4 ฉากทัศน์การเมืองไทยกับอนาคตที่ไร้ความแน่นอน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเมืองไทยเข้าสู่จังหวะหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง มีมติให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นปมเงื่อนวาระการดำรงตำแหน่งว่าครบ 8 ปีแล้วหรือไม่

การเมืองไทยเข้าสู่ช่วงแห่งความไม่แน่นอนอีกครั้ง และครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤตที่ท้าทายสถานะและอำนาจของอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ มากที่สุดนับจากที่ต้องเผชิญวิกฤตโควิดและกระแสการประท้วงของเยาวชนและประชาชนในช่วงปี 2563-2564

หลังจากนี้การเมืองไทยจะเคลื่อนไปในทิศทางใด ผู้เขียนขอทดลองเสนอ 4 ความเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 1: พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ และสภาโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่จากบัญชีพรรคการเมือง

ความเป็นไปได้แรกนี้คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว โดยนับต่อเนื่องตั้งแต่การเป็นนายกฯ หลังการรัฐประหาร 2557 ดังที่มีนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญหลายท่านได้นำเสนอความเห็นไว้ หากมีการตัดสินเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต้องลงจากตำแหน่งนายกฯ โดยทันที ซึ่งจะทำให้ผลกระทบต่อเนื่องตามมาหลายประการ คือ หนึ่ง ต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องถือว่าปิดฉากทางการเมือง ไม่สามารถหวนกลับมาเป็นผู้นำประเทศได้อีก แต่อาจจะมีหนทางไปต่อในบทบาทอื่น ๆ ที่มีเกียรติและสถานะ ที่ไม่ใช่ผู้นำฝ่ายบริหาร สอง พรรคการเมืองที่อิงอาศัยและคิดจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก็จะไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคการเมืองสำรองอื่นที่เตรียมตั้งขึ้นมารองรับอดีตหัวหน้า คสช.ผู้นี้ ก็จะได้รับผลกระทบมากทีเดียวต่อยุทธศาสตร์การหาเสียง รวมถึงต้องเฟ้นหาตัวผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแข่งขันในสนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สาม รัฐสภาเองก็ต้องเรียกประชุมและเลือกนายกฯ คนใหม่มาแทน แน่นอนว่าอาจจะมีความพยายามประวิงเวลาในขั้นตอนนี้ออกไปเพื่อให้ พล.อ.ประวิตรสามารถรักษาการในตำแหน่งนายกฯ ไปได้เรื่อย ๆ แต่ยิ่งถ่วงเวลาเนิ่นนานเท่าใด ก็ยิ่งขาดความชอบธรรมและอาจถูกประท้วงต่อต้านจากประชาชนได้ สุดท้ายคงต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ตามกระบวนการรัฐสภา

ตามรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐภาต้องเริ่มจากการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ตอนการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งตอนนี้เหลือเพียง 5 รายชื่อที่เป็นไปได้คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ภายใต้ฉากทัศน์ที่หนึ่งนี้คือ รัฐสภา ซึ่งหมายถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงวุฒิสภาแต่งตั้งของคสช. สามารถตกลงกันได้ใน 5 รายชื่อนี้ ซึ่งตอนนี้คนที่มีโอกาสมากที่สุด หากดูจากเสียงในสภาและสมการการเมืองไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เนื่องจากเป็นแคนดิเดตจากซีกรัฐบาลที่มีคะแนนเสียง ส.ส. ในมือมากที่สุด (นับรวมงูเห่า)

แต่ก็ไม่ง่ายที่สภาจะมีเอกฉันทน์ในการเลือกนายกฯ จาก 5 ชื่อนี้ เพราะแม้แต่ในขั้วรัฐบาลก็มีความขัดแย้งและแข่งขันกันเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง การโหวตให้นายอนุทินขึ้นเป็นนายกฯ ย่อมหมายถึงการยกความได้เปรียบไปให้กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรครัฐบาลด้วยกันรวมถึง กลุ่ม สว. ก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่ฉากทัศน์ที่สอง

ฉากทัศน์ที่ 2: พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ และสภาโหวตเลือกนายกฯ คนนอก

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากรัฐสภาไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมาในบัญชี จะเปิดช่องให้มีการเลือก “นายกฯ คนนอก” (คือนอกบัญชีรายชื่อพรรค) ได้ แต่จะต้องใช้เสียงของสองสภารวมกันถึง 2 ใน 3 คือ 500 เสียงจาก 750 เสียง (ส.ส. 500  คนบวกกับ ส.ว. 250 คน) เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ พิเศษนี้ แน่นอนว่าตัวเลข 500 เสียงดูเหมือนจะเยอะ แต่ในความเป็นจริงมิใช่ว่ายากเกินเอื้อม เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเสียงเกินครึ่ง (ตอนนี้สภาล่างเหลือไม่ครบ 500 คน เพราะมีสมาชิกลาออก หมดสมาชิกสภาพ โดนตัดสิทธิ ฯลฯ) ส่วนวุฒิสมาชิกก็เป็นเสียงที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจนั้นกำหนดทิศทางการโหวตได้อยู่แล้ว ไม่ค่อยมีการแตกแถวมากนัก ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีการส่งสัญญาณจากฝ่ายชนชั้นนำหรือไม่ หากชนชั้นนำไม่พอใจกับ 5 แคนดิเดตของพรรคการเมือง และสามารถเฟ้นหาตัวเลือกผู้นำคนใหม่ที่จะมาแทนที่ประยุทธ์ได้ การผลักให้เกิดนายกฯ คนนอกย่อมไม่ใช่เรื่องยาก

หากเป็นฉากทัศน์นี้ คำถามสำคัญคือ นายกฯ คนนอกนั้นคือใคร ซึ่งแน่นอนว่าเริ่มมีการโยนหินถามทางในวงสนทนาการเมืองหลายวง ชื่อหลายชื่อถูกโยนออกมาเพื่อหยั่งกระแส ทั้งทหารและพลเรือน ทั้งเทคโนแครตและนักธุรกิจหญิงและชาย ภายใต้ฉากทัศน์นี้ ประตูก็ไม่ได้ปิดตายเสียทีเดียวสำหรับ พล.อ.ประวิตร ในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่ม 3 ป. ที่มีทรัพยากรและเครือข่ายอุปถัมภ์บริวารกว้างขวาง ประเด็นคือ จะได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นนำให้ขึ้นมากุมอำนาจเพื่อรักษาสถานะและผลประโยชน์ของชนชั้นนำแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยได้รับความไว้วางใจหรือไม่

โจทย์สำคัญของชนชั้นนำผู้กุมอำนาจ หากจะเปลี่ยนตัว พล.อ.ประยุทธ์ ใครคือขุนพลคนใหม่ที่จะสามารถทำหน้าที่ค้ำจุนอำนาจและผลประโยชน์ให้ชนชั้นนำได้อย่างมั่นคงที่สุด ในยุคที่อำนาจนำไม่เหมือนเดิม

ฉากทัศน์ที่ 3: พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ และเดินหน้าสู่การลงเลือกตั้ง

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี โดยคำตัดสินอาจเป็นไปได้ 2 ทางคือ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กับเริ่มนับปี 2562 ที่มีการเลือกตั้ง ในทั้งสองทางหมายความว่าหัวหน้ากลุ่ม 3 ป. ยังมีโอกาสได้ไปต่อทางการเมือง ซึ่งคำตัดสินในแต่ละกรณีนั้นมีนัยทางการเมืองที่ต่างกัน หากเริ่มนับที่ปี 2562 หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 5 ปี น้ำหนักในการชูประยุทธ์ของพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีมากขึ้น แต่หากศาลตัดสินว่าให้เริ่มนับตั้งแต่ปีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็หมายความว่าเหลือเวลาไปต่ออีก 3 ปีเท่านั้น ซึ่งหากพรรคใดจะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นแคนดิเดตคงต้องตอบคำถามประชาชนว่าเหตุใดจึงเสนอคนที่จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งครบวาระมาให้ประชาชนเลือก

ไม่ว่าจะตัดสินในแบบนับจาก 2560 หรือ 2562 ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจว่าต้องการ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป เราจะเห็นบรรยากาศการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะมาถึงในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งปี 2562 คือ มีการระดมทรัพยากรและกลไกรัฐเพื่อสนับสนุนให้อดีตนายพลและกลุ่ม คสช. ได้หวนคืนสู่เวทีอำนาจ การเลือกตั้งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดข้อโต้แย้งในเรื่องความเป็นกลางขององค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้ง ในด้านความบริสุทธิ์ยุติธรรม และการวางตัวของเจ้าหน้าที่รัฐในห้วงยามการแข่งขันเลือกตั้ง

ภายใต้ฉากทัศน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี สิ่งที่ศาลและชนชั้นนำต้องเตรียมรับมือ คือ อารมณ์ของสังคมและการตอบรับจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เป็นไปได้ที่อุณหภูมิทางการเมืองจะพุ่งสูง เพราะประชาชนบางกลุ่มมีคำตัดสินพิพากษาในใจของตนเองไปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว จึงขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป และควรลงจากอำนาจ ฉะนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจจะเดินหน้าเพื่ออยู่ในทำเนียบรัฐบาลต่อไป โดยอ้างคำตัดสินของศาลรัฐธรรมรองรับ

เราอาจได้เห็นการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน และความตึงเครียดทางการเมือง เพราะความชอบธรรมทางการเมืองกับคำตัดสินทางกฎหมายเป็นสองสิ่งที่ไม่ได้บรรจบกันเสมอไป

ฉากทัศน์ที่ 4: พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ แต่ตัดสินใจวางมือทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

กรณีนี้คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี แต่เจ้าตัวตัดสินใจลงจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยตนเอง เนื่องจากอาจจะประเมินแล้วว่าไม่สามารถฝืนกระแสสังคมได้ หรือหากลงเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมจะชนะเลือกตั้งถล่มทลายมีไม่มากนัก ฉะนั้นก็คงยากที่จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้ผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกที่จะหาทางลงจากหลังเสือโดยยังพอกำหนดจังหวะและรูปแบบด้วยตนเองได้ อาจจะเป็นทางเลือกที่เลวร้ายน้อยที่สุด ดีกว่าโดนประท้วงขับไล่แบบจอมพลถนอม กิตติขจร หรือสุจินดา คราประยูร หรืออดีตผู้นำศรีลังกา ทั้งนี้ อาจประกาศวางมือโดยเลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น ขอทำหน้าที่จัดการประชุมเอเปคให้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ยุติบทบาทของตนเอง เปิดทางให้มีการสรรหานายกฯ คนใหม่ในสภาต่อไป

หลายคนอาจจะบอกว่าฉากทัศน์สุดท้ายที่ 4 นี้มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่ผู้เขียนคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ชนชั้นนำและพล.อ. น่าจะตระหนักดีถึงกระแสความนิยมในตัวที่ลดน้อยถอยลง กระแสต่อต้านจากประชาชนหลายกลุ่มที่แผ่ขยายในวงกว้าง กระแสของสาธารณชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังจาก 8 ปีภายใต้ผู้นำคนเดียว ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดแล้วคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หากชนชั้นนำอ่านสถานการณ์และอารมณ์ของสังคม ก็น่าจะพอเห็นว่าหนทางสืบทอดอำนาจต่อไปนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม

สุดท้าย หลายคนอาจจะมีคำถามว่าผู้เขียนไม่พิจารณาอีก 2 ความเป็นไปได้หรือ นั่นคือ 1. การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ ถึงขั้นที่อาจจะไม่มีการเลือกตั้งในปีหน้า และ 2. การรัฐประหาร เหตุที่ผู้เขียนไม่พิจารณาถึงฉากทัศน์รัฐประหารและการเลื่อนเลือกตั้ง เพราะยังเชื่อว่าชนชั้นนำไทยมีสติและความสามารถเพียงพอที่จะประเมินสถานการณ์ทางการเมืองออกว่า 2 ฉากทัศน์นั้นจะนำพาสังคมไทยร่วงลงสู่หุบเหวและวิกฤตรุนแรงชนิดที่ยากจะฟื้นคืน

แต่ถ้าผู้เขียนประเมินสติปัญญาของชนชั้นนำไทยผิดไป อนาคตของสังคมไทยก็น่าเป็นห่วงเหลือกำลัง


Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565