ถ้าไม่มี สว. - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เป็นวาระที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเมื่อมองจากมุมมองเปรียบเทียบและบริบททางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย

หากเรามองกระบวนการเลือกวุฒิสมาชิกชุดใหม่โดยลำพังตัวมันเอง ย่อมถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่น่าสนใจและไม่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด เปรียบเสมือนอีเวนต์ทางการเมืองที่ดูจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ถูกลิดรอนสิทธิและกีดกันออกไปตั้งแต่ต้นเสียแล้ว

แต่ผมอยากชวนให้ทุกคนมองการเลือกวุฒิสมาชิกชุดใหม่โดยเชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพที่กำลังจะครบรอบ 10 ปีพอดีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ได้สร้างความถดถอยให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยอย่างรุนแรง หลักนิติรัฐและกติกาถูกทำลาย สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน และละเมิดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ระบบพรรคการเมืองและการเมืองภาคประชาชนถูกทำให้อ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารโดยกองทัพในโลกยุคปัจจุบันนั้นมีต้นทุนที่สูง เพราะขัดฝืนกับค่านิยมและระเบียบระหว่างประเทศ เสี่ยงที่จะถูกประณามจากชุมชนนานาชาติและถูกระงับความช่วยเหลือรวมถึงตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่การค้าและการลงทุน

ฉะนั้น ผู้นำทหารที่ยังฝืนทำรัฐประหารในยุคสมัยนี้ (ไม่ว่าจะในประเทศไทย มาลี อียิปต์ บูร์กินาฟาโซ ฯลฯ) เมื่อยึดอำนาจแล้ว จึงต้อง “สัญญา” ว่าจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนในระยะเวลาที่ไม่เนิ่นช้าเกินไปนัก จะปกครองแบบเผด็จการโดยไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอย่างถาวรย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือจะห้ามการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และการรวมกลุ่มของประชาชนตลอดไปก็ทำไม่ได้เช่นกัน

โจทย์ท้าทายของผู้นำที่ไม่นิยมประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 จึงอยู่ที่ว่าจะรักษาสืบทอดอำนาจอย่างไร โดยต้องยอมให้มีสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตย (รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจต่าง ๆ) ในระดับหนึ่งเพื่อรักษาภาพลักษณ์และได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติ แต่ดัดแปลงให้องค์ประกอบของความเป็นประชาธิปไตยเหล่านี้กลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่สามารถสั่นคลอนและท้าทายอำนาจของผู้นำได้ เช่น ทำให้การเลือกตั้งดูเสมือนมีการแข่งขัน แต่ที่จริงแล้วไม่ได้แข่งกันอย่างเสมอภาค

เลือกตั้งอย่างไรฝ่ายชนชั้นนำอำนาจนิยมก็ครองอำนาจต่อไปได้ การเลือกตั้งกลายเป็นเพียงพิธีกรรมหรืออีเวนต์ทางการเมืองที่ปราศจากความหมาย

เพื่อที่จะครองอำนาจโดยรักษาฉากหน้าของความเป็นประชาธิปไตยไว้ ยุทธศาสตร์หรือ “เกม” ของผู้มีอำนาจทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ มี 3 ประการดังต่อไปนี้

หนึ่ง สร้างกติกาใหม่ให้ตนเองได้เปรียบ สร้างเงื่อนไขให้กติกานี้แก้ยากกระทั่งแก้ไขไม่ได้เลย และถ้าให้ดีควรทำประชามติ (แบบพิธีกรรม คือให้รณรงค์ได้เฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนกติกาของฝ่ายผู้มีอำนาจ) เพื่อผ่านร่างกติกานี้ เพราะจะได้อ้างได้อย่างชอบธรรมในภายหลังว่ากติกาดังกล่าวประชาชนเลือกมากับมือ (แม้ในความเป็นจริงจะถูกมัดมือชกและบีบบังคับให้จำยอมก็ตาม)

สอง ตั้งคนที่เป็นพวกพ้องบริวารของฝ่ายคณะรัฐประหาร/ผู้มีอำนาจเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรสำคัญ ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและตรวจสอบรัฐบาล เพราะถ้าคุมองค์กรเหล่านี้ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการการแข่งขันและผู้ถ่วงดุลรัฐบาลได้แล้ว ก็ย่อมครองอำนาจได้ยาวนานโดยไม่ต้องกังวล

สาม ทำให้พลังของฝ่ายค้านอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือขบวนการภาคประชาชน โดยผู้นำเผด็จการในโลกปัจจุบันที่ฉลาดจะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงสังหารปราบปรามฝ่ายค้าน แต่ใช้การออกแบบกติกาและเครื่องมือทางกฎหมายในการทำให้พลังของประชาชนที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจแคระแกร็นและอ่อนกำลัง จนไม่เหลือศักยภาพที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ประชาธิปไตย

ในสังคมไทย คสช. ทำทั้งสามอย่างครบถ้วนตามยุทธศาสตร์ คือ หนึ่ง คลอดรัฐธรรมนูญ 2560 สอง ตั้งคนในเครือข่ายเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ และสาม ใช้กลไกทางกฎหมายตัดสิทธินักการเมือง ยุบพรรคฝ่ายค้าน และดำเนินคดีกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง  

สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้ง 250 คน คือ ข้อต่อที่สำคัญที่สุดในภารกิจค้ำจุนอำนาจของระบอบรัฐประหารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คือ เป็นนายด่านคอยขัดขวางไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่สรรหาและคัดกรองคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรอิสระที่ไม่เป็นกลางนี้เองที่ใช้อำนาจไปในทางที่บั่นทอนประชาธิปไตยให้อ่อนแอ

สังคมไทยได้เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ว. ที่ไม่อิสระและขาดความยึดโยงกับประชาชนตลอด 5 ปีที่ผ่านมาอย่างกระจ่างชัดประจักษ์สายตา วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งกลายเป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลมากกว่าทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งทำหน้าที่ขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งและถ่วงรั้งพัฒนาการประชาธิปไตยมากกว่าส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ ส.ว. ชุดที่กำลังจะหมดวาระ คือ ผู้พิทักษ์กติกาและโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และคือผู้รักษามรดกของคณะรัฐประหาร ในวันที่หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลแล้ว สว. เป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่ตอกตรึงไม่ให้สังคมสามารถขยับปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อยากชวนทุกท่านลองจินตนาการว่า หาก 5 ปีที่ผ่านมา เราไม่มี สว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร สังคมไทยจะมีหน้าตาเป็นเช่นใด การเมืองไทยจะมีลักษณะดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

วาระการเลือกวุฒิสมาชิกที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นวาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะหากสังคมไทยไม่สามารถเปลี่ยนวุฒิสภาจากเครือข่ายชนชั้นนำให้กลายเป็นสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงได้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะคงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป องค์กรอิสระที่ขาดความเป็นกลางและขาดการยึดโยงกับประชาชนก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่แก้ไขไม่ได้ หากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เราไม่สามารถปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปัญหาคือ กติกาการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาอย่างพิสดารและตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป ที่มาของ สว. แทนที่จะมาจากการเลือกตั้ง (election) กลับมาจากการเลือกสรร (selection) เฉพาะกลุ่มคนที่ไปสมัคร กติกาเช่นนี้คือการกำหนดเกมให้มีการแข่งขันน้อยที่สุด ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ (คือ ตัวบุคคล) ที่ฝ่ายผู้ร่างกติกาต้องการ

คำถามคือ เมื่อเกมนี้ถูกออกแบบมาอย่างไม่เป็นธรรม ประชาชนควรเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่? สำหรับผม ยิ่งเกมถูกวางกรอบมาให้ไม่เป็นธรรมเท่าใด ประชาชนยิ่งต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะในบทบาทผู้สมัคร บทบาทของการเฝ้าจับตา และติดตามกระบวนการการเลือก และการเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ เราเข้าไปเล่นในเกมที่ไม่เป็นธรรมมิใช่เพื่อเป็นผู้ชนะ แต่เพื่อเปลี่ยนให้เกมนี้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

หากประชาชนนิ่งเฉย สังคมไทยก็อาจจะได้วุฒิสมาชิกที่มีลักษณะคล้ายกับวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าประชาชนจำนวนมากไม่นิ่งดูดาย เราจะสามารถเปลี่ยนวุฒิสมาชิกให้มีความหลากหลาย และเป็นสภาของประชาชน และมันจะเป็นจุดนับหนึ่งในการเปิดประตูสู่การแก้ไขกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว