ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์อังกฤษที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญมากสำหรับคนที่ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์รวมไปถึงการสื่อสาร คงไม่ผิดที่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่สั่นคลอนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อราชวงศ์ค่อนข้างมาก และมันเป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียนั้นกำลังทำให้การสื่อสารเปลี่ยนไป
ช่วงที่ผ่านมาราชวงศ์อังกฤษเผชิญวิกฤติหลายด้าน ก่อนหน้านั้นเจ้าชายแฮรีและพระชายาออกมาเปิดโปงเรื่องราววงในโดยมีปัญหาแกนหลักอยู่ที่เรื่องของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งก็สั่นสะเทือนวงการอย่างหนักกันไปครั้งหนึ่งแล้ว ยังไม่นับเรื่องคะแนนนิยมของกษัตริย์และพระราชินีองค์ใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นมาท่ามกลางเงื่อนไขที่ไม่ค่อยเป็นคุณเท่าไหร่ ต่อมากษัตริย์ชาร์ลส์ทรงต้องรับการรักษาโรคมะเร็ง ในเวลาเดียวกันสะใภ้หลวงและว่าที่ราชินีในอนาคตคือ เจ้าหญิงแคเทอรีนหรือที่เรียกกันสั้น ๆ แบบคนอังกฤษยามที่ไม่เอาพิธีรีตองมากนักก็คือเคท มิดเดิลตัน พระชายาของเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ก็ทรงต้องเข้ารับการผ่าตัดที่ช่องท้อง ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าผ่าตัดอะไร แต่สำนักพระราชวังออกข่าวในเวลาต่อมาว่า การผ่าตัดเป็นไปด้วยดีและว่าหลังการพักฟื้นคาดว่าจะทรงออกงานได้ช่วงเทศกาลอีสเตอร์
เจ้าหญิงเคทก็หายไปจากหน้างานต่าง ๆ จนเวลาผ่านไปก็เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่กษัตริย์ชาร์ลส์ยังทรงส่งข่าวทักทายถึงพสกนิกรในระหว่างที่ทรงพักจากงาน แต่เหตุใดเจ้าหญิงเคทถึงทรงหายไปออกข่าวเลย แม้แต่จะทักทายสาธารณะทั้งที่การผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดีดังว่า ข้อสังเกตนี้มีผู้สะท้อนกันอึงอลในโลกโซเชียลจนดังขึ้นเรื่อย ๆ และไปกันไกลถึงขนาดมีการติดแฮชแท็ก #ตามหาเคทมิดเดิลตัน
มาวันหนึ่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ก็ได้เผยแพร่รูปเจ้าหญิงเคทที่ทรงถ่ายร่วมกับครอบครัวให้กับสื่อ สื่อก็เอาไปลงกันโดยรายละเอียดภาพบอกว่าภาพนี้เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นผู้ถ่ายจึงไม่มีพระองค์อยู่ในนั้น แต่การณ์กลับปรากฏว่าในโลกของผู้ใช้โซเชียลมีเสียงจับผิดว่ามีการแต่งภาพอย่างชัดเจน ถัดมาสื่อหลายสำนักถึงกับถอดภาพนี้ออกจากการนำเสนอโดยบอกว่าเป็นภาพที่ไม่เข้ามาตรฐานของการนำไปเผยแพร่เพราะเป็นภาพที่ผ่านการดัดแปลงมาแล้ว
อันที่จริงแล้วการแต่งภาพถ่ายปัจจุบันเป็นเรื่องปกติมาก ใคร ๆ ก็ต้องการปรับแต่งภาพเพื่อให้ดูดีและเรื่องนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันได้ถ้าไม่ใช่เป็นการสร้างใหม่จนผิดไปจากของจริง แต่กรณีนี้มีผู้ตั้งคำถามไปไกลถึงขนาดว่ามีการถ่ายภาพกันจริงหรือไม่หรือเพียงเอาภาพเก่าจากหลาย ๆ ภาพมาตัดแปะเข้าด้วยกัน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เปิดภาพต้นฉบับแต่กลับไม่มีคำตอบเรื่องนี้จากในวัง ยิ่งทำให้ข่าวลือกระฉ่อนหนักขึ้นว่าเจ้าหญิงเคทน่าจะมีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ ถ้าไม่ใช่ในเรื่องสุขภาพ ก็น่าจะเป็นปัญหาชีวิตด้านอื่น ซึ่งในที่สุดแล้วการกะเก็งและข่าวลือก็แน่นอนว่าพุ่งเป้าไปที่ชีวิตสมรสของพระองค์ว่า กำลังมีปัญหาจนอาจถึงขั้นแยกทางกันเดินกับเจ้าชายวิลเลียม
นักสืบโซเชียลตามไปขุดค้นแล้วกระจายข้อมูลว่า เจ้าชายวิลเลียมทรงมีรักซ้อนกับสาวตระกูลผู้ดีที่เป็นพระสหายของเจ้าหญิงพระชายาเอง สาวคนนี้แต่งงานแล้วกับชายที่ค่อนข้างสูงวัยในตระกูลขุนนาง ก็มีข้อมูลมาให้กะเก็งกันอีกมากมายและสื่อเล็กสื่อน้อยเปิดกระแสให้กว้างขึ้นด้วยการขุดค้นทุกเรื่องเท่าที่จะหาได้จากโลกโซเชียลจนถึงขนาดว่าบุตรของเธออาจจะไม่ใช่บุตรของสามีเธอ ยังมีอีกอย่างที่เข้ามาในวงการข่าวลือด้วยคือ เรื่องที่ว่ากันว่าเจ้าชายวิลเลียมทรงมีบุคคลิกอีกด้าน คือเป็นคนพระทัยร้อน นักสืบโซเชียลปะติดปะต่อเรื่องราว ไปเอาข้อมูลที่เจ้าชายแฮรีทรงเปิดเผยเอาไว้ว่าเคยถูกพระเชษฐาทำร้ายเอามาอธิบายนิสัยของเจ้าชายวิลเลียม แล้วก็มีคำถามหนักขึ้นว่า ตกลงเจ้าหญิงเคทเธออยู่ไหนกันแน่ บ้างถามถึงขนาดว่ายังทรงมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีบ้างที่สงสัยว่าการผ่าตัดอาจไม่ได้ผลหรือไม่ก็มีโรคที่ร้ายแรงมากกว่าที่เปิดเผยออกมา มีคนถามไปถึงการถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกักบริเวณก็มี รวมไปถึงที่ว่าหลบซ่อนตัวด้วย คือโลกโซเชียลนั้นเหมือนจะพร้อมจะเป็นแหล่งบ่มเพาะทฤษฎีสมคบคิดตลอดเวลา
แล้วจึงมีแถลงการณ์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ออกมายอมรับว่า ทรงเป็นผู้ตบแต่งภาพเองเพราะทรงสนใจเรื่องการตกแต่งภาพ การถ่ายภาพอยู่แล้ว คือเจ้าหญิงเคทนั้นสนใจการถ่ายภาพถึงขนาดเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมช่างภาพ การยอมรับของเจ้าหญิงกลับทำให้ผู้ใช้โซเชียลพากันตำหนิสำนักพระราชวังและเจ้าชายวิลเลียมว่าปล่อยให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องออกมารับผิดแต่เพียงผู้เดียว
สื่อแทบลอยด์และโซเชียล รวมไปถึงกลุ่มทอล์คโชว์ในสหรัฐฯ มีบทบาทในการเอาดราม่าจากโลกโซเชียลไปขยาย สื่อแทบลอยด์รายหนึ่งถึงกับไปจ่ายเงินซื้อคลิปภาพคนคู่หนึ่งเดินออกมาจากร้านค้าแล้วบอกว่าคือเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าหญิงเคท แต่นักสืบโซเชียลทำงานอย่างไว บอกว่าไม่ใช่แน่นอน คนละคนกัน หลายคนยิ่งมีคำถามหนักมากขึ้นว่าเหตุใดสำนักพระราชวังจึงไม่ออกมาคลายปมข้อสงสัยของสาธารณะให้หายไป
กรณีของรอยัลแฟมมิลีของอังกฤษนี้ต้องบอกว่า มันมีภูมิหลังของเรื่องที่เชื่อได้ว่าส่งผลทำให้ทัศนะของผู้เสพสารมีแนวโน้มจะออกมาในลักษณะนี้ และนี่น่าจะเป็นประเด็นที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยเจ้าหญิงไดอาน่า เพราะเรื่องราวของไดอาน่าทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่า ราชวงศ์นี้มีการปฏิบัติต่อผู้หญิงที่แต่งเข้าสู่ราชวงศ์อย่างไม่เป็นธรรม
เลดี้ไดอาน่า อดีตชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กษัตริย์องค์ปัจจุบันและเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ มีเรื่องราวที่ยังเล่าขานกันไม่จบในฐานะที่เป็นปริศนาหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ หรือจะพูดอีกอย่างก็คือหาคำอธิบายที่ทำให้สาธารณะเชื่อไม่ได้โดยเฉพาะกับความตายของเธอ สาธารณะส่วนหนึ่งเชื่อไปแล้วว่าเธอเป็นเหยื่อ
ไดอาน่านั้นต้องเรียกว่าได้รับการคัดเลือกเพื่อให้ไปทำหน้าที่เป็นชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในขณะที่เธอยังอายุน้อย ความเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล ไม่เคยมีคู่รักมาก่อน กลายเป็นเงื่อนไขที่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ถูกเลือก ขณะที่ราชวงศ์ต้องการเลือดใหม่เข้าไปช่วยทั้งในเรื่องของการมีทายาท และการเติมเต็มชีวิตชีวาให้กับราชวงศ์ ช่วงที่อังกฤษมีไดอาน่าในฐานะพระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ต้องบอกว่าธุรกิจการท่องเที่ยว ของที่ระลึกและภาพลักษณ์ของประเทศเต็มไปด้วยความสดใสฟู่ฟ่าเพราะสีสันที่มาพร้อมกับตัวเธอ อย่างไรก็ตามชีวิตรักของเธอเองกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะเจ้าชายชาร์ลส์แต่งงานกับเธอทั้ง ๆ ที่ตัวเองมีคู่รักอยู่แล้วแต่ว่าไม่ได้รับการยอมรับจากในวัง เนื่องจากคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์นั้นเป็นสตรีที่แต่งงานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์พ้นวัยหนุ่มน้อยไปแล้ว แต่ในวังก็ยังไม่อนุญาตให้ทรงเป็นตัวของตัวเองถึงขนาดจะเลือกคู่ชีวิตแบบนั้นได้ คำตอบกลายเป็นการยังคงสายสัมพันธ์กับคามิลลาแต่แต่งงานกับไดอาน่า ชีวิตดราม่าของไดอาน่าเรียกความเห็นใจจากผู้คน แม้ว่าด้านหนึ่งจะถูกประนามเพราะการที่มีสัมพันธ์กับชายอื่น แต่ผู้คนไม่น้อยก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นผลพวงของชีวิตแต่งงานที่ไม่ประสบความสำเร็จแต่ต้น
เมื่อพวกเขาหย่ากันและไดอาน่าคบกับโดดี้ อัลฟายิด ลูกชายเจ้าของห้างแฮร์รอดส์ ว่ากันว่าราชวงศ์อังกฤษหวาดหวั่นกับการที่อดีตชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์ ว่าที่กษัตริย์องค์ใหม่และว่าที่พระมารดาของกษัตริย์องค์ต่อไปจะมีสายสัมพันธ์กับมุสลิมและเชื่อมโยงพวกเขาเข้าสู่ราชวงศ์ จึงกลายเป็นที่มาของทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า เธอถูกวางแผนกำจัดในอุบัติเหตุทางรถจนเสียชีวิต ความตายของเธอจึงยังเป็นหัวข้อให้คนถกเถียงกันมาจนถึงวันนี้
ถึงแม้ไม่มีเรื่องความตายและอุบัติเหตุ คนจำนวนหนึ่งก็ยังมองว่าราชวงศ์อังกฤษนั้นเอาเปรียบไดอาน่า ผู้หญิงที่ยังไม่ทันได้เรียนรู้โลกและชีวิตอย่างเต็มที่แต่ต้องไปเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ที่ถือว่าเป็นที่จับตามากที่สุดราชวงศ์หนึ่งของโลกทำให้ต้องรับมือกับสื่อที่ติดตามจับตาทุกฝีก้าว ในขณะที่ต้องรับมือกับชีวิตสมรสที่ซับซ้อนและจบลงด้วยการพังทลายไม่เป็นท่า แล้วไหนยังจะต้องเลี้ยงลูกไปด้วยและพยายามสร้างชีวิตของตัวเองให้มีความหมายด้วยการออกไปทำงานการกุศลรณรงค์เรื่องกับระเบิดและเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ ความเห็นใจของสังคมนี้มาจากความรู้สึกร่วมว่าเธอเป็นเหยื่อของระบบและวิธีคิดแบบราชวงศ์
ยังมีเรื่องที่เจ้าชายแฮรี่ทรงนำมาเปิดเผยที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติในระหว่างสมาชิกราชวงศ์ต่อพระชายาที่เป็นอเมริกันสีผิวจนทำให้ต้องทรงพาครอบครัวไปอยู่สหรัฐฯ กรณีนี้ยิ่งทำให้ชาวอเมริกันดูจะยิ่งมองสมาชิกราชวงศ์อังกฤษไปอีกแบบหนึ่งรวมทั้งน่าจะมีส่วนกำหนดทัศนะมุมมองของสื่ออเมริกันในเรื่องนี้ด้วย
ในที่สุดฝ่ายวังทนไม่ไหวเพราะเสียงลือเสียงเล่าอ้างในโลกโซเชียลที่ไปไกลมากขึ้นทุกที จนในที่สุดได้เผยแพร่คลิปสั้น ๆ ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่ทรงเปิดเผยว่าต้องการเวลารักษาตัวเนื่องจากเป็นมะเร็ง
การเผยแพร่คลิปดังกล่าวเรียกได้ว่าสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ระดับหนึ่งและพักหนึ่ง มีหลายคนที่ช่วยกระพือข่าวลือถึงกับออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษ แต่แค่ไม่กี่วันก็มีคนออกมาท้วงติงอีกว่าอันที่จริงแล้ว แม้แต่คลิปวิดีโอที่ออกมาหลังสุดนี้ที่บีบีซีบอกว่าเป็นคนถ่ายก็ยังมีเรื่องให้จับผิดได้อีก แม้ว่าจะมีนักข่าวยืนยันนั่งยันว่าเป็นคลิปจริง แต่ก็ยังมีผู้หยิบยกเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยที่ก่อให้เกิดความสงสัยเช่น การที่เกตตี้อิมเมจระบุไว้ในการลงภาพว่า
สำหรับในแง่ของคนที่สนใจเรื่องการสื่อสาร นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าคิดอย่างมาก ทั้งในแง่ของการศึกษาเรื่องศาสตร์ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคอนเทนต์ของตัวเอง วอชิงตันโพสต์เอาคลิปวิดีโอดังกล่าวนี้ไปให้หลายสถาบันที่เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบภาพเท็จช่วยตรวจสอบ ที่น่าตกใจคือได้คำตอบทั้งที่ยืนยันว่าเป็นของจริงกับที่ไม่แน่ใจ ซึ่งนั่นแปลว่าแม้แต่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจสอบภาพก็ยังไม่อาจฟันธงชัด ๆ ได้
ที่สำคัญแม้แต่ยี่ห้อของสื่อระดับบีบีซีก็ยังไม่อาจเป็นหลักประกันให้กับคนจำนวนหนึ่งได้แน่ใจว่า สิ่งที่นำเสนอนั้นเป็นของจริง มันจึงเป็นเครื่องยืนยันกับเราว่าอันที่จริงแล้วเทคโนโลยีในการแต่งภาพและสร้างภาพด้วยเอไอในปัจจุบันก้าวหน้าเสียจนเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะบอกได้ว่าอะไรจริงหรือไม่ และนั่นจะทำให้การนำเสนอข้อเท็จจริงผ่านภาพทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เพราะผู้คนขาดความเชื่อมั่นในสื่อลักษณะนี้ไปอย่างมากแล้ว และท้ายที่สุดอาจจะไม่สามารถใช้ภาพนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพดังที่ผ่านมา
เฉพาะหน้า ขณะนี้วงการสื่อระดับโลกก็คงจะตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า จะนำเสนอภาพของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษกันอย่างไร? และในเมื่อที่ผ่านมาภาพต่าง ๆ ที่สำนักพระราชวังส่งให้ก็ได้รับการนำไปเสนอด้วยดี นั่นหมายความว่า สื่อสำนักต่าง ๆ ยินยอมพร้อมใจกับเรื่องเช่นนี้หรือไม่ จะอธิบายอย่างไรว่าสื่อยอมให้มีการแต่งภาพได้และในระดับใด ที่ผ่านมาอาจจะไม่มีการตั้งคำถาม แต่จากนี้ไปพวกเขาจะมีคำถามแน่นอน เพราะมันเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ของสำนักของตัวเอง
สำหรับราชวงศ์อังกฤษ ผู้เขียนเชื่อว่า คงจะวนเวียนกับปัญหานี้ต่อไปไม่สิ้นสุดและสมาชิกราชวงศ์เองก็คงจะพบกับความท้าทายอย่างมากจากเสียงเรียกร้องให้โปร่งใส ขณะที่คะแนนนิยมของราชวงศ์เองค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ผลการสำรวจความเห็นของเว็บ YouGov แสดงให้เห็นว่า ความเห็นของประชาชนที่มองความจำเป็นของการดำรงอยู่ของรอยัลแฟมมิลีนั้นลดลงเรื่อยมาจากปี 2562 ที่มีผู้ถูกสำรวจความเห็นถึง 60% มองว่าประเทศยังจำเป็นต้องมีสถาบัน หลังจากนั้นตัวเลขก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ปี 2564 เหลือ 55% ปลายปีที่แล้วเหลือ 52% ปีนี้เหลือ 51%
ส่วนรายงานของบีบีซีอ้างตัวเลขจากเว็บเดียวกันระบุว่า ถ้าดูตามอายุแล้วจะพบว่า ในบรรดาคนรุ่นใหม่เห็นความจำเป็นของการมีรอยัลแฟมมิลีน้อยลง คือคนอายุ 18-24 ที่เห็นว่ายังควรจะมีอยู่ แค่ 30% ส่วนที่อายุ 65 ขึ้นเห็นควรว่ายังคงมีต่อไปถึง 77% นี่เป็นตัวเลขของการสำรวจความเห็นจากตัวอย่าง 2,000 ตัวอย่างเมื่อปลายปีที่แล้ว ผลสำรวจระบุว่า ตัวเลขของคนที่อยากให้มีการเลือกตั้งประมุขโดยตรงมีมากขึ้นแต่ทว่าก็ยังน้อยมากอยู่เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ต้องการให้สานต่อราชวงศ์แบบปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสมาชิกราชวงศ์ที่ยังทรงงานอยู่ จะพบว่าเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าหญิงเคทได้รับคะแนนนิยมมากกว่าสมาชิกรายอื่น
หลังสุดบรรดานักข่าวสายวังของสื่อตะวันตกเริ่มออกมาเขียนในทำนองอธิบายปัญหาของครอบครัวเจ้าชายวิลเลียม โดยบอกว่า เจ้าชายกับเจ้าหญิงแห่งเวลส์น่าจะทรงเครียดมาก นี่เป็นคำอธิบายผ่าน “พระสหาย” ซึ่งเป็นเรื่องปกติของข่าววงในของราชสำนัก หนนี้มีคำอธิบายว่า ความเครียดนี้นอกจากความเจ็บไข้ได้ป่วยของสมาชิกราชวงศ์คนสำคัญแล้ว ยังมีโอกาสสูงว่าเจ้าชายวิลเลียมอาจจะต้องทรงขึ้นครองราชย์ในเวลาที่เร็วกว่าที่คาด สื่อไม่ได้บอกว่าเพราะอะไรแต่ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงป่วยด้วยมะเร็งถือว่าเป็นความแตกตื่นของคนทั้งวงการ ที่ผ่านมาสมัยเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงได้เวลาเตรียมตัวเหลือเฟือ แต่เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาน่าจะไม่มีเวลามากขนาดนั้น ทำให้ยิ่งเครียดหนักขึ้น คำอธิบายของสื่อสายวังแบบนี้น่าจะเข้ามาเพื่อช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นหลังจากที่มีข่าวทางเสีย ๆ หาย ๆ หลายประการ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องติดตามดูว่า คำอธิบายเช่นนี้จะส่งผลเรียกคะแนนกลับมาบ้างหรือไม่
ในยุคสมัยไดอาน่านั้น สื่อถูกตำหนิอย่างมากว่าก้าวก่ายไม่ให้ความเป็นส่วนตัวกับสมาชิกราชวงศ์โดยเฉพาะจากความต้องการขายรูป ไดอาน่าถูกช่างภาพอิสระกลุ่มใหญ่ติดตามแอบถ่ายภาพไปขายไม่มีละเว้นไม่ว่าส่วนตัวหรืองานส่วนรวม และเรื่องนี้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่เธอประสบอุบัติเหตุ เพื่อหลบเลี่ยงการไล่ล่าของกลุ่มช่างภาพ คณะของเธอถึงกับต้องวางแผนเส้นทางการเดินทางใหม่ ๆ แล้วในที่สุดไปลงเอยด้วยอุบัติเหตุ แม้ว่าจะไม่ใช่ต้นเหตุหลักแต่เป็นข้อเท็จจริงว่าการหลบหนีช่างภาพอิสระเป็นเหตุให้คณะของเธอปรับเส้นทาง ประเด็นเรื่องนี้หายเงียบไปไม่ค่อยมีการพูดถึงหรือปรากฏว่ามีการทบทวนตัวเองของคนทำงานสาขานี้สักเท่าไหร่
ปัจจุบัน เรื่องที่น่าห่วงคือดูเหมือนเรากำลังทอดทิ้งวิธีการสื่อสารที่เน้นการคัดกรองข้อมูลและการนำเสนออย่างระมัดระวัง คำถามก็คือ ใครเป็นฝ่ายที่จะสูญเสียจากการที่เรากลายเป็นสังคมที่จมกับดราม่า และที่สำคัญ เราจะช่วยกันรักษาวิธีการและความสามารถในการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ได้อย่างไร โดยที่ไม่ให้กลายเป็นการชักนำสังคมให้เกิดอุปาทานหมู่แล้วยกทีมไปลงทัวร์ล่วงละเมิดคนอื่น