บ้านที่กลับไม่ได้ โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา
เมื่อคำว่าบ้านไม่ได้ผูกโยงอยู่เพียงโครงสร้างชายคาที่พักอาศัย เพราะบางทีสวนสาธารณะกลางกรุงมะนิลา ก็อาจกำลังเป็นห้องนั่งเล่นที่กว้างขวางโอโถงสำหรับใครบางคน การตามหาบ้านเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่กิน-นอนริมทาง ในแบบฉบับของ อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา จึงกินความหมายกว้างกว่าที่เราจะนึกถึง
ในฐานะนักข่าวเราไม่เคยละสายตาจากเรื่องราวของคนไร้บ้าน (สกู๊ปข่าวแบบ 3 นาทีจบตัวแรกที่ได้ออกอากาศของเรา คือประเด็นคนไร้บ้าน เปิดตัวครั้งแรกกับบทสัมภาษณ์ของอ้วนสนามหลวง) เราเฝ้าถามตัวเองว่า คนไร้บ้านคือสิ่งยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของสังคมใช่หรือไม่ ? หนังสือเล่มนี้กำลังยืนยันคำตอบนั้น อย่างที่รู้กันอยู่ว่า การออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเช่นคนไร้บ้าน เสี้ยวหนึ่งอาจข้องเกี่ยวกับปัญหาระดับปัจเจก แต่คงไม่อาจปฏิเสธว่า เหตุผลข้อใหญ่ยึดโยงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอยู่ไม่น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้กำลังทำหน้าที่เผยความจริงเบื้องหลังชีวิตแบบไร้บ้าน อย่างลึกซึ้งกว่าสายตาจะมองเห็น อย่างที่คุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ เขียนในท่อนท้ายของคำนิยมว่า ผลงานของบุญเลิศเล่มนี้ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิตตามนิยามเก่า แม้ตัวละครในเรื่องเล่าทั้งหมดจะสังกัดชนชั้นล่าง … คงไม่เกินเลยแต่อย่างใดหากจะกล่าวว่า นี่คือวรรณกรรมแห่งชีวิตอันอุดมด้วยพลังชีวิต
“มาฮิรับ เปโร มะซายะ” ชีวิตของเราไม่ได้ขื่นขมทุกข์ระทมมากมาย อย่างน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ หนึ่งในแง่มุมทัศนคติแบบคนฟิลิปปินส์ จากภาคผนวกของหนังสือ บ้านที่กลับไม่ได้ บุญเลิศ วิเศษปรีชา
พลังชีวิต จากเรื่องเล่าของเขาและเธอ
ขี้เกียจ ขี้เมา ขี้ขโมย กลายเป็นความจริงส่วนหนึ่งของปัจจุบันที่ทำให้ผู้คนในสังคมมองไม่เห็นอดีต ซึ่งฝั่งแน่นไปด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างของกรุงมะนิลา ลอรานซ์ รามิ รันดี้ ริคกี้ มาร์ลีน โจเซฟ รัฟ วิคตอเรีย วิคเตอร์ และวิเวียน เป็นคนแปลกหน้าที่จะพาเราเข้าใกล้ความเป็นกรุงมะนิลาในแบบที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่เคยได้สัมผัส เขาและเธอจะชวนเราค้นหาเส้นทางของอดีตที่มีนัยสำคัญ
10 ตัวละครหลักที่ไล่ชื่อมานี้ มีตัวตนอยู่จริง ๆ และเป็นคนที่ บุน อดีตนักศึกษาหนุ่มผู้คลั่งไคล้การศึกษาเบื้องลึกข้างในความมนุษย์ เรียกว่า เพื่อน
สปอย 2 เรื่องสั้น เล่าถึง บ้านที่กลับไม่ได้ จาก 2 ขั้วอารมณ์
บุน ขยับเข้าใกล้ความหมายคำว่า บ้านของมาร์ลีน จากโรมี อาหารจานเดียว ซึ่งทำจากมักกะโรมีชิ้นเล็ก ๆ ต้มเป็นซุป มื้อเที่ยงที่บ้านอาสะใภ้ของมาร์ลีนในวันเฟียสต้า หรือ วันรวมญาติของชาวฟิลิปปินส์ อาหารย้ำเตือนว่าบ้านไม่เคยเปลี่ยนจากวันที่จากมา ต่างจากการต้อนรับของหญิง-ชายวัยชรา ในบ้านไม้หลังเก่าบนถนนอีกเส้น ต้อนรับมาร์ลีนและบุน ด้วยอ้อมกอดและข้าวราดกับแบบจานเดียว ประโยคของมาร์ลีนคงช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกของเธอ
“เห็นรึยัง ไปบ้านอาตัวเอง ไม่มีข้าวให้กิน แต่พอมาบ้านคนจน มีข้าวกิน”
เรื่องเล่าของมาร์ลีน คนไร้บ้านที่บอกตัวเองว่า ร่างเป็นหญิงใจเป็นชาย เธอออกจากบ้านหลังพ่อจากไปตอนเรียนชั้น ม.3 พ่อที่เป็นโลกทั้งใบของเด็กสาวคนนั้น เหตุว่าแม่ของเธอเป็นผู้หญิงทำงานในร้านคาราโอเกะ ซึ่งญาติฝ่ายพ่อไม่ปลื้ม สปอยก่อนเลยสำหรับสาว ๆ ที่อ่านถึงบทนี้ อย่าลืมเตรียมผ้าเช็ดหน้าไว้ใกล้มือ
สำหรับเราเสียน้ำตาเอาดื้อ ๆ กับหน้าสุดท้ายปลายเรื่องของมาร์ลีน และกลับยืนอยู่บนโลกความจริงอีกครั้งเมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นที่บ้านเช่าของลูกสาวโจเซฟ บ้านที่ผู้เป็นพ่อมักโอ้อวดเสมอว่าลูกสาวของเขาอยากให้ย้ายไปอยู่ด้วย บุนได้มีโอกาสไปที่นั่น พร้อมกล้องถ่ายรูป ยิน(เหล้า) และบิสกิต แต่ในระหว่างล้อมวงสนทนาถึงเรื่องเก่า ความจริงตรงหน้าถูกเปิดเผย ลูกเขยของโจเซฟโทรศัพท์เข้ามาทำให้บุนต้องรีบพาโจเซฟ ลาจากหลาน ออกมาบ้านก่อนที่ลูกเขยจะมาถึง “บุนแกเห็นแล้วใช่ไหมว่าลูกสาวฉันมีบ้านจริง ๆ”
ยังติดอยู่ตรงนี้
สำหรับคนฟิลิปปินส์ที่จบการศึกษาไม่ได้สูงนัก งานจึงวนอยู่กับกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงมาก-รายได้น้อย รัฟ เพื่อนสนิทของ บุน เป็นหนึ่งในนั้น รัฟ โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือแค่ชั้นประถม สุดท้ายต้องออกมาทำงานหาเงิน ช่วงหนุ่มที่ยังมีแรง รัฟทำงานรับจ้างใช้แรงงานทั้งก่อสร้าง งานในไร่นา ก่อนจะมายุ่งเกี่ยวกับชาบู (ยาเสพติด) จนเป็นเห็นให้ชีวิตหันเหออกมาอยู่นอกบ้าน
ส่วน ลอรานซ์ คนไร้บ้านที่เป็นทั้งอาสาสมัครทำอาหารแจก ทำงานรับจ้างทำพรมเช็ดเท้าแม้จะนั่งทำตั้งแต่เช้ามืดจนดึกดื่น แต่ผืนเล็กราว 30 คูณ 40 เซนติเมตร ก็ได้ราคาแค่ชิ้นละ 4 เปโซเท่านั้น เป็นผืนใหญ่ขึ้นมาอีกก็ได้ราว ๆ อยู่ที่ 5 เปโซ หรือ ราว ๆ 3-4 บาทต่อผืน มากสุดที่บุนเคยได้คำตอบจากลอรานซ์ คือเช้าจรดดึก ก็ทำได้ แค่ 8 ผืน แค่ซื้อข้าวกินสักมื้อยังแทบจะไม่พอ แต่ถึงอย่างนั้นชายที่เรียนจบชั้นประถม ก็ยังเพียรหาเงินเพื่อไปซื้อยาให้แม่ งานไม่เคยหายไปจากชีวิตไร้บ้านของลอรานซ์ แต่ถึงจะเพียรพยายามอย่างเต็มที่ สำหรับในประเทศที่ไร้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอย่างฟิลิปปินส์ สุดท้าย ยาสำหรับแม่ ก็ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิของ ส.ส.ในกรุงมะนิลา
ยา กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ลอรานซ์เฝ้าสวดภาวนาขอบคุณพระเจ้า
“แม่ของเราแก่แล้วบุน ไม่ค่อยแข็งแรง…หมอเขียนใบสั่งยาโรคหอบหืดมาให้ แต่ยังไม่มีเงินซื้อยา เราเลยเอาบัตรผู้สูงอายุของแม่ไว้ เผื่อว่าเราจะหาเงินไปซื้อยาให้แม่ได้”
เรื่องราวระหว่างบรรทัดของลอรานซ์ ยังมีรายละเอียดชวนติดตามอีกมาก ในบทนี้ผู้อ่านจะได้เห็นโครงสร้างด้านสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ แม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็ช่วยทำให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกประเด็นที่กดทับความไร้บ้านให้ลำบากมากขึ้น เรื่องราวของลอรานซ์จึงถือเป็นตอนหนึ่งที่ทำให้เรา เห็นแง่มุมชีวิตที่เรียลเกินกว่าละครช่องมากสี ชีวิตจริงที่คน ๆ หนึ่งต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวในวงจรชาบู(ยาเสพติด) ชีวิตที่โดนข้อหาสนับสนุนการล้วงกระเป๋า ชีวิตที่จริงกว่าจริงเมื่อลอรานซ์หายไป และสุดท้าย บุน ต้องบอกกับตัวเองว่า ผมขอโทษ จะว่าไปในชีวิตจริงก็มักมีเรื่องหักมุมแบบเกินคาดอยู่เสมอ จริงไหม ?
น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่ไม่เคยสัมผัสหรือพูดคุยกับคนไร้บ้าน น่าสนใจสำหรับเราที่ใคร่ครวญอยู่กับบทสนทนาของคนไร้บ้านหลายคนที่ผ่านเข้ามา หลายเรื่องเล่าเคล้าความจริงจากหนังสือเล่มนี้ ชวนให้เรานึกและตั้งคำถามว่าโครงสร้างทางการเมืองสังคมและเศรษฐกิจขับพิษออกมาสร้างบาดแผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่สาธารณะ
ยิ่งประหลาดใจเมื่ออ่านถึงตอนจบแล้วพบความจริงที่ว่า ในฟิลิปปินส์ถ้าคุณเป็นคนจนในประเทศที่คนส่วนใหญ่จนอยู่แล้ว คุณก็ไม่รู้สึกแย่อะไร คุณนอนข้างถนนก็มีเพื่อนนอนเยอะแยะ เส้นแบ่งเพื่อข้ามระหว่างการเป็นคนไม่มีบ้าน ไปเป็นคนมีบ้านของฟิลิปปินส์นั้นบางกว่าไทยและณี่ปุ่น ทำให้ฟิลิปินส์ก้าวข้ามได้ง่ายกว่า คนไร้บ้านหรือโฮมเลสที่ฟิลิปปินส์จึงมีลักษณะ บาริก บาริก (ภาษาตากาล็อก แปลว่า ไป ๆ มา ๆ)
“เมื่อคุณมีงานทำคุณอาจพอมีเงินเช่าที่พัก แต่พอตกงานก็กลับมาที่ข้างถนนใหม่” บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ผ่านมาหลายวันแล้ว แต่เรายังนึกถึง 16 เดือนของบุนที่กรุงมะนิลา 4 ชั่วโมงของเราในบ่ายวันเสาร์ ช่วงเวลาที่ทำให้ได้รู้จัก บุน และเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ผ่านเรื่องสั้นมานุษยวิทยา เราอาจเขียนตัดตอนบางส่วนที่เป็นจิ๊กซอสำคัญ ๆ ของเรื่องเท่านั้น เพราะส่วนลึกอยากเชื้อเชิญให้ผู้อ่าน ได้ลิ้มรสชาติความจริงของชีวิตจากหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเอง เรื่องราวจากตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้ น่าจะชวนให้จิตนาการถึงความรู้สึกนึกคิดภายในของผู้คน ได้มากเกินกว่าสายตาจะมองเห็น
ขอบคุณ
บ้านที่กลับไม่ได้ ผู้เขียน บุญเลิศ วิเศษปรีชา
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2564
คำนิยม เวียง-วชิระ บัวสนธ์
คำนำ สมบัติ บุญงามอนงค์
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา