ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
มีผู้มาสนทนาเรื่องของจรรยาบรรณสื่อกับผู้เขียนหลายราย ผ่านบทสนทนาหลาย ๆหนทำให้ได้ความรู้สึกคล้ายกับว่า เรื่องของจรรยาบรรณสื่อเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดี แต่จะว่าไปอีกทีเอาเข้าจริง ๆ ก็เหมือนจะไม่รู้ บางทีเราคิดหวังให้คนสื่อสารมีจรรยาบรรณ แต่ก็พบว่าแม้แต่เรื่องที่ว่าใครบ้างถือว่าเป็นสื่อ แม้แต่สื่อกันเองก็ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องนี้
ในยุคดิจิทัลใคร ๆก็สามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้ทั้งสิ้นถ้าต้องการ ผู้รับสารเองก็สามารถติดต่อแหล่งข่าวเองได้โดยตรง “ผู้เล่น” ในวงการข้อมูลมีมากมายจนแทบจะท่วมตลาด ขณะที่การเสพสื่อเปลี่ยนไป แต่ในเมืองไทย รัฐบาลพยายามจำกัดคำว่า ‘สื่อ’ ไว้เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับทางการภายใต้เงื่อนไขแบบที่ทางการกำหนดเท่านั้น ขณะที่คนที่เรียกตัวเองเป็นสื่อรวมทั้งคนที่ผลิตเนื้อหาออกมาให้สังคมเสพมีมากกว่าที่จดทะเบียนไว้กับรัฐบาลหลายเท่า องค์กรต่างประเทศบางแห่งให้นิยามคำว่าสื่อไว้กว้างมาก แม้แต่ วิทิต มันตาภรณ์ ก็บอกว่าคนที่ออกมาสื่อสารกับสังคมต่างก็คือสื่อ นี่เป็นสถานการณ์คอขวดที่จะส่งผลมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงเรื่องของการเรียกร้องในเรื่องจรรยาบรรณ สังคมไม่อาจบล็อกผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ พวกเขาเกิดใหม่ในทุกที่ แต่เมื่อไม่นับพวกเขาเหล่านั้นเข้ามาก็คือการปฏิเสธความเป็นจริงในภาคสนาม คำถามคือในเมื่อการสื่อสารอยู่ในมือคนจำนวนมากกว่าที่เคยเป็น แล้วเรากำลังเรียกร้องจรรยาบรรณในการสื่อสารจากใคร
แต่นอกจากคำถามนี้แล้ว ก็ยังมีคำถามเดิมด้วยว่า หลักจรรยาบรรณเดิม ๆ ที่รู้จักกันนั้น เรายังยึดมั่นกันได้หรือไม่และแค่ไหน
ผู้เขียนอยากจะชวนถกว่า เรื่องจริยธรรมหรือจรรยาบรรณสื่อที่ยึดติดกันมาแต่ดั้งเดิมนั้นตอนนี้มีปัญหาสองอย่างว่ากันแบบหยาบ ๆ
ประการแรก ถ้าเราจะยึดสื่อเดิมที่เรามีอยู่เป็นหลัก ก็มีคำถามว่าสื่อที่มีอยู่เป็นตัวแทนของหลักการเหล่านั้นได้เพียงใด
ผู้เขียนพานพบประสบการณ์หลายอย่างที่ทำให้ได้ข้อสรุปว่า สื่อที่เรียกกันว่าสื่อมืออาชีพในเมืองไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของสื่อมืออาชีพในทางสากลหรือในอุดมการณ์ อย่างน้อยไม่ใช่ทุกราย และไม่ใช่ในบางเรื่องบางมุม
ตัวอย่างชัดที่สุดสำหรับผู้เขียนก็เช่นในภาคใต้ ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผู้เขียนคลุกคลีวงการสื่อใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้พบคนรุ่นใหม่ที่อยากย่างก้าวเข้าสู่วงการสื่อสารเพื่อตอบสนองความต้องการในการทำให้คนในพื้นที่มีเสียงมากกว่าที่เคยเป็นในสังคม หลายคนบอกกับผู้เขียนว่า สื่อมืออาชีพไม่ตอบโจทย์การสื่อสารในเรื่องความขัดแย้ง และบางคนถึงกับประกาศว่า พวกเขาไม่ต้องการจะเป็น “สื่อมืออาชีพ”
เป็นเวลาหลายปีที่คนทำงานภาคใต้เพียรพยายามมองหาสื่อเฉพาะทางเพื่อตอบโจทย์ข่าวความขัดแย้ง พวกเขานำเสนอสิ่งที่ถือว่าเป็นวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ หรือการสื่อข่าวสันติภาพ มีผู้ผลิตงานการศึกษา นำเสนองานเขียน มีการจัดอบรม มีการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่พื้นที่ ในภาคใต้มีการสื่อสารพันธุ์ที่เรียกกันว่า การสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางและเข้มข้น