DON’T PANIC - Decode

DON’T PANIC

Reading Time: 3 minutes

มันเริ่มต้นที่บ้านหลังหนึ่ง

บ้านสองชั้นหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ในหมู่บ้านชื่อย่อ ก. ใกล้สนามบินเชียงใหม่ พื้นชั้นบนปูลามิเนตหนา 12 มม. มีประตูรีโมทหน้าบ้านบานเบ้อเริ่ม พร้อมสนามหญ้ายอดสูงเท่าตาตุ่ม และติดป้ายประกาศทรัพย์สินของธนาคาร

ห้ามบุกรุก!

“ยังใหม่อยู่นะ” เธอพูด

ฉันพยักหน้า

“เงินก็หายากขนาดอิหล้า ผ่อนไปผ่อนมาเงินต้นบ่ลดสักน้อย”

ผ่อนไม่ไหวเขาก็ยึด ยึด ยึด  

ในสถานการณ์ที่แย่ ถ้าเปลี่ยนคำว่า ห้ามบุกรุก!

เป็นคำว่า DON’T PANIC ก็คงจะเป็นมิตรกับน้าข้างบ้านอยู่ไม่น้อย

คล้ายฉากตอนที่มนุษย์ต่างดาวยื่นหนังสือให้อาร์เธอร์

หนังสือคู่มือนักโบกน่ะ ที่หน้าปกสลักข้อความ “อย่าตื่นตระหนก”! มันเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถให้คำตอบได้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตามที่เราอยากรู้ นั่นคือหน้าที่ของมัน จริง ๆ มีคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้เปรียบเหนือกว่าผลงานรุ่นเก่า ๆ อยู่สองประการ ประการแรก มันราคาถูกกว่าซื้อแพ็กเกจ Premium อยู่นิดหน่อย และประการสอง มันมีประโยคที่เขียนว่า DON’T PANIC ตัวพิมพ์ใหญ่ภาษาอังกฤษ อ่านง่าย แลดูเป็นมิตร

ถึงอย่างนั้นเรื่องราวของวันพฤหัสฯ อันแสนเลวร้ายถึงขั้นไม่มีที่ซุกหัวนอนก็มีชะตากรรมของมนุษย์ที่ผูกโยงกับหนังสือเล่มนี้อย่างแยกไม่ออก แม้จะพลิกดูปกหลังเป็นรอบที่สามแล้วก็ตาม

อย่าตื่นตระหนก ก็แค่วันพฤหัสฯ ธรรมดาวันหนึ่งที่โลกกำลังจะแตกในสาม สอง หนึ่ง!

ท่ามกลางจักรวาลไพศาลบานเบ้อเร่อนี้

กฎฟิสิกส์สาขาความไม่น่าจะเป็น กำลังทำงานอย่างขมีขมัน

อาร์เธอร์ เดนต์ นอนหลาอยู่ในโคลน ขวางรถแทรกเตอร์ที่จะเข้ามาพังบ้านที่กำลังจะกลายเป็นทางด่วนในไม่ช้า แต่อนิจจาเขาก็เป็นมนุษย์คนเดียวที่รอดชีวิตจากอุบัติภัยโลกแตก แถมตกกระไดพลอยโจนร่วมขบวนท่องกาแล็กซีไปกับมนุษย์ต่างดาว นักโบกยานอวกาศนาม ฟอร์ด พรีเฟกต์ มนุษย์ต่างดาวที่ดันมาติดแหง็กบนโลกถึงสิบห้าปีที่เอาแต่บอกให้ ใจเย็น ๆ อย่าตื่นตระหนก เราจะพาคุณออกจากโลก พร้อมเพื่อนร่วมเดินทางป่วนประสาทอย่างคอมพิวเตอร์เจื้อยแจ้ว และหุ่นกระป๋องซึมเศร้าที่เฝ้าคร่ำครวญแต่เรื่อง “ชีวิต” คู่มือท่องกาแล็กซีฉบับนักโบก จึงเป็นนิยายไซไฟคอเมดี้ที่เสียดสีมนุษย์อย่างแสบสันต์ ทำให้ผู้เขียน ดักลาส อดัมส์ กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดข้ามรุ่น และ ‘Don’t panic’ กลายเป็นวลีเด็ดในกลุ่มวัยกลางคนที่แตกหัก ผุพัง และเหนื่อยล้ากับชีวิตและสรรพสิ่ง

การโคจรกลับมาเจอกับมนุษย์โลกใน พ.ศ.นี้อีกครั้ง ในรอบ 13 ปี ยังคงเป็น “A must” ของคออ่านนิยายไซไฟ แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับผ้าเช็ดตัว ไอเท็มสำคัญที่สุดของนักโบกแห่งกาแล็กซีที่จะต้องมีในครอบครอง ผู้แปลอย่างแทนไท ประเสริฐกุล แปลและเกลาสำนวนใหม่ให้อรรถรสสด-ใหม่ในแบบฉบับเสียงทุ้ม แม้เสือยิ้มยากยังขำตัวโยกไปกับมุก “โปรดระวังเสือดาว” กระทั่ง ล้อเลียนเอเลียน ที่ชอบวางกล้าม น้ำใจตายด้าน ไม่ยอมกระดิกนิ้วช่วยยายของตัวเอง พร้อมลายเซ็นสามชุด เอกสารหาย ค้นเจอ แล้วก็หายอีกรอบ(ฮา)

ต่อให้อ่านไปได้ครึ่งเรื่องก็คาดเดาไม่ได้ว่าเรื่องราวจะพาเราไปเจอชะตากรรมแบบไหน อาจเพราะมันแหกขนบไปจากสิ่งที่ฉันคิดจาก “ความน่าจะเป็น” ทั้งท้าทายจารีต และอัดแน่นไปด้วยแฟนตาซีที่เกินจะจินตนาการได้ ถ้าใครสักคนกระโจนสู่อวกาศกับเพื่อนมนุษย์ต่างดาว โดยมีสิ่งของติดตัวเพียงผ้าเช็ดตัวกับหนังสือคู่มือนักโบก

การผจญภัยที่วายป่วงได้เริ่มต้นไปสู่ปลายเปิดของคำถามยิ่งใหญ่ระดับอภิปรัชญาแห่งชีวิต จักรวาล และสรรพสิ่ง

“นี่มันอะไรวะเนี่ย” ใครคนนึงพูด

อีกคนคิด แม้ในวันโลกาวินาศแท้ ๆ ไม่ว่าบ้านของอาเธอร์จะถูกทำลายหรือไม่ถูกทำลาย ก็ไม่ได้สลักสำคัญ แม้แต่ปลายเสี้ยวไตหมาดิงโก้ จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าในหายนะทั้งปวง จะมีแค่ฟอร์ด พรีเฟกต์ มนุษย์ต่างดาวคนนั้นที่นิ่งงัน แหงนมองท้องฟ้า รูหูของเขาอุดแน่นด้วยจุกยาง เขารู้ดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก

แต่สิ่งแรกที่เขาทำคือรีบเปิดกระเป๋าสะพาย หยิบบทละครเรื่อง โจเซฟกับเสื้อคลุมวิเศษสารพัดสี ขึ้นมา แล้วโยนทิ้งไป บทเรื่อง ก็อดสเปลล์ ก็โยนทิ้งไปเช่นกัน เพราะในที่ที่เขากำลังจะไป ไม่มีความจำเป็นสำหรับสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว

ในกระเป๋าสะพายของฟอร์ด ใต้คู่มือนักโบก ยังมีสมุดจดบันทึกอีกหนึ่งเล่ม และผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่อีกหนึ่งผืนที่ซื้อมาจากร้านมาร์กส์แอนด์สเปนเซอร์ ในคู่มือท่องกาแล็กซีฉบับนักโบก มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่อุทิศให้กับเรื่องผ้าเช็ดตัวว่าเป็นสิ่งทรงคุณค่ามหาศาลเกือบจะที่สุดในบรรดาสิ่งของจำเป็นทั้งหมดที่เหล่านักโบกยานอวกาศจะสามารถนำติดตัวไปได้ ในด้านหนึ่ง ผ้าเช็ดตัวมีประโยชน์ใช้สอยอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งยังใช้เป็นใบเรือสำหรับล่องแพไปตามสายน้ำที่ไหลอืดเอื่อยของแม่น้ำมอธ หรือจะทำให้เปียกก่อนแล้วใช้เป็นอาวุธต่อสู้ในระยะประชิด และใช้โบกไปมาเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน

มากไปกว่านั้นในทางจิตวิทยา จะด้วยเหตุผลใดยังไม่มีใครทราบแน่ชัด เวลาที่พวก สแตร็ก หรือคนที่ไม่ใช่นักโบกอวกาศ ค้นพบว่า นักโบกคนใดมีผ้าเช็ดตัวติดมาด้วย พวกมันจะสรุปไปเองโดยปริยายว่า นักโบกผู้นี้น่าจะเป็นเจ้าของแปรงสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า สบู่ กระป๋องบิสกิต กระติกน้ำ เข็มทิศ แผนที่ เชือก ด้าย สเปรย์กันแมลง เสื้อกันฝน ชุดอวกาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้นผลพลอยได้อีกข้อก็คือ พวกสแตร็กมันรู้สึกไว้วางใจนักโบกสามารถหยิบยืมเครื่องอุปโภคต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น และของอื่น ๆ อีกมากมายหลายสิบ ซึ่งนักโบกอาจบังเอิญทำหายระหว่างเดินทาง ก็เพราะมุมมองของสแตร็ก ชายใดก็ตามที่สามารถโบกยานท่องเที่ยวไปได้ทั่วทั้งอวกาศเจ็ดย่านสมุทรสุดขอบกาแล็กซีผ่านมาทุกสถานการณ์ ตกระกำลำบาก บุกตะลุยภัยอันตรายต่าง ๆ นานา รอดชีวิตเสี่ยงตายมาได้อย่างเฉียดฉิว แล้วยังอุตส่าห์รู้ได้อีกว่า ผ้าเช็ดตัวของตัวเองอยู่ที่ไหน เขาผู้นั้นย่อมนับว่า เป็นยอดวีรชนคนกล้าที่ไม่ธรรมดาอย่างแท้จริง 

บลา บลา บลา อย่างยืดยาว

แต่เชื่อไหม ใน คู่มือนักโบก พูดถึงโลกเราไว้กระจ้อยร่อย

“ปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่”

มิหนำซ้ำยังเสียดสีความสูงส่งของมนุษย์ที่คิดตัวเองอยู่เหนือสรรพสิ่ง อย่างเรื่องทางด่วน ในสายตาของมนุษย์ต่างดาวให้อธิบายว่ามันคือสิ่งประดิษฐ์จากจุด A ไปยังจุด B ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้คนอีกกลุ่มเดินทางจากจุด B ไปยังจุด A ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่คนที่อาศัยอยู่ตรงซี มักจะถูกทิ้งให้สงสัยว่า มันมีดีอะไรนักหนา คนจากจุด A, B ถึงได้อยากแห่กันไปนัก

หรือเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ “มนุษย์อาจต้องคอยบริหารกล้ามเนื้อปากตลอดเวลาไม่งั้นสมองจะเริ่มตาย” กระทั่งเรื่องบ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะ ในสายตาของมนุษย์ต่างดาวตัดสินไปแล้วว่า “มนุษย์มีบ้านที่ปิดซ่อนความดูดีไว้อย่างอัปลักษณ์” แต่เจ็บปวดยิ่งกว่า ถ้ามนุษย์ดูแคลนกันซึ่งหน้า

“บ้านมันก็ใช่ว่าจะดูดีอะไรหนักหนานะคุณ”

“โทษนะ ก็ผมชอบของผมน่ะ คุณจะทำไม?”

