ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ ที่เคยเขียนวิเคราะห์ฉากทัศน์ทางการเมืองไทยกรณีปมเงื่อนอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น 4 ทางด้วยกัน (อ่านเพิ่มเติม 4 ฉากทัศน์การเมืองไทยกับอนาคตที่ไร้ความแน่นอน) ตอนนี้เมื่อมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติ 6 ต่อ 3 ให้ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ จนถึงปี 2568 ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวถือว่าไม่ได้ผิดจากการคาดการณ์ของนักวิชาการและประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวทำให้การเมืองไทยเดินมาถึงทางแพร่งและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
บทความนี้จึงจะขอวิเคราะห์ต่อเนื่องจากคราวก่อน จาก 4 ฉากทัศน์ ตอนนี้ก็เหลือเพียง 2 ฉากทัศน์ คือ หนึ่ง อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารตัดสินใจเดินหน้าต่อทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง กับสอง คือ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองของตนเอง วางมือทางการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
ทั้งสองทางนี้มีโอกาสความเป็นไปได้มากน้อยพอ ๆ กัน โดยการตัดสินใจของอดีตหัวหน้า คสช. จะเป็นไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ประกอบกัน คือ หนึ่ง สัญญาณการสนับสนุนจากชนชั้นนำผู้กุมอำนาจ สอง การสนับสนุนจากพรรคการเมือง และสาม กระแสทางสังคม
สำหรับฉากทัศน์ที่หนึ่ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยืนหยัดที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป และยืนยืนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง อุณหภูมิทางการเมืองย่อมจะร้อนแรงขึ้นเป็นธรรมดา การเมืองทั้งในระบบพรรคการเมืองและนอกระบบพรรคการเมืองย่อมจะมีความตึงเครียด และจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานสูงในทุกย่างก้าว นับจากนี้จนถึงวันหย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้ง และการเสนอตัวเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่สะดวกราบรื่นเหมือนในการเลือกตั้งปี 2562 แรงเสียดทานประการแรกจะเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐเอง ดังที่คล้อยหลังคำตัดสินไม่นานก็มี ส.ส.มากประสบการณ์คนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐออกมาให้สัมภาษณ์ว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงพรรคพลังประชารัฐจะไม่เสนอชื่อนายประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคแค่ชื่อเดียว แต่จะเสนอครบทั้ง 3 ชื่อ ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมมาจากการประเมินกระแสสังคมมาแล้วว่า ความนิยมของประยุทธ์นั้นลดน้อยลงจากแต่ก่อน การเสนอนายพล คสช.แค่ชื่อเดียวย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงกับพรรคพลังประชารัฐเอง รวมทั้งอาจจะกระทบต่อคะแนนเสียงที่พรรคจะได้รับ เพราะหากพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งครบวาระได้ ทำให้ต้องมีจุดสะดุดในการบริหารประเทศผ่านการเปลี่ยนตัวจ๊อกกี้ผู้ขี่ม้ากลางคัน
นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐเองย่อมตระหนักดีว่า หากเสนอชื่อประยุทธ์เป็นแคนดิเดตหลักของพรรค ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่น ๆ อีกหลายพรรค ซึ่งอาจจะมีความสดใหม่มากกว่า มีบาดแผลติดตัวมาน้อยกว่า รวมถึงความนิยมที่มากกว่า และการยืนยันที่จะรักษาอำนาจในเก้าอี้ไว้ต่อไปของประยุทธ์ที่อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง 8 ปีแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มันจะทำให้วาระหลักของการเลือกตั้งครั้งหน้ายังเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่ “เอาประยุทธ์” กับ “ไม่เอาประยุทธ์” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งลำพังการขายภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทหารที่เข้มแข็งและคำขวัญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” คงไม่เพียงพอในภาวะที่คนลำบากเดือดร้อนจากปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ
ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่เสนอชื่อประยุทธ์เป็นแคนดิเดตเพียงคนเดียว แต่เสนอชื่อคนอื่นประกบด้วย ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประวิตร หรือนักการเมืองพลเรือนคนอื่นที่มีภาพลักษณ์ดีในสายตาชนชั้นล่าง ย่อมทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชนในตัวประยุทธ์เอง เพราะมันเป็นการสะท้อนว่าขนาดพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหารยังไม่แน่ใจในตัวหัวหน้าของพวกเขาเอง ครั้นจะตั้งพรรคใหม่หรือวิ่งไปหาพรรคอื่นมาผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ง่ายนัก เพราะย่อมนำมาสู่คำถามในหมู่ประชาชนว่า เพราะเหตุใดพรรคขนาดใหญ่อันดับ 2 และเป็นแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐจึงไม่เสนอชื่อประยุทธ์ จนทำให้เจ้าตัวต้องไปหาพรรคอื่นที่เล็กกว่าหรือเพิ่งตั้งไข่มาสนับสนุน
นอกจากสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ง่ายแล้ว ต้องไม่ลืมว่าพรรคพลังประชารัฐเองก็กำลังอยู่สถานการณ์วิกฤตไม่น้อย อันเนื่องจากความนิยมที่ตกต่ำลงอย่างมากบวกกับความขัดแย้งภายในที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มย่อยหลายกลุ่มทยอยย้ายออกจากพรรค ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้หัวหน้าคณะรัฐประหารล้วนแล้วแต่เป็นพรรคเฉพาะกิจที่มีอายุสั้นทั้งสิ้น ฉะนั้น สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐจึงเปรียบเสมือนภาวะเตี้ยอุ้มค่อม
หากกระแสสังคมที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์แรงขึ้นเมื่อถึงช่วงใกล้เลือกตั้ง ก็จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้พรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐรวมถึงพรรคสำรองอื่น ๆ ต้องใคร่ครวญอย่างหนักว่าจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไปหรือไม่ แต่ที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยชี้ขาดคือ การตัดสินใจของชนชั้นนำว่าจะอุ้มชูและใช้บริการของนายทหารรายนี้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะแม้อดีตหัวหน้า คสช.จะมีจุดอ่อนเรื่องการบริหารประเทศ แต่ถือว่ามีผลงานในการปราบปรามการชุมนุมของเยาวชนที่สั่นสะเทือนสถานะของชนชั้นนำได้ ถ้าชนชั้นนำประเมินว่าไม่มีใครสามารถสยบกระแสเรียกร้องของประชาชนได้ดีเท่าประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะยังได้รับความไว้วางใจให้ไปต่อ และนั่นหมายความว่าเราอาจจะได้เห็นการ “การเลือกตั้งแบบไม่ปรกติ” เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งปี 2562 อีกครั้ง การแทรกแซงของกลไกรัฐ หน่วยงานความมั่นคง องค์อิสระ และวุฒิสมาชิกในการเลือกตั้ง รวมถึงการใช้กำลังบีบบังคับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ขั้วอำนาจเดิมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ในฉากทัศน์นี้ หากธงนำของชนชั้นนำคือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปกครองบ้านเมืองอีกวาระ
ฉากทัศน์ที่สองที่ประยุทธ์ตัดสินใจวางมือทางการเมือง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระแสสังคมกดดันอย่างต่อเนื่อง กว้างขวาง ผนวกคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาด้วยกัน เช่น กลุ่มวิชาชีพ นักธุรกิจ นักวิชาการองค์กรพัฒนาเอกชน แรงงาน นักเรียน นักศึกษา โดยบวกกับวิกฤตทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ภาวะผู้นำของรัฐบาลประยุทธ์ถูกสั่นคลอน ไม่มีใครสามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าวิกฤตแบบใดแบบหนึ่งจะเกิดขึ้น แต่หากในช่วง 6 เดือนที่เหลือนับจากนี้ มีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อตัวนายกฯ และรัฐบาล อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ฉันทามติทางสังคมก่อตัวในการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์วางมือทางการเมือง และฉันทามตินี้จะเป็นปัจจัยให้พรรคการเมืองและชนชั้นนำอาจจะต้องตัดสินใจสละประยุทธ์และหาคนอื่นมารับไม้ต่อแทน
ฉากทัศน์ที่สองนี้ไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการดิ้นรนประคับประคองตัวให้รอดจากภาวะเศรษฐกิจ ความอ่อนล้าจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกดำเนินคดี รวมถึงแนวคิดที่รอการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้ยากที่จะมีการประท้วงบนท้องถนนขนาดใหญ่ในการกดดันให้นายกฯ ลาออกหรือลงจากอำนาจ ความยากอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นในฟากฝั่งชนชั้นนำผู้กุมอำนาจเองที่จะหาคนมารับช่วงการสืบทอดอำนาจต่อแทนประยุทธ์ รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังลงจากอำนาจ ซึ่งคนที่อยู่ในบัลลังก์อำนาจมายาวนานถึง 8 ปีย่อมไม่ยอมลงจากอำนาจไปโดยขาดความสง่างามหรือการรับประกันความปลอดภัย (ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีหรือเล่นงานย้อนหลัง)
หากทิศทางทางการเมืองเคลื่อนตัวไปยังฉากทัศน์นี้ที่ชนชั้นนำจะเปลี่ยนตัว พล.อ.ประยุทธ์ สัญญาณที่เราสามารถดักจับได้คือ จะเริ่มมีรายชื่อของบุคคลที่จะถูกโยนหินถามทางเพื่อหยั่งกระแสสาธารณชน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าฉากทัศน์ใดจะเกิดขึ้น สิ่งที่ชนชั้นนำมิอาจควบคุมได้ทั้งหมดคือ เสียงของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง และคำพิพากษาของประชาชนผ่านบัตรเลือกตั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความปรารถนาของชนชั้นนำเสมอไป