พลเมืองโลก - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

หลายปีก่อนราว ๆ ปลายทศวรรษที่ 90s ราวปี 2538 ตอนยังทำงานเอเจนซี่โฆษณาก็ได้มีโอกาสสนิทสนมกับเด็กสาวอายุ 18 คนหนึ่ง น้องมาจากนิวซีแลนด์ บางหนขณะกำลังนั่งคุยกันก็แอบเห็นเธอตอบอีเมล์เพื่อนไปด้วยกับพึมพำประโยคที่กำลังพิมพ์ไปด้วย และประโยคทักทายที่ถามกันไปมาเป็นปกติก็ไม่ใช่ How are you? แต่เป็น Where are you? 

เพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกับเธอล้วนออกมาทำงานนอกประเทศไกลบ้านกันทั้งนั้น ตั้งแต่ตอนนั้น ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

สาวน้อยคนนี้ทำงานกราฟิกอยู่เมืองไทย 2 ปี (พูดไทยได้น้อยมาก) จากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่ลอนดอน 3 ปี ไปอยู่เบอร์ลิน 2 ปี เก็บเงินเดินทางท่องยุโรป 1 ปี มาจบที่ปรากจำไม่ได้ว่ากี่ปี จากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่ซิดนีย์ ก่อนที่จะกลับมาไอร์แลนด์ แล้วกลับไปทำงานอังกฤษอีก เสร็จก็กลับบ้านที่นิวซีแลนด์ แล้วตอนนี้ย้ายไปอยู่เมลเบิร์น

โลกาภิวัฒน์ หรือ Globalization ยุคใหม่เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80s ด้วยซ้ำ ถ้ายังจำกันได้เรายังมีเพลงพูดถึงเรื่องนี้ด้วยอย่าง We Are the World ของ Michael Jackson แม้คนจะเริ่มพูดถึงมันจริงจังแพร่หลายเกือบสิบปีต่อมา เมื่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและการเดินทางทางอากาศเชื่อมโลกให้แคบลง ในทศวรรษที่ 90s นั้นเองที่เราเริ่มได้ยินคำว่า One world หรือ Multi-cultural หรือ United Colors ยุคนั้นที่คนหนุ่มสาวเลิกเชื่อถือการท่องเที่ยวแบบผิวเผิน ชั่วครั้งชั่วคราว พวกเขาไม่ต้องการเป็นแค่นักท่องเที่ยว แต่เปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นนักเดินทาง จากนั้นก็อยู่ยาว ทำงาน เรียนรู้ ใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่แตกต่าง แสวงหาที่ที่เขาสามารถเติบโต และปักหลัก…อาจจะ 

แต่หลังการเดินทางท่องโลก ได้รู้จักโลก แนวคิดเรื่องการปักหลักก็ค่อย ๆ สูญเสียความสำคัญของมันไปด้วยกัน พอ ๆ กับบ้าน คนไม่ต้องการบ้านที่เป็นสถานที่อีกต่อไปหลังรู้จักเดินทาง และนั่นก็ทำให้เขาไม่ต้องการปักหลักอยู่ในที่ที่เดียวตลอดกาลด้วย โลกทั้งใบกลายเป็นพื้นที่ของคนทุกคน และโลกก็กว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน และนี่ก็ต่างกันฟ้าเหวกับคนรุ่นก่อนหน้า ที่การลงทุนคืออสังหาริมทรัพย์ คือบ้านที่ดิน และตัวเองก็ยึดติดกับผืนดินนั้น คนรุ่นใหม่ไม่ให้ราคากับกระผีกริ้นเล็กจ้อยไหนในโลกทั้งสิ้น การลงทุนของพวกเขาคือการไปทุกที่ อยู่ในทุกที่ ทรัพย์สินที่มองไม่เห็นและเอาติดตัวไปได้ทุกหนแห่งของเขาคือการได้รู้จักที่ต่างๆ อันจะพาพวกเขาไปต่อได้ทุกที่ที่ต้องการ        

สี่ปีก่อนตอนไปเบอร์ลิน เห็นคนหนุ่มสาวสารพัดเชื้อชาตินั่งดริปกาแฟเล่นมือถือกันตามคาเฟ่ต่าง ๆ ก็ถามลูก  เด็กพวกนี้มันเอาเงินที่ไหนมาเที่ยวกันอะ…ลูกก็บอก มันทำงานกันนะแม่ /ทำไร ก็เห็นนั่งดริปกาแฟอยู่  ลูกก็เอาโทรศัพท์ออกมาแกว่งกวัด…คลาวด์ / อื่อ อ่อ คลาวด์ แล้วมันเข้าตรงไหนคะ  ลูกมองหน้าแบบงง ๆ มันก็อยู่นี่อะแม่  แล้วเอามือแบ ๆ ปัดอากาศข้างหน้าแม่ 

แค่กดปุ่มเดียวคุณก็สามารถคุยกับคนที่อยู่อีกซีกโลกได้ ปุ่มเดียวก็เห็นหน้ากัน เห็นฉากหลัง ความเป็นอยู่  แค่ปุ่มเดียวก็ได้ยินเสียงสายลม ได้เห็นผู้คน บ้านเมือง แค่ปุ่มเดียวที่เราอยู่ห่างกัน

ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปนานแล้ว

ผู้คนไม่เพียงแต่พากันเพ่นพ่านออกไปทุกที่ในโลก พวกเขายังอยู่ทุก ๆ ที่ในโลกพร้อมกันในเวลาเดียว เราสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสพร้อม ๆ กับคนทั้งฝรั่งเศสและคนทั้งโลก กดสั่งสินค้าล่าสุดห้านาทีหลังวางจำหน่าย รับรู้ความเป็นไปของอีกซีกโลกพร้อม ๆ กันกับทุกหนทุกแห่ง และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้น ดำเนิน และพัฒนาอย่างเร็วมายี่สิบกว่าปีแล้ว

ในทริปเดียวกันนั้นก็ได้มีโอกาสพบปะเพื่อน ๆ ลู เพื่อนในชีวิตประจำวันในเบอร์ลิน ซึ่งเป็นคนเยอรมัน คนเกาหลี คนอเมริกัน คนทิเบต คนอินเดีย สารพัดเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม และในวัยยี่สิบกลาง ๆ เด็ก ๆ เหล่านี้อยู่มาแล้วอย่างน้อยสามประเทศในสองสามทวีป และพูดใช้กันคนละสี่ห้าภาษาเป็นอย่างต่ำ และหลายคนยังพูดได้ถึงแปดภาษา

นี่คือเด็กข้างนอกนั่น…ในโลกปัจจุบัน 

ที่นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็ด้วยเหตุมีเพจเกิดขึ้นชื่อว่า ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ซึ่งต้องเปลี่ยนชื่อเนื่องจากโดนรัฐบาลเพ่งเล็ง เป็นเพจที่มีสมาชิกถึงตอนที่เขียนอยู่นี้หนึ่งล้านคนในเวลาแค่ไม่ถึงสองอาทิตย์ เป็นที่พูดถึง  เป็นที่ต่อต้าน เป็นที่ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่หลายคนหวั่นใจว่าจะทำให้ชาติบ้านเมืองขาดแคลนมันสมองและแรงงาน 

ทั้ง ๆ ที่เราควรฝึกเด็กๆ ให้เดินทาง สร้างความพร้อมให้เขาออกไปอยู่ในโลก เป็นส่วนหนึ่งของครรลองของยุคสมัยใหม่ ตั้งนานแล้ว…ยุคสมัยที่คนไม่ได้เป็นประชากรไทย ประชากรอังกฤษ หรือที่ไหน แต่ทุกคนเป็นประชากรโลก โลกที่มีเด็กหญิง Lisa Blackpink เด็กหญิงสัญชาติไทยไปโด่งดังในเกาหลีแล้วจากนั้นก็โด่งดังทุกที่ในโลก มีนักร้องเชื้อชาติอเมริกัน-เอเชียอย่าง Joji, Keshi, Jacob Okawa หรือนักเขียนโนเบลสัญชาติอังกฤษ-ญี่ปุ่นอย่าง Kazuo Ichikuro

คือจะบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่เลยค่ะ…เด็ก ๆ จะย้ายประเทศนี่ จะไปเพ่งเล็งตรวจสอบอะไร  โลกาภิวัฒน์มาหลายสิบปีแล้ว โลกไปไกลขนาดนี้แล้ว และถ้ารัฐบาลกลัวประเทศจะง่อยในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าเพราะไร้คนหนุ่มสาว ก็จงทำให้ประเทศเป็นประเทศน่าอยู่ทัดเทียมอารยประเทศต่าง ๆ แบบที่ประเทศต่าง ๆ เขาทำกัน เรื่องมันก็แค่นั้นเอง 

แต่บอกก่อนนะคะว่าเร่งมือหน่อย ตอนนี้ที่ไหนก็กำลังกลายเป็นสังคมคนชราทั้งนั้น คนอายุน้อย ๆ มีค่ากว่าทอง และตอนนี้ใคร ๆ ก็ยัดเยียดสารพัดให้เด็กๆ ย้ายเข้าไปอยู่เพื่อพัฒนาประเทศตัวเอง ที่ไหนมีคนหนุ่มสาวที่นั่นก็เจริญรุ่งเรืองค่ะ โลกไม่ได้หมุนไปข้างหลังอย่างที่รัฐบาลพยายามนะคะ  

เดี๋ยวจะหาว่าคนสวยไม่เตือน