'ปาตานี' ฉบับชาติ(ไม่)นิยม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ความขัดแย้งร้าวลึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘ปาตานี’ เพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือเป็นหลัก) มีส่วนมาจากความเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง (ซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่ามากหรือน้อย) มีความเชื่อเรื่องปาตานี เคยเป็นดินแดนเอกเทศ เป็นรัฐปกครองตนเอง มีภาษา วัฒนธรรม และรูปแบบการปกครองของตนเอง ซึ่งประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไม่ถูกกล่าวถึงทั้งในระบบการศึกษา และประวัติศาสตร์เนื้อเรื่องหลักของรัฐ คนอีกกลุ่มหนึ่งก็มีความเชื่อว่า ความเชื่อดังกล่าวของคนปาตานีไม่เป็นความจริง โดยใช้หลักฐานการส่งเครื่องบรรณาการจากหัวเมืองทางใต้ต่อชั้นเจ้านายในกรุงสยาม จึงทำมีความเชื่อว่า หัวเมืองทางใต้ตอนล่างขึ้นตรงต่อการปกครองของสยามมาแต่เดิม

ความเชื่อต่อทั้งสองประวัติศาสตร์ไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลก สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์เพราะนักเรียนประวัติศาสตร์จะระลึกอยู่เสมอว่า “ประวัติศาสตร์มีชุดความจริงมากกว่าหนึ่งเสมอ” แต่ความแปลกของเรื่องนี้คืออะไร เป็นคำถามเปิดชวนคิดและตั้งคำถาม ต่อจิตใต้สำนึกในฐานะผู้รักและหวงแหนดินแดน แม้บางครั้งความรักนี้ได้พลัดพรากสิทธิอันควรจะเป็นจากคนอื่นไปบ้าง อย่างเช่นสิทธิของคนปาตานี ที่เริ่มเลือนหายไป จากจุดเริ่มต้นของ “สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909”

**ผู้เขียนขออ้างอิงเนื้อหาในหนังสือเป็นหลัก และหากผู้อ่านสนใจจะศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี และความขัดแย้งชายแดนใต้ แนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจที่กระจ่างขึ้น

จุดเปลี่ยนสนธิสัญญาแองโกล-สยาม

ไม่ผิดที่จะนับจุดเริ่มต้น ณ จุดนี้ ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ปาตานี เพราะเชื่อว่า นี่คือสนธิสัญญาที่ทำให้ปาตานีตกอยู่ใต้การปกครองของสยามอย่างสมบูรณ์ “เนื่องจากเป็นสนธิสัญญาที่มีการตกลงกันในเรื่องการ ปักปันเส้นเขตแดนแบบรัฐสมัยใหม่” รายละเอียดในสนธิสัญญาระบุว่า มณฑลปัตตานี (รวมถึงเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลาในปัจจุบัน) ตกเป็นของสยาม และมณฑลไทรบุรีซึ่งรวมถึงเมืองเกอลันตันและเมืองตรังกานู ตกเป็นของอังกฤษ ทั้งสองเมืองในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศมาเลเซีย หลังจากมาเลเซียประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษในปีพ.ศ. 2500 อีกคำถามสำคัญที่ผู้เขียนชวนชี้คือ ในขณะนั้นกลับไม่พบการบันทึกการต่อต้านของหัวเมืองมาลายูในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งต่างจากเจ้าเมืองตรังกานู ที่สบถว่า “ประเทศของฉันประชาชนของฉันถูกขายไปเหมือนกับลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อได้ซึ่งไม่มีพันธะกับฉัน แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้” ผู้เขียนชวนชี้ให้เห็นว่า แม้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่นี่ไม่ใช่จุดเปลี่ยนเดียว แต่ยังมีจุดอื่นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง จากการค้นคว้าของผู้เขียนพบว่า อีกช่วงที่สำคัญไม่แพ้กันคือช่วงของรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งสยามปลดเติงกูอับดุลกาเดร์ (ปกครอง ค.ศ. 1899 – ค.ศ. 1902) เจ้าเมืองตานีในขณะนั้น และนำตัวไปขังคุกไว้ที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งในปีดังกล่าวถือเป็นปีที่สิ้นสุดโดยราชวงศ์ปาตานี “หลังจากนั้นปาตานีก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยข้าหลวงที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ”

ตลอดข้อถกเถียงของแต่ละฝ่ายที่เชื่อในประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ซึ่งไม่สามารถก้าวข้ามกับดักทางประวัติศาสตร์ได้ ผู้เขียนจึงชวนมองต่างไปจากเดิม ที่งานศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักอธิบายว่า “ปาตานีเป็นฝ่ายถูกกระทำ และสยามเป็นฝ่ายกระทำ” สำนักประวัติศาสตร์ปาตานีนิยมจึงเชื่อในเรื่องของการกระทำและรุกรานของสยามเป็นหลัก และไม่ต่างกันจากนักประวัติศาสตร์ชาติ(ไทย)นิยม ที่ส่งต่อความเชื่อว่า “นี่คือความสำเร็จของชาติ ชนชั้นนำทางการเมือง และรัฐบาลที่กรุงเทพฯ กระทำการใด ๆ ก็เพียงเพื่อความก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติ” ซึ่งประวัติศาสตร์ทั้งสองชุดความคิดหล่อเลี้ยงเจตจำนงทางการเมืองที่ต่างกัน

บทบาทหลักของปาตานีในอดีต คือบทบาทเรื่องการค้า เพราะเป็นเมืองท่า ประวัติศาสตร์และการบันทึกส่วนใหญ่ จึงสามารถรวบรวมได้จากนักการทูตและนักเดินทางรวมถึงพ่อค้าในขณะนั้น ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ปัจจัยที่ทำให้ปาตานีกลายเป็นเมืองท่าสำคัญมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการจอดพักเรือของเหล่าพ่อค้าวาณิช หากดูจากแผนที่มุมสูง จะเห็นได้ว่า แหลมของอ่าวปาตานี (ปัจจุบันคือแหลมตาชี) ยื่นออกมาเพียงพอที่จะสามารถบดบังลมมรสุมได้ การมีภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ ปาตานีจึงสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้มาทำการค้าและมาตั้งรกรากในบริเวณนี้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งถ้าหากใครมีโอกาสได้ไปเยือนปัตตานี ก็จะยังคงเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์นี้อยู่ โดยเฉพาะในตัวเมือง ที่สถาปัตยกรรม และประชากร มีความผสมกับจีนโพ้นทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก หรือหากกล่าวให้ลึกกว่านั้นในฐานะผู้เขียน จะสามารถเห็นได้ว่า ลุ่มพ่อค้า บริษัท ที่มีอายุยาวนานในพื้นที่ ล้วนแต่เป็นกิจการการค้าของครอบครัวคนจีน และยังรวมไปถึงนักการเมืองท้องถิ่น อย่างเทศบาลเมืองปัตตานี และเทศบาลนครยะลา ที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากครอบครัวชาวจีน สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นเมืองท่าของปาตานีในอดีตได้ผสานผู้คนหลายเชื้อชาติอยู่ด้วยกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและปาตานี หากมองดูอย่างผิวเผินก็จะเห็นว่าทั้งคู่เป็นคู่ขัดแย้งกัน เนื่องจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้ ว่ามีจากการทำสงครามระหว่างกัน แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้งสอง นั้นเป็นความสัมพันธ์แบบหลวมหลวม ไม่กระชับแน่น และมิได้รบกันตลอดเวลา หลักฐานที่ชี้ชัดถึงเรื่องนี้คือย้อนกลับไปในสมัยอยุธยากลับพบว่าอยุธยาในขณะนั้นแม้จะเป็นรัฐที่ใหญ่กว่าปาตานีเป็นอย่างมาก

แต่อยุธยากลับไม่เคยปราบปรามปาตานีสำเร็จเลยสักครั้ง หรือพูดอีกนัยนึงสยามในขณะนั้นออมมือให้กับปาตานีเป็นอย่างมาก แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ตึงขึ้นหลังจากสยามเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ศูนย์รัชกาลที่ 1 สถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งภารกิจหลักของรัชกาลที่ 1 ในขณะนั้นคือการฟื้นฟูและทวงคืนความยิ่งใหญ่ของสยามขึ้นมาอีกครั้ง ขณะนั้น ปาตานีได้แบ่งหัวเมืองการปกครองออกเป็น 7 หัวเมืองหลัก ซึ่งตรงกับช่วงจักรวรรดิอังกฤษมีอิทธิพลต่อการล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ปาตานีโดยตรง ที่ทำให้ปาตานีต้องขึ้นตรงต่อสยาม

เหตุเกิดจากการเมืองในราชสำนัก

ปาตานีเคยเป็นรัฐฮินดู-พุทธ และเปลี่ยนไปเป็นรัฐอิสลาม ในราชวงศ์ศรีวังสา เนื่องจากกษัตริย์องค์ที่สองได้ประชวรจนมิอาจรักษา แต่หายได้ด้วยการรักษาของเชคซาอิด อัลบาซีซาซึ่งเป็นคนอาหรับเยเมนที่อาศัยในปาตานีในขณะนั้น เชคซาอิด อัลบาซีซาปฏิเสธการรับของจากทางราชสำนัก แต่ได้ขอให้กษัตริย์เข้ารับอิสลามหากสามารถรักษาจนหายได้ เมื่อรักษาจนหายได้แต่กษัตริย์กลับไม่รักษาคำพูด และอาการป่วยก็กำเริบถึงสองครั้ง ขุนนางในขณะนั้นได้ขอร้องให้เชคซาอิดกลับมารักษาเป็นครั้งที่ 3 และในที่สุดกษัตริย์ก็ยอมเข้ารับอิสลาม ได้สถาปนาปาตานีเป็นรัฐอิสลาม พร้อมได้นามใหม่ ‘สุลต่านอิสมาแอล ชาห์’ แต่เหตุผลนี้ไม่อาจใช่เหตุผลเดียวที่กษัตริย์ในขณะนั้นยอมสถาปนารัฐปาตานีเป็นรัฐอิสลาม เพราะถ้าหากมองไปรอบ ๆ รัฐมลายูทางตอนใต้ ทั้งปาหัง ตรังกานู เคดะห์ ได้เข้ารับอิสลามตามมะละกาไปเรียบร้อยแล้ว กอปรกับมะละกาได้ใช้อิทธิพลความเป็นอิสลามมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะทางการค้ากับชาติอาหรับเป็นจำนวนมาก

กษัตริย์องค์สุดท้ายจากราชวงศ์ศรีวังสา คือรายากูนิง สวรรคตในค.ศ. 1686 จากบันทึกพบว่า รายากูนิงไม่มีทั้งโอรสและธิดา จึงไปแต่งตั้งรายาบากาล ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองกลันตัน ปัตตานีในขณะนั้นที่ยึดครองสงขลา พัทลุง และตรังกานูไว้จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกลันตัน ตลอดหลายทศวรรษ ปาตานีได้เปลี่ยนกษัตริย์เปลี่ยนผู้ปกครอง จนกระทั่งเสียกรุงให้แก่สยาม ในค.ศ. 1785 – ค.ศ. 1786 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชกาล ของสุลต่านมูฮัมหมัด ชาห์ นับตั้งแต่นั้นมา กษัตริย์/เจ้าเมืองปาตานี ก็จะถูกแต่งตั้งโดยสยาม และต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปให้ทุก ๆ 3 ปี

ปาตานีเคยผ่านยุครุ่งเรือง ซึ่งมีปัจจัยมาจากทะเลแถบนี้มีอิทธิพลต่อการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นรัฐอิสลาม เปลี่ยนกษัตริย์มาตามแต่ละยุคสมัย ซึ่งนี่คือพลวัตรของประวัติศาสตร์ทั่วโลก แม้ในช่วงหลังที่ปาตานีเปลี่ยนเป็นรัฐอิสลาม ศาสนาอิสลามจึงกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในพื้นที่และยังเป็นคนส่วนใหญ่จวบจนปัจจุบัน แต่จากหลักฐานก็ชี้ชัดว่าเชื้อสายและความเชื่อทางศาสนาไม่ใช่เพียงแค่อิสลามเท่านั้นที่มีส่วนต่อการสร้างปาตานี เพราะย้อนไปก่อนอิสลามจะเข้ามา ที่นี่ปกครองโดยราชวงศ์ที่นับถือฮินดู-พุทธ ที่มีทั้งความเชื่อเรื่องภูตผีและบรรพบุรุษ

การปะทะกันของจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในช่วงต้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และมีส่วนต่อการดำรงอยู่ของความขัดแย้งจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน ข้อถกเถียงหลักของผู้เขียนต้องการชี้ชวนว่า “ไม่ใช่ว่าประวัติศาสตร์ของใครจริงกว่า หรือถูกกว่า” แต่เพื่อให้ประวัติศาสตร์ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกข้อถกเถียงสามารถอภิปรายได้ในที่สาธารณะ ไม่ใช่การใช้อำนาจและปลายกระบอกปืน ปิดปากประวัติศาสตร์อีกข้างหนึ่ง และใช้โทรโข่งยัดเยียดประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเอง ตลอดการอ่านข้อถกเถียงของวันอิฮซาน ตูแวสิเดะ (ผู้ขียนหนังสือเล่มนี้) ผมเพียงแต่ได้ข้อสรุปว่า ให้ประวัติศาสตร์ได้เป็นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง

PlayRead: ปาตานีฉบับชาติ(ไม่)นิยม
เขียน: วันอิฮซาน ตูแวสิเดะ, คำนิยม: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์มติชน

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี