18 ปีที่ยังมี ‘เบอร์รีเลือด’ ทางออกจากป่าสน เขาวงกตแห่งการค้าทาสสมัยใหม่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

12 กันยายน 2566 ในเวทีสาธารณะจากรัฐสภาไทยถึงรัฐสภาฟินแลนด์ “เพื่อความยุติธรรมของคนงานตามฤดูกาลชาวไทย” การหารือเพื่อหาทางออกให้กับแรงงานชาวไทยจากภาครัฐ 3 ประเทศ ที่การค้าแรงเพื่อหวังเงินแสนเป็นฉากหน้า แต่วันนี้ยังมีแรงงานนับพันคน มีหนี้หลักหมื่นถึงหลักแสนจากการไปทำงานเก็บเบอร์รีป่าดังกล่าว

จากรัฐสภาไทยถึงฟินแลนด์-สวีเดน กับทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยในขบวนการค้าทาสสมัยใหม่ ช่องโหว่ภายใต้คำว่า โควตา ที่บริษัทนายหน้าและบริษัทแม่ใช้ขูดรีดแรงงาน ในขณะที่ภาครัฐยังไร้ซึ่งทางออกที่รัดกุม จนนำไปสู่ข้อสงสัย หรือเม็ดเงินหลักพันล้านจึงทำให้ขบวนการค้าทาสสมัยใหม่ยังคงอยู่และไร้ซึ่งการลงดาบต่อบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจังจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ

เพราะในความเป็นจริงนี่คือคดีค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในฟินแลนด์-สวีเดน อีกทั้งเป็นปัญหาคารังคาซังกว่า 18 ปีของประเทศไทย และมีทีท่าว่าจะดำเนินต่อไป

การค้าทาสสมัยใหม่ในคราบแรงงานฤดูกาล

ความคาดหวังครั้งใหม่หลังปลายปี 2565 เครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รีป่าร้องเรียนถึงการค้าทาสสมัยใหม่ต่อหน่วยงานภาครัฐและระหว่างประเทศของไทย ฟินแลนด์ สวีเดน อย่างไรก็ตาม ความเป็นธรรมยังไม่เกิดกับพวกเขา อีกทั้งหลายคดีกลับโดนปัดตกจากการสอบสวนของทางภาครัฐไทย

ในปี 2565 คนงานติดหนี้กว่า 350 คน ที่ถูกนำพามาทำงานโดย 13 บริษัทได้ร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจสอบสวนทั้งในฟินแลนด์และสวีเดน และก็พบว่าพวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องให้สอบสวนกรณีค้ามนุษย์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ โดยที่มูลค่าความเสียหายรวมกันกว่าร้อยล้านบาท

แม้ทางสวีเดนจะเป็นระบบลูกจ้าง-นายจ้าง ในขณะที่ฟินแลนด์เป็นเพียงการนำพาแรงงานมาเก็บเบอร์รีโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว แต่ทั้ง 2 ประเทศยังคงมีช่องโหว่ให้บริษัทนายหน้าหลอกลวงแรงงานผ่านการใช้แรงงานหนัก ต้องหาเบอร์รีให้ได้ตามเกณฑ์ในขณะที่ป่าเบอร์รีในหลายพื้นที่มีผลผลิตน้อย รวมไปถึงการหักค่าใช้จ่ายภายในค่ายที่เมื่อหักลบกับราคาเบอร์รีที่แรงงานเก็บมาได้ ทำให้แรงงานหลายส่วนนอกจากจะไม่ได้เงินแสนกลับบ้านดังคำโฆษณา ยังต้องเป็นหนี้กับทางบริษัทและเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อที่จะมาทำงานที่ต่างแดน

ผลจากการสืบสวนทางอาชญากรรมที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ที่เริ่มขึ้นในปี 2565 กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ประกาศว่า คนไทยที่ต้องการมาเก็บเบอร์รีในปี 2566 จะได้รับการปฏิบัติในฐานะนักท่องเที่ยวเช่นคนปกติทั่วไป และจำเป็นต้องแสดงหลักฐานการเงิน ว่ามีเพียงพอสำหรับการพำนักในฟินแลนด์เป็นเวลา 2 เดือน (ประมาณหนึ่งแสนบาท)

ในขณะที่มีประกาศการระงับวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อเก็บเบอร์รีจากสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 แต่กลับมีภาพของแรงงานในชุดของบริษัทนายหน้าและบริษัทรับซื้อเบอร์รีที่ประเทศต้นทาง จนเกิดเป็นคำถามว่าทำไมถึงยังมีบริษัทนายหน้าสามารถพาแรงงานไปเก็บเบอร์รีได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ได้ให้วีซ่าให้กับคนไทยประมาณ 2,000 คน ที่ถูกหลอกล่อในลักษณะเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา โดยบริษัทเบอร์รีกลุ่มเดิม ใช้นายหน้าจัดหางานคนเดิมเหมือนในอดีต

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงมาตรการการดูคุ้มครองแรงงานว่ารัดกุมมากพอหรือยัง ทำไมจึงยังเกิดช่องโหว่ให้เกิดการค้าทาสสมัยใหม่อยู่

หลอกแล้ว หลอกอยู่ หลอกต่อและยังลอยนวล

ตั้งแต่การร้องเรียนครั้งใหญ่ต่อบริษัท Ber-ex เมื่อปี 2554 มาจนถึงการจับกุมตัวแทนผู้จัดหาคนงานรายใหญ่ชื่อกัลยากร พงษ์พิศ (ปัจจุบันได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว) และ CEO บริษัท Polarica OY นายจุกกา คริสโต ฐานต้องสงสัยค้ามนุษย์ เมื่อปลายปี 2565 แต่ไม่ว่าทางการฝั่งไหนก็ยังไม่มีมาตรการการลงโทษบริษัทในอุตสาหกรรมเบอร์รีอย่างชัดเจน หลายบริษัทยังดำเนินกิจการตามปกติและยังมีผู้ร้องเรียนเข้ามาทุกปี

นับตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบโควตาในปี 2548 เปิดให้บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานไปเก็บเบอร์รีที่ประเทศต้นทาง ระบบโควตานี้เองคือต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านอยู่ในฐานะแรงงานที่คลุมเครือ ไม่ได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ในขณะที่บริษัทนายหน้าเหล่านี้ได้เงินจากทางบริษัทที่ขายเบอร์รีให้และเงินจากการหลอกหลวง สร้างหนี้สินจากค่าใช้จ่ายในประเทศต้นทางต่อแรงงาน

“ทุกคนมักจะมองแต่ว่าเบอร์รีเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง แต่ไม่มีใครพูดถึงมุมมืดของเบอร์รีที่ยังมีแรงงานโดนหลอกเข้ามาในขบวนการค้าทาสสมัยใหม่เลย” ไตรรัตน์ สุขสาร ตัวแทนแรงงานที่อยู่ในประเทศฟินแลนด์ กล่าว

จรรยา ยิ้มประเสริฐ จากองค์กร ACT4DEM เล่าถึงรูปแบบการค้าทาสสมัยใหม่นี้ว่า ในขณะที่การถูกทำให้เป็นแรงงานทาสภายใต้สภาพที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอด จากสภาพการทำงานวันละ 12-20 ชั่วโมงทุกวัน โดยไม่มีวันหยุดตลอด 70 วัน ของฤดูกาลเก็บเบอ์รีป่า คนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย ถูกกดดันให้เก็บเบอร์รีจำนวน 2-4 ตัน เพื่อจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการมาเป็นทาสของพวกเขา – ค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวและเดินทางไปกลับฟินแลนด์รวมทั้งค่าที่พัก อาหาร ค่ารถและอุปกรณ์เก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์

หลังจากนั้นถึงจะเป็นเงินที่เหลือนำกลับประเทศไทย หมายความว่า ความเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บเบอร์รีป่า 2 – 4 ตัน คนงานส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิง ทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงวัย จะต้องใช้พลังงานและทนอยู่กับความตึงเครียดอย่างถึงที่สุด ตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายที่เหลืออยู่ที่ฟินแลนด์ด้วยหวังว่าจะเหลือเงินกลับบ้านบ้าง

ในเวทีนี้แรงงานที่มาเรียกร้องเป็นแรงงานหลายบริษัทในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา หลายคดียังคงค้างและหลายคดีกลับถูกปัดตก

คดีซึ่งเป็นคดีใหญ่ที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รีป่า ซึ่งนำโดย ไพรสันติ จุ้มอังวะ ต่อสู้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2554 และได้ยื่นเรื่องต่อ DSI เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว แรงงานหลายคนที่ร่วมไปด้วยทุกวันนี้เหลือเพียงแต่พาสปอร์ตที่ทิ้งไว้ให้กับไพรสันติและจากโลกนี้ไป แต่หลังจากการยื่นหนังสือและทวงถามถึงความคืบหน้าคดีผ่านทางกรมการจัดหางาน ผลปรากฎว่าคดีกลับยุติการสอบสวนไปนานแล้ว โดยที่นายไพรสันติไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย

“เขาส่งหนังสือกลับมาทางกรมการจัดหางาน แม้ว่าแรงงานในปีนั้นจะโดนหลอกและมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ แต่เขากลับบอกมาว่ายังไม่พบการทุจริต และบริษัทที่หลอกเราก็ยังมีการทำงานเป็นปกติธุระ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยุติการสอบสวน แต่กลับไม่บอกเราเลย ถ้าเรื่องเบอร์รีไม่เป็นที่พูดถึงปีที่แล้ว ทุกวันนี้เราก็ได้แต่รอถึงความคืบหน้า แม้ว่าเขาจะปัดตกไปตั้งนานแล้ว” ไพรสันติ กล่าว

ดอกลิ ชาญชรา แรงงานเก็บเบอร์รี จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงการเตรียมตัวไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์ว่า ต้องใช้เงินหลายแสนบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อทำงานแล้วเสร็จตนแทบไม่เหลือเงินติดตัวกลับมาแผ่นดินเกิด

“เราไปเก็บเบอร์รี ฟินแลนด์ ก่อนไปเราจ่ายไปทั้งหมด 3 คน พ่อ แม่ ลูก เสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวคนละ 150,000 บาท เมื่อกลับมาได้เงินเพียงคนละ 2,000 บาทไทย เท่านั้น แถมลูกเราไม่ได้ไปเพราะติดคดี เคอร์ฟิว ตอนนั้นลูกชายไปหากิน ไปยิงหนู จะขึ้นเครื่องบินแล้วก็ไม่ได้ขึ้น รวมกันก็หมดไป 450,000.- ได้กลับมาแค่ 4,000 บาทไทย แทบจะไม่มีเงินจะกลับบ้าน ตำรวจเขาให้คนละ 500 กลับบ้าน ก็ได้เท่านั้นแหละ”

การผูกมัดให้เป็นหนี้ตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงกลับมา แรงงานหลายคนต้องเสียรถ เสียบ้าน เสียที่ดิน ไปจนถึงเสียครอบครัวจากการไปทำงานเก็บเบอร์รีป่า

สมบูรณ์ นามรูม แรงงานผู้เก็บเบอร์รีในสวีเดน ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนจ่ายเงินค่าเดินทาง 85,000 บาท ไปถึงก็ลำบากมาก เบอร์รีก็มีบ้างไม่มีบ้าง ไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลไม้หรือไม่ สมบูรณ์เป็นกรณีที่เดินทางไปไม่ได้เงินกลับมาสักบาท อีกทั้งภรรยาของเขาตรวจพบมะเร็งเมื่อทำงานเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ปัจจุบันสมบูรณ์ไม่เหลืออะไรและร้องขอให้ทางการทุกฝ่ายให้ความเป็นธรรมกับสิ่งที่เขาต้องเสียไป

“ทางบริษัทไม่ช่วยอะไรเลย เขาบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา เราเอาบ้านเอารถเอาที่ไปประกันหวังว่ากลับมาจะได้เงินก้อนมาที่บ้าน สุดท้ายเสียไปเป็นล้าน ทุกวันนี้ต้องกลับไปอยู่กับน้องสาวเพราะไม่มีที่จะให้ไปแล้ว”

ริมเจ้าพระยาถึงรัฐสภาฟินแลนด์: ทางออกจากป่าสนของคนเก็บเบอร์รี

ข้อเรียกร้องที่จะหยุดขบวนการค้าทาสสมัยใหม่ที่ทุกฝ่ายมองเห็นร่วมกัน ทั้งนักวิจัย รวมถึงพรรคการเมืองทุกประเทศมองเห็นคือการทำสัญญาการจ้างงานที่ให้ความเป็นธรรมกับแรงงาน เพื่อที่จะรับรองแรงงานเหล่านี้ให้มีการคุ้มครองให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นแรงงานหรือนักท่องเที่ยวที่มีบริษัทนายหน้าเป็นคนพาไปเพียงอย่างเดียว

สส. Li Andersson จากพรรคฝ่ายซ้ายประเทศฟินแลนด์กล่าวว่า ตนได้ติดตามคดีการค้ามนุษย์ในคราบแรงงานเบอร์รีมาก่อนที่ตนจะเข้าสู่การทำงานด้านการเมือง สิ่งหนึ่งที่ตนเห็นว่ามีช่องโหว่สำคัญคือระบบนายจ้างไม่ชัดเจน

“หากเราไปดูอุตสาหกรรมสตรอเบอร์รีหรือผลไม้ฟาร์ม ซึ่งมีแรงงานเข้ามาทำงานเหมือนกันแต่ได้รับการคุ้มครองมากกว่า ในขณะที่การเก็บเบอร์รีซึ่งหล่อเลี้ยงภาษีกว่า 30% ในทางเหนือของฟินแลนด์เป็นการเก็บผลไม้ป่ากลับถูกใช้แรงงานฟรีอยู่เสมอ เมื่อพื้นที่ในการเก็บเกี่ยวไม่ใช่ของบริษัทแต่เป็นชายป่า ทำให้พวกเขาสามารถกว้านซื้อในราคาถูกโดยไม่มีต้นทุน”

ในขณะที่จรรยา ย้ำถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของทางการของทุกประเทศและตั้งคำถามถึงมาตรการที่หละหลวมหรือแท้จริงแล้วไม่ยอมรับการมีอยู่ของการค้ามนุษย์ในประเทศ

“เบื้องหลังกระบวนการต่อรองหลังบ้านที่ไม่สิ้นสุดแบบนี้ของฟินแลนด์และสวีเดน มันได้พยายามจัดตั้งสถาบันการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ บริษัทเบอร์รีและพวกตัวแทนของพวกเขา ต่างก็มีความเชี่ยวชาญในการกดดันเจ้าหน้าที่และสถานทูต ให้ช่วยหยุดการประท้วงของคนงานเก็บเบอร์รี่ ปัดตกการประท้วงของ

คนงานว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่ปกติและพวกเครือข่ายบริษัทและสายก็รอบรู้ในการใช้กลวิธีข่มขู่และคุกคามคนงานที่ประท้วง และพวกเขามีประสบการณ์ช่ำชองที่จะจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่ออื่น ถ้าเผชิญปัญหาทางด้านกฎหมาย”

ในเวทีดังกล่าวจากฝั่งรัฐสภาไทย สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า กระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการในสมัยสภานี้ยังไม่แล้วเสร็จ ตนในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการแรงงานต้องการผลักดันปัญหาที่ค้างคา ขอยืนยันว่าตนและพรรคก้าวไกลจะไม่หยุดแก้ไขปัญหานี้ โดยสิ่งสำคัญคือการเดินหน้าแก้ไขสัญญาการจ้างงานแรงงานคนเก็บเบอร์รีให้เกิดความเป็นธรรม

โดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รีมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อดังนี้

1. แรงงาน 400 คน ซึ่งได้ร้องเรียนปัญหาการถูกค้ามนุษย์กับเจ้าพนักงานสอบสวนทั้งในสวีเดนและฟินแลนด์ เมื่อปี 2565 (รวมทั้งคดีปี 2556) ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมในสองประเทศ ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อน และดำเนินการเพิ่มกำลังทรัพยากรให้กับทีมสืบสวน เพื่อเร่งกระบวนการสอบสวน และคืนความยุติธรรมให้โดยเร็ว

2. คนที่ถูกหลอกไปทำงานฟรี ได้เรียกร้องมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2552 ให้มีการหยุดระบบโควตาภายใต้วิถีการจัดการเยี่ยงขบวนการค้ามนุษย์นี้และให้ใช้ระบบข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ค่าใช้จ่ายการนำพาคนงานไปจากประเทศไทย เป็นภาระของบริษัทที่ได้รับโควตา ไม่ใช่มาขูดรีดเอาจากแรงงานไทยปีละ 150,000 บาทต่อราย

3. แรงงานที่ร่วมลงชื่อในจดหมายฉบับนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดน ฟินแลนด์ และประเทศไทยจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานเกษตรกรไทย นับตั้งแต่การเริ่มใช้ระบบโควตาในปี 2548 โดยมีตัวแทนของพวกเราเข้าร่วมอยู่ด้วยในคณะกรรมการ เพื่อหามาตรการเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับแรงงานเกษตรกรไทยที่ถูกหลอกไปเก็บเบอร์รีป่า

4. กลุ่มเรียกร้องความช่วยเหลือเร่งด่วน ในกรณีของคนงาน 400 คน ที่ได้ฟ้องร้องคดีเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเบอร์รีป่าในปี 2565 หลังจากกลับมาประเทศไทย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในการดำรงชีวิต เพราะต้องแบกรับปัญหาหนี้ที่เกิดจากการไปทำงานเก็บเบอร์รีป่า และหลายคนต้องสูญเสียทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้เหล่านั้น กลุ่มจึงขอความช่วยเหลือมา ณ ที่นี้ ว่าในระหว่างที่คดียังอยู่ภายใต้การสอบสวน ขอให้รัฐบาลสวีเดน และฟินแลนด์ มีมาตรการฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเหยื่อของการถูกค้ามนุษย์ระหว่างรอคดีที่เมืองไทย

ฤดูกาลเก็บเบอร์รีป่าใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว พี่น้องแรงงานหลายคนเริ่มกลับบ้านพร้อมความผิดหวังและหนี้สินติดตัว แต่หลังจากนี้คงเป็นฤดูกาลค้นหาข้อเท็จจริงของคดีเบอร์รีเลือด ว่าท้ายที่สุดระบบโควตาที่จัดขึ้นโดยกรมการจัดหางานหรือกระทรวงแรงงานของประเทศไทย มีใครอยู่ในขบวนการนี้บ้าง ทำไมถึงยังยินยอมให้บริษัทเหล่านี้ได้รับโควตาซึ่งได้เม็ดเงินมหาศาลภายใต้การอนุมัติจากหน่วยงานรัฐไทย และการที่ฟินแลนด์ สวีเดน ยังยอมให้เกิดการค้าทาสสมัยใหม่แบบปิดไว้ใต้พรมไม่มิด หรือการยอมรับว่ามีการค้ามนุษย์จริง จะเป็นการกระทบดัชนีชี้วัดความโปร่งใสในประเทศโลกที่ 1

เป็นที่น่าเสียดาย ในขณะที่ไทยและฟินแลนด์เองก็ผ่านการเลือกตั้งมาไม่นานนัก แต่คำตอบจากผู้มีอำนาจสั่งการโดยตรงในวงเสวนานี้ยังไม่ปรากฎ ทำให้หลายคำถามจากพี่น้องแรงงานที่โดนหลอกยังคงค้างคา และความจริงถึงแรงงานเก็บเบอร์รีในปีนี้ยังเป็นการค้าทาสสมัยใหม่เหมือนเช่นทุก ๆ ปีหรือไม่

เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการชิงโชคของแรงงานไทย แต่เป็นขบวนการค้าทาสสมัยใหม่ที่รัฐบาลไทย ฟินแลนด์ สวีเดน และบริษัทเบอร์รีต้องมีคำตอบ กับอุตสาหกรรมเบอร์รีหลายร้อยล้านบาทที่พอ ๆ กับหนี้สินของแรงงานที่ยังคงค้างอยู่จนถึงทุกวันนี้

ทำความเข้าใจคราบเบอร์รีเลือดที่ยังตกค้างกับแรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเพิ่มเติมได้ที่

ชีวิตที่ต้องแลกกับ”เบอร์รีเลือด”
หวานฉ่ำช้ำใน ทางออกจากป่าสนของคนงานเก็บเบอร์รี
‘มันเสียเปรียบเขาม่องนี่’ ปรากฏการณ์ ‘เบอร์รีเลือด’ ในฟินแลนด์(ไม่)ฟินเลย

อ้างอิง

No Thai arrives in Finland for berry picking

Finland: Special Attention Given to Visa Applications for Berry Pickers

Issuing of visas to wild-berry pickers suspended at Finland’s Embassy in Bangkok