แต่พอหันไปดูความเป็นจริงของชีวิตในวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า มีสื่อกี่รายที่ยึดหลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่คนในพื้นที่ปฎิเสธสื่อส่วนกลาง แต่กลับยอมรับสื่อต่างประเทศ ทั้ง ๆที่สื่อต่างประเทศที่ไปทำข่าวในพื้นที่ก็มิได้เป็นสื่อที่ประกาศตัวว่าเป็นสื่อเพื่อสันติภาพแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอัลจาซีรา บีบีซี พีบีเอส และอื่น ๆ ที่เคยลงทำข่าวในพื้นที่มาโดยตลอดรวมไปถึงสื่อของมาเลเซีย ผู้เขียนไม่เคยได้ยินว่าพวกเขาจะต้องค้นคว้าเอาหลักการการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมาใช้เวลาไปทำข่าวความขัดแย้งในพื้นที่นี้
อันที่จริงแล้วผู้เขียนเห็นว่า เพียงแค่เราใช้หลักการของการสื่อสารแบบมืออาชีพอย่างจริงจัง มันก็จะตอบโจทย์ได้แล้ว ความเป็นมืออาชีพที่จริงเป็นเรื่องที่เดินคู่มากับเรื่องของจรรยาบรรณอย่างแนบแน่น จนถึงวันนี้ก็ยังเชื่อมั่นว่า หากเรายึดหลักการการทำสื่อแบบมืออาชีพจริงจัง สิ่งนี้น่าจะยังเป็นคำตอบได้อยู่สำหรับการรับมือการทำข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดภาคใต้ รวมไปถึงความขัดแย้งอื่น ๆ ที่เห็นกันอยู่ในที่อื่นใดรวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะไม่ได้ใช้หลักการการสื่อสารสันติภาพ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการไม่ได้ทำงานแบบมืออาชีพมากกว่า
ที่พูดมานี้ยังไม่ได้รวมไปถึงอุปสรรคจากภายนอกสำหรับสื่อเช่นในเรื่องของเสรีภาพในการทำงาน
ในช่วงหนึ่งนานมาแล้วเคยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์สื่อในส่วนกลางเรื่องการใช้คำว่า “โจรใต้“ ว่าสร้างภาพทำให้เกิดการเหมารวมกับคนใต้โดยเฉพาะนัยความเป็นมุสลิมและมุสลิมจากสามจังหวัดภาคใต้ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้คำนี้ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ สื่อส่วนกลางละเว้นการใช้คำนี้กันไปพักใหญ่ แต่แล้วในระยะหลังมันก็หวนคืนสู่พาดหัวของหลายสื่อจนเข้าข่ายลักษณะที่เรียกว่า old habit dies hard เป็นเรื่องพฤติกรรมความเคยชินที่แกะทิ้งได้ยาก ผู้เขียนเองเชื่อว่าสื่อทุกรายรู้ว่ากำลังทำอะไร แต่เชื่อว่าบรรดาเพื่อนพ้องพี่น้องในวงการสื่อต่างให้ความสำคัญกับความฉับไวในการนำเสนอในภาวะที่ต้องแข่งกับเวลาบวกกับการแข่งขันและภายใต้ความรู้สึกว่าสังคมคุ้นชินกับศัพท์แบบนี้แล้วมากกว่า
ความผิดพลาดนั้นเกิดได้เสมอไม่ว่าจะตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะกับการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ผู้เขียนเพียงแค่จะบอกว่า แม้แต่ชุดจริยธรรมเดิมที่จะทำให้สื่อมืออาชีพเป็นสื่อมืออาชีพเราก็ยังมีปัญหาว่ายังไปไม่ถึงในบางจุดหรือหลายจุด ยิ่งเมื่อมาเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองเข้าไปอีก สิ่งที่เราได้เห็นจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมสื่อก็คือการเลือกข้าง อันเป็นเรื่องที่สื่อหลายรายตัดสินใจเมื่อหลายปีที่แล้วว่า นั่นคือหนทางที่พวกเขาจะเดิน ประเด็นก็คือ ในสังคมที่ผู้คนโอบรับเครื่องมือของการเป็นสื่อและก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความเข้าใจไปว่านี่ก็คือสื่อและนี่คือจรรยาบรรณแบบสื่อ “มืออาชีพ” เรื่องแปลกก็คือว่า ผลกระทบด้านหนึ่งคือ สื่อที่เกิดใหม่หลายราย แม้จะหลีกเลี่ยงการละเมิดหรือการใช้เฮทสปีชในบางเรื่อง แต่กลับลอกเลียนแบบในเรื่องของการ “เลือกข้าง”
อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังถือว่า ในด้านหนึ่งสื่อดั้งเดิมที่อยู่กันมายาวนานยังคงต้องเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะสื่อที่นับตัวเองเป็นสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ในฐานะที่ไม่มีแรงกดดันในเรื่องการตลาดหรือเงินทุนในการทำงาน รวมทั้งเมื่อพิจารณาประวัติการก่อตั้งที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองสังคม ไทยพีบีเอสควรจะเป็นเสาหลักในเรื่องการทำหน้าที่สื่อทั้งในเรื่องจรรยาบรรณ ความเป็นมืออาชีพ ไทยพีบีเอสควรจะต้องแม่นยำในเรื่องหลักการการทำงานของสื่อเพื่อตอบคำถามของสังคมได้และเป็นผู้ปกป้องหลักการเหล่านั้น เป็นหัวหอกในการใช้เสรีภาพสื่อเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอันเป็นเจ้าของที่แท้จริงของไทยพีบีเอส
ประการที่สอง ในห้วงเวลาเช่นนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนคุยด้วยว่า หลักการทำงานของสื่อที่ได้สร้างความเข้าใจให้กับสังคมจนกลายเป็นความคาดหวังกันในหลายเรื่องนั้น บางเรื่องบางอย่างกำลังกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกตีความในทางที่ไม่น่าจะเป็น หลักการตัวนี้คือเรื่องที่สื่อจะต้องให้พื้นที่อย่างเป็นธรรมกับคู่ความขัดแย้ง สื่อต้องเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงและให้พื้นที่กับทุกฝ่าย
ปัจจุบันเราจะพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายรายแล้วที่นำเอาหลักการนี้มาอ้างว่าสื่อจะต้องให้พื้นที่กับเจ้าหน้าที่ในการชี้แจงงานของตัวเองเสมอก่อนที่จะนำเสนอเรื่องราวใด ๆ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งานของรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐบาล
ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับข้อที่ว่าสื่อต้องให้พื้นที่กับผู้ถูกกล่าวหาเพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานสื่อ ที่สำคัญไม่ใช่ว่าจะต้องทำกับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นแต่จะต้องทำเช่นนี้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฎิบัติ และอันที่จริงต้องบอกว่า หลักการข้อนี้สื่อไทยนำมาปฏิบัติกันนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ผู้เขียนเข้าสู่วงการการสื่อใหม่ ๆ ฝึกงานและทำงานกับหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะแล้วว่านี่คือสิ่งที่นักข่าวต้องทำ คือต้องให้พื้นที่กับคู่กรณีเสมอ
ประสบการณ์การทำงานหลายปีสอนมาด้วยว่า การให้พื้นที่ที่ว่านี้ไม่ใช่หลักการที่นำมาใช้อย่างกำปั้นทุบดิน ในความเป็นจริงของชีวิตการให้พื้นที่เช่นว่านี้ในทางปฏิบัติมันไม่จำเป็นต้องมาในรายงานข่าวอันเดียวกัน มันไม่จำเป็นต้องนับเป็นคอลัมน์นิ้ว หรือจำนวนนาที แต่ว่ามันต้องทำทันทีที่ทำได้ สิ่งสำคัญของการให้พื้นที่มันอยู่ที่คุณภาพของการใช้พื้นที่นั้นอย่างสมควรและสมเหตุสมผล นอกจากนั้นมันยังมีอาจจะมีรูปแบบต่าง ๆกันไป ในระหว่างการนำเสนอข้อมูลที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหานั้น สื่อยังควรจะทำอะไรต่าง ๆ อีกหลายอย่าง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา เช่นการกลั่นกรองไม่ให้การกล่าวหานั้นกระทำอย่างไร้เหตุผล ไร้ที่มาที่ไป หรือกลายเป็นการตำหนิด้วยวาจาหยาบคายซึ่งไม่ช่วยให้เกิดบทสนทนาที่มีคุณค่าและไม่เป็นการกระทำที่มาจากความสุจริตใจ
