The Welfare (2) ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย เพื่อสวัสดิการประชาชน - Decode
Reading Time: 2 minutes

After Play เกมจบคนไม่จบ

แดนไท สุขกำเนิด

รอบที่หนึ่งจบลง ความร่ำรวยและความยากจนถ่างจากกันยิ่งขึ้น ในรอบที่สองการซื้อประกันยังคงมีอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ ‘สวัสดิการ’ นั้นได้ถูกเพิ่มเข้ามาแล้ว! ในรอบนี้ผู้เล่นมีทางเลือกที่จะลงขันบริจาคเงินเพื่อสร้างสวัสดิการในด้านต่าง ๆ โดยที่เมื่อสวัสดิการด้านใดมีเงินครบถ้วนตามที่กำหนด ผู้เล่น ‘ทุกคน’ ก็จะเสมือนได้รับประกันในด้านนั้น ๆ ไปเลย ไม่ว่าจะมีประกันอยู่แล้วหรือไม่และไม่ว่าจะลงเงินเท่าไหร่ก็ตาม ถ้านึกง่าย ๆ สวัสดิการก็คือการซื้อประกันที่ครอบคลุมทุกผู้เล่นไม่ใช่แค่คนที่จ่ายเงิน โดยต้นทุนการซื้อสวัสดิการแต่ละด้านก็จะสูงกว่าการซื้อประกันอยู่แล้ว (เพราะครอบคลุมทุกคน)​ อย่างไรก็ดีถ้าหารเฉลี่ยต่อครัวเรือนค่าใช้จ่ายในการลงทุนในสวัสดิการก็จะถูกกว่าการซื้อประกันของแต่ละคน

โน้ตเล็ก ๆ ว่าประกันที่ซื้อในรอบก่อนหน้านั้นจะหายไปเมื่อจบรอบ ถ้าอยากได้ความคุ้มครองจากความเสี่ยงในรอบนี้อีก ก็ต้องจ่ายเงินซื้อประกันอีก สิ่งเดียวที่ซื้อแล้วคงอยู่ตลอดทั้งเกมได้คือการศึกษา

สวัสดิการสมัครใจ

ประเด็นสำคัญของการลงทุนในระบบสวัสดิการของรอบนี้คือเป็นการบริจาคแบบสมัครใจ ใครใคร่จ่าย จ่ายได้เต็มที่ (แม้ว่าเต็มที่ของแต่ละคนจะต่างกันมากก็ตามนะ) นั่นแปลว่าเพื่อจะให้สวัสดิการสักด้านสำเร็จ แต่ละครัวเรือนอาจจะจ่ายไม่เท่ากันก็ได้ ตัวเลือกที่ดูสมเหตุสมผลเมื่อเทียบทุนทรัพย์กัน คือคนที่ร่ำรวยในรอบก่อนก็จ่ายมากหน่อย คนที่ยากจนก็จ่ายน้อยหน่อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมนั้นไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าคนที่มีเงินมากต้องลงขันมาก ก็จะพบว่าจริง ๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์ที่จะลงทุนในสวัสดิการเท่าไรนัก เพราะซื้อประกันส่วนตัวนั้นป้องกันทุกความเสี่ยงได้เท่ากันโดยไม่ต้องเสียเงินมากเท่า

จากความเสี่ยง 4 ประเภทและโอกาสทางการศึกษา การเพิ่มเข้ามาของสวัสดิการระบบสมัครใจทำให้ผู้เล่นสามารถหลีกเลี่ยง/ป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้สองถึงสามจากห้าอย่างโดยเฉลี่ย ในความเป็นจริง เงินที่ผู้เล่นลงขันกันมานั้นมักครอบคลุมได้ถึงสามสวัสดิการ อย่างไรก็ดี เพราะแต่ละคนเลือกที่จะลงเงินโดยไม่ค่อยได้สื่อสารกัน เงินเลยมักกระจัดกระจายในหลาย ๆ สวัสดิการแทนที่จะรวมกันจนครบจำนวน ทำให้บางสวัสดิการขาดเงินไปเพียงไม่กี่เหรียญเท่านั้น เงินที่ลงไปแล้วก็จะสูญเปล่าไปทันที คำถามคือสองถึงสามสวัสดิการเพียงพอหรือไม่ สำหรับครัวเรือนที่พอมีเงินเหลือไปซื้อประกันก็ถือว่าเพียงพอเพราะได้เกราะป้องกันครบทุกความเสี่ยงโดยจ่ายน้อยลง แต่สำหรับครัวเรือนที่ลงเงินไปกับสวัสดิการจนหมด ก็ต้องลุ้นว่าจะเปิดเจอความเสี่ยงที่ไม่มีสวัสดิการหรือไม่ (ซึ่งก็มักจะเจอกัน) ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมากว่าสวัสดิการสมัครใจนั้นเป็นเสมือนการประกันความเสี่ยงถ้วนหน้าได้ แต่เมื่อไม่ครอบคลุม ก็ยังมีคนที่ตกหล่นจากความถ้วนหน้านั้นอยู่ดี

รัฐสวัสดิการกับบทบาทรัฐที่เปลี่ยนไป

และแล้วเกมก็ได้ดำเนินมาถึงรอบสุดท้าย สิ่งที่แตกต่างออกไปในรอบนี้คือการมีอยู่ของ ‘รัฐบาล’ หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือรอบที่สามจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการเลือกตั้งรัฐบาล โดยผู้เล่นทุกคนสามารถเสนอตัวมาเป็นแคนดิเดตรัฐบาลได้ โดยแต่ละคนก็ต้องมาปราศรัยและแสดงวิสัยทัศน์ของตัวเองต่อหน้าผู้เล่นทุก ๆ คน ก่อนที่จะทำการเลือกตั้งหารัฐบาลเพียงหนึ่งเดียวของรอบ

แน่นอนว่าการแสดงวิสัยทัศน์ก็ไม่ใช่การมาพูดลอย ๆ ว่าจะทำตามสัญญา เพราะรัฐบาลในเกมนี้มีหน้าที่ที่ชัดเจนอยู่ นั่นก็คือการออกนโยบายว่าด้วย ‘ภาษี’ และ ‘สวัสดิการ’ ถ้าพูดง่าย ๆ เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็จะมีอำนาจในการเลือกว่าจะเก็บเงินจากครัวเรือน (หรือก็คือผู้เล่น) แต่ละคนเท่าใด และจะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนกับสวัสดิการใดบ้าง

ตัวอย่างเช่นผู้สมัครบางคนก็เสนอให้เก็บภาษีแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน ถ้ามีเงินน้อยกว่า 20 เหรียญ เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ครัวเรือนที่มีเงินมากกว่า 100 เหรียญก็จะถูกเก็บภาษีเยอะหน่อย (เช่น 50 เปอร์เซ็นต์) ส่วนผู้สมัครอีกคนอาจเลือกที่จะไม่เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าแต่เก็บอัตราคงที่ จ่ายเปอร์เซ็นต์เท่ากัน ในอีกด้านหนึ่งผู้สมัครบางคนก็เลือกที่จะลงทุนในสวัสดิการทุก ๆ ด้าน ส่วนบางคนก็เลือกที่จะละเว้นสวัสดิการบางด้านไว้

ถือได้ว่า ในรอบนี้เป็นการแนะนำแนวคิดของ ‘รัฐสวัสดิการ’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความแตกต่างหลักของรัฐสวัสดิการนั้นคือการที่บทบาทที่เรียกว่า ‘รัฐ’ นั้นได้มีการวางแผนในการลงทุนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ลงตามความสมัครใจ โน้ตเล็ก ๆ ว่าในโลกความเป็นจริง บทบาทรัฐมีที่มาได้หลากหลายแบบ โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลของแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่ในเกมนี้ รัฐนั้นมาจากการเลือกของประชาชนโดยสมบูรณ์และทุกคนมีสิทธิ์และโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นบทบาทนี้อย่างเท่าเทียมกัน

