เพดานของคนข่าว ในวิกฤต(ศรัทธา)มีข้อจำกัด และการกลับมาของสื่อมืออาชีพ-พื้นที่กลาง ทำยากแต่จำเป็นต้องทำ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หมดศรัทธาสื่อหลักประเทศไทย”
“สื่อที่มองข้ามประชาชนสะท้อนถึงประเทศที่มองข้ามประชาธิปไตย”
“มาทำหน้าที่แทน นักข่าว”

3 ประโยคสั้นบนป้ายกระดาษที่ไม่ว่าคนข่าวคนไหนเห็นก็เป็นอันเจ็บจี๊ดในใจทุกราย ซึ่งที่มาของประโยคเหล่านี้ มีสาเหตุมาจาก สัดส่วนข่าวการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่านักเรียนนักศึกษาในสื่อกระแสหลักที่มีอยู่อย่างจำกัดเมื่อเทียบกับการรายงานข่าวในประเด็นเดียวกันโดยสื่อออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายคน 

แต่ในขณะเดียวเราก็ได้ยินเสียงความคิดเห็นที่ตอบกลับไปจากผู้คนในแวดวงสื่อว่า 

“ไม่ใช่ไม่อยากทำ…แต่มันทำไม่ได้ต่างหาก”

ด้วยเหตุนี้เอง Decode จึงขอจ่อไมค์ไปที่นักข่าวจากสื่อทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักไปจนถึงสื่อออนไลน์ เพื่อถามถึงเงื่อนไขในการทำงานของสื่อมวลชน ณ วันนี้ ว่าแม้ใจอยากจะรายงานแต่เหตุผลอะไรที่กลบเสียงนั้นให้หายไป และพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่ประชาชนเรียกร้องให้สื่อกลับมาทำหน้าที่ (เสียที) พร้อมทั้งร่วมหาคำตอบกับโจทย์สุดหินสำหรับคนทำสื่อ ว่าในวันที่เพดานขยายกว้างขึ้นไปทุกที สื่อมวลชนจะรายงานข่าวนี้อย่างไร 

เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสื่อมวลชนแล้ว เราต่างรู้ดีว่า เราไม่นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดในครั้งนี้ไม่ได้ แต่จะนำเสนออย่างไรนั้นคือคำถามที่คนข่าวทุกคนจะต้องขบคิดกันขนานใหญ่ หวังว่าบทความด้านล่างนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยทำให้ตะเกียงของสื่อกลับมาสว่างไสวแม้จะอยู่ภายใต้พายุที่โหมกระหน่ำ 

โครงสร้างองค์กร อำนาจทุน ปัญหาคลาสสิกของคนข่าวในสื่อกระแสหลัก 

“ส่วนตัวเราเคารพในการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่เพราะมันถือเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่สามารถเรียกร้องสื่อได้ และ เรายังเชื่อมั่นว่าสื่อทุกคนมีจิตวิญญาณที่ต้องการทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องเข้าใจโครงสร้างของสื่อไทยที่ยังคงต้องทำงานภายใต้โครงสร้างของทุน หรือ โครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้สื่อทำงานภายใต้เงื่อนไขที่เขามีอยู่ เราก็ไม่ขอไปก้าวล่วงในทุก ๆ องค์กร ก็ต้องเคารพในการทำหน้าที่ของทุกคน” 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนาม รายการข่าว 3 มิติ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ ผู้ก่อตั้งเพจ The Reporters เล่าให้เราฟังถึงโครงสร้างการทำงานของสื่อไทยที่ยังคงเผชิญกับปัญหาคลาสสิคอย่างเรื่องทุนและโครงสร้างองค์กรที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดการทำงานของนักข่าว โดยเธอเสริมว่า นักข่าวทุกคนโดยเฉพาะนักข่าวภาคสนามต่างมาทำงานด้วยจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมและพร้อมทำหน้าที่เคียงข้างประชาชน แต่การตัดสินใจที่จะนำเสนอข่าวหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตัวนักข่าว แต่ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของระบบกองบรรณาธิการซึ่งต้องตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขของแต่ละองค์กร 

“อย่างแยมเองก็อยู่ภายใต้ของกองบรรณาธิการของช่อง 3 แต่บังเอิญว่าแยมไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เราอยู่รายการข่าว 3 มิติ ของคุณ กิตติ สิงหาปัด เลยทำให้เรามีอิสระมากกว่าคนอื่น เราสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆภายใต้การตัดสินใจของเราและคุณกิตติ แต่เราก็ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างของช่อง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าช่องจะมีเงื่อนไขอย่างไรในอนาคต แต่ ณ เวลานี้เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด” 

คำบอกเล่าของเธอไม่ต่างจากความคิดเห็นของ เจ (นามสมมติ) นักข่าวจากสื่อกระแสหลัก ที่มองว่า ทุกสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือกระแสรองต่างมีกรอบเกณฑ์ในการทำงานด้วยกันทั้งสิ้น แต่กรอบการทำงานของสื่อออนไลน์อาจจะมีเงื่อนไขน้อยกว่าซึ่งทำให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างเสรีมากกว่า

เขายกตัวอย่างกรณีการทำข่าวในพื้นที่ชุมนุม ในขณะที่สื่อออนไลน์สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างเรียลไทม์ผ่านการอัพรูปภาพ เขียนแคปชั่น หรือการไลฟ์บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ กลับกันถ้าเป็นสื่อกระแสหลักต้องผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองและวิเคราะห์อย่างละเอียด กว่าที่จะสามารถเผยแพร่ข่าวได้

“ด้วยความที่เราเป็นสื่อกระแสหลัก ถ้าเรานำเสนอเรื่องที่มันละเอียดอ่อน หรือเรื่องนั้นมันไปพาดพิงถึงบุคคลอื่น สิ่งนั้นมันอาจจะย้อนกลับเข้ามาสู่ตัวเรา เช่น การโดนโจมตีต่อว่า หรือบางทีพอเราจะนำเสนออะไรสักอย่าง ฝั่งรัฐบาลก็โทรมาขอความร่วมมือ ซึ่งเราก็ต้องให้ความร่วมมือ ฟังไปแล้วอาจจะมีความรู้สึกว่า เราไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอหรือเปล่า หลายครั้งมันมีความรู้สึกแบบนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของช่อง เชื่อว่าสื่อหลักส่วนใหญ่นำเสนอตามข้อจำกัดของมัน ไม่ใช่ว่าไม่เสนอเลย เรานำเสนอนะ แต่มันมีกรอบว่าจะนำเสนอได้มากน้อยแค่ไหน”

นอกจากเรื่องโครงสร้างองค์กรที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางการทำงานของสื่อ อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ว่าจะเป็นสื่อไซส์ไหน หรือ แพลตฟอร์มไหนก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้ คือเรื่องของแหล่งทุน แน่นอนว่าการรายงานข่าวในประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในสังคมย่อมส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์กับแหล่งทุน ไม่ว่าจากทางภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน ซึ่งนั่นหมายรวมถึง ผลกระทบต่อรายได้ที่ส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ 

“จริงๆ แล้วเราว่าเรื่องนี้มันก็คือปัญหาคลาสสิกระหว่างการทำหน้าที่ของนักข่าวกับความอยู่รอดของสำนักข่าวนั่นแหละ” 

นักข่าวจากสื่อช่อง commercial ขยายความในประเด็นนี้ให้ฟังว่า ทุกวันนี้ธุรกิจสื่อกระแสหลักเรียกได้ว่าหายใจหายคอกันลำบากเต็มที หลายองค์กรมีการปรับขนาดองค์กรให้เล็กลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้เธอยังเสริมอีกว่า ปัจจุบันนักข่าวหนึ่งคนต้องรับผิดชอบหลายหน้างานมากขึ้น อย่างเธอเองในขณะที่วิ่งทำข่าวม็อบก็ต้องทำข่าวประเด็นอื่นควบคู่กัน เมื่อทรัพยากรมีน้อย หัวข้อที่ทำได้เลยถูกจำกัดไปโดยปริยาย เธอมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลายข่าวไม่ปรากฏอยู่ในรายการ ส่วนทางด้านเวลาในการออกอากาศ เธอยอมรับว่าปัจจุบันเวลาสำหรับโฆษณาได้เข้ามากินเวลาสำหรับพื้นที่ข่าว เนื่องจากนี่ถือเป็นช่องทางในการหารายได้ให้กับช่อง 

“เรื่องเงินมันส่งผลต่อการอยู่รอดของสื่อจริงๆ ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็เป็นปัญหาไม่จบไม่สิ้น เรามองว่าสุดท้ายแล้วจำเป็นต้องมาหาโมเดลที่ทำให้สื่อสามารถทำหน้าที่สื่อได้อย่างสมบูรณ์และในขณะเดียวกันก็อยู่รอดได้ด้วย ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่สื่อที่ต้องตอบคำถามนี้ แต่เป็นเรื่องที่สังคมและสถาบันอื่นๆ ต้องมาร่วมหาคำตอบนี้ไปด้วยกัน”

ความเชื่อใจจากประชาชน และการกำหนดมาตรฐานสื่อ : ความท้าทายที่สื่อออนไลน์กำลังเผชิญ 

ในขณะที่ไมค์ของสื่อกระแสหลักยังไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก แต่ไม้เซลฟี่และสมาร์ทโฟนของเหล่าสื่อออนไลน์กลับเป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตาตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการชุมนุมของเยาวชน การไลฟ์รายงานสถานการณ์สดและทวิตรายงานข่าวแบบนาทีต่อนาทีกลายมาเป็นจุดแข็งสำคัญของสำนักข่าวออนไลน์ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาขาขึ้นจนมีหลายคนพูดว่า สื่อออนไลน์ได้กลายมาเป็นความหวังใหม่ของประชาชน แต่อย่างไรเสียสื่อออนไลน์ก็ยังมีอีกหลายความท้าทายที่ต้องเผชิญ หนึ่งในนั้นคือ การได้รับความเชื่อใจจากประชาชน 

“ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างการปราศรัยของทนายอานนท์ แม้เขาจะเข้าถึงข้อมูลนี้ผ่านทางสื่อกระแสหลักไม่ได้ แต่มันก็มีข้อมูลมากมายอยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระดับความไว้วางใจของฐานคนดูต่อข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตอาจจะยังไม่เท่ากับที่เขามีต่อสื่อกระแสหลัก เพราะหลายคนโตมากับยุคที่ดูสื่อทีวี มันมีระดับความเชื่อใจอยู่ระดับหนึ่งเลยที่ไม่เท่าสื่อออนไลน์” 

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา นักข่าวจากเว็บไซต์ประชาไท เล่าให้ฟังถึงโจทย์ใหญ่ที่สื่อออนไลน์หลายสำนักกำลังประสบพบเจออย่างการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเว็บไซต์ประชาไทจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่คนที่ติดตามประเด็นนี้แต่ก็ยังเจอกับข้อสงสัยนี้อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้เขายังพูดถึงอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายอย่าง การกำหนดมาตรฐานของสื่อออนไลน์ 

เยี่ยมยุทธ เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ณ ศาลอาญารัชดา ที่ได้มีการประกาศข้อบังคับออกมาว่า อนุญาตให้เฉพาะสื่อมวลชนที่มี ‘บัตรสื่อ’ ซึ่งออกโดย ‘กรมประชาสัมพันธ์’ เท่านั้นที่สามารถเข้าไปทำข่าวในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ แน่นอนว่าสื่อออนไลน์หลายเว็บไซต์ไม่ได้มีบัตรชนิดนี้ เนื่องจากยังมีเงื่อนไขหลายประการที่คลุมเครือทำให้สื่อออนไลน์หลายสำนักไม่สามารถของทำบัตรสื่อมวลชนกับกรมประชาสัมพันธ์ได้ เว็บไซต์ประชาไทเองก็เช่นกัน 

“ต้องบอกก่อนว่า สื่อออนไลน์ถ้าไม่มีสังกัดชัดเจนเหมือนสื่อกระแสหลักที่ออกมาเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ การจะขอบัตรจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับเรามองว่าการเริ่มใช้ข้ออ้างในลักษณะนี้เพื่อไม่ให้สื่อออนไลน์เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ถือเป็นภัยคุกคามสำหรับการทำงานของสื่อ อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าสื่อกระแสหลักรายงานอะไรได้น้อยกว่าสื่อออนไลน์อยู่แล้ว การทำอย่างนี้จะทำให้การเซนเซอร์สูงขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นในนั้นจะถูกกรองมาอีกทีนึง ซึ่งเรามองว่าข้อเสียมันจะไปตกไปอยู่ที่ผู้ชมที่ไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลได้อย่างรอบด้าน” 

ความเชื่อใจจากประชาชนและหลายข้อจำกัดที่สื่อออนไลน์ต้องเผชิญยิ่งผลักให้เสียงแห่งการเรียกร้องให้สื่อกระแสหลักกลับมาทำหน้าที่ส่งเสียงออกมาดังขึ้น นี่ยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเกิดความขัดข้อง สื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่สามารถทำการไลฟ์สดหรือแม้แต่รายงานข่าวสารผ่านทางโซเซียลมีเดียได้ การทำงานที่หยุดชะงักของสื่อออนไลน์ ส่งผลให้สื่อกระแสหลักยิ่งถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง 

แต่ในเมื่อสื่อกระแสหลักยังติดอยู่กับเงื่อนไขข้างต้น แล้วอย่างนั้นยังมีตัวละครสื่อมวลชนประเภทไหนที่จะสามารถกลับมาเป็นกระจกสะท้อนความจริงให้กับประชาชนอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ นักข่าวมากประสบการณ์และพ่วงด้วยตำแหน่งผู้ก่อตั้งและหัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์  The Reporters อย่าง ฐปณีย์ เพิ่มเติมแง่มุมในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ 

“เราคาดหวังที่จะเห็นบทบาทของไทยพีบีเอส เพราะไทยพีบีเอสคือสื่อหลักและเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับเงินจากภาษีของประชาชน เราคิดว่าไทยพีบีเอสควรแสดงบทบาทในการเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งมันอาจจะอยู่ในบทบาทสื่อสันติภาพอย่างที่เราเองก็กำลังเรียกร้องก็ได้ เพราะอย่างเราเองทำ The Reporters มีแค่มือถือเครื่องเดียวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต เมื่อไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเราก็รายงานไม่ได้ หรือ อย่างทำรายการข่าว 3 มิติ เราก็มีเวลาแค่ 5 นาที เรามีทรัพยากรไม่พอซึ่งสื่อสาธารณะต่างออกไป ด้วยความเคารพ เราจึงคาดหวังให้ไทยพีบีเอสแสดงบทบาทนี้”

กลับมาทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ บทบาทสำคัญของสื่อมวลชนไทย 

บทบาทของสื่อมวลชนควรจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ความขัดแย้งที่หลายต่อหลายคนต่างพูดกันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือคำถามที่ทุกคนรวมทั้งคนในวงการข่าวเองกำลังช่วยกันหาคำตอบ Decode ต่อสายตรงหา นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระ อดีตนักข่าวบีบีซีไทย มาร่วมมองทะลุความมืดมิดที่เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชนเพื่อจุดตะเกียงนำทางให้กลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

“พี่คิดว่าคำตอบก็เรียบง่าย คือ สื่อต้องทำหน้าที่แบบมืออาชีพต่อไป”

ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่ปัจจุบันกำลังลุยทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ขยายความให้ฟังต่อว่า สิ่งที่สื่อมวลชนทุกแขนงต้องทำในเวลานี้คือการทำหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งหมายถึงการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่เพิ่มเติมอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นเจตนาที่แหล่งข่าวต้องการนำเสนอ ไม่บิดเบือนสาระให้ต่างไปจากเจตนารมณ์ของผู้ให้ข่าว ให้พื้นที่กับทุกๆ ฝ่าย และแน่นอนว่าสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือ การระวังไม่ให้การสื่อสารของสื่อไปโหมกระพือทำให้เกิดความเกลียดชังเพิ่มขึ้น

“ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมือง ทุกฝ่ายจะจับตาสื่ออยู่แน่นอน ความเป็นสื่อเนี่ยลืมไปได้เลยว่าใครจะมานั่งชื่นชม สิ่งที่สื่อทำจะเสมอตัวเท่านั้น ดังนั้นเวลาที่มีปัญหาขึ้นมา สิ่งที่จะตอบโจทย์ตัวเองได้ก็มีอยู่อย่างเดียว คือ เราต้องถามตัวเองว่าได้ทำหน้าที่สื่ออย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า ไม่ต้องคาดหวังคำชื่นชม แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีเสียงตำหนิ เราก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ว่าเราได้ทำหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว ประเด็นสำคัญคือ สื่อต้องแสดงความเป็นมืออาชีพให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพราะสื่อต้องเป็นส่วนหนึ่งของทางออก” 

นวลน้อย มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไม่ได้ทำให้หน้าที่หรือบทบาทของสื่อแตกต่างจากที่เคยเป็นมา แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้วงการสื่อมวลชนไทยสับสนอลม่านกันยกใหญ่อาจจะมาจากบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป เธอยอมรับว่า คนข่าวในประเทศไทย ไม่เคยเจอกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน สถานการณ์ที่มีข้อเรียกร้องโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

“สิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลโดยทั่วกันคือ การรายงานข่าวเรื่องสถาบันกษัตริย์ มีการถามเยอะมากว่าเราควรจะรายงานเรื่องนี้อย่างไร บางคนอาจจะถามไปมากกว่านั้นว่าเราควรจะรายงานหรือไม่ เราเข้าใจว่าสื่อบ้านเราไม่เคยนำเสนอเรื่องนี้มาก่อน ความเปราะบางและความหวาดกลัวทำให้สื่อจำนวนไม่น้อยยับยั้งตัวเอง ดังนั้นที่ผ่านมาคนไทยจะไม่เคยเห็นสื่อไทยรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องสถาบันไม่ว่าจะในแง่มุมไหน” 

“ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่จะรายงานขึ้นมา มันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก คุณไม่เคยทำ เมื่อจะทำ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ‘แล้วจะรายงานอย่างไร’ แต่ถ้าถามว่าแล้วเราไม่รายงานได้ไหม พี่คิดว่าไม่ได้ เพราะสิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้วและเราเห็นพฤติกรรมนี้ในโลกของโซเชียลมีเดียก่อนหน้าที่จะมีการลงถนนด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุดังนั้นถ้าสื่อไม่ทำอะไรเท่ากับคุณเพิกเฉยต่อสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งเรียกร้อง อย่าลืมว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความเป็นธรรมต่อสังคม ถ้าคุณไม่รายงาน คนที่ออกมาเรียกร้องก็จะเกิดความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีอีกฝ่ายที่รู้สึกว่า หากสื่อรายงานเท่ากับสื่อกำลังมีส่วนในการก้าวล่วงหรือไม่ ประเด็นสำคัญคือสื่อไม่รายงานไม่ได้ ฉะนั้นต้องกลับมาคิดว่าจะรายงานอย่างไร”

พื้นที่กลางทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ

นวลน้อย เสริมในประเด็นนี้ว่า ถึงเวลาที่สื่อต้องกลับมาเป็นพื้นที่กลางและเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น เพราะเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด หน้าที่ของสื่อ ณ เวลานี้คือการจัดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเพื่อบรรเทาความร้อนแรงในสังคม เธอเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดการรับฟังจะช่วยดึงทุกฝ่ายลงมาจากอารมณ์อันเข้มข้นและช่วยให้แต่ละคนมองเห็นจุดยืนของคนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคมเดียวกันต่อประเด็นนี้ว่าเป็นอย่างไร 

“ในความขัดแย้ง แน่นอนที่สุดมันจะมีบางฝ่ายที่รู้สึกว่าเสียงของตัวเองส่งไปไม่ถึงสาธารณะ เขารู้สึกว่าเสียงเขาไม่ได้รับการได้ยิน เขาอยากจะส่งเสียงออกไป เขาต้องการให้มีคนสนใจในสิ่งที่พวกเขาอยากให้เกิดขึ้น  เขาถึงได้ออกมาชุมนุม สิ่งเหล่านี้คือ สารตั้งต้น ซึ่งสื่อมีหน้าที่หยิบยื่น ‘เสียง’ ให้กับเขา เปิดพื้นที่ตรงนั้นให้คนที่ไม่ได้พูดหรืออยากจะพูดได้มีเวทีที่จะแสดงออก แต่แน่นอนว่าท่ามกลางบริบทของความแย้งผู้คนไม่ได้พูดในภาษาที่สวยหรูหรือเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมดซะทีเดียว บางครั้งเราจะพบว่าผู้คนพูดด้วยความโกรธ นี่เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องฟังให้ทะลุเสียงด่าและสกัดเอาเนื้อหาออกมา มองหาต้นเหตุที่แท้จริงว่าคืออะไรและนำเสนอสิ่งนั้นต่อสังคมเพื่อให้สังคมทำความเข้าใจและหาทางออกต่อทุกปัญหาร่วมกัน” 

ฟังดูแล้วหากพื้นที่กลางสามารถเกิดขึ้นได้จริงคงจะดีไม่น้อย แต่ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกในการสร้างพื้นที่กลางให้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทย และต้องยอมรับความจริงว่ามีหลายคนที่เข็ดหลาบกับการลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้เพราะแน่นอนว่าการลุกขึ้นมาเป็นพื้นที่กลางย่อมต้องเจอแรงปะทะจากทุกฝ่าย และอาจจะถึงขั้นมีเสียงทัดทานว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่ในอุดมคติ และต่อให้มีพื้นที่กลางขึ้นมาจริงๆ ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ นักข่าวอาวุโสที่กำลังสนทนากับเราอยู่นี้มีความคิดเห็นในประเด็นอย่างไรคือ สิ่งที่เราสนใจ 

“เรารู้ได้อย่างไร เราไม่มีทางรู้ เพราะเรายังไม่เคยมีโมเดลการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติเลย” 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือเรากวาดทุกอย่างไว้ใต้พรม พอมีปัญหาขึ้นมาทีนึงก็เรียกร้องให้ปิดปาก เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง เลวร้ายกว่านั้นคือเรียกร้องให้ฆ่ากัน ซึ่งมันไม่ใช่วิธีการ เราอยู่กับสิ่งเหล่านั้นมานานมากแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองที่ส่วนกลาง ซึ่งการปราบมันใช้ไม่ได้แล้วกับยุคนี้” 

นวลน้อย มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการถกเถียง ความอดทน และ การมีพื้นที่กลาง เธอเสริมอีกด้วยว่า สื่อไม่ควรคิดว่าจะสามารถปราบความขัดแย้งให้เหี้ยนเตียนได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรเสียความขัดแย้งจะดำรงอยู่ต่อไป เพียงแต่เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องหาทางออกให้ได้ด้วยวิธีการที่สันติ เธอทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อเราทุกคนเข้าสู่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวีธีมากขึ้นเท่าไหร่ เมื่อนั้นเราจะเป็นสังคมที่มัน mature มากขึ้น และในท้ายที่สุดเราก็จะเจอโมเดลในการจัดการและหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่ต่างออกไปจากเดิม

“สังคมต้องหาโมเดลอันนี้ให้ได้ เราต้องช่วยกันหาและต้องไม่ discourage ซึ่งกันและกันว่าเราทำไม่ได้ เรายังไม่ได้ทำเลย ต้องลองก่อน ถามก่อนว่ามีอะไรที่เราต้องเสียไหม ถ้าเราไม่ทำ เราก็ทำร้ายซึ่งกันและกัน ทำไมเราถึงไม่พยายามทำให้ถึงที่สุด เราต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรถึงทำให้บทสนทนามันพุ่งตรงไปสู่เนื้อหาแทนที่จะมาติดอยู่กับท่วงทำนอง แน่นอนว่ามันเป็นโจทย์ยาก แต่เราต้องพยายาม”