เก้าอี้ดนตรี: การแข่งขันอันมืดบอด - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

เผอิญได้อ่านบทสัมภาษณ์ ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) เรื่องเกมเก้าอี้ดนตรี ซึ่งมีข้อชวนคิดว่าการให้เด็กเล็ก ๆ เล่นเกมแย่งเก้าอี้กัน อันมีกติกาว่าใครไม่เร็วพอแย่งนั่งเก้าอี้ไม่ทันจะค่อย ๆ ถูกคัดออกไป จนในที่สุดจะเหลือเด็กเพียงเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้เร็วเป็นผู้ชนะ คือ การบ่มเพาะทัศนคติแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น

พอกลับมาคิดพินิจเรื่องนี้จริงจังก็พบว่าเกมยอดนิยมเก่าแก่ของเด็กเล็กนี้เป็นเกมที่ร้ายกาจใช้ได้เลยทีเดียว 

เด็ก ๆ จะถูกสอนให้แย่งชิงเอากระทั่งจากเพื่อนของตัวเอง…ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่คนในวัยเล็ก ๆ เช่นนั้น หากชนะก็แน่นอนว่าจะได้รับคำชมประหนึ่งเป็นคนเก่งกาจ ทั้ง ๆ ที่ความเร็วของการเคลื่อนไหวเป็นสมรรถนะทางกายภาพที่แตกต่างลดหลั่น และไม่สามารถใช้ชี้วัดเป็นบรรทัดฐานอะไรในเด็กปฐมวัยได้ 

ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าได้ครอบครองเป็นเจ้าของเก้าอี้ตัว ซึ่งไม่จริงก็เปล่าอีก …เด็ก ไม่ได้ได้เก้าอี้ตัวนั้นเอากลับบ้านไปเป็นของตัวเอง แต่อาจได้ขนมหรือของเล่นให้เป็นรางวัลแทน ขณะที่เพื่อน ๆ ที่แย่งเก้าอี้ไม่ทันจะถูกกันออกไปทีละคน ผิดหวัง เสียใจ ไม่ได้อะไรสักอย่าง นอกจากกลายประหนึ่งไร้ตัวตนอยู่นอกวงกลมล่องหนนั้น 

ตอนไหนที่เราสอนเด็ก ๆ ของเราให้แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ตอนไหนที่เราทำให้เด็ก ๆ กลายเป็นคู่แข่งหรืออีกนัยยะหนึ่งเป็นคู่ต่อสู้กับเพื่อนของตัวเองโดยไม่มีเป้าหมายแก่นสาร ตอนไหนที่เราสอนเขาว่าการแก่งแย่งเอาชนะคะคานเป็นเรื่องสนุกสนาน หรือแย่กว่านั้น…สร้างเสริมทักษะกับสุขภาพ ตอนไหนกันที่เราสอนเขาให้แย่งให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ไม่ได้อยากได้ด้วยซ้ำ โดยไม่ได้ครอบครองเจ้าของสิ่งนั้นจริง ๆ…แค่แย่งมาและเป็นผู้ชนะ

พอเขาโตขึ้นอีกนิดเดียวเราก็เริ่มเคี่ยวเข็ญพวกเขา ให้อ่าน เขียน บวกเลขให้ได้ก่อนวัย ผลักดันเขาสอบเข้าโรงเรียนที่ว่ากันว่าดีตั้งแต่ ป.1 ให้ได้ พร่ำสอนเขาว่าเขาจะต้องมีผลการเรียนดี ๆ เพื่อที่จะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งกว่าจะมาถึงก็อีก 10 ปี ข้างหน้า จากนั้นก็บังคับเขาให้เรียนพิเศษ…อาจจะ โดยไม่ตระหนักว่าสิ่งที่เขาเสียไปรายทางกับการเรียนบ้าคลั่งเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้นั้นไม่ใช่เวลา หากแต่คือการได้เล่นสนุกสนาน 

คือวัยเด็กทั้งหมดของเขา…ซึ่งจะไม่มีวันหวนคืนกลับมา

เราพร่ำบอกเขาว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าคนอื่นเมื่อจบมหาวิทยาลัย…ไม่ต้องไปเป็นเด็กเลี้ยงควาย ไม่ต้องไปขายพวงมาลัยสี่แยก ทั้ง ๆ ที่ปริญญาเป็นแค่ใบรับรองประกอบอาชีพ ไม่ใช่เป็นใบรับประกันชีวิตที่ดี เราสอนเขาให้แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นด้วยความเชื่อว่าคนมีปริญญานั้นเหนือกว่าคนอื่น โดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าการศึกษาทั้งปวงล้วนเป็นสิ่งพื้นฐาน เพื่อให้คนมีทางเลือกมากกว่า มีความสามารถทำงานใช้ความคิดได้นอกเหนือจากงานใช้ทักษะและแรงงาน เพื่อให้คนได้เป็นคนมีประโยชน์เต็มศักยภาพ ได้ทำอาชีพหลากหลายอย่างที่ชอบที่อยาก มีชีวิตปกติสุข เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างสรรค์สังคมสุขสงบ 

…ไม่ใช่เพื่อเหนือกว่าคนอื่น 

และในที่สุดคุณก็ผลักดันเขาเข้ามหาวิทยาลัยจนได้…คณะอะไรไม่เป็นไร ขอให้มีใบปริญญาเป็นใช้ได้ จบมาก็ทำงานที่อาจไม่ชอบ ทำโดยไม่มีผลตอบแทนทางใจ มีแค่เป้าหมายเหมือนตอนเขาอายุสี่ห้าขวบนั่น…แย่งเก้าอี้ เก้าอี้อีกตัว เก้าอี้ตัวที่ดีที่สุดในหมู่เพื่อนร่วมงาน เก้าอี้ของหัวหน้า เก้าอี้ของหัวหน้าแผนก เก้าอี้หัวหน้าของหัวหน้าแผนก เก้าอี้ผู้จัดการ 

มีเก้าอี้มากมายเหลือเกินที่ต้องแย่งชิง 

แต่แล้วเขาก็พบว่าคนที่ได้เก้าอี้ไปกลับเป็นคนที่รู้จักเอาใจและตามใจนาย คนที่รู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ คนที่รู้จักเล่นเกม คนที่ใช้สอยคนอื่นเป็น แต่ที่เศร้ากว่าอะไรทั้งหมด เก้าอี้ตัวที่ดีที่สุดจะตกเป็นคนนอกสนามแข่งขัน ใครจากไหนไม่รู้ที่เป็นลูกหลาน ไม่ก็ลูกหลานของเพื่อนฝูง ของคนที่เป็นเจ้าของเก้าอี้ทุกตัวในองค์กรตัวจริง ไม่ว่าเขาจะทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่พอ เก่งแค่ไหนก็ไม่พอ ฉลาดแค่ไหนก็ไม่พอ

สังคมของเรามันก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว…คุณปลอบ ใคร ๆ ก็บอกอย่างนั้น 

แต่โลกสมัยใหม่เปลี่ยนไปแล้ว โลกใหม่ไม่ได้ต้องการคนที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ โลกใหม่ไม่ได้ต้องการคนแข่งขันเก่ง แก่งแย่งเป็นไฟ โลกใหม่ไม่ได้ต้องการคนปราดเปรื่องด้วยซ้ำ จะว่าไป 

…แล้วโลกสมัยใหม่ต้องการอะไร 

โลกใหม่คือโลกดิจิทัล คือโลกการขับเคลื่อนโดยทุกหน่วยปลีกย่อยขององคาพยพพร้อมกัน คือโลกที่ผู้คนเติบโตพร้อมกับระบบที่แตกต่างไปจากของคุณ ระบบที่คนตระหนักว่าการถึงผลเลิศของการทำงานคือทำร่วมกันพร้อมกัน คิด  ขยับ ผลักดันไปสู่เป้าหมายเดียวกันร่วมกัน มันคือโลกที่ไม่มีคำว่าวันแมนโชว์

ยิ่งกว่านั้น ในเวลาที่จักรกลมีประสิทธิภาพมากกว่าและปัญญาประดิษฐ์ฉลาดกว่ามนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ โลกยังเรียกร้องต้องการมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ยืนยันแก่นแท้งดงามที่สุดของการเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่พละกำลังหรือมันสมองอีกต่อไป…แต่เป็นหัวใจ  มนุษย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจ รู้จักการให้ รู้จักแบ่งปันกับเกื้อกูลผู้อื่น

การพัฒนาเด็กเล็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราไม่เพียงแต่จะมองข้ามสิ่งละอันพันละน้อยที่ส่งผลมหาศาลต่อการเติบโตของคน เราสร้างผู้ใหญ่นิสัยไม่ดี เราบ่มเพาะทัศนคติล้าหลังที่ไม่ใช่คุณสมบัติที่ศตวรรษที่เราอยู่ต้องการ เรารังสรรค์สังคมแก่งแย่งที่ผู้คนเอาแต่ฟาดฟันกันเองจนไม่เหลือคนเก่งออกไปแข่งขันกับประเทศไหน ๆ ซึ่งในที่สุดก็แลกกลับมาได้แค่ประชากรคับแคบใจดำที่ไม่มีความพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ 

…แหละทั้งหมดนั่นก็โดยการปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ เล่นเกมดึกดำบรรพ์ที่เคยได้รับความนิยมในยุคสมัยสร้างชาติหลังสงครามไปเรื่อย ๆ 

เรื่อย ๆ…โดยไม่หยุดคิดว่าสิ่งเล็ก ๆ ในวัยเด็กสร้างคนแบบไหนให้กับโลก