สีสันของนโยบาย

ด้วยความที่เกมให้อิสระผู้เล่นออกแบบนโยบายได้อย่างอิสระ เกมในรอบนี้จึงเป็นเสมือนห้องทดลองนโยบายขนาดย่อม เราจะได้เห็นแนวคิดการเก็บภาษีและการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เรียกได้ว่าแต่ละเกมที่เล่นก็จะได้ไอเดียใหม่ ๆ กลับไป

ประเด็นแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือเรื่องสวัสดิการ สวัสดิการฮอตฮิตที่ผู้สมัครรัฐบาลมักเลือกมาเสนอกันก็คือสวัสดิการที่ป้องกันสี่ความเสี่ยง – ตกงาน, ป่วย, เด็กเล็กพัฒนาการช้า และผู้สูงอายุขาดรายได้ โดยความเสี่ยงที่มีโอกาสเปิดเจอและเสียค่าใช้จ่ายสูงเช่นความเสี่ยงตกงานและป่วยมักเป็นหัวใจสำคัญของแนวนโยบาย ด้วยความถ้วนหน้าของสวัสดิการซึ่งแตกต่างจากรอบที่สองนั้น เราจะเห็นได้ชัดว่าไม่มีผู้ใดยังตกหล่นจากสวัสดิการและต้องเผชิญความเสี่ยงตามลำพัง

หากเราดูรายละเอียดตัวเลข เราจะพบว่าการลงทุนในสวัสดิการผู้สูงอายุของ ‘เกม’ นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อรายบุคคล ในแทบทุกเกม รัฐบาลจะยังเลือกสร้างรัฐสวัสดิการด้านนี้ผ่านการไปซื้อประกันเอกชนให้ทุกคนแทน (เราขอเรียกกลยุทธนี้ว่ารัฐสวัสดิการเช่นกัน) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในรอบที่สองเพราะไม่มีรัฐบาล ทำให้ผู้เล่นยังต้องรวมเงินสร้างสวัสดิการนี้แม้จะแพงกว่าก็ตาม

ยังมีอีกหนึ่งสวัสดิการที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงนั่นคือสวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการต่างจากด้านอื่น ๆ อย่างมาก เพราะไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงใด ๆ แต่เน้นทำให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งผู้สมัครบางคนก็เลือกที่จะถือการลงทุนด้านนี้เป็นจุดเด่นในแผนนโยบายเลยก็มี อีกข้อแตกต่างหนึ่งคือการศึกษาเอกชนที่ซื้อส่วนตัวนั้นไม่หายไปเมื่อจบรอบ ในบางเกมเราก็จะพบว่าในรอบที่สามมีครอบครัวที่มีการศึกษาไปแล้ว 6 ถึง 7 ครอบครัว ผู้สมัครบางคนเลยเสนอที่จะไม่ลงทุนในการศึกษา (เพราะต้องใช้เงินมากแต่คนได้ประโยชน์น้อย) แต่ให้ผู้เล่นไปลงทุนเอง หรือบางรัฐบาลก็เลือกจ่ายเป็นเงินไปให้เฉพาะคนที่ไม่มีและให้ไปลงทุนเอง (ใช้เงินสุทธิน้อยกว่า)

การตัดสินใจว่าจะลงทุนการศึกษาแบบครอบคลุมทุกผู้เล่นหรือจะจ่ายเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คือปัญหาของการทำสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม vs สวัสดิการถ้วนหน้า กล่าวคือรัฐบาลจะลงทุนเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นดี หรือจะลงทุนแบบครอบคลุมประชาชนทุกคนดี ในโลกความเป็นจริง เราพบเห็นสวัสดิการแบบเจาะกลุ่มได้ไม่ยาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องพิสูจน์ความยากจนก่อนที่จะได้รับสวัสดิการ

เราได้เห็นไปแล้วว่าสวัสดิการการศึกษาในเกมลงทุนแบบเจาะกลุ่มอาจถูกกว่าในหลาย ๆ กรณี แต่ถ้าเรามองถึงสวัสดิการอื่น ๆ ในเกมทำไมเราถึงลงทุนแบบเจาะกลุ่มไม่ได้? คำตอบก็คือกลุ่มนั้นใหญ่เกินไป (หรือก็คือทุกคนต้องการสวัสดิการ) ซึ่งทำให้การลงทุนแบบถ้วนหน้านั้นทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์เท่ากันโดยใช้ค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า เช่นถ้าเก็บภาษีมาซื้อประกันการเลิกจ้างเอกชนต้องใช้เงินถึง 100 เหรียญ ในขณะที่การลงทุนในสวัสดิการใช้แค่ 80 เหรียญ หรือแม้แต่ในชีวิตจริงการเจาะกลุ่มก็อาจจะไม่ใช่คำตอบ เพราะการเจาะกลุ่มก็หมายถึงการที่ต้องระบุให้ได้ว่าคนที่จะได้รับสวัสดิการนั้นประกอบด้วยใครบ้าง ต้องมีการลงทุนกับการพิสูจน์สิทธิ – พิสูจน์ความยากจน ซึ่งกลับสร้างต้นทุนอันไม่ก่อประโยชน์ขึ้นมา รวมถึงกฎเกณฑ์ที่อาจทำให้ผู้ที่ควรได้สวัสดิการกลับไม่ได้รับสวัสดิการ ยิ่งในความจริงที่ประชากรเป็นหลักสิบล้านไม่ใช่สามสิบเหมือนในเกม ผู้คนที่ตกหล่นและงบประมาณสำหรับการพิสูจน์ความยากจนก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ประเด็นสุดท้ายว่าด้วยความถ้วนหน้าของสวัสดิการ เมื่อเราถอดแว่นตาเศรษฐศาสตร์ลง และมองสวัสดิการในฐานะสิทธิที่บุคคลพึงได้รับ ไม่ใช่ในฐานะของการกระจายผลประโยชน์ เราอาจได้รับคำตอบใหม่ว่าสวัสดิการใดควรได้รับอย่างถ้วนหน้าบ้าง เช่นถ้าเรามองว่าการศึกษาที่ดีเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ

ไม่ว่าจะรวยหรือจน คำถามว่ารวยอยู่แล้วแล้วจะเรียนฟรีทำไม หรือจนจริงหรือเปล่าถึงเรียนฟรีได้ก็ไม่ควรจะมาเป็นที่ยกขึ้นมาเถียงกัน แน่นอนว่าเหมือนในเกม การลงทุนที่ประหยัดยังอาจเป็นการลงทุนแบบเฉพาะ แต่สำหรับคนรุ่นถัด ๆ ไป (ซึ่งไม่มีในเกมแต่มีในชีวิตจริง) ก็ไม่ต้องมารอดูว่าใครไม่ได้รับการศึกษาเพราะขาดโอกาส แต่ต้องสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคน ไม่ใช่แค่เพราะการลงทุนแบบถ้วนหน้าถูกกว่า แต่เพราะเป็นสิ่งที่สมควรจะเป็น

กระจาย ‘โอกาส’ ทางเศรษฐกิจ

สวัสดิการที่หลากหลายและครอบคลุมย่อมเชื่อมโยงกับภาษีที่มากขึ้น นั้นจึงทำให้หลาย ๆ คนผูกสวัสดิการกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา (เพราะตั้ง 4 จาก 5 สวัสดิการก็แค่ป้องกันความเสี่ยงใช่มั้ยหล่ะ?) แต่ถ้าสังเกตดี ๆ โอกาสในการเปิดการ์ดใบถัดไปนี่แหละคือสิ่งที่สวัสดิการให้กลับมา และโอกาสนี้คือสิ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการคุ้มค่า

สมมติว่าไม่มีผู้เล่นใดมีสวัสดิการการศึกษาเหลือจากรอบก่อนหน้าเลย การลงทุนในทุกสวัสดิการนั้นมีค่าใช้จ่าย 430 เหรียญ ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่หากทำได้จริง นั่นแปลว่าผู้เล่นทุกคนสามารถเปิดการ์ดไปเรื่อย ๆ ได้จนกว่าจะเจอการ์ดป่วยใบที่สองที่ทำให้ต้องหยุดเล่น แต่ก็ไม่ต้องเสียค่ารักษา ถ้าเปิดได้สักครึ่งกองเจอการ์ดรายได้ประเภทละสองจากสี่ใบ และได้การ์ดคูณสองสักสองครั้ง ก็มีรายได้ถึง 120 แล้ว! นั่นแปลว่าในรอบเดียวก็มีเงินมากกว่า Q1 ในรอบแรกได้ และถ้าทุกครอบครัวทำได้ไล่เรี่ยกัน (ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนั้นเพราะมีสวัสดิการทุกด้านเท่ากัน) นั่นก็จะทำให้ในรอบนั้นสร้างรายได้รวม 1,200 เหรียญ (หรืออาจจะมากกว่านั้น) หรือก็คือเกินค่าใช้จ่ายสวัสดิการไปเกือบ 3 เท่า

จะเห็นได้ว่าการลงทุนในรัฐสวัสดิการไม่ใช่การป้องกันความเสี่ยง แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ถ้าหากไม่มีรัฐสวัสดิการ ผู้เล่นรายได้น้อยอาจต้องหยุดเล่นตั้งแต่การ์ดใบแรก ๆ แต่เมื่อมีรัฐสวัสดิการผู้เล่น ‘ทุกคน’ สามารถเปิดการ์ดไปได้ไกลมากกว่าเดิม (โดยค่าใช้จ่ายต่อหัวน้อยกว่าด้วย)

เหตุผลที่ต้องเน้นคำว่า ‘ทุกคน’ เพราะว่าเราอาจมองว่าสวัสดิการเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เจอความเสี่ยงแล้วไม่สามารถป้องกันได้ด้วยตัวเอง แต่ในความเป็นจริงคือทุกคนก็เจอความเสี่ยงไม่ต่างกัน และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าก็ป้องกันความเสี่ยงและมอบโอกาสให้เล่นต่อต่อทุกคน มากไปกว่านั้น ในทุกเกมที่เราเล่นมา เราจะจดรายได้รวมของทุกผู้เล่นของแต่ละรอบด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักว่าในรอบที่หนึ่งและสอง รายได้รวมก็จะค่อนข้างน้อย แต่ในรอบที่สามรายได้รวมก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถ้าเทียบกับความเป็นจริงตัวเลขนี้ก็เปรียบเสมือน GDP ซึ่งสะท้อนความสามารถในการผลิตของประเทศ (ที่ประกอบด้วยผู้เล่น 10 ครัวเรือน) การที่ตัวเลขนี้ในรอบที่สามเพิ่มขึ้นก็หมายถึงว่าการลงทุนในสวัสดิการทำให้ความสามารถในการผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เราได้เห็นภาพแล้วว่าสวัสดิการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ คำถามถัดมาคือการแบ่งสรรภาษีจะเป็นอย่างไร ขอสปอยล์เลยแล้วกันว่ารัฐบาลที่ได้รับเลือกในทุก ๆ เกม มีนโยบายที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามทรัพย์สินที่มีในขณะนั้น ถ้ามีเงินมากก็จ่ายภาษีมาก อย่างที่เราได้เห็นไปในบทความที่แล้วว่าความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินในตอนต้นเกม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงประกัน และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส (ในการหารายได้ เพราะต้องเจอความเสี่ยง) การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อมาลงทุนในรัฐสวัสดิการของเกมนี้ก็เป็นเหมือนการหักลบความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินที่มีในตอนต้นเกมด้วยการกระจายโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความเสี่ยง

แต่บางครั้งดวงก็อาจไม่เข้าข้าง ในบางเกมเงินที่ผู้เล่นทุกคนมีรวมกันในรอบที่สองก็ไม่เพียงพอต่อการลงทุนในรัฐสวัสดิการที่ต้องการ อย่างไรก็ดี มีวงหนึ่งเสนอนโยบายขึ้นมาโดยให้ผู้เล่นกู้ยืมเงินมาจ่ายภาษีเพื่อทำรัฐสวัสดิการ การกู้เป็นกติกาหนึ่งของเกมที่มีตั้งแต่รอบแรกอยู่แล้ว โดยผู้เล่นสามารถกู้ได้เท่าตัวของเงินที่มีปัจจุบัน (หรือตอนต้นเกม ถ้าปัจจุบันมีน้อยกว่า) และต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละสิบ ผลที่ตามมาคือผู้เล่นคนนั้นได้รับเลือกเป็นรัฐบาลของรอบและดำเนินการสำเร็จตามแผน ผู้เล่นทุกคนก็มีกำไรแม้จะหักเงินกู้แล้วก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบนี้นั่นคือการที่รัฐเลือกจะสร้างหนี้สาธารณะเพื่อมาเพิ่มความสามารถในการผลิตผ่านสวัสดิการ ซึ่งในเกมนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะสำเร็จ ถึงอย่างนั้นในชีวิตจริง การเลือกที่จะ ‘ยืมอนาคต’ นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดหนักกว่าในเกม เพราะในโลกจริงนั้นไม่ได้มีแค่ความเสี่ยงที่คำนวณความน่าจะเป็นได้ แต่ยังมีความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ได้ ที่ทำให้อนาคตอาจจะไม่มีคืน

อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากความแตกต่างระหว่างความจริงกับแบบจำลองอย่างเกมนี้ คือ รอบการเล่น ในเกมนี้การเล่นนั้นมีสามรอบ เมื่อเกมจบลงก็นับคะแนน แต่ในความเป็นจริงนั้น เกมนั้นจะยังคงดำเนินต่อไปจากรอบที่สามอย่างไม่สิ้นสุด (หรืออย่างน้อยก็หวังว่าจะไม่สิ้นสุด) คำถามคือแล้วเราจะเล่นรอบที่สี่และถัดไปแบบใด คำถามนี้น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลย เพราะเราเห็นแล้วว่ารัฐสวัสดิการทำให้ทุกผู้เล่นกลับมามีเงินมากกว่า Q1 ตอนเริ่มเกม​ได้ ซึ่ง Q1 ก็คือครัวเรือนที่ไม่ได้ต้องมีสวัสดิการในรอบแรกและไม่จนลง คำถามคือแล้วในรอบที่สี่ยังต้องมีรัฐสวัสดิการหรือไม่

ในทางหนึ่งเราสามารถมองว่าสวัสดิการในรอบที่สามเป็นเพียงเครื่องมือ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ก็ได้ พูดอีกแบบคือเป็นสิ่งที่ทำแค่หนึ่งครั้งแล้วเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเอง นโยบายเงินดิจิทัลก็เป็นหนึ่งในแนวคิดแบบนี้ แต่ถ้าเรามองผ่านกติกาในเกมนี้เราก็จะพบว่าการตัดสินใจนี้ก็อาจจะไม่คุ้มค่าเสมอไป เหตุผลเดียวที่ Q1 รอดรอบแรกได้สบาย ๆ ก็เพราะซื้อประกันทุกประเภท ซึ่งถ้าทุกคนต้องทำแบบเดียวกัน การสร้างสวัสดิการในหลาย ๆ ด้านนั้นก็คุ้มค่ากว่า

ในอีกทางหนึ่งเราอาจเลือกที่จะสร้างรัฐสวัสดิการต่อไป แม้ว่าจะยังต้องจ่ายภาษีก็ตาม ในชีวิตจริง หลาย ๆ ประเทศที่เลือกวิธีแบบนี้เพราะความเสี่ยงที่มีอยู่ในกองการ์ดชีวิตนั้นคาดเดาไม่ได้และอาจรุนแรงแม้แต่สำหรับคนที่ร่ำรวยก็ตาม ฉะนั้นการมีรัฐสวัสดิการก็เป็นเสมือนการมี safety net ที่จะทำให้คนตั้งต้นใหม่ได้ โดยมีโอกาสทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้สวัสดิการจึงเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจสำหรับทุกคนมากกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของคนบางกลุ่มเท่านั้น

ฝันที่เป็นจริงของสวัสดิการประชาชน

อย่างที่ได้เห็นกันไป การมีอยู่ของบทบาทรัฐบาลอาจดูเหมือนเป็นเพียงข้อแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากรอบที่แล้ว แต่กลับมีผลต่อการเล่นเป็นอย่างมาก ทุกครอบครัวหลุดจากความยากจนได้ ความเหลื่อมล้ำหายไปผ่านการเข้าถึงโอกาสการหารายได้ที่เท่าเทียมกันของทุกผู้เล่น ถ้ามองในมุมเกม สถานการณ์นี้ก็ออกจะน่าประหลาดใจ เพราะเป้าหมายของผู้เล่นทุกคนคือการแข่งขันกันมีเงินมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในผู้เล่นเหล่านั้นก็คือรัฐบาล ซึ่งกลับเลือกผลักดันนโยบายที่ทำให้ผู้เล่นทุกคนเปิดการ์ดใบถัดไปได้อย่างสบายใจ ไม่ใช่แค่ครอบครัวตัวเองเท่านั้น

มีครั้งหนึ่งที่หลังเล่นเกมมีผู้เล่นสะท้อนว่าปัจจัยที่ทำให้รัฐสวัสดิการของเกมนั้นสำเร็จได้มากที่สุดคือการที่รัฐบาลมาจากประชาชน อาจจะฟังดูเป็นข้อสังเกตกว้าง ๆ แต่ผลพวงอันสำคัญอย่างหนึ่งเลยก็คือการที่สวัสดิการ ‘เป็นของ’ ประชาชน ไม่ใช่เอกชนขายประกันให้ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่มอบสวัสดิการให้ประชาชนฟรี ๆ แต่เป็นประชาชนที่เลือกรัฐบาล เลือกนโยบาย เลือกว่าจะจ่ายภาษีแบบใด ไปเพื่อนโยบายใด นั่นเลยทำให้ผู้เล่นทุกคนมีความเป็นเจ้าของในสวัสดิการนั้น

บทเรียนนี้ยิ่งเด่นชัดเมื่อมองไปถึงความรู้สึก ‘ลุ้น’ ของผู้เล่น ในรอบที่สองที่ไม่มีอะไรมารับประกันความสำเร็จของสวัสดิการเราจะรับรู้ถึงความรู้สึกลุ้นได้อย่างเต็มที่ ตามมาด้วยความผิดหวังเมื่อสวัสดิการขาดเงินไปไม่ถึงสิบเหรียญ และปิดท้ายด้วยความสิ้นหวังเมื่อความเสี่ยงด้านที่ไม่ได้ป้องกันถูกเปิดมาจากกองการ์ด ตรงกันข้าม ในรอบที่สามนั้น เราจะไม่ได้เห็นความรู้สึกลุ้นของคนเล่นจากการสร้างสวัสดิการอีกแล้ว

เราจะได้เห็นถึงความมั่นใจของคนเล่นว่านโยบายจากรัฐบาลที่พวกเขาเลือกไปจะทำให้สวัสดิการสำเร็จตามประสงค์ และจึงค่อยมาลุ้นว่าจะเปิดการ์ดคูณสองได้กี่ใบ ในเกมไม่ว่าจะลุ้นในรอบที่สองหรือจะลุ้นในรอบที่สามก็เป็นส่วนหนึ่งของความสนุก แต่หากนี่เป็นโลกความเป็นจริงการลุ้นในรอบที่สองนั้นไม่ใช่อะไรที่สนุกหรือน่าตั้งตารออย่างแน่นอน

การที่ต้องลุ้นอย่างสิ้นหวังว่าชีวิตจะเจอความเสี่ยงอะไรอีกบ้างในแต่ละวันไม่ใช่สิ่งที่คนปกติตั้งตารอแน่ หัวใจของรัฐสวัสดิการของประชาชนจึงอยู่ที่ความรู้สึกร่วมกันของทุกคนที่จะสร้างระบบสวัสดิการที่ทำให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง