Gentrification คำนี้ที่ชื่นชมหรือรู้ทัน? คนรวยย้ายเข้า คนจนย้ายออก - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

บุญเลิศ วิเศษปรีชา 

ระยะหลัง ในเวทีถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องเมือง เรามักได้ยินคำว่า เจนตริฟิเคชั่น (gentrification) กันบ่อยขึ้น ทำให้เกิดความสนใจว่า คำนี้หมายความว่าอะไรกันแน่ มีความหมายในเชิงบวกหรือลบ เช่น ในคราวที่มีการจัดงาน Bangkok Design Week 2024 เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนว่า กิจกรรมแนวนี้ส่งผลให้เกิดเจนตริฟิเคชั่น ซึ่งก็มีผู้โต้แย้งว่า ลำพังการจัดอีเวนต์แค่นี้คงไม่ได้ทำให้เกิดผลมากมาย   

ผมเองเคยพูดถึงแนวคิดนี้ในเวทีอภิปรายหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้เขียนอธิบายให้มีที่ทางชัดเจน จึงขออธิบายแนวคิด gentrification จากมุมมองแนวทฤษฎีเมืองวิพากษ์ (critical urban theory) ซึ่งมีจุดยืนวิจารณ์การพัฒนาเมืองกระแสหลักที่มุ่งเน้นการเติบโตของเมือง ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ และละเลยผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่น (displaced)   

Gentrification นิยามของการทำให้เป็น ‘ย่านผู้ดี’ 

งานเขียนภาษาไทยส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “เจนตริฟิเคชั่น” ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ซึ่งผมรู้สึกว่า สื่อความหมายได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ละคนก็เข้าใจคำนี้ในความหมายบวกหรือลบแตกต่างกันไป มีเพียงคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลคุณภาพสูงที่แปลคำว่า gentrification ว่า “การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมือง” ผมถือว่า เป็นการแปลที่จับประเด็นสำคัญของคำได้ชัดเจนคือ ระบุถึง “การแปลงเปลี่ยนชนชั้น” อย่างไรก็ดี ผมขอแปลคำนี้ให้กระชับและชัดเจนขึ้นว่า “การทำให้เป็นย่านผู้ดี” เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในเมืองจากพื้นที่ที่คนที่สถานะดีกว่าเข้าไปใช้พื้นที่แทนชนชั้นล่างหรือคนชายขอบที่เคยใช้พื้นที่อยู่เดิม   

รูท กลาส (Ruth Glass) นักผังเมืองซึ่งต่อมาเปลี่ยนสายมาเป็นนักสังคมวิทยาเมืองสายมาร์กซิสม์ ที่ University College London คือผู้ที่ได้เครดิตว่า เป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า gentrification ขึ้นครั้งแรกในปี 1964 ในหนังสือ London: Aspects of Change กลาสใช้คำนี้เพื่ออธิบายสิ่งที่เธอสังเกตุและกังวลมาอย่างต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงในย่าน Notting Hill and Islington ในกรุงลอนดอนที่มีชนชั้นกลางเข้ามาอยู่อาศัยแทนที่ย่านของคนงาน โดยเฉพาะการบูรณะฟื้นฟู Victorian lodging houses ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และมีการเปลี่ยนรูปแบบการถือครองจากการให้เช่าเป็นการซื้อขาด ทำให้ราคาทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ชนชั้นกลางเข้ามาแทนที่ย่านซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของคนงาน กลาสจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Gentrification แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า เรื่องราวทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลาสก็ยังได้ที่ชี้ให้เห็นว่า การเข้ายึดครองพื้นที่เมืองโดยคนที่สถานะทางชนชั้นเหนือกว่าจะเป็นโจทย์สำคัญของเมืองในอนาคต 

กลาสเสียชีวิตในปี 1990 และก็เป็นทศวรรษ 1990s ที่คำว่า gentrification ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่โดยนักวิชาการ แต่โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเมือง การเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย เพราะเจนตริฟิเคชั่นเกิดขึ้นในหลายเมืองของประเทศตะวันตก เช่น ย่านบรูคลินในเมืองนิวยอร์ค กระบวนการ gentrification ในเมืองต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ อาจจะมีรายละเอียดต่างกัน แต่แบบแผนของการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ไม่ต่างกันมากนัก คือ ย่านที่อยู่อาศัยของคนจนถูกละเลย เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม กระทั่งคนบางกลุ่มเล็งเห็นมูลค่าบางอย่างที่สามารถทำกำไรได้ เช่น อยู่ในย่านเก่า มีประวัติศาสตร์หรือพูดตามภาษาวัยรุ่นว่า “มีสตอรี” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองเดินทางสะดวก ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ จึงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพื่อปรับปรุงย่านดังกล่าว จนทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมต้องย้ายออก ไม่ว่าจะโดยทางตรงคือ สิ้นสุดสัญญาเช่าแล้วไม่ต่อสัญญาเช่า หรือโดยอ้อมโดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนอัตลักษณ์ของพื้นที่เดิม กระทั่งผู้ที่อาศัยอยู่เดิม รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนแปลกแยกกับพื้นที่เพราะร้านค้าหรือเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยไม่อยู่แล้ว สูญเสียความผูกพันต่อสถานที่ (loss of place) ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ต้องย้ายออก กระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดผลคล้ายคลึงกัน คือ ‘คนรวยย้ายเข้า คนจนย้ายออก’ 

อย่างไรก็ดี ระยะหลังนักวิชาการขยายขอบเขตความหมายของคำว่า gentrification ว่าไม่ได้หมายความเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านที่อยู่อาศัย (residential) ตามที่กลาส ได้ริเริ่มไว้ แต่ครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เมืองในด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีฐานะดีกว่าเข้ามาใช้พื้นที่แทนกลุ่มคนที่เคยใช้พื้นที่มาก่อน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ย่านการค้า จากพื้นที่ค้าขายแบบห้องแถว โชว์ห่วย ร้านขายของชำ แผงค้า ให้กลายเป็นศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านแฟรนไชส์ของทุนใหญ่ ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ทำให้คนดั้งเดิมต้องย้ายออก การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพื้นที่ทำให้กลุ่มคนที่เคยใช้พื้นที่นั้นรู้สึกว่าพื้นที่เปลี่ยนไป แล้วคนกลุ่มอื่นเข้ามาใช้พื้นที่แทนก็สามารถนับเป็นการทำให้เป็นย่านผู้ดีได้เช่นกัน 

ชื่นชมหรือรู้ทัน การทำให้เป็นย่านผู้ดี  

ในทางวิชาการมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับ gentrification มากมาย เช่น ภาคเอกชนหรือภาครัฐมีส่วนทำให้เกิด gentrification อย่างไร ในไทย อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นผู้หนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ควรมองข้ามบทบาทของรัฐ เพราะรัฐมีส่วนสำคัญชี้นำให้เกิดเจนตริฟิเคชั่น (state-led gentrification) ดังเช่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ถัดมาคือข้อถกเถียงว่า คนกลุ่มไหนกันและทำไมคนกลุ่มนี้จึงเลือกมาอยู่ในย่านที่ถูกปรับปรุง งานศึกษากลุ่มนี้จะพูดถึง ชนชั้นกลางใหม่ ชนชั้นสร้างสรรค์ (creative class) หรือโจทย์ใหญ่ว่า เจนตริฟิเคชั่นในทวีปยุโรปและอเมริกา แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั้งในเอเซีย อเมริกาใต้ และอาฟริกาอย่างไร 

สำหรับผมแล้ว ข้อถกเถียงสำคัญของ gentrification ก็คือ เราจะให้คุณค่าและความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร จะมองในเชิงบวกว่า เป็นเรื่องการฟื้นฟูเมือง และเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม หรือเราจะวิพากษ์วิจารณ์ gentrification ที่ทั้งนำมาและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในบริบทสังคมเมือง  

ทอม สเลเตอร์ (Tom Slater) นักภูมิศาสตร์เมืองที่ศึกษาและทบทวนข้อถกเถียงเกี่ยวกับ gentrification สังเคราะห์มุมมองต่อ gentrification ว่า ทัศนะของนักวางผังเมืองกระแสหลัก มักจะมองว่า การฟื้นฟูย่านที่ชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่า ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนที่มีกำลังซื้อสูง เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เป็นเรื่องท้าทายที่จะออกแบบย่านอย่างไรให้สวยงามและดึงดูดผู้คนที่ต้องการมาเดินในย่านเท่ ๆ  

ส่วนข้อกังวลว่า การพัฒนาย่านอาจนำไปสู่การรื้อย้ายผู้คน ก็มองว่า เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ของกลไกตลาดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งมองเห็นประโยชน์จากการลงทุน มองว่ามีลูกค้าหรือผู้บริโภคที่พร้อมจะจับจ่ายหากมีการพัฒนาพื้นที่ ก็ไม่อาจขัดขวางได้ หรือกล่าวให้ถึงที่สุด นี่คือ กติกาของสังคมทุนนิยมที่เราต่างต้องยอมรับ 

ตรงกันข้าม แนวทฤษฎีเมืองเชิงวิพากษ์ จะให้ความสำคัญกับ “ผู้คน” ที่ถูกบังคับให้ต้องรื้อย้ายจากกระบวนการ gentrification และวิจารณ์การให้ความสำคัญกับมูลค่าจากการใช้ที่ดินเพื่อผลกำไรมากกว่า คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อผู้คนและสังคมในภาครวม รวมถึงวิจารณ์บทบาทของภาครัฐที่ให้เปิดทางให้เอกชนลงทุนในพื้นที่ โดยไม่ต้องปกป้องผู้ที่ถูกรื้อย้าย เพราะรัฐก็อยากให้ผู้มีรายได้น้อยย้ายออก ทั้งทำให้สภาพพื้นที่ดูดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น 

มากกว่านั้น สเลเตอร์ ยังชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยเกี่ยวกับ gentrification ในระยะหลังมักขาดมุมมองเชิงวิพากษ์ เปลี่ยนจุดเน้นของการศึกษาไปที่ประเด็น สาเหตุที่มา มากกว่าจะสนใจ ผลกระทบ ของ gentrification หรือ ไม่ก็สนใจ ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของย่าน (gentrifier) มากกว่าสนใจ ผู้ที่ได้รับกระทบและถูกบังคับให้ต้องรื้อย้าย (force to leave) แม้แต่คำว่า gentrification ก็ถูกมองว่าเป็นคำสกปรก ดูระคายเคือง นักการเมือง นักผังเมือง ชอบคำอื่นมากกว่า เช่น คำว่าฟื้นฟูเมือง (regeneration of the city) ซึ่งเป็นการลดทอนผลกระทบของ gentrification ผ่านการใช้ภาษาที่ทำให้บดบังข้อเท็จจริงที่คนจนต้องถูกรื้อย้าย สร้างความชอบธรรมให้กับการปรับปรุงย่านที่เสื่อมโทรม แต่ละเลยคนที่ถูกรื้อย้าย หรือถูกบีบให้ต้องออกจากพื้นที่

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความตั้งใจของผมที่แปลคำว่า gentrification ว่า การทำให้เป็นย่านผู้ดี เพราะต้องการชี้ชัดในภาษาไทยให้เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นพื้นที่ที่ถูกแปลงให้เป็นย่านของคนฐานะดี ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เป็นเช่นนี้ และผมก็สังเกตว่า เวลาผมอภิปรายแล้วใช้คำนี้ ผู้รับฟังการอภิปรายบางคน จะรู้สึกกระอักกระอ่วนทำนองว่า จะแปลด้วยคำตรง ๆ แบบนี้เลยหรือ ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเพราะในการถกเถียงเรื่องเมืองกระแสหลัก มักจะไม่ค่อยผนวกรวมมิติชนชั้นเข้าไปกับการถกเถียงเรื่องเมือง คำว่าชุมชนยังดูน่าพิสมัยกว่าคำว่าคนจน คนชายขอบ ทำราวกับว่า ไม่มีความแตกต่างด้านสถานะทางชนชั้นของคนที่อยู่ในเมือง ทั้งที่ ในการถกเถียงเรื่อง gentrification เรื่องชนชั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะ รูธ กลาส เป็นหนึ่งในคนที่ชี้ให้เห็นการต้องคำนึงมิติทางชนชั้นในการวางแผนเมือง 

ผมคิดว่า การเลี่ยงไม่ระบุถึงความหมายเชิงชนชั้นของคำว่า gentrification จะเป็นการกลบเกลื่อนข้อเท็จจริง หรือทำให้หลงลืมไปว่า พื้นที่ที่เห็นสวย ๆ งาม ๆ ดูทันสมัย ดูเท่ ดูคูล นั้นสร้างขึ้นมาจากซากปรักหักพังของบ้านเรือน และชุมชนที่ถูกบังคับให้รื้อย้ายไป 

ตรงกันข้าม หากเราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การทำให้เป็นย่านผู้ดี หรือย่านคนมีตังค์ คำถามที่ตามมาทันทีคือ แล้วคนเดิมที่เคยอยู่ที่นี่เขาไปอยู่ที่ไหนกัน  

ผมคิดว่า เมื่อเราเดินไปในย่านเก่าที่ถูกฟื้นฟูให้สวยงาม ทันสมัย นั่งเช็กอินในร้านกาแฟเท่ตามย่านคูล ถ่ายรูปกับกำแพงกราฟิตี้ แล้ว เราไม่ลืมที่จะถามตัวเองว่า คนเก่าที่เคยอยู่ที่นี่ เขาอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เรากำลังเดินอยู่ในย่านที่คนเก่าต้องถูกย้ายออกอย่างไม่เต็มใจหรือไม่ โครงการนี้มีส่วนทำลายชุมชนดั้งเดิมหรือไม่ คำถามทำนองคือ หัวใจที่ทฤษฎีเมืองเชิงวิพากษ์ต้องการเน้นย้ำ และให้สำคัญต่อมุมมองของคนที่ถูกไล่รื้อ (displaced) 

หากลืมที่จะตั้งคำถามถึงคนที่ถูกรื้อย้าย ผู้บริโภคทั้งหลายก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เป็นย่านผู้ดีโดยไม่รู้ตัว ทำให้หลงลืมบาดแผลทางความรู้สึกของคนที่ถูกบังคับให้รื้อย้าย เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เมืองเติบโต แต่กระทำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ 

มากกว่านั้น หากเรารู้เท่าทันว่า โครงการอภิมหาโปรเจกต์ หรือโครงการสร้างย่านคูล ๆ ทั้งหลาย ที่จะสร้างขึ้นโดยไม่เหลียวแลผู้ที่ถูกบังคับให้รื้อย้าย พร้อมส่งสัญญาณว่า เราจะเลิกเดินไม่เช็กอินพื้นที่เหล่านี้ เราต่อต้านโครงการทำนองนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คนที่จะลงทุนต้องคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบขึ้นบ้าง

1 เร็ว ๆ นี้ มีนิสิตจุฬาฯ ท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า มีอาจารย์ในชั้นเรียนพูดถึง gentrification ในแง่บวก สำหรับผมเข้าใจนิสิตจุฬาท่านนั้น แต่ก็ไม่แปลกใจที่มีคนจำนวนมากคิดแบบอาจารย์ที่นิสิตจุฬาท่านนี้พูดถึง (อ่าน) อินเตอร์จุฬาฯ ที่ไม่สวยหรูอย่างที่คาดไว้ | ประชาไท Prachatai.com

2 วารสาร Kyoto Review of Southeast Asia เป็นวารสารออนไลน์ ตีพิมพ์บทความของผม ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Environmental Gentrification and Eco-authoritarianism: Restoring Canals under the Military-led Government in Thailand ในวารสารฉบับเดียวกัน มีการตีพิพม์ฉบับแปลของบทความเป็นภาษาไทย ที่แปลโดย คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ด้วย โปรดดู การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา: การฟื้นฟูคลองภายใต้รัฐบาลทหารในประเทศไทย – Kyoto Review of Southeast Asia

3 Slater, T. (2011). Gentrification of the city. in The New Blackwell companion to the city, 2011. Gary Bridge & Sophie Watson (eds). Pp. 571-585.

4 Slater, T. (2006). The eviction of critical perspectives from gentrification research. International journal of urban and regional research30(4), 737-757.

5 Glass, R. (1964). Introduction: aspects of change, BO: London: Aspects of Change. Center for Urban Studies, London: MacKibbon and Kee, xiii–xlii.

6 พี่แต ที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ สะท้อนความรู้สึกต่องานบางกอกดีไซน์วีค ที่นำชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นฉากหลังของเรื่องราว แต่แทบไม่สนใจความรู้สึกของคนที่ถูกรื้อย้าย ชาวป้อมมหากาฬ คาใจ ‘บางกอกดีไซน์วีค’ เอาทะเลมาฉาย เกี่ยวอะไรกับกรุงเทพฯ เผย 6 ปีโดนไล่ใจยังเจ็บ

7 สำหรับผู้ที่อยากเห็นรูปธรรมที่สะท้อนว่า คนแต่ละสถานะมอง gentrification ต่างกันอย่างไร ผมขอแนะนำให้ดูภาพยนตร์สารคดี the Last Breath of Sam Yan ที่ทำโดยนิสิตจุฬาฯ ที่เข้าไปช่วยศาลเจ้าแม่ทับทิมจากการถูกไล่รื้อโดยสำนักบริหารทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้สามารถดูได้ทาง Netflix มีทั้งทัศนะที่มองว่า ระบบทุนนิยมก็เป็นเช่นนี้แล กับ ผู้ที่เห็นว่า การพัฒนาเมืองควรคำนึงถึงมิติอื่น ๆ ไม่ใช่มุ่งแต่กำไร