Conversations on Love : บทสนทนาของความรัก - Decode
Reading Time: 2 minutes

…เราได้เรียนเศรษฐศาสตร์ ไวยากรณ์ ภูมิศาสตร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่ทำไมไม่มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับความรัก

ทั้งที่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเรามหาศาล

เพียงแค่คำโปรยหลังหนังสือเล่มนี้ เราก็ตัดสินใจทันทีว่าหนังสือเล่มนี้นี่แหละที่เราจะเขียนถึง หนังสือนี้มีชื่อว่า Conversations on Love : ด้วยรักและการพูดคุยถึงสิ่งเหล่านั้น โดย NATASHA LUNN แปลโดยคุณณัชชา บัวกลิ่น เพื่อเป็นการปิดท้ายเดือนแห่งความรัก

ก่อนหน้าที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ เท่าที่เราอ่านคำแนะนำหนังสือแบบผ่าน ๆ ทำให้คิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวความรักของคู่รักอย่างเดียวหรือเปล่านะ…มันจะเชื่อมโยงกับเราได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะว่าประสบการณ์ความรักที่เกี่ยวกับคู่รักของเราก็ไม่ได้มีเยอะ

แต่พอเปิดอ่านถึงได้รู้ว่า ผู้คนที่คุณนาตาชาได้ออกไปพูดคุยกับผู้คนหลาย ๆ วงการ ผ่านการทำจดหมายข่าวที่มีชื่อว่า Conversations on Love ไม่ได้พูดถึงความรักในแง่ความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงวิธีที่มนุษย์จะเชื่อมโยงกันและกัน ค่อนข้างพูดถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์เลยแหละ

ในหนังสือ มักจะยกประโยคจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ก่อนจะเข้าบทสนทนา อย่างเช่นประโยคนี้ที่ฉันชอบ

“เมื่อฉันปรารถนาคุณ ฉันก็เสียตัวตนส่วนหนึ่งไปแล้ว”

(แอนน์ คาร์สัน, หนังสือ Eros the Bittersweet)

แค่อ่านประโยคนี้ก็ทำให้เราหวลนึกไปถึงอดีต จากประสบการณ์ของตัวเอง ที่เมื่อเวลาเราเผลอชอบ หรือเผลอตกหลุมรักใครสักคน… มันจะเริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นตัวของตัวเองในช่วงแรก และรู้สึกว่าไม่ชอบตัวตนของตัวเองในเวลานั้นสักเท่าไหร่ เพราะมันกระอักกระอ่วน ยิ่งในความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน… นั่นยิ่งทำให้ทำตัวไม่ถูก ว่าต้องทำแค่ไหน รู้สึกแค่ไหนถึงจะกำลังพอดี ซึ่งเมื่อไม่ชัดเจนก็จะยิ่งจินตนาการไปมากมาย แม้เราจะพยายามให้เวลาทำความคุ้นเคยและเรียนรู้ แต่เพราะความไม่ชัดเจน สุดท้ายความสัมพันธ์มันก็เลยไม่ไปไหนสักที นั่นจึงทำให้รู้สึกว่าช่วงเวลาที่อยู่คนเดียว ไม่คบกับใครเป็นช่วงเวลาที่เราชอบ เป็นช่วงเวลาที่ได้เป็นตัวของตัวเอง

หลายคนอาจจะคิดว่าการอยู่คนเดียว การไม่มีคู่ เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่สำหรับเราไม่ได้คิดแบบนั้น การอยู่คนเดียวก็ทำให้เรามีเวลาทำอะไร ๆ อีกตั้งเยอะแยะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตั้งกำแพงเสียเลยว่าชาตินี้จะไม่มีคู่ คือถ้ามีก็ดีมีเพื่อนเพิ่ม มีคู่คิดเพิ่ม แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร

คุณนาตาชา ได้สัมภาษณ์คุณอแลง เดอ บ็อตตง นักปรัชญาและผู้ก่อตั้ง School of Life ถึงเรื่อง จิตวิทยาแห่งการอยู่คนเดียว ว่า บางทีเราก็ต้องกลับมาใคร่ครวญพิจารณากับตัวเองว่า 

เราต้องการอะไรจากความรัก ?

เพราะสำหรับบางคน อาจคิดว่าการไม่มีความสัมพันธ์กับใครเลย (ในแง่ของคู่รัก) อาจจะทำให้ชีวิตไม่สมบูรณ์ แต่การไม่มีความสัมพันธ์ ไม่เชื่อมโยงกับใครเลย เราก็ต้องมาคิดต่อว่า มันจำกัดแค่ความสัมพันธ์ของคู่รักแค่นั้นหรอ

เมื่อพิจารณาดี ๆ มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้นนะ กิจกรรมอะไรหลาย ๆ อย่าง เราสามารถเชื่อมโยงในความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ ได้

ก่อนที่จะไปถึงการเชื่อมโยงกับคนอื่น เราต้องเริ่มสำรวจภายในของตัวเอง รัก รู้จัก และเข้าใจตัวเองเสียก่อน ถึงจะสามารถเชื่อมโยง และรักคนอื่นได้ 

ความรักเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหน เพราะคนรอบข้างคุณจะมองเห็นคุณในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

นาตาชา สัมภาษณ์ผู้คนถึงเรื่องความรักมามากมาย แล้วเธอก็ค้นพบว่า ทุกคนมีความกลัวลับ ๆ คือกลัวว่าตัวเองจะดีไม่พอ (ซึ่งเวลาที่มีคนมาชอบฉัน หรือฉันไปชอบใคร มันจะมีความกลัวนี้เกิดขึ้นมาจริง ๆ) ซึ่งวัยเด็กก็มีส่วนหล่อหลอมความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่เหมือนกัน ถือว่าประสบการณ์ที่มนุษย์มีร่วมกัน 

ซึ่งเมื่อฉันพิจารณาดูแล้ว ด้วยเหตุนั้นจึงให้ฉันรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองก็ได้

ในหนังสือ คุณนาตาชาบอกกับเราว่า หากความกลัวนั้น คือความตื่นเต้น และเป็นความกลัวที่ดีกับตัวเอง จงทำต่อไปทั้ง ๆ ที่ยังรู้สึกกลัวนั่นแหละ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำแล้วต้องใช้กำลังใจมหาศาลเพื่อทำบางอย่างตามแรงกดดันของสังคม มันอาจจะไม่ใช่แล้วก็ได้

ซึ่งตรงนี้จริง ๆ เราว่ามันสามารถนำมาใช้ได้อีกหลาย ๆ เรื่องเลย นอกจากเรื่องความรัก อย่างเช่นการลองลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่ผิด ถึงแม้จะรู้สึกกลัว แต่ก็ให้ลองทำไปก่อน

เราต้องเรียนรู้จากความไม่รู้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิด เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตเราเป็นสะพาน ไม่ใช่เหว ประสบการณ์ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น

ซึ่งจากตรงนี้ฉันก็เห็นด้วยว่า ในกับทุกเรื่อง ไม่มีใครรู้กับสิ่งนั้นมาก่อนหรอก ทุกคนต้องมาเรียนรู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ผ่านการได้ทดลอง ได้ลงมือทำกับสิ่งนั้น ไม่ว่าสุดท้ายผลจะออกมาดีหรือไม่ดี มันก็เป็นประสบการณ์ในชีวิตของเรา

บางคนที่คุณนาตาชาไปสัมภาษณ์บอกกับเธอว่า “การพยายามทำอะไรบางอย่างให้กับความสัมพันธ์มันไม่ควรยากขนาดนั้น เรื่องการรักคนอื่นและการถูกรักควรเป็นเรื่องง่าย”

ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นระหว่างในความสัมพันธ์ควรพูดคุยกันบ่อย ๆ  เพื่อที่จะได้รู้ความเป็นไป และความเปลี่ยนแปลงไปของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ว่าพอนาน ๆ ไปแล้วไม่ได้คุยกัน แล้วมาตีโพยตีพายเองว่าทำไมเขาเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่แม้แต่ตัวเราเองก็เปลี่ยนทุกวัน