ยกตัวอย่างได้เช่นในบทสัมภาษณ์ที่สื่อสัมภาษณ์คู่กรณีฝ่ายเดียว เรามักจะเห็นว่าผู้สัมภาษณ์มักตั้งคำถามทำนองค้านหรือท้วงติงเสมอ ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ที่ผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกราวกับว่าการถูกตั้งคำถามเชิงตรวจสอบคือการที่สื่อไม่ชอบหน้าคนให้สัมภาษณ์หรือพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของพวกเขา อันที่จริงแล้วการได้พื้นที่ออกมาพูดฝ่ายเดียวเป็นอภิสิทธิ์อยู่แล้ว ในขณะที่สื่อต้องตั้งคำถามในฐานะเป็นตัวแทนของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาไปในตัว หรือในรายงานชิ้นใดๆที่สื่อติดต่อคู่กรณีเพื่อให้พื้นที่อธิบายตัวเองไม่ได้สื่อก็จะต้องบอกกับผู้เสพข่าวสาร ในบางกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้สัมภาษณ์ เราจะเห็นว่าสื่อจะนำเอาข้อมูลที่เจ้าตัวเคยกล่าวไว้มารวมไว้ในรายงานของตน หรืออย่างน้อยที่สุดระบุว่าเขายังไม่มีโอกาสได้ให้ข้อมูลในส่วนของตัวเอง คือโดยรวมแล้วมีวิธีการมากมายหลายอย่างที่สื่อต้องทำเพื่อไม่ให้มีการตีขลุมหรือกล่าวหากันจนเกินเลย
แต่ถามว่าเมื่อมีการกล่าวหาอันเป็นเรื่องของการร้องทุกข์จากการทำงานของรัฐหรือบุคคลสาธารณะ สื่อควรรายงานข้อกล่าวหาหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของสื่อที่จะต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมันขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องและผลกระทบของปัญหา
อดีตผู้สื่อข่าววิทยุบีบีซีที่ผู้เขียนเคยร่วมงานในการอบรมสื่อด้วยกันเคยพูดไว้ชัดเจนในที่อบรมหนหนึ่งว่า หากเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิ การกดทับ ปัญหาความเดือดร้อนที่ถึงแก่สุขภาพหรือชีวิต ฯลฯ เรื่องสำคัญเช่นนี้เป็นสิ่งที่สื่อต้องรายงานแม้ว่าจะยังไม่มีคำอธิบายจากฝ่ายที่มีหน้าที่ตอบสนองปัญหานั้น ๆ เลยก็ตาม เพราะเรื่องเหล่านี้สำคัญมีผลต่อการดำรงอยู่และ นั่นคือหลักการของเธอ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง
การตรวจสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่ออธิบายความนั้นจำเป็นต้องมี แต่การผลักดันเพดานเรื่องนี้สูงขึ้นไปจนถึงขั้นว่าหากไม่มีคำอธิบายโดยทันทีจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสื่อจะรายงานเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้ นี่กลายเป็นการตีความหลักการข้อนี้ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับคนที่มีหน้าที่ตอบโจทย์ประชาชนมากเกินไป และผู้เขียนเกรงว่านี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและทำท่าจะกลายเป็นแนวปฏิบัติกันต่อไปในอนาคต มันจะกลายเป็นการตีกรอบควบคุมการทำงานของสื่อโดยผู้มีอำนาจเพื่อตัวของพวกเขาเอง
ผู้เขียนมาจากสำนักคิดเก่าที่เติบโตมากับวิธีคิดที่ว่า ในการเป็นกระดานข่าวให้กับสังคม สื่อต้องเป็นปากกระบอกเสียงให้ทุกฝ่ายรวมไปถึงผู้ด้อยโอกาส ต้องทำหน้าที่ช่วยสังคมค้นพบปัญหาในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมเองและมีบทบาทในการช่วยหาทางออกจากปัญหาด้วย
ในวันเวลาที่ทำงานกับหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ผู้เขียนได้เห็นวันที่ประชาชนที่มีปัญหากับผู้มีอำนาจเดินขึ้นสู่สำนักพิมพ์เพื่อร้องทุกข์กับสื่อเพื่อให้สื่อเป็นที่พึ่ง เพราะการร้องเรียนกับผู้มีอำนาจโดยตรงไม่ได้ผลหรือไม่ก็ได้ผลในทางตรงกันข้ามคือแทนที่จะได้รับความช่วยเหลือกลับถูกกดทับมากยิ่งขึ้น สื่อเป็นที่พึ่งของพวกเขาในเวลาเช่นนั้น นอกจากนั้นองค์กรสื่อต่างประเทศที่ผู้เขียนเคยทำงานด้วยเน้นเรื่องการนำเสียงของคนทุกส่วนในสังคมออกมา เราจะเห็นว่าการทำหน้าที่เช่นนี้ของสื่อมาจากแนวคิดที่ว่า สื่อเป็นเครื่องมือให้สังคมดูแลกันเองและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง สื่อจึงเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพของสังคม สะท้อนภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้บริการสังคม ช่วยชี้พิกัดสิ่งที่ยังตกหล่นให้ผู้มีหน้าที่ได้รับรู้ งานแบบนี้เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการวางแผนสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เรื่องน่าเศร้าก็คือว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจไม่น้อยตีความเรื่องเหล่านี้ผิด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีจนท.รัฐหรือคนทำงานกับองค์กรรัฐจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ประณามสื่อเมื่อตนเองไม่มีพื้นที่หรือโอกาสตอบโต้ข้อร้องเรียนของประชาชนอย่างทันควันในหน้าสื่อ พวกเขาต้องการโปรโมทเรื่องนี้ให้เป็นจรรยาบรรณสื่อ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐพยายามฟ้องร้องสื่อที่รายงานในเชิงวิพากษ์ต่อพวกเขามาแล้ว เมื่อหลายปีที่แล้วมีกรณีนสพ.ภูเก็ตหวานที่ลงข่าวปัญหาการค้ามนุษย์กลุ่มชาวโรฮิงญาพร้อมกับชี้ว่าจนท.บางคนของกองทัพเรืออาจมีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์ดังกล่าว ภูเก็ตหวานนำเนื้อข่าวส่วนใหญ่มาจากข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ กองทัพเรือไม่ได้ดำเนินการใด ๆกับรอยเตอร์ แต่ฟ้องร้องนสพ.ภูเก็ตหวาน ผลของการถูกฟ้องในหนนั้นกระทบกระเทือนเป็นลูกโซ่ไปสู่เรื่องอื่น ๆจนกระทั่งในที่สุดนสพ.ฉบับนี้ซึ่งเป็นนสพ.ภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพแต่เป็นสื่อรายเล็กในภูเก็ตต้องปิดตัวเองไปในที่สุด
หรือกรณีปลากุเลาเค็มจากตากใบกับการรายงานข่าวของไทยพีบีเอส ก็มีผู้ตีความไปขนาดว่าการรายงานข่าวนี้ส่อเจตนาต้องการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
นี่ไม่ใช่เป้าหมายการทำงานของสื่อ
อันที่จริงเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ให้บริการกับประชาชน การรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์เสียงสะท้อนจากประชาชนเป็นหน้าที่อันหนึ่งของพวกเขา ประชาชนควรมีสิทธิที่จะสะท้อนความเห็นหรือแม้กระทั่งติเตียนหากระทำอย่างสมเหตุสมผลมีที่มาที่ไปและโดยสุจริตใจ การ “เสียหน้า” ของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงไม่กี่รายไม่มีผลลดความน่าเชื่อถือหรือสั่นคลอนสถานะของรัฐบาล ตรงกันข้าม รัฐบาลที่สนใจรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น
ในช่วงที่โควิดระบาดครั้งแรก ผู้เขียนยังมีประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรงถูกจนท.สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองบางรายข่มขู่อันเนื่องมาจากการนำเสนอข่าวครอบครัวที่เดือดร้อนเพราะการถูกกักตัว ข้าราชการจำนวนหนึ่งไม่สามารถจะรับได้กับการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ของประชาชนในทำนองเช่นนี้ โดยอ้างว่าการนำเสนอข้อมูลเช่นนี้กระทบขวัญกำลังใจของคนทำงาน นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินข้ออ้างเช่นนี้ เรื่องแปลกก็คือผู้เขียนพบว่า ในช่วงต้นของการทำอาชีพสื่อคือเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตมีความอดทนและยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าในปัจจุบันมากนัก
ผู้เขียนยอมรับว่า ในการรายงานหรือนำเสนอข้อมูลของสื่อ หลายครั้งพบว่ามีการกล่าวหาอย่างดุเดือดรุนแรงและไม่มีที่มาที่ไป เช่น พบสื่อที่ไปรายงานการชุมนุมในลักษณะรายงานสด โดยที่เนื้อหาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อหาของการชุมนุมหรือเป็นการให้ข้อมูลที่มีคุณค่า แต่กลายเป็นการบ่นไปผรุสวาทไป ซึ่งการ “รายงาน” แบบนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองและไม่ได้เพิ่มคุณค่าใด ๆ ให้กับทิศทางการแก้ปัญหานอกจากความสะใจและการระบายความอัดอั้น แต่การทำงานที่ผิดพลาดและบกพร่องควรจะได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการเติมเต็มความเข้าใจและทักษะ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ไม่ใช่ด้วยการพยายามเข้าควบคุมการทำงานของสื่อเพื่อให้อยู่ในกรอบที่ตนเองต้องการ
พูดถึงเรื่องของการ “ทำไลฟ์” หรือการรายงานสด โดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ได้ดีได้ง่าย ๆ ส่วนตัวเองยอมรับว่าไม่มีความถนัดในเรื่องนี้และหากจะต้องรายงานสดก็จะเตรียมตัวอย่างหนักในเชิงเนื้อหาว่าจะต้องให้ข้อมูลอย่างไรบ้าง ปัญหาสำคัญคือการไลฟ์มักจะมีเนื้อหาที่สื่อเองคุมไม่ได้โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นความขัดแย้ง ปัญหาเฉพาะหน้าต้องอาศัยไหวพริบของผู้ที่ควบคุมที่จะจัดการให้ได้อย่างทันท่วงที เช่นหากมีการพาดพิงในทางที่อาจกลายเป็นการหมิ่นประมาท เป็นต้น อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เรานิยมการรายงานสดกันอย่างจริงจังชนิดที่มันได้กลายเป็นคัมภีร์ของการรายงานข่าวและเป็นคำตอบของทุกสถานการณ์ไปโดยปริยาย ทำให้บางครั้งเราพบว่าสื่อละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิของคนอื่นเสียเองและอย่างง่าย ๆ เช่นกรณีการรายงานสดการกราดยิงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือแม้แต่ในการที่ประชาชนจากต่างจังหวัดไปชุมนุมในกรุงเทพฯ ผู้เขียนก็เคยเห็นสื่อแบกกล้องตะลุยเข้าไปในพื้นที่พักผ่อนของกลุ่มผู้ชุมนุมผู้หญิงและเด็กโดยที่ไม่ชัดเจนว่า การนำเสนอภาพเหล่านั้นให้ประโยชน์อะไร
ที่พูดเรื่องไลฟ์หรือรายงานสดนี้เพราะเห็นว่านี่เป็นวิธีทำงานอย่างหนึ่งที่ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้เราไม่ได้ทำกันมากเท่าในปัจจุบัน มันเป็นตัวอย่างของวิถีการทำงานแบบใหม่ที่น่าจะต้องการการตรวจสอบและทบทวน
ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าคิดในเรื่องของสื่อ เราได้เห็นความลักลั่นมากมาย เช่นเห็นสื่อบางรายพยายามจะดูแลผู้ที่อ่อนแอได้รับผลกระทบ แต่อีกด้านเราก็เห็นสื่อที่ล่องลอยตามสายลมผสมผเสไปกับการสร้างเฮทสปีช สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มคนบนพื้นฐานในเรื่องของอัตลักษณ์เช่นความเชื่อหรือชาติพันธุ์ ในด้านหนึ่งเราได้เห็นสังคมได้ประโยชน์จากสื่อทางเลือก หลายเรื่องที่สื่ออย่างพวกเขาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันช่วยรักษาผลประโยชน์ของสังคม แต่เรายังไม่เห็นการคุ้มครองสื่อเหล่านี้ในการทำงาน เราไม่เห็นการขยับอย่างเป็นขบวนเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจอย่างเสมอหน้ากันของผู้ผลิตเนื้อหาในเรื่องของจรรยาบรรณในการสื่อสาร ในขณะที่สื่อมืออาชีพบางรายยังมีปัญหาในเรื่องการไปให้ถึงคุณค่าบางอย่างของตัวเอง
หลายเรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์มันเรียกร้องให้คนในวงการสื่อเองต้องหยิบเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาคิดและถกกันอย่างจริงจัง