พิมพ์เขียว PDP 2024 ยังเขียวไม่พอ? - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เราบอกว่าเราได้ไฟฟ้ามั่นคง แต่ชีวิตของชาวบ้านไม่มั่นคง” สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่าย ประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลและเขื่อนแม่น้ำโขง เน้นย้ำ

เขื่อนที่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามแผน PDP 2024 สามแห่งในแม่น้ำโขง สปป.ลาวนั้น กระทบกับความมั่นคงและการชลประทานที่ไม่อาจคาดเดาของแม่สดใส และคนริมโขงจำนวนไม่น้อย กำลังจะสะท้อนว่า แผน PDP 2024 แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2567-2580 ที่กำลังจะเป็นแผนบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแผนใหม่ในอีกไม่กี่เร็ววันข้างหน้าได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ยังเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านจากภาควิชาการและภาคประชาชนที่ต่างยืนยันว่า ไม่ตอบโจทย์ต่อความยั่งยืน เพราะทิศทางของแผนฉบับนี้ยังพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าด้วยฟอสซิลและการนำเข้าก๊าซเหลว LNG จากต่างประเทศที่มีสัดส่วนมากเกินไป รวมถึงความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 6,000 เมกะวัตต์ ที่อาจมีปัญหาใหญ่ตามทั้งความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นแผนที่อาจทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่ต่างจากปัจจุบัน คือมีการอนุญาตให้เอกชนมสัมปทานโรงไฟฟ้าที่ล้นเกินความต้องการการใช้ไฟในประเทศ De/code ชวนอ่านข้อถกเถียงและข้อเสนอแนะทั้งจากภาควิชาการและภาคประชาชนต่อแผน PDP 2024

ข้อถกเถียงต่อกำลังการผลิตไฟในประเทศล้นเกินเหมือนจะเป็นฉันทามติของสังคมไทย ทำไมถึงต้องพูดอย่างนี้ เพราะปัจจุบันมีโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศมากกว่า 2 โรง ไม่ได้เดินเครื่องกำลังการผลิตเต็ม 100 เปอร์เซ็น แต่ประชาชนต้องแบกรับค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า FT ทุกบาททุกสตางค์ จึงมีคำถามทั้งจากฝ่ายวิชาการ-ภาคประชาชนอย่างมากมาย ว่าเหตุใดเราถึงจำเป็นต้องมีการขยายและมอบสัมปทานการผลิตไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่ม อย่างที่เราเห็นในแผน PDP 2024 ที่รัฐมีเป้าหมายในการมอบสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม อีกทั้งแผน PDP ฉบับนี้ ไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าเราจะก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในเร็ววัน

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก SDG Move ตั้งข้อสังเกตุของแผน PDP 2024 ว่าเป็นแผนที่ขาดความมั่นคงทางพลังงาน และขาดความยั่งยืน เพราะเรากำลังพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมากเกินไป ปัจจุบันเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่สัดส่วนเกือบ 50% และในบางสถานการณ์มากกว่านั้น

PDP 2024 ระบุว่า เราต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอีก 41% แต่ก๊าซธรรมชาติในบ้านเรามีไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องนำเข้าก๊าซจากเมียนมา และก๊าซเหลว LNG จากต่างประเทศ ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาก๊าซผันผวนอย่างมาก และยากจะคาดการณ์ความผันผวนในอนาคต นี่น่าจะเป็นบทเรียนให้กับเรามากพอ ว่า การพึ่งพิงก๊าซในการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก คือความไม่มั่นคงที่ประชาชนเป็นคนแบกรับต้นทุนเหล่านี้ทั้งหมด

สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยจากแผน PDP 2024 คือ เรายังเห็นการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งนี่คือแหล่งปล่อยคาร์บอนชั้นดี  ไม่นับว่าเป้าหมายด้านพลังงานและการลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่เราได้ลงนามสัญญากับนานาชาติว่า เราจะกลับมาอยู่จุดที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 ในแผนระบุว่า ปี 2573 ไทยจะมีสัดส่วนพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล 66.5% พลังงานหมุนเวียน 33% และพลังงานอื่น ๆ อีก 0.5% กำลังผลิตรวม 268,955 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

แต่จากแผนที่ปรากฏนี้ คาดการณ์ได้เลยว่าไม่อาจเป็นไปได้ ที่เราจะสามารถทำได้ตามสัญญา

อีกส่วนสำคัญที่อาจารย์ชาลีได้นำเสนอ คือการมีความมุ่งหมายสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ตามแผน PDP ฉบับใหม่นี้ เป็นเรื่องแทบที่จะไม่มีความจำเป็นในปัจจุบัน “เพราะเราไม่ได้อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงและขาดความมั่นคงทางด้านพลังงาน” แต่สิ่งที่จะตามมาคืออะไร หากเรายังแสดงให้เห็นว่าเรายังต้องผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ นั่นคือเราต้องสร้างท่าเรือที่สามารถรองรับการถ่าย LNG เพิ่มเป็นท่าที่ 3 นี่ไม่นับว่าทั้ง 2 ท่าที่มีอยู่ ก็มีศักยภาพที่จะสามารถถ่ายเทก๊าซ LNG ได้มากพอเท่ากับโรงผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ ซึ่งหากยังคงเป้าหมายตามแผนเดิมในปี 2580 เราจะมีสัดส่วนพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลลดลงเหลือ 47.6% โดยแบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 41% ถ่านหินและลิกไนต์ 7% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับความพยายามในการต้องการสร้างท่าเรือเพิ่มเติม

นั่นจึงไม่อาจปฏิเสธที่จะคาดเดาได้ว่า ทิศทางการจัดการในลักษณะนี้แสดงเจตจำนงว่า “เราจะยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว LNG ต่อไปในการผลิตไฟฟ้า” ซึ่งอาจเกิดผลดีกับแค่เอกชนบางกลุ่มที่มีธุรกิจเกี่ยวกับค้าก๊าซและร่ำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็ว

อาจารย์ชาลีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน เราสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่เพิ่ม เช่นสร้างความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้า หาค่าความต้องการที่แม่นยำ และขอความร่วมมือเอกชนให้งดผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการน้อย หรือรัฐสามารถออกแบบการจำกัดการใช้ไฟอย่างที่หลายประเทศก็ทำกัน เช่นให้กิจการหรือกิจกรรมบางอย่าง สามารถกระทำได้เป็นช่วงเวลา เพื่อควบคุมปริมาณการใช้ไฟอย่างเหมาะสม

หรืออีกประเด็นคือการพัฒนาสายส่งที่มีศักยภาพในการกักเก็บมากขึ้น เพื่อป้องกันการสูญเสียไฟฟ้าในสายขนส่ง ปัจจุบันตั้งแต่โรงงานผลิตจนถึงภาคครัวเรือน ผู้บริโภคที่เกิดการสูญเสียถึง 30% สุดท้ายที่สำคัญคือ “รัฐต้องหยุดเซ็น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวที่โครงการขาดความโปร่งใสและไร้การแข่งขัน”

ความผันผวนของราคาก๊าซ ต้นทุน(แฝง) แพงที่ประชาชนเป็นผู้แบกรับ และความเขียวไม่พอของแผน PDP 2024 เป็นข้อสังเกตหลักของรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ จาก Climate Finance Network Thailand สอดคล้องกับที่อาจารย์ชาลีกล่าวไปก่อนหน้าว่า สัดส่วนของก๊าซในการผลิตไฟนั้นสูงเกินไป ดูเหมือนว่าแผนดังกล่าวจะไม่กังวลกับความผันผวนของราคา “เพราะประชาชนต้องแบกรับทุกบาททุกสตางค์” จากความผันผวนของราคา LNG ในตลาดโลก ปี 2567 เราจัดหา LNG เพิ่มอีก 19% ส่วนเป้าหมายในปี 2580 เรายังต้องนำเข้า LNG ถึง 37.9% เป็นอย่างน้อย เพื่อรวมกับก๊าซ Potential ที่ต้องจัดหาใหม่อีก 13.4% และถ้าหากเราไม่สามารถหาแหล่งก๊าซ Potential ใหม่ได้ เราก็ต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG ถึง 50 % ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป

แต่ถ้าหากเราตั้งเป้าที่พลังงานสะอาด ซึ่งวันนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่กักเก็บไฟ มีค่าเท่ากับไฟที่ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีต้นทุนอยู่ที่ 70 usd/MWH และในปี 2576 ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ ก็จะถูกกว่าไฟฟ้าที่มาจากถ่านหิน

“เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ว่าการลงทุนในโซลาร์แพง คือความเข้าใจที่ล้าสมัยไปแล้ว”

ต้นทุนค่าก๊าซแฝงเหล่านี้ ยังไม่ได้นับรวมค่าคาร์บอนที่จะตามจากกฎหมาย climate change ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าหากรวมค่าคาร์บอนไปด้วยก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟของเราเพิ่มขึ้นไปอีก พูดได้ว่า “ต้นทุนค่าไฟของเราในวันนั้นจะอยู่ที่ประมาน 4.66 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆ ที่วันนี้ หน่วยละ 4.20 บาท พวกเราก็บ่นกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว”

ที่ต้องพูดว่า “PDP 2024 ยังเขียวไม่พอ” เพราะถ้าหากเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอนของเราที่จุดหมายเดิม(ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ในเวทีโลก) คือปี 2050 แต่เรายังขาดการลงทุนในการเปลี่ยนภาคพลังงาน ซึ่งข้อดีของการรวมศูนย์ด้านการจัดการพลังงานจะทำให้เราเปลี่ยนภาคพลังงานเป็นสีเขียวได้ง่ายที่สุดและถูกที่สุด แต่กลับกันรัฐบาลไทยกลับทำเรื่องนี้ได้ช้ากว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย

ซึ่งนั่นหมายความถึงการดึงดูดนักลงทุนที่มองหาต้นทุนด้านพลังงานที่สะอาดเช่นกัน เพราะฉันทามติเรื่อง Net zero คือข้อตระหนักสำคัญของบริษัทระดับโลก อย่าง Apple Microsoft Amazon และ Google ที่ประกาศชัดแล้วว่าพวกเขาจะเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว “แต่ในเมื่อต้นทุนด้านพลังงานในบ้านเรายังเขียวไม่พอ เราจะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้อย่างไร”

ในส่วนของภาคประชาชนก็ยังมีความหวังว่าแผน PDP 2024 ที่น่าจะประกาศใช้ในเร็ววัน จะยังไม่จบแค่นี้

“เราน่าจะเริ่มใหม่ได้ด้วยการรับฟังประชาชนทุกภาคส่วนในการกำหนดแผนนี้”

เพราะอย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่า กำลังไฟฟ้าเราล้นเกิน แต่แผน PDP กำลังจะทำให้เรามีเขื่อนเพิ่มขึ้น มีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเกิดว่ารัฐไม่มารับฟังประชาชนในส่วนนี้ ซึ่ง…….ยืนยันให้รัฐถอดแผนที่จะซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า 3,500 เมกะวัตต์ออก ถอดแผนที่จะซื้อโรงไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 500 เมกะวัตต์ออก หรือรัฐต้องเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น

เปิดไทม์ไลน์แผน PDP 2024

  • สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ
  • ปี 2564 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น/กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​
  • 12-13 มิ.ย. 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น PDP 2024 และ Gas Plan2024 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ
  • รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เฉพาะ 4 ภาค เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลางเป็นช่องทางออนไลน์ ให้เวลาภาคละ ครึ่งวัน
  • 19-23 มิถุนายน 2567 เปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Facebook-EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th
  • ปัจจุบัน สนพ.ยังไม่เปิดเผยว่าจะส่งร่าง PDP ให้ กพช.ดำเนินการต่อไปในช่วงใด

อย่างที่เราเห็นว่า การเปิดรับฟังความเห็นทั้งจากภาคเอกชนและประชาชนในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก และนี่คือข้อกังวลของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมของแผน PDP 2024 ในครั้งนี้

ยังมีข้อเสนอจากสดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่าย ปชช.จับตาน้ำท่วมอุบลและเขื่อนแม่น้ำโขงว่าในการลด/เลิกซื้อไฟฟ้าเหล่านี้ “ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเราล่มจม แต่คือการก้าวช้า ๆ อย่างมั่นคง” เพราะความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่การมองว่าเรามีไฟฟ้าอย่างมั่นคง “แต่เราต้องมองถึงความมั่นคงของชาวบ้านอีกด้วย ที่ไม่ใช่การได้มาโดยการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน” อย่างเช่นการสร้างเขื่อนที่ไปกระทบชลประทานของชาวบ้าน และอาจจะซ้ำเติมปัญหาเดิมอย่างน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว

แต่แผน PDP 2024 กลับจะซ้ำเติมความไม่มั่นคงเดิมเหล่านี้ที่มีอยู่ ความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นถูกพิจารณาจากความมั่นคงทางพลังงานเป็นสำคัญ การคาดการณ์การเติบโตและปริมาณการใช้ไฟของเราล้นเกินมาโดยตลอด ซึ่งอาจจะย้อนแย้งกับส่วนที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงของประชาชนที่จะต้องแบกรับต้นทุนที่ล้นเกินอย่างไม่จำกัด

สดใส สร่างโศรก พูดในตอนท้ายว่า อยากให้ PDP 2024 เพิ่ม P มาอีก 1 ตัว คือ people – ประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ให้ชีวิตของประชาชน มีความมั่นคง และทรัพยากรธรรมชาติได้รับความเป็นธรรมอย่างสมดุล