แม้ในช่วงประมาณเกินห้าสิบเปอร์เซ็นของหนังสือจะเขียนถึงความสัมพันธ์ในเชิงคู่รัก ซึ่งเราก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์ร่วมมากนัก แต่เราคิดว่าบางอย่างนำมาปรับใช้กับความสัมพันธ์อื่น ๆ ได้นะ

มาในช่วงที่หนังสือพูดถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้างดีกว่า…

“เพื่อนที่จับมือเราและชี้ให้เราเห็นสิ่งผิด

มีความรักให้เรามากกว่าเพื่อนที่ดูอยู่ห่าง ๆ”

(บาร์บารา คิงโซลเวอร์, หนังสือ High Tide in Tucson)

ยิ่งโตขึ้น โตขึ้น ฉันก็ได้เรียนรู้ว่า เพื่อนที่สนิทจริง ๆ เหลืออยู่ไม่กี่คน และเรื่องทุกเรื่องอาจไม่ได้เหมาะกับเล่าให้เฉพาะคนหนึ่งคนฟัง

เพื่อนคนนี้ อาจเหมาะที่จะคุยกับเราเรื่องนี้

เพื่อนคนนู้น อาจจะเหมาะคุยกันอีกเรื่อง..

ถ้าเป็นเพื่อนเก่า และนาน ๆ เจอกันที บางคนอาจคุยกันต่อติด บางคนอาจคุยกันแล้วต่อไม่ติด ก็มี..

คุณนาตาชาบอกกับเราว่า “…แม้ประสบการณ์ชีวิตจะแยกเราออกจากเพื่อนเก่า แต่เรายังมีวิธีเชื่อมโยงกันต่อไปได้ ขอเพียงแค่คุณเต็มใจที่จะพยายาม เพราะชีวิตจะทำให้เราพลัดพรากจากผู้คนได้ตลอดเวลา”

แต่ก็นั่นแหละ ถ้าถึงที่สุดแล้วมันมาถึงจุดที่เราต่อกับเพื่อนไม่ติดจริง ๆ เราก็ต้องรู้จักยอมรับการแยกจากกัน

ซูซี ออร์แบค นักจิตบำบัด ที่ให้สัมภาษณ์กับนาตาชา ได้พูดถึงการทำความเข้าใจถึงความอิจฉาในมิตรภาพ 

ความแตกต่างทำให้การรับมือเรื่องมิตรภาพเป็นเรื่องยาก อย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่งประสบความสำเร็จมากมายในที่ทำงาน กับอีกคนที่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย เมื่อมันเกิดความเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้เรารู้สึกเหมือนมีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา เรารู้ว่าเรายินดีกับเพื่อน แต่อีกใจนึงเราอาจจะกำลังรู้สึกอิจฉาอยู่ ซึ่งจริง ๆ คุณซูซีบอกว่า ความอิจฉาเป็นเพียงความรู้สึกนึงที่ทับซ้อนความรู้สึกที่แท้จริง ๆ ลึก ๆ เอาไว้ เราต้องค่อย ๆ มาวิเคราะห์ว่าภายใต้ความอิจฉานั้น แท้จริงมันคืออะไรกันแน่ ความอิจฉาที่เรามีต่อผู้อื่น แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณของสิ่งที่เราต้องการแต่ไม่อาจหามาได้ มันแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว เราต้องการอะไร เพียงแต่เราต้องเปิดใจที่จะวิเคราะห์ความรู้สึกนั้นจริง ๆ 

ในหนังสือพูดถึงความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูก เอาจริงเรายังไม่มีประสบการณ์ของการเป็นแม่ แต่ถ้าในแง่ของการเป็นลูกนี่มีแน่นอน ซึ่งในหนังสือได้พูดถึงเรื่องนิสัย หรือพฤติกรรมอะไรบางอย่างของพ่อแม่ที่ถ่ายทอดมายังลูก

เอาจริง ๆ นิสัยบางนิสัยของฉัน ฉันก็รู้เลยว่านิสัยแบบนี้พฤติกรรมแบบนี้ มาจากสองคนนี้(พ่อแม่) แบบเป๊ะ ๆ เป๊ะเกิน ซึ่งบางนิสัยฉันก็ไม่ได้ชอบ ฉันก็พอรู้ว่านิสัยบางอย่างของฉัน พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจถ่ายทอดมาหรอก แต่ด้วยความที่ตอนเด็กเราอยู่ด้วยกันตลอด สุดท้ายฉันก็รับนิสัย พฤติกรรมเหล่านั้นมาอยู่ดี

ความรักไม่ได้มีแค่ด้านที่มีความสุขอย่างเดียว ความทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรักเช่นกัน ไม่ว่าเราก็อยากหลีกหนีหรือไม่ก็ตาม สักวันชีวิตก็จะต้องมาเจอจุดของการสูญเสียอยู่ดี เมื่อพูดถึงเรื่องการสูญเสีย ถามว่ากลัวหรือเปล่า เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่กลัว แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นปกติของชีวิตที่เราทุกคนต้องเจอ ต้องผ่านสิ่งเหล่านี้

คุณสตีเฟน กรอสซ์ นักจิตวิเคราะห์ที่คุณนาตาชาได้สัมภาษณ์มานั้น ได้กล่าวว่าชีวิตคนเราเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งการสูญเสียทับซ้อนไปมาหลายชั้น

เพราะตั้งแต่เกิดเราก็ต้องผละออกจากท้องแม่ พอโตขึ้นหน่อยก็ต้องออกไปโรงเรียน เจอเพื่อนเราก็ต้องแยกย้ายเพื่อนเมื่อเปลี่ยนชั้นเรียนเรื่อย ๆ จนถึงตอนโตเมื่อเราแต่งงานเราก็ต้องผละจากคนที่บ้านเพื่อเปิดรับครอบครัวใหม่ ๆ ฉันรู้สึกใจหายทุกครั้งที่ต้องแยกจากกับอะไรที่เคยผูกพันมานาน สิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวถึงจะดำเนินชีวิตต่อไปได้ แม้เราจะแข็งขืน ไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่โดยธรรมชาติแล้วเวลาก็ค่อย ๆ พรากสิ่งเหล่านั้นไปจากเราอยู่ดี เราจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะบางอย่างก็เป็นเรื่องเหนือการควบคุม ความตายก็เช่นกัน แม้ความตายจะเป็นการสูญเสีย ธรรมชาติกำลังพรากอะไรบางอย่างไปจากเรา แต่มันไม่ได้พรากความสัมพันธ์ไปด้วย ผู้ที่เสียชีวิตจะอยู่ความทรงจำของผู้ที่มีความสัมพันธ์ด้วยตลอดไป 

“ความรักไม่ใช่เส้นชัย แต่เป็นจุดเริ่มต้น”

(ลอรา มาร์ลิง, เพลง For you)

ถ้าอ่านจากประโยคนี้ จากการตีความของฉันจากการอ่านหนังสือเล่มนี้จะเข้าใจว่า ความรักคือจุดเริ่มต้นของการรู้จักอะไรใหม่ ๆ แม้กระทั่งการรู้จักตัวเองในเวอร์ชันใหม่ ๆ ด้วย เพราะการเริ่มต้นความสัมพันธ์ในแต่ละครั้ง คนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็แตกต่างกันออกไป และตัวเราในแต่ละวัยก็มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ที่มาพร้อมกับความรัก เราก็ต้องโอบกอดมันไว้ทั้งสองเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

Playread : Conversations on Love ด้วยรักและการพูดคุยถึงสิ่งเหล่านั้น
ผู้เขียน : NATASHA LUNN ผู้แปล : ณัชชา บัวกลิ่น
สำนักพิมพ์ : Be(ing)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี