนึกถึงความผิดถูกได้ด้วยตัวเอง แต่การมีกฎเกณฑ์มาให้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันก็จะช่วยย้ำเตือนให้ไม่สำนึกพลาดได้มากขึ้น