การลาออกครั้งสุดท้ายของ “ครูแป๊ะ” และขบวนการล่างสุดของการถูกกดขี่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

เย็นวันหนึ่งปลายปี 2563 เธอเดินทางไปที่ม็อบบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลกับลูกศิษย์ ด้านหลังแผงกั้นแน่นหนาทั่วบริเวณมีกองกำลังทหารตรึงกำลังอยู่ทุกจุด ฝูงชนที่คลาคล่ำเต็มถนนมุ่งหน้าไปอย่างช้า ๆ แต่แน่วแน่ บ้างมากันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ บ้างมาตามลำพัง แต่ไม่มีบรรยากาศของความแปลกหน้าต่อกันน่าประหลาดที่บางครั้งในจุดที่อันตรายที่สุด กลับให้ความรู้สึกปลอดภัยและภราดรภาพอย่างเหลือเชื่อ ลูกศิษย์ของเธอหยุดเดิน แหงนมองไปยังรถที่เป็นเวทีปราศรัยของกลุ่ม “นักเรียนเลว” เด็กหนุ่มสาวจำนวนสามคนปีนลงมาจากรถและวิ่งตรงเข้ามาพร้อมกับยกมือไหว้ลูกศิษย์ของเธอ “ครู ๆ ตอนนี้หนูได้เป็นผู้นำม็อบแล้ว” ดวงตาของเด็กสาวเปล่งประกาย เช่นเดียวกับดวงตาลูกศิษย์ของเธอ

รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ หัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ของเย็นวันหนึ่งปลายปี 2563 ที่เธอลงไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่รับราชการครูอยู่ในกรุงเทพ ช่วงเวลานั้นลูกศิษย์ของอาจารย์นงเยาว์กำลังตัดสินใจครั้งใหญ่ว่า จะยังคงทำอาชีพครูต่อไปหรือจะลาออก ในขณะที่อีกใจหนึ่งยังเป็นห่วงนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหว เมื่อถามไถ่ถึงเรื่องที่โรงเรียนจึงได้รู้ว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นได้ลาออกแล้ว เพราะเวลาที่ใช้ในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกระทบกับเวลาเรียน และเพื่อเป็นแสดงจุดยืนถึงเสรีภาพในการแสดงออก เด็กเหล่านั้นจึงเลือกที่จะออกไปเรียนนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นโฮมสคูลหรือการศึกษานอกโรงเรียน

ขั้วตรงข้ามของบุคลิกแบบเผด็จการ

“นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องเสียไป บางคนกว่าจะคุยกับครอบครัวเข้าใจ บางคนไม่สามารถเรียนต่อไปได้ แม้ว่าจะเรียนดีแค่ไหนก็ตาม เพราะไม่ใช่ครูทุกคนที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ชีวิตของเด็กคนหนึ่งต้องผ่านครูหลายคน หลายวิชา ดังนั้นเขาถึงต้องเลือกออกมาเรียนกับระบบข้างนอก ตรงนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่อยากให้เห็นว่า เด็กพวกนี้ต้องแลกมาขนาดไหนเพื่อต่อสู้เรื่องนี้”

เช่นเดียวกับครูจำนวนหนึ่งที่เลือกจะเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย พวกเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันไม่น้อยกว่าลูกศิษย์เลย หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่กลายเป็นไวรัลคลิปและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เมื่อเด็กนักเรียนราวร้อยกว่าคนรวมกลุ่มกันชู 3 นิ้ว เพื่อใช้สิทธิในการแสดงออกถึงเสรีภาพทางความคิดเห็น โดยมีผู้อำนวยการเข้ามาสังเกตการณ์ จุดที่ทำให้คลิปนี้โด่งดังในชั่วข้ามคืน คือการที่ผู้อำนวยการก้มตัวโค้งให้เมื่อเด็ก ๆ พากันยกมือไหว้ จนปรากฎเสียงโห่ร้องและปรบมือดังขึ้นอย่างกึกก้อง

ภายหลังจากเหตุการณ์นั้น ผู้อำนวยการ ฐิตติณัฐ ศักดิ์ธนานนท์ หรือ ผอ.แป๊ะที่ปรากฎในคลิปได้ลาออกจากราชการ นำไปสู่เหตุการณ์ที่นักเรียนได้ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้ระงับการลาออกของผู้อำนวยการ และต้องการให้กลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม โดยอ้างว่า ผู้อำนวยการซึ่งเป็นที่เป็นที่รักของนักเรียนมีความขัดแย้งกับคณะกรรมการสถานศึกษา หาใช่สาเหตุที่แจ้งว่า ผู้อำนวยการลาออกเพราะรับราชการมานานเกินไปและมีปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นไม่เป็นผล และปัจจุบัน ผอ.แป๊ะ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการของโรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่แห่งนั้นแล้ว

“ผมโดนกรรมการการศึกษาท้วงว่า ผอ.คนนี้อยู่กับเด็กไม่ได้หรอก เขาชูสามนิ้ว แต่เรื่องนี้มีผลน้อยมาก เหตุผลหลักมาจากความไม่สบายใจในการบริหารโรงเรียน จากที่ตั้งใจไว้ว่าอีก 3 ปี จะเกษียณ แต่ผมทำงานได้แค่ 13 เดือน ถ้าผมอยู่ต่อมันจะผิดไปมากเรื่อย ๆ ซึ่งผมยอมรับไม่ได้ ถ้าผมไม่ออก ผมต้องอยู่ใต้กฎระเบียบซึ่งทำให้ผมอึดอัด ทางที่ดีผมต้องทำเกียรติประวัติของผม ด้วยการลาออก ให้คนเห็นว่าอยู่ไม่ได้ในระบบราชการ ผมไม่ได้บอกสาเหตุการลาออกกับใคร แม้เขาจะบอกว่าสาเหตุจากรับราชการนาน เรื่องการชูสามนิ้ว ทั้งเรื่องการเป็นเบาหวาน ความจริงมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก”

นอกจากนั้น ผู้อำนวยการยังชี้แจงความเข้าใจผิดจากภาพในคลิปที่ได้สื่อสารออกไป ซึ่งถูกตีความไปว่า ผู้อำนวยการได้ก้มศรีษะเสมือนเป็นการเคารพการกระทำของเด็กนั้น ในความเป็นจริงเกิดจากการที่วันนั้นเขาได้แวะเข้ามาดูกิจกรรมของนักเรียนด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อเด็ก ๆ มองเห็นผู้อำนวยการที่ตนรัก จึงโห่ร้องรวมทั้งพากันยกมือไหว้ เมื่อเห็นเด็กทำความเคารพแต่เขามีข้าวของเต็มไม้เต็มมือเกินกว่าจะรับไหว้ จึงต้องโค้งตัวลงเพื่อรับไหว้ สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผอ.แป๊ะ ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของเด็กทั้งหมด แต่เขามีความเชื่อในการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีเสรีภาพในการแสดงออก โดยรับฟังเหตุผลของเด็ก แต่ได้แสดงความเห็นของตนไปว่า

“ทำไปเถอะ เธอจะได้รู้ว่าสามนิ้วที่เรียกร้อง จะทำได้สักกี่นิ้ว นิ้วเดียวก่อนไหม อีกสองนิ้วไม่ต้องรีบ เธอต้องชูประเด็นที่หลักๆ ที่ทำได้ก่อน อันที่ทำไม่ได้อย่าทำ เอาอย่างนี้ ไปหาธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงินเคยมีหรือไม่ ธงชาติถูกออกแบบมาตั้งเจ็ดแปดร้อยปีแล้วให้เป็นแบบนี้ เด็กตอบว่า “ทำได้สิครู” ผมจึงบอกว่าแต่มันยาก ถ้าเป็นครูจะไม่ทำเพราะมันไม่มีโอกาส อีกอย่างคือมันผิดกฎหมาย เขาไม่ทำกัน ถ้าลูกทำลูกจะถูกฟ้อง มีหมายศาลต่างๆ เสียเวลา”

ภายหลังจากการจัดกิจกรรมของนักเรียน ผอ.แป๊ะได้ถามพวกเขาอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเด็กได้ตอบว่า “พอใจแล้วค่ะ แม้ว่ามันจะไม่ได้อะไร แต่หนูคิดว่าหนูได้ความรู้ใหม่แล้ว” ท้ายที่สุด ผอ.แป๊ะยืนยันอีกครั้งว่าผลกระทบที่เขาได้รับจากเรื่องนี้มี 2 แนวทาง หนึ่งคือนักเรียนมองภาพของเขาในแง่บวก ส่วนผู้ใหญ่บางคนมองเขาในแง่ลบว่าเข้าข้างเด็ก ในขณะที่เขามองตัวเองว่าไม่ได้รับบาดเจ็บจากเรื่องนี้เลย

“ผมพยายามจะบอกเด็ก ๆ ว่า ห้องเรียนที่มีชีวิตต้องเป็นแบบนี้ การชูสามนิ้วเป็นแค่บทเรียนบทเดียว จริงๆ ควรชูห้านิ้วด้วยซ้ำ และต้องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่านี้ เช่น ในห้องเรียนครูไม่ควรจะสอนนักเรียนอย่างเอาเป็นเอาตาย ให้แต่ความรู้ ไม่ได้ให้ประสบการณ์หรือทัศนคติ โรงเรียนใหญ่ๆ อัดความรู้อย่างเดียว หลาย ๆ คนไม่ค่อยพอใจกับแนวคิดนี้ บอกว่าโรงเรียนของเราตั้งมาร้อยกว่าปี ผมบอกว่าปีนี้ปีที่ 115 จะให้เหมือนปีที่ 1 มันไม่ใช่แล้ว โรงเรียนต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ”

ปรากฎการณ์ “ซาบซึ้ง” ต่อการเปิดพื้นที่ของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชฯ ให้นักเรียนได้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าผอ.แป๊ะจะไม่ได้เห็นด้วยกับเด็กจนสุดเพดานก็ตาม แต่ท่าทีเปิดกว้างของอาจารย์ท่านนี้ได้กลายเป็นไวรัลคลิปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์นี้แสดงถึงสัญญะอย่างไรในเชิงสังคม อาจารย์นงเยาว์ได้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้ในบริบทของโครงสร้างการศึกษาไทย เพื่อสรุปให้เห็นถึงความโหยหาบุคลิกที่ ผอ.แป๊ะได้แสดงออกมา ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า “บุคลิกแบบเผด็จการ” บุคลิกที่เป็นตัวแทนของระบบอำนาจนิยม (Authoritarian regime) ซึ่งครอบคลุมบรรยากาศโดยรวมของระบบการศึกษาไทย

“ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่ได้สอนให้เด็กมีความกล้าที่จะแสดงถึงวิจารณญาณที่ควรจะทำในการเป็นมนุษย์ แต่เราสอนให้เด็กใช้ “ความกลัว” เป็นเบื้องต้นในการนำชีวิต เพราะฉะนั้นการศึกษาที่เรามีอยู่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาครึ่งเดียว (Half education) ซึ่งมีการวิจัยในเรื่องนี้โดยศึกษาถึงบุคลิกภาพของครูและพลเมืองที่เกิดจากระบบการศึกษานี้ พบว่านั่นคือบุคลิกภาพที่เป็นเผด็จการ เราชื่นชมบุคลิกภาพแบบนี้ ในกรณีท่าทีของผอ.แป๊ะ ในวันนั้น เด็กถึงกับน้ำตาซึมเพราะเด็กแสวงหาบุคลิกภาพที่ไม่เป็นเผด็จการ แต่กลายเป็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งมองว่า เป็นบุคลิกภาพที่อ่อนแอ เพราะครูไม่ควรสวมวิญญาณของบุคลิกภาพแบบนั้น โดยเฉพาะกับเด็ก อันนี้น่ากลัวมากเพราะมันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยตกอยู่ใต้อุดมการณ์แบบอำนาจนิยม”

ครู“กล้า”สอน ในปริมณฑลของอำนาจนิยม

รศ.ดร.นงเยาว์อธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาครึ่งเดียวให้ชัดเจนขึ้นว่า เป็นการศึกษาที่ไปไม่ถึงความสมบูรณ์ เพราะในทางปรัชญาการศึกษาที่ควรจะเป็น เด็กต้องมีการเติบโตใน 3 เรื่อง คือ อารมณ์ความรู้สึก สติปัญญา และจิตวิญญาณ แต่ดูเหมือนว่าคุณค่าทั้งสามด้านจะถูกลดทอนลงให้เหลือเพียงครึ่งเดียว โดยเฉพาะเรื่องสติปัญญาที่ถูกทำให้เหลือเพียงทักษะที่จะเข้าสู่ระบบทุนนิยม ราวกับว่าสติปัญญาของเด็กได้หายไปครึ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ทักษะในชีวิตควรมีมากกว่า แค่การฝึกทักษะเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากที่ว่าเราไม่เคยถกเถียงกันเรื่องความเป็นคนที่เท่ากันจริง ๆ บนความแตกต่างหลากหลาย ความเสมอภาคในทางรูปธรรมและนามธรรมมันจะต้องปรากฎจริง ๆ ตรงนี้จะเรียกว่าอุดมการณ์ก็ได้ จะเรียกว่าปรัชญาความเชื่อของนักการศึกษาก็ได้ หรือความเชื่อในการเป็นพลเมืองที่จะอยู่ร่วมกันในระบบประชาธิปไตยก็ได้”

ที่ผ่านมาการอบรมและเตรียมครูเกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์แบบอำนาจนิยม กระบวนการเหล่านั้นทำให้เกิดความคาดหวังจากสังคม ทั้งจากครูด้วยกัน ผู้ปกครอง รวมทั้งระบบราชการซึ่งครูสังกัดอยู่ หากครูซึ่งเป็นผลผลิตของอุดมการณ์แบบอำนาจนิยม มีบุคลิกที่แตกแถวออกไป อาจถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงมีบุคลิกภาพที่อ่อนแอจนไม่สามารถกำราบหรือควบคุมเด็กให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ควรจะเป็น

“ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นอุดมการณ์ชุดเดียวกันหมด เราอยู่ในสังคมที่ไม่มีความเชื่อเรื่องเสรีภาพ สังคมที่ไม่เคยมีความไว้วางใจเด็ก หรือประชาชน เราไม่เคยเชื่อเรื่องความเสมอภาค ไม่เคยเชื่อคนอื่นที่ต่ำกว่าเรา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสถาปนาบุคลิกภาพแบบนี้ขึ้นมา ตรงนี้จึงตอบคำถามได้ว่าโรงเรียนอยู่ภายใต้บริบทของวัฒนธรรมและบุคลิกแบบใด”

คำตอบในเรื่องนี้ยังสามารถอธิบายวาทกรรม “นักเรียนเลว” ชื่อเครือข่ายของนักเรียนในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้กับอำนาจนิยม อาจารย์นงเยาว์วิเคราะห์ว่าสัญญะอย่างหนึ่งที่ระบอบอำนาจนิยมใช้ควบคุมคนในปกครองคือการเป็น “คนดี” ซึ่งมีการนิยามไว้หลายประการ ในระบบการศึกษาแสดงออกผ่านการที่ครูประจำชั้นต้องทำให้เด็กดี  เป็นเด็กที่อยู่ในสายตาและเส้นทางที่โรงเรียนออกแบบไว้ให้ หากผิดไปจากแนวทางเหล่านี้ย่อมกลายเป็นเด็กเลว

นิยามความดีมัน rigid มาก ไม่ได้คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึก เสรีภาพ และสติปัญญาของผู้เรียนซึ่งมีมากกว่าหนึ่งด้านด้วย เช่น ให้คุณค่าแต่สติปัญญาที่เรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่สติปัญญาด้านศิลปศาสตร์ถูกจัดระบบอีกอย่าง เด็กจะรู้สึกว่าถ้าไม่มีสติปัญญาด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เขาจะกลาย เป็นเด็กด้อยค่าไปทันที เรียนดีนะแต่อยู่หลังห้อง เพราะเขาให้คุณค่ากับศาสตร์ด้านหนึ่งแล้วคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น”

เมื่อสำรวจถึงเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา พบว่ามีทฤษฏีมากมายที่พยายามจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้บรรยากาศของอำนาจนิยมได้เจือจางลง ทั้งทฤษฎีให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นแต่เพียงผู้อำนวยความสะดวก รวมทั้งความพยายามปฏิรูปทั้งในระดับโครงสร้างและระดับปฏิบัติการ แม้กระทั่งในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 1 มาตราที่ 6 ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

แต่ดูเหมือนว่า นโยบายระดับชาติเหล่านั้นจะไม่เป็นผล หนำซ้ำครูรุ่นใหม่ที่ถูกส่งเข้าไปในระบบกลับต้องอยู่อย่างแปลกแยก หากไม่ทำตัวให้ “อยู่เป็น” อาจต้องจ่ายด้วยต้นทุนที่สูงมาก นั่นคืออาจต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวแปลกแยก หลายคนถอดใจลาออกไปเดินในเส้นทางอื่น ทั้ง ๆ ที่ครูในลักษณะนี้เป็นครูรุ่นใหม่ที่ใกล้ชิดกับเด็ก กล้าที่จะสนับสนุนให้เด็กได้แสวงหาความหมายของคำว่าสิทธิมนุษยชน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เอนหลังพิงได้บ้าง

ถึงที่สุดแล้วการสนับสนุน “ครูกล้าสอน” อาจเป็นเรื่องของความเป็นเพื่อน ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เพื่อไม่ให้แต่ละคนรู้สึกโดดเดี่ยว การสร้างเครือข่ายเล็กๆ ให้มีความไว้วางใจและโอบอุ้มทางอารมณ์ต่อกัน (Moral support) จะช่วยคลายทุกข์ ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะทำความผิด หรืออยากทำแต่ไม่กล้าทำ กลุ่มเพื่อนลักษณะนี้ควรต้องเกิดขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยของครู เช่นเดียวกับพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของราคาสูงลิ่วที่ครูและเด็กต้องจ่ายออกไป หมายถึงอนาคตที่ปราศจากความกลัว และเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง อาจารย์นงเยาว์ผู้เป็น “ครูของครู” และมองเห็นความอัปลักษณ์ของการศึกษาแบบครึ่งเดียวได้สรุปไว้ด้วยความหวังว่า

“สิ่งที่น่าดีใจมากคือว่า เด็กรู้ตัวแล้วว่า ตัวเขานั่นเองที่ต้องเป็นผู้กระทำการและพูดถึงเรื่องนี้ แล้วพอเด็กพูดมันเจ็บมาก แรงมาก นอกจากนั้นเด็กพูดได้เยอะเพราะเขาไม่ใช่ข้าราชการ ตรงนี้ถือว่าเป็นโชคดีของสังคมไทย เราไม่เคยคิดว่ามันจะมาเร็วขนาดนี้ ในที่สุดแล้วผู้ที่อยู่ในขบวนการล่างสุดของการถูกกดขี่ จะลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างเที่ยงตรงและเข้มข้น”