หุบปากไปเลย! อาเธอร์พูด “ช่วยเงียบ ๆ แล้วไปไกล ๆ เลย

อย่าลืมหอบไอ้ทางด่วนงี่เง่าของคุณกลับไปด้วยล่ะ…”

ปากอีกคน อ้า ๆ หุบ ๆ อยู่หลายรอบ ในขณะที่ภาพของบ้านเก่ายังคงวนเวียนอยู่ในหัวอันวิงเวียนของมนุษย์ อาเธอร์ ไม่มีทางที่จินตนาการของเขาจะรองรับความหนักหน่วงทั้งหมดของการที่อยู่ดี ๆ โลกทั้งใบก็หายไปในพริบตา จากนั้นเขาก็นึกถึงคนแปลกหน้าที่ไม่ได้รู้จักอะไรกันเลย เป็นแค่คนที่ยืนต่อคิวอยู่ข้างหน้าขณะรอจ่ายเงินที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อสองวันก่อน

คราวนี้รู้สึกเจ็บจี๊ดขึ้นมาอย่างฉับพลัน ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีอีกแล้ว อนุสาวรีย์เนลสันถูกทำลาย แต่ไม่มีใครออกมาประท้วงเพราะไม่เหลือคนให้ประท้วงได้อีก ต่อมา เงินดอลลาร์ เขาคิด “เงินดอลลาร์มูลค่าหด เศรษฐกิจตกต่ำตลอดกาล” ข้อนี้ทำให้เนื้อตัวเขาสั่นเทาเล็กน้อย จนมาถึงฉากตอนจบอาร์เธอร์หันไปมองรอบ ๆ อีกครั้ง วินาทีนั้นเขาก้มมองสารรูปของตัวเองที่อยู่ในชุดเสื้อผ้ายับยู่และเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสกปรกชุดเดียวกับที่ใส่นอนแช่โคลนเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมากับปมปริศนา

“ชีวิตหนอชีวิต ช่วงนี้ช่างลำบากยากเข็ญเสียเหลือเกิน”

เขาพึมพำกับตัวเอง บางขณะฉันคิดว่า อาเธอร์กำลังพูดและรู้สึกแทนเราที่รอด แต่ก็ไม่เคยชนะในระบบสักครั้ง เพราะต่อให้มนุษย์ต่างดาวจิกกัด ด้อยค่ามนุษย์ขนาดไหน ก็ไม่เจ็บปวดเท่ามนุษย์เหยียบย่ำกันเอง หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้ล้มล้างต่อต้านความคิดจารีตนิยมที่ยึดมั่นในตัวตนและปัญญาของมนุษย์ แต่เป็นการขยายความเข้าใจต่อ “ความเป็นมนุษย์” ผู้ไม่เคยมั่นคงและมีเอกภาพ แม้ในวันพฤหัสฯ อันวอดวาย มนุษย์ก็ตกอยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ฉลาดไปกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น หรือไม่ก็อาจเป็นเพียงสายพันธุ์นึงที่เอาชีวิตให้รอดท่ามกลางเอกภพอันกว้างใหญ่และเส้นทางที่ไม่มีจุดสุดท้าย ทั้งต่ำต้อยและเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา

ราวกับว่า สิ่งที่ตามมาหลังจากเสียงล็อกกุญแจ ติดป้ายประกาศที่ตรงนี้ ขาย!

ครืดดดดด เกร๊ก!

แล้วจากนั้นคือ ความเงียบ เพียงในมือกอบกำ คู่มือนักโบก และคำปลอบโยน DON’T PANIC

Playread : คู่มือท่องกาแล็กซีฉบับนักโบก (ปรับปรุงใหม่)
Douglas Adams เขียน แทนไท ประเสริฐกุล แปล
สำนักพิมพ์ : Bookscape

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี