‘คู่มือต้านรัฐประหาร’ บัญญัติ 10 ประการในมือประชาชน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ทำไมเราต้องต่อต้านรัฐประหาร?

คำถามสำคัญพอ ๆ กับที่ผู้อ่านหลายคนถามว่า ทำไมต้องอ่าน? ‘คู่มือต้านรัฐประหาร’ เล่มนี้ ของ ยีน ชาร์ป เจ้าของฉายาสุดยอดนักสันติวิธีคนสำคัญของโลก

“เพราะว่ามันสำเร็จ (รัฐประหารสำเร็จ) เราเลยต้องต่อต้าน” แฟรงค์ – เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในฐานะ ผู้แปล รุ่นที่สอง ต่อจาก นุชจรีย์ ชลคุป ผู้แปลเล่มแรกไว้ในปี 2536 เปรยขึ้นเป็นประโยคแรก ที่หากตีความอีกอย่างคงหมายถึง เหมาะสมแก่เวลาที่คนไทยควรอ่านและรู้จักวิธีต่อต้านการสืบทอดอำนาจมากกว่านี้

ตลอดเกือบ 90 ปีที่ผ่านมา นับแต่ 2475 ประเทศไทยเผชิญกับ ‘ความพยายามก่อรัฐประหาร’ กว่ายี่สิบสี่ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง และไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง

จาก ‘สมุดปกเหลือง’ วันที่ 1 เมษายน 2476 นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยโดนยึดแย่งอำนาจ ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 1 จนรัฐประหารครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อการรัฐประหาร ก่อนขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนล่าสุด

เราผ่านทั้งการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม การกระทำทางการเมืองที่ถูกทั้งโลกมองว่าประหลาดที่สุด เราผ่านทั้งการรัฐประหารผู้อื่นเพื่อชิงอำนาจบริหารรัฐบาลและผลักดันประชาชนที่เห็นต่างให้กลายเป็นศัตรู เราจึงปฏิเสธได้ยากว่ารัฐประหารเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย

และน่าแปลกใจยิ่งกว่าตรงที่ว่า รัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ทำไมเราไม่เคยต่อต้านได้สำเร็จ เรายังปล่อยให้รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ หยุดขบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นมาตลอดเกือบ 90 ปี

“สำหรับประเทศไทยต้องดูว่าทำไมมันสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากการต่อต้านไม่ได้เกิดขึ้น หรือบางทีเราไม่มีองค์ความรู้เพียงพอว่าจะต้องต่อต้านยังไงให้สำเร็จ” – เนติวิทย์ค์อธิบายเพิ่ม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้รักในประชาธิปไตยจำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ที่สลักสำคัญพอ ๆ กับสิ่งที่พวกเขา/เรากำลังปกป้อง

‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ หลายคนยุคนี้คงคุ้นชินกันดีกับประโยคนี้ ที่ไม่ว่าจะอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อการรัฐประหารนั้นก็มักอ้างว่า ‘ขอให้ประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียว และขอเวลาให้พวกเขาได้พิสูจน์ความตั้งใจอันดี’ ผ่านวิธีการเรียกร้องและข่มขู่

มีท่อนหนึ่งในหนังสือที่กล่าวว่า‘ผู้ปกครองมีอำนาจอยู่ได้เพราะมีประชาชนบางกลุ่มสนับสนุน’ ดังนั้นหลักการข้อแรกเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ตามแบบฉบับ ยีน ชาร์ป ง่ายที่สุดก็คือ การปฏิเสธ

แต่การปฏิเสธนั้นประชาชนทุกคน ทุกหน่วยสถาบัน ต้องทำร่วมกันอย่างกว้างขวาง ต้องมากและ‘ลึกซึ้ง’ เพียงพอที่จะปฏิเสธ

‘รัฐประหารจะรวบอำนาจไว้ในมือได้ ก็ต่อเมื่อได้รับ…ความร่วมมือจากสังคมที่ตนปรารถนาจะปกครอง’

ดังนั้นประตูที่ 2 ของการต่อต้านต่อจากการปฏิเสธคือ การไม่ยอมร่วมมือและไม่จำนน

หนังสือ กล่าวว่า คณะรัฐประหารไม่สามารถขับเคลื่อนฟันเฟื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ ลำพังคณะผู้ก่อการรัฐประหารไม่สามารถขนส่งลำเลียงของ ขับเครื่องบิน เดินขบวนรถไฟ ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถถ่ายทอดคำแถลงผ่านโทรทัศน์เองได้ทั้งหมด และอีกหลายสิ่งที่ต้องอาศัยหลายสถาบันทางสังคมเพื่อเข้าควบคุมประเทศ

ตัวอย่างหนึ่งของ ‘การต่อต้าน’ สำเร็จ เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต เดือนสิงหาคม พ.ศ.2534 ทหารไม่จงรักภักดีต่อคำสั่งของคณะรัฐประหาร ประกอบกับแรงกดดันจากภายนอกประเทศ ทั้งทางการทูตและเศรษฐกิจ การรัฐประหารครั้งนั้นจึงไม่สำเร็จและล้มเหลวไม่เป็นท่า

หากชวนมองใกล้กับปัจจุบันอีกนิด เนติวิทย์ชี้ให้เห็นว่า ภาพนั้นกำลังเกิดขึ้นกับประเทศใกล้บ้านเรา ในเมียนมาที่ผู้คนทั้งมีชื่อเสียง มีอิทธิพล และคนธรรมดาร่วมใจกันลุกขึ้นมาต่อต้านล้นถนน พร้อมกันทั่วประเทศหลักล้านคน ขณะเดียวกันหน่วยงานอื่น ในระดับอื่นเองก็มีการสร้างแนวทางวางแผนเพื่อต่อสู้กับรัฐประหารของทหาร

มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD) ของอองซานซูจีรวมพลังกับชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อต้าน และทำงานควบคู่กับระดับสากล อย่าง Burma Campaign UK ไปจนถึงการทำเรื่องสิทธิมนุษยชนเคลื่อนไหว Lobbyist ใน congress ของอเมริกา อังกฤษ และยุโรป เพื่อกดดัน บอยคอดต์โรงงาน หรือผลิตภัณฑ์ของต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศ

ถึงแม้วันนี้เรายังไม่เห็นชัยชนะของชาวเมียนมา แต่การกีดกัดไม่ให้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วม ASEAN summit ครั้งล่าสุด (26-28 ตุลาคมนี้) ก็ถือว่าเป็นสัญญาณของการไม่ยินยอมมอบความชอบธรรมให้การรัฐประหารที่ก่อตัวขึ้นแล้วทั้งในและนอกประเทศ

รัฐประหารอาจอ่อนแอที่สุดในชั่วโมงแรก ๆ แต่หากประชาชนและพลังต่อต้านอ่อนข้อลงเพียงช่วงหนึ่งก็เพิ่มโอกาสให้รัฐประหารก้าวได้ใกล้ความสำเร็จ และถึงแม้การยืนหยัดในสิทธิขั้นพื้นฐานด้วยสันติวิธีนั้นเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดของพลเมือง แต่การต่อสู้ของคนมือเปล่านั้นมีจุดอ่อน

เพราะสันติวิธีนั้นไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะไม่เสี่ยงต่อชีวิต และหลายครั้งที่ผ่านมาการหยัดยืนก็แลกมาด้วยความสูญเสีย อย่างเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยหลายครั้งที่อำนาจบาตรใหญ่ของเผด็จการไม่ได้ให้ค่ากับกำแพงมนุษย์

ในการรัฐประหารครั้งที่ 7 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปราบปรามและประหารผู้เห็นต่าง ตั้งข้อหาก่อความไม่สงบและคอมมิวนิสต์ ส่วนการรัฐประหารครั้งที่ 11 เหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 47 บาดเจ็บ 1,728 และสูญหายอีก 48 คน

ดังนั้น การต่อต้านรัฐประหารด้วยสันติวิธีจึงมี ‘ความกลัว’ เป็นอุปสรรค และมีเจตจำนงอันแน่วแน่  ความแข็งแกร่งมั่นคง และความกล้าหาญเป็นดั่งอาวุธ

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการยึดหลักสันติวิธี ไม่มีความรุนแรงจะสูญเปล่า ยีน ชาร์ป กล่าวว่า หากแต่สันติวิธีจะช่วยลดการสูญเสียได้

‘บ่อยครั้งที่การต่อต้านแบบสันติวิธีก่อให้เกิดความบาดเจ็บขั้นรุนแรง แต่ยังคงน้อยกว่าหาก 2 ฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน’

แต่การต้านรัฐประหารแบบถอดรากถอดโคนนั้น ยีน ชาร์ป และผู้แปลอย่างเนติวิทย์เอง ชวนมองไปไกลกว่าอุดมการณ์ เข็มทิศแห่งการต่อต้านได้ชี้พุ่งไปที่การเตรียมการ การฝึกฝน และแนวทางที่กำหนดในระดับนโยบาย

การต่อต้านไม่ได้ทำสำเร็จภายใน 7 วัน แต่มันต้องใช้เวลา ดังนั้นต้องมีคนอุทิศทุ่มเทฝึกฝนอบรมที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น

เนติวิทย์ยกตัวอย่าง ม็อบฮ่องกงที่มีการฝึกฝนกันล่วงหน้าหลายปี มีการฝึกอบรมกันที่ไต้หวันในการต่อต้านรัฐบาลจีน ไปเรียนรู้การรับมือเมื่อถูกใช้ความรุนแรงว่าควรจะรับมืออย่างไร ไปเรียนรู้ไปจำลองการเคลื่อนไหวดู หรืออีกตัวอย่างที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนผิวสีมีโอกาสทางสังคมมากขึ้นมาแม้จะสักนิดหนึ่ง

“ช่วงอเมริกา ยุค 60 มีการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง โดยโรงเรียนถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อสอนกันเลยว่า ถ้าถูกคนขาวตบหน้าจะทำยังไง หรือถูกตะคอกใส่จะทำยังไง และยังมีหนัง มีสารคดีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้”

การฝึกฝน การเตรียมวางแผน และช่องทางการเรียนรู้วิธีการต่อต้านระบอบอำนาจอยุติธรรมชัดเจนว่ายังมีไม่มากในไทย ถึงจะมีคนที่พยายามทำบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มากพอ

ไม่แปลกเลยถ้าเราจะยังล้มเหลวในการต่อต้านรัฐประหาร อย่างหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือคู่มือต้านรัฐประหาร แต่หนังสือที่ดังกว่า คือ หนังสือคู่มือรัฐประหาร แต่เราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้

โดยที่ยีน ชาร์ปแนะนำในหนังสือว่า ต้องถึงขั้นตรากฎหมายเฉพาะและอาศัยอำนาจนิติบัญญัติทำให้การก่อรัฐประหารเป็นสิ่งผิด มีโทษฐานในเป็น ‘กบฎ’ ทั้งกบฎต่อรัฐและขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

บนความไม่แน่นอนว่า รัฐประหารครั้งที่ 14 จะเกิดขึ้นเมื่อไร และถึงแม้ไทยยังไม่เคยสักครั้งที่พลังมวลชนจะยับยั้งรัฐประหารได้สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าสายเกินไปที่จะหยุดการสืบทอดอำนาจและกำชัยชนะอย่างถาวร เพราะการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแบบผิด ๆ ด้วยการรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ก็มีหลายคราหลายหน หลายประเทศที่สามารถคว่ำการรัฐประหารให้ล้มเหลวได้

ซึ่งหากมีครั้งที่ 14 เกิดขึ้น บทบัญญัติ 10 ข้อนี้จึงมีความหมาย และไม่เกินตัวที่คนธรรมดาจะสามารถทำได้จริง

บทบัญญัติ 10 ประการ

เมื่อรากฐานสำคัญของยุทธวิธีการต่อต้านรัฐประหารอยู่ที่ประชาชน ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยและการต่อต้าน เช่นเดียวกันที่ ‘สันติวิธี’ คือ อาวุธของคนธรรมดา แม้ท้ายที่สุดอาจต้องแลกด้วยชีวิต แต่ ยีน ชาร์ป กล่าวว่า ประชาชนจะเป็นผู้กุมชะตาของตนตลอดไป

หนังสือ: คู่มือต้านรัฐประหาร
ผู้เขียน: Gene Sharp
ผู้แปล:  เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี