เดินหน้าสู่ปีที่ 19 ของความขัดแย้ง - Decode
Reading Time: < 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ในช่วงการประชุมเอเปค มีเหตุการณ์เล็ก ๆ อันหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งในชั้นต้นมีเค้าส่อแววของความยุ่งยาก แต่แล้วเรื่องราวก็ถูกรวบรัดตัดตอนจัดการจบลงภายในเวลาอันรวดเร็ว

กลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาขณะที่ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นที่พักของนักศึกษามลายูมุสลิมจากสามจังหวัดภาคใต้ที่อาศัยอยู่ในซอยรามคำแหง 53/1 ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักศึกษาไปสามคน ยึดโทรศัพท์มือถือและนำตัวพวกเขาไปยัง สน.หัวหมาก ที่ใต้ อดีตนักศึกษารามคำแหงอีกรายเพิ่งกลับไปบ้านก็มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ตามไปเยี่ยมที่บ้านด้วย รายงานของประชาไทระบุว่า ในการควบคุมตัวนักศึกษานั้นเจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลในเรื่องความมั่นคงในช่วงการประชุมเอเปคเป็นหลัก ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นยังมีอดีตนักศึกษาเปอร์มาสอีกรายถูกควบคุมตัวในพื้นที่ด้วย รายงานของสื่อระบุว่าเจ้าหน้าที่เกรงว่าคนเหล่านี้จะไปก่อเหตุในช่วงการประชุมเอเปค

กลุ่มนักศึกษาออกแถลงการณ์ทันควันพวกเขาเปิดเผยข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเดินทางไปยื่นหนังสือให้กับสหประชาชาติก่อนจะเปิดแถลงข่าวหน้าบริเวณตึกสำนักงานยูเอ็น จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวไว้ออกมา และแล้วเรื่องราวการควบคุมตัวนักศึกษา การติดตามตัวก็เงียบหายไปเหมือนกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ไม่มีข้อมูลออกมาว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวพวกเขาไว้ ประเด็นไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่สงสัยคนเหล่านี้ไม่ได้ แต่การมีข้อสงสัยแล้วควบคุมตัวอย่างน้อยต้องชัดเจนว่าเพราะอะไร ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการใช้อำนาจจนเกินเหตุ การกระทำที่ไม่มีเหตุอันควรจะหว่านพืชพันธุ์แห่งความเกลียดชังและไม่ไว้วางใจเพราะรู้สึกว่าถูกเลือกปฎิบัติ

การควบคุมตัวในลักษณะไม่มีข้อกล่าวหาชัดเจนมีแต่เพียงข้อสงสัยและต้องการเอาตัวไปสอบปากคำ สิ่งเหล่านี้มักจะพบกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษโดยเฉพาะกฎอัยการศึกและพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้อำนาจการควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา โดยตามกฎหมายฉบับแรกสามารถทำได้ 7 วัน ฉบับที่สองทำได้อีก 30 วัน แต่กฎหมายพิเศษนี้ในขณะนี้ใช้ในเฉพาะสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น กรุงเทพมหานครหรือพื้นที่อื่น ๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้พื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับนี้ นักกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า การใช้อำนาจที่ออกนอกขอบเขตพื้นที่ของการประกาศใช้กฎหมายพิเศษไม่ได้ปรากฎหนนี้เป็นหนแรก

นักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มพีเอ็นวายเอส (P.N.Y.S) กลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ทำกิจกรรมต่อเนื่องยาวนาน กลุ่มนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นในราวปี 2521-2522 เคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การเคลื่อนไหวที่โดดเด่นคืองานชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่ปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้มีการถอนทหารพราน ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกรวมทั้งให้ยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2550 ซึ่งเป็นการชุมนุมต่อเนื่องนานราวห้าวัน พีเอ็นวายเอสยังมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องปัญหาการที่ประชาชนในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายเรื่องด้วยกัน หลายปีที่ผ่านมานี้ยังมีกลุ่มเปอร์มาสที่เป็นเวทีของนักศึกษาทำกิจกรรมการเมืองก่อนที่พวกเขาจะประกาศยกเลิกกลุ่มไป

ถามว่านักศึกษามลายูมุสลิมอย่างกลุ่มพีเอ็นวายเอสเป็นกลุ่ม “เจ้าปัญหา” เหมือนที่มีคนให้ภาพบางขณะหรือไม่ ความเป็นนักศึกษา ความเป็นคนหนุ่มและความเป็นมลายูกลายเป็นองค์ประกอบที่จัดวางพวกเขาเอาไว้ในสถานะที่จะถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับตาและสงสัยแทบจะโดยอัตโนมัติ เรื่องราวของการถูกเลือกปฏิบัติปรากฎให้เห็นเรื่อยมา ผู้เขียนเองไปทำข่าวในพื้นที่สามจังหวัดใต้หลังเหตุการณ์ปล้นปืน และทำข่าวต่อเนื่องเรื่อยมาทำให้ได้พบเห็นปรากฎการณ์ที่คนหนุ่มในพื้นที่ตกเป็นเป้าหมายของความสงสัยจนในสายตาพวกเขามันกลายเป็นการเลือกปฎิบัติในหลายกรณี ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ชัดเจนอันหนึ่งก็คือกรณีการตรวจตราที่ด่านต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วจังหวัดชายแดนใต้ เป็นที่รู้กันว่า มีแต่มลายูมุสลิมเท่านั้นที่จะถูกเรียกตรวจ และโดยเฉพาะผู้ชาย

ในช่วงเวลาหลายปีนั้นผู้เขียนยังพบว่า มีมิตรสหายรุ่นน้องบางคนที่เคยเป็นนักศึกษาถูกตรวจค้น ควบคุมตัว บางคนเคยนำเรื่องราวถ่ายทอดต่อสาธารณะว่าพวกเขาถูกทำร้ายกลายเป็นประเด็นรณรงค์เรื่องสิทธิกันมาแล้ว

แกนนำกลุ่มพีเอ็นวายเอสกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และเป็นกลุ่มคนที่สะสมความอึดอัดไว้อย่างท่วมท้น ยกตัวอย่างในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นมาใหม่นั้น พวกเขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกควบคุมตัว บ้างระบุว่าถูกทำร้าย เพราะความที่เป็นคนหนุ่ม เป็นมุสลิม และเป็นมาเลย์

ดูเผิน ๆ เรื่องของนักศึกษารามคำแหงกลุ่มนี้ไม่มีอะไรมากนอกไปจากการตกเป็นเป้าความสงสัยของเจ้าหน้าที่ที่พยายามจะรักษาความปลอดภัยในช่วงเอเปค แต่ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและประชากรกลุ่มที่เป็นผู้ชายในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาดังกล่าวทำให้หลายคนอาจจะตีความไปได้ด้วยว่า นี่จะเป็นการอ้างเอเปคเพื่อเข้าควบคุมตัวหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือ โอกาสที่จะถูกดำเนินการที่เหมือนจะในรูปแบบแต่อันที่จริงนอกรูปแบบนั้นยังเกิดขึ้นได้เสมอ

อันว่าการตกเป็นเป้าหมายของความสงสัยนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าหวั่นเกรงอย่างยิ่งสำหรับหลายคน ผู้เขียนจำได้ว่า ในบรรดามิตรสหายในพื้นที่ที่เคยถูกตรวจค้น ติดตามตัวและที่เคยโดน “ทุบ” นั้นมีบางคนถึงกับเสียการเรียนเพราะรู้สึกถูกรบกวนด้านจิตใจจนไม่อาจสานต่อให้จบการศึกษาได้ กว่าที่เขาจะก้าวข้ามความทรงจำนำพาตัวเองกลับไปสู่รูปแบบวิถีปกติได้ชีวิตก็เรียกว่าสะบักสะบอม สิ่งที่สังเกตเห็นได้คือความวิตก หวาดกลัวและความเกลียดชังที่มีต่อเจ้าหน้าที่ ต้องอาศัยคนรอบข้างช่วยค้ำจุนและการได้มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกอย่างเนิ่นนานกับชุมชนโดยรอบ ตลอดจนต้องใช้ความพยายามในการสร้างศักยภาพเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองให้กลับมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หลายคนใช้เวลานานมากและหลายคนยังคงทำไม่ได้ ในหมู่ประชากรเพศชายที่เป็นมลายูและมุสลิมนั้นมีการเล่าขานกันเสมอเรื่องประสบการณ์ในระหว่างการถูกควบคุมตัว นั่นเป็นเหตุผลว่าในช่วงของการถูกควบคุมตัวโดยเฉพาะที่เป็นการควบคุมตัวแบบไม่มีหมาย ไม่มีข้อกล่าวหา ญาติพี่น้องจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

แม้เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนก็ยังได้รับฟังเรื่องราวของคนที่มีประสบการณ์เช่นนี้อยู่ เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าแม้จะผ่านมาหลายปีแต่วันเวลาของเขายังเต็มไปด้วยความทรงจำที่น่าหวาดหวั่น เขาบอกเล่าถึงภาพหลอนที่ย้อนกลับมาหาเรื่อย ๆ มีความฝันซ้ำซากของการถูกคุกคามและทำร้ายและหวาดกลัวจนแทบจะควบคุมตัวเองไม่ได้ในขณะที่อีกด้านก็ต้องพยายามจะทำชีวิตให้ปกติเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวและอาชีพการงาน มีคนที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้จำนวนมากจนเชื่อได้ว่า ในสามจังหวัดภาคใต้มีชุมชนของคนที่มีบาดแผลทางใจขนาดใหญ่ซุกตัวอยู่ท่ามกลางประชากรทั่วไป บาดแผลเช่นนี้ส่งผลต่อเจ้าตัวและสังคมรอบข้างอย่างชนิดที่อาจจะวัดเป็นรูปธรรมกันยาก ความทรงจำอันนี้จะไม่จางหายไป เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์อย่างเช่นเรื่องการล่ามโซ่ตรวนด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นประเด็น

ก่อนหน้านักศึกษากลุ่มพีเอ็นวายเอสก็มีกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ในวันที่ 11 ธ.ค. 2518 นักศึกษากลุ่มสลาตันริเริ่มการชุมนุมใหญ่ในปัตตานีขึ้นที่มัสยิดกลางเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของผู้ถูกเข่นฆ่าในเหตุการณ์สังหารห้าศพที่สะพานกอตอ มีผู้ปาระเบิดเข้าใส่การชุมนุมของพวกเขาทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกสิบกว่าคน การชุมนุมที่เริ่มในเดือน ธ.ค.ปี 2518 จบลงเมื่อ 24 ม.ค. 2519 นับเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่สุดของคนในสามจังหวัดภาคใต้คือ 45 วัน รวมทั้งเป็นการชุมนุมที่ว่ากันว่ามีผู้เข้าร่วมนับแสน ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา กลุ่มสลาตันเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษาในประเทศในเวลานั้นที่ขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตย

แต่การชุมนุมเสร็จสิ้นลงโดยที่ผู้ชุมนุมแทบจะไม่ได้อะไรนอกจากคำสัญญาที่ไม่เห็นผลไม่ว่าในเรื่องการแก้ปัญหาภาพรวมหรือคลี่คลายคดีทั้งกรณีสะพานกอตอและระเบิดที่มัสยิดกลาง ทว่านอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นด้วยก็คือเหตุการณ์หลังสลายการชุมนุม เพราะมีการไล่ล่าติดตามตัวแกนนำสำคัญ ๆ หลายคนถูกฆ่าตาย หลายคนอยู่ไม่ได้ต้องหลบหนี การหลบหนีกระเจิดกระเจิงของแกนนำและผู้คนที่ร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมเมื่อปี 2518 นั้นถ้าจะเทียบไปแล้วก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในกรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และที่คล้ายกันอีกอย่างก็คือการที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกไล่ล่าในที่สุดเดินทางไปสมทบกับกลุ่มขบวนการเอกราชที่ต่อสู้กับรัฐบาลไม่ต่างไปจากที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ หลบหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

การชุมนุมหนนั้นทิ้งผลสะเทือนในการต่อสู้ทางการเมืองไว้สองแนวทางหลัก ในขณะที่แกนนำหลายคนมองเห็นพลังการต่อรองจากการลงสู่ท้องถนน กลุ่มคนที่เป็นตัวอย่างชัดเจนถึงการต่อสู้แบบนี้ก็คือสมาชิกของกลุ่มวาดะห์เช่นอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มุก สุไลมานที่เป็นส่วนหนึ่งของแกนนำการจัดชุมนุมในหนนั้น หรือแม้แต่พีรยศ ราฮิมมูลาที่มีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์งานภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนในกลุ่มนี้เป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาสลาตัน

แต่การต่อสู้ที่จบลงแทบจะสูญเปล่าแถมยังมีศพเพิ่มอีกสิบกว่าศพ เป็นการเปิดเผยให้เห็นท่วงทำนองอันแข็งกร้าวและท่าทีที่ไม่ตอบรับการต่อรองใดของรัฐบาล มันทำให้ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมการชุมนุมผิดหวังอย่างหนัก เมื่อหลายคนเผชิญหน้าการไล่ล่าจนอยู่ไม่ได้ นั่นทำให้คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งหันหลังให้กับแนวทางการต่อสู้แบบสันติ เส้นทางการต่อสู้เช่นนี้มันบอกเราว่าเมื่อหนทางการเคลื่อนไหวในแนวเปิดปิดตัวลง การต่อสู้แบบใต้ดินมักจะเกิดขึ้น เดือน ธ.ค. เป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ดังกล่าวที่ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนไม่น้อยหันหลังให้กับแนวทางทางการเมือง

มีบางคนบอกว่าพีเอ็นวายเอสนำการต่อสู้ของนักศึกษากลับเข้าสู่ระบบ แต่การขับเคลื่อนของพวกเขาเต็มไปด้วยอุปสรรคอันเกิดจากพื้นที่ทางการเมืองตีบตันเสมอมา จากปี 2518 จนถึงวันนี้ วิธีการที่ไม่ถูกกฎหมาย อยู่นอกกฎหมายยังคงถูกนำมาใช้ดังที่เราได้เห็นตัวอย่าง สิบแปดปีมานี้มีคำถามว่าสังคมไทยและระบบที่มีอยู่ปรับตัวเพื่อจะเป็นกลไกที่จะหนุนเสริมรองรับการขับเคลื่อนทางการเมืองสำหรับปัญหาภาคใต้ได้แค่ไหน

จำได้ว่า ต้นปี 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่นราธิวาส ผู้เขียนได้ไปทำข่าวที่ปัตตานี มีโอกาสได้นั่งคุยกับผู้คนจากหลากหลายอาชีพกว่าสิบคนที่นัดแนะกันมาแลกเปลี่ยนสนทนากันว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ ยังจำได้ว่าสถานที่ที่เรานั่งคุยกันในวันนั้นคือที่ร้านโรตีเจ้าดังในปัตตานีคือร้านบังหนูดที่อยู่ตรงวงเวียนหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรานั่งคุยกันตั้งแต่ช่วงบ่ายต้น ๆ ไปจนถึงห้าทุ่มก็ไม่ได้ข้อสรุปอันใดนอกจากว่าแต่ละคนมีแต่ความเชื่อส่วนตัวที่ตีความเหตุการณ์เอาเอง หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์หนนั้นน่าจะเป็นฝีมือของคนมีสีทำกันเอง เหมือนกับเหตุการณ์เผาสถานีรถไฟทุก ๆ ปีที่เกิดขึ้นและถูกตีความว่าเป็นการเรียกหางบ ในจังหวะนั้นน้อยคนนักที่จะคิดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มต่อสู้กับรัฐบาล

สังคมไทยใช้เวลาในช่วงหลายปีแรกไปกับความสับสนและไม่มีใครแน่ใจว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ แม้ว่าบางคนจะคิดว่ารู้ แต่ก็เหมือนจะไม่รู้ นอกจากนั้น หลายปีแรกกลไกคนทำงานภาคประชาสังคมต้องวุ่นวายกับการรับมือผลพวงจากเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ และอีกหลาย ๆ เรื่อง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน แม้แต่ทนายความที่จะทำงานช่วยเหลือประชาชนที่ถูกฟ้องร้องในคดีความมั่นคงก็ยังมีอย่างจำกัด ความไม่ชัดเจนนี้ดำรงอยู่จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 13 ก.พ.2556 เมื่อมะรอโซ จันทรวดีและพวกรวม 16 คนเข้าโจมตีฐานทหารหน่วยนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ นราธิวาส แต่แผนแตกทำให้พวกเขาเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับหลายคนนั่นคือครั้งแรกที่ได้รับรู้ตัวตนของคนกลุ่มที่เรียกว่าบีอาร์เอ็น และอีกหลายคนได้ข้อสรุปว่า การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 ม.ค. 2547 มาจากการบ่มเพาะสะสมกำลังอย่างลับ ๆ หรือแบบใต้ดินมานานก่อนหน้าการปล้นปืน นั่นหมายถึงต้องย้อนมองสาเหตุก่อนหน้านั้น ในขณะที่ข้อสรุปนี้ทำให้ชัดเจนว่า ความขัดแย้งที่เชื่อกันว่าสงบลงก่อนหน้า เป็นแต่เพียงการเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่าน ก่อนหน้าปี 2547 ความขัดแย้งในพื้นที่นี้ปรากฎตัวซ้ำซากมาเนิ่นนาน บางเวลาก็หยุดหายไป บางเวลาก็ปะทุขึ้นมาใหม่เสมือนเปลวไฟที่ได้เชื้ออย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยต้องการแหวกวงล้อมจากวิธีคิดและแนวปฏิบัติเดิม ๆ เพราะชัดเจนว่าที่ทำมานั้นไม่ได้ผล

รัฐบาลไทยบอกว่าการเจรจาสันติสุขเป็นการดำเนินแนวทางทางการเมือง ทำให้สังคมเข้าใจว่าพยายามจะสร้างสันติภาพ แต่ความพยายามนี้เป็นไปแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นเดียวกันกับกรอบความคิดที่ยังติดอยู่กับแนวทางเดิมที่ไม่ช่วยให้ทะลุไปไหนได้ เมื่อถึงเวลาเราจะพบว่าเกิดอาการชนเพดานไม่อาจเดินหน้าต่อได้ ในขณะที่กลไกตัวแทนติดกับอยู่กับกรอบเดิม ๆ สังคมเองก็ติดอยู่กับกระแสของการเหมารวมที่แก้ไม่ตก แม้แต่เรื่องทั่วไปอย่างคำว่า “โจรใต้” ที่เคยหยุดใช้กันไปพักหนึ่งในหมู่สื่อมวลชน ปัจจุบันก็ย้อนกลับมาใหม่และใช้กันจนเกร่อราวว่าสังคมกับไม่เคยมีการถกเถียงกันมาก่อนถึงภาษากับปัญหาความขัดแย้ง ในขณะที่กลุ่มคนพุทธบางกลุ่มไปไกลสุดโต่ง ในประเทศตะวันตกการทำการ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดนำมาซึ่งการประท้วงจากทั่วโลก แต่ในประเทศไทยองค์กรนำต่าง ๆ ต่างนิ่งเงียบเมื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งไลฟ์การกระทำเหยียบย่ำศาสนาอิสลาม

ดูเหมือนว่าสิ่งที่สังคมไทยขาดคือผู้นำทางการเมืองที่มีเจตจำนงค์และมีแนวทางในการแสดงออกที่ชัดเจนในเรื่องนำพาสังคมสู่การแสวงหาหนทางการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกัน และที่จะส่งสัญญานถึงสังคมที่เหลือให้ร่วมกันสร้างบรรยากาศของสันติภาพ และการจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีความสามารถในการสลัดกรอบคิดและความเคยชินเดิม ๆ ได้

4 ม.ค.ที่จะถึงนี้จะครบรอบ 18 ของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่างเข้าสู่ปีที่ 19  ในเมื่อปีหน้านี้จะมีการเลือกตั้ง นี่น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะนำเสนอวิสัยทัศน์ในเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ให้ภาพว่าพวกเขาต้องการฉันทานุมัติจากสังคมไปคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางแบบใดเพื่อจะนำพาประเทศก้าวออกจากวังวนความรุนแรงอันนี้