ชีวิตที่เป็นของเราจนสุดลมหายใจ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

เราเป็นชนชาติที่ไม่พูดคุยกันถึงชีวิต เกิดมาทำไม อะไรคือความหมาย …แล้วเราจะคุยกันเรื่องความตายกันได้อย่างไร ขณะเดียวกันการไม่ครุ่นคิดหรือพูดถึงความตายก็ทำให้เราไม่เข้าใจชีวิตด้วย

เราทุกคนต้องตาย เรารู้ ไม่ช้าก็เร็ว …เราจะตาย นับแต่วันที่เกิดเราต่างก็เดินไปสู่ความตาย ยิ่งเดินทางไกลไปในชีวิตเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าใกล้ความตายเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น และเราก็รู้ด้วยว่าความตายไม่ได้เลือกอายุ แต่เรากลับไม่เคยพูดคุยถึงเรื่องนี้กับคนที่กำลังจะต้องสูญเสียเราและเรากำลังจะต้องสูญเสียเขาไป ว่าเราจะจากกันอย่างไร

จริงอยู่ว่าเราเลือกไม่ได้หรอกว่าความตายจะมาหาเราในใบหน้าใด

เราอาจตายปัจจุบัน ล้มหัวฟาด หยุดหายใจในกลางความฝัน หรือสิ้นสุดในอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ค่านิยมทางสังคมมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี ทั้งที่หากได้คุยและมองเห็นมันจริงจัง …ความตายแบบนี้ก็ออกจะอุดมคติไม่น้อย เราแค่จากไปโดยไม่ทันได้หวาดกลัว เจ็บปวดยาวนาน ทรมาน หรือกังวล กระทั่งเศร้าโศก

แล้วเราก็อาจป่วย …ป่วยมากขนาดติดเตียง และป่วยมากอย่างนั้นยาวนานโดยไม่ฟื้นคืนเป็นปกติอีก เราอาจร่วงหล่น หัวใจวาย เส้นเลือดสมองตีบ หรือแตก แล้วใครสักคน …หมอหรือพยาบาลก็จะดึงเรากลับมาในนาทีสุดท้าย แต่กลับมาสู่อะไร อยู่ต่อในสภาพใด แบบไหน อย่างไร นานแค่ไหน

เราเลือกไม่ได้ว่าจะตายแบบไหน วันไหน ในอายุเท่าไหร่

แต่เราเลือกได้ที่จะบอกครอบครัวว่าเราใช้ช่วงเวลาสุดท้ายอยู่กับพวกเขาที่บ้าน โรงพยาบาล สถานรับดูแลคนชราหรือผู้ป่วยติดเตียง เราสามารถเลือกได้ว่าจะไม่สอดท่อ ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ฉีดยากระตุ้น หรือไม่ใช้เครื่องพยุงชีพ เพื่อที่จะไม่ต้องอยู่อย่างทรมาน เรามีสิทธิ ร่างกายและชีวิตเป็นสิทธิ์ชอบธรรมของเราตาม พรบ.สุขภาพ มาตรา 12 ระบุว่าเราสามารถแจ้งความประสงค์หรือไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณะสุขเพื่อยืดวาระสุดท้ายของเราออกไป และไม่มีใครสามารถละเมิดเสิทธิ์ของมนุษย์และประชากรนี้ได้

แต่เราต้องคุยกันถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนจะถึงวันนั้น …เราต้องคุยกันขณะที่ทุกอย่างยังดี ๆ อยู่ และตั้งแต่ในอายุน้อย ๆ

การแพทย์เป็นธุรกิจราคาแพง หลายคนต้องนอนเป็นผักและทำได้แค่กรอกตานานเป็นปี …หลาย ๆ ปี เพื่อความมั่งคั่งหรูหราใหญ่โตของโรงพยาบาล ขณะที่หมอก็ไม่ได้เรียนหนักมาครึ่งค่อนชีวิตมาเพื่อปล่อยใครล้มตายต่อหน้า เขาถูกสอนมาให้ทำทุกอย่างให้คนรอดแม้ในความเป็นได้น้อยที่สุด และกระทั่งอยู่ต่อไปให้ได้ในความน่าจะอยู่ที่น้อยที่สุด

แต่การยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้มีแก่นสารแค่การดำรงของลมหายใจ มันยังรวมถึงนึกคิดจิตใจภายในร่างของเราด้วย

การมีชีวิตอยู่โดยไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอทุกข์ทรมาน ต่ำเกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ไม่ชวนมอง ยิ่งกว่านั้นมันยังสูบกลืนไม่แค่เวลากับทุนทรัพย์ของครอบครัวและคนที่เรารักแต่เท่านั้น แต่ยังสูบกลืนชีวิตของพวกเขาไปด้วย คนหลายคนกลับมาจากการปรนนิบัติดูแลบุพการีระยะสุดท้ายที่อาจยาวนานได้นับสิบปีในสภาพไม่ต่างจากทหารกลับจากสมรภูมิ

เหือดแห้ง แล้งฝัน ขมขื่นและกระด้าง

ความรักที่เคยมีต่อกันก็สูญหายรายทางภายใต้ความกดดันสารพัด หลายคนต้องถูกกัดกินด้วยความรู้สึกผิดที่อดคิดไม่ได้ …ในระหว่างทาง …ให้คนที่รักนั้นตาย ๆ ไปเสียทีเมื่อไม่มีโอกาสฟื้นคืน นี่เป็นด้านมืดของการแพทย์สมัยใหม่โดยแท้ ไม่นานมานี้ก็เพิ่งได้เห็นข่าวสามีชาวญี่ปุ่นอายุแปดสิบกว่าเข็นภรรยาป่วยติดเตียงที่ดูแลพยาบาลกันมานานถึงสี่สิบปีลงทะเล ความรักและภาคภูมิในความเป็นมนุษย์ต้องจบลงเช่นนั้นเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดและน่าหดหู่มาก หากมีแต่คนที่ต้องอยู่ในชีวิตแบบนั้นเท่านั้นที่จะเข้าใจ ว่าชีวิตที่วันทั้งวันหมดไปกับการดูแลคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเจ็บป่วยจนพร่ำบ่นว่าอยากตาย ๆ ตลอดเวลาเป็นอย่างไร

เราพร้อมแค่ไหนที่จะอยู่ร่วมกันในชีวิตแบบนั้น

เราจำเป็นต้องคุยกัน และบอกคู่ชีวิตกับลูกหลานหรือแม้แต่พ่อแม่ของเราว่าเราต้องการแบบไหน …อยู่ไปจนถึงที่สุด หรือหยุดตรงจุดที่ยังสามารถ เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญ เราต้องบอกเขาก่อนที่จะไม่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถพูดหรือเขียน เพื่อเขาจะได้สามารถช่วยให้เราได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายอย่างที่เราต้องการ หรือกระทั่งจัดการให้ห้วงเวลาสุดท้ายหลังสุดท้ายเป็นไปอย่างที่เราอยากได้ …ว่าเราอยากให้จัดงานศพของเราเรียบง่าย หรือยิ่งใหญ่อลังการปานใด หรือเถ้าธุลีของเราจะถูกนำไปโปรยปรายปลิดปลิวไปในดินแดนไหน

โชคดีที่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสรู้จัก Peaceful Death และ Death Talk ทั้งสองกลุ่มเป็นอาสาสมัครที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างพื้นให้มีการพูดคุยถึงความตายได้อย่างกว้าง เปิดเผยและลึกซึ้งในสังคม ที่น่าทึ่งคือแทนที่คนเหล่านี้จะเป็นคนวัยกลางคนหรือคนชราที่ดูจะใกล้ความตายมากกว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มที่ได้พบล้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่มสาวอายุน้อย ๆ ทั้งสิ้น

Peaceful Death นอกจากมีเพจ https://www.facebook.com/peacefuldeath2011/?mibextid=ZbWKwL กับรายการเสวนาพูดคุย ยังจัดพิมพ์หนังสือน่ารักน่าสนใจหลายเล่มที่ช่วยให้เรามองเห็นความตายใกล้ชิดและอย่างเป็นมิตร ที่น่าสนใจที่สุดคือ ’สมุดเบาใจ’ สมุดเล่มบางที่เต็มไปด้วยคำถามที่ช่วยให้เราได้ตริตรองว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องคำนึงถึง เจตจำนงค์ของเราต่อช่วงเวลาสุดท้ายของเรามีอะไร …ต้องการรับการรักษาพยาบาลแบบไหน อย่างไร จะบริจาคร่างและอวัยวะไหนมั้ย จะจัดงานศพอย่างไร อะไรที่เราไม่เคยพูดคุย …และแน่นอนไม่เคยได้ครุ่นคิดถึง

ส่วน Death Talk นอกจากทำเพจ https://www.facebook.com/DeathTalkative/?mibextid=ZbWKwL เสวนาและเวิร์กชอบ แบบอินเตอร์แอคทีฟ แอคทิวิตี้ ที่ช่วยให้คนมีโอกาสใกล้ชิดกับได้พูดคุยกันถึงความตายประหนึ่งเรื่องธรรมดา ยังมีการจัดเทศกาลหลายครั้ง ทั้ง Death Tour ที่พาทัวร์ดูความตาย และ Death Fes(tival) ที่เพิ่งจัดไปตอนฮัลโลวีนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชิญคนน่าสนใจหลายคนมาคุยถึงความตายในทัศนะ และกิจกรรมสนุก ๆ ที่ไม่เพียงแต่เชื้อเชิญผู้มาร่วมงานให้ได้พินิจทำความรู้จักความตายอย่างละเอียดอ่อนและนุ่มนวล ยังช่วยให้เราได้สำรวจภายในตัวตนของเราหรือการมีชีวิตอยู่ของเราด้วย

เราจำเป็นต้องช่วยกันทำให้พูดคุยกันถึงความตายเป็นเรื่องธรรมดามากกว่านี้ ความตายเป็นสิ่งสามัญและมีความสำคัญเท่า ๆ กับชีวิต เราต้องยืนยันชีวิตที่เป็นของเรา และยืนยันให้ชีวิตนี้ยังคงเป็นของเราจนสุดลมหายใจอย่างที่เราอยากใช้ …อย่างอ่อนโยน งดงาม และมีศักดิ์ศรี เหมือนชีวิตที่เราใช้มาอย่างดี

…ก่อนหน้าที่ความตายจะปรากฏตัวให้เห็นเลือนราง