รักหม้ายยอมเปลี่ยนแปลง? บทใหม่การเมืองภาคใต้กับหัวหน้าพรรคคนใหม่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภา 2566 มีหลายเรื่องให้เซอร์ไพรส์…

แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ผลการเลือกตั้งในภาคใต้

แม้พรรคที่ครอบครองพื้นที่มายาวนานอย่าง “ประชาธิปัตย์” จะยังคงได้ สส.แบบแบ่งเขตอันดับ 1 แต่จำนวนที่นั่งก็ไม่ต่างจากพรรคขั้วอนุรักษนิยมอื่นอย่างรวมไทยสร้างชาติและภูมิใจไทยมากนัก

นี่ยังไม่นับว่า ถ้าขยับไปดูอีกช่อง คะแนน สส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ในภาคใต้ ตกเป็นของพรรคก้าวไกล

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวพรรค แต่เกี่ยวโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองในภาคใต้ ซึ่งในบทสนทนานี้ De/code ชวน รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มาร่วมถอดรหัสบทใหม่ (?) ของการเมืองภาคใต้ ที่ไม่ใช่แค่ “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” อีกต่อไป

ท่ามกลางสมรภูมิอนุรักษนิยม

สมรภูมิการเลือกตั้งในภาคใต้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2562 เห็นได้จาก “ประชาธิปัตย์” พรรคของคนใต้ที่ครองความนิยมในพื้นที่มาอย่างยาวนานถูกแย่งคะแนนเสียงโดยพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยก็สามารถสอดแทรกเข้ามาเป็นผู้เล่นคนสำคัญได้

ครั้นถึงปีนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เข้ามาผสมโรงเพิ่มขึ้นอีก หลายคนจึงวิเคราะห์กันว่า การเลือกตั้ง 2566 ในภาคใต้ยังคงเป็นการสู้กันในหมู่พรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยม

“พื้นที่ภาคใต้ต่างจากพื้นที่ภาคอื่น ๆ ตรงที่ภาคใต้แข่งกันเองในหมู่พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแนวอนุรักษนิยม”

บูฆอรีชี้ให้เห็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ปรากฏหลังผลการเลือกตั้งออกมา เมื่อพรรคก้าวไกลได้คะแนน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ในภาคใต้เป็นอันดับ 1 คือ 1,590,976 คะแนน ขณะที่คะแนนของพรรคแนวอนุรักษนิยม ทั้งรวมไทยสร้างชาติ (1,465,988 คะแนน) ประชาธิปัตย์ (435,486 คะแนน) ภูมิใจไทย (217,723 คะแนน) และพลังประชารัฐ (119,029 คะแนน) เมื่อรวมคะแนนแล้ว (2,238,226 คะแนน) เหนือกว่าก้าวไกลประมาณ 6 แสนกว่า

นี่เป็นสัญญาณเตือนให้แก่พรรคแนวอนุรักษนิยมว่า กระแสเสรีนิยมได้พัดผ่านภาคใต้เข้ามาแล้ว แม้จะยังไม่แรงพอให้พวกเขาสิ้นท่าก็ตาม

“เพราะฉะนั้น จะบอกว่า พื้นที่ภาคใต้อนุรักษนิยมยังคงได้รับความนิยมอยู่ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ขณะเดียวกัน จะบอกว่า เสรีนิยมได้ครองใจคนใต้ไม่ต่างจากภาคอื่น ๆ ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว มันยังก้ำกึ่งกันอยู่ โดยเฉพาะในระบบ สส. เขต”

บูฆอรีอธิบายว่า ในหลายเขต บ้านใหญ่จากพรรคแนวอนุรักษนิยมยังได้รับเลือกตั้งอยู่ ทั้งจากปัจจัยเรื่องของระบบอุปถัมภ์ หรือการรู้จักมักคุ้นของผู้สมัครในพรรคขั้วรัฐบาลเดิม แต่ครั้นต้องตัดสินใจกาเบอร์ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะเลือกคนละพรรคการเมืองกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะบัตร 2 ใบ ทำให้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนใต้เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับบัตรใบเดียว ซึ่งผู้สมัคร สส.หลายคนเห็นเช่นนั้น

ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้น โดยเฉพาะแข่งกันเองในหมู่พรรคแนวอนุรักษนิยม ทำให้มีคนวิเคราะห์กันว่า การเลือกตั้งรอบนี้ในภาคใต้ “ใช้กระสุนมากที่สุดมากกว่าครั้งใด” เพราะคู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงการที่ สส.บ้านใหญ่ ผู้มากบารมีทั้งหลายยังมีอิทธิพลสูง

“ในพื้นที่ภาคใต้อนุรักษนิยมยังคงดำรงอยู่ แต่ก็ถูกกระแสที่สัมพันธ์กับระดับชาติ ที่สัมพันธ์กับภาคอื่น ๆ มากระทบแนวคิดอนุรักษนิยม นั่นก็คือ กระแสอุดมการณ์ทางการเมืองแนวเสรีนิยม เพราะฉะนั้นพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบัน ก็เหมือนกับว่าอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมมันปะทะกันอยู่”

คนเมือง – คนชนบท – คนชายแดนใต้

ก่อนปี 2562 ใน 11 จังหวัดของภาคใต้ (ไม่นับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) บูฆอรีมองว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนเมืองและคนชนบทแทบไม่มีความแตกต่างกัน โดยเสียงส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างเทไปให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพรรคคู่แข่งไม่สู้จริงจัง ซึ่งในทางการเมืองมองได้ว่าส่งผู้สมัครแบบไม้ประดับมาลงแข่ง แม้กระทั่งในยุคที่พรรคเพื่อไทยรุ่งเรืองและได้รับความนิยมในภาคอื่น ๆ แต่ผู้สมัครภาคใต้กลับส่งคนไม่มีชื่อเสียงมาลงแข่ง เมื่อประกบผู้สมัครแบบตัวต่อตัวแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็เหนือกว่า ขณะเดียวกัน ความเป็นประชาธิปัตย์ยังสร้างความผูกพันให้แก่คนใต้ในช่วงเวลานั้นด้วย

แต่จากตัวเลขผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และปีนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างของพฤติกรรมการเลือกตั้งในพื้นที่เขตเมืองกับเขตชนบทพอสมควร

“ในเขตเมืองหันมาพิจารณาตัวพรรคมากขึ้น ให้ความสนใจกับนโยบายของพรรค ขณะที่ในพื้นที่ชนบทแม้ว่ายังมีความผูกพัน ยังมีลักษณะของการอุปถัมภ์ค้ำจุน ยังให้การสนับสนุนบ้านใหญ่ แต่ก็น่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้างในแง่ของพฤติกรรมการเลือกตั้ง”

ขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไหนแต่ไรมาคนก็ไม่ได้ผูกพันกับพรรคการเมือง แม้กระทั่งกรณีพรรคประชาธิปัตย์เองก็จะพบว่า คนในพื้นที่ผูกพันกับตัวผู้สมัคร เมื่อผู้สมัครย้ายไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง คนในพื้นที่ก็ยังคงให้ความสนับสนุนผู้สมัครคนนั้น แต่พอมาปี 2562 และปีนี้ ความชัดเจนในเรื่องความผูกพันกับพรรคการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็เริ่มมีมากขึ้น สังเกตได้จากชัยชนะของพรรคประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในเขตเมืองหรือเขตชนบทต่างก็มีความผูกพันกับพรรคประชาชาติ

“พรรคประชาชาติสามารถที่จะสร้างอัตลักษณ์และลักษณะของพรรคให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดว่าเป็นพรรคของคนในพื้นที่ เป็นพรรคของคนที่จะมีปากมีเสียงของคนในพื้นที่ซึ่งเกี่ยวโยงกับศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีในพื้นที่ที่แตกต่างจากประเทศไทยโดยรวม”

ตัวเปลี่ยนเกมนาม “ก้าวไกล” ที่ไม่มีใครคาดคิด

การที่พรรคก้าวไกลได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ถึง 25 เขต รวมถึงสามารถกวาดที่นั่ง สส.เขตยกจังหวัดภูเก็ตได้ เป็นเรื่องเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลายคน แม้แต่ในพื้นที่ที่มีประเด็นถกเถียงทางศาสนาอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ปรากฏว่า พรรคก้าวไกลได้ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 2 รองจากพรรคประชาชาติ

บูฆอรีวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่เฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวเจน Z และเจน Y แต่เจน X และเบบี้บูมเมอร์จำนวนไม่น้อยก็ขานรับแนวทางของพรรคก้าวไกล โดยเจน X และเบบี้บูมเมอร์อาจจะมองข้ามนโยบายบางอย่างของพรรคก้าวไกล อย่างเช่นมาตรา 112 แต่ไปมองนโยบายอื่น ๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในเชิงโครงสร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างระบบราชการ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการพลเรือนและข้าราชตำรวจ รวมถึงการปฏิรูปกองทัพและการยกเลิกเกณฑ์ทหาร

“นโยบายเหล่านี้นี่แหละที่คนใต้ถึงแม้ว่าจะเป็นอนุรักษนิยมก็สามารถรับได้ เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวไกลเสนอ เพราะคิดว่าน่าจะมาช่วยแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังในสังคมไทยมานานได้ โดยมองข้ามบางประเด็นที่จะนำไปสู่ข้อถกเถียงทางสังคม”

การที่คนใต้จำนวนหนึ่งเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้นั้น บูฆอรีมองว่าเป็นเพราะบทบาทของพรรคก้าวไกลในสมัยแรกที่เป็นฝ่ายค้าน พวกเขาสามารถอภิปรายให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในการประชุมสภาด้วยการใช้ข้อมูลและอินโฟกราฟิกต่าง ๆ ที่ผู้ชมทางบ้านเข้าใจง่าย และอภิปรายเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

สำหรับกรณีเซอร์ไพรส์ชนิดหักปากกาเซียนที่ภูเก็ตนั้น ในมุมมองของบูฆอรี การที่พรรคก้าวไกลได้ สส.ยกจังหวัดนั้นมีที่มาที่ไป โดยลักษณะพื้นที่ของภูเก็ตที่เป็นเกาะมีความเป็นเมืองต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ที่อาจจะมีทั้งพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท แต่ภูเก็ตมีความเป็นเมืองทั้ง 3 เขต ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลเองก็ลงพื้นที่เปิดเวทีปราศรัยภูเก็ต แล้วเปิดประเด็นเรื่องของการจะทำให้ภูเก็ตเป็นเขตการปกครองพิเศษ หรือเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

“ก้าวไกลมองว่าภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีศักยภาพ เป็นพื้นที่ที่ต้องมีลักษณะการบริหารแตกต่างจากที่อื่น ๆ ประเด็นนี้ก็มีส่วนเหมือนกันที่ทำให้คนภูเก็ตขานรับ”

เพราะในช่วงที่ผ่านมา คนภูเก็ตประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาล หน่วยงานราชการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะยามคับขันในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนด้านการท่องเที่ยว ถ้าเป็นจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ คนยังมีสวนยางและพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ให้ประคับประคองหาเลี้ยงชีพไป แต่ที่ภูเก็ตไม่มีสวนยาง คนภูเก็ตตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับชนชั้นนำส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฉะนั้น เมื่อเกิดโควิด-19 คนภูเก็ตจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ประเด็นนี้น่าจะทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนด้วยความรู้สึกว่า

“เลือกก้าวไกลน่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้”

หากย้อนดูการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นภูเก็ตมี 2 เขต ผู้สมัครโนเนมของพรรคพลังประชารัฐสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้ทั้ง 2 เขต เหตุผลที่คนภูเก็ตเลือกพรรคพลังประชารัฐในปีนั้นเพราะเห็นว่า ถ้าเลือกพรรคพลังประชารัฐแล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะช่วยมาแก้ปัญหาที่ภูเก็ตได้ แต่ทำไปทำมาก็แก้ไขได้ไม่ค่อยดี คนภูเก็ตจึงตัดสินใจเลือกใหม่ในปี 2566

“อาจจะอธิบายได้ว่า เลือกแบบฉีกแนวไปเลย จากอนุรักษนิยมสุดกู่กระโดดตรงข้ามมาสู่ก้าวไกล ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่อดีต สส.พลังประชารัฐปี 62 พอมาลงปี 66 คะแนนได้หลักพันร่วงมาอยู่อันดับ 5 หรือ 6”

ตัว(ไม่)เปลี่ยนเกม นาม “เพื่อไทย” เมื่อการเมืองสีเสื้อยังคงรุนแรง

ก่อนเลือกตั้ง 2566 อีกตัวเลือกหนึ่งในฝ่ายเสรีนิยมคือ พรรคเพื่อไทย แม้ยังคงได้รับความนิยมในภาคอื่น ๆ อยู่ แต่ในภาคใต้นั้นผลกลับเป็นตรงกันข้าม

เหตุที่คนใต้ยังคงไม่ปันใจให้พรรคเพื่อไทย แม้จะทำนโยบายเศรษฐกิจในอดีตดีมากก็ตาม บูฆอรีมองว่าเป็นเพราะการเมืองสีเสื้อยังสัมพันธ์กันในพื้นที่ภาคใต้ นั่นทำให้ท่ามกลางสมรภูมิอนุรักษนิยมปะทะเสรีนิยม กระแสขานรับของคนใต้ต่อพรรคแนวเสรีนิยมจึงไปอยู่ที่พรรคก้าวไกล

ตั้งแต่อดีต คนใต้มองว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีเจ้าของ มีความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วงก่อนเลือกตั้งออกมาพูดในโซเชียลมีเดียเป็นระยะ ๆ และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อแพทองธาร ชินวัตร ได้รับตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยช่วงก่อนการเลือกตั้ง

“ถือเป็นตำแหน่งที่แปลกในทางการเมืองและคิดว่าคงไม่มีใครที่ไหนในโลกเขาทำกัน อีกทั้งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยก็ดูจะมีบทบาทกว่านายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเสียอีก”

สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยเกี่ยวข้องกับทักษิณ ซึ่งความรู้สึกนี้เชื่อมโยงกลับไปยังสมัยพรรคไทยรักไทยในยุคที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในปี 2548 ที่แลนด์สไลด์ได้ สส.เกินครึ่งครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ในภาคใต้เจาะได้ที่เดียวคือพังงา โดยกฤษ ศรีฟ้า ผู้สมัคร สส.พังงาของพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์กันว่า ชัยชนะในพังงาคราวนั้นไม่ได้เป็นผลจากการที่ประชาชนขานรับนโยบายของพรรคไทยรักไทย แต่มาจากปัจจัยส่วนบุคคล คนเลือกเพราะกฤษณ์ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนหลังเหตุการณ์สึนามิ ประชาชนไม่ได้เลือกที่ตัวพรรค

โดยภาพรวม แม้ในตอนนั้นพรรคไทยรักไทยจะได้รับความนิยมสูงสุด บริหารเศรษฐกิจดี ยางพาราราคาพุ่ง คนออกรถป้ายแดงทั้งรถกระบะและรถมอเตอร์ไซค์วิ่งกันเต็มท้องถนน แต่คนใต้ก็ไม่ได้เลือก นโยบายพรรคไทยรักไทยไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจกาบัตร พอมาถึงการเลือกตั้งปีนี้ คนใต้เลือกพรรคก้าวไกล เพราะต้องการเห็นการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่เพื่อไทยก็มาแนวนโยบายประชานิยมเหมือนในอดีต อย่างเช่นเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่แก้ไขปัญหาระยะสั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่ชัดเจนในเรื่องจุดยืนของพรรคเพื่อไทย อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนใต้ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตัดสินใจไม่เลือกพรรคเพื่อไทยในท้ายที่สุด

“ก่อนเลือกตั้งเราจะพบว่า เพื่อไทยเองก็ขาดความชัดเจนในเรื่องของการร่วมรัฐบาล ฝ่ายที่ขานรับอุดมการณ์เสรีนิยมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเพื่อไทยไม่ชัดเจนเหมือนก้าวไกล จะร่วมรัฐบาลในหมู่พรรคแนวเสรีนิยมที่เป็นพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม หรือว่าจะไปรวมกับขั้วฝ่ายรัฐบาลด้วย คือความไม่ชัดเจนของเพื่อไทย ก็มีผลให้คนหันไปเลือกก้าวไกลมากกว่าสำหรับคนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง”

ทางรอดของ “ประชาธิปัตย์” ?

การที่พรรคประชาธิปัตย์มี สส.เข้าไปในสภาฯ น้อยเป็นประวัติการณ์ คงไม่ใช่สัญญาณที่ดีเท่าไรนักสำหรับพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดพรรคนี้ บูฆอรีจึงชวนจับตาดูกันต่อถึงทิศทางในอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ จะอยู่รอดต่อไปได้ มีโจทย์สำคัญ 2 ข้อที่ต้องรีบแก้

โจทย์แรก “อุดมการณ์ทางการเมือง” ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์อนุรักษนิยมกับเสรีนิยม พรรคประชาธิปัตย์จะยืนอยู่จุดไหน โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์อย่างภาคใต้ ซึ่งจากผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม แม้ภาพรวมจำนวน สส.พรรคขั้วอนุรักษนิยมจะได้มากกว่า แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกลก็ชี้ชัดว่า อุดมการณ์เสรีนิยมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

“ถ้าหากอนุรักษนิยมอ่อนแรงในแง่ของความเป็นพรรคการเมือง เสรีนิยมก็น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะว่าปัจจัยหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในยุคปัจจุบันการรับรู้ทางการเมือง การเรียนรู้ทางการเมืองเกิดขึ้นได้ไวจากโซเชียลมีเดีย คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะยังคงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมอยู่หรือไม่ ท่ามกลางพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศแม้กระทั่งภาคใต้ก็ขานรับเสรีนิยมแล้ว

บูฆอรีเสนอว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องสร้างแบรนด์ใหม่ที่ออกไปในทางเสรีนิยม ซึ่งอาจจะใช้คำว่า “เสรีนิยมเพื่อสังคม” (social liberalism) ภาพก็จะออกมาดูดีมากขึ้น โดย “เสรี” ที่ว่านั้นในท้ายที่สุดประโยชน์จะตกอยู่แก่คนในสังคมทั้งหลาย

นอกจากนั้นก็เรื่องของการคัดคน โดยเฉพาะตัวผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป ต้องพิจารณาเรื่องความแตกต่างหลากหลาย พิจารณาที่อุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ส่วนการเป็นลูกหลานตระกูลบ้านใหญ่ ลูกหลานอดีตนักการเมืองอะไรต่าง ๆ ให้เป็นปัจจัยรอง

อีกโจทย์สำคัญคือ การถูกมองว่าเป็นพรรคของคนใต้ไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่แรกเริ่มเป็นพรรคการเมืองระดับชาติ แต่ความเป็นพรรคคนใต้เริ่มชัดเจนตั้งแต่ชวน หลีกภัย เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค แล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นคนใต้ก็เกิดความผูกพันและเกิดความรู้สึกว่า พรรคประชาธิปัตย์คือพรรคของคนใต้ คนภาคอื่น ๆ ก็มองว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคของคนใต้ ความนิยมในพื้นที่ภาคอื่นก็ค่อย ๆ ลดลง และยิ่งในปี 2566 ยิ่งลดลงอย่างชัดเจน

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของคนใต้ ไม่สนใจภาคอื่น จะเป็นอย่างไรต่อ เพราะปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย มาร่วมแบ่งเค้กกันแล้ว

“ถ้าเกิดคุณไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเฉพาะภาคใต้ ต้องปฏิรูปหรือถึงขั้นปฏิวัติพรรคครั้งใหญ่ ก็คือสลายความเป็นพรรคของคนใต้ เพื่อขยายความนิยมไปยังภาคเหนือ ภาคอีสาน”

บูฆอรีเน้นว่าต้องไล่ปฏิรูปตั้งแต่หัวหน้าพรรค ควรจะเป็นคนที่มีลักษณะยังไง ไม่ใช่เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์เฉพาะหรือได้รับความนิยมเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่ต้องสามารถขายได้กับคนทั้งประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคขั้วอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่น ๆ ยังดูโดดเด่นกว่าพรรคประชาธิปัตย์

“เมื่อเทียบกับตัวพลเอก ประยุทธ์ แม้จะไม่ใช่หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็เกิดการเปรียบเทียบว่า ถ้าฝากผีฝากไข้กับพลเอก ประยุทธ์ น่าจะดีกว่าคุณจุรินทร์ซึ่งขาดความโดดเด่นในทางการเมือง”

ก่อนเลือกตั้งไม่ว่าโพลต่อกี่โพล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ไม่ติดอันดับต้น ๆ ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ยังสามารถสู้กับความนิยมในระดับชาติได้ สามารถ “พอฟัดพอเหวี่ยง” กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้ ไม่ใช่แค่สู้ได้ในสมรภูมิภาคใต้เท่านั้น

และเมื่อเทียบกับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่น ๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้าม อย่างพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือแพทองธาร ชินวัตร คนเหล่านี้สามารถที่จะสื่อสารในระดับโลกได้

“อันที่จริงผมก็ไม่อยากจะบอกว่าภาษาอังกฤษเป็นปัจจัย ไม่อยากให้มองว่าตัวภาษาจะเป็นอุปสรรค แต่มันสะท้อนไงว่า คนที่สามารถสื่อสารได้ จะส่งผลต่อวิสัยทัศน์ระดับโลกได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ก็ควรต้องมีลักษณะแบบนี้”

หลังบทสนทนากับบูฆอรีจบลงสักระยะ…

9 ธันวาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่นาม “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ผู้อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มานานกว่า 22 ปี ทั้งยังเป็นอดีต รมว.กระทรวงแรงงานในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2553 – 2554) และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562 – 2566)

จากการสนับสนุนของกลุ่ม 21 สส. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ โดยหนึ่งในนั้นคือ เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ได้เป็นถึงเลขาธิการพรรค

ท่ามกลางความระส่ำระสายภายใน ทั้งการประกาศลาออกของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกสมัยโดยชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสของพรรค และการหมดสิทธิ์เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคของสายเลือดใหม่อย่างวทันยา บุนนาค ที่ทำให้การลงมติเลือกหัวหน้าพรรคมีชื่อเฉลิมชัย แต่เพียงผู้เดียว

มุมหนึ่ง ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนกลุ่มผู้ถืออำนาจในพรรคใหม่ แต่อีกมุมหนึ่ง การที่กลุ่ม 21 สส. ได้ที่นั่งในกรรมการบริหารพรรค อาจทำให้ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเน้นปักหลักที่ภาคใต้เหมือนเดิม (?)

นำมามาสู่คำถามว่า มีโอกาสแค่ไหนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอีกหลายจังหวะก้าวที่ต้องจับตาดูกันต่อไป…

ในวันที่ต่อให้ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ไม่ชนะ