ผูกประวัติศาสตร์ไว้กับความมั่นคง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ขณะนี้มีนักกิจกรรมสองคนในสามจังหวัดภาคใต้กำลังโดนมาตรการปิดปาก การปิดปากที่ว่านี้ทำผ่านการห้ามผู้จัดงานต่าง ๆ เชิญพวกเขาไปร่วมวงเสวนา ไม่มีใครเห็นคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการแต่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนอ้างว่ามีคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงให้ดำเนินการ เป็นที่รู้กันว่าใครก็ตามที่จัดงานและเชิญพวกเขาไปร่วมก็จะมี จนท.ไปเยี่ยมเพื่อจะห้ามปรามหรือยื่นข้อต่อรองไม่ให้จัด เหตุผลสำคัญของ จนท.ที่ห้ามคือ ข้ออ้างว่านักกิจกรรมสองคนนี้ยั่วยุปลุกปั่น สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้มีความหวาดวิตกกันว่า สิ่งที่จะตามมาเพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีความชอบธรรมคืออาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ได้

สิ่งที่น่าสนใจก็คือหนึ่งในผู้ที่ถูกมาตรการปิดปากนี้เป็นคนที่พูดเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่เป็นประจำ

การพูดถึงประวัติศาสตร์พื้นที่ของคนในสามจังหวัดมักไม่ยึดกรอบประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทย และนั่นมักจะทำให้ถูกตัดสินทันทีว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงเพราะความกลัวว่ามันจะทำให้เกิดความแตกแยกนำไปสู่ความคิดขัดแย้งและไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐหรือกลายเป็นผู้สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงไป

อันที่จริงในระยะหลังมานี้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปหันมาให้ความสนใจกันมาก เราได้เห็นการรื้อฟื้นและค้นคว้าเพิ่มเติมในหลายเรื่อง และเรื่องราวหลายประการก็เป็นเรื่องของการต่อต้านส่วนกลาง แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคุยกันได้ง่าย ๆ ต้องมีการดำเนินการอย่างอ้อมค้อมและออกตัวกันสารพัดเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าปลุกปั่นยั่วยุเพราะว่ามันสวนทางกับประวัติศาสตร์ของส่วนกลางหรือที่บางคนเรียกมันว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักกลายเป็นภัยความมั่นคงดังกล่าว

หลายคนอาจจะบอกว่าเรื่องราวในอดีตแก้ไขไม่ได้ เรื่องราวเหล่านั้นพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครทำอะไรกันแน่ และการหยิบเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดรังแต่จะตอกย้ำแผลเก่าสร้างความเจ็บปวดและแตกแยก ทว่าถ้าเราดูสังคมอื่นจะพบว่ามีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่ามีวิธีการที่จะจัดการกับความทรงจำของความขัดแย้งที่ดีกว่าการกดทับ และการมีที่ทางอย่างเหมาะสมท้ายที่สุดสามารถนำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันรวมทั้งทำให้เกิดการปรองดองได้มากกว่า เราจะเห็นชาวสก็อตเล่าเรื่องราวของวีรบุรุษของพวกเขาที่ต่อสู้กับอังกฤษได้อย่างเต็มที่ บางเรื่องยังมีผู้เอามาสร้างเป็นหนังเช่นเรื่องของวิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) ที่กลายเป็นหนังใหญ่เรื่อง Braveheart เรื่องราวของโฮโลคอสต์ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ให้ระลึกถึงในเยอรมัน ในการสร้างสันติภาพที่มินดาเนา ฟิลิปปินส์ สิ่งแรกที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายทำก็คือการยอมรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฉบับของมุสลิมโมโรโดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมให้มีการนำเอาที่ดินของคนท้องถิ่นในมินดาเนาไปแจกจ่ายให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานหน้าใหม่ชาวคริสต์ในสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมคือสหรัฐฯ การยอมรับข้อเท็จจริงเปิดพื้นที่ให้กับความทรงจำของความขัดแย้งเช่นนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ใหม่ที่ทำให้พวกเขาปรองดองกันได้และมีผลทางบวกต่อการสร้างสันติภาพ

ประวัติศาสตร์ฉบับท้องที่ของสามจังหวัดภาคใต้นั้น มักได้รับการตอบโต้จากผู้ที่ยึดประวัติศาสตร์กระแสหลักเสมอมาว่าไม่เป็นเรื่องจริง ประเด็นใหญ่ที่มีเนื้อหาตอบโต้กันก็คือเรื่องที่ว่าดินแดนแห่งนี้เคยเป็นเอกราชจริงหรือ ความขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นฐานคิดที่ปูพื้นให้กับคำถามของคนในพื้นที่ว่าการ “ผนวก” ดินแดนสามจังหวัดใต้เข้ากับสยามนั้นชอบธรรมหรือไม่ ขณะที่บทเรียนประวัติศาสตร์ไทยบอกเราว่าดินแดนนี้เป็นของสยามอยู่แล้ว การรวมอำนาจการบริหารเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นเพียงการปรับระบบการปกครอง แนวคิดนี้อ้างเรื่องการที่เมืองต่าง ๆ ต่างส่งบรรณาการให้สยามเรื่อยมา แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเสนอว่า การส่งบรรณาการนั้นอันที่จริงมีนัยเป็นเพียงการขอพึ่งบารมีเพราะความที่มีขนาดย่อมทำให้อาณาจักรหรือเมืองไม่ว่าที่ใดในภูมิภาคนี้ต่างจับตัวกันเป็นเครือข่ายและแสวงหา “พี่ใหญ่” ที่จะพึ่งพิงได้ในยามมีภัยอันเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหนือจรดใต้รวมไปถึงสยามเองที่ก็ส่งเครื่องบรรณาการไปให้กับจีนด้วยเจตนาเดียวกัน คำอธิบายนี้ชี้ให้ดูการ “เปลี่ยนค่าย” และ “ย้ายขั้ว” ที่เกิดขึ้นในหลายครั้งเนื่องจาก “พี่ใหญ่” ย่อมมีเวลาหมดสภาพ สยามเองที่เคยพึ่งพิงส่งบรรณาการให้จีน พอมาถึงยุคอาณานิคมก็กลับหันไปหาชาติตะวันตกเพื่อให้ช่วยสนับสนุนการดำรงอยู่ของสยาม  

กบฏผีบุญในภาคอีสาน กบฏเงี้ยวในจังหวัดแพร่ และเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองของเจ็ดหัวเมืองหรือ “พระยาแขกทั้งเจ็ด” คิดขบถ มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือเหตุการณ์ทั้งสามนี้ล้วนเกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกันคือระหว่างปี 2444-2445 นักประวัติศาสตร์บอกเราว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่สยามกำลังดึงอำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง อำนาจในการตัดสินใจเรื่องการเงิน การจัดการทรัพยากร ประชากร การต่างประเทศล้วนถูกดึงออกจากมือบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้ไปอยู่กับผู้ปกครองสยาม ถ้าเป็นในยุคปัจจุบันหลายคนอาจจะเรียกมันว่าเป็นการปฏิวัติก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลให้เกิดความไม่พอใจถึงขั้นต่อต้านด้วยกำลัง

การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของสยามหนนั้นยังมีข้อเขียนที่แสดงให้เห็นว่าในบางพื้นที่เป็นการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อ้างงานศึกษาของนักวิชาการมาเลเซียเขียนถึงเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ส่งพระยาศรีสิงหเทพไปเจรจาคลี่คลายความไม่พอใจของเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีอันเนื่องมาจากการเรียกอำนาจต่าง ๆ ไปจากเจ้าเมืองให้ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ แทน ในเวลานั้นปัตตานีร้องเรียนอังกฤษว่ามีปัญหาเดือดร้อนในเรื่องความสัมพันธ์กับสยามอย่างหนักแต่อังกฤษก็แนะนำให้อดทนไม่ใช้กำลัง อังกฤษยังตัดหนทางที่พวกเขาจะได้อาวุธจากภายนอก ทั้งยังแจ้งเรื่องนี้ต่อทางการสยามจนกรุงเทพฯ ส่งคนไปเจรจา ข้อเขียนชิ้นนี้คือ “กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานีด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มีข้อมูลว่าข้าราชการสยามรายนี้พยายามให้เจ้าเมืองลงนามในเอกสารภาษาไทยที่บอกว่าเป็นเพียงการรวบรวมข้อร้องเรียนของเต็งกูเพื่อจะนำไปพิจารณา แต่ต่อมาเอกสารนี้ถูกนำไปอ้างแก่อังกฤษเพื่อแสดงว่าสยามจัดการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งได้แล้ว เพราะเจ้าเมืองลงนามเห็นชอบกับการกระทำของสยาม ความไม่พอใจอย่างใหญ่หลวงของบรรดาเจ้าเมืองที่เกิดขึ้นตามมาทำให้พวกเขาเตรียมตัวจะต่อต้าน ครั้นพอระแคะระคายเรื่องนี้ สยามก็ได้ “เชิญ” เต็งกูไปพบแล้วก็จับกุมตัวไปจำขังที่พิษณุโลกสามปี วิธีการเช่นนี้จึงทำให้เกิดการรวมอำนาจโดยไม่เสียเลือดเนื้อ (ในเวลานั้น)

ส่วนกบฏเงี้ยวนั้นเราได้รับคำอธิบายว่าเป็นการต่อต้านสยามโดยเงี้ยวหรือไทใหญ่ที่เข้าไปทำมาหากินในเมืองแพร่เพราะสมัยนั้นแพร่มีต่างชาติเข้าทำไม้สักอยู่ในเมืองเหนือโดยเฉพาะอังกฤษ ต่อมาทางการสยามออกข้อกำหนดให้ทุกคนจ่ายภาษี กวดขันไม่ให้สิทธิในการถือครองที่ดินกับคนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของสยาม รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนย้าย เหล่านี้ทำให้เงี้ยวไม่สามารถจะเป็นเจ้าของที่ดินได้ การจะเคลื่อนย้ายตัวเองไปที่ใดก็ต้องขออนุญาตทำให้ไม่มีเสรีภาพเหมือนเดิม ความไม่พอใจอันนี้ทำให้เงี้ยวก่อกบฏขึ้นที่โดยมีเจ้าเมืองลองและเจ้าเมืองแพร่ที่ก็ไม่พอใจกับการถูกลดอำนาจให้การสนับสนุน ในเหตุการณ์กบฏนี้เงี้ยวจับข้าราชการจากสยามรวมทั้งคนไทยสังหารแต่ไม่แตะต้องคนแพร่

ในช่วงเวลาราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนจำได้ว่าแหล่งข้อมูลเรื่องกบฏเงี้ยวนั้นมีน้อยมาก แม้จะเป็นคนอำเภอลองอันเป็นสถานที่เกิดกบฏก็ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงนอกจากญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่หลุดปากออกมาโดยบังเอิญ ส่วนในด้านงานเอกสาร เท่าที่จำได้พบว่าได้เห็นเอกสารที่เป็นบันทึกของเจ้านายสยามแค่เล่มบาง ๆ ที่ได้อ่านในห้องสมุดมหาวิทยาลัยในอังกฤษ และก็ไม่พบว่ามีงานเขียนในภาษาไทยอื่นที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่จากแหล่งอ้างอิงที่มีอย่างจำกัดในเวลานั้น มีข้อมูลว่าไม่เพียงเจ้าเมืองแพร่ที่สนับสนุนเงี้ยว แต่เจ้าเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือได้ตกลงกันอย่างลับ ๆ ว่าจะสนับสนุนการกบฏ หากแพร่ประสบความสำเร็จเมืองเหนืออื่น ๆ จะลุกฮือกันทั้งหมด ครั้นเมื่อทางการส่งกำลังไปปราบและกลุ่มเงี้ยวผู้ก่อการถูกฆ่า ถูกจับและถูกไล่ล่า เมืองลองและเมืองแพร่เพลี่ยงพล้ำถูกกำราบ ทำให้แผนการใหญ่นี้มีอันต้องพับไปโดยปริยายและการณ์กลับกลายเป็นเรื่องของการ “ไม่มาตามนัด” แทน มิหนำเจ้าเมืองอื่น ๆ ยังหันไปจับมือสยามเพื่อช่วยปราบเงี้ยวและเมืองแพร่เพื่อแสดงความจงรักภักดีแทน

แต่การอธิบายมูลเหตุจูงใจของการก่อกบฏเงี้ยวหนนี้ยังคงมีคำถาม อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ตั้งคำถามกับคำอธิบายนี้โดยยกเหตุผลว่าเงี้ยวหรือไทใหญ่ขณะนั้นเป็นคนในปกครองของอังกฤษ หากไม่พอใจการดำเนินนโยบายของสยาม พวกเขาน่าจะใช้วิธีอื่นเช่นร้องเรียนกับอังกฤษเพื่อให้แก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีการนี้น่าจะง่ายกว่าการก่อกบฏมากนัก นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะบางแหล่งข้อมูลให้น้ำหนักกับการที่การกบฏหนนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมือคนพื้นเมืองเอง ในขณะที่อีกด้านก็มีความพยายามค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาคำตอบกันต่อไป

แต่อีกด้านก็ยังมีปรากฏที่แสดงถึงความพยายามที่จะสร้างความรับรู้ใหม่ในเรื่องประวัติศาสตร์หน้านี้ของเมืองแพร่ ชัยพงษ์ สำเนียง เขียนไว้ใน กบฏเงี้ยว: การเมืองของความทรงจำ ยกตัวอย่างกรณีเจ้าเมืองแพร่คือเจ้าพิริยเทพวงษ์ที่หลบหนีไปอยู่ลาวหลังมีการปราบกบฏเงี้ยวว่า ระยะหลังมีผู้ให้ข้อมูลใหม่จากเดิมที่เคยได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะเป็นผู้เข้าร่วมกับการกบฏ ก็กลับกลายมาเป็นผู้ที่จงรักภักดีอย่างสูงต่อสยามถึงขั้นยอมเสียสละแบกรับความผิดด้วยการเข้าร่วมกับการทำแผนซ้อนแผนคือแสร้งเป็นสนับสนุนเงี้ยวเพื่อจะช่วยสยามปราบปรามเงี้ยวให้เด็ดขาด ยังมีบทความในเว็บไซต์บางแห่งเขียนถึงขนาดว่า ข้าราชการสยามที่ขึ้นไปปราบกบฏเงี้ยวเป็นผู้วางแผนให้เจ้าหลวงเมืองแพร่หลบหนีไปได้ ข้อมูลนี้มาสร้างความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิมที่เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ถูกมองว่าเป็นกบฏทำให้ถูกลงโทษถอดยศ เมืองแพร่ไม่มีนามสกุล ณ แพร่ เครือญาติใกล้ชิดบางส่วนถูกจับไปไว้ในบางกอกและมีบางรายกินยาพิษเพื่อปลิดชีวิตตนเอง ในส่วนของเมืองลองนั้น เจ้าเมืองลองถูกลอบสังหาร ทายาทเพียงคนเดียวที่บวชอยู่ในเวลานั้นถูกลอบฟันปางตาย เมืองลองล่มสลายไปตั้งแต่บัดนั้น และเรื่องราวของเมืองลองแทบจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างเกลี้ยงเกลาแม้แต่ร่องรอยของความเป็นเมืองเก่าก็หาแทบไม่พบ

การปรับตัวของสยามเพื่อรวบอำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลางนั้น เราได้เรียนรู้กันว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อสร้างสยามในช่วงจังหวะการสู้ภัย เราได้รับรู้กันเสมอมาว่าสยามตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ภายใต้การบีบคั้นของเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่มุ่งหวังจะครอบครองดินแดน เจ้าอาณานิคมที่คนไทยเชื่อกันเสมอว่าจ้องตะครุบสยามก็คืออังกฤษและฝรั่งเศส แต่เพราะการดำเนินกุศโลบายอันแยบยลทำให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นมาได้

อันที่จริงแล้วนักวิชาการต่างประเทศหลายรายเรียกสยามว่าเป็นดินแดนกึ่งเมืองขึ้น semicolonial อย่างไม่ลังเล ยังมีงานเขียนของ Chandran Jeshurun เรื่อง The Anglo-French Declaration of January 1896 and the Independence of Siam ที่อ้างอิงบันทึกของนักการทูตอังกฤษหลายรายที่มีบทบาทในภูมิภาคในช่วงนั้น เพื่อแสดงถึงการจัดการความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสในเวลานั้นที่ส่อเค้าจะเกิดการเผชิญหน้าถึงขั้นใช้กำลังกัน ฝรั่งเศสนั้นยึดครองดินแดนอินโดจีน ส่วนอังกฤษครอบครองพม่าและอินเดีย สยามอยู่กึ่งกลางระหว่างเจ้าอาณานิคมสองรายที่ก็มีเรื่องปีนเกลียวจากที่อื่นมาแล้ว นักวิชาการรายนี้ระบุว่าสิ่งที่อังกฤษอยากหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือการเผชิญหน้าทางการทหารกับฝรั่งเศส เขาอ้างอิงบันทึกต่าง ๆ ในการโต้ตอบกันของนักการทูตอังกฤษเองที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษต้องการเพียงโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของสยาม สิ่งที่อังกฤษพยายามจะทำก็คือการสนับสนุนสยามให้เป็นผู้ปกครองที่สร้างเสถียรภาพได้อันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้อังกฤษทำมาหากินได้อย่างสะดวก เราจึงได้เห็นบทบาทอังกฤษในการสนับสนุนสยามทั้งกับเรื่องปาตานีและเรื่องภาคเหนือ

จะเห็นได้ว่าอังกฤษนั้นใช้วิธีบริหารจัดการดินแดนในปกครองที่ต่างกันไป กับอินเดียอังกฤษเข้าบริหารเองโดยตรง ส่วนพม่านั้น ชนชั้นนำที่เป็นคลังสมองของพม่าไม่ร่วมมือกับอังกฤษ อังกฤษจึงต้องปกครองพม่าผ่านอินเดีย ทำให้มีการนำเอาแรงงานและชนชั้นระดับปกครองจากอินเดียเข้าสู่พม่า แต่กับมาลายานั้นอังกฤษปล่อยให้เจ้าผู้ครองนครเดิมยังมีอำนาจตราบเท่าที่พวกเขาตอบสนองอังกฤษในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจได้ตามที่อังกฤษต้องการโดยที่อังกฤษยังพร้อมจะทำหน้าที่อุ้มชูเจ้านายเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง นักวิชาการตะวันตกบางคนเชื่อว่า การยึดดินแดนและการเข้าไปเป็นผู้ปกครองโดยตรงในฐานะเจ้าอาณานิคมนั้น อันที่จริงแล้วมีต้นทุนสูงอย่างยิ่งและอังกฤษคงจะได้บทเรียนในเรื่องนี้ ในกรณีสยาม สิ่งที่อังกฤษกระทำคือกันพื้นที่นี้ไม่ให้มหาอำนาจรายอื่นเข้ามามีอิทธิพลเฉพาะในพื้นที่ที่ตัวเองทำประโยชน์ เมื่อสยามเข้าหารือเรื่องที่ฝรั่งเศสเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจากสยาม คำแนะนำของอังกฤษก็คือให้ไทยยอมเสียดินแดนส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ อย่าแข็งขืนหรือขัดขวางฝรั่งเศส และเตือนว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นอังกฤษจะไม่เข้าช่วยรบแต่อย่างใด ท่าทีนี้ปรากฏชัดในบันทึกการพบปะกับตัวแทนสยามที่กรุงลอนดอนที่เรียกร้องให้อังกฤษให้การปกป้องสยามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ข้อเขียนของ Chandran Jeshurun ระบุว่าสยามเสนอข้อเรียกร้องนี้หลายหนและอังกฤษก็ปฏิเสธเสมอมา

สิ่งที่อังกฤษพยายามอยู่หลายปีก็คือการดึงเอาฝรั่งเศสรวมไปถึงจีนให้ไปทำข้อตกลงร่วมกันในอันที่จะกันให้สยามเป็นดินแดนกันชน เพื่อที่ดินแดนใต้ปกครองของทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่มาติดกัน นักการทูตอังกฤษใช้คำว่าจะให้สยามเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือ spear of influence ของอังกฤษแต่ไม่ใช่ดินแดนภายใต้การคุ้มครอง ในข้อตกลงระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสเรายังจะพบว่าสิ่งที่อังกฤษผูกมัดตัวเองว่าจะช่วยรักษากลายเป็นเฉพาะแค่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น อังกฤษมาออกแรงมากขึ้นก็ต่อเมื่อเห็นชัดภายหลังว่าฝรั่งเศสต้องการมากกว่าดินแดนข้างแม่น้ำโขงทำให้รู้สึกว่าผลประโยชน์ของตนเองอาจได้รับผลกระทบ ส่วนจีนที่สยามส่งบรรณาการไปให้เรื่อยมานั้นกลับไม่ปรากฏข้อมูลว่าออกมามีบทบาทในการปกป้องสยามจากเจ้าอาณานิคมสองรายนี้แต่อย่างใด

ในเวลาต่อมาอังกฤษยังแสดงบทบาทในการช่วยเหลือสยามมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในระยะหลังที่สยามทำท่าจะหันไปหาเยอรมันและตะวันตกรายอื่น ๆ ในทางปฏิบัติอังกฤษกลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลต่อสยามอย่างมากในช่วงของการปรับปรุงระบบเข้าสู่กระบวนการทำให้ทันสมัย การเข้าไปทำไม้ในภาคเหนือทำให้อังกฤษกลายเป็นตัวเร่งชั้นดีให้สยามจัดระเบียบการให้สัมปทานไม้และเชื่อได้ด้วยว่าน่าจะรวมไปถึงทรัพยากรอื่น ๆ สยามเข้ากุมอำนาจการให้สัมปทานทำไม้เสียเองจากเดิมที่อำนาจนี้อยู่ในมือของเจ้าเมืองเหนือทั้งหลาย โดยที่สยามระบุว่า การทำเช่นนี้เพื่อจะได้ทำให้อังกฤษหมดข้ออ้างที่จะเข้ายึดครองสยาม ขณะที่การเข้ายึดอำนาจการกำหนดสัมปทานทำไม้สักทำให้สยามมีรายได้เพิ่มอย่างเป็นกอบเป็นกำชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนจนกระทั่งมีผู้ชี้ว่ารายได้จากทรัพยากรเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงการพัฒนาและการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในแง่นี้สยามจึงได้อำนาจทางการเมืองอันเบ็ดเสร็จเหนือเมืองประเทศราชทั้งหลายชนิดไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ก็ได้รายได้จำนวนมากที่สามารถจะนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ทั้งหมดนี้คนที่เสียก็คือบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ

การพึ่งพาตะวันตกของสยามเป็นไปอย่างกว้างขวาง สยามก็ได้อาศัยองค์ความรู้และชาวตะวันตกนั่นเองในการปรับปรุงประเทศ แน่นอนว่าประเทศเหล่านั้นต่างก็ต้องการมีอิทธิพลเหนือสยามเช่นกัน พูดได้ว่าเป็นผลประโยชน์ที่ต่างคนต่างได้ มีการว่าจ้างชาวต่างประเทศเข้าทำงานในหน่วยงานที่ขึ้นมาใหม่ แม้แต่กับเรื่องการปราบกบฏเงี้ยว สยามก็ได้นายทหารหนุ่มจากเดนมาร์ก คือมาร์ควอด เจนเซ่น วัย 24 เข้าช่วยป้องกันลำปางจนกระทั่งตัวตาย กองทัพไทยในยุคแรกได้ชาวตะวันตกเข้ามาวางรูปแบบและฝึกทหาร หนึ่งในนั้นก็คือหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บุตรชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ และเขาคนนี้เองก็ได้ถือสัมปทานทำไม้ในภาคเหนือไปอย่างสำคัญอีกรายหนึ่ง กรมป่าไม้นั้นก็ใด้ชาวอังกฤษคือสเลด (H. Slade) มาช่วยจัดตั้งวางแบบแผนให้ การทำแผนที่ตลอดจนการจัดตั้งกรมแผนที่ งานชลประทาน การสร้างทางรถไฟ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ได้อาศัยความรู้ของชาวต่างประเทศเข้าวางแบบแผนให้ทั้งสิ้น สภาพเช่นนี้เป็นความเป็นจริงของชีวิตจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีปัญหา “ภายใน” ขึ้นมา เจ้าเมืองในปาตานีจึงไปร้องเรียนอังกฤษและอังกฤษมีบทบาทในการเมืองภายในอย่างสูงแม้จะไม่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการ สภาพการเช่นนี้อธิบายมุมมองของนักวิชาการตะวันตกหลายคนที่นิยามสภาพของสยามในเวลานั้นว่าอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้น

กิจกรรมอันหนึ่งภายใต้การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางก็คือการเรียกเก็บภาษีที่ราษฎรจะต้องจ่าย ว่ากันว่าในช่วงปีก่อนจะเกิดกบฏเงี้ยว ภาคเหนือประสบภัยแห้งแล้งการทำมาหากินฝืดเคือง ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจต้องลำบากเพิ่มขึ้นเพราะการที่ต้องจ่ายภาษี ปัญหานี้ว่ากันว่าทำให้ชาวบ้านในบางพื้นที่ถึงกับอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ๆ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นข้าราชการบางคนที่เป็นตัวแทนของสยามก็ทำตัวเป็นเจ้านายเกินเหตุสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านเป็นทวีคูณ พฤติกรรมดูถูกชาวบ้านเป็นเรื่องที่เรายังได้ยินในภาคใต้ ในเวลานั้นเชื่อว่ามีอย่างหนาแน่นขนาดที่เจ้านายสยามมีรายงานเรื่องนี้เนือง ๆ เช่นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถมีรายงานไว้ว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยนั้น “ถือตัวว่าเป็นคนชาติวิเศษกว่าคนพื้นเมือง เปรียบประดุจฝรั่งถือตนต่อชาวทวีปเอเชียทั้งปวงฉะนั้น” กรมหลวงนครราชสีมารายงานว่า ข้าราชการระดับอัยการ ศาล เรียกตัวเองว่ากูและราษฎรว่าเอง (หรือเอ็ง) (จากหนังสือ “เปิดแผนยึดล้านนา โดยเนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว) รายงานฉบับนี้นั่นเองที่ระบุว่าทางการสยามริเริ่มให้เลิกเรียกคนเหนือว่าคนลาวเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว เนื้อทอง ผู้เขียนเห็นว่าสยามต้องใช้ความคิดชาตินิยมมาลบความแตกต่างระหว่างคนหลายกลุ่ม และดูเหมือนเรื่องนี้ยังเป็นกรอบความคิดของข้าราชการไทยมาจนถึงวันนี้

ประวัติศาสตร์ที่สร้างได้ลบได้สุดแต่ใจของผู้ที่กุมอำนาจนั้น ทำให้เมื่อถึงเวลาก็จะมีการปะทะของข้อมูลใหม่เรื่อยไปท่ามกลางเรื่อง “กินใจ” ในอดีตที่ยังคงอยู่กับปัจจุบัน สายสัมพันธ์ของผู้คนนั้นต้องพึ่งพิงกันและหากทิศทางของระบบการปกครองจะเดินไปสู่ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันต้องเริ่มที่การให้ความเคารพความทรงจำของกันและกันก่อนอื่นใด ในห้วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ฉบับแบบไทย ๆ ถูกท้าทายมากขึ้นทุกวันจากการเดินทางย้อนกลับไปหาตัวตนของคนในแต่ละพื้นที่ การผูกประวัติศาสตร์ไว้กับความมั่นคงไม่ได้ป้องกันความแตกแยก แต่มันคือส่วนหนึ่งของการปิดกั้นการปรองดองของคนในสังคมมากกว่า