สามัญสำนึก - มนุษยชาติถือกำเนิดมาเท่าเทียมกัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลก พร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่น และแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่”

เป็นคำถามเรียบง่ายแต่ควรค่าต่อการฉุกคิดของ โธมัส เพน นักคิด / นักเขียน / นักปรัชญา / นักปฏิวัติ ผู้มีอิทธิพลต่อการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

ถ้อยคำตรงๆ ทรงพลังในจุลสาร “Common Sense – สามัญสำนึก” ของเขาปลุกชาวอาณานิคมอเมริกัน ให้ตรวจสอบความเป็นมนุษย์ที่แท้ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

“เมื่อยามสร้างโลกนั้น มนุษยชาติถือกำเนิดมาเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมถูกทำลายลง เนื่องจากสภาพการณ์ภายหลัง”

เขาว่า นอกจากการแบ่งแยกระหว่างคนรวยและคนจน ยังมีการแบ่งแยกที่สำคัญ ซึ่งไม่มีเหตุผลทางศาสนาหรือเหตุผลทางธรรมชาติที่แท้จริงอธิบายได้เลย นั่นคือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นกษัตริย์ กับ ราษฎร

“โลกยุคบรรพกาล ตามพงศาวดารในพระคัมภีร์ โลกนี้ไม่มีกษัตริย์ โลกนี้จึงไม่มีสงคราม”

“โลกยุคโบราณก็จดจารในทำนองเดียวกัน ชีวิตอันเงียบสงบในชนบท สมัยอัครบิดร มีความสุขตามอัตภาพ ความสุขนี้ปลาสนาการ เมื่อเราก้าวสู่ประวัติศาสตร์ยุคกษัตริย์ของยิว”

โธมัส เพน แสดงทรรศนะวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ว่า มีความย้อนแย้งและผิดแผกธรรมชาติ 

“แรกสุด มันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์ กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ องค์ประกอบต่าง ๆ เป็นปฏิปักษ์กันเอง และทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติ”

“การยกย่องคนคนหนึ่งจนเลิศลอยเหนือคนอื่น ไม่อาจอ้างเหตุผลชอบธรรมอันใดได้เลย จากสิทธิเท่าเทียมตามธรรมชาติ”

“ระบอบนี้คือนวัตกรรมฟุ้งเฟ้อที่สุด ที่ซาตานเคยริเริ่มเพื่อส่งเสริมลัทธิบูชาตัวบุคคล”

นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงระบอบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ลึกไปกว่านั้น โธมัส เพน ยังวิจารณ์ถึงการสืบทอดทางสายโลหิตของระบอบกษัตริย์ในอังกฤษว่า เป็นการลิดรอนสิทธิของคนรุ่นต่อไปอย่างน่าละอาย

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหน พึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตน ให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองจะได้รับการนับถือพอประมาณจากคนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะควรค่า ให้คนยกย่องนับถือสืบต่อไป”

“ในเมื่อไม่มีมนุษย์คนใดสามารถครอบครอง การยกย่องนับถือของสาธารณชนที่มีต่อผู้อื่น นอกเหนือไปจากการยกย่องนับถือที่มีต่อตัวเขา ดังนั้นผู้ให้การยกย่องนับถือเอง ก็ย่อมไม่มีอำนาจตีขลุมเอาสิทธิของคนรุ่นหลังมาหว่านโปรยตามใจชอบ ถึงแม้ชนทั้งหลายอาจกล่าวว่า ‘เราเลือกท่านเป็นประมุขของเรา’ แต่พวกเขามิควรกล่าวว่า ‘ลูกและหลานของท่านจะปกครองเหนือหัวเราตลอดไป’ นี่คือการกระทำความอยุติธรรมต่อลูกหลานตนเองอย่างเห็นได้ชัด”

โธมัส เพน ยังยกเหตุผลความเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริง สนับสนุนหลักการปฏิเสธการสืบทอดทางสายเลือด

“ราชบัลลังก์อาจตกเป็นของผู้อ่อนเยาว์ในทุกช่วงวัย ตลอดระยะเวลานั้น ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่กระทำการภายใต้นามของกษัตริย์ จึงมีโอกาสและแรงเย้ายวนอย่างยิ่งให้ทรยศต่อความไว้วางใจ เคราะห์ร้ายต่อประชาชาติจึงอาจเกิดขึ้น เช่นกันเมื่อกษัตริย์ร่วงโรยด้วยสังขารและความชราภาพ”

ส่วนข้อแก้ต่างที่ฟังขึ้นที่สุดเท่าที่เคยเสนอกันมา คือการสืบทอดทางสายเลือด จะช่วยรักษาประเทศให้รอดพ้นจากสงครามกลางเมืองนั้น โธทัส เพนแย้งว่าไม่จริง และกล่าวว่านี่เป็นความเท็จที่ยัดเยียดให้แก่มนุษยชาติ

“ประวัติศาสตร์​ของอังกฤษเองคือข้อพิสูจน์ เพราะนับตั้งแต่ดยุคแห่งนอร์ม็องดีพิชิตอังกฤษ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ 30 คน และยุวกษัตริย์ 2 คน มีสงครามกลางเมืองไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง และการก่อกบฏ19 ครั้ง”

แทนที่จะบันดาลความสงบสุข การณ์กลับตรงกันข้าม – เขาว่า

“ถ้าเราลองพิจารณาภารกิจของกษัตริย์ เราพบว่าในบางประเทศ กษัตริย์ไม่มีภารกิจอะไรเลย หลังจากใช้ชีวิตเปล่าเปลือง ปราศจากความสุขส่วนตนหรือประโยชน์สุขต่อประเทศชาติแล้ว กษัตริย์คนนั้นก็ถอนตัวจากหน้าฉาก และเปลี่ยนผ่านให้ทายาทมาสืบทอดวงจรเดิมๆ ต่อไป”

“ในอังกฤษ กษัตริย์ดีแต่ทำสงครามและแจกจ่ายยศถาบรรดาศักดิ์ หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมา กษัตริย์มีหน้าที่สร้างความยากจนแก่ประเทศชาติ และสร้างความขัดแย้งบาดหมางแก่ผองชน ช่างเป็นภารกิจดีงามเสียนี่กระไร สำหรับคนที่ได้รับเงินถึงปีละแปดแแสนปอนด์ แถมยังได้รับการเทิดทูนบูชาอีกต่างหาก! “

โธมัส เพน แจ้งในบทนำของ “สามัญสำนึก” ว่าเขาเขียนโดยหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีคำนิยมชมเชยหรือติเตียนต่อปัจเจกบุคคล ที่ทางในจุลสารนี้อยู่ใต้เหตุผลและหลักสัจจะ 

ถ้อยคำเด็ดเดี่ยว – ร้อนแรงและท้าทายของเขาทำให้จอร์จ วอชิงตัน บิดาแห่งการปฏิวัติถึงกับกล่าวว่า หลังจากอ่าน “สามัญสำนึก” แล้ว เขาก็มิอาจยกแก้วกล่าวคำอวยพรให้แก่กษัตริย์จอร์จที่ 3 ได้อีกต่อไป

โธมัส เพนวิพากษ์รัฐธรรมนูญอังกฤษว่ามีความซับซ้อนเกินไป

“ฉันทาคติที่ชาวอังกฤษมีผลต่อรัฐบาลของตน อันกอปรด้วยกษัตริย์ ขุนนางและสามัญชน เกิดขึ้นจากความทระนงประจำชาติมากกว่าเหตุผล”

เมื่อ 2 ส่วนแรกสืบทอดทางสายเลือด จึงเป็นเอกเทศจากประชาชน และไม่มีคุณูปการใดๆ เลยต่อเสรีภาพของรัฐ คำกล่าวที่ว่ารัฐธรรมนูญอังกฤษ คือเอกภาพของอำนาจทั้ง 3 คอยถ่วงดุลกันและกัน จึงน่าหัวร่อเยาะและไร้ความหมาย

“ข้าพเจ้าวางเค้าโครงความคิด เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองมาจากหลักการในธรรมชาติ ที่ศิลปวิทยาการใดๆ มิอาจลบล้าง กล่าวคือยิ่งสิ่งหนึ่งเรียบง่ายเท่าไร โอกาสที่มันจะยุ่งเหยิงก็น้อยลงเท่านั้น และเมื่อยุ่งเหยิงขึ้นมาก็แก้ไขง่ายกว่าด้วยสัจพจน์นี้ในใจ”

ท่ามกลางการเติบโตรุดหน้าทางเศรษฐกิจของอเมริกา
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอาณานิคมอเมริกากับรัฐบาลอังกฤษ
โธมัน เพน ชี้ว่า “นี่คือเวลาแยกทาง”
ในรูปแบบการปกครองที่ไม่ช้าก็เร็วย่อมถึงจุดอวสาน
ในรูปแบบการปกครองที่แขวนบนเส้นด้าย และเดินโซเซริมขอบของความวุ่นวายปั่นป่วน

“กระบวนการสันติภาพเงียบๆ ใช้การไม่ได้”
เขามุ่งให้อเมริกาสลัดแอก แตกหักและตัดเยื่อใย 

“เอกราชคือเส้นเรียบง่ายเส้นเดียวที่มีอยู่แล้วในตัวเรา ส่วนการปรองดองเป็นเรื่องซับซ้อนวกวนเกินไป”

“อดเชื่อไม่ได้ว่า บรรดาคนที่หนุนหลักการปรองดองน่าจะอยู่ในประเภทต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้หวังผลประโยชน์ที่ดูไม่น่าไว้วางใจ ผู้อ่อนแอที่ตาบอดตาใส ผู้มีอคติที่ไม่เปิดตามอง และผู้วางตัวกลางๆ บางกลุ่มที่ลุ่มหลงคิดว่าโลกยุโรปดีกว่าที่มันเป็น คนประเภทสุดท้ายนี้ ความไร้ซึ่งวิจารณญาณจะเป็นสาเหตุความพินาศฉิบหาย ของทวีปนี้ยิ่งกว่า 3 ประเภทแรกรวมกัน”

เขาต่อว่าผู้คนความรู้สึกด้านชา ที่มองการรุกรานของอังกฤษเป็นเรื่องเล็กน้อย และยังมองโลกในแง่ดีที่แม้ถึงขั้นนี้ ก็ยังเชิญชวนให้มาเป็นมิตรกันได้ การปรองดองคือความฝันลวงตา 

“การปรองดองอันแท้จริง ไม่มีทางงอกงามจากบาดแผล ที่ความเกลียดชังอาฆาตทิ่มแทงลึก” มิลตัน กวีอังกฤษกล่าวไว้อย่างคมคาย 

โธมัส เพน บอกว่าคนทุกคนที่เขาพบเจอไม่ว่าในอังกฤษหรือในอเมริกา ลงท้ายมักยอมสารภาพเปิดอกว่า การแยกประเทศย่อมเกิดขึ้นวันใดวันหนึ่ง จุดหมายปลายทางถูกเห็นพ้องต้องกันแต่แตกต่างแค่จังหวะเวลา เขายืนยันถึงการประกาศอิสรภาพอย่างมุ่งมั่น และเสนอให้ทำอย่างลุล่วง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกหลอนร่ำไปในอนาคต

“การผัดวันประกันพรุ่งจะสร้างความหายนะแก่ชนรุ่นหลัง”  

น่าสนใจที่ข้อความในเกือบทุกบทของ “สามัญสำนึก” ระบุถึงคนรุ่นใหม่ด้วยความห่วงใยใคร่ครวญ 

“หากเราสามารถทิ้งรูปแบบการปกครองที่มั่นคงไว้ให้ชนรุ่นหลัง ได้มีรัฐธรรมนูญเอกราชเป็นของตัวเอง การซื้อมรดกนี้ด้วยราคาเท่าใดก็ไม่แพง ไม่ควรเอาเปรียบชนรุ่นหลังอย่างใจดำ โดยทิ้งภาระยิ่งใหญ่ให้พวกเขาทำแทน และทิ้งหนี้หลังแอ่นไว้ให้ ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ประโยชน์แม้แต่น้อย ความคิดเช่นนี้ไม่คู่ควรแก่วิญญูชน และเป็นแค่สันดานของนักการเมืองใจแคบ”

“สามัญสำนึก” ปรากฏตัวต่อมหาชนในเมืองฟิลาเดเฟีย มกราคมปี 1776 จุลสารเล่มนี้ขายได้นับแสนเล่มในระยะเวลา 3 เดือน

ถ้อยคำธรรมดา – ตรงแต่แรงได้ส่งพลังสลายสายใยเส้นสุดท้าย ของความรู้สึกจงรักภักดีต่อกษัตริย์อังกฤษ ในหมู่ชาวอาณานิคมลงไปอย่างสิ้นเชิง เป็นการเอาอุปสรรคทางจิตวิทยาที่ขวางกั้นออกไปในที่สุด

4 กรกฎาคม 1776 ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนอเมริกันก็ประกาศเอกราช ตัดความสัมพันธ์แบบอาณานิคมทิ้ง และเข้าสู่การทำสงครามกับกองทัพอังกฤษอย่างเต็มตัว กระทั่งได้รับเอกราชในปี 1783

ดังที่อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนไว้ในบทนำว่า “กล่าวได้อย่างเต็มปากว่า สามัญสำนึก เป็นหนังสือเล่มเล็กที่เปลี่ยนแปลงโลกใบใหญ่ได้”

และดังที่ โธมัส เพน เขียนในภาคผนวกในหนังสือเล่มนี้ว่า “อำนาจในการเริ่มต้นใบใหม่อีกครั้งอยู่ในมือเรา”

หนังสือ: สามัญสำนึก – Common Sense
ผู้เขียน: โธมัส เพน
ผู้แปล: ภัควดี วีระภาสพงษ์  
สำนักพิมพ์: bookscape

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี